แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070


    ครั้งที่ ๑๐๗๐

    สาระสำคัญ

    รูปพรหมไม่เกิดโทสะเพราะอะไร

    ปัจจัยที่ให้เกิดโทสะ

    ชีวิตประจำวันกุศลจิตเกิดน้อยกว่าอกุศลจิต


    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ภูมิเดียวกัน กามาวจรภูมิ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เวทนาที่เป็นไปในอกุศลใกล้กับเวทนาที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นอกุศลในภูมิไหน โลภมูลจิตของผู้ที่เกิดในมนุษย์ โลภมูลจิตของเทวดาที่เกิดในสวรรค์ โลภมูลจิตของรูปพรหมภูมิ โลภมูลจิตของอรูปพรหมบุคคล เวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิตทรงแสดงโดยความต่าง ๑๑ ประการ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้ ไกล คือ ต่างกัน จึงไกลกัน

    เวทนาที่เกิดกับโทสะ ใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโทสะ ไกลกับเวทนาที่เกิดกับโลภะ เวลาที่โทสมูลจิตเกิดเมื่อวันก่อน เมื่อปีก่อน เมื่อเดือนก่อน หรือจะเกิดวันนี้ หรือที่จะเกิดต่อไป เวทนาที่เกิดกับโทสะก็ใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโทสมูลจิต

    . ทำไมรูปพรหมภูมิ อกุศลที่เป็นโลภะเกิดได้ โมหะเกิดได้ แต่โทสะเกิดไม่ได้ จิตพวกนี้เกิดทางมโนทวารเหมือนกัน และคนที่เกิดในรูปพรหมภูมิก็ไม่ได้เข้าฌานอยู่ตลอดเวลา ต้องมีตาเห็น หูได้ยิน แต่กายปสาทไม่มี ลิ้นไม่มี จมูกไม่มี อกุศล ๒ ประเภทแรกมี อย่างภูมิที่เราอยู่ เวลาจิตเป็นกุศลก็คิดเผื่อแผ่ แต่โลภะ โทสะ โมหะ มีอยู่เป็นประจำ ในพรหมภูมิเวลาที่ไม่ได้อยู่ในฌาน ก็น่าจะเหมือนอย่างเรา จิตนึกคิดดับไป ตาก็เห็น แต่ภูมิของเขาละเอียดแค่ไหน เราก็ไม่รู้ เขาจะนึกถึงกาลก่อนที่เขาเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เมื่อเขานึกได้แล้ว นึกถึงช่วงนั้น ช่วงนี้ บางช่วงก็เป็นที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่ทำไมโทสะไม่เกิด ไม่เหมือนกับกามภูมิหรือ ต่างกันเพราะอะไร โทสะเป็นกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ที่จะปราศจากโทสะต้องพระอนาคามี รูปพรหมที่ยังเป็นปุถุชนโทสะหายไปไหน จะไม่เกิดบ้างเชียวหรือ

    สุ. ผู้ที่ยังไม่เป็นพรหมบุคคล เวลาที่นึกถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยโกรธ แต่กาลเวลาผ่านไป นึกแล้วก็เฉยๆ เป็นไปได้ไหม บุคคลทั่วๆ ไป อย่างท่านผู้ฟัง ลองคิดถึงเหตุการณ์ที่ไม่พอใจในอดีต กาลเวลาผ่านไป เวลานึกถึงเรื่องนั้นก็เฉยๆ ไม่เห็นจะเกิดโกรธอะไรขึ้นมา มีไหม

    . ความโกรธเป็นอนุสัยกิเลส เมื่อมีอะไรไปกวน ไปกระทบ เมื่อมี เหตุปัจจัยให้เกิดก็น่าจะเกิด โลภะ โมหะนี้เกิดได้สบายมาก แต่โทสะนี่ซิ

    สุ. ต้องรู้เหตุว่า ที่ท่านผู้ฟังโกรธนี้เพราะอะไร ต้องมีมูล และผู้ที่จะไม่โกรธในระหว่างที่เป็นรูปพรหมนั้นเพราะอะไร ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุ ท่านผู้ฟังซึ่งไม่ใช่รูปพรหมบุคคลโกรธเพราะอะไร เกิดโทสะเพราะอะไร ทำไมเกิดโทสะ ลองหาเหตุ

    . เกิดโทสะจากรูป รส กลิ่น เสียง

    สุ. นี่เป็นเหตุใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชั่วคราว ขณะไหนก็ได้ วันนี้ก็ได้ ขณะนั้นจะไม่มีโทสะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าละได้นานกว่านั้นด้วยกำลังของความสงบที่มั่นคง

    . อยู่ในฌานเป็นไปได้ แต่เมื่อออกจากฌาน ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ เรื่องเก่าๆ ที่ไม่พอใจ อกุศลวิบากย่อมมีอยู่ บางครั้งนึกถึงจะไม่มีโทสะเกิดแม้บางๆ จะไม่มีหรือ ผมสงสัย ทำไมโลภะมี แต่โทสะแม้นิดหน่อยก็ยังไม่มี

    สุ. ไม่เกิดในระหว่างที่เป็นพรหมบุคคล ไม่มีปัจจัยพอที่จะให้เกิดขึ้น เพราะว่าในภูมิมนุษย์เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และกิเลส ปรารถนาอะไร ปรารถนารูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่พรหมไม่ได้ปรารถนาอย่างนี้ เหมือนอย่างคนที่ยังเต็มไปด้วยความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความต่างกันระหว่างจิตซึ่งเป็นกุศลซึ่งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นมหัคคตะ สามารถที่จะระงับความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจนชำนาญ จนจิตนั้นสามารถที่จะเกิดก่อนจุติจิต และเมื่อจุติจิตเกิดขึ้นดับไปแล้ว รูปาวจรกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตนั้นก็เป็นปัจจัยให้รูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ เกิดขึ้นในรูปพรหมภูมิ

    พรหมบุคคลเป็นผู้ที่ระงับความยินดีพอใจในกามอารมณ์ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะชั่วคราว เพราะฉะนั้น รูปพรหมบุคคลไม่มีฆานปสาทที่สามารถจะรับกระทบกลิ่น ไม่มีชิวหาปสาทที่จะรับกระทบรส ไม่มีกายปสาทที่จะรับกระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยพอที่จะทำให้เกิดโทสมูลจิตได้ ทางตา อารมณ์ในรูปพรหมก็เป็นอารมณ์ที่ประณีต ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูกไม่มีปสาทที่จะทำให้เกิดการได้กลิ่น ไม่มีกลิ่นขยะในรูปพรหม ไม่มีกลิ่นที่จะทำให้เกิดโทสมูลจิตขึ้นได้ ไม่ต้องบริโภคอาหารด้วย เพราะฉะนั้น น่าที่จะสบายมาก คือ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการกินอยู่ที่จะคิดว่า บริโภคอาหารชนิดไหนที่จะเป็นอาหารที่ประณีตจึงจะเป็นที่พอใจ ซึ่งในวันหนึ่งๆ สำหรับในภูมิมนุษย์ก็มีการติดในอาหารที่ประณีต และไม่พอใจในอาหารที่ไม่ประณีตทั้ง ๓ เวลา หรือว่าอาจจะมากกว่านั้น แต่ถ้าสามารถตัดการลิ้มรสออก ก็ไม่มีปัจจัยพอที่จะให้เกิดโทสมูลจิตได้

    ทางกาย ก็ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่ต้องอาศัยพาหนะที่จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด เพราะฉะนั้น ก็ตัดเหตุของความทุกข์ จึงไม่มีอารมณ์พอที่จะให้เกิด โทสมูลจิตได้ในรูปพรหมภูมิ แต่ว่ากิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น เวลาที่จุติจากพรหมโลก ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดในมนุษย์ภูมิ หรือว่าในเทวโลก ถ้าเกิดในมนุษย์ก็ประสบกับอารมณ์ทั้งหลายซึ่งไม่เป็นที่พอใจ และทำให้เกิดโทสมูลจิตได้

    ท่านผู้ฟังไม่ทราบความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ในอดีตว่า ท่านเคยเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกหรือเปล่า แต่ถ้าคิดถึงความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ ก็ย่อมจะเคยเกิดมาแล้ว แต่เพราะว่าไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จึงยังมีปัจจัยให้อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น

    . รูปพรหมบุคคลไม่มีโทสมูลจิต แต่มีโลภะ โมหะ พระอนาคามีบุคคล ก็ไม่มีโทสมูลจิต แต่มีโลภะ โมหะ บุคคลทั้งสองนี้มีความต่างกันตรงไหน

    สุ. ความต่างกัน คือ ในระหว่างที่เป็นรูปพรหมบุคคลในพรหมโลก ไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสมูลจิตเกิด แต่สำหรับพระอนาคามีถึงแม้จะอยู่ในมนุษย์ภูมิ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสมูลจิตเกิด นี่เป็นความต่างกัน สำหรับพรหมบุคคลเฉพาะเวลาที่อยู่ในพรหมโลกเท่านั้น แต่สำหรับพระอนาคามีบุคคล แม้จะอยู่ในภูมิมนุษย์ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสมูลจิตเกิด เพราะว่าดับปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    . พรหมบุคคลนั้นถ้ายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ก็มีโอกาสจะกลับมาในภูมิขั้นต่ำอีก เหตุอะไรที่ทำให้พรหมบุคคลนั้นกลับมาสู่ภูมิที่ต่ำ

    สุ. เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคล การเกิดในพรหมโลกเป็นผลของมหัคคตกุศล คือ ฌานจิต ซึ่งเพียงระงับกิเลสไม่ให้เกิดชั่วคราว

    . ก็ควรจะอยู่ในชั้นนั้นๆ ไม่ควรจะมาเกิดในภูมิที่ต่ำ เพราะอกุศลไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มอกุศล

    สุ. กรรมอื่นเอาไปทิ้งไว้ที่ไหนหมด มีกรรมเดียวที่จะทำให้เกิดเป็น พรหมบุคคลเท่านั้นหรือ เมื่อยังมีปัจจัยที่จะให้กรรมนั้นๆ ให้ผล หลังจากจุติแล้ว กรรมอื่นก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    . หมายความว่า กรรมในอดีตให้ผลหรือ

    สุ. กรรมทั้งหมดยังมีโอกาสที่จะให้ผลตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ยังไม่ปรินิพพาน กรรมทั้งหลายมีโอกาสที่จะให้ผลเกิดขึ้นได้

    . พรหมบุคคลเมื่อมีจิต ก็ย่อมมีอารมณ์ทางใจ อารมณ์ทางใจจะไม่เป็นเหตุให้เกิดโทสะได้เลยหรือ

    สุ. ถ้าท่านผู้ฟังมีแต่อารมณ์ที่ประณีต จะเกิดโทสะไหม ตามความเป็นจริงเพราะโทสะย่อมเกิดเวลาที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าขยะไม่มี ไม่เห็น กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูกไม่มี จะเกิดความไม่พอใจได้ไหม แต่กลิ่นอย่างขยะ สีอย่างขยะ เสียงอย่างขยะ มีอยู่ทั่วไปในภูมิมนุษย์

    . ปรารถนาฌานขั้นสูงขึ้นไปอีก แต่ไม่ได้รับผล เมื่อไม่ได้รับผลก็เกิดโทสะ อย่างนี้ไม่ได้หรือ

    สุ. สำหรับโทสมูลจิต จะเกิดเวลาประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยบุคคลนั้นยังเป็นผู้ที่ติดหรือต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้าไม่มีความต้องการ หรือว่าไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะ รูปจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ จะเกิดโทสะไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ติดในรูป และได้รูปที่ไม่น่าพอใจ ย่อมเกิดความไม่พอใจขึ้น เสียงก็เช่นเดียวกัน กลิ่นก็เช่นเดียวกัน รสก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็เช่นเดียวกัน

    . อีกเรื่องหนึ่ง ได้ยินท่านผู้หนึ่งพูดทางวิทยุว่า การนึกอยากทำบุญไม่ใช่โลภะ ท่านอธิบายอย่างนั้น ผมสงสัย เพราะบางคนอยากทำบุญ แต่ได้รับความเดือดร้อนเพราะอยากทำบุญ ต้องวุ่นวาย เดือดร้อนใจ อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นโลภะ

    สุ. จิตเกิดดับเร็วมาก เวลาที่คิดจะทำกุศลแต่ละครั้งๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า กุศลจิตเกิดมาก หรือว่ากุศลจิตเกิดน้อยกว่า อกุศลจิต ในการกระทำกุศลแต่ละครั้งๆ

    . ก็มีทั้ง ๒ ประเภท

    สุ. เวลาที่ทำกุศล บางท่านรู้สึกว่าไม่สงบเลย ไม่ผ่องใสเลย วุ่นวายเหลือเกินกว่ากุศลนั้นจะสำเร็จไปได้ เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ ถ้าเป็นไปได้แสดงว่าอะไร แสดงว่าอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้น ลักษณะของกุศลจิตไม่ปรากฏให้เห็นสภาพที่เป็นกุศล

    แต่ขณะใดก็ตามที่จิตผ่องใส เบิกบาน ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นเป็นลักษณะของกุศล ซึ่งผู้ที่กระทำกุศลกรรมเองและเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะเริ่มพิจารณารู้ได้ว่า กุศลแต่ละครั้งที่ทำ อกุศลจิตเกิดแทรกคั่นมาก หรือกุศลจิตเกิดมากกว่ากัน

    บางท่านอกุศลเกิดมากเหลือเกิน จนลักษณะของกุศลไม่ปรากฏ มีนิดเดียวที่จะแสดงให้เห็น คือ ชั่วขณะที่เป็นเจตนาที่จะทำกุศล แต่หลังจากนั้นแล้ววุ่นวายหมด ซึ่งขณะที่วุ่นวาย กุศล หรืออกุศล ต้องตรงตามความเป็นจริงด้วย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลจิตย่อมเกิดเพิ่มขึ้น เพราะว่า รู้ลักษณะสภาพของจิตว่า ขณะใดเป็นอกุศล และขณะใดเป็นกุศล แต่ถ้าไม่รู้ อกุศลก็ยังคงเกิดมากกว่ากุศลในการทำกุศลแต่ละครั้ง

    แม้แต่การที่จะกราบพระสวดมนต์แต่ละครั้ง บางท่านก็ใจลอยไป เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า กุศลเกิดน้อยหรือมาก แม้ในขณะนั้น มืออาจจะพนม แต่ตามองที่อื่น เสียงก็มี แต่ใจคิดไปเรื่องอื่น ซึ่งก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง แต่ต้องตรงจริงๆ จึงจะดับกิเลสได้

    . และที่กล่าวว่า อยากทำบุญไม่ใช่โลภะ ถูกหรือผิด

    สุ. อยากให้ อยากช่วย หรืออยากได้บุญ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ถ้าเป็นการคิดที่จะช่วยคนอื่น ที่จะให้คนอื่นได้รับความสุข ถ้าเป็นอย่างนั้นแม้จะไม่ใช้คำว่า บุญ แต่ก็เป็นบุญในขณะที่กำลังมีจิตที่เป็นกุศลอย่างนั้น

    บางท่านได้ยินคำว่า บุญ ก็อยากได้ ใช่ไหม เพียงแต่คำว่า บุญ ได้ยินคำว่าบุญ ก็อยากจะได้บุญ โดยที่ยังไม่ทราบว่าบุญจริงๆ คือในขณะไหน

    บุญ คือ ในขณะที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น การที่ กุศลจิตจะเกิด ย่อมเกิดได้หลายขณะ หลายทาง เป็นไปในทานก็ได้ เป็นไปในศีลก็ได้ เป็นไปในความสงบของจิตก็ได้ เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ได้

    เมตตาเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นบุญหรือเปล่า

    ถ. เป็น

    สุ. อยากได้หรือเปล่า หรือไม่เอาอย่างนี้ ไม่อยากจะมีเมตตากับคนนี้ คนนั้น แต่อยากจะได้บุญ อยากจะทำบุญอย่างโน้นๆ ซึ่งบุญคือสภาพของจิตที่เป็นกุศล โดยที่ไม่ต้องอาศัยทานวัตถุก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าอยากทำบุญคงหมายถึง อยากจะให้วัตถุ หรืออยากทำทานกุศล ใช่ไหม

    . ไม่ทราบว่าผู้พูดหมายความว่าอย่างไร ตอบยาก

    สุ. เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร หรือว่ากุศลประเภทใดก็ตาม ต้องพิจารณาว่า กุศลคือขณะที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ อยากจะได้บุญ อยากจะทำบุญ แต่โกรธคนนั้นคนนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะได้บุญ ทำบุญหรือเปล่า

    . คงไม่เป็นบุญ

    สุ. หรืออยากจะทำอย่างเดียว คือ ทาน แต่อย่างอื่นไม่สนใจที่จะให้เป็นกุศล เรื่องของบุญควรจะอบรมเจริญทุกทาง เพราะถ้าเห็นแล้วเป็นอกุศล ได้ยินแล้วเป็นอกุศล อย่าลืม หลับยังดีกว่า แต่ที่ตื่นจะดีกว่า ก็ต่อเมื่อกุศลจิตเกิดเท่านั้น

    . ที่ว่าอยากทำบุญ ถ้าเป็นบุญจริงๆ ก็เป็นกุศล ไม่ใช่โลภะ

    สุ. ใช่ แต่ถ้าอยากจะได้บุญ หรือต้องการผลของบุญ ในขณะที่กำลังหวังหรือต้องการ ขณะนั้นเป็นอกุศล ต้องแยกกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564