แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079


    ครั้งที่ ๑๐๗๙

    สาระสำคัญ

    โนเวทนาสูตร (ความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้นเพราะความต่างแห่งเวทนาหามิได้)

    พาหิรธาตุสูตร (ความต่างแห่งธาตุ)

    ผัสสาหาร (ผลของการกระทบนั้นมากมาย)

    ผัสสเจตสิก จำแนกโดยนัยต่างๆ


    แต่ธรรมต้องเข้าใจและพิจารณาละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค โนเวทนาสูตร ข้อ ๓๔๑ - ข้อ ๓๔๒ มีข้อความที่ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับพระสูตรก่อน ซึ่งบางตอนเหมือน แต่บางตอนต่าง ข้อความมีว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ

    เหมือนกับ เวทนาสูตร แต่ข้อความต่อไปมีว่า

    ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนาหามิได้ …

    นี่ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะว่าผัสสะที่กระทบทางตาต่างกับผัสสะที่กระทบ ทางหู เพราะฉะนั้น ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ต่างกัน เป็นต้น และ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ ถูกต้องใช่ไหมที่เวทนาจะเกิดทางตา ทางหู ต้องอาศัย ผัสสะกระทบอารมณ์ที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางกายเวลากระทบอารมณ์ซึ่งสบาย สุขเวทนาก็เกิด เวลากระทบอารมณ์ซึ่งไม่สบาย ไม่น่าปรารถนา ไม่สบาย ขณะนั้นทุกขเวทนาก็เกิด นี่เป็นความต่างของผัสสะ แต่ข้อความต่อไปมีว่าความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนาหามิได้

    ต้องเข้าใจ ถึงแม้เวทนาจะต่างกัน เวทนาที่ต่างกันนั้นก็ไม่ใช่เป็นเหตุที่ทำให้ผัสสะต่างกัน แต่เวทนาที่ต่างกันเกิดเพราะผัสสะต่างกัน และผัสสะต่างกันเพราะธาตุต่างกัน

    เพราะฉะนั้น เวทนาต่างกันเพราะผัสสะต่างกัน แต่ความต่างของผัสสะไม่ใช่เพราะอาศัยความต่างของเวทนา

    ต่อไปจะเป็นธรรมที่ละเอียดขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อที่จะแสดงเหตุและผลตามความเป็นจริงว่า ต้องเข้าใจถูก มิฉะนั้นจะหลงยึดถือสภาพธรรมผิดๆ ทำให้ไม่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ถ้ามีความเข้าใจไขว้เขว คลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนใหญ่ๆ ได้ แต่ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดและเข้าใจชัดเจนจริงๆ ย่อมเกื้อกูลให้เห็นความวิจิตรของ สภาพธรรมแต่ละประเภท ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกแต่ละประเภทอาศัยกันเกิดขึ้น ก็จริง แม้ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน สภาพธรรมหนึ่งทำให้เกิดสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกันนั้นก็ไม่ใช่เป็นเหตุที่ทำให้สภาพธรรมที่ตนอาศัยนั้นต่างกัน เช่น ข้อความในโนเวทนาสูตร ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนาหามิได้

    จะต้องทราบเป็นตอนๆ ว่า ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ แต่ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนาหามิได้ คือ ไม่ใช่เพราะว่าเวทนาต่างกัน จึงทำให้ผัสสะต่างกัน แต่ที่ผัสสะต่างกันเพราะธาตุต่างกัน

    ข้อความใน พาหิรธาตุสูตร ข้อ ๓๔๓ ก็คล้ายคลึงกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความต่างแห่งธาตุแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ... ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพธาตุ ธรรมธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ ฯ

    ในเวทนาสูตรทรงแสดงสภาพธรรมที่เป็นจักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ ซึ่งเป็นปสาท เป็นปัจจัยให้ผัสสะกระทบกับธาตุภายนอก ได้แก่ รูปธาตุ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา สัททธาตุ คือ เสียงที่ปรากฏทางหู คันธธาตุ คือ กลิ่น รสธาตุ คือ รส โผฏฐัพพธาตุ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กระทบกาย และธรรมธาตุ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ

    นี่เป็นการศึกษาเรื่องของผัสสเจตสิกให้เข้าใจว่า เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง และมีกิจ คือ เพียงกระทบอารมณ์ที่ปรากฏ แต่ผลของการกระทบนั้นมากมาย เพราะผัสสะเป็นผัสสาหาร นำมาซึ่งโลภะ หรือโทสะซึ่งเป็นอกุศล หรือว่านำมาซึ่งกุศล ที่กุศลจะเจริญงอกงามไพบูลย์ก็เพราะว่าในครั้งโน้นมีการได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค มีการได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าในสมัยนี้ก็ยังมีการที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยตรง ซึ่งการที่ผัสสะจะกระทบกับอารมณ์เหล่านี้ได้ ก็ต้องสืบเนื่องมาจากผัสสะที่เคยเกิดขึ้นในครั้งอดีตเป็นอุปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้นเท่าที่จะสามารถเข้าใจได้ในตอนต้น จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น

    ขอทบทวนเรื่องของผัสสเจตสิก ซึ่งจำแนกโดยนัยต่างๆ คือ

    โดยชาติ ๔ ได้แก่ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑

    ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ และเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ถ้าผัสสเจตสิกเกิดกับกุศลจิต ผัสสะนั้นก็เป็นกุศลด้วย ถ้าผัสสเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต ผัสสะก็เป็นอกุศลด้วย ถ้าผัสสเจตสิกเกิดกับวิบากจิต ผัสสะก็เป็นวิบากด้วย ถ้าผัสสเจตสิกเกิดกับกิริยาจิต ผัสสะก็เป็นกิริยาด้วย แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของแม้ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่จะยับยั้งไม่ให้อกุศลจิตเกิด ใครจะทำได้ ในเมื่อผัสสะมีปัจจัยเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากุศล หรืออกุศลที่เกิดขึ้น ก็เพราะว่าผัสสะเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ต่างๆ และเมื่อเกิดร่วมกับจิตประเภทใด ผัสสะก็เป็นเช่นเดียวกับจิตประเภทนั้น ผัสสะที่เป็นกุศล ไม่ใช่ผัสสะที่เป็นอกุศล ไม่ใช่ผัสสะที่เป็นวิบาก ไม่ใช่ผัสสะที่เป็นกิริยา เพียงชั่วขณะเดียวที่ผัสสะเกิดขึ้น และก็ดับไปพร้อมกับจิต

    เพราะฉะนั้น โดยชาติ ๔ ผัสสะที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่เพียงรู้ชื่อ แต่ควรที่สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก ซึ่งไม่ใช่โดยการ ใส่ชื่อว่า ขณะนี้เป็นกุศล ขณะนี้เป็นอกุศล หรือว่าขณะนี้เป็นวิบาก แต่จะต้องเริ่มด้วยการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมก่อน ซึ่งแล้วแต่ว่าลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏนั้นจะเป็นลักษณะของนามธรรมใด และถ้าลักษณะของผัสสเจตสิกไม่ปรากฏ ก็ไม่จำเป็นต้องไปพยายามให้สติระลึกลักษณะของผัสสะว่า ผัสสะเป็นสภาพที่กำลังกระทบอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ปัญญาจะต้องสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมก่อน จึงจะรู้ว่าลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะแต่ละชนิดนั้นเป็นจิต หรือว่าเป็นเจตสิกประเภทใด

    โดยภูมิ ๔ คือ กามาวจรภูมิ ๑ รูปาวจรภูมิ ๑ อรูปาวจรภูมิ ๑ โลกุตตรภูมิ ๑ เมื่อผัสสะเกิดกับจิตได้ทุกดวง ผัสสะเกิดกับจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิตได้ เกิดกับจิตซึ่งเป็นรูปาวจรจิตได้ เกิดกับจิตซึ่งเป็นอรูปาวจรจิตได้ เกิดกับจิตซึ่งเป็นโลกุตตรจิตได้ แต่ต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ในชีวิตของท่าน มีผัสสะภูมิไหนเกิดแล้ว

    รูปาวจรจิตยังไม่เกิด ผัสสะยังไม่ได้กระทบกับอารมณ์ซึ่งจะทำให้จิตสงบมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ อรูปาวจรจิตยังไม่เกิด ผัสสเจตสิกยังไม่เคยกระทบกับลักษณะของอรูปซึ่งเป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบมั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นอรูปฌาน และเวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตราบใดที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิด ผัสสะยังไม่ได้กระทบกับ นิพพานอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า นิพพานที่เป็นอารมณ์นั้นมีลักษณะอย่างไร ซึ่งโดยมากสงสัยว่านิพพานมีลักษณะอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของนิพพานได้ ถ้ายังไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ก่อน เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องตามลำดับขั้นจริงๆ

    ถ้าจะสงสัยลักษณะของนิพพาน เพราะว่าผัสสะยังไม่เคยกระทบกับนิพพานอารมณ์เลย ก็คงจะมีปัจจัยให้ความสงสัยเกิดขึ้นเท่านั้น ยังไม่สามารถรู้แจ้งประจักษ์ในลักษณะของนิพพานได้ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อน

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า โดยภูมิ ผัสสะที่เป็นกามภูมิก็มี ผัสสะที่เป็นรูปภูมิ ก็มี ผัสสะที่เป็นอรูปภูมิก็มี และผัสสะที่เป็นโลกุตตรภูมิก็มี เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมนั้นมี ๙ คือ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ สกทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ เป็นโลกุตตรกุศลจิต ๔ และผลจิตอีก ๔ คือ โสตาปัตติผลจิต ๑ สกทามิผลจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ เป็น โลกุตตรวิบากจิต ๔ รวมเป็นโลกุตตรจิต ๘ และนิพพาน ๑ เป็นโลกุตตรธรรม ๙

    เมื่อโลกุตตรจิตมี ผัสสะที่เกิดกับโลกุตตรจิตก็เป็นโลกุตตรธรรมด้วย เพราะว่าไม่ใช่แต่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นโลกุตตระ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นโลกุตตระด้วย

    จิตกับเจตสิกแยกกันไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตตธรรม เพราะว่าสามารถเกิดร่วมกัน มีอารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกันด้วย และเป็นนามธรรมด้วยกัน เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่รูป ละเอียดยิ่งกว่ารูป เพราะไม่มีแม้แต่รูปที่ละเอียดรวมอยู่ในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรมที่สัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกันจริงๆ ไม่สามารถแยกกันได้ เวลาที่จิตและเจตสิกเกิดดับร่วมกัน ถ้าจิตเป็นอกุศล เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้นก็เป็นอกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นกามาวจรจิต เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้นก็เป็นกามาวจรธรรมด้วย และเวลาที่โลกุตตรจิตเกิด เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับโลกุตตรจิตก็เป็นโลกุตตรธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ผัสสะที่กระทบกับนิพพาน จึงเป็นโลกุตตรธรรม แต่ผัสสะอื่นที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบกับเสียงที่ปรากฏทางหู กระทบกับกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก กระทบกับรสที่กระทบปรากฏทางลิ้น กระทบกับโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ทั้งหมดนี้เป็นกามาวจรธรรม เพราะเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่ รูปาวจรธรรม ไม่ใช่อรูปาวจรธรรม และไม่ใช่โลกุตตรธรรม

    แต่ผัสสะนี้เองซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เพียงกระทบอารมณ์ จะเป็นโลกุตตรธรรมขณะที่กระทบกับนิพพาน เพราะฉะนั้น ผัสสะก็เป็นสภาพธรรมซึ่งจำแนกได้โดยภูมิ ทั้ง ๔ ภูมิ

    สำหรับโดยนัยของเวทนา เมื่อผัสสะเกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ทุกดวง ผัสสะก็เกิดร่วมกับเวทนาทุกประเภทได้ คือ ผัสสะเกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ เกิดกับ โทมนัสเวทนาก็ได้ เกิดกับทุกขเวทนาก็ได้ เกิดกับสุขเวทนาก็ได้ เกิดกับอทุกขมสุข คือ อุเบกขาเวทนาก็ได้

    ในชีวิตประจำวัน เวลาที่ทุกขเวทนาปรากฏ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเพราะผัสสะกำลังกระทบกับอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ซึ่งไม่เป็นที่สบาย ไม่เป็นที่พอใจทางกาย ทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น หรือขณะใดที่โสมนัสเวทนาเกิด ก็ให้ทราบว่า เพราะขณะนั้นผัสสะกระทบกับอิฏฐารมณ์ ทำให้ความรู้สึกดีใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แล้วแต่ผัสสะจะกระทบกับอารมณ์ใด ก็เป็นปัจจัยให้เวทนาประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น โดยเลือกไม่ได้เลย ที่จะบังคับผัสสะให้กระทบอารมณ์นั้นหรืออารมณ์นี้ตามความต้องการ

    และผัสสะเองก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ได้ตามใจชอบโดย ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เช่น ที่ผัสสะจะกระทบกับเสียง ก็ต้องแล้วแต่กรรมใดเป็นปัจจัยทำให้ผัสสเจตสิกในขณะนั้นเกิดขึ้นกระทบกับเสียงนั้น หรือทางกาย ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เพราะขณะนั้นผัสสะกระทบกับอนิฏฐารมณ์ทางกาย เนื่องจากอกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้ผัสสะซึ่งเป็นวิบากเจตสิกเกิดร่วมกับวิบากจิตรู้อารมณ์ที่ไม่สบาย ไม่เป็นที่พอใจทางกาย

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่เกิด อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นกุศล ผัสสะที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้นก็ต้องมีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะทำให้กระทบอารมณ์ซึ่งทำให้ผัสสะเป็นกุศล และจิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ถ้าเป็นวิบาก ผัสสะย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัยเช่นเดียวกับจิตซึ่งกำลังรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และสำหรับผัสสะซึ่งเป็นกิริยา ก็มีปัจจัยอื่นๆ เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่กัมมปัจจัย หรือไม่ใช่วิบากเป็นปัจจัย

    โดยเหตุ เหตุมี ๖ คือ เจตสิก ๖ ดวง ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และอโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ ผัสสะไม่ใช่ โลภเจตสิก ไม่ใช่โทสเจตสิก ไม่ใช่โมหเจตสิก ไม่ใช่อโลภเจตสิก ไม่ใช่อโทสเจตสิก ไม่ใช่อโมหเจตสิก เพราะฉะนั้น เมื่อจำแนกโดยเหตุ ผัสสะเป็นนเหตุ คือ ไม่ใช่เหตุ

    แต่ถ้าผัสสะเกิดกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเหตุเจตสิกก็ประกอบกับผัสสเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น ผัสสะที่เกิดกับจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุก็เป็นสเหตุกะ เช่นเดียวกับจิต แต่ถ้าจิตใดไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอเหตุกะ และเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย ก็เป็นอเหตุกะด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๗๑ – ๑๐๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564