บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๘

    ปรมัตถธรรม ๔

    จำนวนจิต ๒ นัย โดย ๘๙ ดวง และ ๑๒๑ ดวง


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ในการสนทนาครั้งก่อน นอกจากเราจะได้คุยกันเรื่องธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแล้ว อาจารย์สุจินต์ยังได้พูดถึงปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งดิฉันคิดว่าการที่เราจะพยายามศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้นะคะ คงจะได้รับประโยชน์มากทีเดียวแหละ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยให้รู้จัก และเข้าใจตัวเราได้ดียิ่งขึ้น วันนี้ดิฉันขอเริ่มรายการสนทนาของเราด้วยปัญหาซึ่งดิฉันจะได้เรียนถามอาจารย์สุจินต์เป็นข้อๆ ไปนะคะ อาจารย์คะ ปรมัตถธรรมที่เป็นจิตนั้นน่ะเป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ค่ะ เช่น เห็นก็เป็นจิตปรมัตถ์ เพราะว่าเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ตาไม่เห็นอะไรเลย ตาเป็นรูปธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีต่างๆ ก็ไม่เห็นอะไร เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นเป็นรูปธรรม เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้นนั้น การเห็นไม่ใช่ตา และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา แต่การเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็นไม่มีรูปร่างสัณฐานเลยค่ะ แม้ว่าการเห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ก็ไม่มีรูปร่างสัณฐานเพราะการเห็นเป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อารมณ์ เมื่อการเห็นมีจริง และเป็นสภาพรู้อารมณ์ การเห็นก็เป็นจิตชนิดหนึ่งค่ะ

    คุณวันทนา การได้ยินก็เช่นเดียวกันใช่ไหมคะ เพราะว่าขณะที่ได้ยินจิตก็รู้เสียงที่กระทบหู

    ท่านอาจารย์ ค่ะ การได้กลิ่น การลิ้มรส หรือการรู้ส่งที่กระทบสัมผัสร่างกายว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง การรู้เรื่องรวมต่างๆ ที่นึกคิดทั้งหมดก็เป็นจิตแต่ละประเภทค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นจิตก็คงมีมากมายหลายประเภทซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ จิตมีมากมายหลายประเภท จิตบางประเภทก็เป็นจิตดี บางประเภทก็เป็นจิตที่ไม่ดี จิตบางประเภทก็สงบเป็นสมาธิขั้นต่างๆ และบางประเภทก็เป็นจิตของพระอรหันต์ค่ะ

    คุณวันทนา แล้วรวมทั้งหมดจิตมีเท่าไหร่คะ

    ท่านอาจารย์ จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภทหรือว่า ๘๙ ดวงค่ะ ถ้าจะกล่าวโดยพิเศษก็มี ๑๒๑ ดวง คุณวันทนาคงเคยได้ยินนะคะ ที่ภาษาไทยเราใช้คำเรียกประเภท และจำนวนของจิตว่า ดวง เวลาไปตามสถานที่ที่มีการบรรยายเรื่องจิต ถ้าเป็นการบรรยายเรื่องการเกิดดับสืบต่อกันของจิตประเภทต่างๆ ก็จะเห็นเป็นรูปกลมๆ เขียนเรียงกันเป็นแถว แทนจิตแต่ละประเภทหรือจิตแต่ละขณะ และก็คุณวันทนาอย่างเข้าใจนะคะ ว่าจิตมีรูปร่างกลมๆ อย่างที่เขียนไว้เป็นเครื่องหมายแทนจิต การเรียกจำนวนจิตว่าดวงนั้นก็เป็นเรื่องของภาษา เพราะว่าจิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ เพราะฉะนั้นจะใช้คำเรียกจำนวนจิตว่าตัวก็ไม่ได้ เวลาที่เราใช้คำว่าดวงเรียกจำนวนจิต เราก็ต้องเข้าใจด้วยนะคะ ว่า คำว่าดวงนั้นเป็นคำที่แสดงจำนวนของจิตเท่านั้น ไม่ใช่คำที่อธิบายรูปร่างลักษณะของจิต เพราะว่าจิตเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ส่วนที่เขียนรูปวงกลมแทนจิตนั้นก็เป็นเพียงการใช้เครื่องหมายให้รู้ว่าวงกลมวงหนึ่งก็หมายถึงจิตขณะหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ ดิฉันคิดว่าการใช้วงกลมแทนรูปอื่นๆ ก็รู้สึกว่าจะเหมาะสมดีกว่าท่จะเขียนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปอื่นๆ นะคะ หรือว่าคุณวันทนาคิดว่าจะเขียนเป็นรูปอย่างอื่นจะดีกว่าคะ

    คุณวันทนา เขียนรูปวงกลมก็ดีแล้วละค่ะ เพราะว่าเขียนง่าย และก็เร็วดีด้วย เพียงแต่ทำมือตวัดๆ นะคะ อาจารย์ นอกจากนี้แล้วดิฉันก็ยังสงสัยค่ะว่าทำไมจิตจึงได้ต่างกันเป็น ๘๙ ดวง หรือ๑๒๑ ดวง โดยพิเศษล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ นัยที่หนึ่งที่ว่าจิตมี ๘๙ ดวงนั้นก็เพราะนับจิตประเภทโลกุตตรเพียง ๘ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าไม่ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌานค่ะ ส่วนนัยที่สองที่ว่าจิตมี ๑๒๑ ดวง โดยพิเศษนั้น ก็เพราะนับโลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌานต่างๆ จึงรวมเป็นโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง เพราะฉะนั้นจำนวนที่ต่างกันนั้น ก็ต่างกันที่โลกุตตรจิต และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า บางท่านก็บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลด้วยจิตที่ไม่ถึงสมาธิขั้นฌานซึ่งก็เป็นนัยที่ ๑ นะคะ แต่าบางท่านก็บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลด้วยจิตที่ถึงสมาธิขั้นฌานต่างๆ ซึ่งก็เป็นัยที่ ๒ ค่ะ การแยกจำนวนจิตเป็น ๒ นัยนั้นก็เป็นไปตามสภาพของโลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ไม่ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌานต่างๆ และที่ประกาอบสมาธิขั้นฌานต่างๆ ค่ะ

    คุณวันทนา ทำไมคะบางครั้งจิตที่รู้แจ้งนิพพานจึงได้ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌานต่างๆ และบางครั้งก็ไม่ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌานต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่าก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคนั้น ย่อมมีคนที่พยายามพากเพียรขจัดขัดเกลาชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ ค่ะ สมัยนั้นมีการบำเพ็ญภาวนา คืออบรมจิตให้สงบระงับจากการติดข้องผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จนเกิดจิตที่สงบมั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ แต่ถึงแม้ว่าจิตจะสงบระงับเป็นสมาธิที่พ้นจากการใฝ่หารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เป็นการพ้นเพียงชั่วคราวค่ะ คือพ้นเพียงชั่วขณะที่จิตกำลังสงบเป็นสมาธิที่มั่นคงเท่านั้น แต่พอจิตไม่เป็นสมาธิขณะใดก็เริ่มใฝ่หาปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทันที ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า ความสงบขั้นสมาธิที่ระงับความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และนามธรรม และรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงหนทางอบรมเจริญปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ทุกขณะนั้นตามความเป็นจริง เมื่อท่านที่เคยเจริญความสงบถึงความมั่นคงเป็นสมาธิขั้นฌานอย่างคล่องแคล่วชำนาญแล้วอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของจิตที่สงบเป็นสมาธิขั้นฌานต่างๆ ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น และรู้ชัดสภาพที่ไม่เที่ยงเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาของท่านเหล่านั้นที่อบรมเจริญขึ้นจนคมกล้าจึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ มีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วยโลกุตตรจิตที่เป็นสมาธิขั้นฌานค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ การรู้แจ้งนิพพานด้วยโลกุตตรจิตที่เป็นสมาธิขั้นฌานต่างๆ ควรจะยากกว่าการรู้แจ้งนิพพานด้วยโลกุตตรจิตที่ไม่ใช่สมาธิขั้นฌานนะคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ผู้ที่จะรู้แจ้งนิพพานด้วยโลกุตตรจิตขั้นฌานต่างๆ นั้น จะต้องอบรมเจริญความสงบเป็นสมาธิอย่างมั่นคงถึงขั้นฌานต่างๆ มาก่อนค่ะ และการอบรมเจริญความสงบระงับจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จนเป็นสมาธิกว่าจะถึงฌานจิตแต่ละขั้นนั้นก็ยากมากเหลือเกินค่ะ ต้องศึกษาเข้าใจลักษณะความสงบของจิต พร้อมทั้งเหตุ และผลของฌานแต่ละขั้น และวิธีอบรมเจริญความสงบแต่ละขั้นโดยละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นก็จะเข้าใจผิดคิดว่าสมาธิที่จดจ้องที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างแน่วแน่ด้วยความต้องการนั้นเป็นความสงบหรือเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ คุณวันทนาเห็นประโยชน์ของการที่ท่านแสดงจำนวนจิตไว้เป็น ๒ นัยแล้วนะคะ ว่า ทำไมท่านจึงแสดงจำนวนจิตไว้เป็น ๒ นัยด้วยกัน

    คุณวันทนา ก็ช่วยให้ได้ทราบว่าจิตที่รู้แจ้งนิพพานนั้นมีต่างกัน ๒ ประเภทดังที่อาจารย์ได้อธิบายไว้เมื่อสักครู่นี้ค่ะ คือประเภทที่รู้แจ้งนิพพานโดยมีสมาธิขั้นฌานด้วย กับจิตที่รู้แจ้งนิพพานโดยไม่ประกอบด้วยสมาธิขั้นฌาน

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคงเห็นแล้วนะคะ ว่า การที่ท่านแยกจำนวนจิตไว้ ๒ นัยนั้นก็เพื่อที่จะให้รู้ว่าการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลนั้นมี ๒ นัย คือนัยหนึ่งนั้นโดยการอบรมเจริญวิปัสสนาคือปัญญาที่รู้ชัดลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ และประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมชัดขึ้นเป็นลำดับจนเกิดปัญญาที่คมกล้าดับกิเลสได้ขาดเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับ ส่วนอีกนัยหนึ่งนะคะ เป็นนัยของผู้ที่อบรมเจริญความสงบมั่นคงเป็นสมาธิ จนกระทั่งบรรลุฌานขั้นต่างๆ แล้วจึงอบรมเจริญปัญญาในภายหลังค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะดิฉันคิดว่าตามนัยที่ ๒ นี่ คงจะยากกว่านะคะ เพราะผู้ปฏิบัติต้องอบรมเจริญปัญญาให้มั่นคงเป็นสมาธิจนถึงขั้นฌานเสียก่อน

    ท่านอาจารย์ ยากกว่ามากค่ะ และก็ไม่แน่ด้วยว่าชีวิตจะยืนยาวจนกระทั่งมีโอกาสได้เจริญวิปัสสนาปัญญาหรือไม่ อย่างท่านอาฬารดาบสกับท่านอุทกดาบส ผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอบรมความสงบถึงสมาธิขั้นอรูปฌานที่ ๓ และที่ ๔ จากท่านทั้งสองตามลำดับก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทั้งสองได้สิ้นชีวิตไปก่อนที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค จึงหมดโอกาสที่จะเจริญวิปัสสนาปัญญาได้ บางท่านก็เจริญความสงบจนเป็นสมาธิบรรลุฌานขั้นต่างๆ และสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ อย่างท่านพระเทวทัตต์ ถึงแม้ว่าท่านจะได้สมาธิขั้นฌาน และกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ แต่ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ ความริษยาพระผู้มีพระภาคอย่างแรงกล้าเป็นเหตุให้ท่านต้องกระทำกรรมหนัก และในที่สุดเมื่อสิ้นชีวิตท่านก็เกิดในอเวจีนรกค่ะ

    คุณวันทนา แหม อาจารย์คะ ดิฉันรู้สึกว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีเหตุผลทุกอย่างเลยนะคะ แม้แต่การที่แสดงไว้ว่าจิตมี ๒ นัย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คำเทศนาทุกคำ และทุกนัยนั้น นอกจากว่าจะเป็นความจริงแล้ว การเทศนาธรรมโดยนัยต่างๆ ด้วยโวหาร และคำอุปมาต่างๆ นั้น ก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ฟังได้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน และได้รับประโยชน์ตามควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟังด้วยค่ะ

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้นแล้วนะคะ ดิฉันรู้สึกว่า พระคุณของพระองค์ซึ่งประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณนั้น ช่างมากมายเหลือเกินนะคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ดิฉันคิดว่าถ้าจะประมวลสรุปลงให้สั้นที่สุดก็คงจะกล่าวได้แต่เพียงว่า สุดจะพรรณนาทีเดียวค่ะ

    คุณวันทนา แล้วอย่างดิฉันนี่ค่ะ จะมีจิตครบทั้ง ๘๙ ดวงไหมคะอาจาย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ครบค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าไม่ครบแล้วมีเท่าไหร่ล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาต่อไปก็จะรู้ค่ะ คุณวันทนาอยากจะมีจิตมากหรือน้อยประเภทคะ

    คุณวันทนา อยากจะมีจิตมากค่ะ จะได้สนุกๆ หน่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนามีจิตมากๆ นะคะ แต่ก็เป็นจิตที่ไม่ดีทั้งนั้น คุณวันทนายังอยากจะมีมากๆ ไหมคะ

    คุณวันทนา ตอนนี้ต้องมีข้อแม้ค่ะ อยากมีมากๆ แต่ขอให้เป็นจิตดีๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าคุณวันทนาไม่รู้ว่า จิตใจที่ไม่ดีมีสภาพยังไง มีลักษณะยังไง และเกิดขึ้นเมื่อไร คุณวันทนาก็จะไม่ทราบ และก็จะไม่เชื่อเลยค่ะว่า ตามธรรมดาวันหนึ่งๆ นั้น จิตไม่ดีเกิดมากกว่าจิตดีเยอะแยะเชียวค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าการศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจิต จะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้นมาก และก็จะเป็นเหตุให้จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นมากกว่าแต่ก่อนด้วยค่ะ

    คุณวันทนา ตอนนี้เราจะเริ่มพูดเรื่องจิตกันได้หรือยังคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ยังค่ะ ตอนนี้เราจะพูดถึงปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประเภทอย่างย่อๆ เท่านั้นค่ะ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประเภทเสียก่อน

    คุณวันทนา เรื่องเจตสิกล่ะคะ สิ่งที่มีจริงนั้นน่ะ อะไรเป็นเจตสิกบ้าง

    ท่านอาจารย์ ธรรมแต่ละชนิดที่มีลักษณะต่างๆ กันที่เกิด และดับร่วมกับจิตพร้อมกับจิต และเป็นนามธรรมเช่นเดียวกับจิตนั่นเป็นเจตสิกค่ะ เช่น ความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจ ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ความจำ ความรัก ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา พวกนี้ก็เป็นเจตสิกทั้งนั้นค่ะ คุณวันทนาลองสังเกตดูซิคะ เวลาเห็นอะไรบางครั้งก็รู้สึกเฉยๆ ใช่ไหมคะ บางครั้งก็ดีใจ และบางครั้งก็เสียใจ ความรู้สึกเฉยๆ หรือดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ นั่นเป็นเจตสิกค่ะ หรือว่าเวลาที่เห็นอะไร ได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร สัมผัสอะไร ก็จำได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร จำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นอะไร การจำสิ่งต่างๆ ได้ก็มีจริง ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ เพราะว่าทุกคนก็จำได้ อย่างในทันทีที่เห็นเราก็รู้ทีเดียวว่าเราเห็นใคร เห็นคุณพ่อคุณแม่หรือเห็นเพื่อนฝูง หรือย่างบางทีถ้าเราได้กลิ่นแกงร้อนๆ มาจากในครัวนี่ เราก็จำได้ว่า วันนี้มีแกงอะไรให้เรากิน

    ท่านอาจารย์ การจำได้นั้นไม่มีรูปร่างลักษณะ การจำเกิดกับจิตในขณะที่จิตเห็น ในขณะที่จิตได้ยิน ในขณะที่จิตคิดนึกเรื่องราวต่างๆ การจำก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นเจตสิกก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกับที่จิตรู้ซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เจตสิกเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็ดับพร้อมกับจิตค่ะ แต่ในการรู้อารมณ์นั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ไม่ใช่เจตสิกนะคะ เพราะว่าเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดกับจิตก็ทำหน้าที่ต่างๆ กันไปตามประเภทหรือตามชนิดของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งใครๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทนั้นไม่ได้เลยค่ะ อย่างเวลาเห็นเจตสิกที่จำก็จำสีที่เห็น เจตสิกที่รู้สึกเฉยๆ หรือดีใจเสียใจ ก็มีหน้าที่หรือว่ามีสภาพลักษณะที่รู้สึกเฉยๆ หรือดีใจหรือเสียใจในสิ่งที่เห็น เป็นต้นค่ะ

    คุณวันทนา เจตสิกที่ดีใจ เสียใจ ในทางธรรมท่านเรียกว่าอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ เรียกว่า “เวทนาเจตสิก” ค่ะ

    คุณวันทนา แล้วเจตสิกที่จำสิ่งต่างๆ ได้ล่ะคะ ท่านเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ เรียกว่า “สัญญาเจตสิก” ค่ะ

    คุณวันทนา ก็ไม่เหมือนกับความหมายในภาษาไทยซินะคะ ในภาษาไทยนั้นคำว่า “เวทนา” ที่เราเข้าใจกัน เรามักจะหมายถึงความรู้สึกที่ชวนให้เกิดความสงสาร หรือสังเวชสลดจิตอะไรทำนองนั้น แทนที่จะหมายถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ ตามความหมายในพระพุทธศาสนา คำว่า “สัญญา” ในภาษาไทยก็อีกละค่ะ เรามักจะหมายกันถึงข้อตกลงอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ความหมายในทางพุทธศาสนากลับหมายถึงว่าเป็นการจำได้หมายรู้

    ท่านอาจารย์ ความจริงความหมายในภาษาไทยก็มีเค้ามาจากภาษาบาลี และความหมายเดิมในทางพระพุทธศาสนาทั้งนั้นค่ะ เพียงแต่ว่าเวลาที่เราเอามาใช้ เราก็เอามาใช้ในความหมายที่แคบกว่ากัน เช่นคำว่า “เวทนา” ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ลักษณะรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ นั้น ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ภาษาไทยก็ใช้คำเดียวกันคือคำว่าอุเบกขา แต่เวลาที่เกิดสงสารมากๆ ไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา ภาษาไทยก็ตัดเหลือสั้นๆ แต่เพียงคำว่า “เวทนา” เท่านั้นเองค่ะ

    คุณวันทนา คำว่าสัญญาล่ะคะหมายความว่าอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ คำว่าสัญญาก็เช่นเดียวกันค่ะ สัญญาเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกปรมัตถ์ สัญญามีลักษณะจำสิ่งต่างๆ ที่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น เป็นต้น สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าจิตแต่ละประเภทนั้นก็เกิดดับสลับติดต่อกัน ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน ในขณะที่จิตกำลังเห็นอะไร สัญญาที่เกิดกับจิตนั้นก็จำเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังเห็นในขณะนั้นเท่านั้น ทำให้บางครั้งดูเหมือนกับว่าจิตในขณะนั้นไม่มีสัญญาหรือว่าไม่มีความจำอะไรเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าในขณะนั้นสัญญาเจตสิกกำลังจำเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังเห็นเท่านั้นค่ะ ไม่ใช่จำสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือจำเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นในภาษาไทยเวลาใช้คำว่าสัญญาก็มักจะหมายถึงเครื่องเตือน หรือสิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงให้จำได้ และให้ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นเครื่องเตือนนั้น

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องระมัดระวังมากนะคะ ที่จะต้องเข้าใจความหมายของคำให้ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเข้าใจความหมายในทางศาสนาผิดไป

    ท่านอาจารย์ ค่ะ การที่จะแปลความหมายของธรรม ทั้งโดยพยัญชนะ และโดยอรรถให้ถูกต้องนั้นก็จะต้องศึกษาอย่างละเอียดจริงๆ ค่ะ เพราะว่านอกจากภาษาไทยจะใช้คำนั้นในความหมายอย่างหนึ่งแล้ว ภาษาบาลีก็ยังใช้คำนั้นในความหมายอื่นอีกด้วย และศัพท์ธรรมบางคำนะคะ ก็ยังมีความหมายอื่นอีกด้วย ถ้าเรารู้เพียงความหมายเดียวก็จะทำให้เข้าใจธรรมข้อต่างๆ นั้นผิดพลาดไปได้อย่างมากทีเดียวค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาธรรมของเราในวันนี้ ท่านก็ได้ทราบถึงเรื่องจิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์ว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดดับร่วมกัน เป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกัน แต่ในการรู้อารมณ์นั้นจิตเป็นประธาน เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น ส่วนเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะ และกิจการงานต่างๆ กันไปตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาธรรมของเราได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ