บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๔๐

    ทรงสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรม

    อานิสงส์ของบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ จากเรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ได้นำมากล่าวแล้วนั้น ก็ย่อมจะเห็นได้ว่าบุญญกิริยาวัตถุทั้งหลายนั้นย่อมพร้อมที่จะเจริญได้ทุกทาง ทั้งด้วยวัตถุสิ่งของ และถึงแม้ไม่ใช่ด้วยวัตถุสิ่งของก็ยังกระทำได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ แต่แม้กระนั้นเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า โอกาส และกาลเวลาส่วนมากมักเป็นไปในอกุศล คือ โลภ ความอยาก โทสะความไม่พอใจ และโมหะคือความหลง มากกว่าในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนั้น ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุคือการสั่งสมมาในทางอกุศล คือความพอใจ การติด และการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส ต่างๆ มีกำลังมากกว่าทางฝ่ายกุศล ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้ประทานคำสอนเตือนพุทธบริษัทไว้อย่างไรหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สจิตตวรรคที่ ๑ ฐิติสูตร ข้อ ๕๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญแม้ซึ่งการตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไฉนพระองค์จะทรงสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า แล้วพระองค์ตรัสว่า พระองค์ทรงสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายไม่ใช่ความตั้งอยู่ ไม่ใช่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

    คุณวันทนา คำว่ากุศลธรรมทั้งหลายก็ย่อมหมายถึงบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั่นเองนะคะ มิได้เจาะจงข้อหนึ่งข้อใด และไม่ได้เว้นประการหนึ่งประการใดด้วย

    ในเรื่องความเสื่อมจากกุศลธรรมนี้ ก็คงจะหมายถึงคนที่เคยทำบุญญกิริยา ทาน ศีล ภาวนามาแล้ว แต่ภายหลังก็ทำน้อยลงหรืองดเว้นไปเลย

    และในข้อที่ว่า ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมก็คงจะหมายถึงว่า เคยทำยังไงก็ทำอย่างนั้น เช่น เคยใส่บาตรวันละองค์ก็ใส่อยู่อย่างนั้น

    ส่วนในข้อต่อไปที่ว่าการเจริญขึ้นในกุศลธรรม ก็คือเพิ่มการทำกุศลมากขึ้นในทุกๆ ทาง นี่ก็แสดงว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญความเสื่อมจากกุศล ไม่ทรงสรรเสริญความตั้งอยู่ในกุศล แต่ทรงสรรเสริญการเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ก็ย่อมจะรู้ว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญหรือไม่

    เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ทำให้สงสัยว่าการเจริญกุศลก็ย่อมต้องแล้วแต่โอกาสด้วย เช่นคนที่เคยมีฐานะดี เคยบำเพ็ญทานกุศลมาก ถ้าต่อมาเกิดยากจนหรือตกต่ำลง ไม่สามารถจะให้ทานที่ประณีตหรือมากเหมือนเมื่อครั้งที่เคยมีสมบัติมามาย อย่างนี้ก็ไม่ใช่โอกาสของทานกุศลอย่างเคย เพราะฉะนั้นถ้าทานกุศลของผู้นั้นจะลดน้อยลงไป แต่เขาเจริญศีลกุศล และภาวนากุศล ก็ได้ชื่อว่ากุศลธรรมเจริญใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ และที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ควรเลือกทำกุศลเพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้น ไม่ควรเจริญเพียงทานกุศลเท่านั้น โดยไม่รักษาศีลไม่เจริญภาวนาเลย หรือไม่ควรรักษาศีลเท่านั้นไม่เจริญทานกุศล และภาวนากุศลเลย หรือไม่คิดจะเจริญภาวนากุศลอย่างเดียว โดยไม่ให้ทาน และไม่เว้นทุจริตทางกาย ทางวาจาซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลาพื้นฐานของจิตใจ และเป็นการอุปการะแก่การเจริญภาวนากุศลด้วย

    คุณวันทนา บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ จะมีอานิสงส์แตกต่างกันอย่างไรบ้างไหมคะ เพราะเท่าที่ทราบกันก็รู้ว่า ที่เป็นผู้มีทรัพย์ไม่ขัดสนนั้นเป็นผลของการบริจาควัตถุสิ่งของเป็นทาน เมื่อเขากลัวการขัดสนเขาก็บริจาคทาน ส่วนคนที่รู้ว่าการมีรูปร่างสวยงามเป็นผลของศีล คนที่อยากมีรูปสมบัติสวยงามก็พยายามรักษาศีล หรืออยากจะให้อายุยืนไม่มีโรคก็ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทรมานสัตว์ บางคนก็กลัวภัยของวัฏฏะจึงได้เจริญภาวนากุศล เพื่อให้เกิดปัญญาละทุกข์ซึ่งเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้นะคะ จะทำให้เข้าใจว่าบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ให้ผลแตกต่างกันตามลำดับขั้นหรือเปล่าคะ อย่างบางคนก็อาจกลัวไปว่า ถ้าไม่มีวัตถุทานที่จะสละให้ เพียงรักษาศีล และเจริญปัญญาเท่านั้น ก็จะมีแต่ปัญญา และรูปร่างสวยงาม แต่ขัดสนไม่มีทรัพย์สมบัติ อย่างนี้อาจารย์จะช่วยชี้แจงให้ทราบได้ไหมคะว่า อานิสงส์ของบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ ต่างกันหรือมากน้อยกว่ากันประการใดบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลแล้วให้ผลเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งนั้นค่ะ ส่วนจะมากน้อย และวิจิตรต่างกันอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่ความวิจิตร คือความต่างกันของจิตที่กระทำกรรมนั้น และการสะสมบุญกรรมของจิต อย่างการเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรมดี ไม่จำกัดว่าเป็นผลของทานหรือของศีลหรือของภาวนา ส่วนความต่างกันของมนุษย์ทั้งในรูปร่างหน้าตา ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์นั้นก็แล้วแต่กรรม และกิเลสที่สะสมมาต่างๆ กันในอดีตอนันตชาตินับไม่ถ้วน

    คุณวันทนา อาจารย์ช่วยกรุณายกตัวอย่างด้วยได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๙๗ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระนางมัลลิกาเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลถามว่า อะไรเป็นเหตุให้หญิงในโลกนี้มีผิวพรรณทราม รูปชั่วไม่น่าดู ขัดสนทรัพย์สมบัติ และต่ำศักดิ์ อะไรเป็นเหตุให้หญิงบางคนไม่สวยแต่มั่งมี และสูงศักดิ์ อะไรเป็นเหตุให้หญิงบางคนสวยแต่ยากจนต่ำศักดิ์ อะไรเป็นเหตุให้หญิงบางคนสวยงามน่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณงาม มีทรัพย์สมบัติมาก และสูงศักดิ์ด้วย

    คุณวันทนา จริงด้วยค่ะอาจารย์ ถ้าจะสังเกตจากบุคคลที่เราเคยพบ เคยรู้จัก ก็จะเห็นได้เลยว่า แต่ละคนๆ ก็อยู่ในลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งนั้นทีเดียว แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า คนที่มักโกรธ ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด ไม่ให้ทาน และมีจิตใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เมื่อจุติแล้วก็เกิดเป็นคนไม่สวย ยากจน และต่ำศักดิ์ด้วย ส่วนคนที่มักโกรธแต่ให้ทาน ไม่ริษยาในลาภสักการะของผู้อื่นนั้น เมื่อจุติแล้วก็เกิดเป็นคนไม่สวย แต่มั่งมีทรัพย์สมบัติ และสูงศักดิ์

    คุณวันทนา แล้วพระนางมัลลิกาสวยไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่สวยค่ะ แต่มีโภคสมบัติ และดำรงความเป็นใหญ่ยิ่งกว่าหญิงใดๆ ในราชสกุล ในบรรดาคฤหบดี นางพราหมณี และนางกษัตริย์ทั้งหลาย

    คุณวันทนา ที่เป็นอย่างนั้นก็คงเป็นเพราะในอดีตชาติพระนางมัลลิกาจะต้องเป็นคนมักโกรธ แต่ว่าให้ทาน และไม่ริษยาในลาภสักการะในความเคารพนับถือของผู้อื่นใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ พระนางมัลลิกาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ในชาติก่อนๆ พระนางคงเป็นคนมักโกรธจึงได้ไม่สวย คงจะได้ให้ทาน และไม่ริษยา ชาตินี้จึงได้มีโภคทรัพย์มาก และสูงศักดิ์ และสำหรับคนที่สวยแต่ยากจน และต่ำศักดิ์ กับคนที่สวย และมั่งคั่ง และสูงศักดิ์ด้วยนั้น คุณวันทนาก็คงทราบแล้ว่าเป็นผลของอะไรในชาติก่อนๆ

    คุณวันทนา สำหรับคนที่สวยแต่ยากจน และต่ำศักดิ์ ก็คงจะเป็นเพราะไม่มักโกรธ ไม่ให้ทาน และมีความริษยา ส่วนคนที่สวย มั่งคั่ง สูงศักดิ์ ก็ต้องเป็นเพราะไม่มักโกรธ และได้ให้ทาน และไม่ริษยาในลาภสักการะ ในความเคารพนับถือของคนอื่น

    จากในเรื่องนี้ก็คงจะทำให้ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ความสวยเป็นผลของความไม่โกรธหรือของศีล ทรัพย์สมบัติเป็นผลของทาน ความสูงศักดิ์เป็นผลของการไม่ริษยาในลาภสักการะ ในความเคารพนับถือกราบไหว้บูชาของคนอื่น

    แต่ท่านผู้ฟังคงเข้าใจว่า กุศลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็ให้ผลเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งนั้น ตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น อาจารย์จะช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจด้วยได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่าศีลให้ผลเป็นโภคสมบัติได้ไหมคะ หรือว่าต้องเป็นทานเท่านั้นที่ให้ผลเป็นโภคสมบัติต่างๆ

    คุณวันทนา เคยได้ยินพระท่านกล่าวภาษาบาลีว่า สีเลน โภคสัมปทา ก็คงหมายความว่า ศีลเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ต่างๆ ด้วย และนอกจากนั้นยังได้ยินด้วยว่า คนที่รักษาศีลยังได้ไปสวรรค์อีกด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่าทรัพย์สมบัติของคนในโลกนี้เทียบกับสวรรค์สมบัติได้ไหมคะ

    คุณวันทนา เทียบกันไม่ได้ เพราะสวรรค์สมบัติต้องมากกว่าซิคะ

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกย ขุททกปาฐะ อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ปาฏลิคามิยสูตร ข้อ ๑๖๙ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอานิสงส์ของศีลกับชาวปาฏลิคามว่า คนที่มีศีลถึงพร้อมด้วยศีลย่อมเกิดในสวรรค์ สมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติสวรรค์สมบัติต่างๆ เพราะฉะนั้น ศีลก็มีอานิสงส์นำมาซึ่งโภคสมบัติต่างๆ ได้ไม่ใช่แต่ทานเท่านั้น และปัญญาคุณวันทนาคิดว่าให้ผลเป็นโภคสมบัติได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ในข้อนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลยว่า ปัญญาจะทำให้เกิดโภคสมบัติ แต่โดยเหตุผลแล้ว ปัญญาก็เป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็น่าจะทำให้เกิดโภคสมบัติได้ อาจารย์จะมีตัวอย่างของเรื่องที่ว่า เจริญปัญญาแล้วจะได้โภคสมบัติหรือสวรรค์สมบัติบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิากย วิมานวัตถุ จิตตลดาวรรคที่ ๒ ทาสีวิมาน ข้อ ๑๘ เทพธิดาในชั้นดาวดึงส์ได้แสดงผลกรรมของตนแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ในชาติที่เป็นมนุษย์นั้น เป็นทาสีหญิงรับใช้ในสกุลหนึ่ง แต่เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาค ได้รักษาศีล และเจริญกรรมฐานอยู่ ๑๖ ปี ก็ได้บรรลุมัคค์ผล เมื่อจุติแล้วก็เกิดในดาวดึงส์ค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าเกิดในดาวดึงส์เป็นเทพธิดาก็จะต้องสวยงามกว่าหญิงมนุษย์แน่ๆ เชียวค่ะ เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า กุศลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทไหน ก็ให้ผลเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งนั้น เช่น ทานก็ไม่ได้ให้ผลเพียงทรัพย์สมบัติ เพราะเมื่อเกิดในสวรรค์ย่อมสวยงาม และมียศศักดิ์สูงด้วยศีลก็ไม่ได้ให้ผลเพียงความสวยงาม เพราะเมื่อเกิดในสวรรค์ย่อมมีสวรรค์สมบัติที่ประณีต และมากมายยิ่งกว่าโภคสมบัติในมนุษย์ และปัญญาก็เช่นเดียวกัน แต่ในมนุษย์ทำไมการให้ผลของทาน ศีล จึงต่างกัน ทำให้รูปร่างหน้าตาความสวยงามต่างกัน โภคทรัพย์ก็ต่างกันยศศักดิ์ต่างกัน ตามที่พระองค์ทรงแสดงกับพระนางมัลลิกาล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ การให้ผลของบุญกรรมในมนุษย์นั้นด้อยกว่าในสวรรค์ค่ะ อานิสงส์ในภูมิมนุษย์นั้นไม่ประณีตเท่ากับอานิสงส์ของบุญกรรมในสวรรค์ เพราะฉะนั้นรูปร่างหน้าตา โภคทรัพย์ต่างๆ ในมนุษย์จึงด้อยกว่าในสวรรค์ และในภูมิมนุษย์นั้นก็ยังเป็นภูมิที่อกุศลกรรมอื่นๆ ให้ผลเบียดเบียนได้ทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถ้าคุณวันทนาสังเกตก็จะเห็นว่า สิ่งที่ดีทั้งหลายในภูมิมนุษย์ แม้ในเรื่องรูปร่างหน้าตา ผิวพรรษวัณณะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั้นก็เป็นผลของบุญกรรมซึ่งเป็นกรรมดี และส่วนที่ไม่ดีทั้งหมด อย่างในเรื่องรูปร่างหน้าตา การเสื่อมทรัพย์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศนั้น ก็เป็นผลของกรรมไม่ดี ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ อย่างคนที่ไม่สวยก็เพราะความโกรธ แสดงความโกรธ และกระทำไม่ดีต่างๆ เพราะความโกรธ คนที่ไม่ร่ำรวย เพราะไม่ให้ทาน ไม่ใช่เพราะให้ทาน ผู้ที่ไม่มีศักดิ์ ก็เพราะริษยาไม่ใช่เพราะไม่ริษยา นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่โดยตรงแล้วว่า ผลที่ดีนั้นจะต้องมาจากกระทำที่ดี เป็นบุญเป็นกุศล และผลที่ไม่ดีก็ย่อมมาจากการกระทำที่ไม่ดีเป็นอกุศล และทุจริตต่างๆ สำหรับในภูมิมนุษย์ อาจารย์จะมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทานก็ให้ผลเป็นสิ่งที่ดีเป็นความสวยงาม ปัญญาก็ให้ผลที่ดีเป็นความสวยได้ ไม่ใช่แต่ศีลเท่านั้นที่จะให้ผลเป็นความสวยงามได้ มีไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมที่ทำให้พระองค์ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการว่า เป็นผลของการมั่นในกุศลกรรมทั้งหลาย ทั้งทาน ศีล และการปฏิบัติธรรม และทรงแสดงด้วยว่ามหาปุริสลักษณะประการใดเป็นผลของทาน และปัญญา ไม่ใช่ผลของศีลเพียงประการเดียว

    คุณวันทนา มหาปุริสลักษณะประการใดบ้างคะ ที่เป็นผลของทาน

    ท่านอาจารย์ ข้อ ๑๓๘ - ๑๓๙ พระองค์ทรงแสดงว่า มหาปุริสลักษณะที่ทรงมีพื้นพระหัตถ์ และพระบาทอ่อนนุ่ม และมีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน คือที่หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ที่หลังพระบาททั้ง ๒ ที่บนพระอังสะทั้ง ๒ และที่ลำพระศอนั้น เป็นผลของการให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และให้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม

    คุณวันทนา มหาปุริสลักษณะที่เป็นผลของปัญญาหรือเนื่องจากปัญญานั้นมีอะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ข้อ ๑๔๓ พระองค์ทรงแสดงว่าผลของการพิจารณาก่อน จึงกล่าวคำที่ประกอบด้วยอรรถ และพยัญชนะ คือผล และเหตุแก่ประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์ และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ทำให้ได้ลักษณะ ๒ ประการ คือทำให้พระโลมชาติมีปลายช้อนขึ้นเบื้องบน และมีพระเพลาเบื้องบนงาม

    ข้อ ๑๔๔ - ๑๔๕ ผลของกรรมที่ตั้งใจสอนศิลปะ วิชชา จรณะ คือข้อที่ควรประพฤติ และกรรมให้คนอื่นรู้ และเข้าใจแจ่มแจ้งรวดเร็ว ทำให้มีพระมหาปุริสลักษณะคือมีพระชงฆ์เรียงดังแข้งของเนื้อทราย

    ข้อ ๑๔๖ - ๑๔๗ ผลของกรรมที่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ และซักถามเรื่องกรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ที่มีโทษ และไม่มีโทษ ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพนั้น ทำให้ได้พระมหาปุริสลักษณะ คือมีพระฉวีละเอียด และธุลีละอองก็ไม่ติดพระกายได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ท่านผู้ฟังก็คงเห็นได้นะคะ ว่า บุญกรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่ควรเจริญ เพราะย่อมจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีงามทั้งปวง ทั้งในรูปร่างกาย ความสวยงาม โภคทรัพย์ ยศ ลาภ สรรเสริญ ประการต่างๆ ดังในลักขณสูตรที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดสมบูรณ์ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ