แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066


    ครั้งที่ ๑๐๖๖

    สาระสำคัญ

    กั้นกระแสของโลภะ

    โลภมูลจิตดวงที่ ๑ รู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์

    เผณปิณฑสูตร (พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบขันธ์ ๕)


    การอบรมเจริญปัญญาต้องตรงตามความเป็นจริงว่า โลภมูลจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดอยู่เป็นประจำ ควรรู้ จึงจะละการยึดถือโลภมูลจิตและสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะกลัวโลภะจนกระทั่งไม่ให้มีโลภะจึงจะเจริญปัญญา ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญญาจะรู้ลักษณะของโลภะได้อย่างไร ปัญญาจะเห็นว่า โลภะไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลได้อย่างไร แต่ชีวิตปกติตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สติก็ควรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    ถ้าท่านผู้ฟังไปดูหนังที่โรงหนัง ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง บังคับได้ไหม ไปแล้ว ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ไปแล้วสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ท่านผู้ฟังมาแล้ว สู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าท่านผู้ฟังมีธุระต้องเดินทางไปที่หนึ่งที่ใด จะเป็นจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดก็ได้ ไปแล้วสู่ที่ใด ไม่ว่าจะในรถไฟ หรือว่าในเรือบิน ในเรือ หรือที่ไหนก็ตาม ไปแล้วสู่ที่นั้นตามความเป็นจริง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นั่นเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่สามารถจะกั้นกระแสของโลภะได้ แต่ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิดขณะนั้นให้ทราบว่า กำลังติดตามโลภะไป ไม่ว่าจะเป็นทวารหนึ่งทวารใด ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ

    โดยอารมณ์ ๖ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ รู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์

    อารมณ์มี ๖ ทางตา สี คือ รูปารมณ์ ทางหู เสียง คือ สัททารมณ์ ทางจมูก กลิ่น คือ คันธารมณ์ ทางลิ้น รส คือ รสารมณ์ ทางกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว คือ โผฏฐัพพารมณ์ ทางใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรที่จิตรู้ทางใจในขณะนั้น เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตมีอารมณ์ ๖ คือ สามารถที่จะยึด ติด พอใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ได้

    สำหรับทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนามธรรม ๑ ทวาร คือ ตา จักขุทวาร เป็นรูป หู โสตทวารเป็นรูป จมูก ฆานทวารเป็นรูป ลิ้น ชิวหาทวารเป็นรูป กาย กายทวารเป็นรูป ส่วนทางใจไม่ใช่รูป แต่ว่าทางใจสามารถมีอารมณ์ต่างๆ คือนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ได้อาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นก็เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ

    สำหรับอารมณ์ ๖ มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อารมณ์ ๕ เป็นรูป คือ ทางตา รูปารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางหู สัททารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางจมูก คันธารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางลิ้น รสารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางกาย โผฏฐัพพารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป สำหรับทางใจ ที่เป็นรูปก็มี ที่เป็นนามก็มี เพราะฉะนั้น อารมณ์ ๖ ๕ ทวารเป็นรูป สำหรับทางใจ เป็นรูปบ้าง เป็นนามบ้าง

    โดยวัตถุ ๖ วัตถุ หมายความถึงที่เกิดของจิต ซึ่งได้แก่ รูป คือ

    จักขุวัตถุ ได้แก่ จักขุปสาท เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จิตเห็น ๒ ดวง

    โสตวัตถุ ได้แก่ โสตปสาท เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตได้ยิน ๒ ดวง ในขณะที่ได้ยิน จิตเกิดที่โสตปสาท และดับที่โสตปสาท

    ฆานวัตถุ ได้แก่ ฆานปสาท เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ จิตที่ได้กลิ่น ๒ ดวง ชิวหาวัตถุ ได้แก่ ชิวหาปสาท เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรส ๒ ดวง

    ในขณะที่กระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งทุกท่านกระทบอยู่ในขณะนี้ ให้ทราบว่า กายวัตถุเป็นรูป เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ในขณะที่กำลังปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กาย

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางทวาร ๕ ปสาทรูป ๕ เป็นวัตถุ ๕ คือ เป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ดวง ได้แก่ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง และจิตที่รู้โผฏฐัพพะทางกาย ๒ ดวง

    สำหรับวัตถุที่ ๖ คือ หทยวัตถุ ได้แก่ ที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    เพราะฉะนั้น ถ้าโดยวัตถุ ๖ หมายเฉพาะรูปเท่านั้น ไม่มีนามธรรมเลย เพราะว่าวัตถุ คือ รูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ขณะนี้เองสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา เห็น จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร สำหรับจิตซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุสำหรับจักขุวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจเห็น ๒ ดวง เพราะฉะนั้น ที่จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นที่ประชุม เป็นอายตนะ เป็นที่ต่อให้เกิดจักขุวิญญาณ สภาพที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และดับไปทันทีที่จักขุวัตถุนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การแทงตลอดโดยประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม

    ทางหู สภาพธรรมกำลังปรากฏให้พิสูจน์ตามความเป็นจริง เสียงเป็นรูป เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทวาร แต่โสตทวารเป็นทวาร เป็นทางให้เกิดจิตที่รู้เสียง และโสตทวารนั้นเองเป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น จิตที่ได้ยินเสียงเกิดที่โสตวัตถุ คือ โสตปสาท และดับที่โสตปสาทซึ่งเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิตได้ยินนั่นเอง

    เมื่อไรจะประจักษ์แจ้งความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ใช่ไหม นี่คือจุดประสงค์ หรือประโยชน์ของการเรียน เพื่อที่จะได้รู้ถูก รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ในขั้นต้นไม่ใช่พากเพียรที่จะไปรู้โสตปสาท เพียงแต่ว่า ขณะใดที่สภาพธรรมทางหนึ่งทางใดกำลังปรากฏ การศึกษาธรรมจะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เช่น รูปธรรมไม่สามารถรู้อะไร เพราะฉะนั้น เสียงที่กำลังปรากฏ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏแก่โสตวิญญาณที่กำลังรู้เสียงนั้น แต่การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ระลึกเพียงลักษณะของรูปธรรม จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กำลังรู้เสียง คือ กำลังได้ยินเสียงด้วยว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คืออนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้ยาก แต่อบรมได้ โดยพิจารณารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้รู้ได้ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

    โดยขันธ์ ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ และวิญญาณขันธ์ ๑ โลภมูลจิตเป็นขันธ์อะไร

    เป็นวิญญาณขันธ์

    โลภเจตสิกเป็นขันธ์อะไร

    เป็นสังขารขันธ์

    โสมนัสเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นขันธ์อะไร

    เป็นเวทนาขันธ์

    นี่ก็ครบ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง นามขันธ์เกิดขึ้นร่วมกันทั้ง ๔ ขันธ์ และดับไปพร้อมกัน คือ โลภมูลจิตประกอบด้วยเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ และประกอบด้วยโลภเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ และมีสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกตินั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เผณปิณฑสูตร ข้อ ๒๔๒ –ข้อ ๒๔๗ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน

    ทรงเปรียบเทียบลักษณะของรูปขันธ์ว่า เหมือนกับกลุ่มฟองน้ำใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปโดยรวดเร็ว แต่ถ้าไม่เพ่ง ไม่พิจารณา จะปรากฏไหม

    แท้ที่จริงแล้ว เสียงปรากฏชัดว่าปรากฏและหมดไป แต่วันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ลักษณะของเสียงก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อไม่ได้พิจารณา ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นและดับไป สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพที่ไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ได้เย็นอยู่ตลอดเวลา หรือว่าไม่ได้ร้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะที่เย็นหมดไปก็ดี หรือร้อนหมดไปก็ดี เพราะขาดการพิจารณา จึงไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง

    สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นปกติ ปัญญาจะต้องพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถประจักษ์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเวทนาว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของ ว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย ฯลฯ เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน

    ความรู้สึกก็เกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน ซึ่งหลายท่านกล่าวว่า ความรู้สึกที่พิจารณายากคือความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ยังปรากฏชัดพอที่จะให้พิจารณาได้ หรือเวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์จริงๆ ปรากฏให้รู้ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ลักษณะของเวทนาซึ่งไม่ใช่สุขและไม่ใช่ทุกข์

    ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะอื่นที่จะรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา หรือว่า อทุกขมสุขเวทนา เพราะว่าขณะที่เห็น เห็นเท่านั้น เห็นเฉยๆ เพียงเห็น และไม่สนใจ ขอให้ระลึกถึงความรู้สึกในขณะที่กำลังเห็นและไม่สนใจ ขณะนั้นคือความรู้สึกเฉยๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เป็นความรู้สึกปกติธรรมดาจริงๆ ในขณะที่เห็น แต่เพราะไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง จึงทำให้ไม่รู้ว่าความรู้สึกเฉยๆ นั้นมีลักษณะอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วในวันหนึ่งๆ ความรู้สึกชนิดใดมาก ความรู้สึกเป็นสุขมาก หรือความรู้สึกเป็นทุกข์มาก หรือความรู้สึกเฉยๆ มาก

    ความจริง คือ ความรู้สึกเฉยๆ มีมากกว่า แต่สิ่งใดก็ตามที่มีมากจะทำให้ชิน และไม่สังเกต ไม่ระลึกรู้ เช่น โลภมูลจิตที่ประกอบกับอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ มีอยู่เป็นประจำ แต่เพราะเป็นประจำจึงไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับความยินดี หรือความติด หรือความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นเรื่องของกาลเวลาที่จะต้องมีความอดทน ที่จะระลึกศึกษาเพื่อรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามที่ได้ศึกษาโดยละเอียด เช่น เรื่องของเวทนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาสัญญาเจตสิก หรือสัญญาขันธ์ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาพยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของ ว่างเปล่า ฯลฯ สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

    ขณะนี้มีสัญญาเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ทางตาที่กำลังเห็นก็มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทางหูก็มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีสัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์เกิดร่วมด้วย แต่ถ้ายังไม่ได้พิจารณาตราบใด จะยังไม่เห็นความไม่มีสาระของสัญญาที่จำลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ

    ขณะที่กำลังจำทางตา ไม่ใช่ในขณะที่กำลังจำทางหู ลักษณะที่จำมีจริง แต่เป็นสภาพจำที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องนานแค่ไหน กว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่กำลังจำสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เรื่องของขันธ์ ๕ ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดและแทงตลอดจริงๆ แม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก แต่ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาสังขารขันธ์ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแกนใน ในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้น แล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคายซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ ฯลฯ สังขารนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล

    เจตสิก ๕๒ ดวง เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือทั้งหมด ๕๐ ดวง เป็นสังขารขันธ์ มีประเภทต่างๆ หลายประเภท เหมือนกับกาบใบของต้นกล้วย ซึ่งแม้ว่าจะลอกออกๆ ก็ไม่สามารถที่จะหาแก่นหรือสาระได้ แม้ฉันใด สังขารขันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขณะจิตที่เกิดร่วมกับโลภะ เป็นจิตที่ยินดีอยากได้ หรือขณะจิตที่เกิดร่วมกับโทสะ ที่ประกอบด้วยความขุ่นเคือง หยาบกระด้าง ขณะนั้นก็เว้นจากสาระ คือ ความเป็นตัวตน เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564