บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๕

    ลักษณะการพูดของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษ

    พระผู้มีพระภาคตรัสวาจาอย่างไร


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ การสนทนาในครั้งก่อนของเราคงช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เห็นความสำคัญของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประทานแก่พุทธศาสนิกชนเป็นศาสดาแทนพระองค์ ซึ่งควรที่เราจะได้ใส่ใจศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ไม่ให้เสียโอกาสของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และมีโอกาสได้มีความเลื่อมใสนอบน้อมสักการะในพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เมื่อพูดกันถึงเรื่องความสนใจ ความเลื่อมใส และความใคร่ที่จะได้ฟังธรรม ดิฉันคิดว่า ปัญหาที่สำคัญนั้นก็คือ ปริมาณหรือจำนวนของผู้ที่ต้องการศึกษา และฟังธรรมนั้น ดูจะมีมากกว่าผู้ที่แสดงธรรม ถ้าหากเทียบส่วนกันแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น จะทำอย่างไรกันดีล่ะคะ

    คุณวันทนา ก็ต้องพยายามศึกษาธรรมกันให้มากๆ เมื่อต่างเข้าใจธรรมถูกต้องดีแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ช่วยกันประกาศหรือแสดงธรรมเท่าที่สามารถจะทำได้

    ท่านอาจารย์ รวมคุณวันทนากับท่านผู้ฟังด้วยใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ต้องรวมด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังอย่าตกใจ ที่คุณวันทนาว่ารวมถึงพุทธศาสนิกชนทั้งหมด ทั้งคุณวันทนา และท่านผู้ฟังด้วย เพราะว่าการแสดงธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเทศน์ การแสดงปาฐกถาหรือการบรรยายธรรมเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นธรรมข้อหนึ่งข้อใดหรือว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เข้าใจถูกต้องตามเหตุผล และสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ แล้ว เมื่อมีโอกาสก็ชี้แจงให้คนอื่นเข้าใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือขณะไหนก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นการแสดงธรรม และบุคคลที่จะแสดงธรรมด้วยนั้น ก็มีอยู่ตลอดเวลา ในโอกาสที่สมควร เช่น ชี้แจงธรรมที่ควรเข้าใจ และควรประพฤติปฏิบัติกับคนในครอบครัว ในวงศ์ญาติ ในหมู่มิตรสหาย หรือแม้แก่คนอื่น ศาสนาอื่นที่มีความสนใจใคร่จะฟังธรรมก็ได้

    คุณวันทนา อย่างพ่อแม่สอนลูกไม่ให้พูดปด ชี้แจงเหตุผลให้เห็นโทษ ให้เห็นความเดือดร้อนที่เกิดจากการพูดปด ให้เห็นว่าเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ไม่ดี จะทำให้เป็นคนไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอายในบาป และไม่เกรงกลัวผลของบาป อีกอย่างหนึ่งการพูดปดนั้น เมื่อถูกจับได้ในภายหลัง ก็จะทำให้ไม่เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของผู้อื่น แม้ว่าภายหลังต่อมาตนจะพูดความสัตย์ ความจริง ก็ไม่มีใครเชื่อ อย่างในนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ที่พูดปดเป็นต้น

    ส่วนการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ นั้นก็จะเห็นได้ อย่างครูบาอาจารย์อบรมนักเรียนให้มีทั้งความรู้ดี และประพฤติดี สั่งสอนแนะนำนักเรียนให้มีคุณธรรมในขั้นศีลธรรม เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอย่าลืมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น การที่ผู้ใดได้รับการอบรมหรือเข้าใจธรรมแล้ว จะประพฤติปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมไม่อยู่ในบังคับบัญชาแม้ของผู้ฟัง และผู้แสดงธรรมเลย ทั้งนี้ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ผู้ฟังได้สะสมอบรมมาประการหนึ่ง และย่อมอยู่กับผู้แสดงธรรมประการหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดมีหน้าที่หรือมีศรัทธาที่จะเจริยกุศลด้วยการแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง ก็ควรจะแสดงธรรมในลักษณะที่ให้ผู้ฟังได้เข้าใจธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้อง ส่วนการที่ผู้ฟังจะประพฤติปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ฟังจะต้องพิจารณาใคร่ครวญ และตัดสินใจเอง

    คุณวันทนา ในเรื่องการพุด และการแสดงธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคคงจะได้ทรงแสดงไว้มากทีเดียวนะคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงไว้มาก ซึ่งจากการพิจารณาลักษณะของการพูด และคำพูดที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ก็จะทำให้เราสามารถรู้จักผู้อื่น และรู้จักตัวเองชัดเจนขึ้น

    คุณวันทนา เรื่องของคำพูดก็สำคัญมาก เพราะว่าคำพูดย่อมเป็นเสียงสะท้อนมาจากใจของผู้พูด คำพูดอย่างไรก็แสดงว่าใจเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะพยายามปิดบังซ่อนเร้นหรือกลบเกลื่อนด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ตามก็สามารถจะปกปิดได้เพียงในบางครั้งเท่านั้น แต่ก็ไม่เกินอำนาจการผลักดันของจิตที่จะทำให้คำพูดนั้นเผยความรู้สึกหรือสภาพลักษณะของจิตใจออกมาได้ ถึงจะไม่ใช่ต่อหน้าก็อาจจะเป็นลับหลังหรือรำพึงอยู่เพียงในใจ ไม่พูดออกมาดังๆ ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นการคิดหรือรำพึงในใจ คนอื่นก็รู้ไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรตนเองก็สามารถที่จะน้อมนำธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้นมาพิจารณาลักษณะของคำที่คิดว่าจะพูดนั้นได้ว่า จิตใจในขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

    คุณวันทนา ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้นเป็นความจริงอย่างที่สุด เพราะว่าสามารถจะส่องไปถึงคำพูดหรือแม้ความนึกคิดที่มีในใจ โดยที่คนอื่นไม่สามารถจะล่วงรู้เลยก็ได้

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อปัณณกวรรคที่ ๓ สัปปุริสสสูตร ข้อ ๗๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงลักษณะการพูดของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษไว้ด้วย

    คุณวันทนา พระองค์ทรงแสดงไว้กี่ประการคะ

    ท่านอาจารย์ ในสูตรนี้ พระองค์ทรงแสดงไว้บุคคลละ ๔ ประการ

    คุณวันทนา การพูดของอสัตบุรุษมีลักษณะอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า บุคคลที่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ คือแม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเวลาที่ถูกถาม และแม้ถูกถามก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว และกล่าวความเสียหายของคนอื่นอย่างเต็มที่กว้างขวางเลย

    คุณวันทนา ฟังแล้วก็รู้สึกว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมให้เราพิจารณา และขัดเกลาจิตใจของเราได้อย่างละเอียดเหลือเกิน เพราะว่าเวลาฟังคำพูดของคนอื่นแล้วสามารถที่จะรู้จิตใจของเขาได้ง่ายกว่าการที่จะรู้ใจของตัวเองในขณะที่กำลังพูด บางทีเราก็อาจจะมองเห็น และรู้ว่าใครชอบพูดเรื่องความเสียหายของคนอื่น แต่พอถึงตัวเราเองจริงๆ เราก็อาจจะลืมไปบ้างก็ได้ และเมื่อพระองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนถี่ถ้วนอย่างนี้ ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเอง เราก็จะได้พยายามละความประพฤติที่เป็นอสัตบุรุษเสีย เท่าที่เราสามารถจะระลึกได้ เพราะว่าตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ ความประพฤติของใครซึ่งไม่เป็นที่พอใจ บางครั้งเราก็อดที่จะพูดหรือนำไปปรารภกับคนอื่นบ้างไม่ได้ แต่คนที่ใคร่ครวญพิจารณาเห็นโทษ และลักษณะของจิตที่ทำให้กล่าววาจานี้ออกไป ก็ย่อมจะสามารถขัดเกลาคำพูดอย่างนี้ให้น้อยลงๆ ได้

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นลักษณะของสัตบุรุษ เพราะในข้อนี้พระองค์ทรงแสดงว่า สัตบุรุษนั้น แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเวลาที่ถูกถาม และเมื่อถูกถามความเสียหายของคนอื่นนั้น ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง แต่ว่าหน่วงเหนี่ยวอ้อมค้อม และกล่าวความเสียหายของคนอื่นแต่โดยย่อ ไม่เต็มที่

    คุณวันทนา ช่างน่าสรรเสริญจิตใจของผู้นั้นเหลือเกิน ในข้อที่ไม่เพ่งโทษให้ใครต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้น และลักษณะการพูดของอสัตบุรุษประการที่ ๒ ล่ะคะ พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ประการที่ ๒ เป็นเรื่องของความดี พระองค์ทรงแสดงว่า อสัตบุรุษนั้น แม้จะถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงเวลาที่ไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามถึงความดีของผู้อื่นนั้น ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง แต่กล่าวอ้อมค้อมหน่วงเหนี่ยว และกล่าวสรรเสริญคุณของผู้อื่นโดยย่อๆ

    คุณวันทนา นี่ก็ตรงอีก เพราะถ้าพิจารณากันโดยเหตุผลแล้ว ก็อะไรล่ะที่กระทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นอสัตบุรุษหรือสัตบุรุษ ก็ด้วยจิตของคนนั้นนั่นเอง จิตของใครสั่งสมกิเลสไว้มาก ขาดคุณธรรมที่เป็นพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ข้อใดข้อหนึ่งจึงสามารถกล่าวถ้อยคำเปิดเผยความเสียหายของคนอื่นได้อย่างกว้างขวาง แม้จะไม่ถูกถามเลย บางคนก็เพราะขาดมุทิตา คือความนิยมยินดีในคุณความดีของคนอื่นนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้อกุศลคือความริษยาในคุณความดีของคนอื่นเกิดขึ้นแทน ฉะนั้นคนอย่างนี้แม้จะถูกถามถึงคุณความดีของคนอื่นจึงพูดไม่ออก พูดไม่ได้ หรือจะพูดออกมาได้ก็อ้อมค้อม ด้วยอำนาจของความริษยานั่นเอง ส่วนจิตใจของคนที่เป็นสัตบุรุษนั้นย่อมไม่พร่องจากคุณธรรมหรือพรหมวิหาร ๔ เพราะด้วยเมตตาอันเต็มเปี่ยมด้วยมุทิตาอันประมาณไม่ได้ในใจ จึงสามารถละเว้นการกล่าวถึงเรื่องราวความเสียหายของบุคคลอื่น แม้ว่าจะถูกถามแล้วก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความเสียหายของคนอื่นออกมาตรงๆ และในทำนองตรงกันข้ามในเรื่องราวคุณความดีของคนอื่น ผู้ที่เป็นสัตบุรุษย่อมมีความสุขที่จะได้พูดให้คนอื่นได้ล่วงรู้ และอนุโมทนาสืบๆ ต่อๆ กันไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านช่างรู้แจ้ง และทรงสามารถจำแนกลักษณะของคนที่เป็นอสัตบุรุษลักษณะต่างๆ กันไว้ให้เรารู้ได้อย่างละเอียดเหลือเกิน และสำหรับการเทียบลักษณะของสัตบุรุษในเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันข้ามกับอสัตบุรุษนะคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงว่า สัตบุรุษนั้น แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของคนอื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจะกล่าวถึงในเวลาที่ถูกถาม และเมื่อถูกถามความดีของคนอื่นนั้น ก็แก้ปัญหาโดยตรงไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว และกล่าวความดีของคนอื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    คุณวันทนา ถ้าจะคิดกันอีกทางหนึ่ง การสรรเสริญคุณงามความดีของคนอื่นนั้น ไม่ได้เสียหายอะไรแก่ผู้พูดเลยสักนิดเดียว กลับจะทำให้คนฟังได้เห็นน้ำใจอันงาม และได้เห็นความชื่นชมอันเป็นบุญเป็นกุศลของผู้พูดเสียอีก แต่จิตของคนที่เป็นอสัตบุรุษก็กลับเห็นผิด และทำในทางที่ตรงกันข้ามกับความจริงข้อนี้เลยทีเดียว แล้วลักษณะการพูดของอสัตบุรุษประการที่ ๓ ล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ประการที่ ๓ เป็นเรื่องความเสียหายของตัวเอง ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า อสัตบุรุษนั้นแม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของตน เพราะฉะนั้นจะกล่าวอะไรในเมื่อไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้วก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง แต่กลับอ้อมค้อมหน่วงเหนี่ยว และกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่

    คุณวันทนา การที่จะบอกให้ผู้อื่นรู้ความผิด ความบกพร่อง และความไม่ดีของตัวเองนั้น ถ้าไม่ฝึกหัด และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนทุกคนที่จะต้องมีความเข้าใจผิดบ้าง และทำผิดไปบ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องยากเหมือนกันนะคะ ที่จะพูดถึงความผิดของตัวเอง แต่ถ้าคิดเสียอีกอย่างหนึ่ง การเปิดเผยความผิดหรือความไม่ดีของตัวเอง เป็นการแสดงให้คนอื่นรู้ว่าขณะนี้เรารู้แล้วว่าความคิดเห็นหรือการกระทำที่ได้ทำไปแล้วนั้นผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควร ซึ่งก็ย่อมแสดงว่า เราเข้าใจถูกขึ้นแล้ว การรับผิดย่อมทำให้คนอื่นเข้าใจเราดีขึ้นด้วย สำหรับข้อนี้สัตบุรุษก็คงตรงกันข้ามกับอสัตบุรุษอีกนะคะ

    ท่านอาจารย์ สำหรับสัตบุรุษนั้นพระองค์ทรงแสดงว่า แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของตนเอง เพราะฉะนั้นจะกล่าวอะไรถึงเมื่อถูกถาม และเมื่อถูกถามถึงเรื่องความผิดของตนนั้น ก็แก้ปัญหาโดยตรงไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว และกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่กว้างขวาง

    คุณวันทนา ประการสุดท้ายคือประการที่ ๔ นั้น ลักษณะการพูดของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษต่างกันอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ประการสุดท้ายเป็นเรื่องความดีของตนเอง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า อสัตบุรุษนั้น แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของตน เพราะฉะนั้นจะกล่าวอะไรถึงเมื่อถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้วก็แก้ปัญหาโดยตรงไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว และกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    คุณวันทนา พอกล่าวถึงความดีของตัวเอง อสัตบุรุษก็กล่าวตรงกันข้ามกับการกล่าวความดีของคนอื่นทีเดียวนะคะ แล้วสำหรับความดีของตนเองล่ะคะ สัตบุรุษจะกล่าวอย่างไรบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน เพราะมิฉะนั้นจะกล่าวอะไรถึงเวลาที่ไม่ถูกถาม แต่เมื่อถูกถามก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง แต่พูดอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว และกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่

    คุณวันทนา ยังน่าสงสัยอยู่อีกนิดหนึ่งค่ะว่า ความดีนั้นเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ เป็นสิ่งที่น่าจะให้ผู้อื่นได้รู้ได้อนุโมทนา ทำไมสัตบุรุษท่านจึงไม่กล่าวถึงคุณความดีของท่านเองล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้นท่านกล่าวถึงความดีของคนอื่น การกล่าวถึงคุณความดีของคนอื่นนั้นก็ทำให้ผู้รู้อนุโมทนาได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความดีของตนเอง เพราะว่าผู้ที่เป็นสัตบุรุษเห็นว่า ความดีย่อมเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นความดีของท่านเองหรือความดีของคนอื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความดีของตนเอง และสัตบุรุษนั้นทำความดีเพราะรู้ว่าความดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ท่านไม่ได้ทำเพราะรู้ว่าคนอื่นจะสรรเสริญ

    คุณวันทนา เรื่องวาจาก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียวนะคะ การขัดเกลาวาจาก็เป็นการขัดกลาจิตใจนั่นเอง บุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุดของการพูดนั้น ก็ย่อมไม่มีผู้ใดเสมอพระผู้มีพระภาค อาจารย์จะกรุณาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบลักษณะการพูดของพระผู้มีพระภาคด้วยไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อภัยราชกุมารสูตร ข้อ ๙๑ - ๙๖ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่อภัยราชกุมารว่า พระองค์ตรัสวาจาอย่างไร และไม่ตรัสวาจาอย่างไร วาจาใดที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น และวาจาที่ไม่จริงไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

    ส่วนวาจาที่จริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น และวาจาที่จริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

    วาจาที่จริงเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ย่อมทรงรู้กาลที่จะตรัสวาจานั้น และวาจาที่จริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ย่อมทรงรู้กาลที่จะตรัสวาจานั้น

    สรุปแล้วคุณวันทนาก็คงจะเห็นได้ว่า วาจาที่ไม่จริงทั้งหมด ไม่เป็นประโยชน์ แม้ว่าจะเป็นที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ก็ไม่ตรัสวาจาเช่นนั้น

    และวาจาที่จริงนั้น แม้ว่าจะเป็นที่รักที่ชอบใจหรือไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น แต่ถ้าเป็นประโยชน์แล้ว พระองค์ย่อมทรงรู้กาลที่จะตรัสวาจานั้น

    ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากรุณาด้วยพระทัยเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลายนั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา จากเรื่องราวในพระสูตรที่ได้นำเสนอนี้ ก็คงจะทำให้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงชี้ขุมทรัยพ์อันใหญ่ให้ผู้ฟัง และผู้ศึกษาได้พิจารณาลึกซึ้งถึงสภาพจิตใจของตนเอง เพื่อขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากอกุศลธรรมยิ่งขึ้น

    สำหรับในเรื่องลักษณะของวาจาที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องของพระพุทธจริยานุวัตรที่แสนประเสริฐ แต่พุทธศาสนิกชนก็สามารถน้อมนำมาระลึกเป็นแบบอย่าง เพื่อดำเนินตามรอยพระยุคลบาท เท่าที่สามารถจะกระทำได้

    สำหรับวันนี้ ขอยุติเพียงเท่านี้ค่ะ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ