แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828


    ครั้งที่ ๘๒๘


    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก เช่น นิพพานสูตร เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นธาตุที่สงบว่าเป็นสุข แม้ว่าจิตจะสงบในขั้นอื่นก็ยังไม่ใช่ความสงบที่เป็นนิพพาน ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินเรื่องของฌานขั้นต่างๆ และบางท่านอาจจะเกิดความสงสัย เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงเรื่องฌานขั้นต่างๆ

    ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต มหาวรรคที่ ๔ วิหารสูตรที่ ๑ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ ๙ ประการ คือ ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ เป็นรูปฌาน ๔ กับอรูปฌานอีก ๔ คือ อากาสานัญจายตนฌาน ๑ วิญญาณัญจายตนฌาน ๑ อากิญจัญญายตนฌาน ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ๑ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนุปุพพวิหาร ๙ ประการนี้แล

    เวลาที่ท่านผู้ฟังได้ฟังข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ พอได้ยินแล้วอยากจะอยู่ไหม เพราะเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ แต่ให้ทราบว่า ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะอยู่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาอย่างยิ่งจึงสามารถที่จะมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ ๙ ประการนี้ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการสะสมมาที่ต่างกันของแต่ละบุคคล ตามความเป็นจริง

    ขณะนี้ทุกท่านอยู่ในธรรมข้อไหน ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้มีธรรมเครื่องอยู่ ๙ ประการนี้เลย เพราะขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ ๙ ประการนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญความสงบอย่างมั่นคงจนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมตามลำดับ ตั้งแต่ความสงบที่มั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมข้อใด ท่านผู้ฟังก็อยากจะอยู่ทันที หรือว่าจะปฏิบัติเพื่อจะได้อยู่ทันที แต่ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะต้องศึกษาแต่ละขณะตามความเป็นจริงว่า ท่านมีคุณธรรมที่ได้อบรมมาที่จะมีธรรมเครื่องอยู่ ๙ ประการนั้นตามลำดับหรือไม่

    ไม่ควรที่จะคิดว่า ความสงบขั้นอัปปนาสมาธิจะบรรลุได้โดยง่าย เพราะเหตุใด เพราะชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมาก หรือว่ากุศลเกิดมาก นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ก่อนที่จะคิดถึงปฐมฌาน อัปปนาสมาธิขั้นที่ ๑ และสงบขึ้นจนถึงทุติยฌาน ฌานที่ ๒ – ๓ – ๔ เป็นลำดับไป จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในชีวิตประจำวันมีปัจจัยที่สะสมมาที่อกุศลจะเกิดมากกว่ากุศล มีท่านผู้ใดที่กุศลธรรมเกิดมากกว่าอกุศลธรรมบ้างไหม ตามความเป็นจริง และเวลาที่กุศลธรรมเกิด มีท่านผู้ใดที่สังเกต เป็นปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้นสงบ

    ในขณะที่ให้ทาน สงบจากโลภะ โทสะ โมหะชั่วขณะเล็กน้อย ในขณะที่ วิรัติทุจริต ก็เป็นความสงบ เพราะปราศจากโลภะ โทสะ โมหะชั่วขณะเล็กน้อย แต่ว่าในขณะนั้นๆ มีใครที่สติเกิดระลึก และก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความสงบที่เป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ใคร่จะสงบมากๆ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของความสงบแต่ละขณะที่เป็นกุศล ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะให้ความสงบนั้นมั่นคงขึ้น

    แต่ผู้ที่จะอบรมความสงบ ต้องเป็นผู้ที่ระลึกได้ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของความสงบที่เกิด จิตจึงจะสงบขึ้น แม้ในขณะที่ให้ทานก็มีความสงบเพิ่มขึ้น ในขณะที่วิรัติทุจริต เพราะรู้ลักษณะของความสงบ เพราะสติเกิดจึงรู้ว่า ขณะนั้นสงบ จึงจะสงบขึ้น แม้ในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของจิตที่สงบในขณะนั้น ย่อมสงบขึ้น เพราะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และรู้ลักษณะของจิตที่สงบ จึงมีความนอบน้อมขึ้นและสงบขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการที่จะสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ หรือว่าอัปปนาสมาธินั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะบรรลุได้โดยง่าย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการ จดจ้องที่จะให้เป็นสมาธิและก็เข้าใจว่า ขณะที่มีความต้องการให้จิตจดจ้องเป็นสมาธินั้น เป็นความสงบ นี่เป็นความต่างกัน เพราะผู้ที่จะสงบยิ่งขึ้น จะเริ่มรู้องค์ของฌาน คือ ลักษณะที่ตรึกถึงความสงบ หรือว่าอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ และขณะนั้นก็จะมี องค์อื่นๆ ประกอบด้วย คือ วิจาร การประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ซึ่งในขณะนั้นจะเกิดความสงบพร้อมด้วยปีติ ความปลาบปลื้มใจในสภาพของจิตที่สงบ พร้อมด้วยสุขเวทนา และเอกัคคตาซึ่งเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเพิ่มขึ้น จนกระทั่งความสงบนั้นปรากฏมีกำลังเป็นอุปจารสมาธิ ซึ่งผู้นั้นเองจะรู้ลักษณะของความสงบที่ค่อยๆ สงบขึ้น ประกอบพร้อมด้วยองค์ของฌาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะนั้นจะไม่มีเจตสิกอื่นๆ แต่เจตสิกอื่นๆ จะไม่ปรากฏความเป็นองค์ของความสงบ เพราะความสงบที่จะเกิดขึ้น มั่นคงขึ้นนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

    และเวลาสงบมั่นคงขึ้นจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตนั้น จิตจะเป็นอัปปนาสมาธิ คือ ปฐมฌาน จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ที่มีกำลังเพียงชั่วขณะจิตเดียว แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏชัดแนบแน่นในอารมณ์ จนกระทั่งเห็นความต่างกันว่า ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิแม้เพียงชั่วขณะจิตเดียวนั้น ก็ต่างกับขณะที่เป็นเพียง อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ใกล้ต่อการที่จะเป็นฌานจิต นี่เป็นความต่างกันของ อุปจารสมาธิความสงบขั้นที่ยังไม่ใช่ปฐมฌาน กับขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ แม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว แต่เพราะเป็นอารมณ์ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแนบแน่น สงบมั่นคงจริงๆ จึงปรากฏลักษณะให้รู้ว่า ต่างกับขณะที่เป็นเพียงอุปจารสมาธิ

    ในขณะนั้น เมื่อฌานจิตดับไปแล้ว จะมีปัจจเวกขณะ คือ การรำพึงถึงหรือพิจารณาในลักษณะของฌานจิตที่ประกอบด้วยองค์ ๕ และเห็นความต่างกันของวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ซึ่งในขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความต่างกันเลยของวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก เพราะจิตไม่ได้สงบจนกระทั่งมั่นคงมีกำลังถึงขั้นอัปปนา ที่จะประกอบด้วยองค์ ๕ ที่ต่างกัน ที่ทำให้ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะของ องค์ฌานทั้ง ๕ นั้น ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุถึงแม้เพียงปฐมฌาน หรืออัปปนาสมาธิ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นการบรรลุที่ยาก ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้จิตบรรลุถึงปฐมฌาน แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศล ทุกประการ ทั้งขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นความสงบของจิต ซึ่งเป็นการอบรมเจริญ สมถภาวนาในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าขณะใดกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในพุทธานุสสติ หรือธัมมานุสสติ หรืออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่จิตสงบในขณะนั้น ก็เป็นกุศลที่ควรเจริญ แต่ว่าสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ ไม่ยึดถือสภาพนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน มิฉะนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะบรรลุถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานซึ่งเป็นฌานจิตขั้นสูงที่สุด เป็นอรูปฌานขั้นสูง ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ปฐมฌาน คือ อัปปนาสมาธิ ที่จิตแนบแน่นในอารมณ์ ซึ่งในการบรรลุครั้งแรกนั้น จะเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว แต่ก็ประกอบด้วยองค์ ๕ ที่มีกำลัง ทำให้รู้ชัดในความต่างกันขององค์ฌาน ๕ องค์ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต อนุปุพพนิโรธสูตร ข้อ ๒๓๕ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของฌานจิต ตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความยากของการที่จะบรรลุความสงบถึงขั้น อัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต

    ใน วิหารสูตร พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ ได้แก่ ปฐมฌานที่ ๑ ทุติยฌานที่ ๒ ตติยฌานที่ ๓ ... จนถึงอรูปฌาน และสัญญาเวทยิตนิโรธตามลำดับ ซึ่งสำหรับผู้ที่สามารถจะบรรลุและอยู่ได้

    แต่ใน อนุปุพพนิโรธสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพนิโรธ คือ ความดับตามลำดับ ๙ ประการ เป็นเรื่องของการดับด้วยกำลังของความสงบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนุปุพพนิโรธ ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ อามิสสัญญาของผู้เข้าปฐมฌานย่อมดับไป ๑ ...

    จุดประสงค์ของการที่จะอบรมเจริญความสงบ ผู้นั้นต้องเห็นโทษของกิเลส อามิสสัญญา คือ ความจำในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ซึ่งทุกคนกำลังมีอามิสสัญญา หรือกามสัญญาอยู่ ขณะนี้กำลังจำสิ่งที่เห็นทางตา กำลังจำเสียงที่ได้ยินทางหู ถึงแม้จะไม่ได้เห็นแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ยินแล้ว อามิสสัญญาหรือกามสัญญา ก็ยังมี ไม่ว่าจะนึกคิดเกิดขึ้นขณะใด ไม่พ้นไปจากการนึกคิดเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เห็นโทษไหมว่า ในวันหนึ่งๆ ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากอามิสสัญญาหรือกามสัญญาได้เลย ซึ่งถ้าไม่เห็นโทษ ก็จะไม่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งสามารถที่จะดับอามิสสัญญาหรือกามสัญญาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องเข้าใจเรื่องของความสงบจริงๆ ว่า ทำไมจึงจะเจริญความสงบ ถ้าไม่เห็นโทษของแม้ความจำในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็จะไม่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงปฐมฌาน แต่เพราะเห็นโทษ จึงเพียรที่จะเจริญกุศล อบรมเจริญความสงบที่จะไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้โผฏฐัพพะ ซึ่งในขณะที่จิตเป็นความสงบ มั่นคงแนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน ในขณะนั้นดับอามิสสัญญาหรือ กามสัญญา ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเช่นในขณะนี้ที่ไม่ใช่ปฐมฌาน

    นี่เป็นเรื่องดับ ดับสัญญา ดับความจำ เพราะถ้ายังมีการระลึกถึงแม้ด้วยสัญญาที่จดจำในความสุขที่ได้รับขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นโรค เป็นทุกข์ เป็นอาพาธ ที่เบียดเบียนความสงบที่มั่นคง ที่เป็นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นปฐมฌาน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่จะอบรมเจริญความสงบจริงๆ จุดประสงค์ต้องไม่ให้มีแม้ความจำในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดับยาก แต่ดับได้ถ้าบรรลุถึงปฐมฌานจริงๆ

    สำหรับอนุปุพพนิโรธที่ดับประการต่อไป คือ วิตกวิจารของผู้ที่เข้าทุติยฌานย่อมดับไป

    ในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องของฌานจิตมาก ซึ่งท่านผู้ฟังที่ยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดอาจจะเข้าใจว่า สามารถที่จะบรรลุได้โดยง่าย แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า แม้แต่เพียงการบรรลุฌานแต่ละขั้นนั้นก็ยาก และเมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว ผู้ที่จะบรรลุถึงความสงบที่มั่นคงขึ้นเป็นทุติยฌาน คือ ฌานจิตขั้นที่ ๒ ก็จะต้องเห็นโทษของวิตกและวิจารที่ว่า ถึงแม้ว่ายังมีวิตกวิจารที่ตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เป็นปฐมฌานอยู่ ก็ยังเป็นโทษ เพราะตราบใดที่วิตกวิจารมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ก็ยังใกล้เคียงต่อการที่จะวิตกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎก จะพบข้อความอย่างนี้มาก แม้แต่บางท่านที่ท่านจะเจริญวิปัสสนา ท่านก็คิดว่าจะเจริญอานาปานสติ เพราะมีข้อความกล่าวไว้ให้ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ และต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องของปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง จนท่านเข้าใจว่า ถ้าไม่บรรลุถึงฌานจิตก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็เข้าใจว่า การที่จะอบรมเจริญปัญญา ต้องอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งบรรลุฌานจิตก่อน

    แต่ถ้าท่านผู้ฟังทราบความต่างกันของการอบรมเจริญความสงบ กับการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นได้ว่า การที่จะบรรลุฌานจิตนั้นยาก เพราะว่าผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่บรรลุฌานจิตนั้น มีมากกว่า

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุปฐมฌานจริงๆ รู้ลักษณะของวิตกวิจารจริงๆ เห็นโทษของวิตกวิจารจริงๆ จึงจะอบรมความสงบมั่นคงขึ้น โดยระลึกถึงอารมณ์และมีสมาธิที่มั่นคงที่ปราศจากวิตกวิจาร จนกระทั่งสามารถที่จะถึงอัปปนาสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยวิตกวิจารได้ นี่คือการบรรลุถึงฌานจิตขั้นต่อไปซึ่งเป็นขั้นที่ ๒ เป็นทุติยฌาน

    ในขณะนี้ มีใครที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของวิตกกับวิจารบ้างไหม

    ถ. วิตกเจตสิก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ขณะที่เพียรประพฤติปฏิบัติและสำหรับวิจารเจตสิก ก็เป็นการเคล้าคลึงในอารมณ์ คือ ตรวจสอบ ไตร่ตรอง ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น ใช่ไหม

    สุ. จะเห็นได้ว่า การที่จะใช้คำที่แสดงลักษณะของสภาพธรรม เป็นการยากสักแค่ไหน ถ้าเป็นภาษาบาลี และเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมสามารถที่จะรู้ในลักษณะซึ่งยากแก่การที่จะใช้คำอธิบายให้เข้าใจได้

    แม้แต่คำว่า วิตก ในภาษาไทย พอได้ยินคำว่า วิตก ทุกคนก็คิดว่า น่าเป็นห่วงแล้วใช่ไหม มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง ทุกข์ร้อน กังวล เป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องทุกข์ต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำว่า วิตกเจตสิก เพราะลักษณะของวิตกเจตสิก ไม่ใช่ลักษณะที่ตรึกเป็นเรื่องทุกข์ร้อนอะไร แต่เป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ เพราะฉะนั้น การที่จะใช้คำที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยการพิจารณา การฟัง และการไตร่ตรอง

    พอถึงวิจาร ก็อีก เป็นสภาพของเจตสิกที่ไม่ใช่วิตกเจตสิก แต่เป็นวิจารเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับวิตกเจตสิก แต่ว่ามีกิจการงานและมีลักษณะต่างกัน คือ วิตกเป็นสภาพที่จรด แต่วิจารเป็นสภาพที่ตามประคอง หรือว่ารู้ในอารมณ์ที่ วิตกเจตสิกจรด เพราะฉะนั้น ในที่ใดมีวิตกเจตสิก ขณะนั้นมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าทำกิจต่างกัน และก็ยากที่จะรู้ได้ในลักษณะของวิตกและวิจารซึ่งเกิดในขณะนี้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุและผล และลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ว่า แม้เป็นสิ่งที่รู้ยาก แต่สภาพธรรมนั้นมี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564