แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064


    ครั้งที่ ๑๐๖๔

    สาระสำคัญ

    บิณฑบาต ๓

    สอนเด็กนั่งสมาธิด้วยความไม่รู้

    มหาสติปัฏฐาน

    สันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้


    คฤหัสถ์ที่สันโดษ หรือเริ่มจะสันโดษ จะเป็นผู้ที่สละมากขึ้น โดยการพิจารณาเห็นว่า สิ่งใดควรแก่บุคคลใดก็ให้สิ่งนั้นแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ยินดีพอสมควรในเรื่องของเครื่องใช้ เครื่องแต่งตัว และปัจจัยต่างๆ ได้

    นี่เป็นเรื่องของจีวร

    เรื่องของบิณฑบาต ๓ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ยินดีในบิณฑบาตที่ได้ ๑ ยินดีในบิณฑบาตตามกำลังของตน ๑ ยินดีในบิณฑบาตอันควร ๑

    สำหรับพระภิกษุผู้ ยินดีในบิณฑบาตที่ได้ ไม่ว่าบิณฑบาตนั้นจะเศร้าหมองหรือประณีตก็บริโภค โดยไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น แม้ว่าจะมีผู้ถวายก็ไม่รับ

    คฤหัสถ์ผู้อบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลากิเลส ถ้ารู้ก็สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ เวลาที่บริโภคอาหาร บางท่านเรื่องใหญ่มาก ต้องร้อน ต้องอุ่น บางชนิดก็ต้องเย็น หรือไม่ก็ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้

    ชีวิตประจำวันยุ่งยากไหม ลองพิจารณาดู สำหรับตัวท่านเอง สำหรับบุคคลอื่น อาจจะมีตัวอย่างหลายท่านให้เห็นถึงความยุ่งยากในการบริโภค เพราะฉะนั้น สำหรับตัวท่านเองจะให้ยุ่งยากอย่างนั้น หรือว่าอะไรก็ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน ยินดีเท่าที่ได้ จะสบายกว่าไหม เพราะไม่ใช่ว่าทุกท่านจะได้อาหารที่ประณีตตลอดไป ในบางโอกาส ในบางสถานที่ ก็ไม่มีอาหารที่ประณีต เพราะฉะนั้น ถ้าได้อาหารที่ประณีต ก็ไม่ควร ที่จะโสมนัส หรือในบางครั้งที่ได้อาหารที่ไม่ประณีต ก็ไม่ควรที่จะโทมนัส ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จะเป็นผู้ที่เบาสบาย และเริ่มที่จะสันโดษขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้ อยากจะเป็นอย่างนั้นไหม ซึ่งถ้าจะเป็น ต้องเป็นอย่างจริงใจ ไม่ใช่ฝืน และจะเป็นได้ก็ต่อเมื่ออบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น นี่เป็นหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสทุกประเภท และอบรมเจริญกุศลขึ้น

    สำหรับที่ว่า ยินดีในอาหาร หรือบิณฑบาตตามกำลังของตน ต้องพิจารณาว่า อาหารบางชนิดไม่ถูกกับร่างกาย หรือไม่ถูกกับโรค เมื่อบริโภคแล้วจะไม่สบาย หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้อาหารที่ประณีตก็ให้แก่ผู้อื่น หรือว่าอาจจะบริโภคอาหารของผู้อื่นที่เหมาะสมตามกำลัง ซึ่งก็ยังชื่อว่าสันโดษ เช่น หลายท่านรับประทานทุเรียนไม่ได้เลย บางท่านบอกว่าทุเรียนเป็นอาหารที่ประณีต มีประโยชน์ แต่สำหรับท่านผู้นั้นรับประทานไม่ได้ เพราะว่ารับประทานแล้ว ไม่สบาย เป็นไข้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ประณีต ก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะควรแก่ร่างกายหรือเปล่า และสละให้ผู้อื่นได้ พอใจในอาหารที่ได้รับ และชนิดที่เป็นอาหารตามกำลังของตน

    ประการที่ ๓ คือ ยินดีในบิณฑบาตอันควร ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าได้อาหารที่ประณีตมากก็พิจารณาว่า ควรแก่พระเถระผู้บวชนาน หรือว่าภิกษุพหุสูตผู้มีความรู้มาก หรือว่าภิกษุไข้ทั้งหลาย หรือว่าภิกษุผู้มีลาภน้อย และสามารถสละให้ได้ นั่นคือผู้ที่สันโดษในบิณฑบาต ซึ่งสำหรับฆราวาสก็คือความสันโดษในการบริโภคอาหาร

    ผู้ฟัง เรื่องสันโดษ ถ้าเราเป็นนักวิปัสสนา เราพอจะทำได้ แต่ต้องใช้ความพยายามสักนิดหนึ่ง ดิฉันเคยทดสอบจากการรับประทาน คือ การสำรวมทางปาก เช่น ดิฉันหุงข้าวตอนเช้ารับประทานถึงตอนเย็นโดยไม่มีการอุ่นเลย แต่ว่าต้องไม่เสีย ทานข้าวที่เย็นๆ ก็รู้สึกไม่เป็นไร แต่ทำไมคนอื่นเขาทานไม่ได้ จะต้องร้อนๆ หาสิ่งที่สารพัดเลิศรส แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ว่าจะแข็งแรงกว่าดิฉัน ข้อนี้วินิจฉัยดูไม่ทราบว่า จะเป็นเพราะกรรม หรือจะเป็นเพราะร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราตัดกิเลสทางปากได้ เราจะมีความสุขเพิ่มอีกมาก

    สำหรับเรื่องสำรวม สันโดษจริงๆ แต่ก่อนดิฉันทานมะละกอสุกไม่เป็น เมื่อนายแพทย์บอกว่ามีประโยชน์ ดิฉันก็หัดรับประทาน ก็ทานได้ ถือว่าเป็นยา ดิฉันพยายามเอาชนะใจตนเอง อะไรที่เขาแนะว่าดี ดิฉันพยายามทำ ไม่มีความทุกข์ รู้สึกว่าเราทำได้ ภูมิใจ ต่อมาเราทำงานหลายๆ อย่างกับส่วนรวม รู้สึกว่าการที่เราทำอะไรกับตัวเราได้ เราก็ทำกับคนอื่นได้ โดยเสนอแนะวิธีที่ถูกให้ ก็ไปได้ดี นี่ในทางโลก

    ต่อมาทางตา ดิฉันก็ฝึกอีก มีอย่างไรเราก็ใช้อย่างนั้น และพยายามสันโดษโดยที่ว่ามีอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น ไม่อายใครว่าจะสวยหรือไม่สวย แต่เราอยู่ในสังคม บางครั้งต้องให้ถูกกาลเทศะ ดิฉันพยายามทำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครติว่า ยายคนนี้กะโปโล แต่บางครั้งรู้สึกว่าไม่เหมาะสม ก็มีบ้าง

    สมมติว่าเห็นผ้าสวยๆ จะคุมจิตอย่างไร ก็โดยคิดว่า ถ้าซื้อไว้ วันหน้าก็จะไม่เห็นว่าสวย เก็บไว้ก็ไม่ได้ใช้ เรามีความต้องการจริงๆ หรือเปล่า หรือเราพอแล้ว ถ้าพอแล้วเราก็เฉยเสีย ก็สำเร็จอีก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องฝึก ดิฉันก็ไม่ใช่ว่าจะตัดอะไรได้หมด แต่ต้องตัดกิเลสอันนี้ก่อน พอตัดแล้วเราทำได้จริงๆ มีความสุข มีคนเขาชอบสนใจว่า ทำไมดิฉันจึงมีความสุขกับชีวิตประจำวัน ดิฉันตอบว่า ดิฉันสำรวมและสันโดษในหลายๆ อย่าง แต่ก่อนนี้ฟังเพลง เดี๋ยวนี้สเตอริโอก็ทิ้งไว้ ไม่ได้ฟังเลย เวลาที่เขาพาไปทานอาหารที่ร้านอาหารชั้นหนึ่ง กินไก่ย่าง ไก่ทอด เหมือนกินฟาง เป็นอย่างนี้ไปได้ แต่ก็ไม่กล้าพูด ...

    ดิฉันคิดว่า ถ้าเราเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว สบายมาก เข้าที่ไหนเข้าได้ ไปไหนทั่วประเทศไทย ไปคนเดียว ได้พวกเยอะเชียว ขอให้มีธรรม สบายมาก มีความสุขมากในชีวิตนี้ ...

    สุ. ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังท่านอื่นมีความเห็นอะไรบ้าง ในเรื่องชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องที่จะอบรมได้

    . กระผมสงสัยเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติบางประการที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ ที่ผมได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ มีการปฏิบัติเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ และดูดวงอะไรๆ ที่ในกาย และท่านผู้บรรยายก็กล่าวเน้นว่า เป็นแนวทางปฏิบัติในวิชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า เท่าที่ผมอ่านในพระไตรปิฎก แต่ยังไม่ครบทุกเล่ม ผมไม่แน่ใจว่า ที่ท่านผู้นี้กล่าวมีอยู่จริงในพระไตรปิฎกไหม

    สุ. ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของมหาสติปัฏฐาน เรื่องการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และสามารถจะดับความยินดีพอใจในสภาพธรรมเหล่านั้นได้ บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    ถ. วิชาพระธรรมกายไม่มีหรือ

    สุ. ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    . อีกประการหนึ่ง เดี๋ยวนี้ทางการศึกษา เขาพยายามให้เด็กหันมาสนใจในเรื่องธรรม เริ่มต้นเขาสนับสนุนให้เด็กนั่งสมาธิ มีเป็นคำสอนและแนะนำให้ครูทั้งหลายปฏิบัติตาม เช่น ชั่วโมงแรกที่เขาเรียน ก็ให้เด็กนั่งหลับตา ทำจิตใจให้สงบ เอามือขวาทับมือซ้าย แต่ตามความรู้สึกของผม จะได้ประโยชน์น้อย จะไม่เกิดผลอะไรเลย เพราะว่าเรื่องใจสงบ ไม่สงบนี้ เป็นเรื่องของกิเลส ใจสงบคือสงบจากกิเลส ถ้าเด็กไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเป็นกิเลส อะไรไม่ใช่กิเลส ใจก็สงบไม่ได้

    สุ. ถูกต้อง มีท่านผู้ฟังท่านอื่นมีความเห็นอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง ตามความเห็นของผม คำว่าธรรมกาย ที่ว่ามีดวงแก้วในหัวใจ ทำให้เกิดธรรมกายขยายออกไป ผมได้ฟังบ่อยๆ บางคนถึงกับเป็นบ้าเป็นบอไปก็มี สาเหตุมาจากไม่ได้พิจารณาธรรมโดยแยบคาย ผมเคยอ่านพบ อย่างในมหาสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดในกาย ให้มีสติรู้ทุกลมหายใจเข้าออก ท่านเจาะจงเอาในกายของเรานี้ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านให้มีสติระลึกรู้ทุกลมหายใจเข้าออก ว่า เกิดอะไร อย่างความโลภก็คือนาม ความโกรธก็คือนาม เมื่อมีความโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้นทางใดก็ให้พิจารณารู้ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างที่อาจารย์สุจินต์เคยได้บรรยายไว้ และบางท่านที่บอกว่า ต้องไปทำที่โน่นที่นี่ ไม่เห็นมีเลยในพระไตรปิฎก อย่างที่พระเจ้ามหานามะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า การปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม จะปฏิบัติที่ไหน ซึ่งอาจารย์เคยบรรยายไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จะทรง พระดำเนินอยู่ก็ตาม จะประทับยืนก็ตาม จะประทับนั่งอยู่ก็ตาม หรือจะบรรทมอยู่ในระหว่างบุตรภรรยาก็ตาม หรือกระทำกิจการงานใดๆ อยู่ก็ตาม ก็เจริญได้ นี่เป็นหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ท่านจะมาอ้างว่าทำไม่ได้ ต้องไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ตรงกันไหม ขอให้พิจารณาดู

    สุ. ที่กล่าวเรื่องสันโดษเพราะเหตุว่า ใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ ซึ่งกว่าที่แต่ละท่านจะเป็นได้อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ ก็ต้องอาศัยปัญญาที่ศึกษาพิจารณาธรรม และอบรมเจริญขัดเกลากิเลสทุกประการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถเป็นผู้ที่สันโดษจริงๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เข้าใจว่าตัวเองต้องไปทำอย่างอื่น หรือว่าอยู่ในสถานที่หนึ่งสถานที่ใดจึงจะสันโดษได้ เพราะความหมายของคำว่า สันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้

    ไม่ใช่ให้ทุกท่านปฏิเสธ ไม่ต้องบริโภคอาหารอร่อย ไม่ใช่อย่างนั้น อาหารที่อร่อย อาหารที่ประณีตทั้งหลายบริโภคตามที่ได้ ไม่เดือดร้อน แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติด เพราะถ้าเป็นผู้ที่ติดในอาหารอร่อย เวลาที่ท่านมีอาหารที่ไม่ประณีต ท่านจะเดือดร้อนมาก บางท่านไม่สามารถที่จะบริโภคได้ ต้องทำให้ร้อน ต้องทำให้เย็น ต้องอุ่น ต้องยุ่งยากนานาประการ นั่นไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่จะขัดเกลาความติด ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เริ่มจะมีบ้าง แม้จะยังไม่หมด ยังไม่ใช่กลับหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็กำลังอบรมให้เป็นผู้สันโดษขึ้น ไม่ว่าจะในเรื่องของเครื่องแต่งตัวที่เคยมีมาก ก็มีน้อยลง นั่นแสดงถึง การเริ่มเป็นผู้ที่จะอบรมขัดเกลากิเลส คือ พอใจตามที่ควรจะมี

    ในเรื่องของอาหารก็เช่นเดียวกัน ในเรื่องของที่อยู่ เสนาสนะ ที่อาศัย สำหรับบรรพชิตยินดีตามที่ได้ แม้เป็นลอมฟาง ก็ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดๆ ไม่ทำให้จิตโสมนัสหรือโทมนัสเกิดขึ้น

    สำหรับประการที่ ๒ คือ ยินดีในเสนาสนะตามกำลัง เพราะว่าเสนาสนะบางแห่งไม่ถูกกับโรค หรือว่าไม่ถูกกับร่างกายตามปกติ เวลาที่อยู่ในที่นั้นแล้วไม่ผาสุก ถ้าท่านจะแลกเปลี่ยนกับภิกษุรูปอื่นก็ยังเป็นผู้ที่สันโดษ เพราะว่าเป็นผู้ที่ ยินดีในเสนาสนะตามกำลัง

    และสำหรับประการที่ ๓ คือ ยินดีในเสนาสนะตามควร ก็โดยนัยเดียวกัน เวลาที่ได้เสนาสนะที่ประณีตก็พิจารณาว่า สมควรแก่ผู้ใด คือ สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน หรือว่าภิกษุพหุสูตผู้มีความรู้มาก ภิกษุไข้ ภิกษุผู้มีลาภน้อย ท่านก็สามารถที่จะถวายเสนาสนะแม้ที่ประณีตให้กับบุคคลอื่นได้

    สำหรับฆราวาส ลองพิจารณาดู ไม่ใช่ปฏิเสธที่อยู่ที่ประณีต แต่จะอยู่ในที่ใด ก็ตาม ตามมีตามได้ และเป็นผู้ที่ไม่ติด ซึ่งบางท่านเดือดร้อน ต้องมีสิ่งนั้น ต้องมีสิ่งนี้ ต้องมีโทรทัศน์ ต้องมีเครื่องปรับอากาศ ต้องมีอะไรๆ หลายๆ อย่าง แต่สำหรับ บางท่านถึงมีก็ไม่ติด ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่เป็นเรื่องที่จะต้องโสมนัสหรือโทมนัสไปกับเสนาสนะที่ประณีตหรือไม่ประณีต

    ถ้าทุกท่านเป็นอย่างนี้ คือ สามารถที่จะเทียบที่อยู่อาศัยของท่านกับของบรรพชิต บรรพชิตยังสามารถที่จะอยู่เป็นสุขได้ สำหรับผู้ที่สันโดษ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะมีความสันโดษเพิ่มขึ้น หรือละความติดความพอใจให้ลดน้อยลง ไม่ว่าที่อยู่ ที่อาศัยจะเล็กไป หรือจะร้อนไป จะหนาวไป แต่ว่าจิตของท่านไม่โสมนัสและ ไม่โทมนัสซึ่งเป็นอกุศล เป็นการติด ก็จะทำให้สะดวกสบาย และเป็นผู้ที่ละคลาย การติดในวัตถุสิ่งต่างๆ ลงได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564