แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818


    ครั้งที่ ๘๑๘


    ถ. ปัญหาโลกแตก โลกแตกอาจารย์ว่าดีไหม

    สุ. กำลังแตก ทุกขณะ

    ถ. ในสมัยที่โลกจะถูกทำลายด้วยพระอาทิตย์ ๗ ดวง ข้อดีมีอยู่ คือ สัตว์นรกจะได้เป็นพระพรหม มดปลวกทั้งหลายก็จะได้เป็นพระพรหมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เป็นข้อดีของโลกแตก

    สุ. อาจจะเคยแตกมาแล้ว เคยเป็นมาแล้ว และก็กลับมาเป็นอย่างนี้อีก ไม่จบ

    ถ. พูดถึงโลกแตก ทำให้ผมไม่เข้าใจว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขแสนกัป ท่านแสดงว่า ๑ มหากัป มี ๔ อสงไขย ขอถามอาจารย์ว่า กัปกับมหากัปนี้ต่างกัน หรือเหมือนกัน

    สุ. บางแห่งก็ใช้คำว่า กัป เท่านั้น

    ถ. ๑ กัป มี ๔ อสงไขย ฉะนั้น ๔ อสงไขยกับแสนกัป หมายความว่าอย่างไร

    สุ. หมายความว่า นานเหลือเกิน

    ถ. ท่านแสดงไว้ ๔ อสงไขย ตั้งแต่พระอาทิตย์เกิด ตั้งแต่มหาเมฆตั้งขึ้น ยังฝนให้ตกลงมา ๑ ห่า คนทั้งหลายก็พากันไปทำนา ไปปลูกข้าว ปลูกพืช เมื่อข้าวขึ้นมาได้คืบกว่า หลังจากนั้นก็แห้งแล้ง ฝนไม่ตกเลย จนกระทั่งถึงพระอาทิตย์ขึ้นมา ๒ ดวง

    สุ. คนที่เกิดมาปลูกข้าวตายหรือยัง

    ถ. พระอาทิตย์ขึ้นมา ๒ ดวง เขาใช้คำว่า สัตว์ที่อาศัยฝน ไม่เฉพาะคนอย่างเดียว

    สุ. ตั้งแต่พระอาทิตย์ ๑ ดวง จนกระทั่ง ๒ ดวง คนที่เกิดตอนพระอาทิตย์ ๑ ดวง ตายไปบ้างหรือยัง

    ถ. ก็ตายไปบ้าง แต่ว่าพอถึง ๒ ดวง ตายหมดไม่เหลือ

    สุ. ยังไม่ถึง ๗ ดวงหรือ

    ถ. อยู่ไม่ได้ถึง ๗ ดวง สัตว์ที่อาศัยฝนตั้งแต่มีอาทิตย์ ๒ ดวงตายหมดแล้ว แม่น้ำน้อยแห้งหมด กลางคืนไม่มีแล้ว ตกไปดวงหนึ่ง ขึ้นมาดวงหนึ่ง มีแต่กลางวันอย่างเดียว ล่วงไปอีกนาน พระอาทิตย์ขึ้นมาอีกดวงหนึ่งเป็น ๓ ดวง พระอาทิตย์ ๓ ดวงนี้แม่น้ำใหญ่แห้งหมด เทวดาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ตาย ล่วงไปอีกนาน พระอาทิตย์ขึ้นมา ๔ ดวง ดวงที่ ๔ เกิดขึ้น สระทั้ง ๗ รวมทั้งสระอโนดาต สระทั้ง ๗ นี้เป็นต้นน้ำของแม่น้ำทั้ง ๕ แห้งหมด ล่วงไปอีก ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ เกิดขึ้น ทำให้น้ำในมหาสมุทรแห้งหมด ปลาและเต่าตายหมด ล่วงไปอีกจนกระทั่งดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ เกิดขึ้น โลกเป็นควันทั้งหมด ยังไม่ไหม้ เกรียมหมด เกรียมจนกระทั่งเป็นควันทั้งหมด พอถึงดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗ จึงไหม้ สัตว์นรกจึงจะตาย สัตว์นรกนี้ทนจริงๆ อย่างอื่นตายไปหมดแล้ว

    สุ. แสดงว่าต้องลำบากนานมาก

    ถ. นับตั้งแต่มหาเมฆตั้งขึ้นจนกระทั่งถึงเผาหมดทั้งโลก โลกนี้ถูกเผา และดวงอาทิตย์ทั้ง ๗ ก็เผาตัวเองด้วย เผาจนกระทั่งปฐมฌานภูมิทั้ง ๓ หมด ในเมื่อเผาหมดแล้วก็มืดไปหมด ล่วงกาลไปนาน ฝนก็ตกลงมา ทีแรกก็เป็นฝนปรอยๆ ต่อไปก็ใหญ่ขึ้นเท่าก้านบัว ใหญ่ขึ้นเท่าสาก ใหญ่ขึ้นเท่าลำตาล ตกลงมาจนกระทั่งเต็มทั้งแสนโกฏิจักรวาล ระยะนี้เขาเรียก ๑ อสงไขย

    อสงไขยที่ ๒ คือ ตั้งแต่ฝนตกลงมาเต็มนี้ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เกิดใหม่ ช่วงนี้ก็ ๑ อสงไขย เมื่อดวงอาทิตย์เกิดขึ้นใหม่ จนกระทั่งถึงมหาเมฆตั้งขึ้น จะเผาโลกอีก ก็เป็นอีก ๑ อสงไขย เป็น ๔ ช่วง แต่ละช่วงๆ เขาเรียกอสงไขย ๔ ช่วงนี้รวมกันเป็น ๑ มหากัป เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ๔ อสงไขยแสนกัปนี้ เป็นอย่างไร ไม่เข้าใจ

    สุ. กัปที่โลกถูกทำลายไป และในบางกัปที่โลกเกิดขึ้นมาก็มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางกัปก็ว่าง ไม่มีเลย แต่ว่าการวนเวียนก็จะต้องวนเวียนไป เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และที่พูดมานี้ เป็นอดีต หรืออนาคต

    ถ. .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ประจักษ์ในขณะนี้ ซึ่งความจริงโลกในวินัยของ พระอริยเจ้ากำลังแตกทุกขณะ เพราะคำว่า โลกะ หมายความถึงแตกหรือทำลาย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สังขารธรรมเกิดขึ้นก็ต้องแตกดับไป นั่นคือโลก โลกทางตาที่กำลังเกิดดับ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ต้องคอยโลกใหญ่คือ จักรวาล เพราะโลกในขณะนี้ ชั่วขณะหนึ่งซึ่งเป็นชีวิตแต่ละขณะ เป็นของจริงที่กำลังปรากฏก็กำลังแตกอยู่แล้ว กำลังทำลายอยู่ทุกขณะ

    ถ. จะมีวิธีเจริญอย่างไร

    สุ. เจริญสติปัฏฐาน จะเกื้อกูลกุศลทุกขั้น จะเป็นผู้ที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมชำนาญขึ้น คล่องแคล่วขึ้น ไวขึ้น และรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น รู้ว่ากุศลเป็นกุศล รู้ว่าอกุศลเป็นอกุศล

    ถ. ในอริยสัจ ๔ ไม่จำเป็นต้องรู้ถึงองค์อื่นนอกจากมรรคหรือ อย่างเช่น ทุกข์ สมุทัย ไม่จำเป็นต้องรู้หรือ

    สุ. อะไรเป็นทุกข์

    ถ. ความเดือดร้อนใจก็เป็นทุกข์

    สุ. ถูก แต่ว่าทุกข์นั้นได้แก่อะไร สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เมื่อกล่าวถึงทุกข์ จะต้องมีสภาพของทุกข์ที่กำลังปรากฏแต่ละอย่าง ไม่ใช่นึกแต่เรื่องทุกข์ นั่นไม่ใช่ความรู้ชัด ถ้าเป็นความรู้ชัดต้องกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นทุกข์ปรากฏ ว่าทุกข์นั้นเป็นทุกข์อะไร ทางไหน มีลักษณะอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องราวทุกข์ แต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ ต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ถ. และสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

    สุ. โลภะ ความต้องการ เป็นมูลเหตุที่จะให้มีการเกิดขึ้นของสังขารธรรมทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจึงเป็นทุกข์

    ถ. เพราะฉะนั้น ต้องทราบเรื่องของทุกข์ สมุทัย จึงจะทำให้มรรคเจริญใช่ไหม

    สุ. ต้องรู้ว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออะไร อบรมเจริญอย่างไร จึงจะเจริญได้ เพราะถ้ามีคนบอกว่า ชีวิตเป็นทุกข์ จะไปเจริญมรรคก็ไม่ได้ใช่ไหม ถ้ามีคนบอกว่า โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะไปเจริญมรรคก็ไม่ได้อีก ถ้ามีคนบอกว่า นิพพานเป็นธรรมที่ดับตัณหา โลภะก็จะไปเจริญมรรคไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่มรรคจะเกิดขึ้น จะเจริญขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ก็เพราะอาศัยการพิจารณา การศึกษาให้เข้าใจว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออย่างไร ขณะไหน

    ถ. ขอบพระคุณ

    สุ. เรื่องของพระนิพพานที่จะเป็นอุปสมานุสสติ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์สมถภาวนาที่ละเอียด เพราะไม่ใช่ระลึกเพียงชื่อนิพพานแล้วจิตจะสงบ แต่จะต้องมีความเข้าใจในลักษณะของนิพพาน เมื่อน้อมระลึกถึงลักษณะของนิพพานที่เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น จิตจึงจะสงบยิ่งขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของนิพพานเป็นธรรมที่ควรรู้แจ้ง ควรประจักษ์ ไม่ใช่เพียงแต่พูดถึง หรือคิดว่าไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ ถึงแม้ว่าจะประจักษ์ยาก แต่ประจักษ์ได้ และควรที่จะอบรมเจริญหนทางที่จะประจักษ์ด้วย โดยเฉพาะสำหรับ ผู้ที่เป็นพระภิกษุ พระผู้มีพระภาคทรงเตือนพระภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเพื่อรู้แจ้งนิพพานว่า ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาก็ไม่สมควรที่จะเป็นภิกษุ เพราะไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการบวช

    ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ชีวิตสูตร ข้อ ๒๗๑

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอยู่เพราะการแสวงหาก้อนข้าวนี้ เป็นกรรมที่ลามกของบุคคลผู้เป็นอยู่ทั้งหลาย

    ถ้าเพื่อแสวงหาก้อนข้าวก็เป็นกรรมที่ลามก แต่ถ้าจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อแสวงหาก้อนข้าว ก็ควรจะเพื่อเจริญสมณธรรม

    บุคคลผู้ด่าย่อมด่าว่า ท่านผู้นี้มีบาตรในมือย่อมเที่ยวแสวงหาก้อนข้าวในโลก

    ปัจจุบันนี้ก็มีผู้พูดอย่างนี้ ใช่ไหม คนที่จะด่าก็มีเหตุที่จะด่าได้ คือ ท่านผู้นี้มีบาตรในมือ ย่อมเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรทั้งหลายเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ ไม่ได้ถูกพระราชาทรงให้นำไปจองจำไว้เลย ไม่ได้ถูกพวกโจรนำไปกักขังไว้ ไม่ได้เป็นหนี้ ไม่ได้ตกอยู่ในภัย เป็นผู้มีความเป็นอยู่เป็นปกติ ย่อมเข้าถึงความเป็นอยู่ด้วยการแสวงหาก้อนข้าวนั้น ด้วยคิดว่า ก็แม้พวกเราแลเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกทุกข์ติดตามแล้ว ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว แม้ไฉนการกระทำซึ่งที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะบวชไม่ได้ถูกบังคับ แม้พระราชาก็ไม่ได้บังคับว่า ถ้าไม่บวชก็จะถูกจองจำ หรือว่าไม่ได้ถูกพวกโจรนำไปกักขัง ไม่ได้เป็นหนี้ ไม่ได้ตกอยู่ในภัยอันตรายใดๆ แต่ว่าเป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่เป็นปกติ และมีความคิดว่า เป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกทุกข์ติดตามแล้ว ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว แม้ไฉนการกระทำซึ่งที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ นี่เป็นความตั้งใจของการที่จะอุปสมบท

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มีอภิชฌามาก มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า มีอุปมาเหมือนดุ้นฟืนในที่เผาผี ที่ไฟติดทั่วแล้วทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะใช้ประโยชน์เป็นฟืนในบ้าน ในป่า ก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้น บุคคลนี้เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ และไม่ยังผลแห่งความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้ ฯ

    ทรงอุปมาให้เห็นโทษจริงๆ ของการที่เมื่อบวชแล้วก็ไม่อบรมเจริญปัญญา เป็นผู้ที่มีสติหลงลืม มีจิตพยาบาท มีอภิชฌามากว่า เหมือนดุ้นฟืนในที่เผาผีที่ไฟติดทั่วแล้วทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นฟืนในบ้าน หรือในป่า ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นย่อมเสื่อมแล้วทั้ง ๒ ทาง คือ เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ และไม่ยังผลแห่งความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้ ฯ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

    บุคคลผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ ย่อมขจัดผลแห่งความเป็นสมณะให้กระจัดกระจายไป เหมือนดุ้นฟืนในที่เผาผีฉิบหายไปอยู่ ฉะนั้น ก้อนเหล็กร้อนเปรียบด้วยเปลวไฟ อันบุคคลบริโภคแล้วยังจะดีกว่า บุคคลผู้ทุศีล ผู้ไม่สำรวม พึงบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะดีอะไร ฯ

    จบ สูตรที่ ๒

    ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ที่จะดับกิเลสได้จริงๆ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงโอวาท ทรงเทศนาทุกประการเพื่อที่จะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ

    ข้อความใน สังฆาฏิสูตร ข้อ ๒๗๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา ฯ

    ท่านผู้ฟังอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค หรือว่าอยู่ไกล ไม่ใช่โดยระยะทาง แต่โดยการเห็นธรรม ขณะนี้ธรรมกำลังปรากฏ ถ้าสติเกิด ไม่หลงลืม ศึกษา เพิ่มการพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้ แต่ว่าขณะใดก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเดินตามหลังจับชายสังฆาฏิ หรือว่าเดินไปตามรอยเท้าของพระผู้มีพระภาค ผู้นั้นก็ชื่อว่าอยู่ไกล ขณะที่ไม่เห็นธรรม

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น ยังเป็นไปตามตัณหา ดับความเร่าร้อนไม่ได้ แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้ บุคคลนั้นผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น

    ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต รู้ธรรมด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมอันยิ่ง เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลมฉะนั้น บุคคลนั้นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    เพราะฉะนั้น เห็นอย่างไหนดี เห็นไกล หรือว่าเห็นใกล้ อยากเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเหลือเกิน ใช่ไหม แต่ถ้าเคยเห็นแล้วไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าเห็นในที่ไกล แต่ถึงแม้ว่าจะห่างไกลพระองค์ เพราะว่าทรงดับ ขันธปรินิพพานแล้ว แต่ก็มีการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าจะไกลถึงแค่ไหน พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า เป็นผู้ที่เห็นพระองค์ในที่ใกล้ เพราะว่าเห็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๘๑๑ – ๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564