แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077


    ครั้งที่ ๑๐๗๗

    สาระสำคัญ

    ระลึกลักษณะของเจตนา

    ปุตตมังสสูตร ทรงอุปมาวิญญาณาหาร เพื่อให้เห็นโทษของจิต

    อัตถิราคสูตร ลักษณะของผัสสเจตสิก


    สุ. แต่จะทราบได้ว่า เป็นความจงใจ หรือมีความตั้งใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะทำ สามารถจะรู้ลักษณะของความตั้งใจ ความจงใจที่จะทำ หรือบางครั้งก่อนที่จะพูด ก็ยังสามารถที่จะรู้ลักษณะของความจงใจ ความตั้งใจ เพราะบางคนเตรียมไว้เลยว่า ถ้าพบกันจะพูดว่าอะไร จะต่อว่าหรือจะอะไรก็แล้วแต่ เป็นเจตนา เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ ซึ่งแต่ละคนมีเรื่องที่จะต้องคิดวิจิตรมาก ในขณะนั้นถ้าสติระลึกจะรู้ลักษณะของความจงใจ ถ้าความจงใจ หรือความตั้งใจ หรือเจตนาปรากฏ ขณะนั้นสติย่อมสามารถที่จะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    แต่ส่วนมากไม่ยอมที่จะระลึกลักษณะของเจตนา แต่อยากจะระลึกลักษณะของบางรูป บางนาม และให้เจตนายังเป็นเราอยู่ที่จะทำอย่างนั้น ที่จะระลึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ทั่ว ซึ่งตราบใดที่ยังระลึกไม่ทั่ว ยังไม่สามารถที่จะไถ่ถอนความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้เลย เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่จำกัด โดยไม่เจาะจงเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่า จะชิน จนกว่าจะไม่มีอะไรอื่นนอกจากนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไป

    จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก แต่โลภะ หรือโทสะ หรือเจตนา หรือความจงใจ หรือความริษยา หรือความตระหนี่ หรือกุศลอื่นๆ เช่น ความเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นต้น เป็นสภาพนามธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเมื่อสติระลึกจึงรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพนามธรรมแต่ละลักษณะ รวมทั้งสภาพที่จงใจด้วย เพราะฉะนั้น อย่าแยกจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบางอย่าง โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จงใจ หรือเจตนา ตั้งใจในขณะนั้น

    . ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ผมดึงเข้ามาปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นคนผิดศีล แต่เมื่อเรียนธรรมแล้วปรากฏว่ามีความวิตกมากว่า ยังไม่สามารถจะวิรัติทุจริตได้ ซึ่งความจริงแล้วควรมีสติระลึกรู้ว่า ขณะนี้มีความวิตกหรือหวาดกลัว แต่กลับเป็นตัวตนที่จะพยายามวิรัติให้ได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะวิรัติการทุศีลอันนั้นได้ อยากเรียนถามอาจารย์ว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป

    สุ. หนทางเดียว คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าโดยวิธีอื่นก็ไม่สามารถละคลายการยึดถือความวิตกนั้นว่าเป็นเรา เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดตรึก เกิดวิตก ลักษณะสภาพที่คิดนึกเป็นห่วงหรือวิตกกังวลก็ย่อมเกิด เป็นสภาพธรรมที่เป็น อกุศลธรรมชนิดหนึ่ง

    . ผมก็พยายามเตือนเขาว่า ขณะที่ยังวิรัติไม่ได้ เมื่อสิ่งใดปรากฏขึ้นก็ต้องมีสติระลึกรู้จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ไม่ทราบว่า เขายึดความเป็นตัวตนมากไปหรืออย่างไร จะข้ามไปวิรัติให้ได้

    สุ. ต้องทราบว่า อะไรเป็นอุปกรณ์ให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าขาดการฟังบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อที่จะให้เป็น พหุสูต ก็ไม่สามารถจะมีสิ่งที่เกื้อกูลให้สติเกิด แต่อาศัยการฟัง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ บ่อยๆ เนืองๆ จะเป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่มีกำลังที่จะทำให้กุศลจิตเกิด และสติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาโดยละเอียดต่อไปจะทราบว่า สภาพปรมัตถธรรม แต่ละชนิดที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมใด เมื่อไร เช่น ผัสสเจตสิกเป็นสภาพนามธรรมซึ่งเกิดดับพร้อมกับจิตอย่างรวดเร็ว เพียงกระทบอารมณ์แล้วดับ ดูเหมือนกับว่าเล็กน้อยที่สุด มองไม่เห็นเลยว่าจะมีประโยชน์ หรือว่า มีกำลัง หรือว่าจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผัสสะเป็นผัสสาหาร นำมาซึ่งผล ความพอใจในรูป หรือการเกิดทุจริตกรรมต่างๆ ก็เพราะอาศัยความพอใจในรูป ซึ่งย่อมมีไม่ได้เลยถ้าปราศจากผัสสเจตสิก

    ถ้าไม่มีการกระทบอารมณ์ทางตาให้เกิดการเห็น โลภะก็เกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมใดๆ ก็ย่อมเกิดไม่ได้ และลักษณะของผัสสเจตสิกก็เพียงเกิดขึ้นชั่วขณะเดียวและก็ดับไปพร้อมกับจิตจะเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมอะไรบ้างซึ่งเป็นผล ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เป็นเรื่องที่ควรจะได้ศึกษาเพื่อที่จะได้เห็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    และทำไมชีวิตของแต่ละคนจึงกระทบอารมณ์ไม่เหมือนกัน ทุกท่านมีเพื่อน อาจจะเป็นเพื่อนร่วมกัน อาจจะเป็นคนพาลสักคนหนึ่ง และก็มีบัณฑิตอีกหลายคน บางท่านก็ยังคงมั่วสุมสนิทสนมคบหาสมาคมกับคนพาล ผัสสเจตสิกในขณะนั้นก็กระทบกับทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยินจากคนพาล แต่ว่าอีกคนหนึ่งมีเพื่อนเป็นบัณฑิต ผัสสเจตสิกก็กระทบ คือ เห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู ทางใจ ผัสสะก็กระทบกับคำซึ่งเป็นประโยชน์ เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้มีการเลือกคบหาสมาคมตามธาตุที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น แม้แต่มิตรสหายเพื่อนฝูงของแต่ละบุคคล ก็ย่อมเป็นไปตามปัจจัย แม้ผัสสะซึ่งเป็นธรรมที่กระทบอารมณ์ ก็จะต้องเป็นปัจจัยแต่ละอย่างที่ทำให้เกิดผล แม้ในอีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น ชั่วขณะหนึ่งๆ ของชีวิตซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม ถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่ว่าใครจะมีอุปนิสัย อย่างไร ก็มาจากอุปนิสสยปัจจัยของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมแต่ละขณะที่เกิดดับสะสมสืบต่อ แม้ว่าดับไปแล้วแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังสามารถเป็นปัจจัยให้บางท่านชอบ สีเขียว บางท่านชอบสีฟ้า บางท่านชอบสีเหลือง เพราะฉะนั้น ผัสสะของผู้ที่ชอบ สีเขียว ก็จะแสวงหาและกระทบกับสีเขียว หรือว่าสิ่งที่ท่านพอใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอากาศ บางท่านชอบอากาศเย็น บางท่านชอบอากาศร้อน ในเรื่องของอาหาร บางท่านชอบรสเปรี้ยว บางท่านชอบรสหวาน บางท่านชอบรสขม ก็อาศัยผัสสะที่กระทบอารมณ์เรื่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แม้แต่จะคิดนึกถึงเรื่องอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นบุคคลที่เป็นวิตกจริต ก็มักจะวิตกอยู่เสมอ หรือว่าเป็นบุคคลที่เป็นสัทธาจริต ก็แล้วแต่ผัสสเจตสิกแต่ละขณะซึ่งเกิดดับ และเป็นปัจจัยโดยนัยต่างๆ ที่จะให้เกิดผลต่อไป

    นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังกระทบอารมณ์อยู่ในขณะนี้ และเป็นปัจจัยหลายปัจจัยที่จะให้อีกแสนโกฏิกัปป์แต่ละท่านในขณะนี้จะเป็นบุคคลใด และผัสสะจะกระทบอารมณ์อะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เป็นชีวิตจริงซึ่งพิสูจน์ได้ ใช่ไหม ขนมอะไรอร่อย เวลาที่ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้น และทำไมขนมอีกอย่างหนึ่งไม่อร่อย ก็ต้องมาจากการสะสมสืบต่อที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรมรูปธรรมทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปใน ปุตตมังสสูตร ข้อ ๒๔๔ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาวิญญาณาหาร เพื่อให้เห็นโทษของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต ซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้ว แสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า

    ทุกท่านถูกประหารแล้วตอนเวลาเช้า

    ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม

    ทุกท่านยังมีชีวิตอยู่ตามเดิม

    จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น

    ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่า เมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุเท่านั้นมิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ แต่จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน

    เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เมื่ออริยสาวกมากำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    วิญญาณ คือ จิต เมื่อเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็น กุศลเจตสิกหรืออกุศลเจตสิก ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากและกิริยาซึ่งเป็นอัพยากตะ และส่วนมากในวันหนึ่งๆ พิจารณาได้ว่า กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดมากกว่ากัน เมื่อเป็นอกุศล นอกจากจะเป็นทุกข์เพราะเป็นกิเลส ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้าด้วย ซึ่งไม่พ้นจากการที่จะต้องเพียงเห็น ดับไปแล้ว แต่กิเลสยังติดตาม ต้องการใน สิ่งที่เห็นแม้ว่าดับไปแล้วด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของวิญญาณซึ่งเป็นสภาพที่เกิดดับและไม่รู้ว่ากำลังเกิดดับ ยังเป็นอกุศล คือ เป็นกิเลส แต่ไม่รู้ว่าเป็นกิเลสซึ่งเป็นโทษ และไม่รู้ว่ากิเลสนี้เองจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้ได้รับวิบากที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วใน อาทิตตปริยายสูตร ว่า แม้ว่าจะถูกดาบซึ่งคมเฉือน แทง ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังดีกว่าเกิดความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่ายากแสนยากที่จะเห็นตามความเป็นจริง จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงชั่วขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นและรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏและก็ดับหมดสิ้นไป ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสในตอนท้ายพระสูตรนี้ว่า เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน คือ เห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นและดับไป

    เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เมื่ออริยสาวกมากำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

    เป็นขณะนี้ทุกๆ ขณะ จนกว่าปัญญาจะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้

    เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของผัสสเจตสิกเพิ่มขึ้น ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อัตถิราคสูตร ข้อ ๒๔๕ ซึ่งก็เป็นข้อความที่ต่อเนื่องกัน กับ ปุตตมังสสูตร ข้อความมีว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ ๑ กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒ ผัสสาหาร ๓ มโนสัญเจตนาหาร ๔ วิญญาณาหาร อาหาร ๔ อย่างนี้แล เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ

    ข้อที่ควรสังเกต ที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะว่า กวฬีการาหาร ไม่ใช้ คำว่า อาหาร เท่านั้น เพราะว่ากวฬีการาหารหมายความถึงอาหารที่ทำเป็นคำ และกลืนกินเข้าไป ซึ่งทำให้ชีวิตดำรงอยู่

    อาหารมีอยู่ทั่วไปภายนอก แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นคำที่กลืนกินเข้าไป ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เพราะฉะนั้น อาหาร ก็หมายถึงอาหารทั่วๆ ไปภายนอก แต่ว่ากวฬีการาหารหมายถึงอาหารที่ทำเป็นคำและกลืนกินเข้าไป

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความคับแค้น

    ถ้าอาหารยังอร่อยอยู่ ก็จะต้องเกิดอยู่ในภพใหม่ต่อไปอยู่เรื่อยๆ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ใน มโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น ฯ

    ทุกท่านที่พอใจในรสของกวฬีการาหาร จะหมดความยินดีพอใจเมื่อบรรลุความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งสามารถที่จะบรรลุได้ แต่ต้องมีความอดทน ความเพียร ไม่ใช่ทำอย่างอื่น แต่เพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ในขณะนี้ เป็นความเพียรอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าความเพียรไปทำอย่างอื่นมากมายนัก แต่ส่วนมากไม่ยอมที่จะเพียรเดี๋ยวนี้ คิดว่าจะไปใช้ความเพียรที่อื่น ในบางแห่งที่ สงัดเงียบ และจะพยายามทุ่มเทความเพียร

    ทำไมไม่เพียรเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นความเพียรอย่างยิ่ง ที่จะต้องอาศัยความอดทน แทนที่จะรอเวลา หรือว่าหวังในนามอื่นรูปอื่นที่จะรู้ ทำไมไม่รู้ในนามรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๗๑ – ๑๐๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564