แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056


    ครั้งที่ ๑๐๕๖

    สาระสำคัญ

    ความเห็นผิดที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว ๔ จำพวก

    สุมังคลวิลาสินี - ความเห็นของผู้ที่เป็นอมราวิกเขปทิฏฐิ (กระเช้าของคนบ้า)

    สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต


    ถ้ามีความเข้าใจผิดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย แสดงว่าเป็นผู้ที่เริ่มปราศจากเหตุผล เมื่อปราศจากเหตุผลมากขึ้น และไม่ตรวจสอบกับพระธรรมวินัยเพื่อที่จะละความเข้าใจผิด ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิด จนเป็นถึงความเห็นที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว ซึ่งมี ๔ จำพวก

    พวกที่ ๑ คือ ผู้ที่เมื่อถูกถามไม่รู้ชัดว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล กลัวว่า คำพยากรณ์จะเป็นคำเท็จ เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ จึงกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ มิใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

    ซึ่งใน สุมังคลวิลาสินี มีข้อความที่อธิบายความเห็นของผู้ที่เป็น อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ว่า

    ความเห็นที่ว่า อย่างนี้ก็มิใช่ เป็นคำดิ้นไป ไม่กำหนดแน่นอน

    ความเห็นที่ว่า อย่างนั้นก็มิใช่ เป็นคำปฏิเสธวาทะว่าเที่ยง

    ความเห็นที่ว่า อย่างอื่นก็มิใช่ ปฏิเสธวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง

    ความเห็นที่ว่า ไม่ใช่ก็มิใช่ ปฏิเสธที่กล่าวไว้ว่า เบื้องหน้าแต่ความตาย สัตว์ไม่มี

    ความเห็นที่ว่า มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ปฏิเสธวาทะของคนช่างคิดที่กล่าวไว้ว่า เป็นก็มิใช่ ไม่เป็นก็มิใช่

    เหมือนกับของที่อยู่ในกระเช้าของคนบ้าไหม ซึ่งใน สุมังคลวิลาสินี มีข้อความต่อไปว่า

    ก็บุคคลผู้มีความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัวนี้ ถูกถามว่า นี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ย่อมไม่ตอบอะไรๆ

    ทุกท่านต้องการเข้าใจจริงๆ เพื่อที่จะได้ละอกุศล จึงศึกษา จึงสนทนาธรรม จึงไตร่ตรองพิจารณา แต่ผู้ที่มีวาทะเป็นพวกอมราวิกเขปิกทิฏฐิ ก็ไม่ยอมตอบอะไร

    หรือถูกถามว่า นี่เป็นกุศลหรือ ก็ตอบว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่

    ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่า อะไรเป็นกุศล ก็ตอบว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนั้นก็มิใช่

    เมื่อเขากล่าวว่า อย่างอื่นจากทั้งสองอย่างหรือ ก็ตอบว่า ความเห็นของเราว่า อย่างอื่นก็มิใช่

    ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่า ลัทธิของท่านว่า ไม่ใช่ทั้ง ๓ อย่างหรือ ก็ตอบว่า ความเห็นของเราว่า ไม่ใช่ก็มิใช่

    ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่า ลัทธิของท่านว่า ไม่ใช่ก็มิใช่รึ ก็ตอบดิ้นไปอย่างนี้ว่า ความเห็นของเราว่า มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ดังนั้นทีเดียว คือ ไม่ตั้งอยู่แม้ในฝ่ายหนึ่ง

    อย่างนี้จะมีไหม ก็ต้องมี ถ้าได้สนทนากับผู้ที่มีความเห็นซึ่งเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็ดิ้นไปจนรอบ จนทั่ว รวมความว่า ไม่ตั้งอยู่แม้ในฝ่ายหนึ่ง นี่เป็น อมราวิกเขปิกทิฏฐิ จำพวกที่ ๑

    จำพวกที่ ๒ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่ไม่รู้ชัดว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล แต่จำพวกที่ ๒ เป็นผู้ที่กลัวว่าจะมีอุปาทาน เมื่อมีความพอใจบ้าง ติดใจบ้าง เมื่อบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ตอบถูกแล้ว หรือจะเกิดความเคืองใจบ้าง ขัดใจบ้าง เมื่อบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ตอบไม่ดี เพราะว่าเรื่องชื่อแม้เพียงเท่านี้ก็ไม่รู้

    นี่เป็นความคิดเห็นของแต่ละท่านที่กลัวว่า ถ้าตอบถูกบัณฑิตทั้งหลายจะกล่าวว่า ตอบถูกแล้ว ตนเองจะเกิดความพอใจ ซึ่งเป็นความติดใจอย่างอ่อน หรือว่าจะเกิดความติดใจอย่างแรง เพราะฉะนั้น จะทำให้เกิดอุปาทานขึ้น จึงกลัวว่าจะมีอุปาทานอย่างนั้น หรือว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความเคืองใจซึ่งเป็นความโกรธอย่างอ่อน หรือเป็นความขัดใจซึ่งเป็นความโกรธอย่างแรงได้ เมื่อตอบผิดและบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ตอบไม่ดี

    จำพวกที่ ๓ เป็นผู้ที่ไม่รู้ชัดว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จะต้องมีคำตอบที่ดิ้นได้ ไม่ตายตัว เป็นผู้ที่กลัวและเกลียดการซักถามของสมณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต ซึ่งมีปัญญาละเอียด ชำนาญการโต้วาทะ เป็นดุจคนแม่นธนู เพราะเมื่อผู้ที่เป็นบัณฑิตซักไซ้ไล่เลียง สอบสวน ก็ย่อมไม่อาจที่จะโต้ตอบได้ ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี ได้อธิบายคำต่างๆ ว่า

    คำว่า สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต คือ ผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต

    คำว่า มีปัญญาละเอียด คือ ผู้เจริญด้วยปัญญาอันละเอียดสุขุม สามารถแทงตลอดอรรถอันพิเศษ ซึ่งละเอียดสุขุม

    คำว่า ชำนาญการโต้วาทะ คือ เข้าใจการโต้วาทะ และคุ้นเคยการโต้กับ ฝ่ายอื่น

    คำว่า เป็นดุจคนแม่นธนู คือ เหมือนกับนายขมังธนูผู้ยิงถูกขนทรายฉะนั้นอธิบายว่า สมณพราหมณ์นั้นย่อมเที่ยวไปเหมือนกับจะทำลายทิฏฐิของคนเหล่าอื่น แม้สุขุม ด้วยกำลังปัญญาของตนๆ ดุจคนแม่นธนูยิงถูกขนทรายฉะนั้น

    คำว่า เขาจะพึงซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนเราในข้อนั้น อธิบายว่า สมณพราหมณ์นั้นซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนเราในข้อที่เป็นกุศลและอกุศล

    ธรรมเป็นเรื่องยากไหม แม้แต่เพียงเรื่องของกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรู้ง่าย เพราะฉะนั้น ผู้ที่กลัว เพราะไม่รู้ชัด ก็ไม่อยากจะพบผู้ที่เป็นบัณฑิตเพราะรู้ว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตจะต้องซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนในความเห็นที่ตอบ เช่น เรื่องของ สมถภาวนา ถ้าตอบว่า การทำให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็น สมถภาวนา เป็นกุศล อย่างนั้นจะถูกไหม การที่ให้จิตจดจ่อตั้งมั่นที่อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งโดยวิธีใดก็ตาม กล่าวว่า เป็นกุศล ถูกหรือไม่ถูก

    ยากที่จะตัดสินไหมว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็จะตอบผิด เพราะฉะนั้น ย่อมกลัวว่าจะมีผู้ที่ซักไซ้

    ที่ว่า ซักไซ้ นั้น ได้แก่ ถามถึงลัทธิว่า ท่านจงกล่าวลัทธิของตนว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล

    นี่เป็นเรื่องของสมถภาวนาได้เหมือนกัน คือ ผู้ที่กล่าวว่า ท่านกำลังปฏิบัติสมถะอยู่ ถ้ามีผู้ถามว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร ลัทธิของท่านปฏิบัติอย่างไร ก็จะต้องอธิบายว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นทำอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ก็ย่อมจะตอบผิด

    ที่ว่า ไล่เลียง นั้น คือ เมื่อตอบไปว่า เรื่องชื่อนี้เป็นกุศล เป็นอกุศล ก็จะพึงถามถึงเหตุว่า ด้วยเหตุอะไร

    ถ้าพยายามที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งและเข้าใจว่าเป็นสมถภาวนา ก็จะต้องมีผู้ซักไซ้สอบสวนว่า เพราะอะไรจึงเป็นสมถะ หรือว่าเพราะอะไรจึงเป็นกุศล ไม่ใช่เชื่อตามง่ายๆ ว่า การที่ทำให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียวเป็นกุศล เพราะว่า จะต้องมีเหตุผลมากกว่านั้น

    ที่ว่า พึงถามถึงเหตุว่า ด้วยเหตุอะไร

    ที่ชื่อว่าสอบสวน คือ เมื่อตอบไปว่าด้วยเหตุชื่อนี้ ก็จะพึงชี้โทษ ซักไซ้อย่างนี้ว่า ท่านยังไม่รู้เหตุนี้ ท่านก็จงถือเอาข้อนี้ จงสละข้อนี้เสีย

    ซึ่งก็เป็นการยากอีกที่จะสละความเห็นผิดที่ยึดถือมานาน หรือว่ากว่าจะยึดถือก็พากเพียรคิดอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง หรือว่าพากเพียรฟังบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง พากเพียรแสวงหาจนกระทั่งเกิดความติด เกิดความพอใจขึ้น และถ้าทราบว่า เป็นความเห็นผิด ยากไหมที่จะสละทิ้งเสีย ซึ่งข้อความในอรรถกถามีต่อไปว่า

    เมื่อโต้ตอบกับบัณฑิตเหล่านั้นไม่ได้ ก็จะเดือดร้อน เป็นทุกข์ เพราะทำให้ ริมฝีปาก เพดาน ลิ้น และคอ แห้งทีเดียว

    สำหรับผู้ที่มีความเห็นผิด ที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว ที่เป็นอมราวิกเขปิกทิฏฐิ จำพวกที่ ๔ ก็เพราะเป็นผู้ที่โง่เขลา งมงาย ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อธิบายว่า

    คนโง่ คือ ไม่มีปัญญา คนเขลา เป็นคนหลงพร้อมอย่างยิ่ง

    สำหรับปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ สัสสตวาทะ ๔ เอกัจจสัสสติกวาทะ ๔ อันตานันติกะ ๔ อมราวิกเขปิกะ ๔ และยังมีความเห็นผิดที่เป็นปุพพันตกัปปิกทิฏฐิอีก ๒ คือ อธิจจสมุปปันนิกวาทะ ๒ จำพวก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ

    จำพวกที่ ๑ ได้แก่ ผู้ที่เคยเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหม คือ เป็นพรหมที่มีแต่ รูปปฏิสนธิ เพราะเห็นโทษของนามธรรมว่า เมื่อมีจิตก็มีทุกข์ ถ้ามีรูปร่างกายโดยที่ ไม่มีจิต ความทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี ความที่จะเดือดร้อนเพราะกิเลสขั้นต่างๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นโทษของนามธรรม และเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิตมั่นคงจนถึงปัญจมฌาน เวลาที่ใกล้จะจุติ ฌานจิตไม่เสื่อม เมื่อฌานจิตขั้น ปัญจมฌานเกิดก่อนจุติ และเป็นผู้ที่มีความปรารถนาที่จะละนามธรรม ก็เป็นปัจจัยให้เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว รูปปฏิสนธิเกิดขึ้นในชั้นอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่งเป็นรูปพรหมชั้นหนึ่งที่มีแต่รูปขันธ์เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีนามขันธ์เกิดเลย คือ ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดในระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหมเลย และตั้งอยู่ตลอดจนกว่าจะสิ้นอายุ เมื่อสิ้นอายุแล้ว รูปก็อันตรธาน และปฏิสนธิจิตก็เกิดในสุคติภูมิ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ผู้นั้นอบรมเจริญความสงบของจิตมั่นคง และสามารถเห็นปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะย้อนระลึกเลยไปกว่านั้นได้ ก็เห็นว่าปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นลอยๆ จึงมีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ นี่เป็นจำพวกที่ ๑ ซึ่งเคยเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหม

    จำพวกที่ ๒ เป็นนักตรึก นักคิดธรรมดาๆ ซึ่งเป็นผู้ที่คิดผิด ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของสัสสตวาทะ หรือเอกัจจสัสสติกวาทะ อันตานันติกวาทะ อมราวิกเขปิกวาทะก็ตาม ก็จะต้องมีผู้ที่ไม่ใช่ระลึกชาติได้ แต่เป็นผู้ที่นึกคิดเอาเองตามการสะสม

    . เรื่องของมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ประการนี้ ศึกษาแล้วรู้สึกว่า เข้าใจยากเหลือเกิน สรุปแล้วก็มีแค่ ๒ คน คนหนึ่งได้ฌาน คนหนึ่งนักคิด มีแค่นี้ แต่ที่ยาก เพราะไม่เข้าใจว่า อัตตาและโลกหมายความว่ายังไง

    สุ. อัตตา คือ สภาพธรรมที่มีปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน โลก ก็โลกนี้ที่อยู่อาศัย หรือว่าจักรวาล โลกจักรวาล

    . คนที่ได้ฌาน เมื่อระลึกชาติได้ ชาติหนึ่งๆ ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดา ตายจากเทวดาไปเกิดเป็นเปรต ตายจากเปรตไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทำไม ยังบัญญัติว่าเที่ยงอยู่ หมายความว่าอย่างไร

    สุ. เที่ยง คือ เป็นเขานั่นเอง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างนี้บ้าง เพราะฉะนั้น ก็มีตัวตน เป็นตัวตน เมื่อจากโลกนี้ก็ไปสู่โลกนั้น จากโลกนั้นก็ไปสู่โลกนี้ ยังไม่เปลี่ยน ยังไม่หมด

    . นั่นก็แสดงความไม่เที่ยงแล้ว

    สุ. ส่วนที่เที่ยง คือ ตัวเอง ถ้าไม่เที่ยงก็ไม่ต้องมาเป็นบุคคลนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ แต่บุคคลนี้แหละเคยเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงเที่ยงจากบุคคลนั้นมาสู่ความเป็นบุคคลนี้ จากบุคคลนี้ ชาตินี้ ก็ไปสู่ชาติโน้นๆ ซึ่งก็คือคนนั้นนั่นเองที่เที่ยง ตัวตนไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ ยังเที่ยงอยู่

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. แต่ตัวตนมีไหม ตัวตนที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีไหม เพราะฉะนั้น ความเห็นว่า ตัวตนที่กำลังอยู่เดี๋ยวนี้ มี แม้ในชาติก่อนๆ ก็คือคนนี้ซึ่งกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ไม่ใช่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น จึงเที่ยงโดยความเป็นตัวตนนี้ที่กำลังอยู่ที่นี่ ยังเที่ยงอยู่ ยังไม่หมดไป

    . ความหมายดิ้นได้ ทำให้เข้าใจยาก

    สุ. ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    . ในสัสสตทิฏฐิ ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินีท่านกล่าวว่า อัตตาและโลกเที่ยง ท่านกล่าวว่า ผู้ที่บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง หมายถึงยึดขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ เป็นต้น ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็นอัตตา ว่าเป็นโลก เพราะฉะนั้น คำว่า อัตตา กับคำว่า โลก ก็อันเดียวกัน และที่ว่าขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ผมคิดว่า ผู้ที่ระลึกชาติได้คงจะยึดวิญญาณขันธ์ว่าเป็นอัตตา ว่าเป็นโลก ใช่ไหม

    สุ. นั่นโดยนัยของสัสสตวาทะ แต่มีนัยอื่นอีกที่กล่าวว่า โลกที่เป็นจักรวาล เพราะว่าทั้งหมดมีถึง ๖๒

    ถ. คำว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ โลกไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ก็เป็นความหมายอีกอย่างหนึ่ง ความหมายดิ้นได้ ทำให้เข้าใจยากมาก

    สุ. สรุปแล้วเหมือนกระเช้าของคนบ้าไหม ถ้าจะตามค้นดูกระเช้าของคนบ้า ก็คงจะเป็นตามไปด้วย จะจับสาระอะไรก็ไม่มี แต่ก็นั่งค้นในกระเช้าของคนบ้า

    . ที่ว่าโลกมีที่สุด ผมอ่านในอรรถกถามาว่า ผู้ที่ได้อุปจารสมาธิ แต่ไม่ได้ขยายปฏิภาคนิมิตไปถึงขอบจักรวาล จึงบัญญัติว่า โลกมีที่สุด อีกคนหนึ่งเขาขยายปฏิภาคนิมิตไปถึงขอบจักรวาล จึงบัญญัติว่า โลกไม่มีที่สุด

    สุ. นี่แสดงให้เห็นถึงความเห็นของคนที่แม้ขยายกสิณนิมิตไปจนกระทั่งถึงขอบจักรวาลด้วยกัน ก็ยังมีความเห็นต่างกัน เพราะว่าเป็นความเห็นผิดทั้ง ๒ อย่าง เนื่องจากว่าไม่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม

    . อีกคนหนึ่งขยายนิมิตไปส่วนกว้าง แต่ส่วนบนกับส่วนล่างไม่ได้ขยาย จึงบอกว่า มีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี ยุ่งเหลือเกิน ศึกษาแล้วงงจริงๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นกระเช้าของคนบ้าจริงๆ แสดงให้เห็นถึงพืชเชื้อของความเห็นผิด ซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ถึงแม้ว่าจะสามารถระลึกชาติได้ หรือว่าสามารถจะขยายกสิณปฏิภาคนิมิตไปจนกระทั่งถึงสุดขอบจักรวาล ก็ยังมีความเห็นผิดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๕๑ – ๑๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564