บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๐

    โทษของสรรเสริญ และนินทาผิด

    ภิกษุผู้เห็นถูกขั้นปริยัติ แต่เห็นผิดขั้นปฏิบัติ


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ คงจะมีผู้ที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การที่จิตใจจะเบาบางจากกิเลสทั้งหลายได้นั้น ก่อนอื่นก็จะต้องพิจารณาจิตใจของตนเองว่ายังมีกิเลส และมีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ จากกิเลสนั้นๆ มากน้อยเพียงไร การละกิเลสต้องละเป็นขั้นๆ การศึกษาธรรมเรื่องกุศลธรรม และอกุศลธรรม จะทำให้เห็นโทษของกิเลสละเอียดขึ้น และเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น อาจารย์คะ เท่าที่เราได้สนทนากันมาแล้วถึงเรื่องต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ และบุคคลต่างๆ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ และได้ทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เพื่อประโยชน์สุของแก่ผู้ฟัง และเพื่อให้ผู้ฟังได้ประพฤติปฏิบัติตาม และรู้ตามธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วยนั้น สำหรับอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเรียกร้องกลับมาได้ก็จริง แต่เรื่องราว และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ที่อาจารย์ได้ยกมากล่าวในพระไตรปิฎกนั้น ดิฉันรู้สึกว่าได้ช่วยทำความกระจ่างแก่พวกเราในสมัยนี้ คือทำให้ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในสมัยนั้นเสมือนหนึ่งว่าเราได้ร่วมอยู่ในสถานที่ และในเหตุการณ์นั้นด้วย ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่งของพระสงฆ์สาวกที่ได้ทรงจำเรื่องราว และพระธรรมวินัยสืบๆ ต่อๆ กันมาจนถึงสมัยนี้ อาจารย์คะ ถ้าหากว่าผู้ใดต้องการที่จะรู้แนวทางของการปฏิบัติที่ดีงาม และถูกต้อง ดิฉันคิดว่าก็คงจะสามารถค้นหาได้จากพระธรรมวินัยทุกอย่างทีเดียวนะคะ เพราะว่าพระองค์ก็คงได้ทรงสอนไว้ครบหมดทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์สัตวโลก ด้วยการประทานพระธรรมคำสอนไว้อย่างละเอียดครบหมดทุกอย่าง และทุกขั้น ทั้งขั้นที่เว้นจากการประพฤติชั่ว บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และขั้นชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ยิ่งได้ศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่าพระองค์ทรงปิดกั้นช่องทาง ไม่ให้เราเข้าใจผิด และประพฤติผิดได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณาอธิบายได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ อย่างในเรื่องของการสรรเสริญ คุณวันทนาคิดว่าการสรรเสริญหรือคำสรรเสริญนั้นมีโทษหรือมีอันตรายบ้างไหมคะ หรือว่าเมื่อเป็นการสรรเสริญแล้วละก็ดีทั้งนั้น และควรจะสรรเสริญเสมอไป หรือว่าเมื่อใครสรรเสริญอะไร สรรเสริญใคร เราก็ควรชื่นชมยินดีไปด้วย เพราะใครๆ ก็ย่อมชอบคำสรรเสริญ และย่อมเห็นว่าการสรรเสริญนั้นดีกว่าการติ

    คุณวันทนา ก็ควรจะสรรเสริญกันในสิ่งที่ดีเท่านั้นใช่ไหมคะ ส่วนในสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ควรจะสรรเสริญ

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่จะรู้ว่าอะไรดีหรือใครดีควรสรรเสริญ ก็จะต้องทบทวนให้รอบคอบเสียก่อนใช่ไหมคะ มิฉะนั้นก็ไม่รู้ว่าผู้นั้นหรือเรื่องนั้นสมควรสรรเสริญหรือไม่ ซึ่งแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงแสดงไว้พร้อมทั้งเหตุ และผลด้วยค่ะ

    คุณวันทนา พระองค์ได้ทรงแสดงไว้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จุตกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ภัณฑคามวรรคที่ ๑ ขตสูตรที่ ๑ ข้อ ๓ พระองค์ทรงแสดงว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาลไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรม มิใช่บุญเป็นอันมาก

    คุณวันทนา และธรรม ๔ ประการ เกี่ยวกับเรื่องการสรรเสริญด้วยหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นเรื่องสรรเสริญ ๒ ประการ และเป็นเรื่องความเลื่อมใส ๒ ประการ

    คุณวันทนา ก็ย่อมจะแสดงว่าผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ ผู้นั้นก็เป็นคนพาลประกอบไปด้วยโทษ หรือโดยนัยกลับกันก็คือลักษณะของคนพาลที่นักปราชญ์ติเตียนนั้นย่อมมีธรรม ๔ ประการนี้ด้วยนั่นเอง แล้วธรรม ๔ ประการนี้มีอะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ธรรม ๔ ประการนั้นคือ

    ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑

    ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วกล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑

    ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

    คุณวันทนา ถ้าหากเราไม่อาศัยพระพุทธวจนะข้อนี้เป็นเครื่องเตือนใจในการที่จะพิจารณา และใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อน ก็อาจจะเป็นเหตุให้เราหลงผิด และสรรเสริญในบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ และไม่ควรเลื่อมใส ก็ได้นะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าดูผิวเผินก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายร้ายแรงอะไร ตามความคิดธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะเห็นว่า แม้แต่เรื่องที่เห็นว่าเล็กๆ น้อยๆ นั้น พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งในโทษภัยใหญ่หลวงที่จะเกิดจากมูลเหตุในการไม่พิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ได้

    คุณวันทนา การสรรเสริญผู้ที่ไม่ควรสรรเสริญ มีโทษร้ายแรงยังไงบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาสรรเสริญคนผิด คุณวันทนาก็จะต้องเห็นว่าสิ่งที่ไม่ควรสรรเสริญนั้นเป็นสิ่งที่ดี และถูกต้องแล้ว จึงได้สรรเสริญใช่ไหมคะ และเมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี น่าสรรเสริญแล้วก็ย่อมจะเลื่อมใส เมื่อเลื่อมใสแล้วก็ย่อมจะประพฤติปฏิบัติตามในทางที่ผิดนั้นด้วย เมื่อสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรเลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมจะไม่สรรเสริญ และไม่เลื่อมใสในคนที่ควรสรรเสริญ ควรเลื่อมใส เพราะว่าธรรมของคนควรสรรเสริญ และควรเลื่อมใสนั้นย่อมตรงกันข้าม และเมื่อไม่สรรเสริญ ไม่เลื่อมใสในคนที่ควรสรรเสริญ และควรเลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้นั้นไม่ได้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูก ที่ควรสรรเสริญแล้ว ก็ยังทำให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ผิดด้วยค่ะ

    คุณวันทนา ก็เป็นโทษทั้ง ๒ ทาง ทั้ง ๒ ชั้นทีเดียวนะคะ คือนอกจากจะไปหลงสรรเสริญ หลงเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดซึ่งเป็นบาปกรรมไม่ใช่กุศล เพราะว่าเห็นผิดเป็นถูก แล้วยังทำให้ไม่ได้เจริญกุศล คือไม่สรรเสริญ และไม่เลื่อมใสในบุคคลที่ควรสรรเสริญ และเลื่อมใส เลยทำให้ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามในทางที่ถูกด้วย

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงแสดงอีกด้วยค่ะว่า ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น

    คุณวันทนา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ย่อมค้นหาโทษด้วยปากนั้น ฟังดูแล้วด้วยอรรถก็รู้สึกว่าไพเราะมากทีเดียวนะคะ เพราะว่าธรรมดาสิ่งที่เราควรแสวงหาหรือควรค้นหา ก็ควรจะเป็นแต่สิ่งที่ดีงาม หรือควรจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่คนพาลหรือคนที่เห็นผิดเป็นถูกนั้น แทนที่จะค้นหาสิ่งที่ดี ค้นหาสิ่งที่ประเสริฐ ก็กลับไปค้นหาสะสมหรือแสวงหาโทษด้วยปากคือสรรเสริญคนที่ควรนินทา และนินทาคนที่ควรสรรเสริญ ในข้อนี้ถ้าหากไม่พิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็คงไม่รู้เลยว่าปากก็ทำให้เกิดโทษได้มากเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ในสูตรนี้พระองค์ทรงอนุเคราะห์สัตวโลก ด้วยการทรงแสดงเหตุของการสรรเสริญ และการเลื่อมใสผิดว่า เป็นเพราะไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ และทรงแสดงผลว่า การที่มีจิตประทุษร้ายหรือคิดร้อยต่อผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติถูกนั้น เป็นบาปกรรมที่มีโทษมาก

    คุณวันทนา ถ้าพระองค์ไม่ทรงพระมหากรุณาตักเตือนพวกเราไว้ หรือถ้าผู้ใดขาดการพิจารณาในความลึกซึ่งของพระพุทธวจนะข้อนี้แล้ว ก็คงจะไม่เห็นพระคุณของพระองค์ที่ได้ทรงปิดกั้นไม่ให้เราหลงประพฤติผิดปฏิบัติผิด แม้ในสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วอาจจะเห็นกันว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เลยมองข้ามไปเสีย แต่สิ่งละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นแหละที่เรามองข้ามไปหรือมองไม่เห็นโทษ จึงไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว อาจารย์คิดว่ายังมีเรื่องอื่นอีกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีมากค่ะ ถ้าเราไม่มองข้าม และไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้ว ย่อมเห็นคุณของพระธรรมว่ามีค่าเหนือรัตนะใดๆ ในโลก มิฉะนั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงจะไม่สละทุกสิ่ง สละทรัพย์ สละราชสมบัติ และความสุขทั้งปวงในโลก เพื่อแสวงหาธรรมซึ่งประเสริฐเหนือรัตนะใดๆ เพราะว่ารัตนะคือธรรมเท่านั้นที่สามารถดับทุกข์ของชาวโลกได้อย่างแท้จริง

    คุณวันทนา สำหรับในเรื่องความละเอียดรอบคอบในการศึกษาธรรม และรวมถึงในเรื่องของการเผยแพร่พระธรรมด้วย ดิฉันคิดว่าพระองค์คงได้ทรงตักเตือนไว้มากทีเดียวนะคะ เพราะว่าธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากแก่การที่จะเข้าใจได้โดยถูกต้องทั้งในขั้นปริยัติคือการศึกษา ขั้นปฏิบัติ และขั้นปริเวธคือการรู้แจ้งประจักษ์ในธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้พระองค์ก็คงจะได้ทรงตักเตือนไว้มากทีเดียว เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญ

    ท่านอาจารย์ มีสูตรหนึ่งค่ะ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ เพราะดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากสูตรนี้ เพราะว่าสิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทสั่งสอน สิ่งนั้นก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททุกกาลสมัย

    คุณวันทนา ในสูตรนั้นคงจะเกี่ยวกับการศึกษา และการเผยแพร่พระธรรมวินัยด้วย ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เถรวรรคที่ ๔ เถรสูตร ข้อ ๘๘ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภิกษุผู้เถระ ๒ จำพวก คือ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่เกื้อกูล แต่เพื่อทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

    คุณวันทนา ภิกษุผู้เถระไม่น่าจะเป็นอันตรายแต่ใครๆ เลยนะคะ หรือไม่น่าจะนำทุกข์มาให้ใครๆ ได้เลย แต่ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้เช่นนั้น เราก็น่าจะได้ทราบนะคะ ว่า ธรรม ๕ ประการนั้นมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ธรรม ๕ ประการนั้นก็คือ ภิกษุผู้เถระ เป็นรัตตัญญู บวชนาน ๑ เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต ๑ เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ๑ เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ (ความเห็น) ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ แต่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต ดังนั้นภิกษุผู้เถระนั้นย่อมจะยังชนหมู่มากให้ห่างเหินจากพระสัทธรรม และให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม และชนหมู่มากก็ย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของภิกษุนั้นว่าเป็นภิกษุผู้เถระ รัตตัญญู บวชนาน มีชื่อเสียง มียศ มีชนหมู่มากเป็นบริวาร ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ฯลฯ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสุตะ เป็นพหูสูต ฯลฯ เมื่อมีความเห็น และเลื่อมใสเช่นนั้น ก็ย่อมจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามไปด้วย

    คุณวันทนา สำหรับภิกษุผู้เถระบวชนาน มีชื่อเสียง มีลาภ และเป็นพหูสูต ฯลฯ ท่านจะมีความเห็นผิด และเป็นมิจฉาทิฏฐิได้เพราะเหตุใดคะ

    ท่านอาจารย์ มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นวิปริตนั้นมีได้ในขั้นปฏิบัติค่ะ เพราะว่าธรรมขั้นปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งธรรมทั้งปวงซึ่งเป็นขั้นปฏิเวธนั้นสุขุม และละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าขั้นปริยัติ ถ้าคุณวันทนาสังเกตจะเห็นว่าในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทิฏฐิไว้ ๒ ขั้น คือทิฏฐิขั้นปริยัติ ๑ และทิฏฐิขั้นปฏิบัติ ๑ ดังข้อความที่ว่า

    ภิกษุเถระนั้นทรงจำไว้คล่องปากขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ คือความเห็นซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ข้อความตอนนี้แสดงว่า ทิฏฐิขั้นนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็นถูกขั้นปริยัติ

    ส่วนข้อความต่อไปที่ว่า ภิกษุผู้นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต ย่อมยังชนหมู่มากให้ห่างเหินพระสัทธรรม ทิฏฐิในข้อความตอนนี้เป็นความเห็นผิดในขั้นปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าเป็นผู้มีความชำนาญเชี่ยวชาญในปริยัติสักเท่าไร ถ้ามีความเห็นผิดในขั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมจะทำให้คนอื่นพลอยหลงผิดปฏิบัติผิดตามไปด้วย ซึ่งก็ย่อมจะนำทุกข์มาให้ผู้ที่หลงปฏิบัติผิดตามไปด้วยเป็นอันมาก

    คุณวันทนา ความเห็นผิดในขั้นปฏิบัติจะนำทุกข์มาให้ได้อย่างไรกัน เพราะว่าไม่ใช่ความเห็นผิดขั้นที่ว่าบุญกรรมไม่มี ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำกรรมชั่ว และเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เช่น ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือว่าไปประพฤติผิดในบุตร ภรรยาของคนอื่น หรือไปกล่าววาจาที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงให้คนอื่นได้รับความเสียหาย

    ท่านอาจารย์ ดูเผินๆ ก็เกือบจะไม่เห็นโทษนะคะ แต่พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่เป็นสอง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ลักษณะ และเหตุผลของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมใด ธรรมนั้นก็มีลักษณะตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แต่ว่าสิ่งใดที่เป็นโทษนั้นเมื่อผุ้ใดขาดการพิจารณาจึงไม่เห็นโทษ แต่เมื่อผู้ใดพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วก็ย่อมจะเห็นโทษของสิ่งนั้นได้

    สำหรับความเห็นผิดขั้นปฏิบัตินั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ไม่ใช่สุข ไม่เกื้อกูล แต่เพื่อทุกข์นั้นก็เพราะว่าเมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่าละกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว หรือว่าหมดกิเลสแล้ว ก็หมดโอกาสที่จะเจริญการปฏิบัติที่ถูกได้ ซึ่งถ้าการปฏิบัติถูกไม่มี ความเห็นถูกขั้นปฏิบัติไม่มี กิเลสก็หมดไม่ได้ เมื่อกิเลสยังมีอยู่ก็เป็นเหตุให้เกิดกรรมตามกำลังของกิเลสนั้นๆ และกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ได้รับสุข ทุกข์ มากน้อยวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจบสิ้น ซึ่งเมื่อผู้ใดปฏิบัติผิด และเห็นผิดแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากพระธรรมที่ได้ฟัง และได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นผิดปฏิบัติผิด ย่อมทำให้คนอื่นเห็นผิด และปฏิบัติผิดตามไปด้วย จึงไม่มีประโยชน์ และไม่เกื้อกูลแก่คนทั้งหลาย แต่ตรงกันข้าม ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์แก่คนทั้งหลายที่ควรจะได้พ้นทุกข์ ถ้าได้ปฏิบัติถูก

    คุณวันทนา ด้วยเหตุนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งในลักษณะของบุคคล และลักษณะของธรรมทั้งปวงนี่เองนะคะ พระองค์จึงได้ประทานพระธรรมวินัย และได้ทรงตักเตือนสั่งสอนไว้เสียครบถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งถ้าหากว่าพวกเราพุทธบริษัทจะถือพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ และศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และถ้วนถี่ ด้วยความยำเกรงในพระพุทธองค์ และในธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ พวกเราพุทธบริษัทก็ย่อมได้ที่พึ่งอย่างแท้จริง เพราะว่าพระธรรมของพระองค์นั้นย่อมปิดกั้นไม่ให้เราเกิดอกุศลหรือว่าเข้าใจผิดได้เลยทีเดียว ในสูตรนี้จะหมายรวมถึงผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ศึกษา และแสดงธรรมด้วยหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ที่พระองค์ตรัสถึงภิกษุผู้เถระในสูตรนี้ ก็เพราะสูตรนี้พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุค่ะ แต่ว่าธรรมใดที่ทรงแสดงแก่ภิกษุ ธรรมนั้นก็เป็นการแสดงแก่พุทธบริษัท และหมายรวมถึงพุทธบริษัททั้ง ๔ ด้วย

    คุณวันทนา ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่านอกจากพระองค์จะทรงใกล้ชิด และแวดล้อมด้วยภิกษุแล้ว ภิกษุก็ยังเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัทด้วยนั่นเองนะคะ

    ท่านผู้ฟังคงจะทราบดีแล้วว่า สรรเสริญ และนินทาเป็นธรรมประจำโลก เมื่อยังมีโลกอยู่ตราบใด นินทา และสรรเสริญก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น ดังข้อความในคาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗ ข้อ ๒๗ ที่ว่า “ดูกร อตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้ที่นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียวหรือได้รับสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้” โดยมากพวกเรามักจะคิดกันแต่เรื่องละเว้นการนินทา แต่เรายังไม่ได้ตระหนักถึงโทษของการสรรเสริญว่า แม้การสรรเสริญก็ย่อมเป็นโทษได้ ถ้าการสรรเสริญ และการนินทานั้นเกิดจากการเห็นผิด และเข้าใจผิด ก็ย่อมจะทำให้ผู้สรรเสริญ และนินทานั้นห่างไกลจากพระสัทธรรม จากพระสูตรที่ได้ยกมาสนทนาแล้วนั้น ย่อมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์แก่พุทธบริษัทด้วยพระธรรมวินัยที่ละเอียดสุขุมรอบคอบในทุกทาง ที่จะไม่ทำให้พุทธบริษัทประมาท และพลั้งพลาด อันเป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิดได้ แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นจะเห็นกันว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละค่ะ ก็จะเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์โทษภัยอันใหญ่หลวงได้ทั้งสิ้น ถ้าไม่พิจารณาเห็นโทษของภัยใหญ่อันจะเกิดจากภัยเล็กๆ น้อย เหล่านี้ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ