บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๔

    โลก เหตุให้เกิดโลก

    การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ถ้าจะเปรียบเทียบชีวิตเหมือนทางเดินเส้นหนึ่ง เปรียบเราที่เป็นเจ้าของชีวิตเหมือนผู้เดินทาง ธรรมของพระผู้มีพระภาคก็ย่อมจะเปรียบประดุจแผนที่ ช่วยชี้ทิศทางให้เดินทางไปสู่ความเกษมสุข ปลอดภัย ทางเดินของชีวิตนั้นย่อมมีอุปสรรคทั้งภายใน และภายนอก เช่น ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ความเหน็ดเหนื่อย ความเกียจคร้าน ความไม่สมหวัง เป็นต้น ธรรมที่แก้ไขอุปสรรคความขัดข้องต่างๆ นั้น มีอยู่พร้อมมูลในคำสอนของพระผู้มีพระภาค เช่นที่ทรงสอนว่า คนเราจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ในบรรดาชัยชนะทั้งหลายการชนะตนเองย่อมประเสริฐสุด ฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข ทรงสอนให้รู้จักอภัย ทรงสอนให้เจริญเมตตา ไม่หมั่นนึกหมั่นคิดถึงสิ่งที่จะนำมาซึ่งความทุกข์โทมนัส สำหรับคำสอนในส่วนที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนให้รู้จักพิจารณาสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก ให้รู้ชัดในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายเพื่อไม่หลงผิดเห็นผิดไปจากสภาพธรรมที่เป็นจริงนั้นๆ ในตอนต้นอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องความรู้ที่เกิดจากการฟัง และการปฏิบัติว่า เป็นความรู้ที่ต่างกัน เพราะบางทีฟังแล้วก็รู้หรือจำเอาได้ว่า สีที่เห็นน่ะ เป็นรูปที่ปรากฏทางตา แต่พอเวลาเห็นเข้าจริงๆ นะคะ อาจจะไม่รู้ว่ามีสีเป็นรูปที่ปรากฏทางตา ดิฉันยังจำได้อีกค่ะว่า อาจารย์บอกว่า การที่จะรู้ในขณะที่เห็นว่าสีเป็นรูปที่ปรากฏทางตานั้นจะต้องมีสติรู้สึกตัว มีความจำเป็นยังไงหรือคะที่จะต้องมีสติรู้สึกตัวจึงจะรู้ว่าสีที่เห็นเป็นรูปที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาหลงลืมสติไม่รู้สึกตัวในขณะที่เห็น มัวสนใจสิ่งอื่นๆ สิ่งที่เห็นนั้นก็ผ่านหมดไปแล้ว คุณวันทนายังจะสามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่หมดไปแล้วนั้น ได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ จำได้ไหมคะวันก่อนคุณวันทนาบอกว่า เวลานั่งรถไปทำงานผ่านที่ต่างๆ แต่ว่ามัวคิดอะไรเพลินก็เลยไม่ทราบว่าเห็นอะไรบ้าง

    คุณวันทนา จำได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าคุณวันทนาจะนึกไกลตัวออกไปสักเท่าไรก็ตาม ความจริงขณะนั้นคุณวันทนาก็ยังคงนั่งอยู่ในรถ ไม่ได้ไปอยู่ในสถานที่ที่กำลังคิดนึกถึง ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณวันทนาเห็นหรือได้ยิน เป็นต้นนะคะ แต่ไม่สังเกต ไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่เห็นหรือได้ยินในขณะนั้นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ตลอดเวลาก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะ และทุกวันได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นอาจารย์หมายความว่า ถ้าต้องการจะรู้ความจริงของอะไรก็จะต้องรู้ในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ อย่างนั้นใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ และก็ต้องในขณะที่มีสติรู้สึกตัวด้วยนะคะ เพราะถึงแม้ว่าสิ่งใดจะปรากฏ แต่ถ้าหลงลืมสติไม่รู้สึกตัว คือไม่สังเกตไม่พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ ที่จะรู้ลักษณะของเสียงได้จริงๆ ก็จะต้องรู้ในขณะที่เสียงปรากฏใช่ไหมคะ และการที่จะรู้ลักษณะของกลิ่นได้จริงๆ ก็จะต้องรู้ในขณะที่กลิ่นปรากฏ รสก็เหมือนกันค่ะ ถ้าอยากจะรู้ลักษณะของรส ก็จะต้องรู้ในขณะที่กำลังรับประทาน คือขณะที่กำลังลิ้มรสนั้นอยู่ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนาไปเที่ยวสวนส้ม ทั้งๆ ที่เป็นส้มต้นเดียวกัน แต่ถ้าอยากจะรู้ว่าผลไหนหวานกว่ากัน เปรี้ยวกว่ากัน คุณวันทนาจะรู้ได้ยังไงคะ

    คุณวันทนา ก็ต้องสอยเอาลงมาชิม

    ท่านอาจารย์ และบางครั้งก็ยังต้องชิมหลายหนให้รู้แน่ด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส ความสุข ความทุกข์ ความโกรธ เหล่านี้ได้จริงๆ ก็จะต้องรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ และก็จะต้องรู้จนกระทั่งแน่ใจจึงจะหมดความสงสัยในลักษณะของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้เช่นเดียวกันค่ะ คุณวันทนาเชื่อไหมคะว่า การมีสติรู้สึกตัวบ่อยๆ จะทำให้สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะตัวเป็นแหล่งที่ปรากฏของทุกสิ่งทุกอย่าง ความโกรธ เวลาเกิดก็เกิดที่ใจ ใจก็อยู่ที่ตัว ไม่ได้อยู่นอกตัว ความปวดความเมื่อย โรคภัย ความสุข ความทุกข์ต่างๆ ก็อยู่ภายใจตัวคืออยู่ที่ตัวนั่นเองค่ะ ถ้าสีไม่กระทบตา คุณวันทนาจะเห็นไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่เห็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ สีอะไรๆ ที่อยู่ข้างหลังคุณวันทนานี่นะคะ คุณวันทนาก็มองไม่เห็นเลย เห็นแต่เฉพาะสีที่อยู่ตรงหน้าที่กำลังกระทบตา เสียงล่ะคะ ถ้าไม่กระทบหู จะปรากฏไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ปรากฏค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะปรากฏให้รู้ลักษณะที่แท้จริงได้นั้น ก็จะต้องกระทบกับตัวหรือมิฉะนั้นก็เกิดที่ตัว เช่นสีสันวัณณะที่ปรากฏให้เห็นทางตานั้นก็ต้องกระทบตา เสียงที่ปรากฏให้ได้ยินทางหูก็ต้องกระทบหู เพราะฉะนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ตัวนั้นเป็นแหล่งที่เกิดของความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และเป็นแหล่งที่ปรากฏของรูปต่างๆ ด้วย ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค นานาติตถิยวรรคที่ ๓ โรหิตัสสสูตรที่ ๖ ข้อ ๒๙๕ - ๒๙๘ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องอัตภาพเป็นแหล่งที่เกิดของโลกไว้ด้วยค่ะ

    คุณวันทนา ท่านกล่าวไว้ว่ายังไงคะ

    ท่านอาจารย์ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้นปฐมยามล่วงแล้ว โรหิตัสสเทวบุตรก็ได้มาเฝ้า เมื่อถวายอภิวาทแล้ว ก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าจะมีที่ใดบ้างไหมซึ่งไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย และจะเป็นไปได้ไหมที่สามารถจะไปถึงที่นั่นได้ด้วยการเดินทาง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ที่ซึ่งไม่มีการเกิด แก่ ตาย นั้นไม่สามารถจะถึงได้ด้วยการเดินทาง โรหิตัสสเทพบุตรรู้สึกอัศจรรย์ในพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างมาก ท่านได้กราบทูลพระองค์ว่า ในชาติก่อนนั้น ท่านเป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ มีฤทธิ์สามารถที่จะเหาะไปในอากาศได้อย่างรวดเร็ว ท่านมีความประสงค์ที่จะแสวงหาที่สุดของโลกด้วยการเดินทาง แต่ถึงแม้ว่าท่านจะเหาะไปในอากาศสิ้นเวลานานสักเท่าไร ท่านก็ไม่สามารถที่จะถึงที่สุดของโลกได้ ท่านสิ้นชีวิตก่อนที่จะรู้ว่าที่สุดของโลกนั้นอยู่ที่ไหน และจะบรรลุถึงที่นั้นได้อย่างไร เมื่อท่านเกิดเป็นเทพบุตร ท่านจึงได้มาเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบท่านว่า พระองค์ได้ทรงบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่งซึ่งมีใจครอง คุณวันทนาคงเห็นด้วยนะคะ ว่า การที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียวค่ะ ที่จะต้องมีสติรู้สึกตัวในขณะที่สิ่งนั้นๆ กำลังปรากฏ เพราะว่าตัวเป็นแหล่งที่ปรากฏของโลกหรือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ รูปต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นหรือให้รู้นั้นนะคะ ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้นค่ะ เช่น รูปสีต่างๆ นั้นก็ปรากฏให้เห็นได้เฉพาะในขณะที่กระทบตาเท่านั้น รูปเสียงต่างๆ ก็ปรากฏให้ได้ยินเฉพาะในขณะที่กระทบหูเท่านั้น รูปกลิ่นก็ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะในขณะที่กระทบจมูกเท่านั้น รูปรสก็ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะในขณะที่กระทบลิ้นเท่านั้น รูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง นั้นก็ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะในขณะที่กระทบกับร่างกายเท่านั้น ถ้าในขณะที่รูปนั้นๆ กระทบตัว และกำลังปรากฏอยู่ แต่หลงลืมสติไม่พิจารณาลักษณะของรูปนั้น รูปนั้นก็หมดไปแล้ว ดับไปแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของรูปที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้วนั้นได้เลย

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น ก็เห็นจะต้องพยายามฝึกอบรมมีสติรู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ ซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาต้องการจะเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะนั้น ก็มีทางเดียวเท่านั้นค่ะ ลองคิดดูซิคะ ถ้าหลงลืมสติไม่รู้สึกตัว ไม่พิจารณาในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏอยู่ละก็ จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏนั้นได้ยังไง เพราะว่าเสียงที่กระทบหูนั้นก็ปรากฏชั่วขณะที่ได้ยินเท่านั้นแล้วก็ดับไปหมด คุณวันทนาจะพยายามยื้อแย่งเก็บไว้ไม่ให้หมดไปได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลาได้กลิ่น กลิ่นก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบจมูกเท่านั้น เวลากลิ่นหมดไปแล้วจะติดตามเรียกร้องบังคับให้กลิ่นนั้นกระทบจมูกต่อๆ ไปอีกได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ และในทางตรงกันข้ามล่ะคะ เวลาคุณวันทนาเดินไปในที่ๆ มีเสียงดังเอะอะมาก เสียงไม่เพราะไม่น่าฟัง ไม่อยากได้ยิน คุณวันทนาจะห้ามไม่ให้ได้ยินเสียงนั้นได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลารับประทานอาหาร ถ้าบังเอิญมีพริกเผ็ดๆ ที่ไม่ชอบกระทบลิ้น จะห้ามไม่ให้รู้รสเผ็ดนั้นได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เป็นรูปวัตถุภายนอกนั้น คุณวันทนาอาจจะเห็นว่าบังคับบัญชาไม่ได้เพราะว่าอยู่นอกตัว แต่ตัวคุณวันทนาเองล่ะคะ บังคับได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็ไม่ได้อีกละค่ะ

    ท่านอาจารย์ คงไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่อยากค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าบังคับไม่ได้นะคะ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาดูแล้ว คุณวันทนาก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เป็นอนัตตา ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลัดเปลี่ยนเวียนกันเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ดับไป เสื่อมสลาย แปรปรวนไปทุกขณะๆ การไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้เพียงชั่วขณะแล้วก็หมดไปดับไปอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เราพากันหลง เพลิดเพลิน ฝัน และหวังไปต่างๆ นาๆ เป็นสุขเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่มีสาระ ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแตกดับอยู่ทุกๆ ขณะ คุณวันทนาคิดว่าตราบใดที่เรายังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายแปรปรวนอยู่ทุกๆ ขณะนี้ ความฝัน และความหวังในลาภ และในชีวิตของแต่ละคนนั้น จะมีโอกาสหมดสิ้นไปได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ความหวัง และความใฝ่ฝันในลาภ และในชีวิตของแต่ละคนนั้นก็คงจะต่างๆ กันไป ถ้ามีญาณวิเศษที่สามารถรู้ใจ รู้ความรู้สึกนึกคิด ความหวัง รู้ความใฝ่ฝันของแต่ละคน ก็คงจะพบว่าวิจิตรต่างๆ กันมากเหลือที่จะคณานับได้ แต่ว่าผลสุดท้ายทุกคนก็ต้องฝันค้าง เพราะว่าจะต้องจากโลกนี้ไปก่อนที่ความฝันหรือความหวังนั้นจะหมดสิ้นลง วันนี้คุณวันทนาอยากจะได้อะไรบ้างหรือเปล่าคะ

    คุณวันทนา อยากได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ หลายอย่างไหมคะ

    คุณวันทนา หลายอย่างทีเดียวค่ะ

    ท่านอาจารย์ พรุ่งนี้ล่ะคะ หวังอะไรไว้หรือเปล่าคะ

    คุณวันทนา ก็คงจะหวังต่อไปเหมือนวันนี้

    ท่านอาจารย์ คนที่สิ้นชีวิตไปในวันนี้ ก็คงจะเช่นเดียวกันค่ะ ก่อนจะสิ้นชีวิตก็คงจะคิดถึงวันพรุ่งนี้ และก็คงจะมีความฝันมีความหวังไว้หลายเรื่อง แต่ว่าไม่มีโอกาสที่จะต่อความฝันหรือความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้ได้เหมือนกับคนอื่นๆ เรื่องความคิด ความหวัง และความพอใจของแต่ละคนนั้น ดิฉันคิดว่าน่าพิจารณามากค่ะว่า ใครจะหวังหรือจะฝันในรูปลักษณะใด และในเรื่องไหนมาก คนที่ชอบพอใจในสีสันวัณณะก็คงจะฝันไป หวังไปในเรื่องสีต่างๆ เช่น หวังว่าจะได้เสื้อผ้าสีนั้นหรือสีนี้ อยากจะมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่ชอบเรื่องเสียงก็คงจะฝันไปหวังไปในเรื่องของเสียง คนที่ชอบกลิ่นก็คงหวังที่จะได้กลิ่นนั้นกลิ่นนี้ คนที่ชอบรสก็คงหวังที่จะได้รสนั้นรสนี้ คนที่ชอบสัมผัสสิ่งต่างๆ ก็หวังที่จะได้สัมผัสสิ่งนั้นๆ คุณวันทนาคงจะทราบว่าสำหรับคุณวันทนาเองหวังหรือฝันในเรื่องไหนมาก ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ความสุขของคนที่ชอบรูปสีสันวัณณะต่างๆ นั้นก็มีเพียงชั่วนิดหน่อยเท่านั้นค่ะ คือเพียงชั่วครู่หรือชั่วขณะที่ตากระทบรูปสีสันวัณณะที่พอใจ ถ้าเป็นรูปสีสันวัณณะที่ไม่พอใจ ก็จะเป็นทุกข์ ความสุขของคนที่ชอบเสียงก็เช่นเดียวกันค่ะ มีเพียงชั่วขณะที่ได้ยินเสียงที่พอใจเท่านั้น ถ้าเป็นเสียงที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ กลิ่น รส สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน ร้อนไปก็เป็นทุกข์ เย็นไปหวานไปก็เป็นทุกข์ ถ้ากำลังสบายไม่เย็นไปไม่ร้อนไปก็พอใจเป็นสุข และการที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ทั้งที่พอใจ และไม่พอใจนั้น ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอยากจะมีชีวิตที่ต้องเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง หวั่นไหวไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ทุกๆ วัน หรือว่าอยากจะมีสิ่งที่ช่วยทำให้คุณวันทนาหวั่นไหวน้อยลง เป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ต้องประสบอยู่ทุกวันนี่ค่ะ น้อยลงกว่าที่เคยเป็นไหมคะ

    คุณวันทนา อยากให้หวั่นไหวน้อยลงค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่า คนอื่นจะช่วยคุณได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยได้ไหมคะ

    คุณวันทนา คงจะได้ค่ะ ต้องได้แน่ๆ ซินะคะ

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะช่วยคุณวันทนาได้ยังไง

    คุณวันทนา จะช่วยเราได้ เมื่อเราศึกษาพระธรรมโอวาทแล้วปฏิบัติตามค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยเราด้วยการทรงเทศนาให้รู้ความจริงของสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว และทรงสอนทางปฏิบัติให้เกิดปัญญารู้ความจริงนั้นด้วย ทางปฏิบัตินั้นก็คืออบรมให้มีสติรู้สึกตัวสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดถึงในขณะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ตาม รวมความว่า ทุกๆ ขณะที่สติเกิดนั้นมีประโยชน์มากเพราะเป็นขณะที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ

    คุณวันทนา ถ้ามีสติรู้สึกตัวแล้ว จะต้องทำอะไรอีกคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เวลามีสติรู้สึกตัวก็จะต้องรู้ค่ะว่าขณะนั้นอะไรกำลังปรากฏ และจะต้องพิจารณาสังเกตรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นว่า เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรมค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าในขณะที่กำลังรีบหรือว่ากำลังตั้งใจทำงานอย่างนี้ค่ะ ก็เห็นจะรู้สึกตัวไม่ได้ซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ในตอนแรกสติจะเกิดยาก และไม่บ่อยค่ะ แต่ก็ควรจะเริ่มมีสติรู้สึกตัวบ้างในขณะที่ว่าง เช่นเวลานอนเวลาพักผ่อน ในขณะที่คุณวันทนากำลังรอใครอย่างเวลาไปหาหมอ รอเพื่อน หรือรอรถหรือนั่งรถ ก็คงจะมีสติรู้สึกตัวได้บ้างนะคะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้อาจารย์สุจินต์ก็ได้พูดถึงการฟังธรรม การศึกษา และการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลาย โดยอบรมให้มีสติรู้สึกตัวพิจารณาสังเกตลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏให้รู้ชัดว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหมดสิ้นไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ถ้าไม่อบรมให้มีสติบ่อยๆ เนือง ปัญญาคือความรู้ชัดที่เห็นแจ้งประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ค่ะ เมื่อปัญญาการรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายไม่เกิด การละความยินดีติดข้องยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสภาพธรรมทั้งหลายก็มีไม่ได้ ท่านผู้ฟังคะ ท่านผู้ฟังคงจะไม่ปฏิเสธนะคะ ว่า ความรักใดๆ ในโลกนี้ ความรักอื่นเสมอด้วยตนเองนั้นไม่มี ก็เพราะเหตุแห่งความรักตน ปรารถนาความสุขให้แก่ตนนี้แหละค่ะ การศึกษาในเรื่องราวที่เกี่ยวกับตน ศึกษาทางประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุสันติสุขจึงเป็นสิ่งจำเป็น และทางที่จะบรรลุสันติสุขนั้นก็ไม่อาจจะหาได้จากที่อื่นใด นอกเหนือไปจากการศึกษา และการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้ฟังคะ วันนี้การสนทนาของเราก็ได้ดำเนินมาพอสมควรแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ