แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045


    ครั้งที่ ๑๐๔๕

    สาระสำคัญ

    ปัญญาคือ ความรู้จริง รู้ชัด

    เหตุให้เกิดความเห็นผิด

    อถ.นิกเขปกัณฑ์ - ผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ

    ปหานวินัย ๕ อย่าง


    ถ้ามีใครบอกว่า ไม่ต้องเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ ใช่ไหมว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญา ความรู้จริง ความรู้ชัด จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่ากำลังเห็นทางตา กำลังได้ยินทางหู เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสภาพธรรมใดซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น ปรากฏในขณะนั้น ก็ดับ ในขณะนั้น ถ้าไม่ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะเป็นปัญญา ซึ่งสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เหตุให้เกิดความเห็นผิด คือ

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ด้วยความขาดวินัย กล่าวคือ ความแตกแห่งสังวรในธรรมของพระอริยะ อันมีประเภทเป็นปาติโมกขสังวร อินทริยสังวร สติสังวร ญาณสังวร และปหานสังวร ในธรรมของสัตบุรุษ

    การสังวรก็ต้องมี แต่ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะทำสังวร แต่รู้ว่า สังวรหมายความถึง การที่สติเกิดขึ้นเป็นกุศลธรรม และอบรมเจริญโดยประเภทของปาติโมกสังวร คือ ตามข้อบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

    สำหรับคำว่า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ คือ ไม่เฉียบแหลมในธรรมของพระอริยะ ข้อความใน อรรถกถา อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายคำว่า ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ เป็นเรื่องที่ละเอียดสำหรับผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานที่จะต้องเข้าใจด้วย ซึ่งมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    ชื่อว่าวินัย มี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ มี ๕ อย่าง ปุถุชนเรียกว่าไม่ได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น

    นี่คือ วินัย การฝึกฝนที่จะทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑

    สังวรวินัย คือ การฝึกฝน การสังวร การสำรวมด้วยสติ ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำสำรวม สำหรับสังวรวินัยมี ๕ อย่าง คือ

    ศีลสังวร ความสำรวม คือ ศีล ถ้าเป็นภิกขุก็ต้องตามพระปาติโมกข์ ขณะใดที่สติระลึกที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระปาติโมกข์ ขณะนั้นก็เป็นปาติโมกขสังวร

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุเพียบพร้อมด้วยปาติโมกขสังวรหรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่ทำให้เพศบรรพชิตต่างกับเพศคฤหัสถ์ คือ พระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ ซึ่งพระภิกษุต้องมีสติระลึกได้ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พระปาติโมกข์ แต่สำหรับฆราวาสเป็นศีลสังวร คือ การมีระเบียบวินัยในการที่จะรักษาศีล ไม่ล่วงศีล

    ดังนั้น สังวรวินัย ๕ อย่าง คือ

    ศีลสังวร ความสำรวม คือ ศีล ๑

    สติสังวร ความสำรวม คือ สติ ๑

    ญาณสังวร ความสำรวม คือ ญาณ ๑

    ขันติสังวร ความสำรวม คือ ขันติ ๑

    วิริยสังวร ความสำรวม คือ ความเพียร ๑

    ฟังดูเป็นตำรา เป็นวิชาการ แต่แท้จริงแล้วเป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็น ข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะต้องเป็น ผู้ที่เข้าใจในศีลสังวร ที่จะไม่ล่วงศีล และต้องเข้าใจในสติสังวร คือ ความสำรวมในจักขุนทรีย์ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่เห็นต้องมีสติที่จะระลึกได้รู้ว่า สภาพธรรมที่เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม นี่คือชีวิตประจำวัน แต่ถ้าตามตำรา คือ สติสังวร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สังวรที่มาดังนี้ว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อชิตะ กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ดังนี้ ชื่อว่าญาณสังวร

    พูดกันบ่อยๆ ใช่ไหมว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศลธรรม เวลาที่สติเกิดอกุศลธรรมเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ที่รู้อย่างนั้นเป็น ญาณสังวร

    ส่วนขันติสังวร คือ

    สังวรที่มาดังนี้ว่า

    เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อน ดังนี้ ชื่อว่าขันติสังวร

    ท่านผู้ฟังมีหรือเปล่า ขันติสังวร อากาศก็กำลังจะร้อนขึ้นๆ ทุกวันๆ ซึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง อดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าจะร้อนหรือจะหนาว ก็รู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ช่วยให้อดทนได้ไหม ถ้ารู้อย่างนี้

    เมื่อมีกาย ก็ต้องมีความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกาย เย็นบ้างร้อนบ้างเป็นของธรรมดา เมื่อมีกาย จะไม่กระทบกับเย็นหรือร้อนที่จะเกิดความทุกข์เป็นไปได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหลงลืม ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกายและดับไป ถ้าไม่รู้ อย่างนี้จริงๆ ย่อมเดือดร้อน ย่อมคร่ำครวญ ย่อมรำพัน ซึ่งในขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่ได้รู้ว่า ลักษณะที่ร้อน หรือว่าลักษณะที่เย็น ลักษณะของความรู้สึกซึ่งทุกข์ที่กาย ในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าอดทนไม่ได้ จะเป็นอย่างไร ก็ยิ่งเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง ใช่ไหม พยายามจะหาสิ่งที่จะผ่อนคลายความทุกข์กายนั้น ถ้าหาได้ก็ดี แต่ถ้าหาไม่ได้ ก็ยิ่งเดือดร้อนรำคาญใจ ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่มีการสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อนได้เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น ชื่อว่าขันติสังวร

    ดีหรือไม่ดี ดี เพราะฉะนั้น อย่าลืมขันติสังวร เวลาที่กระทบกับอารมณ์ที่ ไม่น่าพอใจทั้งหลาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    นอกจากนั้นก็มี

    ประการที่ ๕ คือ วิริยสังวร สังวร คือ ความเพียร สังวรที่มาดังนี้ว่า ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้วให้อยู่ทับ ดังนี้ ชื่อว่าวิริยสังวร

    นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งมาจากพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะเห็นความสมบูรณ์ของพยัญชนะได้ ถ้าท่านผู้ฟังจะพูดเอง อาจจะไม่ได้ความหมายที่กระชับอย่างนี้ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้วให้อยู่ทับ

    ทุกคนมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่น้อย แต่มาก และไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันพอ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่อบรมเจริญปัญญา ย่อมยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้วให้อยู่ทับ ไม่มีวันที่จะพ้นไปได้เลย แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดวันหนึ่ง ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้วให้อยู่ทับ หมายความว่า กามวิตกนั้นไม่สามารถครอบงำได้ต่อไปด้วย วิริยสังวร

    ก็สังวรทั้งหมดนี้ เรียกว่าสังวร เพราะระวังกายทุจริต เป็นต้น อันควรระวังตามควรแก่ตน และเรียกว่าวินัย เพราะกำจัดกายทุจริต เป็นต้น อันควรกำจัด ตามควรแก่ตน สังวรวินัยพึงทราบว่า แจกได้ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ก่อน

    นี่สำหรับปกติประจำวัน

    สำหรับปหานวินัย ๕ อย่าง คือ ตทังคปหาน การละกิเลสได้ด้วยองค์นั้นๆ ๑ วิกขัมภนปหาน คือ การละกิเลสได้ด้วยการข่มไว้ ๑ เหมือนเขี่ยสาหร่าย สมุจเฉทปหาน คือ การละกิเลสได้เด็ดขาด ๑ เกิดขึ้นดับกิเลส ปฏิปัสสัทธิปหาน คือ การละกิเลสอย่างระงับ ๑ นิสสรณปหาน คือ การละกิเลสด้วยการสลัดออก ๑

    ปหานวินัยประการที่ ๑ คือ ตทังคปหาน ได้แก่ วิปัสสนาญาณทั้งหลาย มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น

    ปหานวินัยประการที่ ๒ คือ วิกขัมภนปหาน ได้แก่ การละธรรม มี นิวรณธรรม เป็นต้น เพราะห้ามความเป็นไปด้วยสมาธิอันเจริญถึงขั้นอุปจาระและ ขั้นอัปปนา ดุจการละสาหร่ายบนหลังน้ำได้ด้วยการทำลายความสืบต่อกันอันใด นี้ชื่อว่าวิกขัมภนปหาน

    แสดงให้เห็นว่า การที่จะละอกุศลมีหลายขั้น สำหรับขั้นที่เป็นตทังคปหาน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ สำหรับขั้นที่เป็นวิกขัมภนปหาน ได้แก่ การเจริญสมถะจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งอุปมาเหมือนกับการละสาหร่ายที่อยู่บนหลังน้ำได้ด้วยการทำลายการสืบต่อกัน

    ธรรมดาสาหร่ายที่อยู่บนน้ำก็ติดกันแน่น แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะเอาไม้ฉีก หรือเขี่ยออกก็ได้ชั่วครู่ หลังจากนั้นก็เข้ามาต่อกันอีก ฉันใด กิเลสทั้งหลายย่อมระงับไปชั่วคราว ในขณะที่ความสงบมั่นคงขึ้นจนถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเมื่อถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ ขั้นฌานจิต ก็เป็น วิกขัมภนปหาน

    ปหานวินัยประการที่ ๓ คือ สมุจเฉทปหาน ได้แก่ ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลส

    ปหานวินัยประการที่ ๔ คือ ปฏิปัสสัทธิปหาน ได้แก่ ภาวะที่กิเลสถูกปราบเสร็จแล้วในขณะแห่งผลจิต

    คือ ปหานในขณะของมรรคจิตเป็นสมุจเฉทปหาน ปหานในขณะของผลจิต เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน

    และสำหรับธรรมที่ปหานกิเลส ได้แก่ นิพพาน เป็นนิสสรณปหาน คือ นิพพาน อันมีสังขตธรรมทั้งปวงละได้แล้ว เพราะสลัดสังขตธรรมออกไปได้หมดอันใด นี้ชื่อว่านิสสรณปหาน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพของนิพพานปรากฏ กิเลสจะเกิดในขณะนั้นไม่ได้

    ก็ปหาน คือ การละนี้ ทั้งหมดเรียกว่าปหานวินัย เพราะชื่อว่าปหาน ด้วยอรรถว่า ละ ชื่อว่าวินัย ด้วยอรรถว่า กำจัด

    วินัย ๒ อย่างโดยย่อ และ ๑๐ อย่างโดยแจก ดังว่ามาฉะนี้ ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เพราะความเป็นผู้มีสังวรอันทำลายแล้ว และเพราะยังละไม่ได้ซึ่งธรรมอันจะพึงละ เหตุนั้นปุถุชนนี้จึงชื่อว่า ผู้มิได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น ฉะนี้แล

    เป็นเรื่องที่จะต้องฟัง และพิจารณาตรวจสอบตัวท่านเอง เพื่อการเจริญปัญญาของท่านว่า ได้อบรมเจริญวินัยถึงขั้นใดแล้ว

    . อาจารย์กล่าวว่า การสังวรนั้นไม่ใช่ตัวตน ในเมื่อไม่ใช่ตัวตน เวลาจะสังวร จะต้องสังวรอย่างไร คือ ผมสงสัยว่า ศีล ๕ ประการเราก็สมาทานอยู่ แต่ว่าบางครั้งเหตุปัจจัยทำให้ล่วงทุจริตไป เช่น ทำให้ยุงหรือมดตาย ขณะที่ล่วงทุจริตกรรม ขณะนั้นก็เผลอสติ อาจารย์ต่างๆ บอกว่า ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ลักทรัพย์ ไม่ให้ประพฤติผิดในกาม คล้ายๆ กับว่ามีตัวตนที่จะวิรัติทุจริต แต่อาจารย์บอกว่า ไม่มีตัวตนที่จะวิรัติทุจริต การสังวรนี้ไม่มีตัวตน เป็นอย่างไร

    สุ. การฟังพระธรรมต้องฟังโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระวินัย หรือพระสูตร หรือพระอภิธรรม จะต้องสอดคล้องกัน มิฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะประพฤติธรรมได้เพียงขั้นศีล ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้สูงกว่านั้น

    แต่เพราะมีการฟัง และเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาในพระสูตรและในพระอภิธรรม ประกอบกับพระวินัย จึงเข้าใจได้ว่า แม้ในขณะที่วิรัติทุจริตนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจวิรัติทุจริต

    การที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงท่องตาม หรือพูดตาม หรือไม่ใช่เพียงคิดตาม แต่จะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะถึงปหานวินัย คือ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่จะต้องศึกษาไป พิจารณาไป ฟังไป ประพฤติปฏิบัติไป จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น

    สำหรับเหตุประการที่ ๔ ที่ทำให้เกิดทิฏฐิ คือ

    อโยนิโสมนสิกาโร กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย มีคำอธิบายว่า ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคายซึ่งเหตุเหล่านี้แหละอบรมแล้ว และด้วยความเป็นผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิ

    วิธีที่จะทราบว่า ท่านผู้ฟังยังมีความเห็นผิดนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ หรือว่ายังมีความโน้มเอียงที่จะไปสู่ความเห็นผิดได้อย่างมากในวันหนึ่งข้างหน้าหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การพิจารณาว่า ท่านยังเป็นผู้ที่ถือมงคลตื่นข่าวอยู่หรือเปล่า ซึ่งน่าจะพิจารณาไหมในชีวิตประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๐๔๑ – ๑๐๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564