แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028


    ครั้งที่ ๑๐๒๘

    สาระสำคัญ

    ทรงจำแนกจิตโดยทวาร

    อถ.อัฏฐสาลินี - อรรถลักษณะของจิตประการต่างๆ สงฺ.ขันธ.คัททูลสูตร


    การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตโดยนัยของทวาร ทรงแสดงให้ทราบว่า ทางตามีจิตเกิดขึ้นกี่ประเภท ทางหูมีจิตเกิดขึ้นกี่ประเภท ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน เพราะว่าจิตบางดวงเกิดได้เฉพาะอาศัยจักขุปสาทเท่านั้น จะอาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น จิตเห็น ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า จักขุวิญญาณ สภาพที่รู้แจ้งทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จะไม่อาศัยเกิดทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร หรือจิตที่กำลัง ได้ยินเสียง คือ โสตวิญญาณ ก็จะเกิดโดยอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวารเท่านั้น จะไม่อาศัยตา หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ

    เพราะฉะนั้น เมื่อทรงจำแนกจิตโดยทวาร ก็ได้ทรงแสดงว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยโสตทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยฆานทวารมี กี่ประเภท จิตที่อาศัยชิวหาทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยกายทวารมีกี่ประเภท และจิตที่อาศัยมโนทวารมีกี่ประเภท นอกจากนั้นยังได้ทรงแสดงว่า จิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้เพียงทวารเดียว จิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวาร ทีละทวาร จิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร ทีละทวาร และจิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวารเลย

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า จิตเกิดทางทวารต่างๆ และรู้อารมณ์ทางทวาร ต่างๆ แต่ผู้ที่ได้อภิญญาจิต ที่เห็นจุติ ปฏิสนธิของสัตว์ เห็นจากทางจักขุทวาร หรือทวารไหนกันแน่

    สุ. ทางมโนทวาร แต่ต้องอาศัยจักขุ ถ้าเป็นจักขุทิพย์

    . ขณะที่เห็นภาพที่ปรากฏ เช่น การจุติของสัตว์ จะเห็นทางจักขุปสาท หรือเห็นทางไหน

    สุ. เห็นทางมโนทวาร เป็นจักขุทิพย์ ต้องอาศัยจักขุปสาท

    . ผู้ที่ได้จักขุทิพย์ เห็นของไกลๆ ก็เหมือนกับแว่นขยาย หรือกล้องขยายทำให้เห็นใกล้ๆ ลักษณะของจักขุปสาท มีการรับกระทบเหมือนแว่นขยาย มีกำลังเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดา ใช่ไหม

    สุ. ต้องอาศัยอาโลกะ คือ แสงสว่าง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยอาโลกกสิณ ถ้าเจริญฌานโดยพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุทิพย์ได้

    . ถ้าเขาไม่ปรารถนาจะให้จักขุทิพย์เกิด ก็คงจะเหมือนกับเราธรรมดา แต่ขณะใดที่เขาปรารถนาจะเห็นของที่ไกล ผิดกับคนธรรมดาที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้ จักขุปสาทของเขาคงกลายเป็นแว่นขยายสามารถจะดึงภาพมาใกล้ๆ ได้ นี่คิดเอง

    สุ. ข้อความในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงไว้ว่า โดยในลักษณะของแว่นขยาย แต่แสดงว่า โดยลักษณะของฌาน กำลังของจิตซึ่งละเอียดในขณะนั้น และอาศัยอาโลกกสิณ ซึ่งกสิณมี ๑๐ ปฐวีกสิณไม่เป็นปัจจัยหรือไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดจักขุทิพย์ เตโชกสิณก็ไม่เป็นเหตุไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุทิพย์ แต่ว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เช่น ทำให้เกิดไฟได้ แต่สำหรับจักขุทิพย์ ต้องอาศัยอาโลกกสิณ แสงสว่าง

    . ผู้ที่ได้จักขุทิพย์สามารถที่จะเห็นการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ว่า ไปเกิดในภูมิที่ดีหรือไม่ดี แต่เวลาที่จุติและปฏิสนธินั้นเร็วมาก จะรู้ได้อย่างไร คิดเองว่า จะต้องมีมากกว่าจักขุทิพย์ มีอีกแขนงหนึ่ง หรือเกิดปนกันไปกับจักขุทิพย์

    สุ. อจินไตย ๔ ซึ่งฌานวิสัยก็รวมอยู่ด้วย น่าสงสัยจริงๆ และจะไม่หายสงสัย จนกว่าจะอบรมเจริญถึงขั้นนั้นได้ มิฉะนั้นแล้ว จะไม่ทรงแสดงว่า ในอจินไตย ๔ มีพุทธวิสัย มีฌานวิสัย มีกรรมวิสัย และมีโลกวิสัย คือ ความคิดเรื่องโลก

    ควรคิดไหม ถ้าเป็นอจินไตย แต่ว่าศึกษาได้ตามที่ทรงแสดงว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุทิพย์ ในกสิณ ๑๐ ต้องอาศัยปัจจัยที่เหมาะสมที่สมควร เพราะทางตา ที่เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานได้ ต้องอาศัยแสงสว่าง เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เห็นละเอียด หรือว่าเห็นไกลกว่าตาธรรมดา ก็ต้องอาศัยการเจริญอาโลกกสิณ

    อรรถ คือ ลักษณะ ของจิตประเภทที่ ๔ ตามข้อความใน จิตตุปปาทกัณท์ ใน อรรถกถา อัฏฐสาลานี มีว่า

    ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

    ในคำว่า จิตตํ นั้น เพราะเหตุว่าจิตมีราคะ (คือ โลภะ ความยินดีความต้องการ) ก็อย่างหนึ่ง มีโทสะก็อย่างหนึ่ง มีโมหะก็อย่างหนึ่ง

    นี่โดยนัยของเหตุ

    เป็นกามาวจรก็อย่างหนึ่ง จิตต่างโดยรูปาวจรจิต เป็นต้น ก็อย่างหนึ่ง

    นี่โดยนัยของภูมิ

    จิตมีรูปเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง จิตมีเสียง เป็นต้น เป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง

    นี่โดยนัยของทวาร หรือว่าโดยนัยของอารมณ์

    แม้ในจิตมีรูปเป็นอารมณ์ จิตมีสีเขียวเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง มีสีเหลือง เป็นต้น เป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง

    นี่แสดงถึงการเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต

    แม้ในจิตมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นอาทิ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน

    ในจิตเหล่านั้นแม้ทุกดวง ที่เป็นจิตขั้นต่ำก็อย่างหนึ่ง เป็นจิตขั้นกลางก็ อย่างหนึ่ง เป็นจิตขั้นประณีตก็อย่างหนึ่ง

    แม้ในจิตเหล่านั้น จิตมีฉันทะเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง มีวิริยะเป็นอธิบดีก็ อย่างหนึ่ง มีจิตเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง มีวิมังสาเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง

    ในอรรถกถาเป็นการประมวลข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า ท่านเหล่านั้นท่านรู้ข้อความในพระไตรปิฎกแล้ว ท่านจึงกล่าวถึงลักษณะของจิตโดย นัยต่างๆ เช่น โดยนัยของอธิบดี ๔ ซึ่งได้แก่ ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิต ๑ วิมังสา คือปัญญา ๑ ซึ่งยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

    ฉะนั้น พึงทราบความที่จิตนั้นวิจิตร ด้วยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม โดยภูมิ อารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น

    สำหรับประการสุดท้าย ซึ่งเป็นอรรถหรือลักษณะของจิตประการที่ ๕ คือ

    ชื่อว่าจิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    ซึ่งข้อความใน อรรถกถา อัฏฐสาลินี มีว่า

    ชื่อว่าจิต เพราะกระทำให้วิจิตรอย่างไร จริงอยู่ ธรรมดาว่า ความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก

    สิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้อยู่ไปตามธรรมดาธรรมชาติเลย แต่นำมาประดิษฐ์ให้เป็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น แม้แต่ลวดลายรูปภาพต่างๆ ที่เป็นจิตรกรรม ซึ่งข้อความใน อรรถกถา อัฏฐสาลินี มีว่า

    ความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก ธรรมดาว่า ลวดลายในจิตรกรรมแม้นั้นก็เป็นความวิจิตร คือ เป็นความงดงามอย่างยิ่งทีเดียว พวกช่างลวดลายเมื่อจะทำจิตรกรรมนั้น ย่อมเกิดจิตสัญญาว่า รูปทั้งหลายชนิดต่างๆ เราพึงกระทำ ณ ตรงนี้ โดยอุบายอย่างนี้

    จริงไหม เวลาที่จะวาดรูป ก็ต้องนึกก่อนว่า จะให้มีลวดลายอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น สภาพของจิตที่กำลังคิดถึงลวดลายต่างๆ นั้น ก็เป็นความวิจิตรของจิต ถ้าจะดูสีสันของเสื้อผ้าของทุกๆ ท่านในทีนี้ หรือนอกสถานที่นี้ ตามถนนหนทาง ในทุกๆ วัน ไม่เหมือนกันเลย นี่ก็แสดงถึงความวิจิตรของจิตซึ่งประดิษฐ์ลวดลาย ต่างๆ แม้แต่เพียงลายผ้าก็ยังวิจิตรถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น วัตถุสิ่งอื่นๆ ซึ่งวิจิตร ต่างๆ กันไป ก็แสดงถึงความวิจิตรของจิต

    ข้อความใน อรรถกถา อัฏฐสาลินี มีต่อไปว่า

    การกระทำให้วิจิตรทั้งหลายที่ให้สำเร็จกิจ มีการเขียน มีการลงสี การทำสีให้เรืองรอง และการสลับสี เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความวิจิตรคือลวดลาย ย่อมสำเร็จมาจากการกระทำให้วิจิตรนั้นเพราะฉะนั้น ศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก อันจิตนั่นเองคิดว่า รูปนี้จงอยู่บนรูปนี้ รูปนี้จงอยู่ใต้ รูปนี้จงอยู่ข้างทั้งสอง ดังนี้ แล้วจึงกระทำ เหมือนรูปอันวิจิตรที่เหลือ ย่อมสำเร็จได้ด้วยกรรมอันช่างคิดแล้ว ฉะนั้น

    นี่เป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่วิจิตรต่างๆ ซึ่งย่อมสำเร็จเพราะจิตที่วิจิตร

    แม้จิตที่ให้สำเร็จความวิจิตรนั้น ก็ชื่อว่าจิตอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรด้วยการกระทำนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นเองชื่อว่าวิจิตร แม้กว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้น เพราะให้สำเร็จจิตรกรรมตามที่จิตคิดทุกชนิด

    นี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของชีวิตประจำวัน แต่ถ้าพูดถึงกรรมที่ทุกท่านกระทำในวันหนึ่งๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ที่เป็นกุศลกรรม ที่เป็นทานบ้าง เป็นศีลบ้าง เป็นการอบรมเจริญภาวนาบ้าง หรือว่าที่เป็นอกุศลกรรม ที่เป็นปาณาติบาตบ้าง อทินนาทานบ้าง ก็ย่อมจะวิจิตรมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นลักษณะของจิตซึ่งวิจิตร

    ไม่ทราบว่า เมื่อท่านผู้ฟังเห็นว่า จิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตรแล้ว จะระลึกรู้ลักษณะของจิตตามจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องที่จิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตรบ้างหรือเปล่า เพราะรูปธาตุภายนอกที่เห็นว่าวิจิตรมาก โดยเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เป็นวัตถุ เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดเพราะส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไหลหรือเกาะกุม ระดับต่างๆ ทำให้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิจิตรต่างๆ แต่สิ่งที่วิจิตรกว่ารูปธาตุภายนอก คือ จิต เพราะจิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตร

    ในปัจจุบันชาติ ทุกท่านเห็นคติที่ต่างกันของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานก็มีรูปร่างแตกต่างกันมาก บางประเภทก็มีเท้ามาก บางประเภทก็ไม่มีเท้าเลย บางประเภทก็มี ๒ เท้า บางประเภทก็มี ๔ เท้า บางประเภทก็อยู่ในน้ำ บางประเภทก็อยู่บนบก และรูปร่างก็วิจิตรต่างกันมาก

    สำหรับมนุษย์ก็เป็นอีกคติหนึ่ง ซึ่งความวิจิตรของจิตก็กระทำให้ต่างกันไป โดยเพศต่างกัน โดยสัณฐานต่างกัน ทำให้สัญญาเกิดความจำในสัณฐานที่ต่างกัน ในเพศที่ต่างกัน เพราะกรรมซึ่งต่างกัน เพราะจิตซึ่งกระทำกรรมนั้นวิจิตรต่างๆ กัน ทำให้เกิดโวหาร คือ คำพูด ซึ่งแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงคำพูด ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน ก็เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นลักษณะที่วิจิตรของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง

    วันหนึ่งมีคำพูดมาก หลายอย่าง พูดถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรมากเพียงไร ก็ทำให้เกิดโวหารเพื่อเรียกสิ่งที่ปรากฏที่วิจิตรเพียงนั้น และคำพูดนี้จะไม่มีวันหมด จะไม่มีวันจบ เพราะมีสิ่งซึ่งจิตกระทำให้วิจิตรเกิดขึ้น เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น คำพูดก็จะต้องบัญญัติเรียกสิ่งที่จิตกระทำให้วิจิตรมากขึ้น

    ในวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะเห็นอะไร หรือว่าไม่ว่าจะ พูดอะไร ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำให้เห็นความวิจิตรของจิตซึ่งกระทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นวิจิตร

    และถ้าท่านผู้ฟังจะคิดว่า ประโยชน์อะไรที่จะรู้เรื่องสภาพของจิตซึ่งเป็นธรรมที่กระทำให้วิจิตร พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงลักษณะของจิตในขณะนี้ เมื่อเห็นความวิจิตรต่างๆ ซึ่งจิตกระทำให้วิจิตร

    ท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงภายนอกว่า สิ่งนั้นจิตก็กระทำให้วิจิตร สิ่งนี้จิตก็กระทำให้วิจิตร คนนี้จิตก็กระทำให้วิจิตร คนนั้นจิตก็กระทำให้วิจิตร หรือว่าคติของ สัตว์ดิรัจฉานประเภทต่างๆ จิตก็กระทำให้วิจิตร แต่ลืมว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตในขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง ซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้คิดถึงเพียง สิ่งภายนอกว่า จิตกระทำให้วิจิตร แต่เมื่อเห็นสิ่งที่จิตกระทำให้วิจิตรภายนอกแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นไปในขณะนี้ เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามที่ทรงแสดงไว้ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๕๘ ซึ่งมีข้อความว่า

    พระนครสาวัตถี ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ถ้าแม้มันเดิน มันก็ย่อมเดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันยืน มันก็ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนั่ง มันก็ย่อมนั่งใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนอน มันก็ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา.

    ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เดิน เขาก็ย่อมเดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้ยืน เขาก็ย่อมยืนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นั่ง เขาก็ย่อมนั่งใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นอน เขาย่อมนอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตน เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ้นกาลนาน

    ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องอะไร พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ให้พิจารณาลักษณะของจิตว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ้นกาลนาน ไม่ใช่เฉพาะเดี๋ยวนี้ แต่นานแสนนานมาแล้ว และถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็จะเศร้าหมองต่อไปอีกนานแสนนาน จนกระทั่งเบื้องปลายก็รู้ไม่ได้ เพราะว่า ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564