บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒๑

    เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ในครั้งก่อนเราได้พูดกันเรื่องอปจายนะ ความอ่อนน้อมซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่งในหมวดของศีล ชีวิตความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ ของเรานี่นะคะ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่ามีพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพื้นฐาน และเป็นแกนสำคัญที่สร้างสรรอุปนิสัย มรรยาท และความประพฤติที่ดีงามของพวกเราที่ฝึกอบรมกันมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น ฝึกอบรมให้มีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ที่ด้อยกว่าในวัยวุฒิ ชาติวุฒิ และคุณวุฒิ ปกตินะคะ เรารู้ว่าการมีกายวาจาที่อ่อนน้อมเป็นของดี และเราทุกคนต่างก็ปรารถนาที่จะให้คนอื่นปฏิบัติต่อเราด้วยกิริยาวาจาที่สุภาพ อ่อนโยน แต่ก็ยังปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่า เราไม่ได้รับสิ่งที่เราปรารถนาจากผู้อื่นทุกครั้งด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจสภาพของจิตของเรา และของผู้อื่นในขณะที่ถูกกิเลสอกุศลธรรมครอบงำ เช่นในขณะที่จิตถูกความ กระด้างถือตัวครอบงำ ถือว่าตัวเองเก่งหรือเก่งเท่าๆ กับผู้อื่น หรือบางครั้งแม้จะรู้ว่าเก่งไม่เท่าผู้อื่น ก็ยังมีความถือดีอยู่ในตัว เมื่อสภาพจิตเป็นอย่างนี้ การแสดงออกทางกาย และทางวาจาก็ย่อมจะแข็งกระด้าง ไม่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรมิตรไมตรีหรือเพื่อความเมตตา และปรารถนาดีต่อคนอื่น ท่านผู้ฟังคงจะเคยได้ยินโคลงโลกนิติบทหนึ่งว่า

    ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง

    นบท่านท่านจักปอง นอบไหว้

    รักท่านท่านควรครอง ความรัก เรานา

    สองสิ่งนี้เว้นไว้ แต่ผู้ทรชน

    โคลงโลกนิติบทนี้เตือนให้เราระลึกว่า การให้ และการตอบสนองในสิ่งที่ดีงามนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมมนุษย์ การมีมรรยาททางวาจาที่สุภาพอ่อนน้อมเป็นสิ่งที่ดีงาม ทำให้เกิดความรู้สึกอันเป็นมงคลทั้งแก่ตัวผู้ประพฤติ และผู้ที่พบเห็น เด็กที่มีกายวาจาเรียบร้อย มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใหญ่รักใคร่ อยากจะให้ อยากจะเอื้อเฟื้อในลาภ และความสุข ผู้ใหญ่ที่มีกายวาจาสุภาพ เป็นไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้น้อย ก็ย่อมจะทำให้ผู้น้อยเกิดความเคารพ บูชา ชื่นชมในคุณความดี เป็นผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ในหัวใจคนโดยแท้จริง ท่านผู้ฟังคงจะเคยได้ยินคำกลอนในหนังสือพระร่วงตอนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า

    เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ

    แขกมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

    ให้เลิศดีตามี และตามเกิด

    ให้เพลินเพลิดกายากว่าจะกลับ

    นี่ก็แสดงให้เห็นมรรยาทอันดีงาม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้การต้อนรับโดยละมุนละม่อมของผู้เป็นเจ้าของบ้าน

    จากตัวอย่างต่างๆ นี้ ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นคุณประโยชน์ของการอบรมเจริญกุศลข้ออปจายนะ บุญญกิริยาวัตถุในหมวดของศีลนั้น ท่านจำแนกไว้ ๓ ประการ และเราได้กล่าวไปแล้ว ๒ ประการแรก คือศีล และอปจายนะ การสนทนาของเราวันนี้ ก็จะได้พูดกันถึงบุญญกิริยาวัตถุอีกข้อหนึ่งคือ เวยยาวัจจะ ซึ่งเป็นบุญยกิริยาประการที่ ๓ ในหมวดของศีล เวยยาวัจจะคืออะไรคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เวยยาวัจจะคือการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าช่วยคนอื่นเพียงนิดๆ หน่อยๆ จะจัดเป็นกุศลด้วยไหมคะ อาจารย์คะ

    ท่านอาจารย์ เป็นค่ะ เพราะว่าการช่วยให้คนอื่นพ้นจากความลำบาก หรือช่วยคนอื่นให้ได้รับความสะดวกสะบาย ช่วยทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตใจที่ดีงาม เป็นกุศลค่ะ

    คุณวันทนา จะเป็นได้อย่างไรล่ะคะ ยังไม่ค่อยเข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลได้เพราะในขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ

    คุณวันทนา อาจารย์จะช่วยกรุณาอธิบายออกไปอีกหน่อยได้ไหมคะว่า ทำไมจึงได้ชื่อว่าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ในขณะที่เราตั้งใจช่วยเหลือคนอื่น อย่างเวลาจูงเด็กข้ามถนน

    ท่านอาจารย์ ถ้าในขณะนั้นคุณวันทนาคิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่ความพอใจหรือความสะดวกสบายของตัวเองเท่านั้น คุณวันทนาก็คงจะไม่ช่วยจูงเด็กข้ามถนนเป็นแน่เลยค่ะ เพราะในขณะที่กำลังช่วยนั้นจิตจะต้องมีเมตตาหรือกรุณา ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าในขณะนั้นจะปรารถนาให้คนที่ได้รับความช่วยเหลือมีความสุขหรือปรารถนาจะให้คนนั้นพ้นจากความทุกข์ และในขณะที่กำลังช่วยเหลือนั้น ก็จะต้องไม่มีโทสะด้วยค่ะ ต้องไม่มีความขัดเคืองหรือไม่มีความไม่พอใจด้วย ไม่งั้นก็คงเลิกช่วยซึ่งการช่วยก็ย่อมไม่สำเร็จ

    คุณวันทนา ในขณะที่ช่วยเหลือคนอื่น จิตใจเป็นกุศลก็พอจะเห็นได้ค่ะ เพราะว่าในขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่ในขณะนั้นแม้แต่โมหะก็ไม่มีหรือคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ โมหะเป็นอกุศลธรรมที่ไม่รู้อะไร ถ้าไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ หรือไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ กุศลจิตที่จะช่วยสงเคราะห์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เกิดไม่ได้ค่ะ เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตใจเป็นกุศลนั้น โมหะจึงเกิดร่วมด้วยไม่ได้

    คุณวันทนา จริงด้วยค่ะ อาจารย์คะ อย่างตัวอย่างที่เห็นได้ในทางโลกๆ คืออย่างเวลามีคนไม่สบายในบ้านเรานี่นะคะ ถึงเราจะมีหยูกยาอยู่ในบ้านมากมาย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่ายาขนานไหนมีสรรพคุณแก้โรคอะไร เราก็คงหยิบยาให้ไม่ถูก แล้วก็เลยไม่สามารถสงเคราะห์ให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นสภาพที่ต่างกันของจิตใจที่เป็นอกุศลแล้วนะคะ จิตใจที่เป็นอกุศลนั้นเป็นจิตใจที่ไม่ดีงาม เป็นจิตใจที่เดือดร้อนดิ้นรนไม่สงบ และทำให้เกิดการกระทำทางกายทางวาจาที่น่ารังเกียจ ซึ่งให้ผลเป็นทุกข์ทั้งแก่ตัวเอง และผู้อื่นด้วย การขจัดขัดเกลากิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์เป็นอกุศลนั้นก็มีเป็นขั้นๆ คือมีตั้งแต่ขั้นทานซึ่งเป็นการสละวัตถุสิ่งของภายนอกให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แล้วก็ขั้นศีลซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสหยาบที่เนื่องกับกายวาจา แล้วก็มีขั้นภาวนาด้วยซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางจนกระทั่งดับหมดสิ้นไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    คุณวันทนา ถ้าไม่ขัดเกลา กิเลสก็คงจะหนาขึ้นทุกๆ วัน เชียวนะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้ากิเลสเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ก็จะไม่มีที่พอสำหรับเก็บกิเลสเลยค่ะ เพราะว่าไม่ว่าอะไรๆ ก็เป็นอารมณ์ของกิเลสหรือทำให้เกิดกิเลสได้ทั้งนั้นเลย

    คุณวันทนา นั่นซิคะอาจารย์ วันหนึ่งๆ นะคะ ไม่ว่าเราเห็นอะไร ก็ไม่เห็นจะพ้นจากการอยากจะได้บ้าง ไม่อยากได้บ้าง หรือจะได้ยินอะไรๆ ด้วยหูของตนเองหรือคนอื่นนำมาบอกอีกต่อหนึ่งก็หนีไม่พ้นจากความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ดูๆ แล้วคำว่า ปุถุชน สมชื่อจริงๆ ทีเดียวค่ะ เพราะว่าหนาด้วยกิเลสเสียจริงๆ จะไม่หนาได้อย่างไรคะ ในเมื่อก็เข้ามาอยู่ทุกวี่ทุกวัน

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าไม่ขจัดขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญกุศลอยู่เรื่อยๆ คือเจริญกุศลทุกครั้งที่มีโอกาสก็ไม่มีทางที่กิเลสจะเบาบางได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา จากตัวอย่าง และเหตุผลที่อาจารย์กรุณายกมาอธิบายแล้ว ก็รู้สึกว่าโอกาสที่จะเจริญกุศลก็มีอยู่มากไม่น้อยเลยละค่ะ อย่างในชีวิตประจำวันนี่นะคะ เราก็มีโอกาสเจริญกุศลได้หลายอย่าง เวลามีใครขัดสนสิ่งของเครื่องใช้ที่เราพอจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาได้ เราก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อสละให้เขาไป เมื่อให้เขาไปแล้ว ถ้าหากว่าเราจะแผ่ส่วนกุศลอันนี้ให้คนอื่นได้รู้ได้รับทราบ กุศลอันนั้นก็ยังเกิดแก่เราอีกต่อหนึ่ง หรือไม่ก็ถ้าเราไม่ได้ทำทานกุศลด้วยตัวเอง เพื่อนๆ ของเรามีโอกาสได้กระทำแล้วมาเล่าให้เราฟัง เราก็พลอยอนุโมทนายินดี นี่ก็เป็นกุศลอีกทางหนึ่ง และการเจริญกุศลในเรื่องความนอบน้อมนั้น ตามปกติชีวิตของเรานี่ก็ย่อมจะมีผู้ใหญ่ที่มีวัยสูงกว่าเรา มีพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ท่านเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำคุณความดีแก่เรามาก่อน การที่เราแสดงความเคารพนอบน้อมท่านก็เป็นกุศลอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้แล้วในบ้านของเราก็มีคนอยู่ร่วมกันหลายคนซึ่งแต่ละคนมีงานที่จะต้องทำ ถ้าเรามีโอกาสแบ่งเบาภาระการงานของผู้ที่อยู่ร่วมกับเราให้น้อยลงบ้าง ก็เป็นเวยยาวัจจะกุศลคือการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นอีกประการหนึ่ง นี่นะคะ ถ้าหากท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ท่านก็มีโอกาสเจริญกุศลได้มากมายหลายอย่าง และไม่เป็นการยากเลย ท่านก็จะไม่ละทิ้งโอกาสเจริญกุศลเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของท่านเป็นแน่เทียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นบุตรหลาน ดิฉันเข้าใจว่าก็คงจะเคยถูกพ่อแม่ ผู้ปกครองไหว้วานให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ถ้าหากว่าคุณๆ บุตรหลานทำงานนั้นๆ ด้วยจิตใจชื่นบานผ่องใสเพราะรู้ว่ากำลังทำความดี ก็คงจะยินดีรับใช้การทำการงานของคุณพ่อคุณแม่ต่อไป เพราะเป็นการเจริญกุศล และอบรมอุปนิสัยด้วย อาจารย์คะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นก็ดี หรือว่าการให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นก็ดี การกระทำเหล่านี้นะคะ จะขัดกับความเป็นอยู่ของโลกเรานี้ไหมคะ เพราะว่าถ้าเรามัวแต่ช่วยคนอื่น ก็จะทำให้เราเสียเวลาในการแสวงหาทรัพย์เพื่อประโยชน์ของตัวเองไปไม่ใช่น้อยทีเดียว

    ท่านอาจารย์ การเจริญกุศลไม่ขัดกับการดำเนินชีวิตในโลกนี้เลย ตรงกันข้ามกลับช่วยโลกทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตให้พ้นจากความเดือดร้อนต่างๆ ด้วย อย่างในเรื่องทานการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นนั้นนะคะ คุณวันทนาลองคิดดูซิคะว่า มนุษย์ที่เกิดมาแล้วจะพ้นจากโลกธรรม ๘ คือ การได้ลาภ ๑ เสื่อมลาภ ๑ ได้ยศ ๑ เสื่อมยศ ๑ มีสุข ๑ มีทุกข์ ๑ ได้รับสรรเสริญ ๑ ถูกนินทา ๑ นั้นย่อมไม่มีเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่อกุศลกรรมให้ผลทำให้ต้องเสื่อมลาภเสื่อมยศ ไร้ทรัพย์สินเงินทอง เพราะไฟไหม้บ้าง น้ำท่วมบ้าง เป็นต้นนะคะ ถ้าไม่มีใครเจริญทานกุศลเลย ไม่มีใครสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน และกัน โลกนี้ก็ย่อมจะเดือดร้อน และมีความทุกข์ยิ่งกว่านี้มากเชียวค่ะ

    คุณวันทนา เรื่องของศีลก็คงเหมือนกันนะคะ ถ้าไม่มีการขจัดขัดเกลากิเลสด้วยการรักษาศีลเลย โลกนี้ก็คงจะแย่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการขจัดขัดเกลากิเลสนี่นะคะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นว่า ยิ่งมีการขจัดขัดเกลากิเลสมากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้สัตวโลกพ้นจากความทุกข์เดือดร้อนมากเท่านั้น อย่างในเรื่อง บุญญกิริยาวัตถุที่เป็นหมวดของศีลนั้น ก็มีทั้งอปจายนะ และเวยยาวัจจะรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงศีลที่เป็นการละเว้นทุจริตกรรมเท่านั้น แต่ยังมีการเจริญกุศลที่ขจัดขัดเกลากิเลสด้วยการฝึกอบรมตนให้อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และสงเคราะห์ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย

    คุณวันทนา จริงค่ะอาจารย์ เช่นผู้ที่มีพระคุณที่สุดในชีวิตของเรานะคะ ซึ่งได้แก่คุณพ่อคุณแม่ ถ้าเพียงแต่ว่าเราตอบแทนพระคุณของท่านด้วยการทำตนเป็นคนดี เว้นทุจริตกรรมทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันเราประพฤติไม่อ่อนน้อม ไม่รับใช้ทำกิจธุระของท่านเมื่อถึงเวลาที่ควรจะช่วยเหลือท่าน ก็นับว่าไม่พอค่ะ เพราะพระคุณของท่านนั้นมีมากมายเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกรรมวรรคที่ ๒ สพรหมสูตร ข้อ ๖๓ ก็ได้กล่าวถึงคุณธรรมของมารดาบิดาที่มีต่อบุตร และคุณธรรมที่บุตรพึงมีต่อมารดาบิดาไว้ว่า ตระกูลใดที่มารดาบิดาได้รับการบูชาจากบุตร ตระกูลนั้นชื่อว่าพรหม ชื่อว่ามีบูรพาจารย์ ชื่อว่ามีบูรพเทพ ชื่อว่ามีอาหุเนยยบุคคล เพราะมารดาบิดานั้นมีอุปการะคุณ และอนุเคราะห์บุตรเป็นอย่างมาก มารดาบิดาจึงได้ชื่อว่าพรหม บูรพาจารย์ และอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะฉะนั้นบุตรที่เป็นบัณฑิตจึงพึงนอบน้อมสักการะมารดาบิดาด้วยข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง และพึงบำรุงมารดาบิดาทุกทาง คุณวันทนาก็คงจะเห็นว่า บุตรที่ดีนั้นน้อมรับใช้ และบำรุงท่านทุกๆ ทางด้วย และการอ่อนน้อมต่อมารดาบิดา และการรับใช้บำรุงท่านนั้นก็ไม่ใช่เป็นแต่เพียงหน้าที่ของบุตรที่ดีเท่านั้น ยังเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสของตัวเองด้วยการเจริญกุศลที่เป็นอปจายนะ และเวยยาวัจจะด้วย

    คุณวันทนา ดิฉันเห็นด้วยค่ะอาจารย์ เพราะถึงแม้ว่าลูกทุกคนจะรู้พระคุณของพ่อแม่ แต่ที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสรับใช้ท่านหรือบำรุงท่านเท่าที่ควรจะกระทำ ก็เห็นจะเป็นเพราะกิเลสนั้นเอง อย่างเวลากำลังโกรธก็ย่อมมีกิริยาอาการที่ขาดความนอบน้อมต่อท่าน หรือเวลาที่กำลังทำอะไรเพลิน เช่น กำลังอ่านหนังสือเพลินๆ หรือเล่นอะไรสนุกๆ อยู่ แล้วท่านใช้สอนให้ช่วยทำอะไรให้ก็ผัดไปไม่ยอมทำ ก็ทำให้พ่อแม่ขุ่นเคือง นี่ก็เป็นเพราะกิเลสนั่นเอง อาจารย์คะ การทดแทนพระคุณของพ่อแม่นี่นะคะ ประการอื่นยิ่งไปกว่าการอ่อนน้อม การปรนนิบัติรับใช้ จะมีอย่างอื่นอีกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๗๘ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุว่า การตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาที่ทำไม่ได้ง่ายนั้นก็มี เพราะเพียงการปรนนิบัติรับใช้มารดาบิดาด้วยประการต่างๆ นั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนพระคุณมารดาบิดา แต่การที่ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธาตั้งมั่นในศรัทธา ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศีลตั้งมั่นในศีล ทำให้มารดาบิดาที่ตระหนี่ตั้งมั่นในการบริจาค ทำให้มารดาบิดาที่ไม่เจริญปัญญาตั้งมั่นในการเจริญปัญญา การกระทำอย่างนี้จึงจะชื่อว่าตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา

    แล้ว

    คุณวันทนา ก็แสดงว่า อะไรๆ ก็ไม่มีค่าเสมอกับการตั้งมั่นอยู่ในกุศลเลยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลย ในขุททกนิกาย สิริชาดก ก็ได้พูดถึงเรื่องบุญกุศลไว้ว่า คนที่ไม่มีบุญกุศลนั้น ถึงแม้ว่าจะมีศิลปะวิชาความรู้หรือไม่ก็ตาม เขาก็ย่อมจะขวนขวายรวบรวมเงินไว้เป็นอันมาก แต่ว่าคนมีบุญย่อมได้ใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น

    คุณวันทนา จริงค่ะอาจารย์ อย่างที่เราเป็นห่วงกังวลกันอยู่ทุกวันนี้นะคะ ต่างคนต่างก็แสวงหาทรัพย์เก็บรวบรวมไว้ถึงจะได้มาก ถึงจะเก็บได้ก็จริง แต่ถ้าผู้นั้นบุญไม่ถึงแล้ว การที่แสวงหาได้มา และเก็บรักษาไว้นั้นก็เป็นการเหนื่อยเปล่า เพราะตัวเองไม่มีโอกาสได้ใช้สอยทรัพย์ที่ตัวหามาได้ สำหรับผู้ที่มีบุญอย่างพวกลูกหลานของคนเหล่านี้นะคะ ไม่ต้องหา ไม่ต้องเก็บ ก็มีโอกาสได้ใช้สอยทรัพย์นั้นได้สบายๆ ตามที่เห็นๆ อยู่ทั่วๆ ไป อาจารย์คะ สำหรับเรื่องอปจายนะ และเวยยาวัจจะที่พุทธบริษัทจะพึงมีต่อพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดนะคะ ควรจะทำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ สำหรับอปจายนะ และเวยยาวัจจะ ที่พุทธบริษัทพึงมีต่อพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดนั้นนะคะ ก็ด้วยการศึกษา และปฏิบัติธรรมด้วยความนอบน้อมเคารพอย่างยิ่งค่ะ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ท่านสามเณรจุนทะ และท่านพระอานนท์ ในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตรว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใดที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง บริษัททั้งหมดเทียวพึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงเป็นไปตลอดกาลยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย นี่ก็เป็นการศึกษา และการปฏิบัติธรรมที่ถวายความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยอย่างสูงที่สุดค่ะ

    คุณวันทนา สำหรับวันนี้ เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในคราวหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ