บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๗

    ทานลักษณะต่างๆ เจตนา ๓ กาล

    ปัตติทาน ปัตตานุโมทนา


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านเคยเกิดปัญหาข้องใจเรื่องการให้ทานบ้างไหมคะว่า สำหรับผู้ที่มีฐานะดีหน่อย และมีความยินดีเต็มใจที่จะสละทรัพย์ และวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ก็ย่อมจะทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ซึ่งขัดข้องในทางเศรษฐกิจ มีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่ายอย่างนี้ ดิฉันขอความกรุณาให้อาจารย์สุจินต์อธิบายหน่อยค่ะว่าในเรื่องของการให้ทานนี้ อาจารย์คงจะไม่มุ่งหมายให้พวกเราบริจาคอะไรๆ ไปจนหมด หรือว่ามุ่งหมายจะให้เราสละสิ่งที่เรารักเราพอใจจนหมดนะคะ

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความพอดีตามควรแก่เพศ และฐานานุรูปของแต่ละบุคคล การทำทุกอย่างเกินความพอดี ตึงไปหรือว่าหย่อนไป ก็ย่อมจะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้ได้ เช่น ถ้าคุณวันทนามีวัตถุสิ่งของอะไรสักอย่างนะคะ ที่ชอบมาก ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยซิคะว่า เป็นอะไร สมมติก็ได้ค่ะ

    คุณวันทนา ค่ะ สมมติว่าดิฉันมีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่ง รักมันมากเพราะต้องใช้ประโยชน์ดูเวลาอยู่เรื่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาบริจาคให้ใครไปก็คงจะเสียดายมาก ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ คงจะเสียดายมาก หลายวันเลยทีเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในการให้แต่ละครั้ง คุณวันทนาก็จะต้องรู้ด้วยค่ะว่า เมื่อให้ไปกุศลจิตจะเกิดน้อย อกุศลจิตจะเกิดมาก หรือว่าเมื่อให้ไปแล้วกุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต เพราะว่าถ้าให้อะไรไปแล้วอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต ดิฉันคิดว่าควรจะให้สิ่งอื่นที่เมื่อให้ไปแล้วทำให้กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิตย่อมจะดีกว่านะคะ นี่ก็เป็นหลักธรรมดาของการให้ซึ่งเราก็คงเห็นอยู่ทั่วๆ ไป แต่ถ้าไม่เข้าใจแล้วก็มุ่งที่จะให้หรือคิดที่จะไม่ให้เสียเลย โดยไม่คำนึกถึงเหตุผลหรือไม่คำนึงถึงกุศลจิตอกุศลจิตที่จะเกิดภายหลัง ก็ย่อมเป็นการให้ตึงไปหรือหย่อนไปซึ่งก็ย่อมทำให้เกิดทุกข์ขึ้นในภายหลังได้

    คุณวันทนา สงสัยค่ะ อาจารย์คะ ที่อาจารย์ว่าหย่อนไปน่ะ เป็นยังไงคะ

    ท่านอาจารย์ ที่หย่อนไปก็คือคนที่เสียดายทุกอย่างที่จะให้ค่ะ ซึ่งก็ทำให้การเจริญกุศลด้านทานน้อยไป และถ้าจะให้ได้ ก็ให้แต่สิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ นานๆ ครั้งหนึ่ง ไม่ได้คิดถึงว่าการเจริญทานกุศลแต่ละครั้งนั้นเป็นการขจัดความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตใจ และขณะใดที่เกิดความพอใจปรารถนาสิ่งใด ขณะนั้นก็เพิ่มกิเลสให้หมักหมมอยู่ในจิตใจขึ้นอีกทุกครั้ง

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าอยากจะขจัดกิเลสออกมากๆ มีอะไรก็ให้ไปหมด อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการตึงไปไหมคะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เพศ และฐานะของบุคคลค่ะ อย่างท่านที่เป็นเพศบรรพชิตนั้น ท่านก็สละอาคารบ้านเรือน วัตถุปัจจัยต่างๆ ของเพศฆราวาสหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถึงท่านจะได้สิ่งใดมาเกินใช้ ท่านก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สละให้เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีวร อาหาร บิณฑบาต หรือวัตถุปัจจัยอื่นๆ เพราะฉะนั้นสำหรับท่านก็ไม่เป็นการตึงไป แต่ว่าสำหรับฆราวาสนั้น คุณวันทนาก็ต้องแยกนะคะ เพราะเหตุว่าผู้ที่มีอัธยาศัยในการเจริญทานกุศลนั้น เห็นคุณประโยชน์ของการให้ว่าเป็นการขจัดกิเลสของตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านผู้นั้นย่อมจะฝึกอบรมบำเพ็ญทานกุศลยิ่งขึ้นในทุกๆ ทาง และเมื่อสละให้ไปแล้วก็ไม่มีความหวั่นไหว ไม่เศร้าหมอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะ เจตนาในการให้ของท่านผู้นั้นผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือทั้งในขณะที่คิดจะให้ ขณะที่กำลังให้ และขณะภายหลังที่ให้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้นะคะ ถึงจะให้อะไรๆ สักเท่าไร ก็ไม่เรียกว่าตึงไป เพราะไม่มีอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากการให้ทานนั้นในภายหลัง แต่ตรงกันข้ามสำหรับผู้มีจิตใจยังไม่มั่นคง เมื่อให้อะไรไปแล้วก็เกิดเสียดายขึ้นในภายหลัง เมื่อเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง จิตใจก็เศร้าหมองเป็นทุกข์ และเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ในกรณีอย่างนี้สำหรับผู้นั้นก็เป็นการตึงไปค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ การให้ชนิดซึ่งเมื่อให้ไปแล้ว จิตใจไม่เศร้าหมองกับการให้แล้วเกิดเสียดายขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การให้แล้วจิตใจไม่เศร้าหมองคงมีอานิสงส์มากกว่านะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ การให้ที่มีเจตนาผ่องใสทั้ง ๓ กาลคือ ในขณะที่คิดจะให้ ในขณะที่กำลังให้ และในขณะที่ให้ไปแล้วนั้น อานิสงส์คือผลที่จะได้รับนั้นมีมากกว่าค่ะ เพราะเหตุว่ากุศลจิตเกิดมากกว่า และกุศลจิตนั้นก็ผ่องใสกว่า แต่ว่าการให้ที่ดีที่สุดนั้นก็คือ การให้ที่ไม่ได้ให้เพราะหวังผล ไม่ได้หวังลาภ ไม่ได้หวังยศ ไม่ได้หวังสรรเสริญใดๆ ที่จะพึงได้รับ แต่ว่าให้เพราะรู้วาเป็นสิ่งที่ดี เป็นการกระทำที่ควรเจริญเพราะสามารถขจัดกิเลสให้ลดน้อยลงได้ และการให้ในลักษณะนี้ไม่มีโลภะซึ่งเป็นการหวังผลทางวัตถุปนด้วยเลยค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ เรื่องของทานการให้นี้คงมีความละเอียดมากนะคะ เช่นบางคนชอบให้ของที่เลว บางคนก็ให้ของที่ปานกลาง แต่บางคนก็ให้ของที่ประณีต เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่ให้ของที่ด้อยว่าหรือเลวกว่าที่ตนมีตนใช้ก็เป็น ทาสทาน เพราะว่าผู้ให้เป็นทาสของความพอใจ ยังไม่สามารถที่จะสละสิ่งที่เสมอกันหรือสิ่งที่ประณีตกว่านั้นได้ เพราะเหตุว่ายังมีความพอใจติดข้องในสิ่งนั้นๆ อยู่ ฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะสละให้ก็สามารถสละให้ได้เพียงเฉพาะสิ่งที่ด้อยกว่าหรือเลวกว่าที่ตนใช้เองหรือว่าที่ตนยังพอใจอยู่ เพราะฉะนั้นผลก็คือ เวลาได้รับอะไรๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น ก็มักจะได้สิ่งที่ไม่ค่อยดีตามสมควรแก่เหตุ

    คุณวันทนา สำหรับคนที่ให้ของปานกลางคือเท่ากับที่ตนมีตนใช้อยู่ ไม่ประณีตกว่า ไม่ด้อยกว่า อย่างนี้จะเป็นอย่างไรคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ การสละวัตถุสิ่งของที่เสมอกันหรือที่เหมือนกับที่ตนมีตนใช้ให้กับคนอื่นนั้นเป็น สหายทาน เพราะว่าการให้วัตถุสิ่งของที่เสมอกับที่ตนมีตนใช้นั้นผลก็คือ เวลาที่ได้รับอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มักจะได้สิ่งที่ดีปานกลางพอสมควร ไม่ถึงกับประณีตเป็นพิเศษค่ะ

    คุณวันทนา แล้วสำหรับคนที่ให้สิ่งของที่ประณีตกว่าล่ะคะ ดิฉันเคยเห็นมากะตาตัวเองทีเดียว บางคนนะคะ ลูกหลานซื้อขนมส้มสูกลูกไม้ดีๆ มาฝาก แทนที่ท่านจะรับประทานเอง ท่านกลับเก็บเอาไว้ใส่บาตรทำบุญเสียหมด เหลือไว้แต่เพียงเศษของขนมหรือผลไม้ที่ร่วงๆ ไว้สำหรับตัวเอง อย่างนี้ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไรคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ การให้สิ่งของที่ดี ที่ประณีตกว่าที่ตนมีตนใช้อยู่ตามธรรมดานั้นเป็น ทานบดี เพราะว่าผู้ให้เป็นใหญ่ในการให้ทาน ไม่เป็นทาสของความพอใจติดข้องในวัตถุ เพราะถ้ายังเป็นทาสของตัณหา ความพอใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ประณีตนั้นอยู่ ก็ย่อมจะให้ไม่ได้ ผลของการให้สิ่งที่ดีประณีตนั้นก็คือ เวลาได้ลาภหรือได้รับอารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ย่อมได้รับสิ่งที่ดีประณีตเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็ย่อมจะต้องเป็นไปสมควรแก่เหตุ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ ถ้าเป็นผลของกรรม ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาลองคิดดูซิคะ เวลาเราให้ของที่ดีๆ ที่สวยๆ งามๆ หรือว่าของที่ประณีตเป็นพิเศษหายาก คนที่ได้รับย่อมรู้สึกชุ่มชื่นใจ ปลาบปลื้มดีอกดีใจ และเวลาเห็นเขามีความสุข เราก็พลอยมีความสุข และดีใจด้วยที่เขาได้รับของที่ทำให้เขามีความสุขถึงอย่างนั้น ในขณะที่ให้ จิตใจของเราก็ย่อมจะเป็นสุข ผ่องใส โสมนัสมากกว่าเวลาที่เราให้สิ่งของที่ปานกลางหรือสิ่งของที่ด้อยกว่าที่เราใช้หรือมีอยู่ตามปกติ เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้ผู้ที่ให้สิ่งที่ดีที่ประณีตนั้นได้รับสิ่งที่ดี ประณีตที่ย่อมทำให้เกิดความปลาบปลื้มโสมนัส เช่นเดียวกับเวลาให้สิ่งที่ดีที่ประณีตแก่คนอื่นด้วย เวลาที่เราให้ของธรรมดาๆ ปานกลาง ไม่ใช่ของที่ดีเป็นพิเศษแก่คนอื่นนั้น คุณวันทนารู้สึกไหมคะว่า ไม่เหมือนกับเวลาที่เราให้ของที่ดีเป็นพิเศษ

    คุณวันทนา รู้สึกค่ะ รู้สึกว่าเมื่อเอาความยินดีมาเทียบกันแล้ว เวลาให้ของธรรมดาๆ นั้น ยินดีน้อยกว่าเวลาให้ของที่ประณีต

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มุณฑราชวรรคที่ ๕ มนาปทายีสูตร ข้อ ๔๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ คนที่มีวัตถุสิ่งของพอมีพอใช้ไปวันหนึ่งๆ สำหรับตัวเอง ก็คงจะไม่สามารถให้ทานได้ แล้วอย่างนี้จะทำกุศลได้อย่างไรล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ คำว่า กุศล หมายถึงสภาพจิตใจที่ดีงามซึ่งจิตใจที่ดีงามนั้นทำให้เกิดผลที่เป็นสุข จิตใจที่ดีงามย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลดีงามด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ริษยา ไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตัว ไม่มีกิเลสอะไรๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุให้แก่คนอื่นก็เป็นกุศลอย่างอื่นได้ เพราะว่ากุศลนั้นมีหลายอย่าง กุศลที่ไม่ใช่การให้ทานก็มี

    คุณวันทนา เจริญกุศลโดยไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของก็มีด้วยหรือคะ ถ้าอย่างนั้นก็ดีค่ะ เพราะว่าในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้นะคะ ดิฉันก็ได้ยินคนส่วนมากพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า หาได้ไม่ค่อยจะพอใช้ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็คงเป็นเรื่องยาก และดูจะหมดหนทางเอาเสียเลยนะคะ ที่จะเจริญกุศลที่เป็นทาน แล้วก็ถ้าพูดถึงการอบรมอุปนิสัยใจคอความประพฤติในทางที่เป็นกุศลแล้ว คนส่วนมากก็มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่าอย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง แล้วเราควรจะทำอะไรกันบ้างละคะ

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญก็คือว่า เราจะต้องรู้ว่า จิตใจที่ไม่เป็นกุศลนั้นมีลักษณะอย่างไร และเกิดขึ้นในขณะไหนบ้าง เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะลักษณะสภาพของอกุศลจิต เวลาที่ไม่ได้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็อาจจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้วก็ได้ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ คนส่วนมากเข้าใจกันว่าเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ดิฉันขอย้อนกล่าวเรื่องของทานอีกสักหน่อยพอเป็นตัวอย่างนะคะ เวลาให้ทานขณะจิตที่สละวัตถุให้นั้นเป็นกุศลจิต แต่ขณะเห็นหรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็ย่อมจะเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นอกุศลได้ เพราะไม่ใช่มีแต่ขณะจิตที่เป็นทานกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราจะเจริญกุศลที่เนื่องจากการให้ทานที่ได้กระทำไปแล้วนั้น เราก็ทำกุศลต่อได้อีกโดยแผ่อุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ยทานนั้นให้ผู้อื่นได้รู้เพื่ออนุโมทนา คือยินดีในกุศลที่เราได้ทำแล้วนั้นด้วย การแผ่อุทิศส่วนกุศลนั้นเป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปัตติทาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ผู้อื่นรู้ และเกิดกุศลจิตร่วมอนุโมทนาด้วยแล้วผู้ที่ทำทานกุศล ก็ยังเกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นอีกในขณะที่แผ่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น

    คุณวันทนา การให้ครั้งหนึ่งๆ นี่ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดต่อได้อีกมากเหมือนกันนะคะ ทั้งกับผู้ที่ให้เอง และผู้ที่อนุโมทนาด้วย

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำกุศลด้วยตนเอง แต่ชื่นชมยินดีด้วยในกุศลที่คนอื่นได้กระทำ จิตที่ชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่นนั้น ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ ความริษยา หรืออกุศลธรรมใดๆ การชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่นนั้นเป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ที่มีกุศลของบุคคลอื่นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น กุศลชนิดนี้จึงเป็นกุศลที่เป็นปัตตานุโมทนา คือเป็นกุศลที่อนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วยในกุศลจิตที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะทราบนะคะ ว่า ถึงแม้ว่าไม่ได้กระทำกุศลอย่างใดด้วยตนเอง เพียงแต่ไม่มีจิตริษยา และชื่นชมยินดีในความดีหรือในการทำกุศลของคนอื่น ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศลได้โดยไม่ต้อสละวัตถุอะไรให้ใครเลย

    นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกุศลอีกทางหนึ่ง ที่เมื่อได้ทำทานกุศลแล้ว กุศลจิตก็ยังเกิดต่อได้อีก เมื่อระลึกถึงทานกุศลที่ได้บำเพ็ญไปด้วยจิตที่สงบผ่องใส ถ้าเป็นผู้ที่เจริญทานกุศลอยู่เป็นนิจ และระลึกถึงทานกุศลที่ได้บำเพ็ญไปแล้วเสมอๆ จิตก็ย่อมสงบผ่องใสมั่นคงขึ้น และบางท่านก็สงบมั่นคงเป็นสมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิ เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาที่เป็นจาคานุสติ

    คุณวันทนา แหม ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว คนเราก็จะไม่ทิ้งโอกาสที่จิตจะเป็นกุศลนะคะ แทนที่จะให้จิตมีโลภะ โทสะ หรือครอบงำด้วยความริษยาในการทำความดีของคนอื่น เพราะว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วก็รู้สึกว่าจะเป็นความดีที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย เพียงแต่พยายามสลัดกิเลสที่เป็นธรรมฝ่ายไม่ดีออกไปจากจิตใจเท่านั้น แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็คงจะยากนะคะ เพราะว่าไม่เห็นโทษองกิเลสฝ่ายต่ำว่าเป็นสิ่งที่ควรจะขจัดขัดเกลา หรือว่าเขายังไม่รู้วิธีขจัดขัดเกลาก็ได้นะคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ และสำหรับคนที่คิดว่าไม่สามารถจะให้วัตถุสิ่งของเป็นทานเป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เพราะตนเองมีไม่พอนั้นก็มีข้อที่ควรจะทราบอีกเล็กน้อยค่ะ มิฉะนั้นก็จะทำให้ขาดการเจริญกุศลด้านนี้ไป ทานการให้นั้นไม่จำเป็นจะต้องให้ทรัพย์สินสิ่งของมีค่ามากมาย ขณะใดที่เผื่อแผ่สิ่งที่มีอยู่จะน้อยหรือมาก ดีหรือเลวนั้นให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นบ้าง ขณะนั้นก็เป็นกุศล และมีกำลังแรงด้วย เพราะสามารถจะเกิดขึ้นได้แม้ในขณะที่มีของน้อย ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ สาธุสูตรที่ ๓ ข้อ ๙๔ - ๑๐๑ อุปมาทาน และการรบว่าเสมอกัน คือพวกวีรบุรุษที่เป็นคนกล้าหาญนั้น ถึงแม้จะมีน้อยก็สามารถชนะคนขลาดที่มีมากได้ เพราะฉะนั้นคนที่มีศรัทธานั้นถึงแม้ว่าจะมีของน้อยหรือมีของที่ไม่ค่ามากมาย แต่เมื่อมีศรัทธาเกิดขึ้นก็สามารถสละให้คนอื่นได้ คุณวันทนาจำเรื่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไหมคะ

    คุณวันทนา จำได้ค่ะ จำได้ว่าท่านมีศรัทธาในการบริจาคมากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าในสมัยหนึ่งท่านก็ยากจนลง และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในยากที่ท่านยากจนลง เรื่องการให้ทาน น่าฟังมากเทียวค่ะ

    คุณวันทนา พระองค์ทรงแสดงธรรมว่าอย่างไรคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาทวรรคที่ ๒ เวลามสูตร ข้อ ๒๒๔ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระองค์ตรัสถามท่านว่า ท่านยังให้ทานอยู่บ้างหรือเปล่า ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีทูลให้ทรงทราบว่า ท่านยังให้ทานอยู่ แต่ว่าทานที่ท่านให้นั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นแต่เพียงปลายข้าวกับน้ำข้าวเท่านั้นเอง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของการให้ทานว่า คนที่ให้ทานที่เศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม ถ้าให้โดยไม่เคารพ ไม่นอบน้อม ไม่ให้ด้วยมือของตนเองหรือว่าให้ของเหลือๆ และไม่เชื่อกรรม และผลของกรรมคือการให้ทานนั้น เมื่อทานนั้นให้ผล จิตของผู้ให้ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี เสื้อผ้าอย่างดี และกามคุณอย่างดี สำหรับกามคุณก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ที่น่าพอใจนั่นเอง และแม้บริวารของผู้ให้นั้น เช่น บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนรับจ้างทำงานก็ไม่เชื่อฟัง แต่ถึงแม้ว่าวัตถุทานนั้นจะเศร้าหมอง แต่ผู้ให้ให้ด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ให้ของที่ไม่ใช่ของเหลือ และเป็นผู้ที่เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมที่ให้ทาน ผลของทานนั้นก็ตรงกันข้ามกับผู้ที่ให้ด้วยความไม่นอบน้อม และไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม

    คุณวันทนา เรื่องของทานดูเป็นเรื่องที่ละเอียด และก็ประกอบด้วยเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่างนอกจากศรัทธา เช่นประกอบด้วยความนอบน้อม และสติปัญญาที่เชื่อในเรื่องกรรม และผลของกรรมด้วยนะคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีน้อยแต่เมื่อมีศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถแบ่งปันสิ่งที่อยู่น้อยนั้นให้คนอื่นได้ ด้วยจิตที่ผ่องใสหรือด้วยความนอบน้อม ถ้าไม่มีวัตถุสิ่งของอะไรๆ เลยที่จะบริจาคให้คนอื่น เพียงเผื่อแผ่เจือจานแม้เศษอาหารเหลือให้กับสัตว์ด้วยจิตเมตตาอนุเคราะห์ ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นทาน

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ถ้าหากว่าท่านเข้าใจในเรื่องของทานอย่างถ่องแท้ ถึงแม้ท่านจะไม่มีทรัพย์สมบัติที่มีค่าเช่นเดียวกับผู้อื่นมี ท่านก็ย่อมมีโอกาสบำเพ็ญทานกุศลได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้อื่นเลย สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาธรรมของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในรายการหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ