บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๖

    ลักษณะการพูดในที่ประชุมชน

    จะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีศีล ความสะอาด กำลังใจ


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ความสุข ความชื่นชมที่เราจะพึงหาได้จากชีวิตประจำวันของเรานั้น บางครั้งก็เพราะเราเป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้างสรรความสุขให้เกิดแก่ตัวเราเอง และแก่ผู้อื่นด้วย บางครั้งเราก็เป็นผู้รับความสุขความชื่นชมจากผู้อื่น ในบรรดาการอำนวยความสุข ความชื่นชมให้แก่กัน และกันในสังคมมนุษย์ ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า การกล่าววาจานับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว ดังมีคำโคลงตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

    อ่อนหวานมาลมิตรล้น เหลือหลาย

    หยาบบ่มีเกลอกลาย เกริ่นใกล้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงคำพูดประการเดียวเท่านั้น ก็สามารถทำให้ผู้พูดสร้างมิตรหรือศัตรูได้

    ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินได้ฟังคำว่า “ปากร้ายใจดี” ถ้าศึกษาสภาวธรรมให้เข้าใจโดยถ่องแท้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ดีว่า คนที่ปากร้ายนั้นจะเป็นคนใจดีด้วยพร้อมกันในขณะนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าวาจาอย่างไรใจก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อใจเป็นกุศลคำพูดในขณะนั้นก็ต้องเป็นคำพูดที่เป็นสัมมาวาจาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

    คราวที่แล้วก็ได้สนทนากันถึงเรื่องประเภทของคำพูดที่ส่อแสดงให้เห็นว่า ผู้พูดเป็นสัตบุรุษหรืออสัตบุรุษ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเห็นความสำคัญของการกล่าววาจา และการขัดเกลากิเลสทางวาจา พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องการกล่าววาจาไว้อย่างละเอียด

    อาจารย์จะกล่าวถึงลักษณะของวาจาสุภาษิต และพระพุทธโอวาท ที่ได้ทรงตักเตือนสั่งสอนในเรื่องการขัดเกลากิเลสทางวาจาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบอีกไหมคะ เพราะว่าถ้าไม่อาศัยพระธรรมโอวาทของพระองค์เป็นประดุจกระจกส่องให้เห็นกาย วาจา ใจของเราแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นกาย วาจา ใจ ของเราเอง เราก็อาจไม่รู้สึกตัวได้นะคะ ว่า กาย วาจา ของเราเป็นประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ ขอยกเรื่องการพูดในที่ประชุมชนก่อนว่า พระองค์ทรงแสดงไว้ละเอียดอย่างไรบ้าง เพราะว่าเรื่องความลึกซึ้งของจิตใจนั้น ผู้ที่ฟังเพียงคำพูดอาจจะไม่ล่วงรู้เลยก็ได้ว่า จิตใจของคนที่กำลังพูดนั้นเป็นอย่างไร

    คุณวันทนา ลักษณะจิตใจของผู้ที่พูดในที่ประชุมชน พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยหรือคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้งการพูดกันโดยลำพัง การพูดกับคน ๒ คน ๓ คน และทรงแสดงจิตใจของคนที่พูดในที่ประชุมชนด้วย

    คุณวันทนา การที่ทรงแสดงลักษณะจิตใจของผู้ที่พูดในที่ประชุมชน นอกจากจะทำให้ผู้ฟังมีโอกาสรู้สภาพจิตใจของผู้พูดแล้ว ก็ยังจะทำให้ผู้พูดได้รู้สภาพจิตใจของตนเองในขณะที่พูด และขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย มหานิเทส อัฏฐกวัคคิกะ ปสูรสุตตนิเทสที่ ๘ ข้อ ๒๗๙ - ๒๘๐ มีข้อความว่า ถ้าผู้พูดปรารถนาคำสรรเสริญ คำชม และการยกย่อง ก็ย่อมจะทำให้เกิดความลังเลก่อนที่จะโต้ตอบ และย่อมจะเกิดความสงสัยคิดว่าตนจะชนะหรือจะแพ้ หรือคิดว่าจะข่มคนอื่นได้อย่างไร จะเชิดชุความเห็นของตนอย่างไร จะผูกมัดคนอื่นอย่างไร จะปลดเปลื้องอย่างไร จะตัดรอน และขนาบคำพูดของคนอื่นอย่างไร

    คุณวันทนา ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นความรู้สึกในใจจริงๆ ยากแก่การที่จะรู้ได้ แต่ถ้าพิจารณากันแล้วก็ยิ่งจะเห็นได้ว่า ลักษณะคำพูดใดๆ ที่ไม่งามไม่ประกอบด้วยเมตตานั้น ก็ย่อมจะเกิดจากอกุศลจิตที่ปรารถนาจะให้ผู้ฟังสรรเสริญตนนั่นเองนะคะ

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นข้อ ๒๘๑ ยังทรงแสดงไว้ด้วยว่า ผู้พูดที่ปรารถนาคำสรรเสริญนั้น เมื่อผู้ใดพิจารณาแล้ว มีความหวังดีคัดค้านข้อความในอรรถ ในพยัญชนะ ของคำที่ตนพูดให้ตกไป ก็ย่อมจะเก้อเขินอับอาย กระวนกระวาย ลำบากกาย และเป็นทุกข์ใจด้วย

    คุณวันทนา ถ้าหากไม่ปรารถนาการสรรเสริญแล้ว แทนที่จะเก้อเขิน อับอาย กระวนกระวาย ลำบากกาย และไม่สบายใจแล้ว ก็จะกลับดีใจนะคะ ที่มีผู้รู้สิ่งที่ถูกต้อง และช่วยแก้ไขให้เข้าใจถูก และช่วยทำให้ผู้ฟังอื่นๆ ได้เข้าใจถูกต้องไปด้วย เพราะว่าเป็นบุญกุศลที่ผู้นั้นช่วยให้ตนเองพ้นจากบาปกรรมที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นข้อ ๒๘๒ - ๒๘๗ ยังทรงแสดงไว้ด้วยว่า เมื่อถ้อยคำที่พูดนั้นถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว ผู้พูดที่ต้องการคำสรรเสริญ และการยกย่องนั้นก็ย่อมจะโกรธขัดเคือง แสดงความไม่ยินดีให้ปรากฏ คิดแก้แค้นหาช่องทางแก้ตัว และแสวงหาความผิด ความพลั้งพลาด ความเผลอของคนอื่น และย่อมโศกเศร้าเสียใจที่ตนเองเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ และผู้อื่นได้รับความเคารพนับถือ และลาภสักการะ

    คุณวันทนา ถ้าคำพูดของคนที่ต้องการคำสรรเสริญยกย่องนั้น ไม่มีใครคัดค้านให้ตกไปได้ หรือว่าคำพูดที่พูดออกไปนั้นสามารถที่จะตัดรอนคน และขนาบคำพูดของคนอื่นได้ จะเป็นอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ข้อ ๒๙๖ - ๒๙๗ มีข้อความว่า คนพูดนั้นก็ย่อมยินดี หัวเราะ ร่าเริง ที่สามารถจะบรรลุประโยชน์ที่ตนต้องการคือการชนะผู้อื่น และจิตใจก็ย่อมจะเห่อเหิมที่ได้สมใจนึก สมความคิดความปรารถนา ที่ได้รับการยกย่อง สรรเสริญตามความต้องการ

    คุณวันทนา ก็เป็นกิเลสอีกแล้ว เพราะว่าลักษณะที่เห่อเหิม เมื่อได้รับการยกย่องเชิดชูตน สมใจ สมปรารถนาที่เป็นผู้ชนะ ก็เป็นสภาพอกุศลธรรมที่เป็นมานะ ดูๆ ไปแล้วจะได้กิเลสหลายต่อทีเดียว คือเริ่มตั้งแต่ปรารถนาจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ถ้าคำพูดถูกคัดค้านก็โศกเศร้าเป็นทุกข์ เป็นอกุศล แต่ถ้าชนะก็เห่อเหิมดีใจเป็นอกุศลอีก

    ท่านอาจารย์ แต่คนพูดที่ต้องการการยกย่องสรรเสริญนั้น ย่อมไม่ได้รับประโยชน์อื่นจากการยกย่องสรรเสริญ

    คุณวันทนา ประโยชน์อื่นที่นอกไปจากการยกย่องสรรเสริญ มีอะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ข้อ ๒๙๒ มีข้อความว่า มีประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์มีในชาตินี้ ประโยชน์มีในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ฯลฯ ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ปราศจากกิเลส ประโยชน์อันบริสุทธิ์ ประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นต้น

    คุณวันทนา ประโยชน์ก็มีหลายอย่างเหลือเกินนะคะ และสำหรับผู้ที่ต้องการได้รับการยกย่องสรรเสริญนั้น ทำไมไม่ได้รับประโยชน์อื่นๆ เช่น ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น เป็นต้นด้วยล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อผู้พูดมุ่งเพียงได้รับการยกย่องสรรเสริญ ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ของตนเองเลย เพราะว่าการพูดนั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเอง และเมื่อพูดเพื่อหวังการยกย่องสรรเสริญเท่านั้น ก็ย่อมไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และเหตุผลที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจ และได้ประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย ซึ่งเมื่อผู้ฟังไม่ได้ความเข้าใจ และเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว การพูดนั้นก็ย่อมไม่ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งผู้พูด และผู้ฟังด้วย

    คุณวันทนา และสำหรับประโยชน์มีในชาตินี้ และชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ปราศจากกิเลส ประโยชน์อันบริสุทธิ์ ประโยชน์อย่างยิ่งนั้น ก็เห็นจะเป็นการจำแนกประโยชน์ต่างๆ นั่นเองนะคะ ถ้าหากการพูดเพื่อต้องการการสรรเสริญนั้น ไม่ได้ประโยชน์แก่ตนแล้ว ก็ย่อมจะไม่ได้ประโยชน์ในชาตินี้ ชาติหน้า และประโยชน์อื่นๆ ด้วย นี่ก็แปลว่าการยกย่องสรรเสริญ ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง ที่ผู้พูดควรจะมุ่งหวังใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ที่แท้จริงของการพูดนั้น ไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังการยกย่องสรรเสริญ ถ้าใครพูดเพราะมุ่งหวังการยกย่องสรรเสริญ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดการแก่งแย่งกัน พูดคัดค้านกัน ทะเลาะวิวาทกัน มุ่งร้ายกัน และใช้ถ้อยคำที่ไม่มีน้ำมีนวลต่อกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสอนให้งดเว้นคำพูดที่ไม่ดีเหล่านั้นทั้งหมด

    คุณวันทนา ลักษณะคำพูดคัดค้าน ทะเลาะวิวาท มุ่งร้ายแก่งแย่งกัน ในสูตรนี้มีกล่าวไว้หรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ มีกล่าวไว้ในข้อ ๓๐๙ คือ ได้แก่การกล่าวว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติชอบ คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลังท่านกลับกล่าวก่อน…” จำพวกนี้แหละค่ะ

    คุณวันทนา มุ่งคัดค้านกันแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และในเรื่องใหญ่เชียวนะคะ แต่ถ้าหากเป็นความจริงล่ะคะ คือผู้อื่นเขากล่าวผิดจริงๆ ไม่ถูกต้องตามเหตุผลจริงๆ อย่างนี้จะคัดค้านได้ไหม เพราะเดี๋ยวจะว่าคัดค้านกันเพื่อมุ่งการยกย่องสรรเสริญ ก็จะไม่มีใครกล้าพูดหรือกล้าคัดค้านสิ่งที่ผิดๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค อรณวิภังคสูตร ข้อ ๖๕๓ - ๖๗๒ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสว่า ไม่พึงกล่าวคำพูดลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร

    คุณวันทนา ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงไว้ว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร บางคนก็อาจเข้าใจผิดไปก็ได้นะคะ แล้วในข้อที่ว่า ไม่พึงกล่าวคำพูดลับหลัง พระองค์ทรงหมายอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า คำพูดลับหลังที่ไม่เป็นจริง และไม่ประกอบด้วยประโยชน์แล้ว ไม่พึงกล่าวคำพูดลับหลังนั้นเป็นอันขาด และถึงแม้จะรู้ว่าคำพูดลับหลังเรื่องใดเป็นจริงแต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงระวังที่จะไม่พูดคำพูดลับหลังนั้น

    คุณวันทนา แต่ถ้าคำพูดลับหลังนั้นจริง และมีประโยชน์ จะพูดได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า ต้องรู้กาลที่จะพูด คือถ้าพูดแล้วเป็นประโยชน์ก็ควรพุด แต่ถ้าพูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ควรพูด

    คุณวันทนา เรื่องการพูดล่วงเกินต่อหน้าล่ะคะ พระองค์ทรงหมายอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ สำหรับคำพูดล่วงเกินต่อหน้านั้น ถ้าไม่เป็นจริง และไม่ประกอบด้วยประโยชน์แล้ว ไม่ควรกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้าเป็นอันขาด และถึงแม้จะรู้ว่าคำพูดล่วงเกินนั้นเป็นจริง แต่ว่าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็ต้องพึงระวังที่จะไม่พูดคำล่วงเกินต่อหน้านั้น

    คุณวันทนา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจิรงแต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็ยังต้องระวังที่จะไม่พูดอีกนะคะ แล้วถ้าคำพูดล่วงเกินนั้นเป็นความจริง และประกอบด้วยประโยชน์ล่ะคะ จะพูดได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า ต้องรู้จักกาลที่จะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นค่ะ

    คุณวันทนา พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาประทานคำสอนไว้อย่างละเอียด ทรงระวังไม่ให้เราเกิดอกุศลจิต ไม่ให้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งทางกาย วาจา ใจ เลยนะคะ เมื่อตอนต้นอาจารย์กล่าวว่า พระองค์ทรงสอนเรื่องการกล่าววาจาไว้โดยละเอียด ทั้งในการกล่าวในที่ประชุมชน และการกล่าวตามลำพัง และในการกล่าวตั้งแต่ ๒ คน ๓ คน ขึ้นไป สำหรับการกล่าวตั้งแต่ ๑ คน ๒ คน ๓ คนนั้น พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อินทรียวรรคที่ ๑ มหาวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๙๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ กำลังใจพึงรู้ได้เมื่อมีอันตราย และปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนากัน แต่ว่าทั้งศีล ความสะอาด กำลังใจ และปัญญานั้น จะต้องอาศัยกาลเวลานานๆ ต้องอาศัยการพิจารณา และต้องเป็นคนมีปัญญาด้วย จึงจะรู้ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่อาจจะรู้ได้

    คุณวันทนา จริงซินะคะ อย่างในเรื่องของศีล ๕ ซึ่งเป็นเรื่องความประพฤติทางกาย ทางวาจานั้น ที่จะรู้ได้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ก็ต้องอยู่ด้วยกัน และต้องดูกันไปนานๆ ด้วย บางคนอาจจะพูดเก่ง และจำเรื่องศีล ๕ ได้ สามารถพรรณนาประโยชน์อานิสงส์ของศีลให้คนอื่นฟังได้ ทำให้ผู้ฟังพลอยชื่นชมยินดีในคำพูดนั้น และมีความเข้าใจไกลไปกว่านั้นอีกว่า คนที่พูดเก่งนั้นก็คงจะรักษาศีลได้เก่ง และมีศีลบริสุทธิ์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าต้องดูกันนานๆ ว่าคนนั้นรักษาศีลเป็นปกติหรือเปล่า เพราะว่าเพียงชั่วครู่ชั่วยามชั่ววันหนึ่งสองวัน ก็อาจจะยังไม่ผิดศีล เพราะคนที่พูดหรือพรรณนาความรู้เรื่องศีล และกล่าวอานิสงส์ของศีลอาจจะสำรวมระวังในตอนต้น กลัวว่าคนอื่นจะจับได้ว่าตนเองดีแต่พูด หรือบางคนนี่นะคะ เวลาอยู่คนเดียวก็อาจจะไม่ผิดศีล เพราะโอกาสไม่มี ไม่มีโอกาสพูดเท็จกับใคร หรือบางคนเวลาอยู่คนเดียวก็เว้นไม่ดื่มสุราได้ แต่พออยู่กับเพื่อนฝูงก็ต้องดื่มเสียนิดหน่อย เพื่อเป็นการสมานไมตรีอย่างที่พูดกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะรู้ได้ก็ต้องอาศัยกาลเวลา ต้องพิจารณา สังเกต และมีปัญญาจึงจะรู้ได้ว่าใครเป็นอย่างไร แล้วเรื่องความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ พระองค์ทรงหมายความว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ เรื่องความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ ก็เป็นเรื่องสำคัญของคำพูดที่แสดงให้รู้ถึงสภาพของจิตใจอีกนั่นแหละว่า เมื่อใจสะอาด คำพูดก็สะอาด และคำพูดที่สะอาดนั้นต้องเป็นคำพูดที่จริงบริสุทธิ์ ไม่พลิกแพลง ไม่หลอกลวง ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนที่พูดกับใครตัวต่อตัวอย่างหนึ่ง พูดกับ ๒ คนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกับ ๓ คนเป็นอย่างหนึ่ง และพูดกับมากคนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คำพูดอย่างนั้นไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์

    แต่คนที่ไม่ว่าจะพูดกับใคร ตัวต่อตัวเป็นอย่างไร เวลาพูดกับ ๒ คน ๓ คน หรือมากคนก็ยังเป็นอย่างนั้น คนนั้นก็มีถ้อยคำบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ

    คุณวันทนา เรื่องความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำนี่ก็เหมือนกันนะคะ จะต้องอยู่ร่วมกันนานๆ จึงจะรู้ได้ ถ้าหากว่าอยู่ด้วยกันเพียงเวลาเล็กน้อยก็คงจะไม่รู้ เพราะคนๆ เดียวกันนั้น ก็คงไม่พูดเรื่องรวมที่คลาดเคลื่อนไปเสียทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ได้ก็ต้องสังเกตพิจารณามีปัญญารู้ว่า เรื่องใดคลาดเคลื่อนเมื่อพูดกับคนหนึ่ง ๒ คน ๓ คน ๔ คน หรือมากกว่านั้น เพราะถ้าไม่พิจารณาก็ย่อมจะคิดว่า พูดถูกไม่คลาดเคลื่อนทุกเรื่องหมด ไม่ว่าจะพูดกับกี่คน ๑ คน ๒ คน ๓ คน เหล่านี้ และข้อที่ว่ากำลังใจพึงรู้ได้เมื่อมีอันตรายนั้นหมายถึงอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เวลาเสื่อมลาภ เสื่อมโภคทรัพย์ หรือเสื่อมเพราะโรคภัยต่างๆ ก็เศร้าโศกเสียใจ คร่ำครวญ ไม่พิจารณาความจริงที่ว่า ทุกชีวิตก็ย่อมประสบสิ่งต่างๆ หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘ คือ มีลาภ ๑ เสื่อมลาภ ๑ มียศ ๑ เสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑

    คนที่ไม่มีกำลังใจที่เข้มแข็งมั่นคงย่อมโศกเศร้าเสียใจ แต่คนที่มีกำลังใจมั่นคงเข้มแข็งนั้น เมื่อประสบอันตรายคือความเสื่อมลาภ เสื่อมโภคทรัพย์ หรือเสื่อมเพราะมีโรคภัยเบียดเบียน ก็พิจารณาความจริงของโลกธรรม ๘ ได้ ไม่หวั่นไหว ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กำลังใจนั้นรู้ได้เมื่อประสบภัยอันตรายหรือความเสื่อมต่างๆ

    คุณวันทนา ในเรื่องของโลกธรรม ถ้าหากเราไม่ได้ศึกษาพระธรรมโอวาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว เราก็ไม่มีวันจะทราบได้ง่ายๆ เลยว่า โลกธรรมเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ ผู้มีลาภก็ต้องมีการเสื่อมลาภ ผู้มียศก็ต้องมีการเสื่อมยศ ผู้ได้รับสรรเสริญก็ต้องถูกนินทา ผู้มีสุกก็ต้องมีทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แต่ถึงแม้จะรู้ได้ด้วยการศึกษาพระธรรมโอวาทว่า ลาภกับการเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน แต่เมื่อถึงคราวประสบกับการเสื่อมลาภเข้าจริงๆ ก็คงจะเป็นเรื่องยากอยู่ที่จะเศร้าโศก ไม่หวั่นไหว แต่การได้รู้ความจริงของชีวิตไว้ล่วงหน้าก็ยังดีกว่า เพราะมีประโยชน์ที่จะช่วยให้ไม่ต้องทุกข์นานจนเกินไป เพราะว่าความทุกข์ความเศร้าโศกนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย ซ้ำรายคนที่มีทุกข์ทางใจมากๆ อาจจะเป็นเหตุให้ป่วยไข้หรือมีโรคอื่นแทรกได้ ซึ่งก็เป็นการทำตนเองให้เดือดร้อน ควรที่จะได้อาศัยความรู้ความเข้าใจพระธรรมน้อมนำให้เข้มแข็ง และมีกำลังใจขึ้น แล้วข้อที่ว่าปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนาล่ะคะ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่ายังไง

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงว่า คนที่มีปัญญานั้นเวลาที่สนทนากับใคร ก็สามารถที่จะรู้ความลึกซึ้งของปัญญาของผู้ที่สนทนาด้วยได้ จากการถามปัญหาหรืออ้างบทธรรมที่ลึกซึ้ง สงบ ประณีต ละเอียด ที่สามัญชนเข้าไม่ถึง แต่ท่านผู้นั้นสามารถจะบอก สามารถแสดง สามารถบัญญัติ สามารถเปิดเผยจำแนก กระทำเนื้อความให้ตื้น ให้ชัดเจน ทั้งโดยย่อ และโดยละเอียดได้ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงรู้ได้จากการสนทนากัน เพราะว่าถ้าเพียงแต่เห็น และไม่ได้สนทนากัน ก็จะรู้ไม่ได้เลยค่ะว่าใครมีปัญญามากน้อยแค่ไหน

    คุณวันทนา จากการสนทนาในวันนี้ ก็คงจะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาลักษณะสภาพของวาจา ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านบ้าง ให้สมกับที่พระองค์ได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ