บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๔๒

    กุศลธรรมเป็นสาระ สุทธาสาสภูมิ

    บุคคลย่อมเกิด และเป็นอยู่ สุขทุกข์ตามกรรม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านคงเคยได้ยินได้ฟังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “อย่าดูหมิ่นลาภของตนเองว่ามีประมาณน้อย” ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ได้ข้อคิดสำหรับตัวเองบางประการ คำว่า “ดูหมิ่น” ในที่นี้หมายความว่า “การมองข้าม” การมองไม่เห็นความสำคัญ หรือการดูถูกเหยียดหยาม ในวงสนทนาระหว่างเพื่อนฝูงด้วยกัน หากจะมีใครสักคนหนึ่งกล่าวว่า อย่ามาดูถูกหมิ่นกันนะ ก็ย่อมจะหมายความว่าผู้พูดรู้สึกแสลงใจ สะเทือนใจ เพราะถูกคนอื่นมองข้ามความสำคัญไป ส่วนคำว่า “ลาภ” นั้นบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก ซึ่งจัดเป็นลาภก็ล้วนแต่นำมาซึ่งความสุข ความปลื้มใจ แก่ผู้ที่ได้รับทั้งสิ้น

    ทีนี้ก็หันมาพิจารณากันเรื่องความสุข ความพอใจของแต่ละคน ท่านก็คงจะเห็นว่าความพอใจ ความสุข มิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่ที่หนึ่งที่ใดเลย ดังนั้นชีวิตจึงเป็นทาสของการแสวงหา ดังพุทธพจน์ที่ว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” เพราะความต้องการที่เกิดขึ้นเสมอดไม่รู้จักหยุดหย่อนนี้เอง บางคนเมื่อได้ลาภคือได้ของกินของใช้หรือได้รับความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็กลับคิดว่าตัวเองมีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ได้เพียงของเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ มีลาภแค่นี้ มีเงินเดือนแค่นี้ ได้ส่วนแบ่งกำไรค้าขายแค่นี้ จะมีความหมายอะไร ช่างบุญน้อยวาสนาน้อยเหลือเกิน สู้คนอื่นก็ไม่ได้ ซึ่งความคิดอย่างนี้ไม่ใช่คุณประโยชน์อะไรเลย ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดทุกข์โทมนัส ก็เหตุที่ทุกคนได้สะสมมาทั้งกุศล และอกุศลมากน้อยต่างกันนี่เอง ผลที่ได้รับจึงย่อมไม่เท่ากันเป็นธรรมดา เพราะเหตุอย่างไรผลก็ต้องอย่างนั้น แต่เรื่องของอดีตเหตุนั้นเป็นสิ่งสุดวิสัยที่เราจะแก้ไขได้ เพราะเป็นสิ่งที่ได้กระทำแล้ว แต่ถ้าเราปรารถนาที่จะได้รับผล คือความสุขในอนาคตเราก็จะต้องกระทำแต่กรรมดีในปัจจุบัน การเจริญบุญกุศลแต่ละขณะในชาติหนึ่ง ภพหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้เลย พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นคุณประโยชน์ในข้อนี้จึงได้ทรงแสดงว่า ควรเจริญกุศลทุกขณะ ทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นกุศลทางใดทางหนึ่งก็ตาม อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างของท่านผู้ใดอีกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอปทาน ปังสุกูลวรรคที่ ๔๙ ปังสุกูลสัญญกเถราปทานที่ ๑ ข้อ ๗๑ ท่านปังสุกูลสัญญกเถระได้แสดงอดีตกรรมของท่านว่า ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ติสสะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงวางผ้าบังสุกุลจีวรไว้ แล้วเสด็จเข้าพระวิหาร ขณะนั้นท่านสะพายธนูถือกระบอกน้ำเข้าป่า เมื่อท่านเห็นบังสุกุลจีวรแขวนอยู่บนยอดไม้ในป่านั้น ท่านก็มีจิตเลื่อมใสปีติโสมนัส ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด แล้วไหว้บังสุกุลจีวรนั้น ด้วยผลของกุศลนั้นทำให้ท่านไม่เกิดในทุคติ และในชาติสุดท้ายท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

    คุณวันทนา เพียงได้เห็นจีวรแล้วน้อมระลึกถึงพระผู้มีพระภาคด้วยใจที่เลื่อมใสปีติโสมันสก็เป็นกุศลที่มีอานิสงส์มาก ถึงแม้ใครจะเข้าป่ายิงนกตกปลา ทำอกุศลกรรมด้วยอำนาจของกิเลสซึ่งเป็นความมืด ก็ยังมีโอกาสที่จะสว่างได้บ้าง ด้วยการระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค เมื่อเห็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงพระองค์ ซึ่งก็ทำให้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาของจิตใจว่า ธรรมดาทุกคนย่อมจะเลื่อมใสสรรเสริญคุณความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระบริสุทธิคุณของพระผู้มีพระภาค แต่แม้กระนั้นก็จะบังคับจิตใจของตัวเองไม่ให้ตกไปในฝ่ายต่ำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเจริญกุศลอุปการะเป็นขั้นๆ แต่สมัยนี้ไม่มีพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีสบงจีวรของพระองค์ให้กราบไหว้ระลึกถึงพระองค์ การเห็นพระสงฆ์หรือชายจีวรของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพุทธบุตรแล้วระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคนั้นจะได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ ถึงแม้จะไม่ใช่ชายจีวร แต่ว่าจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็น้อมระลึกได้ทั้งนั้น อย่างในอปทาน สัททสัญญิกวรรคที่ ๓๖ กิงสุกปูชกเถราปทานที่ ๓ ข้อ ๓๕๕ ท่านกิงสุกปูชกเถระได้แสดงอดีตกรรมของท่านว่า ท่านเห็นต้นทองกวาวมีดอกบาน ท่านจึงพนมมือไหว้นึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด และบูชาในอากาศ ด้วยผลของกรรมนั้นท่านไม่รู้สึกทุคติเลย และในชาติสุดท้ายก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ค่ะ

    คุณวันทนา เห็นจะเป็นเพราะสีของดอกทองกวาวละม้ายคล้ายคลึงกับจีวร จึงทำให้ท่านระลึกถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคนะคะ เมืองเราก็มีต้นทองกวาวเหมือนกัน และถึงจะไม่ใช่ต้นทองกวาว จะเป็นดอกไม้อะไรก็ได้ ที่ทำให้จิตใจเบิกบาน และน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ก็คงจะเกิดปีติโสมนัสซึ่งเป็นกุศลนะคะ อย่างดอกมะลิที่บูชาพระกันเป็นประจำนั้น เมื่อเห็นแล้วก็ทำให้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ และสำหรับต้นโพธิก็ย่อมจะเตือนใจให้พุทธบริษัทระลึกถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอยู่เสมอตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ ณ สถานที่ตรัสรู้ อาจารย์มีตัวอย่างอะไรที่เกี่ยวกับต้นโพธิ และการบูชาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอปทาน สกิงสัมมัชชกวรรคที่ ๔๓ สกิงสัมมัชชกเถราปทานที่ ๑ ข้อ ๑๑ ท่านสกิงสัมมัชชกเถระได้แสดงอดีตกรรมของท่านว่า ท่านได้เห็นไม้แคฝอย ซึ่งเป็นไม้โพธิอันเป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า วิปัสสี ท่านมีจิตเลื่อมใสแล้วได้เอาไม้กวาดมากวาดบริเวณลานรอบไม้โพธินั้นแล้วนมัสการ เมื่อนมัสการแล้วท่านก็กลับไปกระท่อมที่อยู่ของท่าน ขณะที่เดินไปกระท่อมนั้น ท่านระลึกถึงไม้โพธิไปตามทาง แล้วท่านถูกงูเหลือมตัวใหญ่รัดกิน กรรมที่ท่านทำเมื่อใกล้จะตายนั้นทำให้จิตของท่านผ่องใส เมื่อจุติแล้วท่านก็ได้เกิดในเทวโลก และผลของกรรมนั้นทำให้ท่านไม่ไปทุคติ และในชาติสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    คุณวันทนา การทำนุบำรุงไม้โพธิที่ตรัสรู้ขององค์พระผู้มีพระภาคด้วยจิตเลื่อมใส เพื่อให้ไม้โพธินั้นเจริญงอกงามเป็นที่เตือนใจให้พุทธศาสนิกได้ระลึกถึง และบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ในครั้งก่อนก็คงมีผู้ที่มีจิตเลื่อมใสกระทำกันมากนะคะ ซึ่งนอกจากกวาดลานโพธิแล้ว บางท่านก็คงจะได้รดน้ำ พรวนดิน เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ ณ สถานที่ตรัสรู้ก็ได้มีผู้ดูแลรักษาอย่างดีแล้ว และสังเวชนียสถานแห่งอื่นๆ คือที่แสดงปฐมเทศนา ที่ปรินิพพาน และที่ประสูตินั้น ก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเช่นเดียวกัน และถึงแม้ว่าพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตเลื่อมใสจะไม่มีโอกาสไปบำรุง หรือไปนมัสการสังเวชนียสถานเหล่านั้นด้วยตนเอง ก็ยังมีทางอื่นที่จะร่วมทำนุบำรุงสังเวชนียสถานเหล่านั้น และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงตั้งมั่นสืบต่อไปในทางต่างๆ ได้ โดยนัยของบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่เราได้กล่าวถึงกันมาแล้ว เพราะผู้ใดประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม เจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้น ไม่ละเลยในบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่งประการใด การประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามนั้น ก็ย่อมจะเป็นการบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยการปฏิบัติบูชา ซึ่งพระองค์ตรัสว่าเป็นการบูชาที่ยิ่งกว่าอามิสบูชาซึ่งเป็นการบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ

    นอกจากนี้ยังมีอดีตกรรมของท่านผู้ใดอีกบ้างไหมคะ ที่อาจารย์คิดว่าท่านผู้ฟังคงจะสนใจ และควรจะได้ทราบไว้ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงความเลื่อมใสในลักษณะเดียวกับท่านเหล่านี้ แต่เรื่องอดีตของท่านพระเถระเหล่านั้น แนวทางชีวิต และความรู้สึกต่างๆ ในการเลื่อมใสต่อพระรัตนตรัยของท่านเหล่านั้น ไม่ว่าในชาติเหล่านั้นท่านจะเกิดเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร ทำกิจการงานอย่างใด ก็คงช่วยให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาใคร่ครวญเป็นตัวอย่างในการที่จะไม่ประมาทในการเจริญกุศล แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจิตที่เป็นกุศลเพียงขณะเดียวนั้น มีค่ามากกว่าจิตที่เป็นอกุศลแม้ขณะเดียวหรือหลายๆ ขณะก็ตาม อาจารย์คิดว่าจะมีเรื่องของท่านผู้ใดที่น่าจะเป็นตัวอย่างอีกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีอดีตกรรมของท่านพระเถระรูปหนึ่งค่ะ ซึ่งแสดงถึงความแยบคาย และความฉลาดในการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    คุณวันทนา อดีตกรรมของใครคะ

    ท่านอาจารย์ ในอปทาน กิงกณิปุปผวรรคที่ ๕๐ ปุฬินถูปิยเถราปทานที่ ๘ ข้อ ๘๘ ท่านพระปุฬินถูปิยเถระแสดงอดีตกรรมของท่านว่า เมื่อครั้งที่ท่านเป็นชฎิลชื่อนารทะนั้น มีลูกศิษย์บำรุงท่านมาก แต่ท่านไม่ได้บูชาใคร ไม่มีใครสั่งสอนท่าน ท่านจึงไปที่ริมแม่น้ำซึ่งมีหาดทรายขาวสะอาด มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ ทานไปตะล่อมเอาทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ในลักษณะพระสถูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปิดทอง เอาดอกไม้มาบูชาด้วยความอิ่มใจ นมัสการทั้งเย็นทั้งเช้าเหมือนถวายบังคมพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ฉะนั้น และในขณะใดที่กิเลส และความนึกคิดของท่านเป็นไปด้วยความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ท่านก็มาดูพระสถูปที่ทำไว้ และระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงนำสัตว์ออกจากทุกข์ และตักเตือนตนเองว่า ควรระวังกิเลส เพราะการที่กิเลสเกิดขึ้นนั้นไม่สมควรแก่ท่าน เมื่อท่านคำนึงถึงพระสถูปนั้น ย่อมเกิดความเคารพขึ้นพร้อมกัน และบรรเทาความนึกคิดที่น่ารังเกียจนั้นได้ เปรียบเหมือนช้างตัวประเสริฐถูกเครื่องแทงหูเบียดเบียนฉะนั้น แล้วท่านก็ได้ประพฤติอย่างนั้นจนสิ้นชีวิตค่ะ ท่านเกิดในพรหมโลกในสุคติภูมินับไม่ถ้วน เมื่อระลึกถึงผลกรรมที่ท่านทำไว้ดีแล้วนั้น ท่านก็กล่าวภาษิตว่า “…ผู้ปรารถนาจะกระทำกุศล ควรเป็นผู้ยึดเอาสิ่งที่เป็นสาระ … ความปฏิบัตินั่นเองเป็นสาระ บุรุษผู้มีกำลัง มีความอุตสาหะที่จะข้ามทะเลหลวง พึงถือเอาท่อนไม้เล็กวิ่งไปสู่ทะเลหลวงด้วยคิดว่า เราอาศัยไม้นี้จักข้ามทะเลหลวงไปได้ นรชนพึงข้ามทะเลหลวงไปด้วยความเพียร อุตสาหะแม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว จึงข้ามพ้นสงสารไปได้” เมื่อถึงภพสุดท้ายนี้ ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ที่มั่นคง ในพระนครสาวัตถี มารดาบิดาของท่านเป็นคนมีศรัทธานับถือพระพุทธเจ้า ท่านทั้งสองเป็นผู้เห็นธรรม ฟังธรรม ประพฤติตามคำสอน ท่านทั้งสองนำเอาผ้าลาดสีขาว มีเนื้อละเอียดมากมาทำเป็นพระสถูปทอง นมัสการในเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคทุกเย็นเช้าในวันอุโบสถ และกล่าวสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาคยับยั้งอยู่ตลอด ๓ ยาม เมื่อท่านพระปุฬินถูปิยะเถระได้เห็นพระสถูปเสมอ ก็ระลึกถึงเจดีย์ทรายในอดีตชาติได้ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในอาสนะเดียว

    คุณวันทนา ในชีวิตของเรา ความประพฤติของเรานี่เองนะคะ เป็นสาระ และความประพฤติที่เป็นสาระที่ท่านกล่าวนั้น ก็ย่อมหมายถึงความประพฤติดี และความประพฤติที่เป็นบุญกุศลนั่นเอง เพราะทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองก็ไม่ใช่สาระอันแท้จริง เมื่อตายแล้วก็ติดตัวไปไม่ได้ หรือแม้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริงเลย จะให้ความสุขได้ก็เพียงเพลิดเพลินตา เพลิดเพลินใจ เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ชั่วขณะ ชั่ววันเท่านั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วก็ไม่มีอะไรในโลกที่จะตั้งมั่นดำรงคงที่ไม่แปรปรวน และให้ความสุขได้ตลอดกาลเลยสักอย่างเดียว แต่ความประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล และการดำเนินชีวิตในทางที่ดีงามเท่านั้นที่เป็นสาระ เพราะย่อมจะประคับประคอง และอุปการะให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดีงาม และประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นบุญกุศลยิ่งๆ ขึ้น เรื่อยๆ ไป จนถึงที่สุดได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดได้อย่างนี้บ่อยๆ ก็เป็นทางให้กุศลเจริญขึ้นๆ นะคะ คุณวันทนาเคยอยากรู้บ้างไหมคะว่า ชาติก่อนๆ คุณวันทนาเป็นใคร อยู่ที่ไหน เคยทำอะไรบ้าง

    คุณวันทนา อยากรู้ค่ะ อยากรู้ว่าชาติก่อนเกิดเป็นใคร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มีหน้าตาเป็นยังไงบ้าง เป็นลูกเต้าเหล่าใคร เป็นลูกพ่อแม่เดียวกับที่เป็นปัจจุบันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อดีตก็เป็นอดีตอย่างแท้จริง จะถอยย้อนกลับไปให้เป็นปัจจุบันอีกไม่ได้เลย ในอดีตชาติก่อนๆ จะเคยเป็นใครอยู่ที่ไหน มีความสุขสบายหรือทุกข์ยากแค่ไหน อดีตชาติก่อนๆ ก็ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงจะรู้หรือคำนึงถึงก็เปล่าประโยชน์ เพราะการรู้อดีตชาติ เช่นรู้ว่าเคยสุขเคยทุกข์อย่างไรนั้น จะช่วยให้คุณวันทนาไม่เกิดอกุศลจิต และบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็อาจจะช่วยให้บ้างเหมือนกันนะคะ อาจารย์ คือช่วยทำให้จิตใจได้สบายขึ้น อย่างเช่นได้รู้ว่าอดีตชาติเราได้เคยกระทำกรรมที่เป็นมิจฉาวาจา ไปว่ากล่าวให้ใครเขาช้ำใจหรือเสียหายอะไรบ้างหรือเปล่า ชาตินี้จึงได้รับผล คือได้รับกระทบเสียงที่ไม่ดีบ่อยๆ อย่างเสียงที่ไม่เพราะหู เสียงดังๆ หรือคำพูดที่บาดใจทำให้เรารำคาญใจบ้าง ไม่เป็นสุขใจบ้าง อย่างนี้เป็นต้นค่ะ ถ้าได้รู้อดีตกรรมไว้บ้างก็จะดี และถ้ายิ่งได้รู้ชัดว่า เราเคยไปว่ากล่าวใครเขาไว้ ชาตินี้ก็สมควรแล้วนีคะ ที่เราจะได้รับเสียงที่ไม่ดีเป็นการตอบแทน เราก็จะสบายใจขึ้น แล้วก็ก้มหน้าก้มตารับผลของกรรมที่ไม่ดีต่อไป เมื่อหมดผลที่ไม่ดีแล้ว เราก็ไม่ผูกพยาบาท ไม่ก่อเวร ก็จะได้เป็นอโหสิกรรมกันเสียที

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นคุณวันทนาก็ควรทราบค่ะว่า ในอดีตอนันตชาติที่จะไม่เคยเกิดที่ไหน และไม่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับใครมาในลักษณะใดนั้นน้อยนัก ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเองก็เช่นเดียวกันค่ะ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสีหนาทวรรค มหาสีหนาทสูตร ข้อ ๑๙๘ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “ดูกร สารีบุตร ก็อาวาสที่เราไม่เคยอยู่อาศัยแล้วโดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงอยู่อาศัยในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็ไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก”

    คุณวันทนา แหม สมเด็จพระผู้มีพระภาคท่านก็เกิดในที่ต่างๆ ในภูมิต่างๆ มีสุข มีทุกข์ต่างๆ บำเพ็ญบารมีมานานแสนนานกว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเทวโลกชั้นสุทธาวาสเป็นภูมิพิเศษยังไงบ้างคะ พระองค์จึงไม่อุบัติในภูมินั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เทวโลกชั้นสุทธาวาสมี ๕ ภูมิ เป็นภูมิของพระสาวกที่เป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จุติแล้วก็ต้องเกิดอีก และสำหรับบุคคลที่จะเกิดในสุทธาวาสภูมิได้นั้นจะต้องเป็นพระอนาคามีที่ได้รูปปัญจมฌาน คือฌานที่ ๕ ด้วย เทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้นเป็นรูปพรหมโลก เพราะเป็นที่เกิดของบุคคลอื่นที่บรรลุรูปปัญจมฌาน แต่ว่าจะต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วย ถ้าใครเจริญสมถภาวนาบรรลุรูปปัญจมฌาน แต่ไม่ใช่พระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี เช่นเป็นปุถุชนหรือว่าเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามี ก็ไม่ได้เกิดในสุทธาวาส

    คุณวันทนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ใช่สาวก ท่านเลยไม่ได้เกิดในสุทธาวาสภูมิ สุทธาวาสภูมิเป็นที่เกิดของพระสาวกที่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งความสงบของจิตขั้นรูปปัญจมฌาน และขั้นปัญญาที่ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ภูมิที่เกิดของสัตวโลกก็มีมากซิคะ ทั้งที่เป็นทุคติซึ่งเป็นผลของกรรมชั่ว และที่เป็นสุคติซึ่งเป็นผลของกรรมดี

    ท่านอาจารย์ ตอนกลางคืนคุณวันทนาเคยดูดาวบนท้องฟ้าบ้างไหมคะ

    คุณวันทนา ก็ออกมาดูเหมือนกันถ้ายังไม่ง่วง

    ท่านอาจารย์ โลกที่เราอยู่นี้ก็เป็นดาวดวงหนึ่งบนท้องฟ้าเช่นเดียวกับดาวอื่นๆ ในจักรวาล ดาวที่เรามองเห็นตอนกลางคืนเดือนมืดๆ มากมายนับไม่ถ้วน ดาว และจักรวาลที่มองไม่เห็นก็มีอีกมากมาย และยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งมากจนนับไม่ได้เลย การที่เราแต่ละคนตายแล้วจะเกิดที่โลกไหน จักรวาลไหนก็ต้องแล้วแต่บุญกรรม เหมือนกับการจากโลกอื่นมาสู่โลกนี้ มีสภาพอย่างนี้ มีสุข มีทุกข์อย่างนี้ก็เป็นเพราะบุญกรรมที่ทำไว้ในชาติหนึ่งชาติใด

    คุณวันทนา ก็เหมือนกับธิดาช่างหูกทูลตอบพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ตรัสถามว่ามาจากไหน

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาจำเรื่องนี้ได้ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา พอจะจำได้บ้างค่ะ ในธัมมปทัฏกถา โลกวรรควรรณา

    ท่านอาจารย์ ช่วยเล่าให้ท่านผู้ฟังได้ทราบด้วยซิคะ

    คุณวันทนา เรื่องก็มีว่า นางกุมาริกา ธิดาของนายช่างหูก เป็นผู้มีความเลื่อมใสเคารพบูชาในพระผู้มีพระภาคอย่างสุดที่จะประมาณได้ นับแต่นางได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเรื่องการเจริญมรณานุสติซึ่งพระองค์ทรงแสดงว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราจักตายแน่แท้ ด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส นางก็ได้เจริญมรณานุสติทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน ต่อกันมาเป็นเวลา ๓ ปีทีเดียว ต่อมาวันหนึ่งพระบรมศาสดาได้ทรงตรวจดูสัตวโลก และปรากฏว่านางได้เข้าไปในข่ายพระญาณ พระองค์จึงได้เสด็จจากพระวิหารเชตวันไปโปรดนาง ณ อัคคาฬววิการ

    นางกุมาริกาก็ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ซึ่ง ณ ที่นั้น พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาแก่นางว่า “เธอมาจากไหน” นางก็ทูลตอบว่า “ไม่ทราบ” เพราะไม่ทราบจริงๆ ว่ามาแล้วจากไหนจึงได้มาเกิดในที่นี้ ซึ่งพระศาสดาก็ได้ประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นาง แล้วจึงตรัสถามต่อไปว่า “เธอจักไป ณ ที่ใด” นางก็ทูลตอบว่า “ไม่ทราบ” เพราะไม่ทราบว่า เมื่อจุติจากโลกนี้แล้ว จะไปเกิดที่ไหน ซึ่งพระศาสดาก็ได้ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ แล้วจึงตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้นเธอไม่ทราบหรือ” นางก็ทูลตอบว่า “ทราบ” เพราะนางทราบภาวะการตายของนางเท่านั้น ซึ่งพระศาสดาก็ได้ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ แล้วจึงตรัสถามต่อไปว่า “เธอย่อมทราบหรือ” นางก็ทูลตอบว่า “ไม่ทราบ” ด้วยเหตุผลว่า ภาวะคือการตายของนางนั้น ไม่ทราบว่าจะตายในเวลาใด เวลากลางคืน กลางวันหรือในเวลาเช้า ซึ่งพระศาสดาก็ได้ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๔ ครั้นแล้วก็ตรัสพระคาถาว่า “สัตวโลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด ในโลกนี้น้อยคนจะเห็นแจ้งได้ น้อยคนจะไปสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น” เมื่อจบเทศนานี้แล้ว นางกุมาริกาก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันเดียวกันนี้เองเมื่อกลับจากเฝ้าพระผู้มีพระภาคนางก็สิ้นชีวิตลง

    ท่านผู้ฟังก็จะเห็นพระกรุณาคุณที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดนางเพื่อทรงเกื้อกูลให้นางได้บรรลุโสดาบันก่อนสิ้นชีวิต และได้เกิดในสุคติภูมิ ถึงแม้พวกเราในสมัยนี้จะไม่ได้อยู่ในข่ายพระญาณของพระผู้มีพระภาค แต่เราก็อยู่ในข่ายพระธรรมของพระองค์ ซึ่งเมื่อเข้าใจในพระธรรมแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เราได้เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้น จนถึงที่สุดได้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ