บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๐

    รูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ในชีวิตความเป็นอยู่ของเรานี่นะค่ะ ท่านผู้ฟังอาจจะได้เคยคิด เคยถาม และเคยตอบตัวเองมาแล้วนะคะ ว่า ในโลกนี้ท่านสนใจใครที่สุด สนใจเรื่องอะไรที่สุด คิดว่าใครเป็นคนสำคัญที่สุด และท่านผู้ฟังรักใครที่สุด สำหรับคำตอบนั้นเมื่อนำมาประมวลกันเข้าแล้ว ในที่สุดก็หนีความจริงไปไม่พ้นนะคะ ว่าผู้ที่ท่านสนใจที่สุด เป็นห่วงเป็นใยที่สุด ในการที่จะให้การบำบัดทุกข์หรือบำรุงสุข ให้ความสำคัญอันดับแรกก่อนคนอื่น และสิ่งอื่นทั้งหลายก็คือตัวท่านนั่นเองแหละ หรือท่านผู้ฟังว่าไม่จริงคะ ในเรื่องของความรักตน สนใจตน ให้ความสำคัญแก่ตนก่อนผู้ใด และสิ่งใดนี้เป็นธรรมชาติจิตใจของมนุษย์ และสัตว์ทุกรูปทุกนาม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระปัญญาคุณอันเลิศก็ได้ตรัสรับรองความจริงนี้ว่า นัตถิ อัตต เปมํ ซึ่งแปลว่าความรักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี ท่านผู้ฟังลองย้อนระลึกดูนะคะ ถึงความเป็นมาของตัวท่านเอง เริ่มแต่วัยเด็กมาทีเดียวละค่ะ หรือหากจะระลึกไม่ได้ ท่านผู้ฟังที่มีลูกมีหลานตัวเล็กๆ ก็อาจจะลองใช้ความสังเกต ลองพิจารณาหาคำตอบข้อเท็จจริงดู ธรรมดาของทารกไร้เดียงสาเมื่อเติบโตขึ้นพอจะรู้ความก็มักจะถูกสอนให้รู้จักพ่อแม่ หัดให้เรียกชื่อพ่อแม่ และแล้วต่อมาก็จะถูกหัดให้ตอบคำถามของพ่อแม่ว่า หนูรักคนนั้นไหม หนูรักคนนี้ไหม หนูรักใครมากที่สุด หนูน้อยนั้นก็อาจจะตอบ อาจจะชี้ไปที่พ่อบ้าง ชี้ไปที่แม่บ้าง เพื่อตอบคำถามว่ารักพ่อมากที่สุดหรือรักแม่มากที่สุด เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นก็คงจะไม่มีใครมานั่งซักนั่งถามต่อไปอีกว่าแกรักใคร แต่ธรรมชาติของความรักตนนั้นก็ได้เริ่มพัฒนา และแสดงออกมาให้ปรากฏอยู่ทุกขณะทั้งจากอุปนิสัย ความประพฤติ และการแสดงออก ท่านผู้ฟังคะ ในความรู้สึกของดิฉันเห็นว่าการหาความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมอันเป็นเรื่องราวของตนเองจากหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการแสวงหาในสิ่งที่ประเสริฐสุดที่จะแสวงหาได้ในชีวิตนี้ เพราะอะไร เพราะหลักธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ เป็นสิ่งที่คงทนต่อการพิสูจน์ความจริงทุกกาลสมัย แม้เพียงจะยกตัวอย่างง่ายๆ นะคะ ที่จะพึงนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น พระองค์ทรงสอนไม่ให้กระทำความชั่ว เบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจ ข้อนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติที่แสนจะประเสริฐที่พระองค์ทรงสอนให้พุทธสาวกรู้จักเหตุผล เพราะความจริงนั้นย่อมมีอยู่ว่า การกระทำทุกชนิดทั้งทีดี และชั่ว ผู้กระทำย่อมจะต้องเป็นผู้รับผลของสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเสมอ เมื่อไม่ทำความชั่วผลชั่วก็ไม่เกิดขึ้น และบุคคลก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนเพระผลแห่งกรรมชั่วนั้น และหลักธรรมคำสอนซึ่งมีความวิจิตร และละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ก็เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ และความรู้สึกนึกคิด เช่นเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ เป็นต้น สภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน สำหรับวันนี้ดิฉันใคร่ขอเรียนถามอาจารย์สุจินต์ค่ะว่า รูปปรมัตถ์นั้นน่ะหมายถึงสภาวะธรรมประเภทไหนคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ รูปปรมัตถ์ก็ได้แก่สิ่งที่ปรากฏอยู่ทั่วๆ ไปค่ะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ สภาพธรรมที่เป็นรูปนั้นไม่เห็นอะไรเลย ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไรเลยค่ะ อย่างรูปสีที่เราเคยพูดกันมาแล้วนั้น ถ้าพูดเพียงสั้นๆ อย่างนี้ คุณวันทนาก็คงจะไม่เห็นความสำคัญของรูปเท่าไหร่นะคะ แต่ถ้าจะคิดให้ซึ้งหรือว่าพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า รูปมีส่วนสำคัญในชีวิตอย่างมากทีเดียวค่ะ เพราะรูปย่อมทำให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ อย่างรูปสีนี่นะคะ นอกจากว่าเราจะอยากเห็นสีสวยๆ ของดอกไม้ เสื้อผ้า อาหาร และสิ่งของต่างๆ แล้ว เราก็ยังอยากให้สีสันวัณณะรูปทางของตัวเองงดงามน่าดูด้วย และถ้าเป็นอย่างที่เราปรารถนาเมื่อไหร่ก็มีความสุขเมื่อนั้น แต่ว่าถ้าไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนาก็มีความทุกข์ คุณวันทนาลองยกตัวอย่างรูปอื่นๆ ให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจหน่อยซิคะว่า รูปอื่นๆ เช่น เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้นนั้น จะทำให้เกิดความสุข และความทุกข์ได้อย่างไรบ้างคะ

    คุณวันทนา เวลาเราอยากได้ฟังเสียงที่ดีไพเราะถูกใจ ถ้าเป็นเสียงเพลงก็จะต้องมากจากนักร้องที่เราชอบ ไม่ว่านักร้องผู้นั้นจะไปร้องจะไปแสดงที่ไหนเราก็ต้องตามไปฟัง หรือถ้าบังเอิญไปแล้วปรากฏว่าวันนั้นเขามีอุปสรรคไม่ไปร้องตามกำหนดเวลา เราก็จะเกิดความทุกข์ความขัดใจ หรือตัวอย่างอื่นๆ ในเรื่องเสียงนี่นะคะ บางทีเราก็ปรารถนาที่จะให้คนอื่นชมเชยหรือสรรเสริญตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้หญิงนี่ค่ะอาจารย์ ดิฉันสังเกตดูเวลาใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ ก็อยากจะให้เพื่อน ให้คนโน้นคนนี้ทักทายว่าสวยอย่างนั้น น่ารักอย่างนี้ ถ้าเขาไม่ทักทายเราก็ผิดหวังน้อยใจว่าเพื่อนไม่รักเรา ไม่สนใจเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นความสำคัญของรูปแล้วนะคะ ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าลักษณะที่แท้จริงของรูปแต่ละรูปนั้นก็มีการเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ว่าถึงอย่างนั้นนะคะ แต่ละรูปก็มีลักษณะที่ทำให้จิตมีความพอใจลุ่มหลง เพลิดเพลินยินดีไปได้ ถ้าไม่รู้ความจริงของรูปนั้นๆ

    คุณวันทนา อาจารย์คะดิฉันจำได้ว่า อาจารย์เคยบอกว่า รูปปรมัตถ์นี่มีถึง ๒๘ รูป รูปอื่นๆ นอกจากรูปสีนี่จะมีรูปอะไรอีกบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ รูปอื่นๆ นอกจากรูปสีนั้นเป็นรูปที่มองไม่เห็นทั้งหมดเลยค่ะ รูปมี ๒๘ รูป หรือว่า ๒๘ ประเภท แต่ว่ารูปที่มองเห็นได้นั้นก็มีเพียงรูปสีรูปเดียวเท่านั้น ส่วนอีก ๒๗ รูปนั้นมองไม่เห็นเลยค่ะ เช่น เสียง กลิ่น รส ก็มองไม่เห็นค่ะ

    คุณวันทนา อย่างรูปที่ต้นไม้หรือวัตถุต่างๆ ก็ตามนะคะ อาจารย์ กับรูปที่ตัวเราซึ่งเป็นรูปภายใจนี่ค่ะ มีจำนวนประเภทของรูปเท่ากันไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เท่ากันค่ะ เพราะว่ารูปภายนอก เช่นต้นไม้หรือวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้นเป็นรูปซึ่งไม่มีจิตเกิดด้วยจึงไม่มีรูปตา ไม่มีรูปหู ไม่มีรูปจมูก ไม่มีรูปลิ้น เป็นต้นค่ะ

    คุณวันทนา แต่อาจารย์คะ บางอย่างก็ดูคล้ายกับมีตา อย่างต้นไม้บางชนิดนี่ค่ะ หรืออย่างพวกเห็ดหูหนูนี่นะคะ รูปร่างมันก็เหมือนหู อย่างนี้แล้วจะไม่เรียกว่ามันมีตามีหูหรือคะ

    ท่านอาจารย์ รูปที่มองเห็นเป็นตาหรือว่าคล้ายตานั้น ไม่ใช่รูปตาที่เป็นจักขุปสาทค่ะ เพราะคำว่าตานั้นหมายรวมถึงส่วนประกอบของรูปต่างๆ ที่เป็นตาซึ่งมีตาขาวตาดำในเบ้าตาตามที่เราเคยเข้าใจกันก็ได้ค่ะ ซึ่งก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งของคำว่าตา แต่ในทางธรรมนั้นคำว่าตามี ๒ ความหมายค่ะ คือตาที่เราเข้าใจกันนั้นเรียกว่า สสัมภาระจักขุ คือตาที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ความหมายหนึ่ง ส่วนอีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึง จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปที่อยู่กลางตา มีลักษณะพิเศษที่สามารถรับกระทบกับรูปสีต่างๆ ที่ปรากฏทางตาได้ เมื่อมีจักขุปสาทรูปการเห็นจึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าถ้ามีแต่ตาที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ แต่ไม่มีจักขุปสาทรูปที่มองไม่เห็น อย่างคนตาบอดหรือต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น สำหรับรูปคนซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น บางรูปก็เกิดจากกรรม บางรูปก็เกิดจากจิต บางรูปก็เกิดจากอุตุคือความเย็นความร้อนที่พอดี และบางรูปก็เกิดจากอาหาร ส่วนพวกต้นไม้ใบหญ้า ภูเขา วัตถุสิ่งของตางๆ ซึ่งไม่มีจิตนั้นเป็นรูปที่เกิดจากอุตุคือความเย็น และความร้อนเท่านั้น เพราะฉะนั้นรูปของคน และสัตว์ก็ย่อมจะมีมากกว่ารูปของต้นไม้ใบหญ้า และรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ไม่มีจิตค่ะ

    คุณวันทนา รูปที่เกิดจากกรรม ที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้นี้ ได้แก่อะไรคะ

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากกรรม ก็ได้แก่รูปตาซึ่งหมายถึงจักขุปสาทที่สามารถรับกระทบสีต่างๆ ที่ปรากฏทางตาได้ และก็ได้แก่รูปหูซึ่งหมายถึงโสตปสาทที่สามารถรับกระทบเสียงได้ ได้แก่รูปจมูกซึ่งหมายถึงฆานปสาทที่สามารถรับกระทบกลิ่นต่างๆ ได้ และก็ได้แก่รูปลิ้นซึ่งได้แก่ชิวหาปสาทรูป ซึ่งสามารถรับกระทบรสต่างๆ ได้ และก็ได้แก่รูปที่ร่างกายซึ่งสามารถรับกระทบสิ่งที่สัมผัสกาย และรูปที่กรรมจำแนกให้มีผิวพรรณวัณณะ สูง ต่ำ ดำ ขาว ต่างๆ กันเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มีแต่เฉพาะรูปที่กล่าวแล้วเท่านั้นนะคะ ยังมีรูปอื่นอีกค่ะ ที่เกิดจากกรรม

    คุณวันทนา แล้วรูปที่เกิดจากจิตล่ะคะ มีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากจิต ก็ได้แก่รูปยิ้ม รูปหัวเราะ กิริยาอาการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้นค่ะ เพราะถ้าไม่มีจิตก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวไปได้ หรือว่าไม่สามารถที่จะยิ้มจะหัวเราะได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา อย่างคนตายนี่ค่ะ ก็ชื่อว่าไม่มีจิตแล้วซินะคะ เพราะว่าเคลื่อนไหวไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วนะคะ ว่า รูปของคนตายกับรูปของคนนอนหลับนั้นไม่เหมือนกัน รูปของคนนอนหลับเป็นรูปที่ยังมีจิตเกิดดับอยู่จึงย่อมมีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปที่เกิดจากอาหาร แต่ว่ารูปของคนตายนั้นเป็นรูปที่ไม่มีจิตเกิดดับแล้ว จึงไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร เพราะว่าไม่มีการรับประทานอาหารอีกต่อไป

    คุณวันทนา รูปที่เกิดจากอาหารล่ะคะอาจารย์ได้แก่รูปอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ สำหรับรูปที่เกิดจากอาหารนี่นะคะ ก็มีแต่เฉพาะในร่างกายของสัตว์โลกทั้งหลายที่มีจิต และที่บริโภคอาหารเท่านั้นค่ะ สำหรับพวกพรหมบุคคลในพรหมโลกนั้นไม่ต้องรับประทานอาหาร พวกพรหมจึงไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร แต่ว่าสำหรับสัตว์โลกทั้งหลายโดยทั่วๆ ไป ที่มีจิตเช่น และสัตว์ต่างๆ นั้นต้องรับประทานอาหาร และรูปที่เกิดจากอาหารก็ได้แก่กำลังวังชาเรี่ยวแรงต่างๆ เป็นรูปที่สดชื่นหรือมีกำลังขึ้น รูปร่งกายของสัตว์โลกทั้งหลายนั้นจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างค่ะ เช่นอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าขาดอาหารหรือว่าอาหารที่รับประทานไม่ดีพอ ไม่มีประโยชน์ก็ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเจ็บไข้ได้ป่วย และสิ้นชีวิตได้ค่ะ

    คุณวันทนา แหม อาจารย์พูดมาถึงตอนนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า อาหารนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รูปที่เกิดขึ้นแข็งแรงหรือว่าอ่อนแอ แต่อาจารย์คะ ดูเหมือนว่าสักครู่นี้เราจะลืมพูดกันถึงเรื่องรูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอุตุนี่ค่ะเป็นรูปประเภทไหนคะ

    ท่านอาจารย์ สำหรับรูปที่เกิดจากอุตุนี่นะคะ นอกจากจะได้แก่พวกต้นไม้ใบหญ้า และพวกพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เกิดจากความเย็นความร้อนต่างๆ กัน ทำให้มีรูปร่างลักษณะ มีรส และมีสีสันต่างๆ กันไป รูปร่างกายของคนเรานี่นะคะ ก็มีรูปทีเกิดจากอุตุด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ อย่างเวลาที่เราตากแดดจัดๆ หรือว่าตากแดดนานๆ ก็ทำให้ผิวคล้ำไป ดำไป หรือเวลาที่เราถูกน้ำค้างจัดๆ ก็อาจจะเกิดปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ เพราะอากาศร้อนไปบ้างหรือหนาวไปบ้างก็ได้ค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ เรื่องรูปปรมัตถ์นี่ ดิฉันเข้าใจว่าอาจารย์คงไม่ต้องการที่จะพูดให้ละเอียดมากในตอนต้นนี้ เพราะเคยบอกว่าจะกล่าวแต่เพียงย่อๆ ในเรื่องปรมัตถธรรม ๔ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อน เพราะมีจุดมุ่งหมายสนทนากันโดยนัยของการปฏิบัติธรรมที่ประกอบด้วยปริยัติพอสมควร เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจสภาพของสิ่งที่มีจริงต่างๆ นั้น เพราะฉะนั้น อาจารย์จะกรุณาพูดถึงเรื่องนิพพานอย่างย่อๆ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่าสภาพของนิพพานนั้นเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ นิพพานนั้นถึงแม้ว่าจะมีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้ง่ายๆ เลยค่ะ เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งลักษณะนิพพานได้นั้นจะต้องรู้ด้วยปัญญาขั้นสูงที่เกิดจากการเจริญปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะนี้อย่างทั่วถึง และแจ้งชัดจริงๆ เสียก่อน ในขั้นต้นนี้ดิฉันคิดว่าคุณวันทนาควรจะทราบแต่เพียงว่า ธรรมทั้งหลายนั้นก็ย่อมจะมีสิ่งที่ตรงกันข้ามกันหรือคู่กัน เช่น เมื่อความมืดหมดไปก็เป็นแสงสว่าง ความทุกข์หมดไปก็เป็นความสุข เมื่อมีธรรมที่เกิดดับ เช่น จิต เจตสิก รูป ก็ต้องมีธรรมที่ไม่เกิดจึงไม่ดับคือนิพพานด้วย เพราะฉะนั้นนิพพานจึงไม่ใช่จิต เจตสิก และรูปใดๆ เลยค่ะ คุณวันทนาคงทราบแล้วนะคะ ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็จะต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นจึงจะเกิดขึ้นได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากจิต เจตสิก รูป ๓ ปรมัตถ์นี้เท่านั้น นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดจิต เจตสิก รูป ฉะนั้นนิพพานจึงดับจิต เจตสิก รูปด้วย เมื่อนิพพานเป็นธรรมที่ดับจิต เจตสิก รูป นิพพานจึงไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานไม่ใช่รูป แต่นิพพานเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งได้ด้วยปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้เสียก่อน ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก็ย่อมไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าเราควรจะพูดถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละขณะ และพูดถึงวิธีอบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้เสียก่อน ดีไหมคะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาธรรมของเราวันนี้ อาจารย์สุจินต์ก็ได้พูดถึงเรื่องรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องประสบพบเห็นอยู่ทุกวัน และรูปนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จิตของเราเป็นสุข ทุกข์ไปตามลักษณะอาการของรูปที่ปรากฏนั้นๆ นอกจากเรื่องรูปแล้วอาจารย์สุจินต์ยังได้พูดถึงเรื่องนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่ตรงกันข้ามกับจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นธาตุที่ไม่มีการเกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่จะรู้แจ้งได้ด้วยปัญญาขั้นสูง ซึ่งจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาขั้นต้นเสียก่อน ท่านผู้ฟังคะ ขณะนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในรายการหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ