แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060


    ครั้งที่ ๑๐๖๐

    สาระสำคัญ

    ดิฉันเคารพนับถือพระภิกษุรูปใด

    อถ.คัมภีร์บุคคลบัญญัติ - เลื่อมใสในบุคคลต่างๆ ตามอัธยาศัยที่สะสมมา

    สุมังคลวิลาสินี - ความลึกซึ้งของพระธรรม

    โลภมูลจิตดวงที่ ๑

    พระวินัยปิฎกนั้น ลึกซึ้งโดยกิจ

    พระสูตรนั้น ลึกซึ้งโดยอรรถ

    พระอภิธรรมนั้น ลึกซึ่งโดยสภาวะ


    ไม่จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงที่จะเป็นที่เคารพสักการะ เมื่อเป็นพระภิกษุ ก็อนุโมทนาได้ในกุศลจิตที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือว่าถ้าท่านมีความรู้ มีการศึกษาพระธรรม มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็อนุโมทนา ชื่นชมยิ่งขึ้นตามควรแก่เหตุ ตามความเป็นจริง แต่ไม่ควรที่จะผูกพันว่า จะต้อง นอบน้อมสักการะเฉพาะภิกษุรูปนั้น หรือภิกษุรูปนี้ และควรที่จะคิดถึงข้อประพฤติปฏิบัติของท่านด้วย

    สำหรับเรื่องการที่จะเลื่อมใสในบุคคลต่างๆ ตามอัธยาศัยที่แต่ละท่านสะสมมาต่างๆ กัน ข้อความในคัมภีร์ ปุคคลบัญญัติ มีว่า

    บุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป บุคคลผู้ถือเสียงเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียง บุคคลผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง บุคคลผู้ถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม

    ซึ่งข้อความใน อรรถกถา คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ อธิบายว่า

    สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ที่ถือรูปเป็นประมาณมี ๒ ส่วน ที่ไม่ถือ มี ๑ ส่วน

    สำหรับผู้ที่ถือรูปเป็นประมาณ เวลาที่เห็นบุคคลใดมีรูปร่างอวัยวะสมส่วน ไม่อ้วน ไม่ผอม เป็นผู้ที่มีรูปร่างงามพร้อม ไม่มีที่ติ ก็เกิดความเลื่อมใสในบุคคลนั้น ซึ่งสำหรับสัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ผู้ที่ถือรูปเป็นประมาณมี ๒ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน ซึ่งทุกท่านพิจารณาได้ถึงศรัทธาของท่านว่า เวลาที่ท่านศรัทธาในบุคคลใด ในขณะหนึ่งขณะใด เป็นเพราะถือประมาณในลักษณะใด

    สำหรับผู้ที่ถือเสียงเป็นประมาณ คือ ผู้ที่เมื่อได้ยินคำยกย่อง คำชมเชย คำสรรเสริญบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็เห็นว่าควรที่จะเลื่อมใสในบุคคลที่ผู้อื่นยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ เพราะเห็นว่าคนทั้งหลายยกย่องสรรเสริญในบุคคลนั้น

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ที่ถือเสียงเป็นประมาณมี ๔ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน

    สำหรับผู้ที่ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ มักจะดูอาการปรากฏภายนอก เช่น การแต่งตัว สำหรับพระภิกษุก็คงจะดูจีวรว่า เป็นจีวรซึ่งเศร้าหมอง นอกจากนั้นก็ยังจะพิจารณาถึงที่อยู่อาศัยว่า เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ฟุ่มเฟือย และบางท่านอาจจะพิจารณาถึงว่า ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้มีความเป็นอยู่เศร้าหมองโดยการทรมานตัวต่างๆ

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๑๐ ส่วน ที่ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณมี ๙ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน

    สำหรับผู้ที่ถือธรรมเป็นประมาณ เป็นผู้ที่เลื่อมใสในธรรมนั้น เมื่อแบ่งสัตว์โลกทั้งหมดออกเป็น ๑๐๐,๐๐๐ ส่วน ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ถือธรรมเป็นประมาณ ส่วนที่เหลือไม่ถือธรรมเป็นประมาณ

    แสดงให้เห็นว่า การที่จะถือธรรมจริงๆ ที่จะเป็นผู้ตรงจริงๆ ในการที่จะนับถือ หรือว่ามีศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลใดต้องเป็นส่วนน้อย เพราะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุในผลจริงๆ สำหรับสัตว์โลกแสนส่วน ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ถือธรรมเป็นประมาณ

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยง่าย หรือเมื่อได้อ่านธรรมบ้าง ก็เข้าใจว่าตนเองมีความเห็นถูก หรือว่ามีการปฏิบัติถูก นั่นเป็นสิ่งที่ประมาทมากจริงๆ เพราะว่าอาจจะทำให้เป็นนักคิด ซึ่งทำให้มีความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิต่างๆ ได้

    สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งกำลังกล่าวถึงในขณะนี้ คือ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง เพียง ๑ ดวงในพระอภิธรรม แต่ก็ปรากฏมากมายเป็นข้อความต่างๆ ในพระสูตร แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นผิดตามทิฏฐิ ๖๒ ในพรหมชาลสูตร และไม่ใช่เพียงสูตรเดียว แม้สมณพราหมณ์อื่นๆ ที่มีความเห็นต่างๆ ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นลักษณะประเภทของจิตที่เกิดพร้อมกับ โสมนัสเวทนา ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูงได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ตลอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ ก็ยังมีจิตประเภทที่เป็นโลภมูลจิต เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ประกอบกับความเห็นผิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง

    ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง แต่ถ้าไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ก็อาจเข้าใจผิดและประพฤติปฏิบัติผิดได้ ซึ่งใน สุมังคลวิลาสินี (หน้า ๓๓) ได้แสดงความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีข้อความว่า

    ในปิฎก ๓ นี้ พึงทราบว่า แต่ละปิฎกมีคัมภีรภาพทั้ง ๔ คือ

    ธรรมคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเหตุ

    อรรถคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยผล

    เทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนา

    ปฏิเวธคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ

    สำหรับธรรมคัมภีรภาพและอรรถคัมภีรภาพเป็นต้นนั้น ได้แก่ พระธรรมที่เป็นพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ธรรม ได้แก่พระบาลี อรรถ ได้แก่ เนื้อความของพระบาลี

    เวลาที่ท่านผู้ฟังเริ่มศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า คำที่แสดงไว้ซึ่งเป็นภาษาบาลีนั้น เวลาที่จะถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นที่จะให้เข้าใจ ต้องอธิบาย และบางคำก็ไม่มีความหมายกระชับเท่ากับความหมายของพระบาลี เช่น คำว่า จิต ถ้าไม่เข้าใจในอรรถจริงๆ ใช้แต่เพียงคำว่า จิต คำเดียว หรือว่า จิตตะ ในภาษาบาลี ก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจในลักษณะของธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ความสุขุม ความลึกซึ้ง แม้แต่ในพระบาลีซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเทศนาด้วยพระองค์เอง และในอรรถ ได้แก่ เนื้อความของพระบาลีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ

    หรือแม้แต่ในเรื่องของพยัญชนะที่เป็นพระบาลีว่า สติ ท่านผู้ฟังก็จะต้องเข้าใจในอรรถ หรือแม้แต่พยัญชนะพระบาลีที่ว่า สมาธิ ถ้าเป็นเรื่องของกุศลที่ต้องเจริญ ก็ต้องเป็นเรื่องของสัมมาสมาธิเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพียงจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดและเข้าใจว่า นั่นเป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องเจริญ นี่แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของพระธรรมและอรรถ ได้แก่ พระบาลีและเนื้อความของพระบาลี

    สำหรับเทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนา ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก ที่จะไม่พิจารณาและเข้าใจทั้งหมดโดยตลอด เป็นไปไม่ได้ และถึงแม้ว่าจะได้พิจารณาแล้ว บางตอนบางส่วนก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ชัดเจน ซึ่งสำหรับเทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนานั้น ได้แก่ การแสดงซึ่งพระบาลีนั้น อันตนพิจารณาแล้วด้วยใจ

    เทศนาหมายถึงการแสดงธรรม ซึ่งต้องแสดงตามพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่พิจารณาแล้ว จึงแสดง หรือว่าจึงกล่าวถึงพระธรรมส่วน นั้นๆ ได้

    สำหรับปฏิเวธคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ ได้แก่ ความหยั่งรู้ตามความเป็นจริงซึ่งพระบาลีและเนื้อความของพระบาลี ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นการพิจารณาเท่านั้น แต่ต้องเป็นขั้นแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษาและได้พิจารณาเนื้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    เช่น คำว่า อนัตตา สภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏ แต่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยเป็นธรรมคัมภีรภาพ อรรถคัมภีรภาพ เทศนาคัมภีรภาพ ซึ่งจะหยั่งรู้ได้จริงๆ ด้วยการแทงตลอดซึ่งเป็นปฏิเวธคัมภีรภาพ ไม่ใช่เป็นการที่จะประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นอนัตตาได้โดยง่าย ทั้งๆ ที่เข้าใจเวลาที่ได้ฟังว่า อนัตตาเป็น สภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ขณะใดบ้างที่สภาพธรรมเหล่านี้ปรากฏว่าเป็นอนัตตา ถ้ายังไม่มี ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจะปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตาจริงๆ

    ทางตาที่กำลังเห็นเป็นอนัตตา เพราะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่คือการที่จะต้องศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีการศึกษาธรรม มีการเข้าใจธรรมถูกต้อง ก็ควรแก่การที่จะเคารพนับถือ

    มีอุบาสกชาวต่างประเทศ ๒ ท่าน ท่านหนึ่งก็บวช ๗ ปีกว่า เป็นผู้ที่ศึกษา พระวินัยและพระธรรม มีความรู้เป็นที่น่าเคารพท่านหนึ่ง ซึ่งชาวต่างประเทศที่เป็นสหายของท่านผู้นั้นก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในความรู้และในศรัทธาของท่านผู้นั้น ได้อุปัฏฐาก อุปถัมภ์ อุปการะระหว่างที่ท่านผู้นั้นดำรงสมณเพศอยู่ และภายหลังเมื่อท่านผู้นั้นลาสิกขาแล้ว อุบาสกชาวต่างประเทศผู้นั้นก็ยังคงช่วยเหลือทุกอย่างที่จะช่วยได้ ทั้งๆ ที่ท่านผู้นั้นก็ดำรงเพศฆราวาสสามารถที่จะพึ่งตัวเองได้แล้ว เมื่อมีผู้ถามว่า ทำไมยังคงช่วยเหลือและอุปถัมภ์บุคคลนั้นอยู่ อุบาสกท่านนั้นก็ตอบว่า เพราะท่าน ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมมากท่านหนึ่ง

    แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้รู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจธรรมได้ถูกต้องว่า ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้องแล้ว ก็สมควรที่จะช่วยเหลือค้ำจุนอุปถัมภ์ ผู้นั้นแม้จะไม่ใช่เพศบรรพชิต คือ เห็นประโยชน์ของการที่ควรช่วยเหลือบุคคลที่สมควร

    สำหรับปฏิเวธคัมภีรภาพ ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อธิบายว่า

    ปฏิเวธคัมภีรภาพ ได้แก่ ความหยั่งรู้ตามความเป็นจริงซึ่งพระบาลีและเนื้อความของพระบาลี ก็เพราะธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธเหล่านี้ ในปิฎกทั้ง ๓ ยากที่คนมีปัญญาน้อยทั้งหลายจะเข้าใจดี และยากที่คนมีปัญญาน้อยทั้งหลายจะได้ที่ยึดเหนี่ยวอันมั่นคง เหมือนมหาสมุทร ยากที่สัตว์เล็กๆ ทั้งหลาย มีกระต่าย เป็นต้น จะหยั่งได้ ฉะนั้น จึงเป็นของลึกซึ้ง

    ท่านผู้ฟังที่ได้ฟังธรรมมานาน ได้ศึกษาพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ก็คงจะเห็นความลึกซึ้งและความละเอียดของพระธรรมจริงๆ ว่า สมจริงดังที่ได้อุปมาว่า เหมือนมหาสมุทร ยากที่สัตว์เล็กๆ ทั้งหลาย มีกระต่าย เป็นต้น จะหยั่งได้

    และข้อความใน อรรถกถา ปุคคลบัญญัติ (หน้า ๑๑๗) ได้แสดงว่า

    สำหรับพระวินัยปิฎกนั้น ลึกซึ้งโดยกิจ พระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ พระอภิธรรมลึกซึ้งโดยสภาวะ

    ซึ่งก็เป็นความจริง เมื่อพิจารณาแล้ว พระวินัยลึกซึ้งโดยกิจ ไม่ว่าจะเป็นกิจเล็ก กิจใหญ่ประการใดก็ตามของบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้โดยละเอียด ด้วยพระปัญญาที่เห็นว่ากิจใดสมควรแก่เพศบรรพชิต และกิจใดไม่สมควรแก่ เพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเลื่อมใส ก็ต้องเลื่อมใสโดยการพิจารณาความลึกซึ้งของพระวินัยว่า ลึกซึ้งโดยกิจที่สมควรของบรรพชิต ซึ่งต่างกับกิจของฆราวาส

    สำหรับพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถ ท่านที่ศึกษาพระธรรมและอ่านพระสูตรด้วยตนเองจะพบว่า มีข้อความที่ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจเป็นส่วนใหญ่

    สำหรับพระอภิธรรมนั้น ลึกซึ้งโดยสภาวะ เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจโดยละเอียด แต่ว่ายากที่จะแทงตลอดในสภาพจริงๆ ของสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ

    เช่นในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า บรรดาผู้ที่มีความเห็นผิดทั้งหลายในทิฏฐิ ๖๒ ที่ทรงแสดงไว้ในพรหมชาลสูตรนั้น ผู้ที่สามารถระลึกชาติได้ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบมั่นคง เป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถละอกุศล และให้จิตสงบมั่นคงถึงขั้นฌานจิตจนกระทั่งสามารถระลึกชาติได้ไม่น้อย ตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ไปจนกระทั่งถึง ๔๐ กัป และทำไมจึงยังเห็นว่าเที่ยง ในเมื่อถ้าระลึกชาติหนึ่ง เห็นความเกิดและความตายจากการเป็นบุคคลหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ก็น่า ที่จะเห็นว่าไม่เที่ยง แทนที่จะเห็นว่าเที่ยง

    แต่สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง ยากที่จะเห็น เช่น ในขณะนี้ เป็นต้น ถ้าถามท่านผู้ฟังว่า เมื่อครู่นี้ใครได้ยิน จะตอบว่าอย่างไร ตามความเป็นจริง

    เมื่อครู่นี้ใครได้ยิน ได้ยินดับไปแล้ว โดยการศึกษาทราบว่าเป็นการเกิดขึ้นของจิตขณะหนึ่งเท่านั้นที่รู้เสียง ขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่คิด เป็นคนละขณะ และชีวิตก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง มีเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ และจิตได้ยินก็ดับไป นี่เป็นความเข้าใจโดยถูกต้องจากการฟัง จากการพิจารณา แต่ถ้าถามว่าเมื่อครู่นี้ใครได้ยิน มีตัวตนไหม ยังมีอยู่หรือเปล่าว่าเป็นตัวท่านเมื่อครู่นี้ได้ยิน เมื่อวันก่อนอาจจะป่วยไข้ได้เจ็บ หรือว่าท่านที่เคยมีร่างกายแข็งแรง แต่ภายหลังสูญเสียอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไป ก็ยังคงเป็นตัวท่านใช่ไหม แม้ว่าแต่ก่อนนี้เป็นคนที่แข็งแรง มีอวัยวะครบถ้วน แต่ภายหลังต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วน แต่ในความรู้สึกของความเป็นตัวตน ก็ยังคงเป็นตัวท่านอยู่นั่นเอง ฉันใด เวลาที่สลบ หมดความรู้สึกไปแล้ว หรือว่าเวลาที่เป็นลม ก็คงมีหลายท่านที่เคยเป็นลม ในขณะนั้นปราศจากความรู้สึกใดๆ แล้วก็กลับรู้สึกขึ้น ใครเป็นลม ใครหมดความรู้สึก ก็ยังคงเป็นตัวท่านอยู่นั่นเอง ฉันใด เวลาที่เปลี่ยนจากความเป็นบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ในชาติหนึ่งๆ ความเห็นว่าเป็นตัวตนไม่ได้หมดสิ้นตามไปเลย ยังคงเป็นตัวท่าน เหมือนกับเมื่อครู่นี้ใครได้ยิน หรือว่าเมื่อครู่นี้เห็นอะไร หรือว่าเมื่อครู่นี้ใครเห็น ก็ยังคงเป็นตัวท่าน ฉันใด แม้ว่าจะมีปัญญาสามารถระลึกชาติในอดีตได้ ก็ยังคงเป็นตัวท่าน ไม่ใช่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งจากความเป็นชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ไปสู่อีกชาติหนึ่ง ก็คือตัวท่านนั่นเอง

    นี่แสดงให้เห็นความลึกซึ้งของสภาวะของสภาพธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอบรมเจริญพระบารมีจนกระทั่งทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงให้บุคคลอื่นได้รู้แจ้ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๕๑ – ๑๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564