บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒๔

    ธัมมสวนะ การฟังธรรม

    อนุตตริย สิ่งที่ยอดเยี่ยม ๖


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ถ้าเราจะพูดกันถึงความสุขที่เราปรารถนากันอยู่ทุกคนนั้นย่อมไม่พ้นจากอารมณ์ที่น่ายินดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือท่านผู้ฟังคิดว่าจะมีอารมณ์อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้อีกคะ ถ้าท่านจะลองย้อนระลึกดูความเป็นมาของชีวิตในวัยเด็กของท่าน ก็จะเห็นได้ว่าความสุขของเด็กเกิดจากการได้กิน ได้เที่ยว ได้เล่น ซึ่งก็หาได้พ้นไปจากความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ไม่ ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องความสุขของผู้ใหญ่ จะเห็นว่าชีวิตที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ของตัวเอง หรือสำหรับท่านที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ย่อมจะมีภาระหนักยิ่งกว่านั้นที่จะต้องอดทนต่อสู้ ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายทั้งใจ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ถ้าตนได้กลับไปมีชีวิตเช่นวัยเด็กอีกก็จะดีไม่น้อย คงจะเป็นสุขไม่น้อย เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่ต้องทำอะไรให้เหน็ดเหนื่อย เมื่อเป็นนักเรียนก็คิดว่าพ้นจากวัยนักเรียนแล้ว ทำงานหาเงินใช้ได้เองคงจะมีความสุข พอได้ทำงานเข้าจริงๆ ก็ประสบกับปัญหาในเรื่องทำงาน เกิดท้อใจ อยากกลับไปเป็นนักเรียนใหม่ เมื่อเริ่มทำงานก็พอใจกับเงินเดือนขั้นแรกที่ได้รับ ทำๆ ไปก็เกิดไม่พอใจ อยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เพราะเห็นคนอื่นที่เข้ามาใหม่ๆ ได้เงินเดือนมากกว่า เกิดมีปมด้อยขึ้น บางคนทำงานนานๆ ไปก็เบื่อ อยากเปลี่ยนงานใหม่ ที่เป็นข้าราชการก็อยากเปลี่ยนเป็นพ่อค้าเพราะคิดว่าคงดีกว่า พ่อค้าทำกิจการไปเกิดขาดทุน คิดว่าเป็นข้าราชการมีเงินเดือนที่มั่นคง ไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนการล้มละลายในอนาคตจะสบายกว่า อย่างนี้เป็นต้น บางครั้งท่านเคยถามตัวเองไหมคะว่า ชีวิตเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้เท่านั้นหรือ เกิดมาเพื่อทำงาน กินนอน หาความเพลิดเพลินจากรูป เสียง กลิ่น รส ไปวันหนึ่งๆ แล้วก็ตายไปเท่านี้เองหรือคือสิ่งที่ชีวิตต้องการ จากหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมทำให้ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกพิจารณาเห็นว่า ชีวิตนั้นจะไม่สิ้นสุดลงเพียงแต่ความตายในภพนี้ชาตินี้เท่านั้น ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส ตราบนั้นก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่เรื่อยไป ส่วนจะไปเกิดดีเกิดไม่ดี มีความสุขมากหรือมีความทุกข์มากนั้นก็ขึ้นอยู่กับกรรมคือการกระทำของแต่ละคน ในบรรดากรรมคือการกระทำทั้งหลาย กุศลกรรมเท่านั้นเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกุศลกรรมทั้งหลายไว้ในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งจากการสนทนาของเราในครั้งก่อนๆ อาจารย์สุจินต์ได้นำมาเสนอแก่ท่านผู้ฟังไว้แล้ว ๘ ประการ ซึ่งได้แก่

    ทิฏฐุชุกรรม คือการทำความเห็นให้ถูกต้องตามสภาพธรรมที่เป็นจริง

    ทาน คือการให้ การเสียสละทรัพย์สิ่งของเพื่ออนุเคราะห์ผู้อื่น

    ปัตติทาน คือการอุทิศกุศลที่ตนได้กระทำแล้วให้ผู้อื่นได้อนุโมทนา

    ปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนายินดีในบุญกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

    ศีล คือการละเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา

    อปจายนะ คือการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม

    เวยยาวัจจะ คือการช่วยเหลือผู้อื่น

    ภาวนา คือการเจริญกุศลที่ขจัดขัดเกลากิเลสอย่างกลาง และอย่างละเอียด การเจริญภาวนามี ๒ คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

    ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เราก็จะได้พูดกันถึงบุญญกิริยาวัตถุในหมวดของภาวนาข้อต่อไป คือ ธัมมสวนะ การฟังธรรม ๑ และธัมมเทศนา การแสดงธรรม ๑ ซึ่งดิฉันขอเริ่มการสนทนาในวันนี้ด้วยปัญหาที่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์คะว่า เพราะเหตุใดทั้งสองอย่างนี้จึงได้รวมอยู่ในหมวดของภาวนา

    ท่านอาจารย์ การที่ธัมมสวนะ และธัมมเทศนารวมอยู่ในหมวดของภาวนา ก็เพราะเป็นการเจริญกุศลในขั้นของปัญญาค่ะ การฟังธรรม และการแสดงธรรมนั้นอุปการะแก่การเจริญกุศลขั้นภาวนาด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจเหตุ และผลของการเจริญภาวนา ปัญญาที่เป็นขั้นภาวนาก็เกิดไม่ได้

    คุณวันทนา การเจริญสมถภาวนาซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ที่ระงับกิเลสอย่างกลางไม่ให้เกิดขึ้นนั้น มีก่อนการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ แต่ว่าอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบระงับกิเลสเป็นสมถภาวนานั้นนะคะ หลังการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีรวมทั้งสิ้น ๔๐ ประการค่ะ แต่สมัยก่อนการตรัสรู้บางอารมณ์ก็ยังไม่มี เช่น พุทธานสุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ซึ่งได้แก่การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม และคุณของพระสงฆ์นั้นก่อนการตรัสรู้ยังไม่มี

    คุณวันทนา และสำหรับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก่อนการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงไม่มีซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ เพราะเหตุว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการเจริญปัญญาที่ละกิเลสอย่างละเอียดให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้วิธีเจริญปัญญาขั้นนี้ และไม่ได้ทรงเทศนาให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ก็ไม่มีใครสามารถเจริญปัญญาขั้นนี้ได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ สำหรับเรื่องประโยชน์ของการฟังธรรม ดิฉันจำได้ว่าเราได้เคยพูดกันมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นสำหรับในคราวนี้ ดิฉันอยากจะขอเรียนถามถึงข้อข้องใจต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการฟังธรรมหรือการศึกษาธรรม เพราะเหตุว่าเท่าที่เป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้ และตามที่คิดว่าจะเป็นที่สนใจของท่านผู้ฟัง ก็คืออย่างนี้ค่ะ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ถ้าหากมีใครสนใจอยากจะฟังธรรม ถ้าจะไปวัดก็มักจะกลัวคนอื่นเห็นแล้วจะเข้าใจว่าเป็นคนธรรมธัมโม หรือว่าเป็นคนคร่ำครึล้าสมัย ข้อนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมนั้นเป็นการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พุทธบริษัท และบุคคลต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้ตราบจนกระทั่งใกล้จะปรินิพพาน สำหรับบุคคลในสมัยนี้ก็ไม่มีใครทราบว่า จะได้เคยฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์มาบ้างแล้วหรือเปล่าในอดีตชาติก่อนๆ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น หรือในอดีตชาติตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แต่ถึงแม้ว่าเราไม่อาจจะรู้ได้ว่าในชาติก่อนๆ นั้นเราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่ว่าในปัจจุบันชาตินี้ การที่เรายังมีโอกาสฟังพระธรรมที่พระองค์ประทานไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์นั้น ก็นับว่าเป็นการได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่าการได้ฟังสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด

    สำหรับข้อข้องใจที่คุณวันทนาว่า คนที่สนใจฟัง และศึกษาธรรม ไปวัดเพื่อจะเจริญกุศลนั้นจะเป็นคนคร่ำครึหรือล้าสมัยหรือไม่นั้น ดิฉันขอสมมติให้เราย้อนกลับไปถึงเมื่อสมัย ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ณ ป่าโคสิงคสาลวันซึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ขณะนั้น ตามข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค มหาโคสิ่งคสาลสูตร ข้อ ๓๖๙ - ๓๘๒ ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวันพร้อมด้วยพระเถระมากมายหลายรูป ผู้ซึ่งเป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศในคุณธรรมด้านต่างๆ ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นแล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะ กล่าวชวนท่านพระมหากัสสปะให้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระมหากัสสปะก็รับคำแล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะ ก็เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม เมื่อท่านพระอานนท์เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ก็เข้าไปหาท่านพระเรวัตตะ และกล่าวชวนท่านพระเรวัตตะ ให้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรมด้วย เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระเรวัตตะ และท่านพระอานนท์มา ท่านก็กล่าววเชื้อเชิญต้อนรับ และสนทนาธรรมกัน

    คุณวันทนา ทั้งๆ ที่แต่ละท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ ทรงความเป็นเอตตัคคะในทางต่างๆ ท่านก็ยังใคร่สนทนาธรรมกันโดยไม่รู้จักเบื่อเลยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย อสีตินิบาตชาดก มหาสุตโสมชาดก กล่าวว่า “ไฟไหม้หญ้า และไม้ย่อมไม่อิ่ม และสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้วย่อมไม่อิ่มด้วยสุภาษิต” คือใคร่ที่จะได้ฟังอยู่เสมอ

    คุณวันทนา แต่ก็น่าสงสัยนะคะ อาจารย์ เพราะเหตุว่าพระเถระสาวกแต่ละท่านที่ได้กล่าวนามมาแล้วนั้น ท่านเองก็ได้รู้แจ้งในธรรม และบรรลุความเป็นพระอรหันต์ และทรงความเป็นเอตตัคคะในทางต่างๆ กันทั้งนั้นเลย แล้วท่านจะสนทนากันในเรื่องอะไรกันล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวต้อนรับท่านพระอานนท์แล้ว ท่านก็ถามท่านพระอานนท์ก่อนว่าป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านพระอานนท์มีความเห็นว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยพระภิกษุเช่นไร คุณวันทนาคิดว่าท่านพระอานนท์ตอบท่านพระสารีบุตรว่ายังไงคะ

    คุณวันทนา ท่านพระอานนท์เป็นเอตตัคคะทางพหูสูตร ดิฉันคิดว่าท่านก็คงจะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุที่เป็นพหูสูตร ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    คุณวันทนา แล้วท่านพระสารีบุตรก็คงถามพระสาวกองค์อื่นๆ เช่นเดียวกันซินะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อท่านพระอานนท์ตอบแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็ถามท่านพระเรวัตตะ แล้วถามท่านพระอนุรุทธะ แล้วถามท่านพระมหากัสสปะ แล้วก็ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะ

    คุณวันทนา แล้วท่านพระสาวกก็คงตอบไปตามคุณธรรมที่ท่านเป็นเลิศซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระเรวัตตะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยพระภิกษุที่ยินดีในสมาบัติ คือการที่จิตเป็นสมาธิขั้นฌานที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยพระภิกษุที่ตรวจดูโลกด้วยทิพยจักขุ ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุผู้ยินดีในธุดงค์ และสรรเสริญคุณของธุดงค์

    คุณวันทนา ธุดงค์ คืออะไรคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ธุดงค์ คือวัตรข้อปฏิบัติที่ขัดเกลาความประพฤติเป็นพิเศษต่างหากจากศีลค่ะ

    คุณวันทนา แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะล่ะคะ ท่านตอบว่ายังไง

    ท่านอาจารย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุผู้กล่าวอภิธรรมกถา และถามตอบปัญหาของกัน และกัน

    คุณวันทนา มีใครถามท่านพระสารีบุตรบ้างหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ พอท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบแล้ว ท่านก็ได้ถามท่านพระสารีบุตรบ้างค่ะ

    คุณวันทนา ท่านตอบว่ายังไงคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยพระภิกษุที่อบรมจิตแล้ว และไม่เป็นไปตามอำนาจจิต ความจริงท่านตอบยาวกว่านี้ แต่ใจความเป็นอย่างนี้ค่ะ

    คุณวันทนา แล้วแต่ละท่านตกลงกันว่าอย่างไรล่ะคะ เพราะว่าแต่ละท่านก็ตอบกันไปคนละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ท่านก็ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคค่ะ เพื่อว่าเมื่อพระองค์ตรัสพยากรณ์อย่างไร พวกท่านก็จะได้ทรงจำข้อความนั้นไว้

    คุณวันทนา ท่านไม่ถือความเห็นของท่านเป็นใหญ่เลยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านรู้ค่ะว่าปัญญาของท่านไม่เท่าเทียมกับพระผู้มีพระภาค การพยากรณ์ธรรมของท่านอุปมาเหมือนการชั่งด้วยกำมือ แต่การพยากรณ์ธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นอุปมาเหมือนการชั่งด้วยตราชั่งที่เที่ยงตรง

    คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพระสาวกท่านใดเป็นสุภาษิตล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพระสาวกทุกท่านเป็นสุภาษิตโดยปริยาย แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า คำถามที่ว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุซึ่งกลับจากบิณฑบาต และในเวลาหลังภัตแล้วก็บำเพ็ญเพียรเพื่อดับกิเลสให้หมดสิ้นด้วยความไม่ย่อท้อ คุณวันทนาคิดว่า การที่พระเถระทั้งหลายไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังพระธรรมนั้น ท่านพระสาวกเหล่านั้นครึไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ค่ะ ไม่มีใครที่จะกล่าวได้เลยว่า ท่านผู้ทรงคุณวิเศษ ทรงความเป็นเอตัคคะ และใคร่ที่จะได้สดับฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเป็นคนคร่ำครึ เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทที่เลื่อมใสใคร่ที่จะได้สดับฟังพระธรรม ใคร่ที่จะได้ถวายความนอบน้อมสักการะพระองค์ ย่อมมีทั้งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระราชโอรส และข้าราชบริพาร พวกมัลละกษัตริย์ มีทั้งพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ต่างก็พากันหลั่งไหลไปถวายความนอบน้อมสักการะ และฟังธรรม ณ พระวิหารต่างๆ เช่น พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์ และแม้บนยอดเขาคิชฌกูฏที่สงัดวิเวก เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าผู้ที่มีศรัทธาสนใจใครที่จะฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นคนคร่ำครึไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าพุทธศาสนิกชนจะได้รู้นะคะ ว่า การที่มีจิตศรัทธา และมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยจนถึงกับมีความสนใจไปวัด ไปฟังธรรม และไปศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นในสมัยพุทธกาลหรือว่าในสมัยนี้ หรือในสมัยไหนก็ตาม เป็นการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโปรดเวไนยสัตว์ ก็คงจะเห็นได้ว่าการสนใจฟัง และศึกษาธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นการครึหรือว่าล้าสมัยเลยค่ะ คนครึนั้นควรจะเป็นคนที่ไม่รู้ แต่คนที่รู้นั้นเป็นคนที่ไม่ครึ และยิ่งเป็นการรู้สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงเทศนา เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกด้วยพระมหากรุณาคุณด้วยแล้ว การรู้พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็ย่อมจะต้องเลิศกว่าการรู้ตามคนอื่นซึ่งไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา เช่นการรู้วิชาการต่างๆ ทางโลก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอำนวยประโยชน์สุขที่เป็นความสะดวกสบายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้คนที่ไม่รู้เท่าทันพลอยหลงถือว่าเป็นความรู้ที่สูง ที่แน่นอนนั้น ถึงแม้จะถือกันว่าเป็นความรู้สูงสักแค่ไหน แต่ก็ยังเป็นความรู้ตามขั้นความรู้ของปุถุชนคนธรรมดา ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั่นเองแหละค่ะ เพราะฉะนั้นจะถือว่าการรู้วิชาทางโลกนั้นประเสริฐกว่าการรู้วิชาทางธรรม ก็คงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนารู้ไหมคะว่า อะไรเป็นสิ่งที่ประเสริฐหรือยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตเรา

    คุณวันทนา สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ นี่นะคะ ก็คิดว่าการได้เห็นหรือได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิต เพราะว่าใครๆ ก็คงอยากเห็น อยากสดับพระสุรเสียงอันเกิดจากน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณา เพราะว่าพระรูปกายของพระองค์ และน้ำพระเสียงของพระองค์ ย่อมประทับใจพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสเคารพสักการะในพระองค์สุดที่จะประมาณได้ แต่ว่าพวกเราในสมัยนี้ดูจะมีบุญน้อยเสียเหลือเกิน จึงไม่มีโอกาสได้เห็น ได้เฝ้า และได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ของพระองค์

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อนุตตริยวรรคที่ ๓ อนุตตริยสูตร ข้อ ๓๐๑ ได้กล่าวถึงอนุตตริยะคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมไว้ ๖ ประการค่ะ

    คุณวันทนา อะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ อนุตตริยะ ๖ ประการนั้นคือ

    ทัสสนานุตตริยะ การเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ๑

    สวนานุตตริยะ การฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ๑

    ลาภานุตตริยะ ลาภคือการได้ที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ๑

    สิกขานุตตริยะ การศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ๑

    ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ๑

    อนุสสตานุตตริยะ การระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ๑

    รวมเป็นอนุตตริยะ ๖

    คุณวันทนา สำหรับอนุตตริยะ ๖ นี้ก็คงจะเกี่ยวเนื่องกับการฟังธรรมด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นในคราวต่อไป เราก็คงจะได้สนทนากันถึงอนุตตริยะ ๖ อีกครั้งหนึ่ง สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ