แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059


    ครั้งที่ ๑๐๕๙

    สาระสำคัญ

    เห็นผิดและปฏิบัติผิด

    อถ.ที.พรหมชาลสูตร - มัชฌิมศีล, สงฆ์และภิกษุบุคคล

    อถ.ที.ปฐมมหาสังคีติกถา - เรื่องสังคายนาใหญ่ครั้งแรก

    ข้อที่ติที่เป็นเรื่องจริงตามเหตุและผล


    . ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปุถุชนสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาคได้แค่ศีล เราก็สวดมนต์ทุกวันๆ ว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เราก็สรรเสริญอยู่ทุกวันๆ

    สุ. วิชชาคืออะไร จรณะคืออะไร

    . วิชชาก็มีวิชชา ๘ จรณะ ๑๕ มีวิปัสสนา เป็นต้น ก็รู้อยู่ สรรเสริญกันทุกวันๆ ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปุถุชนสรรเสริญพระผู้มีพระภาคได้แค่ศีลเท่านั้น

    สุ. สามารถจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ไหม

    . ข้อนี้ยังไม่ถึง

    สุ. เพราะฉะนั้น ปุถุชนโดยทั่วไปจึงสรรเสริญพระองค์เพียงอาการที่ปรากฏภายนอก ซึ่งโดยจุลศีลก็ดี มัชฌิมศีลก็ดี มหาศีลก็ดี พระองค์มีศีลยิ่งกว่า สมณพราหมณ์บางพวก

    . ที่ว่าเล่นทรงเจ้า มีความหมายว่าอย่างไร

    สุ. ทรงเจ้า ก็ทรงเจ้าอย่างนี้

    . หมายถึงว่า มีโอปปาติกะ หรือว่าเป็นมนุษย์อีกโลกหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับเรา

    สุ. โดยมากเป็นเทวดาใช่ไหม คงจะไม่เชิญเปรต อสุรกายมาด้วย

    . พวกเทพมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ด้วยจุดประสงค์อันใด เพื่อที่จะเกื้อกูล หรือเพื่อความมุ่งหมายประการใด มีกล่าวไว้บ้างไหม

    สุ. ไม่ใช่เป็นการเล่นทรงเจ้า หรือว่าไม่ใช่เชิญเจ้ามาเข้าทรง แต่ว่าเทพซึ่งต้องการจะอุปการะ สามารถบันดาลให้เกิดอาการที่อาจจะเรียกว่าเข้า แต่ไม่ใช่เพราะเชิญให้มา ไม่ใช่มาด้วยการเรียกร้อง แต่เทพนั้นเองมีความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์ เช่น จะอนุเคราะห์สาณุสามเณร ก็ทำให้สามเณรชัก และมีอาการที่ผิดปกติ ทำให้ญาติร้องไห้และเป็นห่วงมาก และเวลาที่เทพนั้นออกไปแล้ว สาณุสามเณรก็ถามว่า ทำไมญาติร้องไห้

    . หมายความว่า เวลาที่เทพท่านเข้า สาณุสามเณรไม่มีความรู้สึก

    สุ. ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าเข้าได้อย่างไร ถ้ายังเป็นคนปกติเหมือนเดิม

    . คนเรานี้มีวิญญาณครอบครองอยู่ใช่ไหม การเข้าของเทพ ไม่ทราบว่าท่านทำอย่างไรจึงทำให้วิญญาณของเราไม่สามารถครอบครองตนอยู่ได้

    สุ. ท่านผู้ฟังคิดว่าการที่มีผีเข้า วิญญาณของใครแน่ อยู่ที่ไหน ใช่ไหม ถ้าใช้คำว่า เข้า ดูเหมือนว่า จิตของคนอื่นเข้ามาอยู่ในร่างกายของคนนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    จิตของคนที่ถูกผีเข้า ยังอยู่ ยังไม่ตาย และจิตของเทพหรือคนที่จะเข้าจะเป็นบุคคลใดก็ตามแต่ มีกำลัง สามารถทำให้รูปของคนที่ชาวบ้านกล่าวว่าผีเข้านั้นเกิดอาการต่างๆ ขึ้นตามที่ต้องการด้วยกำลังจิตของบุคคลนั้น ซึ่งหมายความว่า จิตของคนที่ถูกผีเข้าในขณะนั้นต้องเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมาก เพราะฉะนั้น จิตอื่นซึ่งมีกำลังจึงสามารถทำให้รูปของบุคคลนั้นมีการเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การพูดด้วยรูปที่ทำให้เกิดเสียงซึ่งผิดปกติได้ และจิตของคนที่ถูกผีเข้าก็ยังคงเกิดดับอยู่ แต่เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมาก จึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้

    . จนกระทั่งแม้เจ้าตัวก็ยังไม่มีความรู้สึก

    สุ. โดยมากจะอยู่ในภาวะที่ไม่รู้สึกตัว ถ้ายังรู้สึกตัวอยู่ ก็ทำอะไรไม่ได้

    . มีไหมที่มาในลักษณะให้โทษ ในพระไตรปิฎกมีบ้างไหม

    สุ. ถ้าจะให้โทษก็ไม่ต้องเข้า แต่เวลาที่มาเข้าสาณุสามเณรนั่นก็ให้โทษเหมือนกัน คือ ทำให้ดิ้น ทำให้ชัก ซึ่งเป็นอาการที่น่าตกใจ เหมือนกับว่าเป็นการ สั่งสอน ทำร้าย หรือทำโทษสาณุสามเณรซึ่งกำลังประพฤติผิด

    . กรุณาอธิบายข้อปฏิบัติผิดที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส หรือ สีลัพพตุปาทาน ให้แจ่มแจ้ง

    สุ. ข้อปฏิบัติทุกอย่างที่ไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าคิดว่าจะต้องทำสมาธิจึงจะเกิดปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ถูกไหม นั่นคือ สีลัพพตปรามาส เพราะเหตุไม่ตรงกับผล ผลคืออะไร ต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณา และต้องแน่ใจจริงๆ มั่นใจจริงๆ ว่า วิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง หนทางที่ถูก คือ สติระลึก เพื่อศึกษารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่ถ้าจะทำวิธีอื่นซึ่งไม่ใช่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะมีเหตุอะไรที่จะทำให้ปัญญาเจริญจนกระทั่งคมกล้า จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นผิดและปฏิบัติผิด ไม่ว่าจะโดยวิธีใดทั้งหมด เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    . ในมหาศีล กล่าวถึงการงดเว้นของพระผู้มีพระภาค งดขาดจากการ ปรุงยา ปรุงยารักษาตา ปรุงยาหลายๆ อย่าง เมื่อพิจารณาการปรุงยาอนุเคราะห์ผู้อื่นในการรักษา จะไม่มีประโยชน์บ้างหรือ

    สุ. สำหรับบรรพชิต หรือฆราวาส

    . บรรพชิต

    สุ. บรรพชิตบวชเพื่ออะไร

    . ก็อย่างที่อาจารย์เคยแสดงธรรมมานานแล้วว่า ถึงแม้ว่าเราจะประกอบกิจการใดๆ ก็สามารถเจริญสติได้ ขณะที่ปรุงยานั้น รูปและนามปรากฏอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถที่จะเจริญสติในขณะที่ปรุงยาได้

    สุ. เป็นกิจของบรรพชิต หรือเป็นกิจของฆราวาส

    . เป็นกิจของฆราวาสครับ

    สุ. เมื่อเป็นกิจของฆราวาสแล้ว จะสรรเสริญบรรพชิตได้ไหม ในเมื่อบรรพชิตมีกิจของบรรพชิต กิจของบรรพชิตไม่ใช่กิจของฆราวาส

    . สืบเนื่องมาจากขั้นต้นที่พระผู้มีพระภาคท่านทรงบัญญัติไว้ว่า เป็นกิจของฆราวาส แต่สมมติว่า บรรพชิตจะกระทำอย่างนั้น และพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสไว้ก่อนว่าเป็นกิจเฉพาะของฆราวาสอย่างเดียว ก็น่าจะเป็นกิจของบรรพชิตได้ด้วย เพราะเมื่อบรรพชิตกระทำลงไปแล้ว ไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติธรรมเลย และไม่เป็นไปเพื่อความยุ่งยากลำบากแก่ปวงชน ซึ่งสามารถจะรักษาประโยชน์ได้ทั้ง ๒ ประการ

    สุ. หมายความว่า ไม่มีบรรพชิตอีกต่อไป

    . มี แต่สามารถที่จะประกอบปรุงยา

    สุ. ในเมื่อบรรพชิตไปทำกิจของฆราวาส จะมีบรรพชิตอีกต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อเห็นว่า บรรพชิตควรกระทำกิจของฆราวาส

    นี่เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาจริงๆ ถึงความเลื่อมใสของ ตัวท่านว่า เลื่อมใสถูกต้องหรือเปล่า

    ใน อรรถกถา สุมังคลวิลาสินี มีข้อความที่กล่าวถึงบรรพชิตซึ่งมีการสะสมและมีชีวิตอย่างฆราวาส เป็นเศรษฐีหัวโล้น ท่านใช้คำนั้นใน สุมังคลวิลาสีนี อรรถกถา ทีฆนิกาย พรหมชาลสูตร วรรณนามัชฌิมศีล

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ เพื่อท่านจะได้ไม่เห็นผิดแม้แต่ในการที่จะศรัทธาหรือเลื่อมใส มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีเพศที่ต่างกัน เพราะทุกท่านสามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ ฆราวาสก็สามารถแจ้งอริยสัจธรรมบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่สามารถที่จะดำรงเพศฆราวาสได้อีกต่อไป แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของชีวิตที่แท้จริงระหว่างฆราวาสและบรรพชิตว่า เป็นชีวิตที่ห่างไกลกันอย่างมาก แต่ถ้าเป็นพระอนาคามีบุคคล ยังเป็นผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิตได้ ยังสามารถกระทำกิจของฆราวาสต่างๆ ได้ ยังเกื้อกูลมารดาบิดาได้ ยังกระทำกิจที่เป็นการกุศลได้ แต่สำหรับบรรพชิต เป็นผู้ที่จะต้องรู้จริงๆ ว่าบวชเพื่ออะไร คือ เพื่อกระทำกิจของบรรพชิต ไม่ใช่กิจของฆราวาสอีกต่อไป

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งขอฝากท่านผู้ฟังท่านนั้นมาถามดิฉันว่า ดิฉันมีความเคารพนับถือพระภิกษุรูปใด ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีที่ดิฉันจะได้เรียนให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงความจริงใจในการบรรยายธรรม เพราะบางท่านอาจจะสงสัยว่า เวลาที่ยกข้อความในพระธรรมวินัยขึ้นกล่าว เช่น ในเรื่องของจุลศีล มัชฌิมศีล หรือมหาศีลก็ดี บางท่านอาจจะสงสัยว่า เมื่อกล่าวถึงศีลเหล่านั้นแล้ว จะมีพระภิกษุรูปใดซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของดิฉัน ก็ขอขอบพระคุณท่านที่ได้เล่าให้ฟัง เพราะทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเรียนให้ทราบ

    ขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันเคารพนับถือสักการะพระสงฆ์ พระสงฆ์ คือ ผู้ที่กระทำกิจของพระศาสนาโดยได้รับอนุมัติจากคณะสงฆ์ ไม่ว่าท่านจะเป็นภิกษุรูปใดก็ตามที่ประกอบพิธีทางศาสนา หรือว่ากระทำกิจของสงฆ์ ย่อมต้องเป็นที่เคารพของพุทธบริษัท แต่ถ้ากล่าวถึงภิกษุบุคคล ซึ่งพระภิกษุแยกออกเป็น ๒ พวก คือ ผู้ที่กระทำกิจของสงฆ์ชื่อว่าสงฆ์ เป็นคณะสงฆ์ แต่เวลาที่ท่านเหล่านั้นไม่ได้กระทำกิจของสงฆ์ ท่านเป็นภิกษุบุคคล คือ แต่ละรูปๆ ชื่อว่าภิกษุบุคคล

    สำหรับพระภิกษุบุคคลนั้น ดิฉันมีความเคารพนอบน้อมในผู้ที่ไม่มีเจตนาล่วงสิกขาบท เป็นผู้ที่ศึกษา และประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งการศึกษาธรรม ทำให้ผู้ที่ศึกษาทุกท่านพิจารณาธรรมที่ได้ศึกษาโดยละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม แม้แต่ในการที่จะเคารพนับถือ หรือว่านอบน้อมสักการะผู้ใด ก็ต้องเป็นไปตามเหตุผล ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่ตรง และเมื่อเป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อพระธรรมวินัย ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ต้องเป็นอุชุปฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติที่ตรง ตรงตามเหตุผล ตรงตามสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือไม่ว่าจะเป็นฆราวาสก็ตาม ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลมาก

    เพราะฉะนั้น การที่จะอนุโมทนา เลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ควรจะเป็นเฉพาะในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่พิจารณาอะไรเลย เมื่อมีความเลื่อมใสในท่านผู้หนึ่งผู้ใด โดยทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็จะเลื่อมใสไปตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ควรจะเลื่อมใสในอกุศลธรรมใดๆ และไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ขณะใดที่ กุศลธรรม กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้นควรจะเป็นที่นับถือ นอบน้อม สักการะได้ ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง พระธรรมวินัยเริ่มเสื่อมตั้งแต่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานได้ ๗ วัน นี่เป็นเหตุที่ท่านพระมหากัสสปะปรารภที่จะกระทำสังคายนา ซึ่งใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปฐมมหาสังคีติกถา เรื่องสังคายนาใหญ่ครั้งแรก ข้อความมีว่า

    ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้เราทั้งหลายจงสังคายนาพระธรรม และพระวินัย ก่อนที่อธรรมจะรุ่งเรืองสุกใส ก่อนที่ธรรมจะถูกระงับยับยั้ง ก่อนที่สิ่งอันขัดต่อวินัยจะรุ่งเรืองสุกใส ก่อนที่วินัยจะถูกระงับยับยั้ง ก่อนที่อธรรมวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังแข็งแรง ก่อนที่ธรรมวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ ก่อนที่อวินัยวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังแข็งแรง ก่อนที่วินัยวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ

    แสดงให้เห็นว่า เหตุที่ท่านพระมหากัสสปะจะกระทำสังคายนานั้นก็เพราะว่าเริ่มมีผู้ที่มีความประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปจาก ๗ วัน เป็น ๑๐๐ ปี เป็น ๑๐๐๐ ปี จนกระทั่งถึง ๒๐๐๐ กว่าปี ท่านผู้ฟังทุกท่านจะพิจารณาได้ตามสภาพเหตุการณ์ตามความเป็นจริงว่า ย่อมมีผู้ที่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัยมากหรือน้อย ซึ่งก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังที่จะพิจารณาโดยละเอียดจาก จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล

    เพราะฉะนั้น การที่กล่าวถึงข้อความในพระธรรมวินัย สำหรับผู้ที่บรรยายธรรมก็เป็นด้วยเมตตาจิตจริงๆ ไม่ได้มุ่งที่จะติเตียน เพราะถ้าไม่กล่าวถึงเลย ย่อมจะไม่มี ผู้ที่จะหยุดระงับอกุศล และก็คิดที่จะประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยไม่ย่อหย่อน

    ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี ได้กล่าวถึงการติ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการที่จะระงับเหตุที่เกิดขึ้น ในเมื่อข้อที่ตินั้นเป็นเรื่องจริงตามเหตุและผล หรือว่าการสรรเสริญตามความเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อความมั่นใจ เพื่อความมั่นคงของผู้ที่จะเลื่อมใส ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไร้ประโยชน์ แต่ว่าต้องเป็นสิ่งที่จริงและเป็นไปตามเหตุและผลด้วย

    เพราะฉะนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ในการที่กล่าวถึงศีลต่างๆ ก็เพื่อให้ท่านพิจารณา จะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยไม่ย่อหย่อน แต่ที่จะให้มีความชื่นชมยินดีโดยผิวเผิน หรือว่าโดยไม่พิจารณาให้ละเอียด ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้

    สำหรับเรื่องของการบวชเป็นพระภิกษุก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า ใจจริงของท่านมีความศรัทธา มีความเลื่อมใสเพียงใด ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมอนุโมทนาในทุกท่านที่บวช โดยคิดว่า เมื่อบวชแล้วจะได้เป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี หรือเป็นพระสกทาคามี พระโสดาบัน แต่ต้องพิจารณาจริงๆ สำหรับผู้ที่จะบวช

    พุทธบริษัทย่อมมีจิตอนุโมทนาในศรัทธาที่บุคคลนั้นสามารถที่จะสละเพศฆราวาสเพื่อที่จะศึกษาพระธรรมวินัยและอบรมขัดเกลากาย วาจา ใจของตนเองให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น และให้เข้าใจในพระธรรมวินัย สามารถที่จะละอกุศลให้เบาบาง เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะศรัทธาในเจตนาที่สามารถละเพศฆราวาส เพื่อที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้ แต่หลังจากนั้น ต้องพิจารณาอีกต่อไปว่า ชีวิตของภิกษุรูปนั้น ท่านกระทำกิจอย่างไร ท่านศึกษาพระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าท่านขาดการศึกษา พระธรรมวินัย แต่ท่านมีศรัทธาที่จะอบรมชีวิตในอีกเพศหนึ่ง คือ โดยเป็นเพศบรรพชิตตามศีลที่ท่านจะต้องรักษา นั่นก็เป็นสิ่งที่อนุโมทนาได้ ซึ่งเพียงขั้นนั้นจริงๆ แต่ไม่สามารถที่จะชื่นชม หรือว่าอนุโมทนาได้ยิ่งกว่านั้น ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกหรือว่าพระธรรมวินัยโดยละเอียดยิ่งขึ้น

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่สามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้ละเอียดมากขึ้น ประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาได้มากขึ้น การชื่นชมอนุโมทนาก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจะไม่พิจารณาเลย และเลื่อมใสชื่นชมยินดีโดยที่ไม่ทราบว่าข้อประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นอย่างไร

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาธรรม หรือไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด และมีความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัย มีการประพฤติปฏิบัติผิด ย่อมไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้ เพราะการประพฤติปฏิบัติผิดนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๕๑ – ๑๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564