แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030


    ครั้งที่ ๑๐๓๐

    สาระสำคัญ

    สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง

    อถ.คัมภีร์ กถาวัตถุ - ศาสนาของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่ แปลงขึ้นใหม่ ได้หรือ

    อภิธัมมัตถวิภาวินี - อรรถของจิต ๖ อย่าง (จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร)

    จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร


    คำว่า ให้อาจหาญ คือ ให้เกิดความอุตสาหะในการสมาทาน

    ในการที่จะเข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ คือ ให้เกิดความอุตสาหะ ให้เกิดความเพียร ที่จะพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และจนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือว่าที่ไม่ใช่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ทรงแสดงเรื่องของจักขุวิญญาณ เรื่องของการเห็น เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงเรื่องของโสตวิญญาณ เรื่องของสภาพธรรมที่ได้ยินเสียง ทรงแสดงเรื่องของเสียงที่ปรากฏทางหู ทรงแสดงธรรมที่กำลังมีอยู่ และกำลังปรากฏให้พิสูจน์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ก็จะเกิดความอาจหาญ คือ อุตสาหะในการที่จะพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    คำว่า ให้ร่าเริง คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว

    ท่านผู้ฟังมีลักษณะของสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงบ้างหรือยัง แต่ให้ทราบความหมายว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าบางท่านเป็นทุกข์เพราะอกุศล เป็นห่วงเป็นกังวลขณะใดขณะนั้นก็เป็นอกุศล บางท่านก็ห่วงว่า อายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน เป็นห่วงจริงๆ ว่าจะไม่ทันเพราะมีอายุมากแล้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นอกุศล

    พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือว่าเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง

    อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ในเมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดแล้ว แต่ร่าเริงได้ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นแม้เป็นอกุศล เพื่อจะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังมี กำลังปรากฏ จะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่า ขณะที่สติกำลังระลึกนั้น ไม่เศร้าหมองเลย เพราะไม่กังวลเดือดร้อนที่จะถือเอาอกุศลนั้นเป็นตัวตน หรือว่า เป็นเรา

    และหนทางเดียวที่จะละ จะคลาย จะบรรเทา จะดับอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยได้ ก็เพราะสติระลึกรู้ ไม่ให้อกุศลที่เกิดปรากฏเสียไปเปล่าๆ โดยเพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้น แต่โดยการที่สติระลึกและสามารถรู้ว่า ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลประการต่างๆ ลักษณะต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ให้ร่าเริง คือ ให้ผ่องใส และให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    คำว่า ทำให้สำเร็จประโยชน์ คือ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ ดังนี้แล้วก็ชื่อว่า มีประโยชน์แต่เทศนานั้น

    ไม่ได้เป็นเรื่องให้ท้อถอย ท่านผู้ฟังฟังเรื่องของสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สามารถจะแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    ในขณะที่ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้

    ไม่หมดหวัง ใช่ไหม รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรที่จะบรรลุได้ วันหนึ่ง ยังไม่ใช่วันนี้ อย่าเพิ่งเป็นห่วงว่า จะไม่สามารถรู้แจ้งได้ในวันนี้ แต่สติสามารถจะเริ่มระลึกได้ในวันนี้ ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้งและแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ย่อมเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อวันนี้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ได้

    เมื่อเห็นแล้วว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ประโยชน์ คือ ให้รู้ว่า เราควรบรรลุได้ ก็จะไม่ท้อถอย และจะฟังศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไป เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมสติ

    ใน อรรถกถา คัมภีร์กถาวัตถุ สาสนกถาวรรณนา มีข้อความที่กล่าวว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่แปลงขึ้นใหม่ได้หรือ

    นี่เป็นสิ่งที่จะให้ทุกท่านควรจะพิจารณา

    อริยธรรมทั้งหลาย มีสติ เป็นต้นก็ดี เทศนาแห่งกุศลธรรม เป็นต้นก็ดี ชื่อว่าศาสนา ในศาสนานั้น เว้นธรรมทั้งหลาย มีสติปัฏฐาน เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ชนเหล่าใดแล้ว ศาสนาชื่อว่าอันบุคคลนั้นทำขึ้นใหม่ โดยการกระทำธรรมเหล่าอื่นให้เป็นสติปัฏฐาน เป็นต้น หรือกระทำอกุศลธรรมให้เป็นกุศลธรรม เป็นต้น หรือว่าศาสนาอันใครๆ กระทำแล้วอย่างนั้น มีอยู่ หรือพึงอาจเพื่อทำอย่างนั้นได้ มีหรือ

    หมายความว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว คนอื่นสามารถที่จะแต่งขึ้นใหม่ แปลงขึ้นใหม่ และเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า เป็นสติปัฏฐาน ให้ไม่เป็นสติปัฏฐานได้หรือ หรือว่าเทศนาแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นต้นเหล่านี้ บุคคลอื่นจะเอาอกุศลธรรมมาเป็นกุศลธรรมได้หรือ

    เมื่อพิจารณาและเข้าใจในเหตุผลแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า คำสอนซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง คนอื่นไม่สามารถจะเปลี่ยนสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้เป็นอย่างอื่นได้ มีผู้เข้าใจผิดได้ แต่เปลี่ยนลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลายไม่ได้

    . พยัญชนะต่างๆ ที่ว่า ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคก็ดี พระภิกษุสงฆ์ก็ดี แสดงธรรมจบแล้ว ผู้ฟัง คือ อุบาสก อุบาสิกา จะมีคำว่า ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ก่อนที่ยังไม่ได้อ่านอรรถกถาก็สงสัยในพยัญชนะต่างๆ นี้ เมื่ออรรถกถาอธิบายอย่างนี้ ก็ทำให้เข้าใจดีขึ้น

    ทุกวันนี้ที่เราอาราธนาศีล บางคนก็บอกว่า ให้สมาทานศีล บางคนก็บอกว่า ให้รับศีล คำว่า รับศีล กับสมาทานศีล เหมือนกันไหม

    สุ. เหมือนกัน คือ ให้ถือเอาโดยความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกซึ่งมีอยู่บ่อยๆ ที่ว่า ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ก็คือในขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังฟังธรรมในขณะนี้นั่นเอง คือ ให้ฟัง และพิจารณาให้ถูกต้อง เพื่อที่จะให้ถือเอาความถูกต้องของสภาพธรรม

    . ผมสงสัยความหมายของคำว่า กิเลส

    สุ. กิเลสเป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง คือ เป็นอกุศล ได้แก่ อกุศลเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต

    . กิเลสนี่เป็นอะไร

    สุ. เป็นอกุศลเจตสิก

    . ที่เขาแปลว่า กิเลสเป็นสิ่งที่หมักหมมอยู่ในสันดาน ซึ่งในสันดานนั้นย่อมมีทั้งกุศลหมักหมมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ที่แปลมารู้สึกว่าจะไม่ถูกต้อง

    สุ. ถ้าสะอาดก็ไม่หมักหมม ถ้าสกปรกก็หมักหมม อกุศลธรรมซึ่งเป็นกิเลส มี ๓ ขั้น ที่ละเอียดที่สุด เป็นอนุสัยกิเลส สะสมอยู่ในจิต ไม่หายไปไหนเลย

    โลภมูลจิต ความต้องการ ความโลภ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ดับไปแล้ว ไม่หมดเชื้อ ยังสะสมสืบต่อในจิตพร้อมที่จะเกิดขึ้นเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ แต่ถ้าขณะใดที่ไม่ประสบกับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลาง

    เวลาที่มีการเห็น การได้ยิน และเกิดความยินดีความพอใจขึ้น หรือความ ไม่พอใจ เป็นปฏิฆะ เป็นโทสะ ในขณะนั้นเป็นปริยุฏฐานกิเลส และกิเลสอีกขั้นหนึ่ง เป็นกิเลสขั้นหยาบ ซึ่งทำให้ล่วงศีล ๕

    . กุศลก็มีการเก็บไว้เหมือนกัน เพราะว่ากุศลก็ค่อยๆ เจริญขึ้น อย่างนี้ ไม่เรียกว่ากิเลสหรือ

    สุ. กุศลไม่ใช่กิเลส

    . กิเลสใช้ในความหมายว่าเป็นอกุศลเท่านั้น

    สุ. ใช่ ทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นอกุศล

    วันหนึ่งๆ กุศลเกิดมากพอที่จะสังเกต หรือว่าอกุศลเกิดมากพอที่จะสังเกต

    ทางฝ่ายอกุศลย่อมหมักหมม สะสม ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง เพราะเกิดบ่อยและเกิดมาก ส่วนกุศลนั้นเกิดน้อยมาก ชั่วขณะที่คิดจะให้ทาน เพียงเห็นวัตถุทานที่น่าพอใจก็เกิดอกุศลแทนกุศลแล้ว ดังนั้น วันหนึ่งๆ การสะสมทางฝ่ายกุศลย่อมน้อยกว่า เพราะฉะนั้น การปรากฏ ก็ย่อมปรากฏความเศร้าหมองของอกุศลที่สะสมเป็นกิเลสขั้นต่างๆ

    สำหรับอรรถ คือ ความหมายของจิต ๕ ประการนั้น ใน อภิธัมมัตถวิภาวินี ได้แสดงไว้ ๖ ประการ คือ แสดงว่า จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร อีก ๑ ประการเพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่จะไม่เป็นอารมณ์ของจิตไม่มี ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะวิจิตรสักเท่าไร ก็สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ เพราะฉะนั้น จิตจึงวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร

    สำหรับลักษณะของจิต มี ๒ ประการ คือ สามัญญลักษณะ และ สภาวลักษณะ ซึ่งก่อนที่จะกล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ จะประมวลสรุปลักษณะที่เป็น สภาวลักษณะของจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต โดยประเภทของภูมิต่างๆ หรือไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต โดยชาติก็ตาม ประมวลสรุปลักษณะของจิตทุกประเภทแล้ว สภาวลักษณะของจิต คือ

    อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

    ปุพฺพงฺคมรสํ มีการถึงก่อนคือมีความเป็นหัวหน้า คือ เป็นประธานในการ รู้อารมณ์เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    นามรูปปทฏฺฐานํ มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเองตามลำพังลอยๆ ไม่ได้ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตย่อมอาศัยนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ในภูมิซึ่งมีแต่นามธรรม คือ ในอรูปพรหมนั้น ไม่มีรูปเลย ในภูมินั้นจิตจึงมีนามธรรม คือ เจตสิกเท่านั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    . จิตเป็นหัวหน้า ใครเป็นลูกน้อง

    สุ. เจตสิกที่เกิดร่วมกัน

    . พุทธพจน์บทหนึ่งที่ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ซึ่งท่านแปลว่า จิตถึงก่อน จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน หมายถึงเป็นประธานของเจตสิก ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    . และที่ว่ารู้แจ้ง คือ จิตเป็นผู้รู้ เจตสิกไม่รู้หรือ

    สุ. เจตสิกมี ๕๒ ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีลักษณะ มีกิจการงาน ของตนๆ ที่ต่างกันออกไปเป็น ๕๒ ลักษณะ

    . ที่ว่าจิตถึงก่อนนั้น ถึงก่อนใคร

    สุ. ถ้าไม่อุปมาก็คงยากที่จะเข้าใจ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่รักษาเมือง นั่งอยู่ที่ทางสี่แพร่งกลางเมือง ย่อม ตรวจตรากำหนดคนที่ผ่านเข้ามาว่า คนนี้เป็นคนประจำ คนนี้มาใหม่ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัยฉันนั้น ข้อนี้สมกับคำที่พระนาคเสนเถระกล่าวไว้ว่า

    เหมือนอย่างว่า คนรักษาพระนครนั่งอยู่ที่ถนนสี่แยก ณ ท่ามกลางพระนครแล้ว จะพึงแลเห็นบุรุษที่มาอยู่แต่ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือได้ ฉันใด บุคคลเห็นรูปได้ด้วยนัยน์ตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์นั้น ได้ชัดด้วยวิญญาณก็ฉันนั้น เพราะมุ่งถึงทวาร ดังที่กล่าวมานี้ จิตนั่นแหละในฐานะที่รู้อารมณ์ จึงชื่อว่าเป็นหัวหน้า คือ เที่ยวไปข้างหน้า ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า มีความเป็นหัวหน้าเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ท่านผู้ฟังคงติดในพยัญชนะที่ว่า จิตถึงก่อน เป็นธรรมชาติที่ถึงก่อน ใช่ไหม ฟังดูแล้วก็น่าคิดว่า ถึงอะไรก่อน ไปไหน และไปถึงที่ไหนจึงแสดงว่า จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นหัวหน้า ถึงก่อน

    คำอุปมา คนที่อยู่ในเมืองตรงกลางสี่แยก ย่อมเห็นสิ่งที่จะมาทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คือ โดยทวารแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เช่น ทางตา จิตเห็น ผัสสเจตสิกกระทบ ไม่เห็น สัญญาเจตสิก จำ ไม่เห็น เวทนาเจตสิก รู้สึก ไม่เห็น แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เหมือนคนที่อยู่สี่แยก ตรงกลาง ไม่ว่าใครจะมาทางทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันอก ทิศเหนือ คนที่อยู่ ตรงกลางที่ตรงสี่แยกนี้เห็นก่อน ถูกไหม ถ้าจะหมายความถึงว่า ถึงก่อน หมายความถึงเห็นก่อน แต่ว่าโดยสภาพจริงๆ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ในขณะที่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทั้งหมดกระทำกิจเฉพาะของตนๆ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพที่รู้อารมณ์อย่างจิต

    เช่น ผัสสเจตสิกกระทบรูปารมณ์ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นเป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ เห็นอารมณ์ แต่ผัสสเจตสิกกระทบกับรูปารมณ์เท่านั้น ใน ขณะที่เวทนาเจตสิกรู้สึกอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบและจิตรู้แจ้ง เวลาที่ผัสสเจตสิกกระทบจิตรู้แจ้ง สัญญาจำอารมณ์ สัญญาจำ สัญญาทำอย่างอื่นไม่ได้ และเจตสิกอื่นๆ ก็กระทำกิจของตนๆ

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า จิตถึงก่อน เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร จึงชื่อว่าถึงก่อน อุปมาเหมือนกับคนที่อยู่ตรงสี่แยก เห็นก่อนเพราะอยู่ตรงสี่แยก ไม่ว่าใครจะมาทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ก็เห็นก่อนเพราะอยู่ตรงสี่แยก ฉันใด ที่ว่าจิตเป็นสภาพที่ถึงก่อน เป็นใหญ่ เป็นประธาน ก็โดยนัยนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564