แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813


    ครั้งที่ ๘๑๓


    สำหรับลักษณะของพระนิพพาน ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โธตกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๒๒๕ มีว่า

    อมตนิพพาน ... ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ตรัสว่า เป็นธรรมอันสงัด ในอุเทศว่า วิเวกธมฺมํ ยมหํ วิชญฺญํ

    คำว่า ยมหํ วิชญฺญํ ความว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้แจ้ง พึงรู้แจ้งเฉพาะ พึงแทงตลอด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ธรรมอันสงัดที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง

    ไม่ควรที่จะเพียงนึกถึงเท่านั้น แต่จะต้องเป็นธรรมที่พึงรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานด้วย แต่ถ้ายังไม่ได้ศึกษาจริงๆ ให้เข้าใจลักษณะของนิพพานและเหตุให้ถึงนิพพาน ก็ย่อมไม่บรรลุถึงนิพพานแน่นอน

    เคยพิจารณาไหมว่า ท่านอยากจะถึงนิพพานหรือเปล่า เคยไหม หรือไม่ได้คิดถึงเรื่องนิพพานเลย คิดถูกหรือคิดผิดอย่างไร อยากจะถึงอะไร ต้องมีเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ถ้าใครอยากที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพียงอยาก หรือว่าเห็นคุณ เห็นประโยชน์ของการประจักษ์แจ้ง และอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์ของการประจักษ์แจ้งนิพพาน

    ถ้ายังไม่รู้ถึงคุณ ถึงประโยชน์ของการประจักษ์แจ้งนิพพาน ก็หมายความว่า ผู้นั้นไม่รู้นิพพาน เพียงแต่มีโลภะ มีความปรารถนาในสิ่งที่ท่านเรียกว่านิพพาน โดยที่ไม่ได้ใกล้ชิดเข้าไปถึงความเข้าใจในลักษณะของนิพพานเลย

    เพราะฉะนั้น เห็นคุณอะไรของพระนิพพาน จึงต้องการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

    ผู้ฟัง เพราะต้องการความสงบ ขณะที่ศึกษาในตำราว่า พระนิพพานนั้นไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะว่าชีวิตประจำวันของเรานี้อยู่ด้วยปัจจัยปรุงแต่ง จึงมีความทุกข์ ดิฉันจึงอยากจะถึงความสุข คือ ทุกวันนี้เราก็ยังมีอกุศลเกิด จึงมีความทุกข์ แต่เมื่อเจริญสติแล้ว ความทุกข์น้อยลงกว่าสมัยที่ยังไม่ได้เจริญสติ ดิฉันก็เทียบว่า ถ้าตราบใดมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ความสุขคงจะมีมากขึ้น เราเทียบดูจากการที่เจริญสติ มีสติเกิดก็มีความสุขขึ้นมาก อะไรอย่างนี้ จากความสงบ ความสุขเกิดจากความสงบ

    สุ. ถ้าสุขแล้ว สงบแล้ว พอไหม

    ถ. สงบยังมีไม่มากพอ ยังต้องเจริญต่อไป

    สุ. พอถึงนิพพานแล้วเป็นอย่างไร ที่ว่าจะเกิดประโยชน์อะไร

    ถ. ก็อกุศลไม่เกิด เกิดน้อยหน่อยเรายังมีความสงบ มีความสบาย ถ้าอกุศลไม่เกิดเลย ดิฉันก็คาดไม่ถึงว่า จะสุขสักแค่ไหน

    สุ. ที่ถูกแล้ว อกุศลใดๆ ทั้งหมดที่มี ที่ปรากฏ ที่สะสมมา ที่เกิดขึ้นให้รู้นี่ไม่สามารถที่จะดับให้เป็นสมุจเฉทได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการบรรลุ คือ การประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานนั้น คือ ขณะที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ลักษณะของนิพพานนั่นเองเป็นธรรมที่ดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังเห็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ไม่สามารถดับไปเป็นสมุจเฉท แม้ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งเป็นสักกายทิฏฐิ ก็ไม่สามารถดับเป็นสมุจเฉทจนกว่าโลกุตตรจิตจะเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งสภาพของนิพพาน ได้รู้แจ้งในสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส เพราะธรรมอื่นไม่สามารถจะดับกิเลสได้เลย ซึ่งผู้ที่ต้องการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็รู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ตราบนั้นกิเลสยังไม่ได้ดับ ถึงแม้ว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส

    เวลานี้เห็นการเกิดของธรรมว่าเป็นทุกข์หรือเปล่า เพราะทันทีที่เห็น ก็หลงไปทันทีในเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ พอเห็นเป็นคนหนึ่งคนใดที่เคยรู้จัก ทันทีที่เห็นก็หลงไปในเรื่องของคนนั้น ขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ และสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ทันทีที่อ่านก็หลงไปในเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้เห็นโทษของการเกิดขึ้นของสังขารธรรม ซึ่งไม่หยุดเกิดเลย เวลานี้มีสภาพธรรมเกิด และก็เกิดๆ มีแต่เกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้สุดสิ้นการเกิดเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แต่เวลาที่หลงไปในเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมได้ เพราะเพลินไป หลงไปในเรื่องราวที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่เห็นโทษว่า สภาพธรรมมีแต่ปัจจัยปรุงแต่งเกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่สงบเลย ที่ว่าไม่สงบ เพราะว่าเกิดอยู่นั่นแล้ว เห็นแล้วก็เห็นอีกแล้ว และก็ได้ยินอีกแล้ว และก็คิดนึกอีกแล้ว และก็เห็นอีกแล้ว คิดนึกอีกแล้ว ได้ยินอีกแล้ว มีสภาพธรรมซึ่งเกิดไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้นสุด

    แต่การที่จะรู้ได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และมีปัญญาสมบูรณ์เป็นขั้นๆ จนกว่าจะเห็นโทษของสังขารธรรมเป็นขั้นๆ เพราะเวลานี้แม้แต่เพียงอรรถของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ถ้ายังไม่บรรลุถึงวิปัสสนาญาณขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ยังเป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น จะเกิดเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปๆ ของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ย่อมเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะถึงนิพพาน ต้องมีการบรรลุวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น เห็นโทษของสภาพธรรมที่เกิดดับ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นแต่เพียงคำพูดเท่านั้นที่ว่า น่าเบื่อเหลือเกิน สภาพธรรมมีแต่อกุศล เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สงบเลย คำพูดอย่างนี้จะเป็นจริงตามนี้ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน และปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้น คำพูดนี้ไม่เปลี่ยน แต่ความรู้ชัดขึ้น ความหมายจริงๆ ก็ชัดขึ้นด้วย เช่น สภาพธรรมนี้ช่างน่าหน่าย น่าละคลาย เพราะว่าเกิดขึ้นๆ ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐาน เบื่อเหลือเกินใช่ไหมเรื่องยุ่งๆ ทั้งนั้น เดี๋ยวคนนี้ก็ยุ่ง เดี๋ยวคนนั้นก็ยุ่ง จะอยู่สงบๆ สบายๆ สักวันหนึ่งก็ไม่มี เดี๋ยวญาติ เดี๋ยวเพื่อน เดี๋ยวคนนั้นมีธุระเดือดร้อน เดี๋ยวคนนี้มีเรื่องราวต่างๆ ทั้งกิจกรรมนานาประการที่จะต้องทำ ดูชีวิตนี้ช่างวุ่นวายไม่สงบเลย นั่นสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งและเกิดขึ้นแต่ละขณะจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดจนกระทั่งละคลายได้ จะต้องเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราวต่างๆ ที่น่าเบื่อหน่าย แต่ต้องเป็นการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าสติระลึกจะรู้ได้เลยว่า เกิดอีกแล้ว ไม่หยุด จะเป็นเสียง หรือจะเป็นได้ยิน หรือว่าจะเป็นคิดนึก หรือว่าจะเป็นความรู้สึก ก็เกิดอีกแล้ว ดับไปแล้วก็เกิดอีก เกิดอีกแล้ว ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละคลาย หน่ายสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่ใช่เพียงการเบื่อเรื่องราว ความสับสน ความวุ่นวายในชีวิต แต่จะต้องเป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. พูดถึงอารมณ์ของพระนิพพาน ดิฉันเคยได้อ่านพบข้อความหนึ่งว่า ธีรชนเหล่าใดยังเพ่งฌานอยู่เป็นเนืองนิตย์ ย่อมได้สัมผัสกับพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นเสมอได้ เรียนถามอาจารย์ว่า ความหมายของคำว่า นิพพานกับฌาน เป็นอารมณ์ของสมถะหรือวิปัสสนา

    สุ. ลักขณูปนิชฌาน หรือว่าอารัมมณูปนิชฌาน คำว่า ฌาน หมายความถึงเผาอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเผาโดยสมถภาวนา ก็คือเผานิวรณธรรม ๕ โดยความสงบที่มั่นคงขึ้น แต่ถ้าเป็นลักขณูปนิชฌาน หมายความถึงเผาวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยปัญญาที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน

    ข้อความใน บุพพสิกขาวรรรณนา ซึ่งเป็นหนังสือรจนาโดย พระอมราภิรักขิต วัดบรมนิวาส สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงชำระ มีข้อความเรื่องนิพพาน ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจความหมายของนิพพานมากขึ้น

    ข้อความมีว่า

    อนึ่ง จะประสงค์ว่า ความไม่เป็น ความไม่มีแห่งปัญจขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน เป็นพระนิพพานเล่าไซร้ ก็ไม่ชอบ คือ ไม่ถูกต้อง

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า นิพพานคืออะไรแน่ ถ้าเพียงแต่ความไม่เป็น ไม่มีแห่งปัญจขันธ์ คือ ความดับไปของสังขารธรรม ซึ่งสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วดับ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงจะหมายถึงว่า ความดับของขันธ์เป็นพระนิพพานก็ไม่ถูก เพราะขันธ์ก็ต้องเป็นขันธ์ ขันธ์จะเป็นนิพพานไม่ได้ ขันธ์หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป โดยย่อก็คือเป็นนามธรรม ซึ่งน้อมไปสู่อารมณ์หรือรู้อารมณ์พวกหนึ่ง เป็นนามขันธ์ ๔ และสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่น้อมไปสู่อารมณ์เป็นรูปขันธ์อีกพวกหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ขันธ์เป็นขันธ์ ถึงแม้ว่าขันธ์จะดับ การดับของขันธ์นั้นก็ไม่ใช่นิพพาน ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความว่า

    จะประสงค์ว่า ความไม่เป็น ไม่มีแห่งปัญจขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน เป็นพระนิพพานเล่าไซร้ ก็ไม่ชอบ เพราะขณะแห่งอริยมรรค ปัญญาเกิดขึ้นเห็นพระนิพพานนั้น ปัญจขันธ์ก็ยังมีปรากฏเฉพาะหน้าอยู่ ไม่สูญไป

    เพราะโลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ฌานจิตซึ่งเป็นสมถภาวนา เพราะในสมถกัมมัฏฐานไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง ความถึงสอุปาทิเสสนิพพานเล่า ก็มี ก็เป็นในขณะมรรค อาศัยซึ่ง ปัญจขันธ์ซึ่งเป็นปัจจุบันเกิดขึ้น

    แสดงให้เห็นความต่างกัน คือ ขันธ์ต้องเป็นขันธ์ นิพพานต้องเป็นนิพพาน แต่ว่าขันธ์นั้นเองที่เป็นโลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น นิพพานจึงไม่ใช่โลกุตตรจิต แต่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรียกมรรคและผลเหมือนชื่อที่ใช้เรียกพระนิพพาน คือ ราคักขโย โทสักขโย โมหักขโย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าเป็นชื่อแห่งมรรค ต้องแปลว่า ธรรมเป็นเหตุสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เพราะการปหานกิเลสเป็นกิจแห่งมรรค ถ้าเป็นชื่อแห่งผล คือ ในขณะผลจิต โลกุตตรผลจิต ต้องแปลว่า ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เพราะอรหัตตผลเกิดในที่สุดแห่งความสิ้นกิเลส

    ถ้าเป็นชื่อแห่งพระนิพพาน ต้องแปลว่า ธรรมเป็นที่สิ้นแห่งราคะ โทสะ โมหะ เพราะว่ากิเลสมาถึงพระนิพพานซึ่งเป็นอารมณ์แห่งมรรคแล้วแลสิ้นไป ตั้งแต่อริยมรรคเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งกิเลสเกิดขึ้น กิเลสไม่เป็นต่อไปได้อีก อริยมรรคจึงเป็นอนุปปัตตินิโรธ ดับทีเดียวแห่งกิเลส ไม่เกิดอีก ส่วนพระนิพพานย่อมเป็นอุปนิสัยแก่อริยมรรคนั้น คือว่า เป็นอารมณ์ เป็นปัจจัย มีกำลังแก่อริยมรรคนั้นโดยปริยาย

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของฌานหรือเปล่า

    ถ. ไม่ใช่เรื่องของฌาน

    สุ. ทวนอีกสักครั้ง ข้อความข้างต้นว่าอย่างไร

    ถ. ธีรชนเหล่าใด ผู้เพียรเพ่งฌานอยู่เนืองนิตย์ ย่อมสัมผัสกับนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นเสมอมิได้

    สุ. ถ้าศึกษาโดยตลอดย่อมทราบว่า ผู้ที่ได้ฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงอรูปฌานไม่บรรลุมรรคผล เช่น ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส

    การศึกษาพระธรรมต้องศึกษาโดยตลอด และประกอบกันด้วย เพียงเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดตอนเดียวไม่ได้

    อุปสมานุสสติ เป็นเรื่องที่ระลึกยาก แต่เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น การระลึกก็จะถูกต้อง และสงบได้ ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ รูปสูตร ข้อ ๒๕๑ มีว่า

    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อรูปละเอียดกว่ารูป นิโรธละเอียดกว่าอรูป ฯ

    ความละเอียดเพิ่มเป็นขั้นๆ อย่างอรูป คือ นามธรรมทั้งหลาย ย่อมละเอียดกว่ารูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าอรูปในที่นี้จะยิ่งละเอียดกว่ารูปเมื่อหมายความถึงอรูปฌาน ซึ่งย่อมละเอียดว่ารูปฌาน เพราะจิตที่สงบที่พ้นจากการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถึงขั้น อัปปนาสมาธิที่มีรูปเป็นกัมมัฏฐานหรือเป็นอารมณ์ที่ทำให้สงบ นั่นเป็นจิตที่สงบ แต่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่เวลาที่จิตจะสงบขึ้นอีก นามธรรมนี่มีภูมิ มีขั้น มีระดับที่สงบกว่านั้น ละเอียดกว่านั้น เวลาที่มีอรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ความหมายในที่นี้ หมายความถึงรูปฌานและอรูปฌานที่ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อรูปละเอียดกว่ารูป นิโรธละเอียดกว่าอรูป ฯ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

    สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นไม่รู้ชัดซึ่งนิโรธ (คือ พระนิพพาน) เป็นผู้ยังต้องกลับมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้วไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ ชนเหล่านั้นย่อมน้อมไปในนิโรธ เป็นผู้ละมัจจุเสียได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ถูกต้องอมตธาตุอันไม่มีอุปธิด้วยนามกายแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งการสละคืนอุปธิ ย่อมแสดงบทอันไม่มีความโศก ปราศจากธุลี ฯ

    เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ

    จบสูตรที่ ๔

    ถึงแม้ว่าจะได้ฌานถึงขั้นอรูปฌาน แต่ว่าเมื่อไม่รู้ชัดในพระนิพพาน คือ นิโรธ ก็เป็นผู้ยังต้องกลับมาสู่ภพใหม่

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มี ละเอียดเป็นขั้นๆ โดยการประจักษ์แจ้ง รูปธรรมมีจริง และที่จะปรากฏว่าเป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น ก็ละเอียดกว่าการที่ยึดถือสภาพของรูปนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะจะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า อรรถของคำว่ารูปธรรมจะต้องไม่มีการยึดถือรูปธรรมที่ปรากฏนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งใดๆ จึงจะซาบซึ้งถึงอรรถของลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นรูป เป็นรูปธาตุ ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงรูปจริงๆ

    แต่รูปทั้งหมด ก็ยังหยาบกว่านามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้เท่านั้น ในขณะนี้รูปยังปรากฏทางตา ขณะนี้มีรูปปรากฏ แต่นามธรรมเป็นเพียงสภาพที่รู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น เสียงยังปรากฏทางหู แต่ว่านามธรรมเป็นสภาพที่รู้เสียง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น

    ถ. สภาพพระนิพพาน คือ เป็นทางใจ

    สุ. นิพพานละเอียดกว่าอรูปซึ่งเกิดดับ และก็ยากที่จะรู้ ถ้าไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็พูดแต่เพียงว่า นามธรรม นามธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ แต่ว่าลักษณะของนิโรธ คือ พระนิพพานนั้น ละเอียดกว่าอรูปที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย

    ถ. เป็นแต่เพียงสภาพรู้

    สุ. นิพพานไม่ใช่สภาพรู้ ละเอียดกว่า เพราะไม่เกิด นามธรรมถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพที่ละเอียด ก็ยังเกิดขึ้นให้รู้

    การเห็นกำลังมี เป็นสภาพรู้ทางตา การได้ยินในขณะนี้กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้ ยังมีอาการเกิดขึ้นให้รู้ว่าเป็นสภาพรู้ แต่ลักษณะของพระนิพพานคือนิโรธนั้น ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะละเอียดกว่าสภาพของนามธรรมที่เกิดแล้วก็ดับให้รู้ว่าเกิดดับ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๘๑๑ – ๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564