แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827


    ครั้งที่ ๘๒๗


    เวลาที่ปฐมภวังค์เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ทันทีที่ปฐมภวังคจิตเกิด ในขณะนั้นเอง จิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังคจิต จิตดวงไหนสั่งให้รูปนั้นเกิดขึ้น แต่ว่าธรรมคือจิตเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป จึงมีจิตตชรูปคือรูปซึ่งเกิดเพราะจิต

    ทรงจำแนกไว้ว่า จิตประเภทใดเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น และจิตประเภทใดไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น สำหรับจิตที่ไม่เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้นมีทั้งหมด ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภท ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

    ทวิปัญจวิญญาณ ได้แก่ จิตที่รู้อารมณ์ทางตา ๒ ดวง คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง และจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง ทางหู ๒ ดวง คือ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง และโสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ไม่เป็นปัจจัย เพราะไม่ใช่จิตที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น แต่เวลาที่จักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ในอุปาทขณะของสัมปฏิจฉันนจิตมีจิตตชรูปเกิดพร้อมกันทันที เพราะฉะนั้น จิตไหนสั่ง ขณะไหน

    สำหรับจิตอีก ๔ ดวง ซึ่งไม่เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป คือ อรูปาวจรวิบากจิต ที่ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นผลของการอบรมฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นโทษของรูปว่า เมื่อยังมีรูปอยู่ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสและอกุศลกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบรรลุถึงอรูปฌานกุศล และเวลาที่จะจุติฌานไม่เสื่อม คือ อรูปฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ย่อมเป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิใน อรูปพรหมภูมิ ซึ่งในขณะนั้น ไม่มีรูปใดๆ เกิดพร้อมกับอรูปาวจรวิบากจิตเลย

    นอกจากนั้น จุติจิตของพระอรหันต์ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น แต่จุติจิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ทันทีที่อุปาทขณะของจุติจิตเกิดขึ้น ก็มีจิตตชรูปเกิดพร้อมกัน ขณะนั้นใครสั่ง จุติจิตสั่งให้จิตตชรูปเกิดหรือเปล่าในอุปาทขณะ แต่ทันทีที่จิตเกิด พร้อมกันทันทีรูปก็เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาธรรม เมื่อจะเข้าใจธรรม เมื่อจะรู้ธรรม เมื่อจะศึกษาธรรม ก็ต้องพิจารณาโดยละเอียดให้เข้าใจจริงๆ จึงจะไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้ศึกษาและพิจารณาให้รอบคอบ

    ถ. ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดส่วนใหญ่คิดว่า คำพูด คือ คำสั่ง ไม่ได้รู้ว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงรูป ไม่รู้ว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงปรมัตถธรรมชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าแจงโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีอะไรสั่งอะไรทั้งนั้น แต่ทางโลกเข้าใจคำพูดว่าเป็นคำสั่ง เช่น พูดว่า ไปเอาน้ำมาแก้วหนึ่ง แท้ที่จริงเป็นวาจาที่เปล่งออกไปเป็นคำแต่ละคำๆ และวาจาทั้งหมดนี้รวมกันเข้าถือว่าเป็นคำสั่ง

    สุ. และไปสั่งรูปของคนอื่นด้วยใช่ไหม

    ถ. นั่นซิ แต่ว่า...

    สุ. จะเป็นไปได้อย่างไร

    ถ. ในปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีทั้งนั้น คำสั่งก็ไม่มี แท้ที่จริงเป็นคำพูดเท่านั้นเอง ถ้าไปสอนกับผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ส่วนใหญ่เห็นด้วยทั้งนั้นว่า เป็นคำสั่งจริงๆ และคำสั่งนี้เกิดจากจิต

    สุ. แต่ต้องพิจารณาว่า สั่งรูปอะไร สั่งรูปของใคร สั่งก็สั่งผิดแล้ว ไปสั่งรูปของคนอื่นได้อย่างไร

    ถ. ปัญหาเรื่องจิตสั่งนี้เกิดมาประมาณ ๘ – ๙ ปีแล้ว แต่ถึงกระนั้นเดี๋ยวนี้คนก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้องตามสภาวธรรม ผมเองเป็นคนสนใจฟังธรรมทางวิทยุ และพยายามค้นคว้าจากตำรับตำรา ที่ใช้คำว่า จิตสั่งๆ ท่านบอกว่า เพราะจิตสั่งให้เหยียดแขนไป แขนจึงเหยียดออกไป สั่งให้เดิน เท้าก็เดินไป

    สุ. ควรจะได้พิจารณา ที่กล่าวว่า เพราะจิตสั่งแขนจึงได้เหยียดไป จิตมีอาการสั่งอย่างไรแขนจึงได้เหยียด คือ อยากจะเข้าใจ หมายความว่าอย่างไร ที่ว่า จิตสั่งแขนจึงได้เหยียดออกไป

    ถ. เป็นความเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่ความเห็นของผม

    สุ. เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณา ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น ควรจะมีสติระลึกพิจารณาใคร่ครวญว่า หมายความว่าอย่างไร ที่ว่าจิตสั่ง แขนเหยียดออกไป จิตทำอะไร ในขณะที่แขนเหยียดออกไป

    ถ. สำหรับในวงการศึกษาธรรม เราจะต้องเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจิตสั่งรูป รูปเป็นอนารัมมณะ รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อรูปรู้อารมณ์ไม่ได้ จะไปรับคำสั่งจากจิตได้อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นคนส่วนมากก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ

    สุ. เวลาที่ไม่ได้กล่าวถึงธรรมโดยละเอียด บางท่านอาจจะใช้อุปมาที่ทำให้เข้าใจธรรมกว้างๆ แต่ว่าเวลาที่กล่าวถึงธรรมโดยละเอียด ต้องเจาะจงให้ชัดเจนว่า ในขณะไหน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ละเอียด ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ถ้าผู้ใดไม่พิจารณาสภาพธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ผู้นั้นไม่สามารถที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น โดยทั่วไป เวลาที่กล่าวถึงธรรมที่ไม่ใช่ธรรมในขั้นปฏิบัติ ไม่ใช่ธรรมโดยละเอียด ไม่ใช่ธรรมโดยที่จะพิจารณาให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม บางท่านก็อาจจะใช้คำกว้างๆ เช่น จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว แต่ในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องพิจารณาให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องโดยละเอียด เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรม จะได้ประจักษ์แจ้งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะได้ ตามความเป็นจริง

    ถ. ตามความเข้าใจของผมที่ศึกษามากับอาจารย์นานแล้ว เรื่องจิตสั่ง ผมสังเกตดู สมมติว่า ตาเราเห็นอย่างนี้ ถ้าถูกใจมือไม้จะไปเอง หรืออย่างบางคนพอเห็นเขาเงื้อมมือจะตีเรา ไม่เห็นจะต้องรับคำสั่ง แต่ความกลัว พอเห็นเขายกมือจะตี ความกลัว มือเราก็ยกไปเอง ไม่เห็นจะต้องมีอะไรสั่ง หรือว่าเราฟังเสียง เปิดวิทยุฟังเพลง ถ้าถูกใจมือจะเอื้อมไปดัง คือ เกิดโลภะ ความยินดีในเสียงนั้น ก็อยากเปิดให้ดังขึ้น แต่ถ้าเกิดความไม่พอใจ ก็เอื้อมมือไปปิด ผมว่าเกิดเพราะความโลภ อะไรพวกนี้ เจือปนกันอยู่ ไม่มีใครสั่ง

    สุ. ถ้ารู้ว่าจิตสั่ง จะดับกิเลสอะไรได้ เพราะจิตเป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ในขณะนี้กำลังเห็น เป็นนามธรรม เป็นจิต เพราะเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ลักขณาทิจตุกะของจิต คือ วิชานนลกฺขณํ เป็นสภาพที่รู้วิเศษ หรือว่ารู้อารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ปรากฏได้เพราะมีสภาพรู้ที่กำลังเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏ เสียงปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้เสียง เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็โดยที่ว่า ในขณะที่ได้ยินสติระลึกรู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏอย่างหนึ่ง และเสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางอื่น เมื่อรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งนามธรรมและรูปธรรม ความเป็นตัวตนที่ได้ยิน ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงไม่มีในที่นั้น เพราะรู้ว่า แท้ที่จริงที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่ได้ยิน ก็คือสภาพธรรมที่กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏนั่นเอง ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้สั่งอะไร เป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะต้องระลึก ศึกษา พิจารณา รู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้จริงๆ จนกว่าจะประจักษ์ชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมซึ่งรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น ไม่มีช่องว่างที่จะให้เกิดการสั่งขึ้นได้เลย

    ขณะนี้ที่กำลังเห็นทางตา คือ สภาพธรรมที่กำลังรู้ ไม่ได้สั่ง แต่รู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่ได้สั่งอะไร เพราะเสียงปรากฏกับสภาพที่รู้เสียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น สภาพนั้นกำลังรู้เสียง ไม่ได้สั่งอะไร ไม่มีช่องว่างที่จะให้เกิดการสั่ง และถ้าคิดนึกเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นสภาพที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง ชั่วขณะที่กำลังคิดเรื่อง หรือว่ารู้คำ รู้เรื่อง ขณะนั้นไม่ได้สั่งอะไรเลย

    แต่ว่าทุกขณะที่จิตเกิด ถ้าไม่ใช่จิต ๑๔ ดวงนั้น จิตที่เกิดนั้นเองเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้นพร้อมกับจิตในอุปาทขณะทันทีที่จิตเกิด เมื่อรูปธรรมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตแล้ว จิตจะสั่งขณะไหน เพราะจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ว่าจะนึกคิด ก็เป็นขณะที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่สั่ง

    ที่กล่าวว่าจิตสั่ง ก็ยังไม่เข้าใจว่า หมายความถึงตอนไหน ขณะไหน ขณะนี้ กำลังนั่งๆ อย่างนี้ จิตสั่งอย่างไร ขณะที่กำลังเห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตสั่งอย่างไร ขณะที่กำลังได้ยินเสียง กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ จิตสั่งอย่างไร เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้เสียงที่ปรากฏ ทางตา จิตก็กำลังเป็นสภาพที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางใจที่ คิดนึก จิตก็เป็นสภาพที่รู้คำ รู้เรื่องที่กำลังคิดนึก

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพรู้นี่ต่างหาก จึงจะดับกิเลสที่ยึดถือสภาพรู้ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึกว่า เป็นตัวตน เพราะรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด

    ท่านผู้ฟังฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป ฟังธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม พิจารณาเรื่องลักษณะของสติและการอบรมเจริญปัญญา ตลอดชาตินี้ หรือในอดีตชาติ หรือต่อๆ ไปในอนาคตอีกกี่ชาติก็ตามแต่ จุดประสงค์ คือ เพียงเพื่อจะรู้ชัดจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในอรรถของคำว่า สภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ไหนก็ตาม ภพไหนก็ตาม เป็นการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะตามความเป็นจริง

    เพราะนั้น เวลาฟังธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ก็หมายความว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ให้รู้ ให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นลักษณะของนามธรรมและลักษณะของรูปธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะได้พิจารณาธรรมที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล รู้ลักษณะของสติ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อสติจะได้เกิดขึ้นระลึก ศึกษา รู้ชัดขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าสภาพของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ขณะที่กำลังฟังนี้ ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมให้เข้าใจก่อน เพื่อที่ว่าเวลาที่สติเกิด จะได้ระลึกศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามที่ได้ฟังแล้วเข้าใจในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังไม่ประจักษ์ อย่าลืม จะต้องอบรมเจริญสติ เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ และความรู้เพิ่มขึ้นตรงลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้น ไม่ใช่สภาพสั่ง อย่าเข้าใจผิด เพราะถ้าเข้าใจผิดคิดว่าสั่ง จะละกิเลสอะไร เพราะไม่รู้ชัดในลักษณะสภาพของนามธรรม ซึ่งเป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นขณะใดก็เป็นธาตุรู้ อาการรู้ และก็ดับไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    ที่พระอริยสาวกท่านอบรมเจริญบารมีในอดีตด้วยการฟัง ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยไม่ใช่ขั้นเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม แต่ว่าเป็นขั้นที่ประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง ขณะที่สติเกิดและน้อมศึกษาที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่เป็นการอบรมเจริญความรู้ขึ้นในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง แต่ถ้าเข้าใจผิดตั้งแต่ตอนต้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เพราะไปเข้าใจว่า เป็นสั่ง เป็นสภาพที่สั่ง

    อย่าลืม ขณะนี้ไม่ได้สั่ง แต่กำลังเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังได้ยิน ไม่ใช่สั่ง ในขณะที่ได้ยิน กำลังเป็นสภาพรู้เสียง เสียงจึงปรากฏแก่สภาพที่รู้เสียง ถ้ารู้ชัดอย่างนี้จริงๆ จะไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในขณะที่ได้ยิน เป็นเพียงชั่วขณะที่กำลังรู้เสียง ตัวตนจะอยู่ที่ไหนในขณะนั้น เพราะรู้เสียงและก็ดับไป ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สีที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ขณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564