แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817


    ครั้งที่ ๘๑๗


    เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส จะต้องดับโดยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นลำดับขั้นในขณะนี้ ไม่ใช่กล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน โดยที่ปัญญายังไม่รู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน

    การปฏิบัติ หมายความถึงการอบรมเจริญปัญญา โดยการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า สัมมาสติ

    สุ. สัมมาสติที่เป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ คือ ขณะที่ไม่หลงลืม เพราะระลึก ศึกษา พิจารณา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เข้าใจถูกว่าสภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนั้นจะต้องมีสติ และจะต้องเป็นสัมมาสติ เพราะเป็นความเห็นถูก แต่อาจจะยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ อาจจะเป็นเพียงขั้นคิดหรือเข้าใจว่า ในขณะนี้สภาพที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นสิ่งที่มีจริง ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงสภาพที่กำลังเห็น หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ขณะที่ฟังอย่างนี้ และเข้าใจอย่างนี้ เป็นสัมมาสติ แต่ไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าจะเป็นขณะที่ระลึก ไม่ลืมที่จะน้อมไปรู้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ทางตาฉันใด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ฉันนั้น คือ ไม่หลงลืมไปกับอารมณ์ที่ปรากฏ

    เวลานี้ทางตากำลังเห็น สัมมาสมาธิเกิดพร้อมกับสัมมาสติ คือ ตั้งมั่นในนามธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นสภาพรู้ชั่วขณะหนึ่งที่สติระลึก สัมมาสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ของนามธรรมซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติกำลังระลึก เพราะสัมมาสมาธิของมรรคมีองค์ ๘ ต้องเกิดร่วมกับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘

    สัมมาสมาธิขั้นใดก็จะต้องเกิดร่วมกับกุศลธรรมขั้นนั้น ในขณะที่ฟังเข้าใจ เพียงขั้นการฟัง มีสัมมาสติซึ่งไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ในขณะที่ไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ สัมมาสมาธิก็ต้องไม่ใช่สัมมาสมาธิในขั้นของมรรคมีองค์ ๘ ด้วย แต่ขณะใดที่ระลึกได้ ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็นนี่เป็นสภาพรู้ทางตา ในขณะที่สัมมาสติระลึก ปัญญาสังเกต น้อมไปที่จะรู้ สัมมาสมาธิก็ตั้งมั่นในนามธรรมที่กำลังเป็นอารมณ์ของสติ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นเป็น ขณิกสมาธิเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สังขารขันธ์ปรุงแต่งสัมมาสติให้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป เป็นกิจ หรือเป็นการปฏิบัติธรรมของสัมมาสติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ถ. ใน วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า ปลิโพธใหญ่ๆ ๑๐ ประการ มี อาวาสปลิโพธ เป็นต้น ตั้งแต่ปลิโพธที่ ๑ ไปถึงปลิโพธที่ ๙ เป็นเครื่องกั้นสำหรับ สมถภาวนา แต่ประการที่ ๑๐ คือ อิทธิปลิโพธ ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นของสมถภาวนา แต่ว่าเป็นเครื่องกั้นของวิปัสสนาภาวนา ผมสงสัยว่า ทุกวันนี้ผมกำลังเจริญเมตตาพรหมวิหาร ขณะที่นึกมีความปรารถนาให้สัตว์อื่นมีความสุข ก็นึกในใจว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ขณะที่นึกคิดอย่างนั้น บางครั้งถ้ามีความรู้สึกตัวสังเกตพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีที่เกิดขึ้น ก็เป็นวิปัสสนาไป พิจารณาได้อย่างนี้จริงๆ แต่ทำไมใน วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า เป็นเครื่องกั้นสำหรับวิปัสสนา

    สุ. เจริญถึงขั้นไหน ที่จะเป็นเครื่องกั้น

    ถ. ท่านก็ไม่ได้บอกไว้ว่าถึงขั้นไหนจึงจะเป็นเครื่องกั้น ในเมื่อเป็นเครื่องกั้นแล้ว ก็ต้องกั้นตั้งแต่ต้นไปจนถึงที่สุด ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

    สุ. สภาพธรรมบางขณะก็เป็นกุศลตามเหตุตามปัจจัย เช่น ในขณะที่เกิดความเมตตาต่อบุคคลอื่น แม้ทางมโนกรรม คือ การนึกถึงบุคคลอื่นด้วยเมตตา ขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยังไม่ถึงการที่จะบรรลุถึงอุปจารสมาธิหรือ อัปปนาสมาธิอันหาประมาณมิได้ ถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บางครั้ง มหากุศลจิตก็เกิดขึ้น ระลึกได้เป็นไปในทาน คือ การที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น แต่ว่าทานกุศลก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา บางครั้งก็มีปัจจัยที่จะให้มหากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในศีล และบางครั้งก็มีปัจจัยที่จะให้มหากุศลจิตเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในความสงบ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ใช่การอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งมั่นคงถึง อุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ หรือถึงกับจะทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สติที่อบรมแล้วเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ในขณะนั้นมหากุศลที่เป็นไปในเมตตาไม่ได้เป็นเครื่องกั้น เพราะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน และการที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลที่สูงสุดยิ่งกว่าสังขตธรรมทั้งหลาย เพราะพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงใน ปสาทสูตร ว่า ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ เป็นเลิศ

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ในขณะนั้น ที่สติเกิดขึ้นระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สงบที่เป็นกุศลในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ย่อมดีกว่า เลิศกว่าการที่เพียงจะสงบด้วยการระลึกถึงบุคคลอื่นด้วยเมตตา แต่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนในขณะนั้น ยังสงสัยไหม ต้องการกุศลขั้นไหนใน ๒ ขั้นนี้

    ถ. ก็ต้องการทั้ง ๒ หมายความว่าที่ท่านพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ว่า อิทธิปลิโพธนี้เป็นเครื่องกั้นของวิปัสสนาภาวนา หมายถึงว่าจะต้องเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิจึงเป็นเครื่องกั้น ถ้าไม่ถึงอุปจารสมาธิ ไม่เป็นเครื่องกั้นอย่างนั้นหรือ

    สุ. เครื่องกั้นจริงๆ ได้แก่ โลภะ ความต้องการ ความติดข้อง เพราะบางท่านต้องการสงบ ไม่ต้องการสติปัฏฐาน เป็นไปได้ไหม ลองคิดดู แต่ละท่านย่อมเป็นไปตามการสะสม แม้แต่จะได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้พิจารณา ได้เข้าใจว่า มรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่าสังขตธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบ มรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่า แต่ถึงอย่างนั้นทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ บางท่านที่มีการสะสมมาไม่พอที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็กลับพอใจและต้องการความสงบมากกว่าที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยบางท่านกล่าวว่า จิตที่สงบย่อมดีกว่าจิตที่ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะให้จิตที่สงบนี้เกิดมากๆ ดีกว่าที่จะให้อกุศลจิตเกิดมาก แต่ลืมว่า ถ้าความสงบเกิดมากๆ โดยสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า แม้ความสงบนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะมีประโยชน์อะไร เพราะไม่สามารถที่จะละคลายการที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นคุณของมรรคมีองค์ ๘ จริงๆ ก็อบรมเจริญสติเพื่อที่จะรู้ว่า ไม่ว่าลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การเห็นในขณะนี้เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย การได้ยินเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย โลภมูลจิตจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โทสมูลจิตจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โมหมูลจิตจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย กุศลขั้นใดๆ จะเกิดขึ้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าสติสามารถจะเกิดขึ้นระลึก ศึกษา ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็เป็นจุดประสงค์ที่สูงที่สุดที่สามารถจะดับกิเลสได้

    แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ต้องการแต่เพียงว่า จิตสงบย่อมดีกว่าจิตที่ไม่สงบ จิตอาจจะสงบ แต่ว่าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ว่า แม้ขณะที่สงบนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ยังติด ยังพอใจในความสงบนั้นอยู่ ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาดีๆ ว่า ควรจะอบรมเจริญอะไรเป็นปกติ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจิตจะสงบ สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจิตที่ไม่สงบเกิดขึ้น สติก็สามารถที่จะเกิด ศึกษา รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่ย่อมเป็นเลิศกว่าการที่จะมีเพียง จิตที่สงบ เพราะถึงแม้ว่าจิตสามารถที่จะสงบมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงอรูปฌาน ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ควรจะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานมากกว่าที่จะให้ความต้องการเป็นเครื่องกั้น

    ถ. และที่ว่า จิตสงบย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง

    สุ. จิตสงบต้องเป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศลสงบไม่ได้ และความสงบก็มีหลายขั้น ขณะที่เป็นทานกุศล ก็สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจิตประกอบด้วยโสภณเจตสิกที่ดีงาม แต่ว่าขณะนั้นไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเป็นความสงบที่เป็นไปในความสามารถสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น

    ในขณะที่กุศลจิตที่เป็นศีลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็สงบ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติเกิดขึ้น ที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นสงบ และศึกษา จึงเริ่มที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสงบทั่วๆ ไปที่จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะความสงบย่อมเกิดขึ้นในขณะที่จิตปราศจากอกุศลธรรม คือ ในขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ว่าจะเป็นทานก็สงบ ศีลก็สงบ หรือสมถะ คือ ความสงบทางใจ ก็เป็นความสงบ แต่แม้อย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่านั้นจึงเป็นความสงบของกุศลที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและศึกษา จึงเพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรแล้ว อย่าเพิ่งคิดเอาเอง ควรจะพิจารณาให้รอบคอบ ให้ละเอียดเป็นขั้นๆ ด้วย เพื่อที่จะได้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ความสงบที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้นเป็นขณะไหน ซึ่งย่อมไม่ใช่ขณะที่เป็นสมถภาวนา หรือกุศลขั้นอื่น

    เรื่องของการฟังธรรม เป็นเรื่องฟังเพื่อเข้าใจ นี่เป็นประโยชน์ของการฟัง เพราะว่าหลายท่านอยากจะปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ข้ามที่จะเข้าใจ ฟังเพื่อจะทำ ไม่ต้องการที่จะเข้าใจอะไรเลย ไม่ว่าจะพูด จะอธิบาย จะกล่าวถึงลักษณะของ สภาพธรรมอย่างไร ก็ไม่สนใจที่จะเข้าใจ เพราะต้องการที่จะทำ

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจ การทำอะไรทั้งหมดไม่มีประโยชน์เลย เพราะเมื่อไม่มีความเข้าใจ จะทำถูกต้องได้อย่างไร เพราะฉะนั้น แม้แต่ขั้นต้น บางท่านก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ประโยชน์ของการฟังธรรมนั้นคืออะไร

    ประโยชน์ของการฟังธรรม คือ เพื่อความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดการประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัด ให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ว่า ฟังเพื่อจะทำ โดยไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น ได้ยินคำว่า ความสงบ ยังไม่ทราบเลยว่าลักษณะของความสงบเป็นอย่างไร ก็จะทำความสงบ จะทำได้ไหม

    บางท่านกล่าวว่า อาศัยการศึกษาใน วิสุทธิมรรค ซึ่งใน วิสุทธิมรรค จะมีข้อความที่ละเอียดลึกซึ้งซ่อนอยู่ โดยที่ว่าถ้าเพียงแต่อ่านเท่านั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น ใน วิสุทธิมรรค กล่าวว่า ในการที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ควรจะแสวงหาผู้รู้ซึ่งเป็นผู้ที่บรรลุมรรคผลแล้ว หรือว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในพระไตรปิฎก ถ้าหาไม่ได้ เพียง ๒ ปิฎกก็ยังดี ถ้าไม่สามารถที่จะหาผู้ที่ชำนาญถึง ๒ ปิฎกได้ เพียงปิฎกเดียวก็ยังดี หรือว่าไม่สามารถที่จะหาได้ เพียงพระสุตตันตปิฎก ๕ นิกายก็ได้ หรือถ้าไม่ได้ ก็ลดลงมาจาก ๕ นิกาย เป็น ๔ นิกาย ๓ นิกาย ๒ นิกาย หรือ ๑ นิกาย

    เพราะฉะนั้น เพียงอย่างนี้ บางท่านก็ไม่ทราบจุดประสงค์ว่า ทำไมจึงต้องหา ผู้ที่รู้อย่างนั้น ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่จะเกื้อกูลในการอบรมเจริญ สมถภาวนา แต่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ว่าวิสุทธิมรรคกล่าวถึงอารมณ์ สมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ท่านผู้ฟังก็พยายามเสาะหาอารมณ์นั้น เช่น อาจจะทำกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง และก็จ้องกสิณ โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจลักษณะสภาพของจิตว่า จะต้องประกอบด้วยสัมปชัญญะสมบูรณ์พร้อมสติ และจะต้องเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า ลักษณะที่สงบเป็นอย่างไร ต่างกับลักษณะที่ไม่สงบที่เป็นอกุศลอย่างไร เพราะฉะนั้น เพียงแต่การจ้องที่กสิณ จิตไม่สามารถที่จะสงบได้ เพราะปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะความต่างกันของจิตที่เป็นอกุศลที่ไม่สงบ และจิตที่สงบ

    การศึกษาทั้งหมด เพื่อเข้าใจ เพื่อเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของกุศลทุกขั้น และไม่สับสน ไม่ปะปนกันด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นจิตที่สงบ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. อาจารย์เคยกล่าวว่า ปัญญาจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ผมรู้สึกว่าจะข้ามขั้น คือ ปัญญาขั้นเจริญสติปัฏฐานผมมีก่อน ผมถือว่าปัญญาขั้นนี้สูงกว่าการเจริญสมถภาวนา ส่วนปัญญาที่เจริญสมถภาวนานี้มีมาภายหลัง เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นเจริญสติปัฏฐานมีก่อน ปัญญาขั้นสมถภาวนามีทีหลัง จะแหวกแนวไหม

    สุ. ตามเหตุตามปัจจัย เหตุของการอบรมเจริญสติปัฏฐานมีก่อนใช่ไหม คือ การเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมี เป็นปัจจัยให้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ส่วนความเข้าใจเรื่องสมถภาวนามีภายหลัง เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยภายหลัง การอบรมหรือว่าการที่จิตจะสงบเกิดขึ้นก็ย่อมมีภายหลัง แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา แต่ว่าได้ฟังพระธรรม และบรรลุมรรคผลก็มีมาก ไม่ใช่หมายความว่า ท่านเหล่านั้นจะต้องไปเจริญสมถภาวนากันก่อนเป็นขั้นหนึ่ง และจึงจะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ แล้วแต่เหตุ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๘๑๑ – ๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564