แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061


    ครั้งที่ ๑๐๖๑

    สาระสำคัญ

    อถ.พรหมชาลสูตร อธิบายคำว่า “ที่ลึกซึ้ง”

    ธรรมชื่อว่า สงบ

    ธรรมชื่อว่า “ประณีต”

    เรื่องของความสงัดและความสันโดษ

    สัตว์โลกสะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กัน

    ที.สีล.สามัญญผลสูตร

    องฺ.ปญฺจก.อรัญญกสูตร - ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก


    ข้อความใน อรรถกถา พรหมชาลสูตร อธิบายคำว่า ที่ลึกซึ้ง คือ

    มีที่ตั้งที่ญาณของบุคคลเหล่าอื่นไม่พึงได้ เว้นไว้แต่พระตถาคต เหมือนดังมหาสมุทรอันปลายแหลมแห่งจะงอยปากยุงหยั่งไม่ได้ ฉะนั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ความลึกซึ้งนั้น ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้ รู้แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ที่ได้ฟังพระธรรมทั้งหมด ก็จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียดจึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง อย่าประมาท หรือว่าอย่าคิดว่าง่าย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะเป็นธรรมที่ลึกซึ้งนั่นเอง จึงเห็นได้ยาก เพราะเห็นได้ยากนั่นเอง จึงรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมชื่อว่าสงบ แม้เพราะเป็นไปในธรรมอันสงบ

    ถ้ารู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ ที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้ ไม่ต้องในขณะอื่น ไม่ต้องในสถานที่อื่น แต่ในขณะที่กำลังมีเสียงปรากฏในขณะนี้ การศึกษาธรรมพิสูจน์ได้ คือ ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าสามารถจะรู้จริงๆ ว่า เสียงกำลังปรากฏจริงๆ กับธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ สงบไหม เพราะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะมีปัญญารู้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    การอบรมเจริญปัญญาต้องเพิ่มขึ้น ต้องเข้าใจขึ้น ต้องพิจารณามากขึ้น ต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ซึ่งในขั้นต้นหรือว่าในตอนแรกๆ ยากที่สติจะเกิดระลึกได้ จะเข้าใจได้ แต่ทุกอย่างต้องมีการเริ่ม ซึ่งเมื่อเริ่มแล้วก็จะชำนาญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนถึงความชำนาญที่สามารถจะเข้าใจในอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสได้จริงๆ ว่า อุปมาเหมือนเขาเผาหญ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร

    เมื่อบุคคลนำหญ้าจากพระเชตวันไปเผา ไม่มีใครเดือดร้อนเลย ซึ่งการที่ ทุกท่านจะสงบ ไม่เดือดร้อนจริงๆ ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่เห็น ในขณะที่คิด ใน ทุกๆ ขณะในชีวิตได้ ก็เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนทั่วจริงๆ แต่ถ้ายังไม่ทั่ว ต้องเดือดร้อน ยังเป็นเรา ยังเป็นตัวตน หนทางเดียวที่จะสงบจริงๆ และไม่เดือดร้อน คือ เมื่อปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ลึกซึ้งซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงอุปมาและทรงแสดงไว้โดยที่บุคคลอื่นไม่สามารถไม่รู้ตาม ไม่เข้าใจตาม หรือไม่ประจักษ์แจ้งตาม แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ สามารถรู้ได้ว่า การละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นตัวตน เป็นบุคคลนั้น ละในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ละในขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ เพราะความรู้เพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังไม่ทั่ว ก็ไม่สามารถเล็งเห็นถึงลักษณะของการคลายการยึดถือสภาพธรรม ในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง ซึ่งการเริ่มคลาย เป็นการเริ่มคลายในขณะปกติในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำอย่างอื่น หรือไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นในขณะอื่น แต่ในขณะที่เป็นปกติ ในชีวิตประจำวันและสติระลึกได้ ขณะที่ความละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่ปรากฏ จะเข้าใจในอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอุปมาเหมือนคนเอาหญ้าที่พระวิหาร เชตวันไปเผา ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่เดือดร้อนเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่า นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว

    ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ ก็เกิดขึ้นและดับไปแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เมื่อครู่นี้ ดับไปแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของการเห็น เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นและ ดับไป เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะเข้าใจได้ในความหมายที่ว่า เป็นธรรมชื่อว่าสงบ แม้เพราะเป็นไปในธรรมอันสงบ คือ ในธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เป็นธรรมชื่อว่าประณีต ด้วยอรรถว่า ดุจโภชนะมีรสอันดี

    ชื่อว่าจะคาดคะเนเอาไม่ได้ เพราะอรรถว่า จะใช้ตรรกะ คือ เพียงเหตุผลคาดเอาไม่ได้ เหตุที่เป็นวิสัยแห่งญาณอันสูงสุด

    คำว่าละเอียด เพราะมีสภาพละเอียดอ่อน

    ชื่อว่ารู้ได้เฉพาะบัณฑิต เพราะอรรถว่า บัณฑิตเท่านั้นจึงพึงรู้ได้ เหตุที่มิใช่วิสัยของคนพาล

    นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ ซึ่งท่านผู้ฟังต้องพิจารณาโดยละเอียด

    สำหรับเรื่องละเอียดอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่เสมอ และเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ เพราะว่าการศึกษาพระธรรมถ้าไม่ศึกษาโดยตลอด หรือถ้าพิจารณาโดยไม่ทั่ว ไม่ละเอียดจริงๆ อาจจะเข้าใจสภาพธรรมหรือธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคลาดเคลื่อนได้ ปัญหานั้นคือเรื่องของความสงัด หรือว่าเรื่องของความสันโดษ

    เวลาที่สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เรื่องการอบรมเจริญปัญญา การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ มีท่านผู้หนึ่งได้ถามผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งเป็นชาวต่างประเทศว่า รู้สึกอย่างไรเวลาที่ได้ฟังเรื่องสติปัฏฐาน ผู้เป็นพระภิกษุท่านนั้นก็ตอบว่า รู้สึกเห็นด้วยเวลาที่กล่าวถึงการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่รู้สึกว่าไม่ได้เน้นเรื่องของความสงัด หรือว่าความสันโดษ

    การที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และต้องพิจารณาด้วย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเรื่องของความสันโดษ เรื่องของความสงัด อย่าลืม พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสัพพัญญุตญาณที่จะรู้ว่า สัตว์โลกสะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กัน ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต ซึ่งการเข้าใจธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติถูก แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมและเข้าใจธรรม ก็มีอุปนิสัย มีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน

    ท่านจะพิจารณาอัธยาศัยหรืออุปนิสัยของสหายธรรมของท่านก็ได้ บางท่านเป็นผู้ที่สนใจธรรมจริงๆ แต่สะสมอัธยาศัยที่จะเป็นผู้ที่รื่นเริงสนุกสนาน พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเรื่องของความสงัดและความสันโดษ แต่สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยร่าเริง สนุกสนานและสนใจธรรม จะให้บุคคลนั้นฝืน พยายามไปเป็นผู้สันโดษ หรือเป็นผู้สงัด จะได้ไหม ตามความเป็นจริง เรื่องจริง เป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลสะสมมา ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทจึงมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส คือ มีภิกษุ มีอุบาสก และ มีอุบาสิกา ในสมัยนี้ ไม่พร้อมทั้ง ๔ เพราะขาดพระภิกษุณี และแม้ผู้ที่เป็นพระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องการไม่คลุกคลี ยังคงสรรเสริญเรื่องความสันโดษและความสงัดอยู่ ซึ่งถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด อาจจะพยายามทำตาม แต่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างไรเลย เพราะไม่ใช่อัธยาศัยที่แท้จริง

    การเป็นผู้ที่สันโดษ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ซึ่งการสันโดษนั้นมีทั้งในเพศของบรรพชิตและในเพศของคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ต่างกัน สำหรับท่านที่คิดถึงเรื่องความสงัด หรือว่าท่านที่ต้องการจะไปสู่สถานที่ที่สงบสงัด ก็ขอให้พิจารณาว่า ท่านไปเพราะ เหตุใด ไปเพราะว่าอยากจะไปเท่านั้น ไปเพราะว่าชอบความเงียบสงัด ไปเพื่อที่จะพักผ่อน หรือไปเพราะเข้าใจว่า ถ้าท่านไม่ไปสู่สถานที่เช่นนั้น ท่านก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ หรือว่าสติจะเกิดไม่มาก

    ถ้าท่านใช้คำว่า ถ้าไม่ไปสติจะเกิดไม่มาก ขอให้พิจารณาว่า ท่านกำลัง ติดอะไรหรือเปล่า กำลังต้องการอะไรหรือเปล่า เพราะว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยทั่ว ไม่ว่าท่านจะกำลังแต่งตัว หรือว่ากำลังประกอบกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติไม่เกิดในขณะนั้น อาจจะเกิดในขณะอื่นก็ได้ ไม่จำกัดเวลา และขณะที่สติจะเกิด ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า สติจะต้องระลึกที่กายก่อน หรือที่เวทนาก่อน หรือที่จิตก่อน หรือที่ธรรมในขณะนั้นก่อน หรือในสถานที่นั้นก่อน

    ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาต้องรู้ทั่ว เมื่อต้องรู้ทั่วแล้ว ทำไมไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เพราะทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    แต่ถ้าท่านต้องการไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ขอให้คิดว่า มีความติดหรือ มีความต้องการหรือเปล่าในขณะนั้น ที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อไปแล้ว ศึกษาอะไร เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น หรือว่า มีเวลามากพอที่จะปฏิบัติผิด เข้าใจผิด ซึ่งทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    และสังเกตดู ท่านที่มักจะกล่าวถึงเรื่องของความสงัด ข้อประพฤติปฏิบัติของท่านจะเป็นการจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งปกติทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก เป็นชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีจิตของใครที่จะจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจอยู่ได้โดยตลอด เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น มีการ ได้ยิน ตามปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อไรปัญญาจะเริ่มศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะท่านเหล่านั้นมักหวังว่าจะได้บรรลุฌานขั้นหนึ่งขั้นใด หรือหวังว่าจะได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง คือ อาจจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน หรือยิ่งกว่านั้น คือ เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์

    แต่ถ้าปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่าหวังถึงการที่จะเป็นแม้พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ตัดผล คือ พระโสดาบันออกไปก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงผลขั้นสูง คือ พระโสดาบันบุคคล เพียงผลที่ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ในลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่ากำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏ กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก เพราะนี่เป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

    พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด และจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เช่น ใน ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ได้กระทำอนันตริยกรรม คือ ไม่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว พระองค์สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยบุคคล แม้ในขณะที่กำลังประทับนั่งฟังพระธรรมเทศนาในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทำไมบุคคลอื่นจะคิดว่า ต้องไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด และไม่ใช่แต่เฉพาะพระเจ้าอชาตศัตรู แม้อุบาสกอื่น เวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้ทูลลาไปประกอบกิจตามหน้าที่ของตน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระภิกษุว่า ถ้าแม้บุคคลนั้นจะนั่งต่อไปอีก และได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรม เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง โดย ไม่ต้องห่วงถึงการที่จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไรถ้าไม่ไปสู่สถานที่ที่สงัด เพราะถ้าปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่ทั่วตราบใด จะไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    สำหรับเรื่องความสันโดษ หรือว่าสถานที่สงัดต่างๆ จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อรัญญวรรคที่ ๔ อรัญญกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะมีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่าเป็นวัตร อันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอด ในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    จบ สูตรที่ ๑



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564