บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๘

    บุญญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐ ทิฏฐุชุกรรม

    ปัญญา ๓ การแผ่อุทิศส่วนกุศล


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ หากว่าท่านผู้ฟังจะย้อนระลึกถึงประสบการณ์ในชีวิตของท่านเองนะคะ ท่านก็อาจจะรู้สึกว่าในชีวิตประจำวันที่เราต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นนี่ค่ะ ความสุขความแช่มชื่นใจส่วนหนึ่งของเรานั้นสืบเนื่องมาจากญาติมิตรสหาย และคนอื่นมาเกี่ยวข้องกับตัวเราด้วย เช่น ตัวอย่างง่ายๆ ที่ดิฉันจะลองยกมาให้เห็น ก็เป็นต้นว่า บางครั้งท่านอาจจะมีญาติมิตรสนิทหรือเพื่อนสนิทที่จากกันเป็นแรมๆ ปีทีเดียว จู่ๆ เขาผู้นั้นก็แวะมาเยี่ยมท่านที่บ้าน และจุดประสงค์ของการมานั้นก็ไม่มีสิ่งอื่นใดยิ่งไปกว่าน้ำใจไม่ตรี และความระลึกถึง ท่านผู้ฟังจะระลึกอย่างไรคะ หากว่าท่านจะเป็นฝ่ายได้รับน้ำใจไมตรีจากญาติมิตรเช่นนี้ หรือว่าบางครั้งท่านอาจจะได้รับของฝากของกำนัลจากญาติมิตรโดยมิได้คิดมาก่อนเลย แต่ของฝากของกำนัลเหล่านี้ท่านก็ได้รับ เพราะมีญาติมิตรที่ระลึกถึง และปรารถนาที่จะให้ความสุขความชุ่มชื่นใจแก่ท่าน และหากว่าท่านเป็นผู้ให้ความสุขความชุ่มชื่นใจแก่มิตรสหายของท่านบ้าง ดิฉันก็เชื่อว่าความสุขความชุ่มชื่นใจในฐานะเป็นผู้ให้ก็คงจะบังเกิดแก่จิตใจของท่านผู้ให้ไม่น้อยเลย นี่แหละค่ะ คือตัวอย่างง่ายๆ ที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นว่าบางครั้งความสุขความแช่มชื่นใจของเราก็เกิดจากการประพฤติการปฏิบัติระหว่างเรา และผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา เกิดจากการเป็นผู้รับ และผู้ให้ตามกาลสมควร นอกจากการให้จะเป็นการเชื่อมไมตรีระหว่างกันแล้ว ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงว่า ทานการให้เป็นกุศลกรรมที่ควรเจริญประการหนึ่ง เพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข ในเรื่องการเจริญกุศลนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกุศลขั้นต่างๆ ไว้ตามความสามารถของผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ เช่น เรื่องการให้ทานนั้น ผู้ที่มีวัตถุปัจจัย และมีศรัทธา ก็เจริญทานกุศลได้ตามกำลังฐานะ และศรัทธา ส่วนผู้ที่ขัดข้องทางวัตถุปัจจัย ก็ใช่ว่าจะหมดโอกาสที่จะเจริญกุศลเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสของตน ซึ่งในเรื่องนี้ดิฉันใคร่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ค่ะว่า กุศลที่ไม่ใช่การสละวัตถุให้ผู้อื่น ที่ไม่ใช่ทานน่ะค่ะ ก็มีใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ เพราะคำว่า กุศลหมายถึงจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นขณะใดขณะนั้นก็เป็นกุศล

    คุณวันทนา หรือคะอาจารย์ เดี๋ยวดิฉันจะลองย้อนระลึกถึงตัวเองดูก่อนว่า ขณะไหนบ้างที่ความรู้สึกดีงามเกิดขึ้น มีบางครั้งค่ะอาจารย์ เพื่อนของดิฉันคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าที่ข้างๆ บ้านของเขา มีครอบครัวที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง พ่อเจ็บหนักเป็นอัมพาต เหลือแต่แม่ซึ่งก็ต้องพยายามทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูกพยุงฐานะของครอบครัว และได้มาก็น้อยมากเชียวค่ะ เพื่อนของดิฉันคนนี้ค่ะ เขาก็ได้พยายามช่วยเหลือให้ข้าวสุก ข้าวสาร หยูกยา แล้วก็พยายามแนะนำให้พ่อบ้านไปหาหมอหาพระ ฟังแล้วก็เกิดอนุโมทนาว่า เขาได้ทำสิ่งที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ยังงี้ก็ชื่อว่ากุศลจิตเกิดแล้วแก่ดิฉันซิคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรมต่างๆ ก็เป็นกุศลแล้วค่ะ เช่นรู้ว่า อะไรดีอะไรชั่ว รู้ว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี และรู้ว่าความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ความไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที เหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม รู้อย่างนี้ขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นกุศลค่ะ

    คุณวันทนา ฟังอาจารย์อธิบายแล้วก็รู้สึกว่ากุศลนั้นเกิดไม่ยากเลยนะคะ เพียงแต่พยายามประคับประคองจิตใจให้ดีงาม หรือรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อย่างนี้ก็เป็นกุศลแล้ว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คนที่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้มากกว่าคนที่ไม่รู้ และก็ไม่ต้องคอยเวลาที่จะเจริญกุศลด้วย

    คุณวันทนา แต่ทว่าอาจารย์คะ ก็มีข้อน่าสงสัยค่ะ ในเรื่องของความดีความชั่ว เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครรู้ว่าเป็นของไม่ดี และก็ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ทุกคนก็รู้ว่าเป็นของดี แต่แม้กระนั้นแล้วการทำสิ่งไม่ดี จิตใจที่ไม่ดีก็ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะการรู้อย่างนั้นยังมีกำลังน้อย การรู้อย่างนั้นจึงเกิดน้อยกว่ากิเลสที่เป็นธรรมฝ่ายอกุศล คุณวันทนาลองคิดดูซิคะว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดภายในร่างกาย และจิตใจของเราเอง และที่เกิดภายนอกตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย ความพอใจความไม่พอใจอยู่เสมอ สภาพธรรมใดเกิดบ่อยๆ สภาพธรรมนั้นก็ย่อมมีกำลังมากกว่าสภาพที่นานๆ จึงเกิดขึ้น ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพิจารณาให้รู้แน่ชัดเสียก่อนว่า อะไรดีอะไรชั่ว เมื่อเข้าใจ และรู้ชัดแน่แล้วก็จะต้องเพียรอบรมเจริญความดีซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น ให้มีกำลังสามารถที่จะขจัดขัดเกลากิเลสอกุศลให้เบาบางลงได้

    คุณวันทนา วิธีขจัดขัดเกลาอกุศลนี่มีแน่นะคะ อาจารย์ และก็เห็นจะได้แก่บุญญกิริยาวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแป่งการเจริญกุศลที่ขัดเกลากิเลสซึ่งก็ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ทานศีล ภาวนา เป็นหลักใหญ่ของการเจริญกุศลเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส เป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยละเอียด บุญญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ

    คุณวันทนา บุญญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ถ้าอย่างนั้นเราก็มีโอกาสเจริญกุศลมากกว่าบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ซิคะ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าบุญญกิริยาวัตถุจะมี ๑๐ แต่ก็จัดรวมอยู่ในบุญญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนานั่นเอง เพราะว่าเกี่ยวเนื่องกัน ทาน ศีล ภาวนาเป็นหลักใหญ่ และกุศลอื่นๆ ก็สงเคราะห์เป็นทาน ศีล ภาวนาได้ค่ะ

    คุณวันทนา ที่อาจารย์ว่าความคิดถูกความเข้าใจถูกว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างรู้ว่าโลภะ โทสะ เป็นสิ่งไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดี การรู้อย่างนี้เป็นกุศลประเภทไหนในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ คะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลประเภททิฏฐุชุกรรมค่ะ

    คุณวันทนา แหม กุศลประเภทนี้ไม่เคยได้ยินเลยค่ะอาจารย์ ชื่อก็จำยาก แต่ว่าถ้าได้รู้คำแปลหรือความหมายแล้ว ก็คงพอจะจำได้นะคะ อาจารย์ช่วยกรุณาบอกคำแปล และความหมายของคำๆ นี้หน่อยซิคะ

    ท่านอาจารย์ คำว่า ทิฏฐุชุกรรม เป็นคำรวมของคำว่า ทิฏฐิ อุชุ และคำว่า กรรม ทิฏฐิแปลว่าความเห็น อุชุแปลว่าตรง กรรมแปลว่าการกระทำ เพราะฉะนั้นกุศลประเภทนี้ก็เป็นการกระทำความเห็นให้ถูกต้องต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งความเห็นที่ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็มีหลายขั้นหลายระดับ

    คุณวันทนา ความจริงคำว่า อุชุ นั้น ดิฉันคิดว่าถ้าท่านผู้ฟังไม่ลืมคงจะจำได้นะคะ ว่า ถ้าท่านไม่กล่าวคำนี้ด้วยตัวของท่านเองทุกๆ คืนก่อนนอน ท่านก็คงเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ ในบทสวดพระสังฆคุณที่ว่า อุชุ ปฏิปันนโน สาวกสังโฆ ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระสงฆ์สาวกที่ท่านปฏิบัติตรง ไม่เป็นผู้หลอกลวงคดโกง ทั้งกาย วาจา ใจ อาจารย์ว่ากุศลที่เป็นทิฏฐุชุกรรมมีหลายขั้นหลายระดับ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ความเห็นถูกมีหลายขั้น กุศลจิตก็ต้องมีหลายขั้นตามความเห็นถูกแต่ละขั้น

    คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบเรื่องความเห็นถูกขั้นต่างๆ นี้สักหน่อย ได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ ความเห็นถูกว่าอะไรดี อะไรชั่ว เช่นเห็นว่าการพูดไม่จริงเป็นสิ่งที่ไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที เป็นต้น เป็นสิ่งที่ดี ความเห็นถูกอย่างนี้ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง และความเห็นถูกว่าควรจะขจัดขัดเกลากิเลสด้วยการให้ทานเพื่อเปลื้องความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุออกเสียบ้าง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่าควรเป็นผู้มีศีล เว้นทุจริตทางกาย วาจา ซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลง นี่ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่าควรเจริญความสงบระงับกิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่าควรเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสให้หมดสิ้นก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง

    คุณวันทนา ถ้ารู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แล้วรู้ต่อไปว่าอะไรควรจะละเว้น อะไรควรจะประพฤติ เมื่อรู้อย่างนี้เป็นกุศลจิตแล้วละก็ คนที่ใคร่จะเจริญกุศลก็ต้องหมั่นพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีชั่วของสภาพธรรมนั้นๆ ให้มากขึ้น ใช่ไหมคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าต้องการเจริญกุศลประเภทนี้นะคะ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ลักษณะที่ดี ลักษณะที่ชั่วของธรรมแต่ละชนิดให้ละเอียดมากขึ้น และให้รู้แน่ชัดมากขึ้นด้วย และเมื่อไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ดีที่ชั่วของธรรมแต่ละชนิดได้ด้วยการคิดไตร่ตรองของเราเอง ก็จะต้องอาศัยการฟังหรือศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นในบางแห่ง เช่นในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตรหมวด ๓ ก็แสดงปัญญา ๓ ไว้เป็นลำดับคือ

    ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด

    ๒. สุตามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง

    ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม

    คุณวันทนา อาจารย์คะ บุญญกิริยาวัตถุข้อทิฏฐุชุกรรมนี่ค่ะ จะสงเคราะห์หรือรวมอยู่ในบุญญกิริยาวัตถุข้อไหนคะ คือในข้อของทานหรือในข้อของศีล หรือในข้อของภาวนา

    ท่านอาจารย์ สงเคราะห์อยู่ในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ หรือในภาวนาก็ได้ เพราะว่าบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น เป็นบุญญกิริยาวัตถุประเภททาน ๓ ประการ เป็นบุญญกิริยาวัตถุประเภทศีล ๓ ประการ เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนา ๓ ประการ รวมเป็น ๙ นะคะ ส่วนทิฏฐุชุกรรมอีกหนึ่งรวมอยู่ในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ ในภาวนาก็ได้ แล้วแต่ว่าทิฏฐุชุกรรมขณะนั้นจะเป็นไปในทางใด

    คุณวันทนา อาจารย์คะ สำหรับเรื่องบุญญกิริยาวัถตุ ๑๐ นี่ฟังๆ ดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียวนะคะ เพราะว่าผู้ที่ใคร่ในการเจริญกุศลนั้น ถ้าหากว่าไม่รู้เรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ เอาเสียเลย ก็ไม่มีทางจะทราบว่าการเจริญกุศลนั้นมีอะไรบ้าง อย่างเช่นเรื่องทิฏฐุชุกรรม เป็นต้น อาจารย์คงจะพูดถึงบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้แต่ละข้อๆ ด้วย ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ สำหรับเรื่องทิฏฐุชุกรรมซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๑ ใน ๑๐ ประการนั้นนะคะ คุณวันทนาก็คงจะเข้าใจแล้วว่า เวลาที่มีทิฏฐุชุกรรม ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมแต่ละชนิด ก็ย่อมเป็นเหตุให้เจริญกุศลอื่นๆ มากยิ่งขึ้นด้วย เช่น เมื่อรู้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่ดีงาม ก็จะทำให้รังเกียจการพูดเท็จ การหลอกลวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย เมื่อรังเกียจความชั่วก็ย่อมละความชั่ว เจริญความดีบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชินเป็นอุปนิสัยที่ดีงาม เช่นทานุปสัย อุปนิสัยในการให้ทาน สีลุปนิสัย อุปนิสัยในการรักษาศีล ภาวนุปนิสัย อุปนิสัยในการเจริญอบรมความสงบ และปัญญาเป็นลำดับ

    คุณวันทนา ธรรมแต่ละชนิดดูจะสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยแก่กันทุกอย่างเลยเชียวนะคะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏล้วนมีเหตุมีปัจจัยทั้งสิ้น อย่างเช่นอุปนิสัยที่ดี และอุปนิสัยที่ชั่ว ในครั้งก่อนเราได้เคยพูดกันถึงเรื่องทาน และกุศลที่เกี่ยวเนื่องกับทานไปแล้ว ซึ่งก็คงจะเป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ประการในประเภทของทาน ใช่ไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คราวก่อนเราได้พูดถึงเรื่องกุศลจิตที่เป็นไปในทาน คือการสละทรัพย์สินหรือวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และก็ได้พูดถึงกุศลจิตที่เป็นปัตติทาน คือการแผ่อุทิศส่วนกุศลทีได้บำเพ็ญแล้วให้ผู้อื่นรู้ และอนุโมทนาด้วย และก็ได้พูดถึงกุศลจิตที่เป็นปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนายินดีด้วยในการบำเพ็ญกุศลของผู้อื่น บุญญกิริยาทั้ง ๓ คือ ทาน ปัตติทาน และปัตตานุโมทนานั้นสงเคราะห์รวมเป็นทานมัย คือเป็นบุญที่สำเร็จด้วยการบริจาคซึ่งเป็นการให้

    คุณวันทนา เราได้พูดกันไปแล้วถึงทิฏฐุชุกรรม ๑ ทาน ปัตติทาน และปัตตานุโมทนา อีก ๓ รวมเป็น ๔ ฉะนั้นก็ยังมีบุญญกิริยาวัตถุอื่นอีก ๖ ซึ่งเป็นศีล ๓ ภาวนา ๓ ที่เรายังไม่ได้พูดถึง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าบุญญกิริยาที่ยังไม่ได้พูดถึงนั้น เอาไว้พูดในคราวต่อไปดีไหมคะ วันนี้คุณวันทนามีข้อข้องใจหรือมีอะไรที่อยากจะคุยกันบ้างไหมคะ

    คุณวันทนา ยังมีเรื่องปัตติทาน และปัตตานุโมทนาอีกหน่อยคะ คือว่า ปัตติทานการแผ่อุทิศส่วนกุศลที่บำเพ็ญแล้วให้ผู้อื่นได้รู้ และอนุโมทนาด้วยนั้น เราจะแผ่ให้กับคนที่มีชีวิตอยู่หรือให้แก่คนที่ตายไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ได้ทั้งสองอย่าง การแผ่อุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วให้ผู้อื่นรู้ และอนุโมทนานั้นเป็นกุศล เพราะผู้ที่ทำกุศลแล้วยังมีกุศลเจตนาต่อไปที่จะให้คนอื่นได้รู้ และเกิดกุศลอนุโมทนาด้วย

    คุณวันทนา แต่ถ้าคนที่เขารู้แล้ว ไม่อนุโมทนาล่ะคะ จะเป็นกุศลไหม

    ท่านอาจารย์ กุศลอยู่ที่เจตนา คนที่แผ่อุทิศส่วนกุศลก็มีกุศลเจตนาขณะที่แผ่อุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นรู้ คนที่ไม่อนุโมทนา ไม่ชื่นชมในการกระทำความดีของคนอื่น จิตของคนที่ไม่อนุโมทนาก็ไม่ใช่กุศล

    คุณวันทนา แล้วสำหรับคนที่ตายไปแล้วล่ะคะ เราจะแผ่อุทิศส่วนกุศลไปให้เขาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาทำบุญกุศลเสร็จแล้ว เราก็ตั้งใจอุทิศแผ่ส่วนกุศลไปให้ค่ะ อย่างที่คุณวันทนาเคยเห็นคนกรวดน้ำ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ ยังเคยสงสัยอยู่เลยค่ะว่า ทำไมต้องกรวดน้ำด้วย จะตั้งใจแผ่อุทิศส่วนกุศลไปให้เฉยๆ โดยไม่ต้องกรวดน้ำไม่ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ การที่กรวดน้ำด้วยก็เพื่อให้จิตใจมั่นคง ไม่วอกแวก และเป็นการอุทิศให้ด้วยกาย วาจา ใจ บางครั้งที่ไม่มีการกรวดน้ำ อย่างเวลาฟังธรรมหรือแสดงธรรมเสร็จแล้ว ก็มีการแผ่อุทิศส่วนกุศลให้ ในขณะที่แผ่อุทิศส่วนกุศลให้ก็ประณมมือด้วย ซึ่งก็เป็นการอุทิศแผ่ส่วนกุศลให้ด้วยความนอบน้อม และก็ทั้งกาย วาจา ใจ ด้วย

    คุณวันทนา คนที่ตายไปแล้วจะมีโอกาสรู้ และอนุโมทนาได้ทุกคนไหมคะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าตายแล้วเกิดที่ไหน ถ้าเกิดในที่ซึ่งไม่ใช่ฐานะที่จะรู้ได้ก็ไม่รู้ และไม่ได้อนุโมทนา เช่นเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่ได้ค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้การสนทนาของเราก็ได้ดำเนินมาด้วยเวลาสมควรแล้วจึงขอยุติลงด้วยเวลาเท่านี้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ