แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806


    ครั้งที่ ๘๐๖


    สำหรับบางท่านในชีวิตประจำวันจริงๆ อาจจะมีความตระหนี่มาก เพราะถึงแม้ว่าจะมีของเหลือ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แต่ด้วยความตระหนี่ก็ยังไม่ให้ใคร ยังเก็บเอาไว้สำหรับที่จะรับประทานต่อไป ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้รับประทาน จนกระทั่งในที่สุดก็ต้องทิ้งไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เมื่อตัวท่านได้บริโภคอิ่มหนำ มีความสุขสำราญใจแล้ว ก็คิดถึงคนอื่นต่อไป และบางท่านก่อนที่จะบริโภคก็ยังสละ คือ แบ่งปันให้บุคคลอื่น ซึ่งก็เป็นผู้ที่สะสมมาในการที่จะมีความโอบอ้อมอารีและมีเมตตาต่อบุคคลอื่น แต่สำหรับบางท่าน ถ้ายังไม่ได้รับประทานก็ยังไม่ให้ เพราะฉะนั้น ก็รับประทานก่อน ถ้าเหลือจึงให้ สำหรับบางท่านถึงแม้ว่าบริโภคแล้ว เหลือแล้ว ก็ยังไม่ให้ เพราะอะไร นี่เป็นชีวิตตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ผู้นั้นต้องเห็นภัยเห็นโทษของกิเลส แม้เพียงเล็กน้อย ถ้ากิเลสยังไม่ปรากฏโดยการล่วงศีลเป็นทุจริต ท่านจะเห็นโทษไหม ขณะนี้กิเลสมีไหม โลภะหรือโทสะแม้เพียงเล็กน้อย มานะ ความสำคัญตน ความถือตน ถ้าขณะใดที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา จะมีใครเห็นโทษบ้าง จะมีใครรู้ว่า ในขณะที่เห็นแล้วเกิดความยินดีพอใจนั่นเป็นโทษ เพราะเป็นอกุศลที่จะต้องสะสมสืบต่อไปในจิต และเมื่อเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน นานๆ ก็จะมีสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ ไม่ลืม น้อมไปที่จะศึกษารู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่าระลึกรู้ที่ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ลักษณะสภาพธรรมที่เห็น ลักษณะสภาพธรรมที่ได้ยิน เป็นต้น ในวันหนึ่งๆ เมื่อเทียบกับอกุศลแล้วก็จะเห็นได้ว่า น้อยกว่ามาก เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมสะสมเจริญ สติปัฏฐาน เจริญปัญญาจนกว่าจะมีกำลังจริงๆ

    ในชีวิตของแต่ละท่าน แม้ในชาติที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า การสะสมที่แต่ละท่านสะสมมาก็ยังจำแนกให้แต่ละท่านต่างกันไปทั้งในผล ซึ่งเกิดจากกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ปรากฏความต่างกันทั้งรูปร่าง ผิวพรรณ ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือแม้แต่เวลาที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็ยังมีความต่างกัน

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อัสสสูตรที่ ๑ ข้อ ๕๘๐ และ อัสสสูตรที่ ๒ ข้อ ๕๘๑ มีข้อความโดยนัยเดียวกันที่กล่าวถึงคำอุปมาเปรียบเทียบบุคคล ๓ จำพวกมีเนื้อความว่า

    บุคคลจำพวกที่ ๑ อุปมาเหมือนม้าดีที่วิ่งเร็วและสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ คือ ฝีเท้าก็ดี รูปร่างลักษณะสีก็ดี และยังสมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ เปรียบได้กับบุคคลที่รู้อริยสัจ ๔ สมบูรณ์ด้วยสี คือ เมื่อถูกถามปัญหาอภิธรรมหรือ อภิวินัย ก็สามารถที่จะตอบได้แจ่มแจ้ง นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัจจัย คือ ลาภ จีวร บิณฑบาต ยศ เปรียบได้กับม้าที่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่

    สำหรับม้านั้นก็เป็นทั้งม้าดี ฝีเท้าเร็ว สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ ถ้าเป็นบุคคลก็สะสมมาดี เป็นผู้ที่รู้อริยสัจ ๔ และสามารถที่จะตอบปัญหาอภิธรรม อภิวินัยได้แจ่มแจ้ง พร้อมกันนั้นก็สมบูรณ์ด้วยปัจจัย คือ ทั้งลาภ จีวร บิณฑบาต ยศ นี่ก็เป็นจำพวกหนึ่ง

    สำหรับบางท่าน อุปมาเหมือนกับม้าบางตัวที่วิ่งเร็ว ฝีเท้าดี คือ เป็นผู้ที่สามารถรู้อริยสัจ ๔ ได้ แต่ว่าไม่สมบูรณ์ด้วยสี คือ ไม่สามารถที่จะตอบปัญหาอภิธรรม อภิวินัยแจ่มแจ้งได้ และไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ คือ ไม่สมบูรณ์ด้วยลาภ จีวร บิณฑบาต ยศ และปัจจัยต่างๆ

    สำหรับบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง อุปมาเหมือนกับม้าฝีเท้าดีที่วิ่งเร็ว คือ เป็นผู้ที่สามารถรู้อริยสัจ ๔ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสี คือ มีปัญญาสามารถที่จะทำความแจ่มแจ้งเมื่อถูกถามปัญหาอภิธรรมและอภิวินัย แต่ว่าไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ คือ เป็นผู้ที่ไม่สมบูรณ์ด้วยปัจจัย ลาภ จีวร บิณฑบาต ยศ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความละเอียดของการสะสมของแต่ละท่านที่จำแนกให้เป็นบุคคลที่ต่างกัน แม้ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม และภายหลังที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว

    แต่ว่าสำหรับแต่ละท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ควรจะประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ควรจะเห็นว่าอกุศลธรรมแต่ละขณะนั้นเล็กน้อย ไม่เป็นไร แต่ควรที่จะขัดเกลา ระงับ ขจัดอกุศลธรรมเหล่านั้นโดยเห็นโทษเสียก่อน เพราะฉะนั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาที่ว่า ท่านเห็นโทษของอกุศลมากน้อยเพียงไร อย่าเพียงแต่เห็นโทษของอกุศลที่ถึงขั้นที่จะล่วงทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา แต่แม้ว่าไม่ใช่อกุศลที่แรงจนถึงกับล่วงทุจริตกรรม ก็ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรขจัดให้เบาบางด้วย

    ใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ โคปกโมคคัลลานสูตร มีตัวอย่างของผู้ที่สะสมอกุศลมามาก และไม่เห็นโทษของอกุศล แม้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ข้อความมีว่า

    ได้ยินว่า วันหนึ่งท่านวัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธนั้น เห็นพระมหากัจจายนเถระลงจากเขาคิชฌกูฏ จึงกล่าวคำหยาบประมาทหมิ่นว่าบรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร

    ใครๆ ก็อาจจะคิดนึกอย่างนี้ได้ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่พูดโดยขาดสติ ขาดความระวัง ขาดความเคารพ ผู้พูดในขณะนั้นไม่รู้สึกตัวเลย เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลายละเอียดและมีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เป็นเพียงขั้นความคิด หรือว่าเป็นทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เพราะขาดสติ จึงสามารถที่จะกล่าวคำหยาบประมาทหมิ่น พระเถระว่า บรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร

    เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม ยังไม่ถึงกับพูด หรือว่าบางครั้งก็เคยพูดเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช่ถ้อยคำอย่างเดียวกัน อาจจะดูหมิ่นในเรื่องอื่นก็ได้ ถ้าสติไม่เกิดจะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น คือ เห็นว่าบรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร แต่ในขณะนั้นอกุศลของตนเองที่คิดอย่างนั้นไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้น การสะสมอกุศลก็ย่อมเป็นไปอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นขณะเห็น ขณะได้ยิน ซึ่งอาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจาขณะใดก็ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับคำนั้นแล้ว ตรัสให้พราหมณ์ขอขมาโทษเสีย ข้อนั้น

    เป็นการดี ถ้าไม่ขอขมาโทษ เมื่อจุติจากชาตินี้แล้ว เขาจักเกิดเป็นลิงเที่ยวอยู่ใน พระเวฬุวันป่าไม้ไผ่นี้

    วัสสการพราหมณ์นั้นฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า ธรรมดาพระดำรัสของ พระสมณโคดมไม่เป็นสอง ภายหลังเมื่อเวลาเราเป็นลิงจักได้มีที่เที่ยวหากิน จึงปลูกต้นไม้นานาชนิดในพระเวฬุวัน แล้วให้การอารักขา กาลต่อมาวัสสการพราหมณ์ถึงอสัญกรรมแล้วเกิดเป็นลิง เมื่อใครพูดว่า วัสสการพราหมณ์ ก็ได้มายืนอยู่ใกล้ๆ

    ทั้งๆ ที่วัสสการพราหมณ์ไม่ใช่คนที่ไม่ฉลาด เป็นถึงมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ เคยได้เฝ้าฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเสมอ และรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสคำนั้นจะไม่เป็นสอง คือ ที่จะไม่เป็นไปอย่างที่ทรงพยากรณ์นั้น ไม่มี แต่ด้วยมานะอย่างแรงกล้าที่ถือว่าตัวเป็นผู้ใหญ่จึงไม่ยอมขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ นี่ก็เป็นไปได้ เมื่อเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะประมาทแต่ละขณะที่สะสมอกุศลว่า ถ้าสะสมไว้มากๆ ทิฏฐิก็แรง มานะก็กล้า อกุศลธรรมทั้งหลายก็มีกำลัง จนกระทั่งกุศลไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

    เมื่อวัสสการพราหมณ์ไม่ยอมขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ ก็ให้ผู้คนปลูกต้นไม้ที่มีผลไว้ต่างๆ ชนิดในเวฬุวัน ป่าไม้ไผ่ และให้คนดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ผลเหล่านั้นอย่างดี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดเป็นลิงอยู่ในป่าไม้ไผ่จริงดังพระพุทธฎีกา เวลาที่ใครเรียกชื่อ วัสสการะ ลิงวัสสการะนั้นก็เข้ามายืนอยู่ใกล้ๆ

    หมดโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาตลอดชาติที่ไม่ได้เกิดในสุคติภูมิ แต่ทั้งๆ อย่างนั้นก็ยังยอม เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นบุคคลที่สะสมอกุศลมาน้อยกว่าวัสสการพราหมณ์ ก็อาจจะขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ แต่สำหรับบุคคลที่สะสมมาอย่างวัสสการพราหมณ์ ไม่สามารถที่จะทำได้ แม้พระผู้มีพระภาคตรัสซึ่งเป็นผู้ที่วัสสการพราหมณ์ก็เคารพ เลื่อมใส นับถืออย่างที่สุด แต่ว่าอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอย่างไร ก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญกุศล เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลย เพราะมีข้อความที่ทรงแสดงไว้ใน คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓ ข้อ ๒๓ ว่า

    สัตว์ไปสวรรค์ได้น้อย ดุจนกพ้นจากข่าย

    เวลานี้นกทั้งหลายติดอยู่ในข่ายของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้ามีมากก็เป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญกุศลไปสวรรค์ได้จึงมีน้อย ดุจนกพ้นจากข่าย

    แม้ว่ายังไม่พ้นจากการติดการข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ยังเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล ก็อบรมเจริญกุศลทุกประการโดยไม่ประมาทว่า เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย และเวลาที่เห็นโทษภัยของอกุศลก็ไม่ประมาทว่า เป็นโทษภัยของอกุศลเพียงเล็กน้อย

    ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ ข้อ ๑๙ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    ... หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

    หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

    ... บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น]

    บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ฯลฯ

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณา จะเห็นอรรถของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะล่วงทุจริต ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ ไม่วันนี้ก็วันนั้น ไม่เรื่องใหญ่ก็เรื่องเล็ก เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกจึงมีว่า หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่ใช่ว่าจะมีใครไม่ทำเลย แต่ว่า ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น

    โดยมากทุกท่านไม่ทราบว่า ท่านมีฉันทะในอกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลกรรมขั้นแรงที่เป็นทุจริตกรรม ถ้าขณะนั้นเห็นเป็นภัย จะเกิดทุจริตกรรมไม่ได้เลย แต่เพราะหลง และก็ลืม จึงมีฉันทะ ความพอใจ ที่จะกระทำทุจริตกรรมและในขณะที่กระทำทุจริตกรรม มิฉะนั้นแล้วทุจริตกรรมจะเกิดไม่ได้เลย เวลาที่เกิดความโกรธ ท่านก็มีฉันทะ เป็นเจตสิกธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้

    ฉันทะเป็นปกิณณกเจตสิก ซึ่งเกิดกับกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ได้ เวลาที่ท่านโกรธ บางครั้งท่านบอกว่าต้องโกรธ ควรโกรธ ไม่โกรธไม่ได้ สติไม่ได้เกิดขึ้น ปัญญาไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยว่า โทสะเป็นอกุศล ไม่ว่าจะน้อยหรือจะมากก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นท่านเกิดโทสะ และมีฉันทะ คือ ความพอใจที่จะเกิดโทสะขั้นนั้น ก็ไม่เห็นว่าโทสะนั้นเป็นโทษ หรือในขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ ทางตาเห็น เกิดความพอใจ เล็กน้อยเหลือเกิน ยังไม่ได้เป็นทุจริตกรรม แต่อย่าลืมว่า ในขณะที่เพียงเกิดความพอใจ ฉันทะเจตสิกเกิดร่วมกับความยินดีติดข้องในวัตถุนั้น โดยพอใจที่จะมีความติดข้องในวัตถุนั้น ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นภัย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศลขั้นภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบ หรือว่าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ที่ฉลาด หลักแหลมจริงๆ มีปัญญารู้ว่า ถ้าขณะใดที่เห็นแล้วไม่น้อมไปในอารมณ์ที่จะให้เกิดความสงบ ซึ่งเป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดในกัมมัฏฐาน ๔๐ หรือว่าถ้าในขณะนั้นสติไม่ระลึกศึกษาพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลอย่างรวดเร็ว ทันทีที่เห็นกุศลไม่เกิดก็ต้องเป็น โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ไม่มีใครจะไปยับยั้งการสะสมของสภาพธรรมได้ มีฉันทะ ความพอใจเกิดร่วมแล้วถ้าเป็นอกุศล เกิดความยินดีพอใจในอกุศลขั้นนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น

    ซึ่งแต่ละขณะที่สติเกิดจะพิจารณาได้ว่า ท่านยังมีฉันทะ ความพอใจในอกุศลขั้นใดอยู่ ถ้าในอกุศลขั้นทุจริตกรรมก็คงจะกลัว แต่ที่ไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจามีการเห็นโทษบ้างหรือยังว่า ขณะนั้นเป็นการสะสมอกุศลธรรมซึ่งย่อมจะมีกำลังเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ

    เป็นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่า ทีละขณะๆ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่นานเลย ใช่ไหม เพราะว่าสติยังไม่มีกำลังพอที่จะเกิดต่อไปถึงทางใจ และก็ถึงทางหู ถึงทางใจ หรือว่าถึงทางกาย และก็ถึงทางใจ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่สติจะเกิดหรือเปล่า

    เมื่อสติเกิด ระลึกและศึกษาเพื่อที่จะได้เพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแม้ทีละขณะ เหมือนน้ำที่ตกลงทีละหยาด หรือทีละหยด วันหนึ่งก็ต้องเต็มได้ ดังที่ท่านที่ได้อบรมเจริญมาแล้วเป็นกัปๆ ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ด้วยการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แม้เพียง ชั่วขณะเล็กน้อย นั่นก็มีประโยชน์มาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๘๐๑ – ๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564