แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825


    ครั้งที่ ๘๒๕


    ถ. ผมสงสัย ปัจจยาการ ๑๒ ขึ้นต้นด้วย อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย อวิชชา คือ โมหเจตสิก สังขารมี ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ถ้าอวิชชาเป็นปัจจัยให้ อปุญญาภิสังขาร ก็ไม่มีความสงสัย แต่ว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้แก่ปุญญาภิสังขารด้วย แก่อเนญชาภิสังขารด้วย ก็หมายความว่า คนที่ทำบุญก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย คนที่ทำฌานจนกระทั่งถึงปัญจมฌานก็มีอวิชชาเป็นปัจจัย จนกระทั่งถึงอรูปฌานทั้งหมดก็มีอวิชชาเป็นปัจจัย เหตุกับผลคล้ายๆ กับว่าไม่ตรงกัน อวิชชาเป็นของเผ็ดร้อน เป็นของหยาบคาย ผลก็คือเผ็ดร้อนเหมือนกัน แต่ถ้าใครทำบุญ ก็ต้องได้ผลเป็นสุข ถ้าใครทำฌานแล้วไปเกิดในพรหมโลก ก็จะมีผลเป็นสุข เมื่อเป็นอย่างนี้รู้สึกว่า เหตุกับผลคล้ายๆ จะไม่ตรงกัน ขออาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. ขออธิบายตาม อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต นิพพานสูตร ข้อ ๒๓๘ เพราะยากเหลือเกินที่ใครจะเห็นว่า ฌานไม่เป็นสุข ต้องคนที่ดับอวิชชาแล้วจึงจะเห็นว่า แม้ฌานจิตก็ยังเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นและดับไป ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป แม้กาม คือ การได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี ก็เข้าใจว่าเป็นสุข เพราะว่ามีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสที่น่าพอใจ เมื่อได้รับสิ่งที่น่าพอใจ ก็ย่อมเข้าใจว่าเป็นสุข ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ฉันใด เวลาที่ฌานจิตเกิด ก็ย่อมมีความพอใจว่าเป็นสุข ตราบที่ยังไม่เห็นว่า ฌานจิตนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นและก็ดับไป

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต นิพพานสูตร ข้อ ๒๓๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข

    วันนี้มีใครพูดอย่างนี้บ้างหรือยัง หรือว่าอาหารนี้อร่อยจริง รูปก็ดี เสียงก็ดี เวลาที่ได้มาแล้วก็เป็นสุข แต่ว่าท่านพระสารีบุตรไม่ได้กล่าวอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข

    เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่าน พระสารีบุตรว่า

    ดูกร อาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร ฯ

    ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ ในเรื่องของความสุข ที่หลายท่านคิดว่า เมื่อไม่มีเวทนาเกิดขึ้นย่อมจะเป็นสุขไม่ได้ เพราะทุกท่านรู้จักความสุขเฉพาะเวลาที่ สุขเวทนาเกิดขึ้น ถ้าสุขเวทนาหรือว่าเวทนาไม่เกิดเลยจะเป็นสุขได้อย่างไร เมื่อยังไม่ประจักษ์ในลักษณะนั้น ก็ย่อมไม่เห็นว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง

    ได้ยินเสียง กับไม่ได้ยินเสียง อย่างไหนจะเป็นสุขกว่ากัน ถึงจะได้ยินเสียง เสียงนั้นก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็ได้ยินอีก และไม่หมดด้วย เสียงนั้นก็เกิดขึ้นอีก และก็ดับไปอีก วนเวียนที่จะต้องได้ยินเสียงซึ่งเกิดดับอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ต้องได้ยินเสียงเลย ไม่มีการเกิดดับของเสียงปรากฏให้น่ารำคาญ ก็ย่อมจะเป็นสุข เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ว่า การที่จะไม่ต้องรู้สิ่งที่เกิดดับย่อมเป็นสุขกว่า ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งในลักษณะของนิพพาน ถ้าผู้ใดยังไม่ได้รู้แจ้งในลักษณะของนิพพาน เช่น ท่าน พระอุทายี ท่านก็กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า ดูกร อาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร ฯ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร อาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนา นั่นแหละเป็นสุข ดูกร อาวุโส กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล ดูกร อาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่ากามสุข ฯ

    ดูกร อาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม (กาม คือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่า เป็นทุกข์ ดูกร อาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจะพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ

    คนที่ยังไม่ได้บรรลุฌานจิต คือ ความสงบที่มั่นคงขั้นอัปปนาสมาธิ จะไม่เห็นว่า กามสุขนั้นเป็นดังโรค เป็นดังอาพาธ เป็นทุกข์ เพราะมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีความเพลิดเพลิน ไม่มีความคิดที่จะละ แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษจริงๆ และอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งจิตสงบมั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นปฐมฌาน บุคคลนั้นจะทราบได้ว่า เพียงสัญญา คือ ความจำ ที่มนสิการอันสหรคตด้วยกาม เพียงความจำ สัญญา ที่เคยเห็น เคยได้ยินสิ่งต่างๆ และก็จำในสภาพอาการที่เป็นสุขของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ก็เบียดเบียนความสุขของฌานจิต เพราะทำให้จิตไม่สงบมั่นคง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่กำลังเป็นสุขอยู่ในขณะนี้ เป็นกามสุข แต่ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะละกามสุข และอบรมความสงบที่มั่นคงจนถึงปฐมฌานจะรู้ได้ทันทีว่า สัญญา ความจำ ในความสุขในกามนั้น ที่ฟุ้งซ่านเกิดขึ้นนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ เป็นโรค ซึ่งเกิดขึ้นเบียดเบียนความสุขในฌานจิต โดยที่แต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่า เป็นทุกข์ หรือเป็นโรค เป็นดังอาพาธซึ่งเกิดขึ้นเบียดเบียน

    เวลาที่ท่านผู้ฟังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปเที่ยวที่ต่างๆ ก็สนุกดี ได้รับประทานอาหารรสต่างๆ ก็อร่อยดี ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ หรือเป็นโทษเลย ใช่ไหม ต่อเมื่อใดที่มีความสงบเกิดขึ้น พ้นจากความพอใจยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้เพียงสัญญา การจดจำ ระลึกถึงกามสุข ขณะนั้นก็เบียดเบียนความสงบที่มั่นคงแล้ว ซึ่งในขณะนั้นจึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์ แต่ในขณะที่ยังเพลิดเพลินยินดีพอใจอยู่ ไม่เห็นแน่ว่าเป็นทุกข์ มีแต่จะต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เท่าไรๆ ก็ไม่พอ

    ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงผู้ที่บรรลุทุติยฌาน เพราะวิตก วิจารสงบไป

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งจิตตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน ผู้นั้นจะต้องรู้ชัดในลักษณะขององค์ฌานที่ปรากฏ คือ ลักษณะของวิตกซึ่งต่างกับวิจาร ลักษณะของปีติซึ่งต่างกับสุข ซึ่งต่างกับเอกัคคตา และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

    ในขณะนี้ ทันทีที่จักขุวิญญาณ คือ การเห็น ดับไป วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตาทันที เรื่อยๆ ทุกขณะ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญความสงบที่มั่นคง ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นความต่างกันในลักษณะของวิตกเจตสิกและ วิจารเจตสิก ปีติเจตสิกและสุขเวทนาเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็ย่อมไม่เห็นโทษของวิตกวิจารว่า ถ้าตราบใดที่วิตกเจตสิกยังมีปัจจัยที่จะเกิด ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้วิตกเจตสิกนั้นตรึกระลึกถึงกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ถ้าตราบใดที่วิตกวิจารเจตสิกยังเกิดอยู่ในปฐมฌาน ยังไม่ถือว่า เป็นความสงบที่มั่นคง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของวิตกวิจารเจตสิก ก็อบรมความสงบให้มั่นคงขึ้น โดยระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิโดยปราศจากวิตกและวิจารเจตสิก

    เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยปัญญาจริงๆ ซึ่งความรู้ขั้นสมถภาวนาเป็นความรู้ที่ละเอียด และเป็นความรู้ขั้นสูง ต่างกับวิปัสสนาภาวนาตรงที่ไม่ได้ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะแม้วิตกจะปรากฏ ก็ยังเป็นเรา ยังไม่ใช่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถึงแม้วิจาร หรือปีติ หรือสุขเวทนา หรือเอกัคคตาจะปรากฏ ก็ยังไม่เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แต่เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า วิตกเจตสิก สภาพของการตรึก สภาพของวิตกเจตสิกนั้น ไม่ใช่วิจาร ไม่ใช่ปีติ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่เอกัคคตา จึงเห็นโทษขององค์ของฌานแต่ละขั้นว่า ตราบใดที่ยังมีองค์ฌานขั้นต้นอยู่ย่อมเป็นทุกข์ เป็นอาพาธ ย่อมเบียดเบียนผู้ที่กำลังสงบนั้นให้เป็นทุกข์ได้ดุจโรคภัย

    ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงภิกษุผู้บรรลุตติยฌานว่า สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยปีติย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ถึงแม้ว่าจะบรรลุถึงฌานจิตขั้นที่ ๓ คือ ตติยฌาน แต่ก็ยังจำได้ มีสัญญา ความจำ ในความสุขที่ประกอบด้วยปีติ เพราะฉะนั้น ก็ยังเห็นว่า ปีตินั้นเป็นดังโรค เป็นดังความทุกข์ เบียดเบียนผู้ที่มีความสุขในขณะนั้น ไม่ให้ความสุขความสงบนั้นตั้งมั่น

    ต่อไปท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงภิกษุผู้บรรลุจตุตถฌาน คือ ถึงแม้ว่าจะละ สุขเวทนาแล้ว มีแต่อุเบกขาเวทนาและเอกัคคตาก็จริง แต่เมื่อยังมีสัญญา ความจำ ในสุขนั้นเกิดขึ้น ความจำในสุขเวทนานั้นก็เป็นดังโรค เป็นดังอาพาธ เป็นความทุกข์ของผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน

    ต่อไปเป็นฌานที่สงบยิ่งขึ้น คือ ถึงขั้นอรูปฌาน

    อรูปฌานขั้นที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน ระลึกถึงอากาศที่ไม่มีที่สุด

    อรูปฌานขั้นที่ ๒ วิญญาณัญจายตนฌาน คือ การที่มีวิญญาณที่ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์

    อรูปฌานขั้นที่ ๓ อากิญจัญญายตนฌาน มีสัญญา ความจำ ในสภาพที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

    จากนั้นท่านพระสารีบุตรก็กล่าวถึงภิกษุผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นที่ ๔ และแม้อย่างนั้น สัญญา ความจำ ที่จะมนสิการ คือพิจารณาถึงสภาพของอากิญจัญญายตนฌาน ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นอาพาธ เปรียบเหมือนทุกข์ที่เกิดขึ้นเบียดเบียนผู้ที่มีความสุขอยู่ ซึ่งท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ... ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่า เป็นความทุกข์ ดูกร อาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกร อาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ยังสงสัยไหม เพราะฉะนั้น นิพพานเท่านั้นที่เป็นสุข อย่างอื่นจะเป็นสุขไม่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอยู่เสมอไม่มีวันจบ ถึงแม้ว่าจะบรรลุฌานขั้นต่างๆ แล้ว ก็ยังไม่ใช่สุข

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้บรรลุฌานจิต ไม่ได้อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จะเห็นว่าสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นทุกข์ได้ไหม หรือว่าไม่ได้ จะต้องไปอบรมเจริญความสงบเป็นฌานจิตเป็นขั้นๆ เสียก่อน ไม่จำเป็น เพราะสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งปัญญาที่รู้ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ย่อมเห็นทุกข์ เพราะ สพฺเพสงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพสงฺขารา ทุกฺขา สภาพของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์

    ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับจริงๆ จะเห็นได้ทันทีว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่รู้จักจบสิ้น ยับยั้งการเกิดขึ้นของสังขารธรรมก็ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป จะไม่ให้ดับไปก็ไม่ได้ จะไม่ให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ สภาพธรรมเมื่อมีเหตุปัจจัยก็ย่อมเกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ ถ้าปัญญาจะเกิด จะต้องเห็นทุกข์ในขณะนี้ พร้อมสติและสัมปชัญญะ

    สำหรับเรื่องนิพพานเท่านั้นที่เป็นสุข ถ้าท่านผู้ฟังไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจในอรรถ ความหมายของนิพพานว่าเป็นสุขได้เลย เพราะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของสังขารธรรมที่เกิดดับ

    แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่หมดความสงสัยในสภาพที่เป็นสุขของนิพพาน ซึ่งใน ขุททกนิกาย อุทาน กาฬิโคธาภัททิยสูตร ข้อ ๖๔ และ ข้อ ๖๕ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ก็สมัยนั้นแล ท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีพระนามว่ากาฬิโคธา อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

    ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นได้พากันปริวิตกว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านพระภัททิยะ ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย ท่านอยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี คงหวนระลึกถึงความสุขในราชสมบัติเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

    ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอจงไปเรียกพระภัททิยะมาตามคำของเราว่า ภัททิยะผู้มีอายุ พระศาสดาตรัสสั่งให้หาท่าน

    ซึ่งภิกษุรูปนั้นก็ทูลรับพระผู้มีพระภาค ได้ไปหาท่านพระภัททิยะ และกล่าวกะท่านว่า พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน

    ท่านพระภัททิยะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระภัททิยะว่า

    ดูกร ภัททิยะ ได้ยินว่า ท่านอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ จริงหรือ

    ท่านพระภัททิยะทูลรับว่า

    จริงพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททิยะ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ฯ

    ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน เสวยสุขใน ราชสมบัติอยู่ ได้มีการรักษาอันพวกราชบุรุษจัดแจงดีแล้ว ทั้งภายในพระราชวัง ทั้งภายนอกพระราชวัง ทั้งภายในพระนคร ทั้งภายนอกพระนคร ทั้งภายในชนบท ทั้งภายนอกชนบท ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นแล เป็นผู้อันราชบุรุษรักษาแล้ว คุ้มครองแล้วอย่างนี้ ยังเป็นผู้กลัว หวาดเสียว ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้เดียว อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เป็นไปอยู่ด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจเนื้ออยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แล อยู่ในป่า ก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ฯ

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    ความกำเริบ (ความโกรธ) ย่อมไม่มีภายในพระอริยบุคคลผู้ก้าวล่วงความเจริญและความเสื่อมมีประการอย่างนั้น เทวดาทั้งหลายย่อมไม่สามารถเพื่อจะเห็น พระอริยบุคคลนั้น ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่มีความโศก ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    จบ มุจลินทวรรคที่ ๒

    สุขจริงๆ ไหมอย่างนั้น กับอย่างนี้ สุขจริงๆ หรือเปล่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564