บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒๕

    การศึกษาพระไตรปิฎกทำให้เห็นพระคุณทั้ง ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคงไม่ลืมที่เราสนทนากันคราวก่อนเรื่องธัมมสวนะ ซึ่งเป็นบุญญกิริยาประการ ๑ ในบุญญกิริยาหมวดภาวนา และอาจารย์ได้พูดถึง “อนุตตริยะ” คือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ๖ ประการ อนุตตริยะข้อแรก คือ ทัสสนาอนุตตริยะ การเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลายนั้นหมายถึงอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ในอนุตตริยสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็กหรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดผู้ปฏิบัติผิด ทัสสนะคือการดูอย่างนั้นไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ยิ่ง ความสงบระงับ และไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับกิเลสด้วย แต่ส่วนคนที่มีศรัทธาตั้งไม่หวั่นไหว และมีความเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์ ก็ย่อมไปเพื่อเห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระองค์ เพราะเหตุว่าการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือสาวกของพระองค์นั้น ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อการดับทุกข์ และดับกิเลสด้วย

    คุณวันทนา สมัยนี้คงจะมีพุทธศาสนิกชนไม่น้อยเลยนะคะ ที่อยากจะเห็นพระพุทธเจ้า อยากจะได้เฝ้าพังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ก็หมดโอกาสเสียแล้ว เพราะพระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้วตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระธรรมไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ ถ้าคุณวันทนาอยากจะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณวันทนาจะทำยังไงล่ะคะ

    คุณวันทนา ก็ต้องศึกษาหรือฟังพระธรรมซินะคะ แต่ก็ยังสงสัยว่าการศึกษาหรือฟังพระธรรมนั้นน่ะ จะทำให้เห็นพระองค์ได้จริงๆ หรือคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเห็นพระรูปกาย หลังจากถวายพระเพลิงไปแล้วละก็ ไม่ได้แน่ค่ะ สมัยนี้จะเห็นได้ก็แต่พระบรมสารีริกธาตุส่วนตางๆ ที่ยังคงเหลืออยู่เท่านั้น แต่ว่าการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงแสดงว่า จะต้องเห็นธรรม เพราะเหตุว่าพระองค์ตรัสกับท่านพระวักกลิ ผู้ซึ่งเฝ้าติดตามดูพระองค์อย่างไม่ว่างเว้น ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เถรวรรคที่ ๔ วักกลิสูตร ข้อ ๒๑๖ ว่า “ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้จะมีประโยชน์อะไร ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา”

    คุณวันทนา การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้เห็นพระองค์ได้อย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นคุณวันทนาจะต้องเข้าใจว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเคารพกราบไหว้สักการะบูชานั้น คืออะไร หรือว่าได้แก่สภาพธรรมอะไรเสียก่อนค่ะ

    คุณวันทนา ก็เห็นจะได้แก่ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีทางที่จะเห็นพระคุณทั้ง ๓ ได้เลยใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา การศึกษาพระธรรมวินัย จะทำให้รู้พระคุณทั้ง ๓ ได้หรือคะ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมวินัยจัดรวบรวมไว้เป็น ๓ ปิฎก คือพระวินัยปิฎก ๑ พระสุตตันปิฎก ๑ และพระอภิธรรมปิฎก ๑ ถ้าจะกล่าวโดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ศึกษาพระวินัยปิฎก ย่อมเห็นพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส และละเว้นการประพฤติที่ไม่ดีงามไว้อย่างละเอียด และครบถ้วนทีเดียว

    คุณวันทนา อย่างที่กล่าวกันว่า พระวินัยปิฎกเป็นอารมณ์ของศีล ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าการศึกษาพระวินัย ทำให้เห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีงามที่ละเอียดยิ่ง และเมื่อเห็นโทษของสิ่งที่พระองค์ทรงให้ละเว้นแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดเลื่อมใสศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม และละเว้นสิ่งที่ไม่ดีงามซึ่งเป็นอารมณ์ของศีล

    คุณวันทนา และพระสูตรล่ะคะ ผู้ที่ศึกษาจะได้เห็นพระคุณส่วนไหนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ศึกษาพระสุตตันตปิฎก ก็ย่อมจะเห็นพระกรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงแก่ผู้ฟังนั้นย่อมมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง เพื่ออนุเคราะห์ผู้ฟังให้ได้รับประโยชน์ พระองค์มิได้ทรงหวังโทษให้เกิดแก่ผู้ฟังเลย ไม่ว่าผู้ฟังนั้นจะเป็นใครก็ตาม และถึงแม้ในขณะใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ก็ยังได้ทรงแสดงธรรมกับสุภัททปริพาชก ซึ่งดิฉันคิดว่าทุกคนก็คงทราบได้ชัดในพระมหากรุณาคุณของพระองค์

    คุณวันทนา แล้วที่พูดกันว่าพระสูตรหรือพระสุตตันตปิฎกนั้นเป็นอารมณ์ของสมาธิ จะเป็นได้อย่างไรคะ เพราะเหตุว่าเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อยเหลือเกินว่า พระวินัยนั้นเป็นอารมณ์ของศีล พระสูตรเป็นอารมณ์ของสมาธิ พระอภิธรรมเป็นอารมณ์ของปัญญา พระสูตรเป็นอารมณ์ของสมาธิได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าพระสูตรหรือพระสุตตันตปิฎก เป็นอารมณ์ของสมาธินั้น ก็เพราะเหตุว่าผู้ที่ศึกษาพระสูตรย่อมจะซาบซึ้งในความไพเราะของพระธรรมเทศนาที่สมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถพยัญชนะ และคำอุปมาที่ชัดเจน ความสละสลวยความจับใจของพระธรรมเทศนาที่ชัดเจนนั้น ย่อมทำให้ผู้ที่ศึกษาเกิดเลื่อมใส และปีติในธรรมที่สามารถทำให้จิตใจผ่องใส สงบระงับจากกิเลส เป็นสมาธิได้ในขณะที่ซาบซึ้งในรสพระธรรมหรือในขณะระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นต้น

    คุณวันทนา แล้วสำหรับพระอภิธรรมปิฎกล่ะคะ ผู้ที่ศึกษาจะได้เห็นพระคุณส่วนไหนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ สำหรับพระอภิธรรมปิฎก ผู้ที่ศึกษาก็ย่อมจะเห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ไว้อย่างละเอียดที่สุด เป็นการย่อยโลกทั้งหมดออกเป็นรูปธรรม และนามธรรม จนไม่เหลือส่วนที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลย

    คุณวันทนา ที่กล่าวกันว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นอารมณ์ของปัญญา หมายความว่าอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นอารมณ์ของปัญญา ก็เพราะเหตุว่าผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก ย่อมสามารถเข้าใจสภาพธรรมต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง โดยอาศัยการศึกษาเรื่องธรรมต่างๆ ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาไว้อย่างละเอียด

    คุณวันทนา เมื่อกี้อาจารย์ว่า ถ้ากล่าวโดยส่วนใหญ่ แต่ละปิฎกก็จะทำให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละส่วน ถ้ากล่าวรวมล่ะคะ ในปิฎกเดียวกันจะเห็นพระคุณทั้ง ๓ ของพระองค์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ เช่นในพระวินัยปิฎก นอกจากจะเห็นพระบริสุทธิคุณที่พระองค์ทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจา ไว้อย่างละเอียดแล้ว ก็ยังเห็นพระปัญญาคุณ ที่พระองค์ทรงตรัสรู้เหตุ และผลของการบัญญัติพระวินัยว่า ศีลแต่ละข้อนั้นเป็นเครื่องผูกที่มีกำลังที่ทำให้พระภิกษุมั่นคงอยู่ในพระศาสนาหรือพรหมจรรย์ได้อย่างไรบ้าง เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์มีความยินดีเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ เป็นเครื่องผูกไม่ให้ละไปสู่เพศบรรพชิตฉันใด บรรพชิตก็มีศีลเป็นเครื่องผูกไม่ให้ละมาสู่กามหรือเพศของคฤหัสถ์ฉันนั้น

    คุณวันทนา ในพระวินัยนี่นะคะ อาจารย์ จะทำให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นพระกรุณาคุณด้วยหรือคะ เพราะเหตุว่ารู้สึกว่ามองเห็นได้ยากเสียจริงๆ ดิฉันเคยได้ยินบางท่านวิจารณ์ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเบียดเบียนภิกษุให้เดือดร้อน ด้วยการบัญญัติสิกขาบทปลีกย่อยต่างๆ ที่ทำให้บางทานคิดว่ายากแก่การที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จะเห็นพระกรุณาคุณของพระองค์ในพระวินัยได้ยังไงคะ

    ท่านอาจารย์ พระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัตินั้น แต่ละข้อก็เพื่อให้สงฆ์ได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกทั้งสิ้น และในพระวินัยนั้นก็มีอนุบัญญัติ มีข้ออนุญาติ มีการผ่อนผัน และมีการปลงอาบัติ ซึ่งก็เป็นพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งว่า ธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ก็ย่อมจะประพฤติเป็นไปตามกำลังของกิเลสบ้าง ถ้าการกระทำนั้นไม่ผิดร้ายแรงเกินวิสัยของบรรพชิตแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติให้แก้ไขไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เป็นพระมหากรุณาคุณที่พระองค์ทรงเห็นว่า การที่บุคคลใดจะละเพศฆราวาสมาสู่เพศบรรพชิตนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายเลย

    คุณวันทนา สำหรับในพระสูตรนั้นก็คงจะทำให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นพระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณได้เช่นเดียวกันนะคะ เพราะเหตุว่าอย่างที่อาจารย์พูดไว้เมื่อกี้นี้ว่าจะเห็นพระคุณทั้ง ๓ ได้ในทุกๆ ปิฎก เพราะฉะนั้นในพระสูตรก็คงเห็นพระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณด้วย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ในพระสูตรนั้นนอกจากจะเห็นพระกรุณาคุณ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ให้ได้รับประโยชน์ตามควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟังแล้ว ก็ยังเห็นพระบริสุทธิคุณที่พระองค์มิได้ทรงหวั่นไหวเพราะคำสรรเสริญ คำนินทา ลาภ ยศ สักการะ เป็นต้นเลย ในทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ข้อ ๑ พระองค์ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายมิให้อาฆาต ไม่ให้โทมนัสขุ่นเคืองในคนที่กล่าวติ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือแม้แต่เวลาที่มีคนกล่าวชมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ไม่ควรที่จะดีใจ เหิมใจหรือลำพองใจ เพราะขณะนั้นๆ เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็จะเห็นแม้พระบริสุทธิคุณในพระธรรมเทศนาของพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนของพระสุตตันตปิฎกด้วย

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้นในพระสูตรก็คงไม่เป็นปัญหาเลยนะคะ ที่จะทำให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคด้วย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าพระธรรมเทศนาที่พระองค์ตรัสแสดงสภาพธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งเหตุ และผลของสภาพธรรมนั้นๆ ละเอียดชัดเจนไม่มีใครเทียบเท่าได้เลย คำอุปมาที่ไพเราะ และลึกซึ้งของสภาพธรรม และหลักธรรมต่างๆ ในพระธรรมเทศนาแต่ละอุปมานั้น ถึงจะมีคำอุปมาในสมัยหลังๆ ของคนในยุคหลังหรือคนในยุคนี้ ที่จะอุปมาให้เข้าใจสภาพธรรมต่างๆ ก็ไม่ไพเราะชัดเจนเทียบเท่าของพระองค์ได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา อย่างในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๕ มีข้อความอุปมาว่า “ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีที่ไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้น” นี่ก็เป็นอุปมาที่เห็นได้ง่าย แต่ถ้าจะให้ชัดเจนจริงๆ ละก็ จะต้องศึกษาให้รู้ว่า คนพาลมีลักษณะอย่างไร และธรรมที่คนพาลไม่สามารถที่จะรู้ได้นั้นเป็นอย่างไร จึงจะเข้าใจอุปมาข้อนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจารย์คะ สำหรับในพระอภิธรรมปิฎกนั้นก็จะทำให้ผู้ที่ศึกษาเห็นพระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณได้ด้วยหรือคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาศึกษาพระอภิธรรม และเข้าใจละเอียดแจ่มแจ้ง ก็ย่อมจะเห็นชัดในพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งปวงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้อย่างละเอียดยิ่งนั้นจะเกิดจากการตรึกตรองตามความคาดคะเนของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ไม่ได้เลย สภาพธรรมทั้งปวงที่ละเอียดสุขุมอย่างยิ่งนั้น จะรู้แจ้งได้ละเอียดทั่วถึงหมดสิ้น ก็เฉพาะผู้ที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส และทรงปัญญาขั้นสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    คุณวันทนา ในพระอภิธรรมปิฎกนี้นะคะ ผู้ศึกษาจะได้ห็นพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาที่ได้รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎกนั้น ยิ่งพระองค์ทรงแสดงไว้ละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ที่จะให้พุทธบริษัทเข้าใจแจ่มแจ้ง และรู้ทั่วถึงในธรรมเหล่านั้นมากเท่านั้นค่ะ เพราะเหตุว่าการที่สาวกจะรู้ทั่วถึงธรรมได้มากน้อยเท่าไรนั้น ก็ต้องแล้วแต่พระมหากรุณาคุณที่พระองค์จะทรงแสดงเทศนาสภาพธรรมทั้งหลายไว้อย่างละเอียด และสุขุมเพียงไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมบางอย่างสาวกก็รู้ไม่ได้ และการที่สาวกแต่ละท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมมากน้อยต่างกันเท่าไรนั้น ก็ต้องแล้วแต่ภูมิปัญญาของสาวกแต่ละท่านด้วย

    คุณวันทนา พระมหากรุณาคุณของพระองค์ที่มีต่อสาวก มากมายสุดจะพรรณนาทีเดียวนะคะ อาจารย์ ไม่เหมือนพวกเราซึ่งเป็นสาวกด้วยกันนี้ แม้ว่าจะมีความปรารถนาดีต่อกัน มีเมตตาต่อกันสักเพียงไรก็ตาม ถ้าคนใดคนหนึ่งได้ไปศึกษาธรรมแล้วนำมาเล่าสู่เพื่อนฝูงที่ยังไม่เคยฟังให้ได้รับฟัง บางครั้งถ้าเพื่อนฟังอย่างจำใจ ผู้เล่าก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดหวัง ไม่พอใจที่ผู้ฟังไม่สนใจ หรือไม่เห็นความสำคัญของธรรมที่อุตส่าห์เล่าให้ฟัง การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเข้าใจพระคุณทั้ง ๓ ในแต่ละปิฎกได้ หรือแม้แต่การที่จะรู้พระคุณของพระองค์ในปิฎกใดปิฎกหนึ่ง ก็เห็นจะไม่ใช่ทุกๆ คนหรอกนะคะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะรู้พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นนะคะ ต้องศึกษาพระธรรมวินัย จึงจะเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มากน้อยตามส่วนที่เข้าใจพระธรรมวินัยนั้นๆ ซึ่งเมื่อศึกษาพิจารณาเข้าใจแล้ว ก็ย่อมจะเห็นพระพุทธคุณทั้ง ๓ ของพระผู้มีพระภาคในทั้ง ๓ ปิฎกได้ค่ะ ถ้าศึกษาในปิฎกใดปิฎกหนึ่งก็จะเข้าใจในพระคุณที่ปรากฏเป็นส่วนใหญ่ในปิฎกนั้นๆ เช่น เมื่อศึกษาพระวินัยปิฎกก็ย่อมจะเห็นพระบริสุทธิคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อศึกษาพระสุตตันตปิฎก ก็ย่อมจะเห็นพระมหากรุณาคุณเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะยังไม่เข้าใจชัดในพระปัญญาคุณ เท่ากับที่ได้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก และเมื่อศึกษาแล้วเข้าใจในพระปัญญาคุณแล้ว ย่อมจะเห็นพระคุณทั้ง ๓ ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ด้วย

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็จะไม่มีโอกาสเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมจะไม่เห็นสิ่งซึ่งเป็นทัสสนานุตริยะเลย สวนานุตริยะล่ะคะได้แก่อะไร

    ท่านอาจารย์ สวนานุตตริยะ การฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลายนั้น ก็คือการฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือสาวกของพระองค์ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า บางคนก็ไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับหรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ บ้าง ไปฟังธรรมของสมณะพราหมณ์ ผู้ซึ่งเห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง การฟังเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สวนานุตตริยะ แต่ส่วนคนที่มีศรัทธา มีความเลื่อมใสนั้นก็ย่อมไปฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือสาวกของพระองค์ ซึ่งเป็นการฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย เพราะว่าการฟังนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความหมดจดจากกิเลส

    คุณวันทนา แล้วอนุตตริยะข้อ ๓ คือ ลาภานุตตริยะ ล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ได้แก่ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมั่นคงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกของพระองค์ เพราะเหตุว่าการได้ลาภ คือบุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้างน้อยบ้าง ก็เป็นของธรรมดาซึ่งหมดสิ้น พลัดพรากแตกทำลายไปได้ แต่การที่จะได้ศรัทธาที่มั่นคงไม่หวั่นไหวในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหมดจดจากกิเลส เพราะฉะนั้นก็เป็นการได้ลาภที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ลาภทั้งหลาย

    คุณวันทนา แล้วสิกขานุตตริยะล่ะคะ ได้แก่อะไร

    ท่านอาจารย์ สิกขานุตตริยะ การศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลายนั้น ก็ได้แก่การศึกษาที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ซึ่งก็ได้แก่ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาในธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการศึกษาด้วยการปฏิบัติเพื่อเจริญปัญญา ละกิเลสให้หมดสิ้น จึงจะเป็นสิกขานุตตริยะ เพราะเหตุว่าการศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ หรือความรู้ต่างๆ จากสมณพราหมณ์ ผู้ซึ่งเห็นผิดปฏิบัตินั้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สิกขานุตตริยะ

    คุณวันทนา แล้วปาริจริยานุตตริยะล่ะคะ การบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ได้แก่อะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ได้แก่การบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือสาวกของพระองค์ค่ะ เพราะว่าการบำรุงคนอื่น คือคนที่เห็นผิดปฏิบัติผิด ไม่ยอดเยี่ยมเท่ากับการมีศรัทธาไม่หวั่นไหว และมีความเลื่อมใสบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์

    คุณวันทนา และประการสุดท้าย คืออนุสสตานุตริยะ การระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการะระลึกถึงทั้งหลายนั้นได้แก่อะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ได้แก่การะระลึกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกของพระองค์ค่ะ เพราะว่าการนึกถึงบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการระลึกถึงสมณพราหมณ์ผู้ที่เห็นผิด ปฏิบัติผิด ไม่ใช่อนุตตริยะ แต่ว่าผู้ที่มีศรัทธาไม่หวั่นไหว และมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งนั้น ก็ย่อมจะระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์ ซึ่งเป็นการระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าระลึกถึงสิ่งอื่นหรือผู้อื่นทั้งสิ้น

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ถ้าท่านสังเกตก็จะเห็นได้ว่านะคะ ว่า อนุตตริยะแต่ละข้อนั้นได้แก่ศรัทธา ที่มั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย และการที่จะมีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหวในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกได้นั้น ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยคือการศึกษา และฟังพระธรรมของพระองค์

    สำหรับวันนี้ ขอยุติการสนทนาธรรมของเราเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ