บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒

    การศึกษา และการปฏิบัติธรรม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง คำว่า รูป ในความหมายของพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่ทั่วๆ ไป ไม่มีจิตใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด เช่น บ้านเรือน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น รูปทั้งหลายที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่ามีมากมายเหลือเกินสักเพียงใดก็ตาม แต่ในพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่ามีเพียง ๒๘ รูป เท่านั้น เหตุที่มีเพียง ๒๘ รูป ก็เพราะอาศัยหลักเกณฑ์จากลักษณะแตกต่างกันของรูป รูปหนึ่งที่เราได้พูดกันไว้ก็คือรูปสีค่ะ ซึ่งก็ยังไม่จบลงง่ายๆ นะคะ สีเป็นรูปๆ หนึ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา อาจารย์คะ วันนั้นอาจารย์ได้อธิบายให้ทราบถึงความสุข ความทุกข์ อันเกิดจากการที่เราได้เห็นรูปสีครั้งหนึ่งๆ และอาจารย์ได้อธิบายต่อไปว่า ควรอบรมเจริญสติ และปัญญารู้ความจริงของรูปสีว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ

    คุณวันทนา เหตุที่ต้องรู้อย่างนี้ เท่าที่ดิฉันจำได้ก็เพื่อให้เกิดปัญญาที่สามารถละคลายความหลงใหล ความยึดมั่นในวัตถุสิ่งของต่างๆ และเมื่อได้สิ่งใดมาแล้วก็จะไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตน หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ประสบกับวัตถุสิ่งต่างๆ ที่ไม่ชอบใจก็จะคลายความโทมันลงได้ เพราะรู้ว่าวัตถุสิ่งต่างๆ และสีสันของวัตถุนั้นไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ ดิฉันเข้าใจอย่างนี้ถูกไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ

    คุณวันทนา จากที่อาจารย์ได้พูดไว้แล้วนะคะ ดิฉันก็ยังจำได้ และได้พยายามที่จะนำมาประยุกต์กับชีวิตประจำวัน คืออย่างนี้ค่ะ ดิฉันสังเกตเห็นว่าวันหนึ่งๆ รูปวัตถุทั้งหลายที่ปรากฏให้เราเห็นทางตานั้นมีมากมายเสียเหลือเกิน นับตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมา เราอาจจะเห็นดอกกุหลาบ ดอกมะลิในบ้านของเราบาน นี่ก็เป็นเรื่องของการเห็นสี ใช่ไหมคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ใช่คะ

    คุณวันทนา แต่แม้จะคิดว่ามันเป็นเพียงสีสันวัณณะที่ไม่เที่ยง ความยินดี ความชอบใจต่างๆ ในวัตถุ และสีสันต่างๆ ก็ไม่ได้ลดเลยค่ะ อย่างสีสวยๆ ของดอกกุหลาบ ดอกมะลิ ถึงจะรู้ว่าไม่คงทน ต้องเหี่ยวแห้งก็อดหลงพอใจในขณะที่เห็นว่ายังสวยอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้แล้วนะคะ ยังเกิดความรู้สึกที่เข้าข้างตนเองต่อไปอีกว่า ทำไมจะต้องคิดไปให้ไกลอย่างนั้นด้วยล่ะ ทำไมไม่หาความสุขความชื่นใจจากความงามของรูป ของสีที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ไปคิดให้ทุกข์ใจทำไมว่าสิ่งที่เราเห็นสวยงามอยู่เบื้องหน้าขณะนี้จะต้องเหี่ยวแห้ง จะต้องเปลี่ยนแปลง และก็จะได้รับประโยชน์อะไรจากความคิดความเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็อาจารย์คะ ดิฉันอยากจะยกตัวอย่างอะไรต่ออะไรต่อไปอีกหลายๆ อย่างเพื่อเป็นเครื่องยืนยันค่ะ ในเรื่องอิทธิพลของสี ชีวิตประจำวันของเรานี่นะคะ นับตั้งแต่ในบ้านจนออกไปนอกบ้าน รูปต่างๆ ที่ปรากฏแก่ตาเรามากมาย ถึงแม้ว่าดิฉันจะได้พยายามเข้าใจใหม่ว่า มันเป็นเพียงสี แต่แม้กระนั้นตัวสีเองก็มีอิทธิพลในการที่จะยังความชอบใจไม่ชอบใจให้เกิดขึ้น และบางทีนะคะ สีก็มีอิทธิพลมากกว่าวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของสีเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างนะคะ เวลาที่เราไปซื้อผ้า เช่น ผ้าไหมไทย สีของผ้าไหมไทยใครๆ ก็รู้ว่ามีอิทธิพลดึงดูดใจผู้เห็นผู้ซื้อ บางทีเนื้อผ้าจะหยาบไปบ้าง นุ่มไปบ้าง แต่เราก็ซื้อมาเพียงเพราะเราถูกใจ และติดใจสีเท่านั้น ยังมีตัวอย่างอีกค่ะ อาจารย์คะ ในวงการค้าทั่วๆ ไป สีก็มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับสินค้าไม่น้อยเลย อย่างเช่น เครื่องสำอางที่ผู้หญิงเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นการใช้อิทธิพลของสีเป็นเครื่องส่งเสริมความงาม อาศัยอิทธิพลของสีเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้ซื้อนิยมซื้อ จูงใจให้ผู้ขายพยายามผลิตของสวยๆ งามๆ แปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้น ดิฉันยังคิดต่อไปอีกค่ะ อย่างเช่นในวงธุรกิจบางอย่างก็คงจะจับจุดได้นะคะ ว่า มนุษย์เรามีความชอบใจ พอใจที่จะได้เห็นรูปงามๆ สีสวยๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ จึงมีการจัดบริการนำเที่ยวสถานที่ต่างๆ ซึ่งแท้ที่จริงก็คือบริการท่องเที่ยวเพื่อไปดูสีนั่นเอง อาจารย์คะ จากตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างที่ดิฉันได้ยกมากล่าวก็เพื่อให้อาจารย์เห็นใจ และช่วยออกความเห็นด้วยว่า เมื่อสีก็ดี รูปพรรณสัณฐานของสีก็ดี ต่างก็ทำให้เกิดความพอใจเป็นอันมาก อาจารย์คิดว่ายังจะพอมีทางอื่นอีกไหมคะ ที่จะช่วยทำให้เราพ้นจากความเป็นทาส พ้นจากความหลงใหลในอิทธิพลของสี

    ท่านอาจารย์ ที่คุณวันทนาพูดมาแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องสีที่ทำให้คุณวันทนาพอใจอยากจะได้ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่ได้รับสีที่ไม่ชอบล่ะคะ คุณวันทนารู้สึกอย่างไรคะ

    คุณวันทนา ก็ไม่ค่อยจะเป็นสุขนักค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาลองเปรียบเทียบดูนะคะ ว่า วันหนึ่งๆ คุณวันทนาได้รับที่พอใจ หรือสีที่ไม่ค่อยพอใจมากกว่ากันคะ

    คุณวันทนา แหม ไม่ได้นับละค่ะ เพราะมันเกิดสลับกัน

    ท่านอาจารย์ ในระยะวัยหนุ่มสาวหรือเวลามีเงินทองอาจจะรู้สึกว่าต้องการอะไรก็ได้นั้น ใช่ไหมคะ ถ้าอยากได้ผ้าไหมสักชิ้นหนึ่งก็ไปเลือกที่พอใจอยากจะได้ หรือว่าถ้าอยากจะได้ดอกกุหลาบสวยๆ ก็ไปดูซื้อที่ถูกใจ แต่ถ้าไปหาซื้อสิ่งนั้นไม่ได้ หรือในวัยที่เราแก่ชราลง คุณวันทนาจะยังชอบใจหรือยังเป็นสุขอยู่ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็ต้องไม่เป็นสุขซินะคะ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงของสิ่งทั้งปวง เพื่อให้เราได้เข้าใจความจริงนั้น แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างค่ะ ไม่หลงเพลิดเพลินไปจนกระทั่งเวลาประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์อย่างยิ่งค่ะ

    คุณวันทนา ค่ะ ดิฉันเห็นด้วยจริงๆ ค่ะ แล้วก็รู้สึกว่าพอจะเข้าใจอะไรขึ้นกว่าเดิมหน่อย

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราก็ไม่ค่อยจะได้คิดถึงหลักธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากันนะคะ และถ้าจะคิดถึงก็เป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ อย่างที่คุณวันทนาบอกว่าได้ทดลองปฏิบัติดู แต่ว่าขณะที่เห็นสิ่งที่พอใจอย่างดอกกุหลาบสวยๆ นั้น ก็เพียงแต่คิดว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยงได้เดี๋ยวเดียวใช่ไหมคะ ไม่สามารถจะรู้ได้ชัดจนกระทั่งละความยินดีพอใจได้ ซึ่งคุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เพียงความรู้ที่เกิดจากการฟัง และพิจารณาตามเพียงนิดเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะทำให้ละความพอใจ และความยิดมั่นในสิ่งที่เคยพอใจนั้นได้ ที่เป็นอย่างนี้ทราบไหมคะว่าเป็นเพราะอะไร

    คุณวันทนา ไม่ทราบค่ะ เพราะว่าก็ได้พยายามอยู่มากทีเดียวนะคะ ที่จะทำให้เกิดปัญญาตามหลักเหตุผลที่ได้ฟังมา

    ท่านอาจารย์ แต่ความพยายามนั้นก็ยังเป็นตัวคุณวันทนาที่พยายามใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดปัญญานั้นก็ต้องมีด้วยค่ะ ไม่ใช่ว่าใครต้องการจะนึกละก็ละได้ทันที คุณวันทนาลองคิดดูค่ะว่า ระหว่างที่คุณวันทนายังไม่ได้นึกถึงพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นเวลานานสักเท่าไร และความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นนั้นก็สะสมมานานเท่าไหร่ แล้วเพียงชั่วระยะเวลาที่คุณวันทนานึกถึงความไม่เที่ยงหรือเพียงแต่นึกรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นสีนั้น ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่สั้นกว่าความพอใจยินดีที่สะสมมามาก เพราะฉะนั้น ข้างไหนจะมีกำลังมากกว่ากันคะ

    คุณวันทนา ข้างที่เคยชอบติดต่อกันมาเป็นเวลานานมีกำลังมากกว่าค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าแปลกนะคะ ที่เวลาคุณวันทนานึกได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นแต่เพียงสีเท่านั้น คุณวันทนาก็นึกรู้ได้เพียงชั่วเดี๋ยวเดียวแล้วก็เกิดความพอใจยินดีในสิ่งที่เห็นนั้นต่อไปอีก ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเคยสะสมความยินดีพอใจในสิ่งที่เคยเห็นเคยชอบนั้นมามากแล้วนั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา ต้องให้ปัญญาอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เกิดจากการนึกคิดก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่งค่ะ คุณวันทนาคิดว่าจะมีวิธีเจริญปัญญาให้สูงขึ้นไหมคะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ผู้ฟังได้เข้าใจแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นถูกต้องชัดเจน และคลายความยึดมั่นในวัตถุสิ่งของต่างๆ และตัวตนได้ จนสามารถดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นแต่ละคะก็จะต้องมีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะพยายามทำความเพียรให้เกิดปัญญาอย่างนี้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้เพราะอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวันค่ะ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้รู้ได้นั้นก็พร้อมที่จะให้ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้นได้ แต่ว่าก่อนอื่นนั้นจะต้องเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาให้ถูกต้องว่าจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแต่นึกว่าสิ่งที่เห็นเป็นสีนะคะ จะต้องรู้ชัดยิ่งกว่านั้นมากทีเดียวค่ะ

    คุณวันทนา คงเป็นเรื่องยากมากนะคะ ที่จะรู้ชัดในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจนละความโลภ โกรธ หลง ในสิ่งนั้นๆ ได้ เพราะเวลาที่เราเห็นอะไรเป็นต้นว่าเห็นรูปที่สวยๆ ดีๆ พอเห็นปุ๊บความพอใจก็เกิดทันที

    ท่านอาจารย์ ดิฉันเคยเรียนให้ทราบแล้วนะคะ ว่ารูปธรรมทั้งหมดมีถึง ๒๘ รูป และถ้าเราพูดถึงรูปเดียวหรือเกิดความรู้ความเข้าใจในรูปเดียว ก็ย่อมจะไม่สามารถจะละความสงสัยความไม่รู้ และความยึดมั่นในรูปธรรมอื่นๆ และในนามธรรมอื่นๆ ได้ การที่จะสามารถละความเห็นผิดยึดมั่นในสิ่งต่างๆ และในตัวตนได้นั้น จะต้องมีความรู้มากกว่าเพียงรู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปสีซึ่งเป็นรูปหนึ่งใน ๒๘ รูปเท่านั้น ดิฉันขอยกอุปมาในนันทโกวาทสูตรอีกครั้งหนึ่งนะคะ ในนันทโกวาทสูตรมีอุปมาที่ไพเราะมากในเรื่องการที่จะต้องรู้นามธรรม และรูปธรรมอื่นๆ เพราะไม่สามารถที่จะละความยึดมั่นด้วยการที่รู้เพียงสิ่งเดียวคือรู้เฉพาะรูปธรรมเดียวหรือนามธรรมเดียวได้ ซึ่งก็อุปมาเหมือนกับคนที่เห็นโคทั้งตัว เมื่อปัญญายังไม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถที่จะแยกส่วนต่างๆ ของโคตัวนั้นได้ แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถรู้นามธรรมแต่ละนามธรรมรูปธรรมแต่ละรูปธรรม ซึ่งก็อุปมาเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคที่ฉลาด เมื่อฆ่าโคแล้วก็ใช้มีดแล่โค ชำแหละโค แยกส่วนเนื้อส่วนหนัง เป็นเนื้อล่ำ เอ็น และอื่นๆ เมื่อแล่เป็นชิ้นเป็นส่วนต่างๆ ก็เอาส่วนหนังนั้นปกคลุมโคนั้นไว้อย่างเก่า แล้วก็บอกว่าโคที่มีหนังหุ้มตัวนี้มีลักษณะเหมือนอย่างเดิมนั่นเอง อย่างนี้คุณวันทนาคิดว่าถูกหรือผิดคะ

    คุณวันทนา ไม่ถูกค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะคะ

    คุณวันทนา เพราะว่าแม้ว่าส่วนต่างๆ ที่แยกเอาไว้จะยังอยู่ครบ แต่มันก็ไม่เหมือนอันเดิมแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าไม่เหมือนล่ะคะ

    คุณวันทนา เพราะว่าตัวโคได้ถูกแบ่งออกไปแล้ว เพียงแต่เอาหนังหุ้มไว้เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ถ้าเราไม่รู้เรื่องรูปอื่นๆ ด้วย รู้แต่เพียงรูปสีอย่างเดียวก็คงจะเหมือนกับที่เราเห็นหนังโคที่หุ้มส่วนต่างๆ ของโคไว้นั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา จริงด้วยซินะคะ อย่างตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาเมื่อกี้นี้ ดิฉันก็เข้าใจค่ะ แต่ดิฉันอยากจะคิดแย้งต่อไปอีกสักหน่อยนะคะ คือถ้าเป็นคนที่ไม่รู้มาก่อนว่าโคตัวนี้ถูกคนฆ่าโคผู้ฉลาดชำแหละแล่ส่วนต่างๆ ของโคออก แล้วเอาหนังหุ้มไว้ พอมาเห็นเข้าก็คงคิดว่าเป็นโคตัวเดิมนะคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ความจริงว่ารูปมีหลายรูป แต่ละรูปก็มีลักษณะต่างๆ กันไป รวมทั้งหมดมีถึง ๒๘ รูป ถ้าไม่รู้ว่าที่เคยคิดเคยเข้าใจว่าเป็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ความจริงมีรูปหลายชนิดรวมกันอยู่ เหมือนชิ้นส่วนต่างๆ ของโครวมกันเข้าเป็นตัวโค ถ้าไม่รู้ความจริงของรูปแต่ละชนิดอย่างชัดเจนก็ย่อมจะเข้าใจผิดคิดว่ารูปวัตถุทั้งหลาย เที่ยง ไม่แปรปรวน และก็ย่อมจะยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นยึดถือว่าชิ้นส่วนต่างๆ ที่รวมกันนั้นเป็นตัวโค

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องศึกษาเรื่องรูปอื่นต่อไปอีกใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเพียงแต่รู้ว่ารูปสีเป็นรูปหนึ่งใน ๒๘ รูป ก็เหมือนกับคนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ยังไม่สามารถที่จะแยกรูปอื่นที่รวมอยู่ในที่นั้นออกเป็นส่วนต่างๆ เป็นรูปต่างๆ ได้

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ดิฉันขอพูดถึงเรื่องรูปสีอีกครั้งหนึ่งนะคะ รูปในคำสอนของพระพุทธศาสนามี ๒๘ รูป แต่ที่กล่าวถึงเรื่องรูปสีก่อนนั้นก็เพราะเหตุว่า เวลาเราพูดถึงรูป ทุกคนก็มักจะคิดถึงแต่สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ แต่ความจริงนั้นการที่จะรู้ว่าวัตถุมีรูปร่างอย่างใดได้นั้น ก็เพราะเห็นสีของวัตถุนั้นค่ะ ถ้าหลับตาแล้วก็จะไม่เห็นรูปสีหรือรูปร่างลักษณะของวัตถุอะไรๆ เลย แม้แต่รูปร่างกายของเราเอง ถ้าหลับตาแล้วก็จะไม่ปรากฏเลยว่ารูปร่างกายของเรานั้น สูง ต่ำ ดำ ขาว ยังไง

    คุณวันทนา รูปสีนี่นะคะ หมายถึงรูปสีที่มีอยู่ในร่างกายของเราด้วยหรือเปล่าคะ หรือจะหมายถึงแต่เฉพาะรูปสีของวัตถุสิ่งของภายนอกเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ รวมด้วยค่ะ ต่อไปคุณวันทนาจะทราบว่าสิ่งที่เป็นรูปนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างกายหรือรูปวัตถุสิ่งของภายนอกร่างกายก็ตาม ถ้าเป็นรูปชนิดเดียวกัน จะไม่มีลักษณะแตกต่างกันเลย อย่างเช่นสีที่ตัวคุณวันทนาหรือสีโต๊ะ สีเก้าอี้ สีแก้วน้ำ หรือสีวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น ก็เป็นรูปที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตาเท่านั้น ถ้าหลับตาเสีย รูปสีสันต่างๆ ที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปสีของร่างกายหรือสีของวัตถุสิ่งของ ใช่ไหมคะ ลักษณะจริงๆ ของรูปนั้นต่างกันเป็น ๒๘ ชนิด ไม่ใช่ต่างกันโดยการแยกเป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปสิ่งของ รูปโต๊ะ หรือรูปถ้วยแก้ว รูปรถยนต์ รูปโทรศัพท์ อย่างที่เราเคยคิดเคยเข้าใจกันค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ นอกจากนี้แล้วยังจะมีความสำคัญอื่นอีกไหมคะ ที่ทำให้เราต้องพูดถึงรูปสีก่อนรูปอื่นๆ

    ท่านอาจารย์ เหตุที่ทำให้เราพูดถึงรูปสีก่อนอื่นๆ อีกประการหนึ่งก็เพราะว่า เราเห็นรูปสีอยู่ตลอดเวลาที่เราลืมตา แต่ไม่รู้สึกตัวเลยว่าสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นทางตาเท่านั้นก็สามารถทำให้เราเดือดร้อนใจ หวั่นไหวไม่สงบ เป็นสุขเป็นทุกข์ไปได้ต่างๆ นานา ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเราพอใจในสีสันวัณณะต่างๆ ที่เรามองเห็นนั่นเองค่ะ ความยินดีพอใจในสีสันวัณณะต่างๆ นั้นทำให้เรากระวนกระวายขวนขวาย ยอมลำบากเดือดร้อน เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งต่างๆ ที่เราพอใจอยากได้ ถ้าเรามีความยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ที่เรามีอยู่ และได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนมาก แต่ถ้ามีความปรารถนาความต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแรงกล้า จนกระทั่งถ้าไม่ได้มาโดยสุจริต ก็อาจจะทำให้ต้องแสวงหาให้ได้มาแม้โดยทางทุกจริตก็เป็นได้นะคะ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้เดือดร้อนทั้งตัวเอง และผู้อื่นด้วย คุณวันทนาคงไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจะมีทางใดที่จะทำให้เราไม่ต้องเป็นทาสของสิ่งที่เรามองเห็นบ้างไหมคะ

    คุณวันทนา ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจ และรู้ชัดในเรื่องรูปสีที่ปรากฏอยู่เสมอๆ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอยากจะเป็นอิสระ พ้นจากการเป็นทาสของรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ ไหมคะ

    คุณวันทนา ใครๆ ก็คงอยากเหมือนกันนะคะ

    ท่านอาจารย์ แต่ดิฉันคิดว่าในขณะเดียวกันที่คุณวันทนาอยากจะเป็นอิสระนั้น คุณวันทนาก็ยังอยากได้ และก็ยังต้องการสิ่งต่างๆ ที่ชอบใจที่พอใจด้วย ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา จริงค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจก็คือว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้บังคับว่า พุทธศาสนิกชนจะต้องไม่ยินดีพอใจ จะต้องไม่สนุกสนาน ไม่ประดับประดาตกแต่ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร พระองค์ทรงรู้เหตุ และผลของธรรมทั้งหลาย พระองค์จึงได้ทรงแสดงทุกประการตามสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าใครจะมีศรัทธาใครศึกษา และปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน คุณวันทนาก็จะเห็นได้นะคะ ว่าพระพุทธศาสนามีพุทธศาสนิกชนที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์ ถ้าคุณวันทนาอยากจะศึกษา และปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค โดยที่คุณวันทนาก็ยังคงสนุกสนานรื่นเริง แต่งตัวสวยๆ เหมาะแก่กาลเทศะ ไปเที่ยงดูหนังดูละครก็ได้ค่ะ แต่ว่าก็ควรจะมีเวลาศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และปฏิบัติธรรมด้วย เพราะการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และการปฏิบัติธรรมจะทำให้คุณวันทนาได้รู้ความจริงของธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนามากขึ้น คุณวันทนาก็คงทราบแล้วนะคะ ว่า การที่จะละกิเลสได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องละด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ในครั้งพุทธกาลการศึกษาพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีแต่เพียงการฟังซึ่งเป็นขั้นปริยัติศาสนาเท่านั้น แต่มีการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาเรื่องสภาพธรรมใด ผู้ฟังขณะนั้นก็ระลึกรู้ ศึกษา พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ทรงเทศนาในขณะนั้น จนรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆ ตรงตามที่พระองค์ทรงเทศนา

    คุณวันทนา แล้วในสมัยนี้จะทำได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ได้ซิคะ แต่ว่าผลก็ต้องเป็นตามสมควรแก่เหตุค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ จากการสนทนาของเราดิฉันคิดว่า คงจะทำให้ท่านผู้ฟังได้แง่คิดใหม่ๆ แปลกๆ เป็นแนวทางที่เราจะใช้เวลาในชีวิตประจำวันของเราให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรมด้วย เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ