แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023


    ครั้งที่ ๑๐๒๓

    สาระสำคัญ

    สงฺ.สฬ.อุปวาณสูตร ข้อ ๗๘ - ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง

    สงฺ.สฬ.อุทกสูตร - ยังไม่ได้ขุดมูลรากแห่งทุกข์

    สงฺ.สฬ.เสยยสูตร - เมื่อจักษุมี เพราะยึดมั่นจักษุ


    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อุปวาณสูตร ข้อ ๗๘ – ข้อ ๘๔ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่า ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระธรรมจึงชื่อว่า อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ

    ไม่รู้ธรรมอย่างนี้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้ เพราะสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกท่านที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ใช่พระอนาคามี มีการเห็นรูป และถ้าเป็นรูปซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นรูปที่น่ายินดี น่าพอใจ โสมนัสเวทนาก็เกิดเพราะเห็นรูปที่พอใจ

    เป็นชีวิตจริงๆ หรือเปล่า ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ความพอใจในขณะที่เห็นรูปทางตาในวันหนึ่งๆ ยังมีไหม ถ้ามี ก็เป็นจริงที่สติจะต้องระลึกรู้ว่า ความรู้สึกยินดีพอใจ หรือความรู้สึกโสมนัสนั้น เกิดขึ้นเพราะเห็นรูปที่น่าพอใจทางตา เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย จะพยายามเปลี่ยนให้เป็นทุกข์ได้ไหม คิดเอาเฉยๆ ย่อมไม่ได้ เพราะแม้เวทนา คือ สภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ ก็ยังเป็นอนัตตา คือ ฝืนหรือว่าบังคับไม่ได้ แม้พระอรหันต์เอง ถ้าอารมณ์ที่กระทบสัมผัสทางกายเป็นอิฏฐารมณ์ จิตของพระอรหันต์ก็มีสุขเวทนาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ถ้าอารมณ์ที่กระทบทางกายเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จิตของพระอรหันต์ก็เกิดร่วมกับทุกขเวทนาในขณะนั้น

    สำหรับปุถุชน ก็ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะยังมีอกุศลมากมายที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ พร้อมที่จะหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ แต่แสดงให้เห็นว่า แม้ความรู้สึกที่เคยยึดถือว่าเป็นเรารู้สึก แท้ที่จริงแล้วก็ต้องเป็นไปตามอารมณ์ที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไม่รู้สภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้ มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัด ในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูป ในภายใน อาการที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูป ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ

    ตลอดไปจนถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เวลาที่กระทบกับอิฏฐารมณ์ และมีความยินดีพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เรา ไม่มีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเป็นผู้เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ

    ไม่ว่าจะเกิดความยินดี หรือไม่มีความยินดีในอารมณ์ที่ปรากฏ ทุกๆ ขณะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่พูดลอยๆ และไร้ประโยชน์ แต่จะมีประโยชน์เวลาที่ท่านผู้ฟังพิจารณาและประจักษ์จริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุศาสนีย์ พร่ำสอนว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง และไม่ใช่ให้รอเวลาด้วย ถ้าสามารถที่จะเห็นเอง ในขณะนี้เอง เพราะว่ากำลังมีการเห็น ทรงเตือน ทรงอนุเคราะห์ด้วยการทรงแสดงธรรมว่า ธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้เป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เท่านั้นยังไม่พอ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน

    นี่คืออนุศาสนีย์ที่ทรงแสดง ที่ทรงพร่ำสอนในขณะที่กำลังฟัง ในขณะนี้ที่จะน้อมเข้ามาพิจารณารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะที่กำลังคิดนึก คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สติเกิดบ้างหรือยัง ประโยชน์ คือ เมื่อได้ฟังแล้วก็ทราบว่า ธรรมใดผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ซึ่งก็คือทุกๆ ขณะ ขณะไหนก็ได้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    . ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ข้อนี้ไม่สงสัย เพราะว่าผู้มีปัญญาเวลาเห็นรูปแล้ว สุขเวทนาเกิดก็รู้ ทุกขเวทนาเกิดก็รู้ แต่ที่ว่าเรียกให้มาดู ก็ในเมื่อความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในภายใน เรียกคนอื่นมาดู จะเห็นหรือ

    สุ. ไม่ใช่คนอื่น ผู้นั้นเองที่สุขกำลังปรากฏ ทุกข์กำลังปรากฏ

    . ก็พยัญชนะบอกว่า ควรเรียกให้มาดู

    สุ. ดูจิตของตัวเอง ดูความรู้สึกของตัวเอง

    . นึกว่าเรียกคนอื่นมาดู จะเห็นอะไร

    สุ. เวลานี้ สุขมี พระผู้มีพระภาคทรงอนุศาสนีย์ว่า เป็นสภาพธรรมที่ ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่คนอื่นเห็น ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง

    . ใช่ ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ผู้บรรลุก็หมายถึงตัวเอง

    สุ. เพราะฉะนั้น ตัวเองจะเห็นเอง

    . เรียกให้มาดู ผมเข้าใจว่า เรียกคนอื่น

    ส. เมื่อครู่นี้เผลอไป ไม่ได้ดู ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เรียก คือ ให้รู้ว่า นี่เป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง เพราะฉะนั้น ก็ระลึกเสีย พิจารณาเสีย รู้เสีย เห็นเองเสีย คือ เรียกให้มาเห็นเอง

    . พยัญชนะเขาหลอก จึงคิดว่า เรียกคนอื่นมาดู

    ส. ตาใครมี ใครเห็น สุขเวทนาของใครเกิด ทุกขเวทนาของใครเกิด ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง แทนที่จะปล่อยไป หลงลืมสติไป และไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เรื่องการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่อบรมได้ทุกขณะ เพราะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าไม่ระลึก ไม่พิจารณา ก็ไม่รู้ และต้องเป็นธรรมเหล่านี้เองที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่คนอื่นเห็น แต่ถ้าข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส แต่ทำให้ประพฤติปฏิบัติผิด เข้าใจผิด คิดว่าสามารถดับกิเลสได้ และไม่ใช่มีเฉพาะยุคนี้สมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มี ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อุทกสูตร ข้อ ๑๕๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตรย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดย ส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว

    ท่านผู้ฟังคงจะทราบว่า อุทกดาบสเป็นอาจารย์ที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปทรงศึกษาอรูปฌานจิตจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ด้วยพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมาก็ทรงทราบว่า อุทกดาบสไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เข้าใจว่าตนเองรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่ถึงซึ่งเวทก็กล่าวว่า เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวท ยังเป็นผู้ไม่ชนะก่อนก็กล่าวว่า เราเป็นผู้ชนะก่อน ยังไม่ได้ขุด มูลรากแห่งทุกข์ก็กล่าวว่า เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ได้แล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนั้นโดย ชอบควรกล่าวว่า เรา ขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งเวทอย่างไร

    ไม่ได้ทรงแต่เพียงแสดงว่า เป็นผู้ที่ขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้ หรือว่าเป็นผู้ที่ถึงเวทแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงแสดงหนทางว่า การที่จะถึงซึ่งเวท คือ ความรู้ ญาณอย่างนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งเวทอย่างนี้แล

    คือ ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทาตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้รสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และในขณะที่คิดนึก

    ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะก่อนอย่างไร

    ภิกษุรู้แจ้งตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะก่อนอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้ อันภิกษุขุดได้แล้วอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่า คัณฑะ นี้ เป็นชื่อของกายนี้ อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น แตกสลาย กระจัดกระจายเป็นธรรมดา คำว่า คัณฑมูล นี้ เป็นชื่อของตัณหา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาภิกษุละเสียแล้ว ให้มีรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดาดูกร ภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครๆ ขุดไม่ได้ ภิกษุขุดเสียแล้วอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตรย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่ถึงซึ่งเวทก็กล่าวว่า เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวท ยังเป็นผู้ไม่ชนะก่อนก็กล่าวว่า เราชนะก่อน ยังขุดมูลรากแห่งทุกข์ไม่ได้ก็กล่าวว่า เราขุดมูลรากแห่งทุกข์เสียแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนี้โดยชอบ ควรกล่าวว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    จบ ฉฬวรรคที่ ๕

    ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะบอกว่าหมดทุกข์ ดับทุกข์ รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือจะกล่าวว่า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณนั้นวิปัสสนาญาณนี้ หรือว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นขั้นนี้ ได้ไหม ผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริงกล่าวไม่ได้ นอกจาก ผู้ที่เข้าใจผิด เพราะสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ทรงแสดงโดยปรมัตถธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงโดยละเอียด จะพ้นไปจากขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และขณะที่คิดนึกทางใจไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะเกิดขึ้นรู้จักโลก รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องเกิดเพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะกระทบสัมผัส และในขณะคิดนึก นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะตรวจสอบได้จากพระไตรปิฎกทั้งหมด เพราะในพระไตรปิฎกมีข้อความแสดงไว้ชัดเจนในเรื่องของสภาพธรรมที่จะต้องรู้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง บรรลุด้วยตนเอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เสยยสูตร ข้อ ๑๕๘ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ตรัสถามภิกษุทั้งหลายเองว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมี เพราะยึดมั่นอะไร ถือมั่นอะไร จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯ

    เมื่อได้ทรงแสดงธรรมมากแล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยการสอบถามความเข้าใจของผู้ฟังซึ่งเป็นสาวก คือ พระภิกษุในครั้งนั้นว่า มีความเข้าใจธรรมที่ได้ฟังเพียงไร ซึ่งท่านผู้ฟังตอบได้แล้วใช่ไหม ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๓ ปิฎก อย่าลืม ที่ทรงแสดงพระธรรมวินัยโดยนัยต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น

    ไม่ว่าจะทรงสอบถามประการใดๆ ผู้ที่มีความเข้าใจชัดว่า โลกปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงปรากฏ สามารถที่จะพิสูจน์ สามารถที่จะบรรลุ สามารถที่จะเห็นเองได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสถามประการใด คำตอบก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุ ฯ

    เพราะภิกษุทั้งหลายไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองได้ แต่เพราะอาศัย ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง และประพฤติปฏิบัติตาม พระภิกษุทั้งหลายจึงมีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุของธรรมทั้งหลาย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564