บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๔

    จิต เจตสิก รูป เป็นปัจจัยกันอย่างไร

    กรรมเก่า และกรรมใหม่


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังที่เคารพคะ เมื่อพูดกันถึงเรื่องการสนทนาหรือการคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมหรือในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่นะคะ ว่า การสนทนาจะต้องเกิดระหว่างบุคคลนับตั้งแต่สองคนขึ้นไป และเรื่องจะยกมาสนทนากันนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อยเชียวค่ะ เพราะอะไร เพราะว่าเรื่องที่สนทนากันนี้แหละอาจจะเป็นสื่อให้คนที่แรกรู้จักกันเกิดสนใจ เกิดความรู้สึกชอบพอ อยากจะให้มิตรภาพนั้นดำรงอยู่ต่อไป หรือในทำนองตรงกันข้าม ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ปรารถนาจะมีมิตรภาพที่พอจะอ่านนิสัยใจคอกันได้บ้าง แม้เพียงจากการสนทนากันครั้งแรก สำหรับคนที่คุ้นเคยคบหาสมาคมกันมานานๆ การพูดจาระหว่างกันก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าบางครั้งต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักที่จะถนอมน้ำใจกันด้วยการกระทำหรือคำพูด มิตรไมตรีที่เคยมีต่อกันมาเป็นเวลาช้านานก็ย่อมจะหักสะบั้นลงได้ จากหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงชนิดของคำพูดที่ดี ที่เป็นสัมมาวาจาว่ามี ๔ ประการ คือ ไม่พูดเท็จ ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าถ้าเราจะนำหลักธรรมในการพูดเหล่านี้มาพิจารณา และปฏิบัติคือคิดก่อนพูด ก็ย่อมจะยังความสุขแก่ผู้พูด และผู้ฟังทุกโอกาส ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้น นอกจากจะเป็นธรรมที่ขัดเกลากาย วาจา และใจของผู้ประพฤติปฏิบัติให้ดีงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่ได้พบเห็นได้สนทนากันแล้ว คุณประโยชน์อีกข้อหนึ่งก็คือทำให้เราเข้าใจเหตุแห่งความสุข และความทุกข์ทั้งหลายละเอียดลึกซึ้ง เช่น รู้ว่าสภาพธรรมแต่ละสิ่งที่แวดล้อมตัวเราไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร บุคคลต่างๆ และเสียงที่เกิดจากบุคคลต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยให้ชีวิตจิตใจของเราเป็นสุขเป็นทุกข์ยินดียินร้ายได้ทั้งสิ้น ปัจจัยของธรรมทั้งหลายที่มีกำลังตามสภาพของธรรมนั้นๆ ภาษาบาลีเรียกว่า ปกตูปกนิสสยปัจจัย ซึ่งแปลว่าปัจจัยตามกำลังตามสภาพปกติของธรรมนั้นๆ ศัพท์ภาษาบาลีคำนี้ฟังดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นชื่อที่เรียกยาก จำยากอยู่สักหน่อย ดิฉันรู้สึกว่าสมควรจะยกมาเป็นปัญหาเรียนถามอาจารย์สุจินต์ในการสนทนาคราวนี้ว่า จะมีวิธีใดบ้างไหมคะ ที่จะช่วยให้จำภาษาบาลีคำนี้ได้ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ คำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นคำรวมของคำ ๓ คำที่เราเข้าใจ และใช้กันในภาษาไทยอยู่เสมอค่ะ คำ ๓ คำนั้นก็คือคำว่า ปกต อุปนิสสย และปัจจัย คำว่า ปกต นั้นภาษาไทยเราเอามาใช้เป็นคำว่าปกติหรือปรกติ หมายถึงสภาพธรรมดา คำว่าอุปนิสสยหรืออุปนิสัยนั้นหมายถึงที่อาศัยที่มีกำลัง คำว่านิสสยหรือนิสัยนั้นความหมายเดิมในภาษาบาลีแปลว่าที่อาศัย ปกติปนิสสยปัจจัย หมายถึงการกระทำที่กระทำบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชินเป็นปกติ และเพราะเหตุที่กระทำบ่อยๆ เป็นปกติหรือกระทำอยู่เสมอจึงทำให้เกิดเป็นนิสัยขึ้น จนเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง เพราะสะสมสืบต่อเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีต ในสมุดพกนักเรียนคุณวันทนาคงจะจำได้นะคะ เวลาครูรายงานว่ามีอุปนิสัยอย่างไร สำหรับการใช้คำว่าอุปนิสัย หรืออุปนิสสย ในทางธรรมนั้นที่เป็นกุศลก็มี เช่น คำว่าทานุปนิสัยหมายถึงอุปนิสัยในการให้ทานหรือบำเพ็ญทาน สีลุปนิสัยหรืออุปนิสัยในการรักษาศีล บำเพ็ญศีล ภาวนุปนิสัยหรืออุปนิสัยในการเจริญภาวนาหรือบำเพ็ญภาวนา

    คุณวันทนา แหม พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกอุปนิสัยของสัตวโลกไว้ทั้งหมดเชียวนะคะ ฟังๆ ดูแล้วก็หนีไม่พ้นไปจากพวกเรา เพราะว่าอุปนิสัยเหล่านี้ เช่นการชอบให้ทาน รักษาศีล ก็มีอยู่ในพวกเราทุกๆ คนนี่แหละค่ะ จะต่างกันก็แต่ว่าจะมีอยู่ในแต่ละคนมากน้อยเพียงใด จริงๆ นะคะ อาจารย์ ดิฉันเคยสังเกตคนบางคนมีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจชอบช่วยแบ่งเบาบรรเทาความทุกข์ความขัดข้องของคนอื่น นี่ก็คงจะเป็นทานุปนิสัย สีลุปนิสัย นั่นเอง คนบางคนก็ชอบอยู่เงียบๆ พิจารณาศึกษาปฏิบัติธรรมตามที่ได้เรียนมาแล้ว นี่ก็คงจะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสะสมมาในทางภาวนุปนิสัยนั่นเองนะคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า การที่คนเราทำอะไรต่างๆ กันไปนั้นก็เพราะอุปนิสัย หรืออุปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีกำลังเพราะได้สะสมอบรมมามากแต่ในอดีตนั่นเอง ถ้าไม่ได้สะสมอบรมการกระทำนั้นๆ มามากจนมีกำลังแล้ว อุปนิสัยนั้นๆ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นปรากฏ และการกระทำบุญกุศลแต่ละขั้นก็อาจจะขาดไปเพราะไม่มีอุปนิสัยเป็นปัจจัย อย่างบางคนมีทานุปนิสัยมีความยินดีที่จะสละทรัพย์สินวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ว่าขาดสีลุปนิสัยทางกาย ทางวาจา อาจจะมีวาจาที่ไม่สะอาดไม่สุจริต และมีการกระทำที่ไม่สะอาดไม่สุจริต หรืออาจจะไม่มีภาวนุปนิสัย คือไม่มีความยินดีพอใจในการศึกษาพิจารณา และปฏิบัติธรรม สำหรับคำว่า ปัจจัย นั้นคุณวันทนาคงเข้าใจแล้วว่า หมายถึงสิ่งที่อุปการะอุดหนุนช่วยให้ธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็ต้องมีปัจจัย ไม่อย่างนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

    คุณวันทนา และอะไรเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นล่ะคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดก็ได้ เจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตเกิดก็ได้ หรือว่าจิต และเจตสิกเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นก็ได้ หรือว่ารูปเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก เกิดขึ้นก็ได้ และรูปเป็นปัจจัยให้รูปเกิดก็ได้ค่ะ

    คุณวันทนา จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ดิฉันจะยกตัวอย่างที่คุณวันทนาพอจะเห็นได้ง่ายๆ นะคะ เช่นถ้าคุณวันทนาไม่เคยเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย คุณวันทนาจะเกิดความพอใจ ความชอบ ความปรารถนา ความต้องการในส่งนั้นขึ้นได้ไหม

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ แล้วเจตสิกล่ะคะ จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนารู้จักสัญญาเจตสิกแล้วใช่ไหมคะว่า สัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่จำลักษณะของสิ่งที่เห็นหรือเสียงที่ได้ยินต่างๆ เป็นต้น ถ้าคุณวันทนาไม่มีสัญญาเจตสิกคือไม่มีความจำสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน เป็นต้น ก็คงไม่มีจิตใจคิดนึกทบทวนถึงสิ่งที่ได้เห็นได้ยินมาแล้วว่า วันนี้เห็นอะไรบ้างหรือพูดอะไรกับใครที่ไหนบ้าง

    คุณวันทนา ค่ะ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าเราจะนึกถึงว่าวันนี้เราทำอะไรไปบ้าง นี่ก็คงจะเป็นสัญญาเจตสิกนั่นเองนะคะ ที่ทำให้จิตเกิดคิดนึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว คราวนี้มาถึงเรื่องรูปบ้างละค่ะ อาจารย์คะ รูปนี่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สำหรับรูปที่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดนั้นก็เห็นง่าย และก็มีอยู่ตลอดเวลา เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย พวกนี้ก็เป็นรูป สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นรูป เวลาสีกระทบกับรูปตา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตเห็น เวลารูปเสียงกระทบกับรูปหู ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตได้ยิน คงเข้าใจไม่ยากนะคะ เพราะขณะนี้ก็กำลังปรากฏอยู่ทั่วๆ ไป

    คุณวันทนา จิตล่ะคะ จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน พูด ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ เคลื่อนไหว ทำอะไรก็ตาม เป็นเพราะสภาพจิตขณะนั้นๆ เป็นปัจจัยให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้นมีอาการอย่างนั้นๆ

    คุณวันทนา จริงซินะคะ อาจารย์ แต่ถ้าไม่พิจารณาแล้วก็ไม่รู้ว่ากิริยาอาการต่างๆ ของรูปนั้นเกิดขึ้นตามสภาพของจิตขณะนั้นๆ จึงเป็นการกระทำ และคำพูดที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง สำหรับคำว่าปกตูปนิสสยปัจจัยนั้น เมื่อรู้ที่มาของศัพท์ว่ามาจากคำว่า ปกติ + อุปนิสัย + ปัจจัย แล้วก็ไม่ยากเลยนะคะ ที่จะเข้าใจ และจำได้ เพราะเราใช้คำเหล่านี้ในภาษาไทยอยู่แล้วเป็นประจำ แต่เราก็ต้องเข้าใจความหมายทางธรรมด้วยจะทำให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าคุณวันทนาจะต้องเข้าใจความหมายของคำนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีกสักหน่อยนะคะ มิฉะนั้นก็จะมีช่องทางให้เข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากความจริงได้ เพราะถึงแม้คำว่า อุปนิสสย หรือคำว่า อุปนิสัย จะมีความหมายว่าเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง แต่คุณวันทนาก็จะต้องเข้าใจคำว่า กำลัง ในที่นี้ไม่ได้บ่งไว้ว่าเป็นกำลังแรงกล้ามากน้อยแค่ไหน เพราะเวลาที่เราพูดถึงคำว่า กำลัง ที่ใช้ทั้งคำว่ากำลังอ่อนหรือกำลังแรง เพราะฉะนั้นคำว่ากำลังในที่นี้ก็เป็นกำลังที่ไม่ได้บ่งชัดว่ากำลังอ่อนหรือกำลังแรงแค่ไหน เพราะฉะนั้นเมื่อรวมกับคำว่าปกติเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามสภาพปกติของธรรมนั้นๆ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ถ้าหากว่าเราเข้าใจธรรม และเข้าใจความหมายของศัพท์ในทางธรรมด้วย ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของภาษาไทยที่เราใช้กันทุกวันนี้ได้ดียิ่งขึ้น จริงไหมคะ

    ท่านอาจารย์ จริงค่ะ และในทางตรงกันข้ามนะคะ ถ้าความเข้าใจธรรม และเข้าใจความหมายของศัพท์ธรรมที่เป็นภาษาบาลีทีเราเอามาใช้น้อยลงหรือเพี้ยนไปจากความหมายเดิมทุกๆ วันแล้ว วันเวลาที่ผ่านไปก็ย่อมทำให้ความเข้าใจความหมายของศัพท์ธรรมนั้นลบเลือนไป จนกระทั่งไม่เหลือความหมายเดิม และในที่สุดคนทั่วไปก็ไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ทางธรรมของคำนั้นเลยค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คิดว่า สมัยนี้กำลังเป็นอย่างนั้นหรือว่าใกล้จะเป็นอย่างนั้นแล้วหรอยังคะ

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าในกาลไหนสมัยไหน ถ้าสมัยใดยังมีการศึกษาธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบไม่ประมาท ไม่คาดคะเน หรือไม่คิดเข้าใจเอาเอง สมัยนั้นก็เป็นกาลสมัยที่ยังสามารถเข้าใจธรรมได้ถูกต้องตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    คุณวันทนา การที่เราจะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยแก่กันตามกำลังของสภาพตามปกติของสิ่งนั้นๆ จะได้ประโยชน์อะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ การที่รู้อย่างนั้นก็สามารถที่จะช่วยให้เราคลายความยึดมั่นในนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดร่วมกันเพราะเหตุปัจจัยว่าเป็นตัวตนลงได้บ้าง เพราะว่าถ้ายิ่งพิจารณาก็ย่อมเห็นว่าแม้ร่างกายหรือจิตใจของเรานั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามปรารถนา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นเป็นไปตามใจชอบได้เลย สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อรู้อย่างนี้ก็จะยิ่งเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของตัวเรา และสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายมากขึ้นทุกที คุณวันทนาอยากโกรธ อยากเสียใจ อยากไม่แช่มชื่น อยากเป็นห่วงเป็นกังวล อยากปวดหัวตัวร้อน บ้างไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่อยากทั้งนั้นเลยค่ะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ บางครั้งไม่อยากพูดไม่เพราะ ไม่อยากจะประชดประชันใคร แต่ก็อดไม่ได้ค่ะ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีเลย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ตลอดเวลานะคะ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีใครอยากให้สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นเลย แต่ก็ไม่มีใครจะสามารถบังคับได้ และสิ่งที่ไม่ดีนั้นก็มีโอกาส มีเหตุมีปัจจัย ที่จะเกิดขึ้นมากกว่าสิ่งที่ดีเสียด้วย ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วดิฉันคิดว่า เราก็จะเป็นคนที่ไม่ประมาท ไม่ทะนงตัว และไม่หลงคิดว่าตัวเองนั้นมีอำนาจ มีความสามารถ หรือมีกำลังใจที่จะบังคับกิเลสหรือธรรมฝ่ายต่ำไม่ให้เกิด แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็ย่อมพยายามระมัดระวังตัวไม่ให้ใกล้ชิดสภาพสิ่งแวดล้อม หรือเกี่ยวข้องติดต่อกับบุคคลที่ทำให้จิตใจของเราคล้อยไปในทางฝ่ายต่ำ หรือในทางที่จะทำให้อกุศลฉุดต่ำลงได้ นอกจากนั้นเราก็จะต้องพยายามศึกษาให้รู้ชัดขึ้นว่า อะไรเป็นปัจจัยของอะไร เพราะเมื่อต้องการผลอย่างใดก็จะต้องพยายามแสวงหาเหตุ สะสมเหตุที่ทำให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีเหตุแล้ว ผลที่ปรารถนานั้นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

    คุณวันทนา อาจารย์คะดิฉันคิดว่า คนส่วนมากพากันสงสัยไม่เชื่อก็คงเป็นเพราะไม่รู้เรื่องของปัจจัยว่าสิ่งต่างๆ มีปัจจัยอะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นบางคนทำไมจึงมีแต่คนรัก มีคนนิยม มีคนคอยช่วยเหลือ บางคนก็ตรงกันข้าม คือมีแต่คนไม่ชอบไม่อยากเห็นหน้า หรือแม้แต่พี่น้องแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันนะคะ ถึงแม้ว่าจะเกิดจากพ่อแม่เดียวกัน แต่รูปร่างหน้าตาก็ไม่เหมือนกัน บางคนสวยมาก บางคนสวยน้อย บางคนก็ไม่สวยเอาเสียเลย บางคนร่างกายแข็งแรง บางคนก็ขี้โรค แล้วพอโตขึ้นเส้นทางชีวิตก็ยังแตกต่างกันไปอีกคนละทางสองทาง ทั้งหมดนี้ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยทั้งนั้นเลยใช่ไหมคะ ไม่อย่างนั้นแล้วพ่อแม่เดียวกันลูกก็น่าจะเหมือนกันหมดทั้งหน้าตา ฐานะ สุขภาพ ความสุข ความทุกข์

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแต่ละขณะไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยทั้งนั้น และการที่แต่ละคนเกิดมาแล้วต่างกันไปทั้งรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ฐานะ ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ ในแต่ละวันแต่ละวัยก็เป็นเพราะความละเอียดสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัยที่แต่ละคนสะสมมาต่างๆ กัน และก็ไม่ได้มีเฉพาะปกตูปนิสสยปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก

    คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วก็กรรมคือการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะมีเจตนาหรือความตั้งใจต่างๆ นั้นก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ด้วย ใช่ไหมคะ และกรรมคือเจตนาต่างๆ นั้นก็คงจะเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปอื่นๆ ต่อไปด้วย อย่างที่พูดกันว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ เราจะมีทางรู้เหตุ และผลของกรรมเก่า และกรรมใหม่ บ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นวปุราณวรรคที่ ๕ กรรมสูตร ข้อ ๒๒๗ - ๒๓๑ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของกรรมใหม่ไว้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นกรรมเก่า กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา ในบัดนี้เป็นกรรมใหม่ ถ้าคุณวันทนาจะจับผิดเรื่องภาษาหรือสำนวนละก็ พระองค์ทรงห้ามไว้ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภึงควรรค อรณวิภังคสูตร ข้อ ๖๕๔ ว่า อย่าปรักปรำภาษาชนบทซึ่งเป็นคำพูดสามัญทั่วๆ ไปที่ใช้แล้วเข้าใจกันได้ ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรม และเรื่องผลของกรรมแล้ว จะเข้าใจพระดำรัสนั้นว่า พระองค์ทรงหมายถึง การที่เราจะรู้หรือจะดูกรรมเก่าที่แต่ละคนได้กระทำมาต่างๆ กันว่า แตกต่างกันอย่างไรได้นั้นก็จะดูได้จากตา จากหู จากจมูก จากลิ้น จากกาย จากใจของแต่ละคน สำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น ถึงแม้เราจะมีเหมือนๆ กัน หรือจำนวนเท่าๆ กัน แต่รูปร่างลักษณะที่ไม่เหมือนกันเลย และจิตใจของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปมากนั้นก็เป็นไปตามพื้นอุปนิสัยที่ได้กระทำกรรมต่างๆ สะสมมาไม่เหมือนกันเลย

    คุณวันทนา ถ้าเข้าใจเหตุผลที่พระองค์ทรงมุ่งหมายแล้ว รู้สึกว่าชัดเจนมากนะคะ ผลของกรรมเก่าที่ได้ทำมาแล้วก็ปรากฏให้เห็นชัดอยู่ทั่วๆ ไป นับตั้งแต่กำเนิดที่ต่างกัน ลาภ ยศ ฐานะ บริวารที่ต่างกัน และจิตใจต่างๆ กันไปด้วย แต่พูดถึงเรื่องจิตใจ ดิฉันสงสัยค่ะอาจารย์คะ คือ สงสัยว่าเราก็เห็นจิตใจในขณะปัจจุบันที่กำลังโลภบ้าง โกรธบ้าง ทำมายาหลอกลวงกันต่างๆ บ้าง หรือว่าในขณะที่ทำกรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งเป็นกรรมใหม่ คือกรรมที่ทำในชาติปัจจุบันนี้ แต่ว่าเราจะเห็นกรรมเก่าของใจนี่ เห็นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคะ เห็นกรรมเก่าของใจได้ก็ด้วยอุปนิสัยที่ต่างกันอย่างไรล่ะคะ ใครที่เคยกระทำกรรมเก่าทางกุศลหรืออกุศลสะสมมามากน้อยเท่าไร กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ เคยเกิดมามากน้อยต่างกันเท่าไร ก็เป็นพื้นฐานของจิตใจมากเท่านั้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้แต่ละคนจะมีโลภะ โทสะ โมหะ มีความเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความริษยาต่างๆ กันก็จริง แต่ก็มากน้อยต่างกันไปเพราะพื้นฐานของจิตใจที่สะสมมาต่างกัน

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ท่านผู้ฟังก็คงจะคลายความสงสัยในเรื่องของกรรมเก่าของใจแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ต่างมีความโลภ โกรธ หลง ทั้งนั้น แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ก็เกิดมากน้อยตางๆ กันตามพื้นฐานของจิตใจที่สะสมมา ท่านผู้ฟังลองสังเกตซิคะว่า ในกรณีเดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน บุคคลหนึ่งอาจจะโกรธจนระงับไว้ไม่อยู่ แต่อีกคนหนึ่งก็อาจจะไม่โกรธเลย ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาธรรมที่ได้ฟังมาพร้อมทั้งเหตุ และผล ท่านก็คงจะเห็นจริงตามพระพุทธวจนะที่ว่า “ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในขณะนี้นั้นเป็นกรรมใหม่”

    สำหรับวันนี้การสนทนาของเราก็ได้ดำเนินมาด้วยเวลาพอสมควรแล้ว จึงขอยุติลงเพียงเท่านี้ พบกันใหม่ในรายการหน้าค่ะ สวัสดี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ