แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797


    ครั้งที่ ๗๙๗


    สุ. ด้วยเหตุที่สภาพธรรมทุกอย่างย่อมต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่ออนุสัยกิเลสเป็นอกุศลธรรมที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทมีประจำอยู่ในจิตของทุกคน นอนเนื่องอยู่ในจิต แม้ว่ายังไม่เกิดขึ้นปรากฏก็ตาม แต่ก็เป็นปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้ ด้วยเหตุนี้ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ฝัน ไม่คิดอะไร ไม่เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตในขณะนั้น แต่ทันทีที่ตื่น อนุสัยกิเลสที่ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความยินดีในสิ่งที่เห็นและในการเห็น ในเสียงที่ได้ยินและในการได้ยิน ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ฌาน ก็ไม่หมายความว่าดับอนุสัยกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะดับกิเลสจริงๆ จึงมีหนทางเดียว แม้ว่าท่านผู้ใดจะได้ฌานสมาบัติ รูปฌานทั้งหมด มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และอรูปฌานอีก ตั้งแต่อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๒ วิญญาณัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ อากิญจัญญายตนฌาน อรูปฌานที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อย่างชำนาญคล่องแคล่ว เป็นวสี สามารถที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ก็ยังมีอนุสัยกิเลสเป็นปัจจัยที่จะให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นในขณะไหนเมื่อไรก็ได้ เพราะเพียงความสงบเท่านั้นไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่พระอนาคามีที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังมีปัจจัยที่ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะเกิดขึ้น

    ถ. ที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นทั้งวันตลอดวัน ผมก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผมหมายถึงว่า ฌานจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้แม้แต่ขณะเดียวสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เห็นโทษของกาม หรือผู้ที่ยังครองเรือนมีสามีอยู่ ไม่น่าจะทำฌานได้

    สุ. เรื่องของการสะสม ท่านผู้ฟังไม่สามารถที่จะรู้เลยว่า แต่ละคนสะสมเหตุปัจจัยของอกุศลธรรมขั้นใดและกุศลธรรมขั้นใด นอกจากพระผู้มีพระภาคที่ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น บางคนบางท่านอาจจะคิดไม่ถึงเลยว่า บุคคลนี้มีเหตุปัจจัยที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์เจ้าสรกานิว่าเป็นพระโสดาบันบุคคล โดยที่คนอื่นกล่าวว่า ถ้าเจ้าสรกานิจะเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ใครเล่าจะไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะท่านไม่ได้มีอาการปรากฏให้เห็นปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย และการอบรมเจริญความสงบก็เป็นปัญญาที่รู้สภาพของจิตที่สงบและจิตที่ไม่สงบว่าต่างกัน จึงจะอบรมให้สงบขึ้นจนกระทั่งถึง ฌานจิตได้

    และชีวิตของอุบาสิกาทั้ง ๒ ท่านผู้ฟังก็ไม่ได้ทราบโดยละเอียดว่า ท่านมีโอกาสมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ความสงบที่ท่านสะสมมานั้นจะสามารถบรรลุฌานจิตได้เมื่อไร เพราะสำหรับบุคคลที่ได้เคยเจริญฌานมาในอดีตชาติอย่างชำนาญคล่องแคล่วหลายๆ ชาติ ย่อมมีปัจจัยที่จะให้จิตสงบถึงอุปจารสมาธิแม้เพียงเห็นดิน โดยที่ไม่ต้องใช้ ปฐวีกสิณเป็นเครื่องเตือนหรือบริกรรมให้ระลึกถึงดิน จิตของท่านก็สามารถที่จะถึงแม้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิได้ เพราะท่านเคยอบรมเจริญมาในอดีต เพราะฉะนั้น พระนางสามาวดีก็ดี หรือว่าอุตตราอุบาสิกาก็ดี เวลาที่ท่านเห็นสิ่งต่างๆ จิตของท่านจะน้อมไปและสงบอย่างมั่นคง เพราะท่านได้สะสมปัจจัยมาที่จะถึงความสงบที่มั่นคง ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้

    ถ. ท่านสรกานิก็น่าสงสัย ถึงแม้สมัยนี้ก็ยังสงสัย ก็ท่านขี้เมา เมาเช้า เมาเย็น ฟังพระธรรมนิดเดียว บอกว่าเป็นพระโสดาบัน อย่างนี้ใครๆ ก็สงสัยกันทั้งนั้น และที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่ได้ฌานจิต ก่อนที่จะได้ฌานจิตต้องเห็นโทษของกามเสียก่อน แต่อุบาสิกาทั้งสองยังอยู่ครองเรือน ไม่ได้ออกบวช แสดงว่ายังไม่ได้เห็นโทษของกาม ทำไมท่านจึงมีฌานจิตเกิดได้

    สุ. ท่านเห็น ใช่ไหม มีเห็นธรรมดา ได้ยินธรรมดา เหมือนอย่างคนทั้งหลาย หลังจากที่เห็นแล้ว คนที่ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดน้อมไปในอารมณ์ของสมถะ ก็มีกามฉันทะ ความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น นิวรณธรรมเกิดขึ้นเป็นไปในขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า อกุศลทั้งหมดเป็นนิวรณธรรม ชั่วขณะที่เกิดความยินดีพอใจ ในขณะที่เห็นแล้วพอใจ เป็นกามฉันทนิวรณ์ เพราะไม่ใช่อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แต่เป็นอกุศลจิตที่เกิดในขณะนั้น

    สำหรับพระนางสามาวดีก็ดี อุตตราอุบาสิกาก็ดี ท่านก็เห็นอย่างคนอื่น แต่ปัญญาในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์ที่สงบแทนอกุศลจิตซึ่งเป็นนิวรณธรรม โดยที่คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ในชั่วขณะที่เห็นนี้ใครจะรู้ว่า ปัญญาของใครแทงตลอดถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือว่าประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเข้าใจในลักษณะความเป็นอนัตตาของสติซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้อบรมมาอย่างชัดเจนว่า เป็นปกติ

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญและความยากของวิปัสสนาญาณ หรือว่าการอบรมเจริญวิปัสสนานั้น ก็คือ ปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติอย่างนี้จริงๆ แม้ว่าสภาพธรรมจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเพียงใดก็ตาม แต่สติก็เกิดและรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน นั่นเป็นปัญญาซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย สำหรับสมถภาวนาก็เช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงว่า เป็นปัญญาขั้นที่รู้และเป็นไปในความสงบ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ ผู้ใดสามารถที่จะกระทำ แสดง ย่อมปรากฏเปิดเผยในปัญญาขั้นนั้นของบุคคลนั้นที่กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่ถูกต้อง ที่เป็นจริง แต่ปัญญาล้วนๆ ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เป็นการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงประกาศคุณธรรม คือ ปัญญาของท่านพระสารีบุตร เพราะว่าท่านพระสารีบุตรบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าไม่มีผู้ใดซึ่งเป็นสาวกอื่นที่จะรู้ในปัญญาของท่านพระสารีบุตรได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ถึงปัญญาของท่านพระสารีบุตรได้ จึงมีแต่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ทรงคุณเลิศในทางกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อบุคคลอื่นเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ย่อมอัศจรรย์ในคุณธรรมของท่าน แต่สำหรับท่านพระสารีบุตร ท่านไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นผู้เลิศในการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น ย่อมไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะรู้ถึงปัญญาของท่านพระสารีบุตรได้เลย

    ท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านพระสารีบุตรได้ฌานด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบเลยว่า ท่านได้ฌาน พร้อมด้วยปัญญาที่สามารถรู้สภาพธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต เมื่อจิตน้อมไปสู่การเกิดขึ้นของวิตกเจตสิก ท่านก็รู้ชัดในการเกิดขึ้นของวิตกเจตสิก เมื่อปัญญาของท่านน้อมไปที่จะรู้ความตั้งอยู่ของวิตกเจตสิก ท่านก็รู้ชัดในการตั้งอยู่ของวิตกเจตสิกนั้น เมื่อปัญญาของท่านน้อมไปที่จะรู้ชัดในการดับไปของวิตกเจตสิก ปัญญาของท่านก็รู้ชัดในการดับไปของวิตกเจตสิกนั้น

    ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่จะรู้ได้แทงตลอดได้ด้วยปัญญา ท่านพระสารีบุตรก็มีปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งในบรรดาสาวกทั้งหลาย ไม่มีใครเป็นเลิศกว่าท่านในด้านปัญญา แม้ว่าท่านจะประกอบด้วยฌานสมาบัติ แต่ก็ไม่ใช่ในทางกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะท่านไม่ได้สะสมคุณธรรมที่จะเป็นเลิศในทางกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ และแม้อย่างนั้น ขณะที่จิตท่านสงบถึงอย่างนั้น รู้ความเกิดดับของสภาพธรรมอย่างละเอียดถึงอย่างนั้น ในขณะที่ท่านถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคที่ ถ้ำสุกรขาตา ในขณะที่ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ คนอื่นที่เห็นท่านในขณะนั้นจะทราบไหมว่า ขณะนั้นปัญญาของท่านประกอบด้วยความสงบที่มั่นคงเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ และประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย เป็นปกติธรรมดา

    เพราะฉะนั้น ยังจะสงสัยไหมว่า ในขณะนั้นจะสงบได้อย่างไร จะมั่นคงถึงฌานจิตได้อย่างไร จะประกอบด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมได้อย่างไร แต่นี่คือวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่รู้จริง คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมอะไร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปอย่างรวดเร็ว ปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทต้องสามารถรู้ได้ จึงละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    แม้ในสมัยนี้ ก็ไม่มีใครหวังที่จะมีปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมได้อย่างมากมาย ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าท่านพระสารีบุตร แต่ว่าทางตา ถ้ายังไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เห็นทีไรก็ยังเป็นสัตว์ เป็นบุคคล และจะให้บอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ย่อมเป็นแต่เพียงความคิด ความเข้าใจ หรือคำพูดแต่ปาก เพราะปัญญายังไม่ได้ประจักษ์สภาพของรูปธรรมที่เป็นรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยลักษณะที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ รู้จริงๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นในสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งจะต้องอบรมเจริญจริงๆ จนกว่าจะเริ่มรู้ และรู้ขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    ถ. การเจริญสมถะ ความสงบ เป็นการระงับโลภะ โทสะ ผมพอจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจว่า ระงับโมหะได้อย่างไร เพราะในขณะนั้นไม่ได้ระลึกถึงนามและรูป

    สุ. ต้องทราบถึงขั้นของกิเลสด้วยว่า มีกิเลสขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด สำหรับกิเลสขั้นละเอียดเป็นอนุสัยกิเลส โมหะที่เป็นอนุสัยกิเลส คือ อวิชชานุสัย ขณะใดที่เป็นกุศลจิต โมหเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น โลภเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น โทสเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น และอกุศลเจตสิกอื่นไม่ได้เกิดขึ้น ในขณะนั้นจึงเป็นกุศลจิต แม้ว่าจะยังมีอวิชชานุสัยอยู่ แต่โมหเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล จะมีโมหะเกิดขึ้นกระทำกิจการงานในขณะที่เป็นกุศลไม่ได้ แต่ว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    สำหรับอานิสงส์ของการระลึกถึงศีล แม้ว่าจะไม่ใช่พระอริยบุคคล ผู้ที่เห็นคุณของการรักษาศีลเห็นว่า สำหรับบุคคลที่มีปกติรักษาศีล จิตย่อมสงบ และเมื่อเป็นผู้ที่มีศีล ระลึกถึงศีลของตน ย่อมทำให้จิตผ่องใส สงบจากอกุศลธรรมในขณะนั้นได้ ผู้ที่มีศีลและระลึกถึงศีลของตนบ่อยๆ แทนที่จะให้จิตตกไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยความยินดีพอใจ หรือว่าด้วยอกุศลธรรมอื่นๆ ย่อมเป็นผู้ที่มีความเคารพมั่นคงต่อสิกขา คือ การที่จะประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบท ได้แก่ การศึกษาศีล หรือรักษาศีล และเป็นผู้ไม่ประมาทในปฏิสันถาร เพราะเป็นการกระทำที่ควรทางกาย ทางวาจา เป็นการกระทำที่เอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่น และจะเป็นผู้ที่พ้นภัยในการติเตียนตนเอง เพราะไม่ได้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต และถ้าละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย คือ แม้แต่อกุศลจิตที่เกิดขึ้นทางใจที่ยังไม่ได้ล่วงเป็นการกระทำ เพราะว่าบางคนอาจจะไม่พูดออกไปทางวาจา แต่คิดที่จะพูดอยู่ในใจได้ ใช่ไหม ถ้าสติเกิดก็รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรเว้น เป็นอกุศลธรรมที่มีกำลังแรงที่ทำให้เกิดแม้แต่ความคิดที่จะพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด หรือว่าไม่ควรกระทำ

    ถ. การเจริญวิปัสสนา มีทั้งกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา ในหมวดของกายานุปัสสนา ยังแบ่งย่อยออกเป็นอานาปา และก็อิริยาบถ สัมปชัญญะ ปฏิกูล ธาตุ สมมติว่า เราจะระลึกในธาตุ ต้องระลึกถึงนามรูปด้วยหรือไม่

    สุ. ทุกอย่าง จะไม่พ้นจากลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธาตุปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีนามธาตุที่กำลังรู้รูปธาตุนั้น ใช่ไหม แต่ปัญญาจะต้องรู้ว่า รูปธาตุที่ปรากฏ เป็นรูปธาตุไม่ใช่นามธาตุ และปัญญาจะต้องรู้ว่า นามธาตุที่รู้รูปธาตุนั้น ไม่ใช่รูปธาตุ

    เพราะฉะนั้น โดยพยัญชนะ สติปัฏฐานทรงจำแนกไว้มาก โดยย่อ คือ เห็นธรรมในธรรม ไม่ใช่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนในธรรม โดยแยก คือ แยกธรรมนั้นเป็นกาย คือ หมวดที่เนื่องกับกาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย แยกธรรมนั้นเป็นเวทนา เวลาที่เป็นการระลึกเป็นไปในความรู้สึกต่างๆ แยกธรรมนั้นเป็นจิต ในหมวดของ จิตตานุปัสสนา เวลาที่ระลึกลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ส่วนที่เหลือทั้งหมดไม่ต้องแยก เพราะว่าเป็นธรรมทั้งนั้น

    ไม่ต้องแยกว่าเป็นหมวดไหน ได้ไหม เวลาที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนที่แข็งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่เห็น ขณะที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นจริงๆ ไม่มีอะไรปรากฏทางตาในแข็ง ไม่มีเสียงปรากฏทางหูในแข็งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของธาตุที่แข็ง เพราะมีลักษณะแข็งปรากฏ เมื่อเป็นจริง ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้นไม่ต้องแยกว่าเป็นหมวดไหน เพราะว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนกำลังปรากฏ แต่ปัญญาที่ยังไม่ได้พิจารณาจนรู้ชัดจึงไม่เห็นว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องใส่ชื่อว่า เป็นกายานุปัสสนา หรือว่าเป็นธัมมานุปัสสนา เพราะในขณะนั้น ชั่วขณะที่แข็งกำลังปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้แข็งในขณะนั้น สติเกิดขึ้นพิจารณารู้ธาตุที่แข็ง เห็นว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และในขณะนั้นก็พิจารณารู้สภาพที่กำลังรู้แข็งว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ไม่ใช่เราที่เคยรู้แข็ง เพราะในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้แข็ง ไม่ใช่รู้เสียง หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ. ล่วงอกุศลกรรมไปโดยไม่มีเจตนา จะถือว่าผิดศีลข้อไหน

    สุ. หมายความว่าอย่างไรที่ว่าไม่มีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนา จะทำได้หรือ ที่ว่าไม่มีเจตนา เผลอไปหรืออย่างไร เดินไปเหยียบมดตายใช่ไหม ไม่ใช่อกุศลเจตนา ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ไม่ใช่อกุศลจิตที่เป็นไปในปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาที่จะทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป

    ที่จะว่าเป็นกรรม ถือเอาเจตนา เจตนาที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ถ้าพูดโดยรวม ก็พูดถึงจิตและเจตสิกทั้งหมดที่เป็นอกุศลธรรม แต่เวลาที่พูดโดยบ่งเฉพาะ ก็หมายเอาเจตนาที่เกิดกับจิตนั้น ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าไม่มีเจตนาจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิตที่เป็นไปในปาณาติบาต เพราะว่าไม่มีเจตนาที่จะฆ่า แต่ต้องแน่ใจว่า ไม่มีจริงๆ ถ้าเผลอไป แต่ก็รู้ว่าทำให้สัตว์ตาย เช่น สัตว์เล็กสัตว์น้อย ยุงมดพวกนี้ ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียดว่า มีเจตนาบ้างไหม ตอนไหน

    แต่ถึงอย่างไรสัตว์ก็จะต้องตายใช่ไหม ตามกรรมของสัตว์ ตามกรรมของตน ไม่มีคนฆ่า อะไรจะตกมาทับตายก็ได้ในเมื่อถึงคราวที่จะตาย เพราะฉะนั้น การตายของสัตว์นั้นไม่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งไม่มีเจตนา

    กรรม ต้องเป็นเจตนาของบุคคลนั้น ถ้าไม่มีเจตนาจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่ อกุศลจิตที่เป็นไปในปาณาติบาต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๗๙๑ – ๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564