บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒๖

    การแสดงธรรม สัทธรรม

    สังโยชน์ สังโยชนียธรรม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ หากว่าท่านผู้ฟังจะสำรวจความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของท่านแต่ละวันๆ ก็จะเห็นได้ทีเดียวว่า เวลาที่ล่วงไปๆ แต่ละขณะนั้นไม่ได้ล่วงไปเปล่าๆ แต่ก็ได้ล่วงไปพร้อมกับความรู้สึกยินดียินร้ายที่เกิดสืบต่อเนื่องกัน เกิดสลับซับซ้อนกันมากน้อยแล้วแต่เหตุ ท่านที่รักสวยรักงาม ช่างซื้อ ช่างหา ก็จะเห็นได้ง่ายทีเดียวว่า สีสันความงามของผ้าผ่อนแพรพรรณ ความวิจิตรงดงามของเพชรพลอยเครื่องประดับ และวัตถุเครื่องใช้ของใช้ต่างๆ นั้น ทำให้เกิดความนิยมยินดี ใคร่จะได้ ใคร่จะซื้อมาเป็นสมบัติ สิ่งเหล่านี้นำความสุข ความชื่นใจมาสู่ชีวิตก็จริงอยู่ น็น็

    แต่ในขณะเดียวกันก็ได้พอกพูนความยึดความติด ซึ่งถ้าบุคคลใดปราศจากหลักใจที่จะควบคุมหรือจำกัดความต้องการของตัวเองแล้ว ก็อาจจะเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรมเพื่อได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้

    ท่านผู้ฟังเคยคิดบ้างไหมคะว่า ธรรมดาของคนที่มีกิเลส และพอกพูนกิเลสไว้มากๆ นั้นย่อมหมิ่นเหม่ต่อการทำทุจริตกรรม อันเป็นการเบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน ชีวิตของเรานี้มีแต่ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มาโดยตลอด เราต้องตกเป็นทาสของการแสวงหาเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นความจำเป็นของชีวิต เช่นปัจจัย ๔ และสิ่งซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่มีความจำเป็นแก่ชีวิตโดยแท้จริงเลย

    พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแสดงเรื่องทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ธรรมที่ดับทุกข์ และทางปฏิบัติไปสู่ธรรมที่ดับทุกข์ สำหรับเหตุแห่งทุกข์นั้นได้ทรงแสดงไว้ว่า โลภะคือความอยากนั่นเองเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าจะเปรียบความทุกข์เสมือนความมืด ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่ดับทุกข์ และทางดำเนินไปสู่ธรรมที่ดับทุกข์ ก็น่าจะเปรียบได้กับความสว่าง ผู้ที่จะสามารถนำชีวิตไปสู่ความสว่าง เป็นอิสระจากความทุกข์ และมลทินโทษทั้งปวงได้ ก็ด้วยการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ ซึ่งจะเสริมสร้างปัญญาความรู้สภาพธรรมในชีวิตเป็นลำดับโดยตลอด ตั้งแต่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การคิด และการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือดับทุกข์ได้ในที่สุด

    เมื่อครั้งที่แล้ว เราได้สนทนากันเรื่องการฟังธรรม ซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่งในหมวดภาวนา วันนี้เราก็จะได้สนทนากันต่อไปเรื่องธรรมเทศนา คือการแสดงธรรม ซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุอีกประการหนึ่ง ในหมวดภาวนา การแสดงธรรมนั้นย่อมคู่กันกับการฟังธรรม เพราะว่าถ้าไม่มีการแสดงธรรม การฟังหรือการศึกษาธรรม ก็ย่อมจะมีไม่ได้ อาจารย์คิดว่าเรื่องการฟังธรรม และการแสดงธรรม อย่างไหนจะยากกว่าหรือสำคัญกว่ากันคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่ยาก และสำคัญทั้งสองอย่าง เพราะว่าการฟังธรรม และการแสดงธรรมของพุทธบริษัทนั้น เป็นการศึกษาธรรม และแสดงธรรมตามสภาพของธรรมแต่ละประเภทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้อย่างละเอียดสุขุมมาก เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่ศึกษาหรือผู้ที่แสดงธรรมไม่พิจารณาอย่างรอบคอบก็อาจจะเข้าใจผิด และทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้ด้วย

    คุณวันทนา ดิฉันคิดว่าการเข้าใจธรรมผิดนั้นถ้าดูกันแต่เพียงผิวเผิน ก็ไม่น่าจะเห็นว่าเป็นอันตรายที่ตรงไหนนะคะ เพราะว่าคำสอนที่เป็นหลักธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นในพระพุทธศาสนาหรือในศาสนาอื่นๆ ต่างก็มุ่งสอนให้ศาสนิกประพฤติดีปฏิบัติดีกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจธรรมเบื้องสูงที่ละเอียดจริงๆ ผิดพลาดไปบ้าง ก็คงจะไม่ใช่โทษผิดร้ายแรงอะไร เพราะว่าเป็นของธรรมดาที่ธรรมที่ละเอียดสุขุม และยากแก่การที่จะพิจารณานั้น ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ข้อนี้อาจารย์มีความเห็นยังไงคะ

    ท่านอาจารย์ การเข้าใจธรรมผิดพลาดย่อมเป็นเหตุให้พระสัทธรรมลบเลือน และเสื่อมสูญไปในที่สุด

    คุณวันทนา อาจารย์กรุณาอธิบายความหมายของพระสัทธรรมก่อนได้ไหมคะ เพราะว่าคำนี้ท่านผู้ฟังก็คงได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ และคงจะสงสัยกันอยู่บ้างว่า พระสัทธรรมหมายถึงอะไร เพราะคำว่าธรรมในพระพุทธศาสนามีหลายอย่าง เช่น คำว่าปรมัตถธรรม โพธิปักขิยธรรม เป็นต้น สำหรับคำว่า “ธรรม” เราก็เคยพูดกันมาแล้ว และดิฉันก็ยังพอจำได้ว่า หมายถึงสภาพธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่มีจริง คำว่า ”พระธรรม” นั้นก็ได้แก่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งได้ทรงแสดงสภาพธรรมทั้งหลายไว้โดยละเอียดตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ นอกจากนั้นก็ยังมีคำว่า “ธรรมรัตนะ” ซึ่งในตอนนี้ดิฉันขอให้อาจารย์อธิบายความหมายของคำว่า “สัทธรรม” ก่อนค่ะ เพราะว่าอาจารย์บอกว่าการเข้าใจธรรมผิดพลาดจะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อม

    ท่านอาจารย์ คำว่า “สัทธรรม” เป็นคำรวมของคำว่า ส + ธมม ส มาจากคำว่า “สันติ” ซึ่งแปลว่า “สงบ” สงบในที่นี้ก็หมายถึงสงบจากกิเลส คือดับกิเลสนั่นเอง เพราะฉะนั้น “สันติธรรม” หรือ “สัทธรรม” ก็คือธรรมของผู้สงบคือผู้ดับกิเลส โดยอรรถ คำว่า สัทธรรม คือธรรมของผู้สงบ ผู้ดับกิเลสนั้น หมายรวมถึงธรรมที่ทำให้บรรลุความเป็นบุคคลผู้สงบกิเลส ผู้ดับกิเลสด้วย

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้นอย่างที่อาจารย์ว่า การเข้าใจธรรมผิดพลาดจะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ธรรมขั้นศีลธรรมหรือขั้นหลักที่ชาวโลกประพฤติปฏิบัติในขั้นที่ดีงามเปลี่ยนไป แต่หมายถึงว่าเป็นเหตุให้ธรรมขั้นสูงซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลลบเลือนไป ไม่สามารถที่จะบรรลุความเป็นพระอริยบุคคลได้ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดปัญญา รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลาย ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมาก นอกจากจะต้องศึกษาเหตุผลของข้อปฏิบัติให้เข้าใจถูกต้องแจ่มแจ้งก่อนแล้ว ในขณะที่เจริญสติรู้สึกตัวพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนเกิดความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาเปรียบเทียบให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นความละเอียดสุขุมของการเจริญปัญญา ในสังยุตตนิกาย มหาวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อัมพปาลีวรรคที่ ๑ สูทสูตร ข้อ ๗๐๔ - ๗๐๗

    คุณวันทนา พระองค์ทรงอุปมาว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงอุปมาว่า ผู้ที่อบรมเจริญปัญญานั้น ต้องฉลาดเฉียบแหลมในการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนกับพ่อครัวที่ฉลาดปรุงอาหารบำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยรสต่างๆ ซึ่งก็จะต้องสังเกตลักษณะ และรสของอาหารที่ต่างกันโดยละเอียดว่า อาหารใดรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง หวานจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง เฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง หรือจืดบ้าง เป็นต้น

    คุณวันทนา ข้อนี้ ผู้ที่ถนัดในการรับประทานก็คงเห็นได้ชัดนะคะ ว่า เพียงแต่เพิ่มหรือเติมอะไรลงไปนิดๆ หน่อยๆ ก็ทำให้รสอาหารเปลี่ยนแปลงไป ถ้าใครไม่ช่างสังเกตก็คงไม่ได้รสที่ต้องการหรอกนะคะ เพราะฉะนั้นอาหารจึงมีรสต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นอาหารชนิดเดียวกัน ซึ่งก็ย่อมจะอร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง ตามความสามารถของผู้ปรุง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาก็มีหลายขั้นตามความแยบคายของการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่นเดียวกันค่ะ

    คุณวันทนา ดิฉันจำได้ว่าอาจารย์เคยกล่าวถึงพระพุทธโอวาทที่ให้พุทธบริษัททั้งหมดพร้อมเพรียงกันประชุมรวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในคำเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์คือการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอริยบุคคลจะพึงเป็นไปตลอกาลนาน ถ้าอย่างนั้นการศึกษา และการแสดงธรรม ก็คงจะไม่ใช่หน้าที่ของภิกษุเท่านั้นซิคะ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น ละเอียดสุขุม และมากมายเหลือที่จะศึกษาให้เข้าใจได้ตลอดหมดค่ะ สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติธรรมคือการศึกษา ปฏิบัติธรรม คือการอบรมเจริญปัญญา และปฏิเวธธรรมคือการรู้แจ้งธรรม เพราะนอกจากจะได้ทรงแสดงธรรมเป็นอันมากโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษาแล้ว ธรรมที่ทรงแสดงนั้นก็ยังสุขุมลึกซึ้งโดยประเภทของธรรมนั้นๆ และความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมนั้นๆ อย่างละเอียดด้วย ถึงแม้ว่าพุทธบริษัทที่ฝักใฝ่ในธรรมจะได้ศึกษา และแสดงธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้มากสักเท่าไรๆ ก็ไม่จบสิ้น และอุปนิสัยของพุทธบริษัทก็ต่างกันตามที่ได้สะสมมาด้วย บางท่านก็มีอุปนิสัยเพียงเป็นอุบาสก อุบาสิกา บางท่านก็มีอุปนิสัยเป็นบรรพชิต บางท่านก็เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม และบางท่านก็ฝักใฝ่ในการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา บางท่านก็มีความสามารถในการชี้แจงหลักธรรมให้ผู้ฟังตั้งมั่นในศีลธรรม และสามารถที่จะย่อยธรรมให้เข้าใจเหตุผลโดยละเอียดที่ควรจะน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างน่าเลื่อมใสทีเดียว และบางท่านก็เปรื่องปราชญ์มากในพยัญชนะคือภาษาบาลี เพราะฉะนั้นตราบใดที่พุทธบริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการแสดงธรรม ตามความชำนาญ และความถนัดของแต่ละบุคคลในแต่ละด้าน ซึ่งอุปการะเกื้อกูลกัน และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาร่วมกัน ก็ย่อมจะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงตั้งมั่นอยู่ได้อีกนานทีเดียว

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ในสมัยพระพุทธกาล นอกจากพระภิกษุ ภิกษุณี แล้วสาวกที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นเลิศในทางตางๆ ก็น่าจะมี ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ อย่างท่านจิตตคฤหบดีแห่งมัชฌิกาสณฑ์ ก็เลิศกว่าอุบาสกด้วยกัน ในการเป็นธรรมกถึก และนางขุทชุตตรา ก็เลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาในทางพหูสูต

    คุณวันทนา ดูๆ ในสมัยโน้น ช่างพรั่งพร้อมไปด้วยพุทธบริษัทที่ทรงคุณประดับพระพุทธศาสนา และแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชวนให้น่าปีติเลื่อมใสเสียเหลือเกินนะคะ แต่ในครั้งนี้ นอกจากพุทธบริษัทจะขาดองค์สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นนาถของโลกแล้ว สภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปก็ยังทำให้พุทธบริษัทไม่พรั่งพร้อมด้วยผู้ทรงคุณอย่างในสมัยก่อนๆ สำหรับข้อนี้อาจารย์คิดว่าพวกเราจะทำยังไวกันดีคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงทราบแล้วนะคะ ว่า การที่พุทธบริษัทจะมีจิตศรัทธาตั้งมั่น และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็ต้องเป็นไปตามการศึกษา และเข้าใจธรรมของแต่ละบุคคล สมัยนี้ถึงแม้ว่าจะขาดพระภิกษุณี แต่พุทธบริษัทก็ยังมีพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งถ้าพุทธบริษัททั้ง ๓ นี้ อุปการะกัน และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม และการแสดงธรรมแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะดำรงตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้นานค่ะ

    คุณวันทนา ในสมัยพุทธกาลนั้น พุทธบริษัทก็คงจะพร้อมเพรียงกัน อุปการะกัน และช่วยกันเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ก็เป็นเรื่องของท่านจิตตคฤหบดีซึ่งท่านก็ได้ช่วยทำกิจของพระศาสนา ทั้งในการทำนุบำรุงพระภิกษุ และแสดงธรรมด้วย

    คุณวันทนา อาจารย์กรณุายกตัวอย่างสักสูตรหนึ่ง ในจิตตคฤหปติปุจฉาสังยุตต์ ให้ท่านผู้ฟังได้ฟังสักหน่อยไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในสัญโญชนสูตร ข้อ ๕๓๗ - ๕๔๐ มีข้อความโดยย่อว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกัน อยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ เมื่อภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้วก็นั่งประชุมสนทนกันด้วยเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม

    คุณวันทนา เดี๋ยวค่ะ อาจารย์คะ สังโยชน์ และสังโยชนียธรรมคืออะไรคะ

    ท่านอาจารย์ สังโยชน์ คืออกุศลธรรมที่ผูกพันบุคคลไว้ในสังสารวัฏฏ์ อกุศลธรรมนั้นมีมากมายหลายขั้นนะคะ ถึงแม้ว่า อกุศลธรรมขั้นอื่น เช่น นิวรณ์ ที่กลุ้มรุมจิตใจให้เร่าร้อนกระวนกระวายจะไม่เกิด แต่เมื่ออกุศลธรรมที่เป็นสังโยชน์ยังมีอยู่ ก็ย่อมจะผูกพันสัตวโลกให้ติดอยู่ในภพภูมิต่างๆ

    คุณวันทนา และสังโยชนียธรรมล่ะคะ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ สังโยชนียธรรม ก็คือธรรมที่เกื้อกูลอุปการะแก่สังโยชน์ และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของสังโยชน์

    คุณวันทนา ทั้งสังโยชน์ที่เป็นอกุศลธรรม และสังโยชนียธรรมที่เป็นธรรมเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ฟังดูก็ใกล้ชิด และเกี่ยวเนื่องกันทั้งชื่อ และความหมาย ภิกษุเถระทั้งหลายท่านสนทนากันเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรมว่ายังไงบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านสนทนากันว่าสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถ (ความหมาย) ต่างกัน มีพยัญชนะ (คำ) ต่างกัน หรือต่างกันเฉพาะคำหรือชื่อเท่านั้น ส่วนอรรถคือความหมายนั้นเป็นอย่างเดียวกัน

    คุณวันทนา ท่านก็สอบถามธรรมกันอย่างละเอียดอยู่เสมอทีเดียวนะคะ อาจารย์คะ อย่างเวลาที่มีมากๆ ทานด้วยกันอย่างนี้ คำตอบก็คงจะต่างกันไปด้วย แล้วจะเกี่ยวข้องกับท่านจิตตคฤหบดียังไงคะ

    ท่านอาจารย์ ตอนนั้น ท่านจิตตคฤหบดีไปที่บ้านส่วยชื่อมิคปถกะ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง และเมื่อได้ทราบว่าภิกษุเถระเหล่านั้นสนทนากันด้วยเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรแล้วก็กล่าวว่า ท่านได้ทราบว่า พระภิกษุเถระเหล่านั้นสนทนากันเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม และพระเถระเหล่านั้นพยากรณ์ต่างๆ กัน เมื่อพระเถระตอบว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว ท่านก็อธิบายว่า สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันด้วย และท่านก็ได้อุปมาให้ท่านพระเถระเหล่านั้นฟังด้วย

    คุณวันทนา ท่านอุปมาว่ายังไงคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านอุปมาว่าเปรียบเหมือนโคดำตัวหนึ่งกับโคขาวตัวหนึ่ง ผูกไว้ด้วยเชือกเส้นเดียวกัน จะกล่าวว่าโคดำติดกับโคขาว หรือโคขาวติดกับโคดำ ก็ไม่ถูก ใช่ไหมคะ เพราะว่าโค ๒ ตัวนั้นไม่ติดกัน เพียงแต่มีเชือกเส้นเดียวกันผูกไว้เท่านั้น เพราะเหตุนั้นเชือกที่ผูกนั้นจึงชื่อว่าเป็นเครื่องผูก

    คุณวันทนา โคดำ โคขาว และเชือก ได้แก่อะไรคะ

    ท่านอาจารย์ โคดำ โคขาว ก็ได้แก่ ตากับรูป เป็นต้นนะคะ ตาก็ไม่ติดกับรูป รูปก็ไม่ติดกับตา แต่ความพอใจคือสังโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตากับรูปนั้น ชื่อว่า เป็นเครื่องผูกหรือเครื่องติด ซึ่งก็อุปมาเหมือนเชือกที่ผูกโคดำกับโคขาวไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ตากับรูปก็เป็นสังโยชนียธรรม ส่วนความพอใจที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตากับรูป เป็นต้นนั้น ก็เป็นสังโยชน์ เพราะฉะนั้นทั้งสังโยชน์ และสังโยชนียธรรม จึงต่างกันทั้งอรรถ และพยัญชนะ

    คุณวันทนา เมื่อท่านจิตตคฤหบดีได้กล่าวถึงเรื่องสังโยชน์ และสังโยชนียธรรมพร้อมทั้งอุปมาแล้ว พระเถระทั้งหลายท่านรู้สึกยังไงบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ พระภิกษุเถระทั้งหลายท่านก็อนุโมทนาค่ะ ท่านกล่าวว่าการที่ปัญญาจักษุของท่านจิตตคฤหบดีหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งนั้น ชื่อว่าเป็นลาภของท่านจิตตคฤหบดีซึ่งท่านจิตตคฤหบดีได้ดีแล้ว

    คุณวันทนา สำหรับในคราวต่อไป อาจารย์คงกล่าวถึงพุทธบริษัทในสมัยพุทธกาล ที่ท่านได้พร้อมเพรียงกันอุปการะกันเผยแพร่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พวกเราในสมัยนี้ได้ช่วยกันทำนุบำรุงสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อๆ ไปอีกทุกๆ สมัย ตามความสามารถ และความชำนาญของแต่ละท่าน สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ