แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829


    ครั้งที่ ๘๒๙


    ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสมถภาวนามีความเข้าใจว่า หลังจากเจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นฌานจิตแล้ว จะมีปัญญาเกิดต่อ เมื่อก่อนดิฉันก็มีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ

    สุ. แต่ว่ามีใครที่เจริญสมถภาวนาจริงๆ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาด้วย ถ้าผู้นั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบของจิตในอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบได้ ผู้นั้นไม่ใช่เจริญสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลสมาธิ

    ผู้ฟัง เป็นการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจริงๆ หลังจากที่ดิฉันได้เจริญความสงบมา ๑๗ ปี เพียรอย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ระยะหลังที่ดิฉันได้มาฟังอาจารย์ตั้งแต่ปี ที่แล้ว ดิฉันก็ลองประพฤติตามที่อาจารย์สอน คือ มีสติระลึกรู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ดิฉันยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

    สุ. ขณะนั้นสงบไหม

    ผู้ฟัง เมื่อครั้งแรกๆ ยังไม่สงบ

    สุ. เวลาที่สติเกิด กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าเป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นสงบไหม

    ผู้ฟัง สงบตั้งแต่ขั้นการฟัง

    สุ. สงบ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ความสงบก็ต่างกันที่อารมณ์ ความสงบของสติปัฏฐานก็เป็นความสงบ ใช้คำว่าสมถะได้ แต่ไม่ใช่ความสงบที่มีอารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐

    เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญ ไม่ใช่ให้ท่านไปเจริญจนกระทั่งถึงปฐมฌาน ทุติยฌานที่จะละวิตกวิจาร ตามความเป็นจริง ไม่ให้เกิดเลย เพียงแต่ขั้นที่จะให้เข้าใจลักษณะของความสงบให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นการอบรมเจริญกุศลที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความสงบที่เป็นสติปัฏฐาน หรือความสงบในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของสมถะ เช่น พุทธานุสสติ หรือธัมมานุสสติ หรือสังฆานุสสติก็ตาม ในขณะนั้นก็เป็นการรู้ลักษณะของความสงบจริงๆ

    ในครั้งอดีต ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่อบรมเจริญ สมถภาวนาจนกระทั่งได้บรรลุฌานจิต ตั้งแต่รูปฌานขั้นปฐมฌานจนกระทั่งถึง อรูปฌานขั้นสูงที่สุด และต่อจากนั้นก็ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ สามารถที่จะดับจิตและเจตสิก แต่ว่าก่อนที่จะถึงอย่างนั้น จะต้องดับเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นต้นที่เป็นปฐมฌาน ดับกามสัญญาก่อน และก่อนที่จะถึงทุติยฌาน ฌานขั้นที่ ๒ ต้องพิจารณาเห็นโทษของวิตกวิจาร เมื่อสามารถที่จะดับวิตกวิจาร วิตกวิจารไม่เกิด จึงจะบรรลุถึงทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา จริงๆ ไม่ใช่ว่าจะบรรลุได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้กับในสมัยก่อน ย่อมเป็นกาลสมัยที่ต่างกัน

    ขอกล่าวถึงท่านที่บรรลุถึงปฐมฌาน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างยิ่ง อบรมอีกมากก่อนที่จะบรรลุถึงทุติยฌาน คือ ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีวสี คือ ความชำนาญแคล่วคล่อง ๕ ประการ ซึ่งใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๒๕ มีข้อความเรื่อง วสี ๕ คือ

    คำว่า วสี ความว่า วสี ๕ ประการ คือ อาวัชชนาวสี ๑ สมาปัชชนาวสี ๑ อธิษฐานวสี ๑ วุฏฐานวสี ๑ ปัจจเวกขณวสี ๑ ฯ

    เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าจะถึงโดยง่าย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ

    สำหรับอาวัชชนาวสี คือ สมาปัตติลาภีบุคคล คือ บุคคลที่สามารถจะอบรมความสงบจนกระทั่งบรรลุถึงปฐมฌาน จะต้องคำนึงถึง คือ ระลึกถึงลักษณะของ อัปปนาสมาธิชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้นได้ จนกระทั่งมีความชำนาญ ไม่ว่าจะระลึกถึงลักษณะของอัปปนาสมาธิขณะใด ณ สถานที่ใด ก็สามารถที่จะระลึกถึง คำนึงถึงปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการคำนึงถึง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาวัชชนาวสี

    ถ้ายังไม่เคยบรรลุถึงปฐมฌาน จะนึกถึงปฐมฌานย่อมเป็นไปไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีอามิสสัญญา หรือกามสัญญา ไม่ว่าขณะใดที่เกิดระลึก จะต้องเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บางทีท่านมีกิจธุระที่จะต้องนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มีวิริยะ ความเพียร ที่จะคิด แต่ก็คิดไปไม่พ้นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่มีความสงบมั่นคงถึงปฐมฌาน แต่ถ้าบรรลุถึงปฐมฌาน และไม่ชำนาญ ก็ย่อมระลึกช้า ต้องเพียรมากที่จะระลึกถึงว่า ขณะจิตที่เป็น อัปปนาสมาธินั้น องค์ของฌานทั้ง ๕ มีกำลัง สงบ มั่นคง ผ่องใส ประกอบด้วยสุข ประกอบด้วยปีติ ประกอบด้วยเอกัคคตาชัดเจนอย่างไร นี่เป็นเรื่องของการที่จะบรรลุถึงความสงบที่มั่นคงถึงทุติยฌาน ฌานจิตที่ ๒ ซึ่งจิตจะต้องฝักใฝ่ น้อมไป คำนึงถึง ระลึกถึงลักษณะของความสงบที่ตนได้บรรลุแล้วจนกระทั่งชำนาญ เป็นอาวัชชนาวสี

    แต่การเป็นผู้ชำนาญในการระลึกถึงลักษณะของอัปปนาสมาธิเท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะบรรลุถึงทุติยฌานได้

    ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า

    สมาปัตติลาภีบุคคลเข้าปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการเข้า เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสมาปัชชนาวสี

    คือ อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าฌานเมื่อไร ขณะไหน ที่ไหนก็ได้ ก่อนที่จะได้บรรลุถึงทุติยฌาน นอกจากนั้น จะต้องมีอธิษฐานวสี

    สมาปัตติลาภีบุคคลอธิษฐานปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในอธิษฐาน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอธิษฐานวสี

    คือ อธิษฐานด้วยความประสงค์ที่จะให้ฌานจิตเกิดมากน้อยเท่าไร ก็เป็นไปอย่างนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างนั้น นอกจากนั้น ยังต้องมีความชำนาญประการที่ ๔ วุฏฐานวสี

    สมาปัตติลาภีบุคคลออกปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการออก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวุฏฐานวสี

    แม้แต่เวลาจะออกจากฌาน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญว่า จะอยู่นานเท่าไร จะออกเมื่อไร ก็สามารถที่จะออกได้ทันที โดยไม่เนิ่นช้า นอกจากนั้น ความชำนาญประการสุดท้าย จะต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะพิจารณาปฐมฌานได้

    สมาปัตติลาภีบุคคลพิจารณาปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการพิจารณา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปัจจเวกขณวสี

    ถ้ามีความชำนาญแคล่วคล่องอย่างนี้จริงๆ จึงสามารถที่จะดับวิตกวิจาร บรรลุถึงทุติยฌานได้ และจะเป็นการดับต่อไปอีกที่จะบรรลุถึงตติยฌาน โดยการดับปีติ เพราะเห็นว่า ความสุขที่ประกอบด้วยความปลาบปลื้มใจ แม้ว่าจะเป็นความปลาบปลื้มใจที่เอิบอาบซึมซาบไปทั่วร่างกาย ไม่ใช่ความปลาบปลื้มใจที่เพียงทำให้เกิด ดีใจขึ้นเป็นขณะๆ หรือว่าทำให้ตัวลอย หรือทำให้มีอาการที่รู้สึกว่าเป็นปีติที่มีกำลัง แต่แม้อย่างนั้น ก็ยังเห็นโทษว่า ถ้าปราศจากปีติเมื่อไร ความสงบที่ประกอบด้วยความสุขและเอกัคคตา ย่อมดีกว่าขณะที่ฌานจิตนั้นประกอบด้วยปีติ สุข และเอกัคคตา เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะดับปีติได้

    ตามปกติ ขณะใดที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ขณะนั้นจะปราศจากความปลาบปลื้มซึ่งเป็นปีติไม่ได้ แต่ผู้ที่จะบรรลุถึงตติยฌานได้ ผู้นั้นต้องเห็นความต่างกันของปีติเจตสิกกับสุขเวทนา และเห็นโทษของปีติเจตสิก จึงดับปีติเจตสิกบรรลุถึงตติยฌาน ซึ่งไม่ประกอบด้วยปีติ ความปลาบปลื้ม

    นี่เป็นเรื่องของความสงบ ที่ยากที่จะบรรลุตามลำดับขั้น เพราะจะต้องเป็นการดับวิตกวิจารของผู้ที่เข้าถึงทุติยฌาน ดับปีติของผู้ที่เข้าตติยฌาน และดับลมอัสสาสะปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออกของผู้ที่บรรลุถึงจตุตถฌาน ซึ่งเป็นการดับไปตามลำดับของรูปฌาน

    สำหรับผู้ที่จะบรรลุถึงอรูปฌาน ต้องเห็นโทษของรูปสัญญา คือ แม้สัญญา ความจำในรูปนิมิตนั้นก็ยังเป็นโทษ เพราะยังใกล้ต่อการที่จะให้เกิดสัญญาในรูปอื่นๆ เพราะฉะนั้น รูปสัญญาของผู้ที่เข้าอากาสานัญจายตนฌานย่อมดับไป ไม่มีการระลึกถึงรูปที่เป็นนิมิตของปัญจมฌานโดยปัญจกนัย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงฌานไว้ ๒ นัย คือ นัยของฌาน ๔ และนัยของ ฌาน ๕ สำหรับนัยของฌาน ๔ นั้น สามารถที่จะดับทั้งวิตกและวิจารในทุติยฌาน แต่สำหรับปัญจมฌานนั้น ดับตามลำดับ คือ ทุติยฌานดับวิตก ตติยฌานดับวิจาร จตุตถฌานดับปีติ และปัญจมฌานดับสุขเวทนา

    สำหรับอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌาน ไม่มีรูปสัญญาเป็นอารมณ์ เพราะน้อมระลึกถึงความว่างของอากาศเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้น จิตย่อมสงบกว่าการที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น รูปสัญญาของผู้เข้า อากาสานัญจายตนฌานย่อมดับไป และอากาสานัญจายตนสัญญาของผู้เข้าวิญญาณัญจายตนฌานก็ย่อมดับไป

    ผู้ที่เห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งจะบรรลุถึงอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌานนั้น ย่อมดับอากาสานัญจายตนสัญญา คือ สัญญาที่จดจำในความไม่มีที่สุดของอากาศ เห็นว่ายังหยาบอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ดับอากาสานัญจายตนสัญญา และระลึกถึงสภาพของวิญญาณซึ่งมีอากาสานัญจายตนะนั้นเป็นอารมณ์ จึงบรรลุถึงอรูปฌานที่ ๒

    สำหรับอรูปฌานที่ ๓ เห็นโทษของการที่ยังมีวิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ว่ายังหยาบ เพราะฉะนั้น ก็ระลึกถึงสภาพที่ไม่มีอะไรเลย เมื่อดับวิญญาณัญจายตนสัญญา ก็บรรลุถึงอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๓

    สำหรับอรูปฌานที่สูงที่สุดซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ นั้น ดับอากิญจัญญายตนสัญญา แม้แต่ความจำในความไม่มีอะไรเลย ก็ไม่เป็นอารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนะ จึงได้บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    นี่เป็นเรื่องของความสงบ ที่ดับความสงบขั้นหยาบขั้นต้นออกไปตามลำดับ แต่ผู้ที่จะดับได้จริงๆ ที่จะเห็นว่าแม้อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญานั้นก็ยังเป็นทุกข์ ยังเป็นอาพาธ เป็นดังโรคที่เบียดเบียนผู้ที่มีความสงบ ก็จะต้องสามารถดับจิตและเจตสิกไม่ให้เกิดขึ้น แต่ว่าผู้นั้นจะต้องบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล และจะต้องสามารถบรรลุถึงอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะได้ จึงจะสามารถดับนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ในขณะที่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติได้

    นี่แสดงให้เห็นถึงว่า ความสงบย่อมมี เวลาที่ดับอกุศลธรรม หรือว่าสัญญาที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หรือแม้สัญญาในปฐมฌานขั้นต้น ทุติยฌาน ตติยฌานเป็นลำดับ จนถึงการที่จะดับจิต เจตสิก ไม่ให้เกิด นั่นจึงจะเป็นความสุข และที่จะดับสนิทจริงๆ คือ ไม่มีการเกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเห็นโทษแม้ของการเกิด ไม่ว่าจะในภพไหนหรือชาติไหน เพราะแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังเห็นโทษของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า นิพพานเท่านั้นที่เป็นความสงบที่แท้จริง จึงได้กล่าวถึงการอบรมเจริญความสงบขั้นสมถภาวนาว่า แม้ว่าจะบรรลุถึงฌานจิตก็ยังไม่ใช่ความสงบ จนกว่าจะถึงการที่สามารถจะดับกิเลส และดับ สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาบรรลุอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตโดยที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ยังเป็นปุถุชน แม้ว่าจะได้บรรลุถึง อรูปฌานขั้นสูง หรือว่าสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ส่วนมากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ไม่ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ ไม่ถึงฌานจิต แต่ถ้าท่านผู้นั้นมีการอบรมสะสมมา ถึงแม้ว่าในขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น และบรรลุความเป็นพระอริยสาวก ประกอบพร้อมด้วยองค์ของปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีพระอริยสาวกที่บรรลุฌานจิตด้วยเป็นขั้นๆ ซึ่งเป็นนัยของ โลกุตตรจิต ๔๐ คือ พระโสดาบันบุคคลที่บรรลุปฐมฌานก็มี พระโสดาบันบุคคลที่บรรลุทุติยฌานก็มี พระโสดาบันบุคคลที่บรรลุตติยฌานก็มี พระโสดาบันบุคคลที่บรรลุจตุตถฌานก็มี พระโสดาบันบุคคลที่บรรลุปัญจมฌานก็มี แต่ยังไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล

    เพราะเหตุว่าได้สะสมฌานจิตอย่างแคล่วคล่อง เพราะฉะนั้น เวลาที่ฌานจิตขั้นหนึ่งขั้นใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติปัฏฐานที่ได้อบรมแล้ว สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ประกอบพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นนั้นๆ ตามความชำนาญที่เป็นปัจจัยให้เกิดฌานนั้น

    สำหรับพระสกทาคามีบุคคล ก็โดยนัยเดียวกัน คือ พระสกทาคาที่ได้บรรลุปฐมฌานก็มี ทุติยฌานก็มี ตติยฌานก็มี จตุตถฌานก็มี ปัญจมฌานก็มี โดยที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล

    นี่เป็นความต่างกันที่จะเห็นได้ว่า บางบุคคลเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ โดยที่ไม่บรรลุแม้ปฐมฌาน แต่อีกท่านหนึ่งนั้น เป็นพระโสดาบันที่ประกอบด้วยปฐมฌานก็มี บางท่านเป็นพระโสดาบันบุคคลที่ประกอบด้วยทุติยฌาน ยังไม่บรรลุเป็นพระสกทาคามี แต่ว่าบางท่านก็เป็น พระสกทาคามีที่ประกอบด้วยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ฌานหนึ่งฌานใด แล้วแต่ว่าในขณะที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ประกอบด้วยองค์ของฌานที่เป็นปฐมฌาน หรือฌานอื่น

    สำหรับพระอนาคามี และพระอรหันต์ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ที่บรรลุถึงฌานจิต และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลด้วย ท่านมีความชำนาญแคล่วคล่องมากในวสี คือ การนึกถึงในการเข้า ในการอธิษฐาน ในการออก หรือว่าในการพิจารณาองค์ของฌาน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล และบรรลุฌานจิตด้วย ท่านมีความชำนาญที่สามารถจะเข้าผลสมาปัตติ

    คำว่า สมาบัติ ไม่ได้หมายความถึงสมบัติของชาวโลก แต่เป็นสมบัติของความชำนาญในการอบรมทางใจ ที่สามารถจะให้จิตสงบมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรืออรูปฌานต่างๆ สำหรับ ผู้ที่เป็นปุถุชน บรรลุฌานจิตได้ตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เวลาที่มีความสามารถที่จะให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิ ก็เข้าได้อย่างรวดเร็วตามความสามารถที่ท่านเป็นผู้ถึงปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือว่าอรูปฌาน แต่ว่าไม่สามารถที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะไม่ใช่พระอริยเจ้า เป็นปุถุชนที่สามารถจะเข้าฌานสมาบัติได้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น สมาบัติจึงมี ๓ ประการ คือ ฌานสมาบัติ ๑ ผลสมาบัติ ๑ นิโรธสมาบัติ ๑ และต้องเป็นเรื่องของความสงบที่มั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ จึงจะเป็นสมาปัตติ หรือสมาบัติ

    ผู้ที่เข้าปฐมฌานได้ แต่ไม่มีความชำนาญ อาจจะเข้าได้เพียงครั้งเดียวและไม่เกิดอีกเลย ไม่สามารถที่จะนึกเข้าและออกได้ตามความปรารถนา จึงไม่ใช่สมาบัติ แต่สำหรับผู้ที่ชำนาญ แม้เป็นปุถุชน ย่อมสามารถที่จะเข้าฌานสมาบัติ มีอัปปนาสมาธิเกิดได้ตามความประสงค์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564