แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039


    ครั้งที่ ๑๐๓๙

    สาระสำคัญ

    สงฺ.นิ.ปฐมสังโยชนสูตร - สังโยชน์เป็นเหตุใกล้ให้เกิดโลภะ

    ทบทวนโลภมูลจิต ๘ ดวง (ทรงแสดงตามลำดับโทษและความแรงกล้า) 

    อถ.จิตตุป-ปาทกัณฑ์ - อธิบายลักษณะของเวทนาเจตสิก


    . โลภะแบบนี้ยิ่งมากยิ่งดี เพราะถ้าโลภะนิดเดียวก็ได้เพียง ๑ มาสก ๒ มาสก แต่โลภะของท่านพระอานนท์สมัยนั้นมีมากจึงได้ตำแหน่งพระราชา

    สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิดขึ้นขณะใดไม่บริจาค สละไม่ได้ ท่านผู้ฟังกลับไปบ้าน ดูเสื้อผ้าก็ได้ ของใช้ต่างๆ ก็ได้ บางอย่างไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใส่ สละหรือเปล่า ทั้งๆ ที่อาจจะเก็บไว้เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆ ปี เวลาที่โลภะเกิดขึ้น อาการที่ปรากฏ คือ ไม่สละ เพราะฉะนั้น เพียงครึ่งมาสกเท่านั้นเองยังไม่ยอมที่จะทิ้งไป ถึงแม้ว่าจะมีเงินถึง ๔ - ๕ มาสก ๘ พัน ๘ หมื่น มากเท่าไรก็ตาม ก็ยังต้องกลับไปเอาครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ที่ใต้แผ่นอิฐ

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ก็คล้อยตามอารมณ์ ขณะที่คล้อยตามอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ที่ว่าคล้อยตามอารมณ์ ขอให้อาจารย์ขยายความด้วย

    สุ. ถ้าเดินไปตามถนน เห็นอะไรบ้าง เห็นอะไรก็นึกถึงสิ่งที่เห็น นั่นคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า

    . หมายความว่า ขณะที่เห็นดอกไม้แล้ว รู้ว่าเป็นดอกไม้

    สุ. คิดถึงดอกไม้ เห็นคนไหนก็คิดถึงคนนั้น เห็นอะไรก็นึกถึงเรื่องของสิ่งนั้น

    สำหรับปทัฏฐาน เหตุใกล้ให้เกิดของโลภะ คือ มีความเห็นความสำราญ หรือความน่าพอใจในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฐมสังโยชนสูตร ข้อ ๒๐๐ข้อ ๒๐๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติดเพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษพึงเติมน้ำมันและใส่ไส้ในประทีปน้ำมันทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาผู้ที่เห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติดเพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษไม่พึงเติมน้ำมันไม่ใส่ไส้ในประทีปน้ำมันนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้นไม่มีอาหาร พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่าและเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นเหมือนกับการเติมน้ำมันลงในประทีปน้ำมันทุกๆ ระยะ อารมณ์ต่างๆ กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่างเว้นเลย ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต มีการตื่นขึ้นก็จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสัมผัส มีการคิดนึก สังเกตได้ไหมว่า มีการเห็นความสำราญ หรือความน่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดโลภะ ความยินดีพอใจติดข้องในสิ่งนั้น

    ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ก็คงไม่อยากได้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน แต่สิ่งใด ซึ่งรู้สึกน่าดู น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเห็นอะไร เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ มีการเห็นความสำราญในธรรมทั้งหลายอยู่เนืองๆ จึงเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น

    สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง จัดเป็น ๔ คู่ คือ

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ หรือ สสงฺขาริกํ

    คือ เป็นโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ ดวง หรือเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูงอีก ๑ ดวง

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ หรือ สสงฺขาริกํ

    คือ เป็นโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา แต่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ ดวง หรือเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูงอีก ๑ ดวง

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๓ และคู่ที่ ๔ โดยนัยเดียวกับคู่ที่ ๑ และคู่ที่ ๒ แต่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิต ๔ คู่ ๘ ดวง ในภาษาบาลี คือ

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ ๑

    สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง จำแนกเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง และเป็นโลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก ๔ ดวง เป็นสสังขาริก ๔ ดวง

    และทรงแสดงตามลำดับของโทษและความแรงกล้าของโลภมูลจิต ซึ่ง โลภมูลจิตคู่ที่ ๑ ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด อสงฺขาริกํ เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการ ชักจูง เป็นโลภมูลจิตที่มีกำลังมากกว่าโลภมูลจิตดวงอื่น เพราะว่าเกิดพร้อมกับความยินดีพอใจอย่างแรง เกิดร่วมกับความเห็นผิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง เพราะฉะนั้น จึงเป็นโลภมูลจิตซึ่งมีโทษและมีกำลังแรง

    จิตทุกดวงจะต้องเกิดร่วมกับเจตสิกอื่น รวมเป็นนามขันธ์ ๔ เจตสิกเป็น นามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และจิตเป็นวิญญาณขันธ์ ไม่ว่าจิตจะเกิดขึ้นขณะใด จะต้องไม่ปราศจากขันธ์ที่เป็นนามขันธ์อื่นๆ เพราะฉะนั้น นามขันธ์ทั้ง ๔ ไม่แยกจากกันเลย

    เวลาที่แสดงประเภทความต่างกันของจิต จะแยกแสดงต่างกันโดยเวทนาประการหนึ่ง และต่างกันโดยเจตสิกอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยอีกประการหนึ่ง

    การที่จะรู้ว่าในขณะหนึ่งๆ เป็นโลภมูลจิตประเภทใดดวงใดใน ๘ ดวง ก็จะรู้ได้โดยความต่างกันของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิต และโดยความต่างกันของโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดหรือว่าไม่ได้เกิดพร้อมกับความเห็นผิด ประการหนึ่ง และโดยความต่างกันที่ว่า โลภมูลจิตนั้นเกิดขึ้นมีกำลังด้วยตนเองหรือว่าเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูงของบุคคลอื่นหรือของตนเองอีกประการหนึ่ง

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายลักษณะของเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญ เพราะทุกท่านแสวงหาสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ต้องการมีความรู้สึกที่เป็นสุข หรือว่าโสมนัส ยินดี เพราะฉะนั้น ในบรรดาเจตสิกธรรมทั้งหลาย เวทนาเจตสิกจึงมีความสำคัญในการที่จะทำให้สัตว์วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ด้วยอำนาจความพอใจในสุขเวทนา หรือในโสมนัสเวทนา

    ข้อความมีว่า

    ที่ชื่อว่าเวทนา เพราะเสวยอารมณ์ เวทนานั้นมีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ

    เสวย คือ เสพ หรือกิน หรือบริโภค หรือรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ รู้สึกเป็นสุข หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์ หรือว่ารู้สึกยินดี หรือว่ารู้สึกเสียใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด และปรมัตถธรรมทุกประเภทต้องมีลักษณะ มีกิจการงาน มีอาการปรากฏ และมีเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้น สำหรับลักษณะของเวทนาเจตสิก คือ มีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ

    เวลาที่จิตดวงหนึ่งๆ เกิดขึ้น อย่าลืม มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเวทนาเจตสิกเท่านั้น และนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกันคือจิตและเจตสิกนั้น เป็นสัมปยุตตธรรม เพราะว่าเป็นนามธรรมด้วยกัน สำหรับสัมปยุตตธรรมอื่น คือ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน ย่อมรู้อารมณ์หรือว่าเสวยอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่เหมือนกับเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นใหญ่ในการเสวย คือ การรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ

    จิตทุกดวงจะขาดผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ไม่ได้ จะขาดสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่หมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ จะขาดเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นธรรมชาติที่จงใจตั้งใจไม่ได้ แต่ว่าในบรรดาสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เวทนาเจตสิกเท่านั้นย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์โดยตรง โดยความเป็นเจ้าของ เพราะความเป็นใหญ่ มีอำนาจทำให้จิตและเจตสิกอื่นๆ ฟูขึ้น เป็นสุข หรือว่าห่อเหี่ยว ฟุบ เป็นทุกข์

    อารมณ์เดียวกัน ถ้าโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าโทมนัสเวทนาเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นก็ตรงกันข้ามเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ แทนที่จะฟูด้วยความสุข ก็ตรงกันข้าม จะใช้คำว่า ฟุบ หรือว่าเหี่ยวแห้งไปเพราะโทมนัสเวทนา ก็ได้

    เพราะฉะนั้น เวทนาเป็นสภาพธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาว่า

    ความจริง เวทนาเปรียบเหมือนพระราชา ธรรมนอกจากนี้ คือ เจตสิกอื่นๆ เปรียบเหมือนพ่อครัว ต้นเครื่อง ผู้ที่ปรุงโภชนะมีรสดีต่างๆ และใส่ลุ้งหรือโตกไว้ ประทับตรา นำเข้าไปวางไว้ใกล้พระราชา แกะเอาตราออก เปิดลุ้งหรือโตก ตักเอา ส่วนบนๆ จากแกงและกับทั้งหมดใส่ในภาชนะแล้วชิม เพื่อลองดูว่า มีโทษหรือ ไม่มีโทษ ต่อจากนั้นก็นำโภชนะซึ่งมีรสต่างๆ เข้าไปถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เสวยได้ตามพระราชประสงค์ เพราะทรงเป็นใหญ่และทรงมีอำนาจ ธรรมนอกจากนั้น เสวยอารมณ์เพียงบางส่วน เหมือนต้นเครื่องซึ่งเพียงแต่ชิมทดลองซึ่ง พระกระยาหารเพียงบางส่วนเท่านั้น

    ผัสสะก็รู้อารมณ์นิดหนึ่งส่วนหนึ่งโดยกระทบ สัญญาก็รู้อารมณ์ที่ปรากฏโดยหมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่เจตสิกซึ่งเสวยอารมณ์โดยตรงนั้น ได้แก่ เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพที่ทำให้จิตฟูขึ้น เป็นสุข หรือทำให้จิตห่อเหี่ยวแห้ง เป็นทุกข์ ซึ่งแล้วแต่ลักษณะของเวทนา

    สำหรับลักษณะของโสมนัสเวทนา ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    โสมนสฺสสหคตํ คือ ถึงภาวะมีการเกิดร่วมกัน ดับร่วมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกันกับโสมนัสเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ที่แช่มชื่น อุปมาเหมือนน้ำหวาน

    น้ำเปล่าๆ กับน้ำหวาน รสต่างกัน เวลาที่ทุกท่านดื่มน้ำหวาน รู้สึกอย่างไร แช่มชื่นอย่างไร นั่นคือลักษณะของโสมนัสเวทนา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564