บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๑

    ลักษณะที่เป็นอนัตตา และเกิดดับของจิต เจตสิก รูป

    รูปเกิดดับรวดเร็วจริงหรือ?


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ เมื่อพูดกันถึงเรื่องการฟังธรรม ส่วนมากจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของท่านผู้ใหญ่ที่มีอายุมากๆ แล้ว สำหรับคนหนุ่มสาวนั้น ถ้าถึงวันพระหรือวันหยุดงานเสาร์อาทิตย์ ใครปลีกเวลาไปฟังธรรมที่วัด หรือไปฟังบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ ก็คงเป็นเรื่องน่าประหลาดในความรู้สึกของคนส่วนมาก ดีไม่ดีเลยถูกเหมาว่าเป็นคนคร่ำครึเป็นแม่แก่พ่อแก่อะไรทำนองนั้นนะคะ ทีนี้สำหรับคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่เข้าวัดไปฟังเทศน์ฟังการบรรยายธรรม เมื่อไปบ่อยๆ ก็ย่อมจะได้พบปะพูดคุยกับท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ไปร่วมฟังธรรมอยู่ด้วยกัน ผู้ใหญ่บางท่านก็มองหน้าคนหนุ่มคนสาวพวกนี้ด้วยความรู้สึกเมตตาเหมือนเห็นลูกเห็นหลาน บางท่านก็พูดด้วยน้ำเสียงนิยมชมชื่นว่า “แหม ดีจริงนะพ่อคุณแม่คุณหัดเข้าวัดวาตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ช่างเป็นบุญแท้ๆ ลุง (หรือป้า) น่ะพบของดีก็ต่อเมื่ออายุมากแล้ว เหมือนกับไม้ใกล้ฝั่ง คงจะได้รับประโยชน์ต่อไปอีกไม่เท่าไรหรอก” ท่านผู้ฟังคะ นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดิฉันอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่ท่านผู้ฟัง บางทีเมื่อได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยๆ ดิฉันก็เคยได้เรียนท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นไปว่า “ไม่เป็นไรหรอกค่ะ ถึงแม้จะเข้าวัดเมื่อตอนแก่ก็นับว่าเป็นบุญมากแล้ว ลูกๆ หลานๆ ก็คงจะโตกันหมด ช่วยรับภาระในกิจการบ้าน ในการทำมาหากินกันได้หมด คราวนี้ก็สบายซินะคะ ได้มุ่งหน้าแสวงบุญแต่อย่างเดียว สำหรับหลานนี่ไม่แน่หรอกค่ะ นี่ก็เป็นบุญอยู่อย่างหนึ่งที่ได้เข้ามาศึกษาธรรม ได้รับความสุขความแช่มชื่นใจตามควรแก่เหตุ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกนะคะ ที่จะชักชวนให้ไขว้เขวออกไปจากวัด จนบางครั้งก็ไม่แน่ใจในศรัทธาของตนเอง ไม่แน่ใจในความมั่นคงว่าจะได้มาฟังธรรมอย่างนี้สม่ำเสมอไปอีกนานสักเท่าไร สำหรับคุณลุงคุณป้าซิคะต้องนับว่ามีเหตุอื่นที่ช่วยอุปการะไว้ได้มากกว่าคนหนุ่มๆ สาวๆ ในการมาแสวงบุญอย่างนี้ เพราะได้วางมือจากภาระ จากการประกอบอาชีพได้แล้ว และอีกอย่างหนึ่งคุณลุงคุณป้าก็ได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิตมาด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้มองเห็นความไม่เป็นสาระของสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาตนเองชัดเจนกว่าหนุ่มๆ สาวๆ นี่ก็ย่อมเป็นเหตุให้ใฝ่ในธรรม แสวงหาธรรมอยู่ได้นานกว่า และก็อาจจะตลอดไปด้วย” ท่านผู้ฟังคะ ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะมีความรู้สึกอย่างไร หากว่าจะบังเอิญรวมอยู่ในวงสนทนาของคู่สนทนาซึ่งต่างวัยกันตามที่ได้เล่ามาแล้ว ท่านจะมีความคิดเข้าข้างฝ่ายไหนคะว่า การศึกษาธรรมนี้จะจำเป็นสำหรับหนุ่มสาวมากกว่าหรือจะจำเป็นสำหรับคนแก่มากกว่า ธรรมคือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ทรงแสดงให้รู้เรื่องทุกข์ซึ่งมีทั้งทุกข์กาย และทุกข์ใจ สาเหตุแห่งความทุกข์ และทั้งเหตุที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมเห็นได้ว่า คำสอนของพระองค์นั้น เป็นไปเพื่อความเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่พวกเรา ธรรมของพระองค์จึงเปรียบได้กับธรรมโอสถซึ่งทำหน้าที่รักษาใจ ฉะนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องฉลาดที่จะศึกษาเรื่องยาแก้โรคใจเหล่านี้ และวิธีรักษาโรค เราจึงจะหายจากโรคได้ ท่านผู้ฟังคะ อาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้เรื่องปรมัตถธรรม ๔ ซึ่งดิฉันก็ใคร่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์เพื่อประโยชน์ของท่านผู้ฟังด้วย คืออย่างนี้นะคะ ตามที่อาจารย์กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และเป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวตน สิ่งของต่างๆ อาจารย์ช่วยกรุณากล่าวย้ำ และให้เหตุผลในเรื่องนี้อีกทีซิคะ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจจุดประสงค์ของการฟัง และการศึกษาปรมัตถธรรมว่าจำเป็นอย่างไรที่จะต้องรู้ และการรู้เรื่องปรมัตถธรรมนี้จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาหรือท่านผู้ฟังไม่รู้เรื่องปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป ก็ย่อมไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้จักทุกสิ่งที่มีปรากฏอยู่ล้อมรอบตัวเราอยู่ทุกขณะตามความจริง

    คุณวันทนา ค่ะ เราก็คงจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง หรืออาจจะเข้าใจต่อไปว่านั่นก็ของเรานี่ก็ของเรา

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้างนั้น สภาพที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ นั้นก็เป็นจิตบ้าง เป็นเจตสิกบ้าง เป็นรูปบ้าง นั่นเอง เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช้คำอะไร ไม่ใช่ภาษาอะไรเรียกสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏนั้นว่าคนหรือสัตว์หรือสิ่งต่างๆ แต่สิ่งที่ปรากฏนั้นก็มีลักษณะต่างกันไปตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น จิตเห็น ไม่ว่าจะเป็นใครเห็น คนเห็นหรือสัตว์เห็น ผู้หญิงหรือผู้ชายเห็น หรือถึงแม้ว่าจะไม่ใช้คำเรียกสภาพธรรมนั้นว่าจิตเห็น แต่ปรมัตถธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเห็นสีต่างๆ ด้วยตานั้นก็เหมือนกันหมด จิตได้ยินก็เช่นเดียวกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นใครได้ยิน และถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเรียกสภาพธรรมนั้นว่าจิตได้ยิน แต่ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่รู้เสียงก็ต้องเกิดขึ้น ได้ยินเสียงเมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยค่ะ เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย เจตสิก และรูปก็เป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เจตสิกแต่ละชนิดก็มีสภาพลักษณะ กิจการงาน และมีเหตุที่ทำให้เกิดเจตสิกแต่ละประเภทนั้นต่างๆ กันด้วย คุณวันทนาจะยกตัวอย่างเจตสิกบางประเภทให้ท่านผู้ฟังได้ทราบสักหน่อยไหมคะว่า เจตสิกแต่ละประเภทนั้นถึงแม้ว่าเราจะไม่สมมติเรียกว่าเป็นใคร ชื่ออะไร แต่ว่าเมื่อเจตสิกแต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีลักษณะ มีกิจการงาน ตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ

    คุณวันทนา แต่ก่อนจะยกตัวอย่างนะคะ ดิฉันอยากจะทบทวนความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับเจตสิกเสียก่อนค่ะ อาจารย์ ต้องตั้งหลักก่อน เจตสิกคือสิ่งที่เกิดกับจิต เจตสิกฝ่ายดีก็ได้แก่ความเอื้อเฟื้อเสียสละ เป็นต้น ความเอื้อเฟื้อเสียสละเมื่อจะเกิดก็ต้องอาศัยเหตุ เช่น เมื่อเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก เราก็เกิดความสงสารแล้วก็สละทรัพย์สิ่งของไปเพื่อช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของเขา แม้ความเอื้อเฟื้อเสียสละก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอำนาจการบังคับบัญชาของใคร เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ตั้งอยู่นาน เมื่อสิ้นเหตุที่จะทำให้มันเกิดมันก็ไม่เกิดอีก อย่างนี้ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ และท่านฝ่ายเจตสิกที่ไม่ดีล่ะคะ คุณวันทนาบังคับได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ อย่างความโกรธซึ่งเป็นเจตสิกที่ไม่ดีประเภทหนึ่ง แม้ว่าเราจะรู้ว่าความโกรธไม่ดี เวลาโกรธก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อถึงคราวที่เจตสิกประเภทนี้จะเกิด เช่น เวลาเราได้ยินเสียงที่เราไม่ชอบใจ เสียงคนพูดดังๆ หรือคนพูดหยาบคาย พูดคำด่าคำ หรือว่าถ้าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงเปิดวิทยุเสียงดังๆ เหล่านี้ก็เป็นเหตุให้โกรธไม่พอใจ เมื่อเสียงเหล่านี้อันเป็นต้นเหตุหายไป ความโกรธของเราก็หายไปด้วย

    ท่านอาจารย์ อย่างที่คุณวันทนากล่าวถึง แสดงให้เห็นแล้วนะคะ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายดี และธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี ถึงแม้ว่าใครต้องการให้เกิดหรือไม่ต้องการให้เกิดก็ตาม แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นก็ต้องเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย รูปล่ะคะ คุณวันทนาจะยกตัวอย่างทบทวนให้ท่านผู้ฟังได้เห็นความเป็นอนัตตาของรูปอีกสักครั้งไหมคะ

    คุณวันทนา ที่รูปเป็นอนัตตานั้นคงจะเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไปค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ในหมู่พวกผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่รักสวยรักงามอย่างเราก็ไม่อยากแก่เลยนะคะ อาจารย์ และส่วนมากก็พยายามเสริมสวยเสริมงามกันแทบแย่ ใช้ครีมบำรุงผิวสารพัดที่จะช่วยบำรุงผิวให้สดชื่นหรือนุ่มเหมือนกำมะหยี่ ลบร่องรอยของความเหี่ยวย่นของผิว แต่แล้วเมื่อใช้นานๆ ไป ความแก่นั้นก็ไม่หาย แล้วยังเรื่องอื่นๆ อีกเป็นต้นว่า ร่างกายของเรา เราก็อยากจะแข็งแรง อยากจะสดชื่น แต่บางครั้งก็มีความรู้สึกเหมือนจะตายไปเสียเลยงั้นแหละค่ะ แล้วก็เรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะนะคะ เราอาจจะมีของที่เรารัก เราชอบใจเสียเหลือเกินไม่อยากให้สูญหาย แต่แล้วเมื่อถึงคราวก็ต้องสูญหายแตกทำลาย ไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาของเราเลยสักอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงเห็นแล้วนะคะ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งคน สัตว์ วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มีปรากฏอยู่ทุกขณะนั้น โดยสภาพที่แท้จริงแล้วก็เป็นปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง ถ้าจิต เจตสิก รูป ไม่เกิดขึ้นปรากฏแล้ว คนหรือสัตว์หรือวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เราเคยเข้าใจว่ามีนั้น ก็จะมีได้อย่างไร ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น ต้นไม้ ภูเขา โต๊ะ เก้าอี้ นั้นนะคะ โดยสภาพที่แท้จริงก็คือรูปหลายๆ รูปที่เกิดรวมกัน ทำให้ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ กัน มีรูปทรงต่างกันด้วย คุณวันทนาลองคิดดูซิคะว่า ถ้ารูปปรมัตถ์ไม่เกิดขึ้นปรากฏ ต้นไม้ ภูเขา โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะมีได้อย่างไร ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็มีไม่ได้เลยค่ะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้นเป็นรูปที่เกิดดับสืบต่อกันทุกๆ ขณะ เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลยค่ะ จะมีใครบังคับให้รูปไม่ให้เกิดก็ไม่ได้เลย หรือว่าจะมีใครบังคับรูปที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้ดับไป ก็ไม่ได้เลย เช่นเดียวกันค่ะ

    คุณวันทนา แล้วเราจะทราบได้อย่างไรล่ะคะว่ารูปเกิดดับ เราเพียงแต่เห็นสีของรูปต่างๆ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าใครจะยังไม่ประจักษ์ชัดลักษณะของรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็พอจะรู้ได้จากสภาพการปรากฏของรูปที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เก่าไป และในที่สุดก็แตกทำลายไป ถ้าคุณวันทนาเห็นอะไรชินตาอยู่ทุกๆ วัน ก็อาจจะไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงเก่าไปใช่ไหมคะ แต่ถ้านานๆ เห็นครั้งหนึ่งก็จะเห็นว่าสิ่งนั้นเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมมากบ้าง น้อยบ้าง หรือบางทีก็ช้าบ้าง เร็วบ้าง วัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น ต้นไม้ ภูเขา หรือรูปต่างๆ นั้นที่ไม่เก่า ไม่แก่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย มีไหมคะ

    คุณวันทนา แต่อาจารย์คะ อาจารย์เคยบอกว่ารูปเกิดดับอย่างรวดเร็ว แล้วทำไมการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เราเห็นจึงเปลี่ยนแปลงช้าล่ะคะ ตั้งนานกว่าจะเห็นว่ามันเก่าหรือแก่หรือว่าเปลี่ยนแปลงไป

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยค่ะ รูปที่เกิดจากอุตุคือความเย็นความร้อนนั้น ความเย็นความร้อนไม่ปรากฏว่าขึ้นลงต่างกันมาก เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากความเย็นความร้อนระดับใดดับไปแล้ว ความเย็นความร้อนระดับนั้นก็ทำให้รูปที่เกิดต่อนั้นมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับรูปเดิม ไม่ผิดกันมาก จึงทำให้เห็นเหมือนกับว่าเป็นรูปเดียวกันอยู่ตลอดเวลา จนกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพลักษณะของรูปนั้นๆ จะปรากฏ สภาพลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมของรูปนั้นเองที่ทำให้เรารู้ว่ารูปแต่ละรูปเกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ เพราะถ้ารูปไม่เกิดดับทุกขณะแล้ว จะมีขณะไหนที่เหตุปัจจัยจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของรูปนั้นเป็นอย่างอื่นได้ แต่เพราะเหตุที่รูปแต่ละรูปเกิดดับทุกขณะเพราะเหตุปัจจัย รูปจึงเปลี่ยนไปจากรูปขณะหนึ่งเป็นรูปอีกขณะหนึ่ง แล้วต่อไปลักษณะของรูปจึงปรากฏให้เห็นว่าเปลี่ยนไปจากเดิมได้ จริงไหมคะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ สงสัยว่าภูเขาลูกใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับอะไรอย่างนี้ไหมคะ แต่ถึงจะเปลี่ยนก็คงเปลี่ยนช้ามากนะคะ เพราะมองไม่ค่อยเห็นเลยว่า ภูเขาเปลี่ยนแปลงแล้วก็เกิดดับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่าอุณหภูมิ คือความเย็นความร้อนไม่ได้เปลี่ยนระดับมาก แต่ถ้าใช้ความเย็นความร้อนพิเศษที่มีระดับต่างกันมาก เช่นใช้ระเบิดอย่างแรงหรือระเบิดที่มีอุณหภูมิสูง ในพริบตาเดียวภูเขานั้นก็คงไม่เหลือสภาพความเป็นภูเขาเดิมเสียแล้ว ใช่ไหมคะ ถ้ารูปทั้งหลายรวมทั้งรูปภูเขาที่เรายกตัวอย่างนี่นะคะ เมื่อเกิดแล้วไม่ดับเลย จะมีอำนาจอะไรที่จะเปลี่ยนภูเขานั้นให้แตกทำลายไปได้ล่ะคะ

    คุณวันทนา ไม่มีเลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ถึงแม้ว่าใครจะไม่ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของรูป แต่รูปทุกรูปก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไปอย่างรวดเร็วทุกขณะ ด้วยเหตุนี้เหตุปัจจัยจึงสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะของรูปที่เกิดดับสืบต่อกันได้ ส่วนการที่เหตุปัจจัยจะทำให้รูปที่เกิดดับสืบต่อกันนั้นปรากฏสภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากบ้าง น้อยบ้าง ช้าบ้าง เร็วบ้าง นั้นก็สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของรูปนั้นๆ ถ้าเราจะย่อยส่วนประกอบที่เป็นภูเขาสูงใหญ่นั้นออกเป็นเพียงหินก้อนเล็กๆ รวมกัน เราก็คงจะเห็นสภาพที่เปลี่ยนแปลงนั้นเร็วหน่อย ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา อย่างเวลาที่เราเอาต้นไม้หรือใบไม้เผาไฟ ความร้อนของไฟแรงมากมีอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ จึงทำให้เราเห็นการเกิดดับหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ถูกเผาได้อย่างรวดเร็วง่ายกว่า อย่างนี้ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ รูปร่างกายของคนเราก็เหมือนกันนะคะ เวลาที่เกิดมานั้น รูปแต่ละรูปที่เกิดรวมกันนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปแล้วรูปใหม่ก็เกิดขึ้นแทนสืบต่อไป รูปทยอยกันเกิดขึ้น และทยอยกันดับไปทุกๆ ขณะ ฉะนั้นเราจึงหารูปของเราตอนที่เป็นเด็กไม่พบเลย รูปเมื่อวานนี้หรือรูปเมื่อกี้นี้ก็หมดไป ดับไปแล้ว ไม่มีใครสามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้เลย รูปที่เกิดวันนี้ก็อาจจะยังแข็งแรง ส่วนรูปที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้อาจจะเจ็บไข้หรือเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้ และอีกไม่นานก็จะเสื่อมสลายตายไป พ้นจากสภาพของบุคคลนี้ในโลกนี้ ไปสู่ความเป็นบุคคลใหม่ในโลกใหม่ต่อไป คุณวันทนาลองพิจารณาดูนะคะ ว่า น่าสลดใจสักแค่ไหนที่เราหลงเพลิดเพลินยึดมั่นในสิ่งที่เกิดดับ ในสิ่งที่ไม่เที่ยว ในสิ่งที่ไม่มีสาระว่า เป็นตัวตน เป็นตัวเรา หลงยึดมั่นสิ่งที่เกิดดับไม่เที่ยงนั้นว่าเป็นผู้นั้นผู้นี้ เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นของเรา ของเขา ต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งที่ปรากฏก็ดับไป เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพลักษณะของสิ่งนั้นๆ เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย นามธรรมแต่ละชนิด เช่น การเห็นก็อาศัยรูปตาที่เกิดแล้วยังไม่ดับกระทบกับรูปสีที่เกิดแล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการเห็นเพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น แล้วนามธรรมที่เห็นนั้นก็ดับไป แต่ถึงอย่างนั้นเราก็หลงยินดีในการเห็น หลงพอใจในสิ่งที่เห็น อยากเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ จากการสนทนาของเราในครั้งนี้ ก็คงจะได้ช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาของทุกๆ สิ่งแล้วนะคะ ว่า เมื่อธรรมทั้งหลายมีเหตุปัจจัยก็ย่อมจะต้องเกิดขึ้น และไม่เป็นไปตามอำนาจปรารถนาของผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นอนัตตา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาของเราก็ได้ดำเนินมาพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงขอยุติเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ