แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823


    ครั้งที่ ๘๒๓


    ต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสถึงพระอนาคามีจำพวกที่ ๕

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๕ ... ฯ

    สำหรับพระอนาคามีจำพวกที่ ๕ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในชั้นสุทธาวาส แต่ว่ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ จนกว่าจะเลื่อนจากแต่ละชั้นของสุทธาวาส จนกระทั่งถึงชั้นที่สูงสุด คือ อกนิฏฐาพรหม และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้น เพราะฉะนั้น แม้พระอนาคามีก็ต่างกันไปตามการสะสม

    สำหรับสุทธาวาส ๕ ซึ่งเป็นภูมิของพระอนาคามีที่ได้รูปปัญจมฌาน ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจะต้องจุติและปฏิสนธิแต่ละชั้น จนกระทั่งถึงชั้นอกนิฏฐาภูมิจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ได้ผ่านสุทธาวาสครบทั้ง ๕ ภูมิ ซึ่งท่านไม่ได้มีความยินดีพอใจในกามฉันทะ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เมื่อสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ใครสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะเป็นพระอนาคามีจำพวกไหน ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครที่จะยับยั้งเหตุปัจจัยที่สะสมมาได้

    ต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสถึงสอุปาทิเสสบุคคลจำพวกที่ ๖ ซึ่งเป็น พระสกทาคามี มีข้อความว่า

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียวจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๖ ... ฯ

    สำหรับสอุปาทิเสสบุคคลจำพวกที่ ๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระโสดาบัน ๓ จำพวก เป็นจำพวกที่ ๗ จำพวกที่ ๘ จำพวกที่ ๙ มีข้อความว่า

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี เพราะสังโยชน์สิ้นไป บังเกิดยังภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกร สารีบุตรนี้บุคคลจำพวกที่ ๗ ... ฯ

    แม้พระโสดาบันก็ต่างกัน บางท่านเกิดอีกเพียงครั้งเดียวก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ ๒ - ๓ ตระกูล แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๘ ... ฯ

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมโสดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวดาและมนุษย์ ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๙ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต

    ดูกร สารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด อย่างไรจักรู้บุคคลผู้เป็นสอุปาทิเสสะว่าเป็นสอุปาทิเสสะ หรือจักรู้บุคคลผู้เป็นอนุปาทิเสสะว่า เป็นอนุปาทิเสสะ ดูกร สารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้แล เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำ กาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติและวินิบาต ฯ

    ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเตือนว่า

    ดูกร สารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาก่อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ฟังธรรมปริยายที่เรากล่าวด้วยความอธิบายปัญหานี้แล้ว อย่าถึงความประมาท ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังไม่ใช่สอุปาทิเสสบุคคล ก็ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต นรก เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    ถ. เทปของอาจารย์มีตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องรูปกับนามที่เป็นปัจจัยกันว่าบางครั้งนามก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูป บางครั้งรูปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม หรือนามต่อนาม หรือว่ารูปต่อรูป ถ้าหากเราพิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ขณะที่เกิดสตินั้น รูปกับนามมีความสัมพันธ์กันอย่างไร วันนั้นผมฟังไม่ค่อยเข้าใจ

    สุ. เวลาที่สติเกิด จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตาก็ได้ หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จุดประสงค์ของการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เพื่อให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีการนึกบ้างไหมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่กำลังเห็น อาจจะหลงลืมสติไม่ระลึกเลย หรือว่าอาจจะเป็นสติขั้นที่นึกได้เป็นคำว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่เราที่เห็น นี่เป็นการนึกที่เป็นคำ แต่การอบรมปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต้องทราบว่า ไม่ใช่นึกเป็นคำ และก่อนที่จะไปถึงเหตุปัจจัยว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ต้องรู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง มี ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อย่างหนึ่ง โดยไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่ต้องเป็นขั้นที่ขณะใดที่สิ่งใดกำลังปรากฏ สติก็ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการง่ายเลยที่จะรู้ชัดว่า ที่เห็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ นี่สัมพันธ์กันหรือยัง

    ขณะที่กำลังเห็น มีสภาพรู้รูปที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งในขณะนี้รูปจะปรากฏไม่ได้เลยถ้าไม่มีสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ ถ้าไม่มีการเห็น จะไม่มีอะไรปรากฏทางตาในขณะนี้เลย นี่คือความสัมพันธ์กันระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่เป็นขั้นที่รู้ว่า สติเกิดในขณะนี้หรือเปล่า เมื่อสติเกิด คือ ไม่หลงลืม และมีสภาพธรรมกำลังปรากฏให้ศึกษา จะเป็นสภาพนามธรรมที่กำลังเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ได้ หรือว่าจะเป็นรูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ก็ได้

    ความหมายของคำว่า ความรู้ ความเข้าใจ การศึกษา ไม่ใช่อยู่ในขณะอื่นเลย แต่อยู่ในทุกๆ ขณะที่กำลังเห็น และไม่หลงลืม ระลึก ศึกษา เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ในอรรถ ในลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภพไหน ชาติไหนก็ตามที่จะระลึกได้ ต้องเพียรไปจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ

    ถ. เท่าที่สังเกตตัวเองผมรู้สึกว่า การที่สติเกิดคงจะต่างจากขณะที่หลงลืมสติ แต่ผมรู้สึกว่า ผมเกิดสติอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการศึกษาเลย ซึ่งอาจารย์บอกว่า เมื่อสติเกิดแล้วต้องศึกษา ผมก็พยายามที่จะศึกษา ซึ่งอาจารย์บอกว่า ไม่ใช่ให้นึกคิด ผมก็พยายามที่จะไม่นึกคิด สมมติว่า พิจารณาทางจักขุทวาร ก็เหมือนกับว่าเราดูอะไรเฉยๆ เหมือนเรามองเห็นสีเฉยๆ อะไรอย่างนั้น เหมือนกับว่าเราไม่ได้ศึกษาอะไรเลย อาจารย์เคยเน้นว่า การศึกษาหมายถึงการน้อมไปเพื่อที่จะให้รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นสภาพรู้ทางตา นั่นเป็นการศึกษา แต่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ

    สุ. นี่แสดงให้เห็นว่า ฟัง และก็พิจารณา และก็รู้ว่า มีความรู้ที่ไม่ใช่ขั้นคิดแน่นอนที่รู้ได้ แต่เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น นั่นคือความหมายของการศึกษา คือ น้อมไปเรื่อยๆ ที่จะรู้ว่า ความรู้สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ โดยไม่ต้องคิด

    นี่เป็นตอนที่ยาก และเป็นขั้นที่ใช้คำว่า ไตรสิกขาจริงๆ คือ ในขณะที่น้อมไปสัมมาวายามะ เพียร แต่ไม่ใช่คิดเป็นคำ เพียรที่จะเข้าใจ ศึกษา คือ กำลังมีความพยายามน้อมไปเพื่อที่จะรู้ว่า ในขณะนี้เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานมีหลายขั้นจริงๆ ซึ่งแต่ละขั้นก็ยาก แล้วก็ลึกซึ้งจริงๆ และเป็นเรื่องของการที่จะต้องอบรมจริงๆ แม้ว่าจะเข้าใจแล้วว่า ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่ขั้นคิด มี นี่เป็นขั้นเข้าใจ แต่ก่อนที่จะถึงขั้นปัญญาที่รู้โดยไม่ใช่คิด จะต้องมีการอบรม คือ ภาวนา ค่อยๆ อบรมจนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่การคิดถึงคำเท่านั้น แต่ถ้าระลึกถึงคำ จะเป็นโดยนัยของสมถภาวนา คือ ระลึกถึงธรรมแล้วจิตสงบ เพราะไม่ได้ระลึกถึงเรื่องอื่น

    ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ท่านก็สนทนากันในเรื่องชีวิตประจำวัน เวลาที่ท่านเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี หรือพระนครราชคฤห์ และเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ท่านก็ไปเฝ้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นว่า พระอรหันต์สาวกทั้งหลายท่านก็มีความคิดในเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ต่างกันอย่างไรกับผู้ที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์

    ผู้ที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็คิดเรื่องเดียวกัน เช่น ถ้าเห็นคนที่กระทำผิดถูกจับ ถูกจองจำ พระอรหันต์ท่านก็เห็น ปุถุชนธรรมดาก็เห็น พระอรหันต์คิดถึงเรื่องถูกจองจำของคนที่กระทำผิดนั้น ปุถุชนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็คิดในเรื่องเดียวกันนั้น แต่จิตที่คิดแสนที่จะไกลกัน สำหรับปุถุชนย่อมเป็นกุศลหรืออกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น ถึงแม้ว่าจะคิดเรื่องเดียวกันก็จริง แต่วิตกเจตสิก สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ตรึก จะไม่ใช่กุศลวิตก หรืออกุศลวิตก แต่เป็นกิริยาจิต กิริยาเจตสิกในขณะนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น นี่คือความต่างกันของผู้ที่ศึกษาแล้ว ภาวนา คือ อบรม จนกระทั่งปัญญาคมกล้าสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น แม้ว่าจะคิดเหมือนเดิม แต่ว่าสภาพของจิต เจตสิกที่คิดเรื่องนั้นผิดกันแสนไกล กับก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์

    ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็คิดเรื่องนั้น เวลาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็คิดเรื่องนั้น แต่พิจารณาสภาพของจิต เจตสิกที่คิดว่า ไกลแสนไกลกันแค่ไหนสำหรับปุถุชนซึ่งยังเต็มไปด้วยกิเลส และสำหรับพระอรหันต์ซึ่งไม่มีกิเลสเลย ดับกิเลสหมด

    การเห็น ปกติ ระหว่างปุถุชนกับพระอรหันต์ มีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าความคิดนึกของผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับ พระอรหันต์ แต่ว่ากิเลสยังไม่ได้ดับ เพราะยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ที่ต่างกัน ต่างตรงที่ปุถุชนจะต้องเริ่มศึกษาในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินในชีวิตประจำวัน จนกว่ากิเลสจะดับ เมื่อดับแล้ว ถึงแม้ว่าจะคิดเรื่องเดิมที่เคยเห็น แต่ก็ไม่ใช่อกุศลวิตกหรือกุศลวิตกอีกต่อไป เพราะฉะนั้น นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ และก็ศึกษา อบรมไป จนกว่าปัญญาที่สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ขั้นคิดเกิดขึ้น

    ถ. ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องคิด ผมมีความสนใจ ผมจะยกตัวอย่างว่า

    สุ. ขอประทานโทษ ความคิดมีหลายขั้น เพราะวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ เป็นสัมมาสังกัปปะ แต่ไม่ใช่คิดเป็นคำ เพราะปกติมักจะชิน เวลาที่พูดถึงความคิด ก็มักจะคิดว่า เป็นคำๆ แต่สัมมาสังกัปปะที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้น จรดในลักษณะของอารมณ์ที่ถูกต้อง

    เวลาที่หลงลืมสติก็คิด ใช่ไหม คิดเป็นเรื่องของสิ่งที่เห็น เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ นั่นคือลักษณะของสภาพธรรมที่คิดเกิดขึ้นหลังจากที่เห็นรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาที่อบรมเจริญปัญญา เป็นสัมมาสังกัปปะ วิตกเจตสิกก็เกิด ไม่มีใครยับยั้งวิตกเจตสิกที่จะไม่ให้เกิด แต่ว่าวิตกเจตสิกแทนที่จะคิดเป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เป็นคน เป็นรูปร่าง เป็นสัณฐานของวัตถุสิ่งต่างๆ วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะในขณะนั้น จรดในลักษณะของอารมณ์ที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่นึกเป็นคำอย่างแต่ก่อน แต่จรดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นสัมมาสังกัปปะ

    ถ. แสดงว่า ก็คิดเหมือนกันใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่คิดเป็นคำ

    ถ. สมมติว่า ทางกายขณะที่ผมสัมผัสความร้อน เราก็ศึกษาในสภาพที่เกิดความรู้สึกว่าร้อนเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องนึกเป็นคำว่า ร้อนเป็นรูป หรือว่าเรารู้สึกร้อนเป็นนาม อะไรอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. ที่จะเป็นปัญญาที่รู้ชัด จะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือในสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่สภาพร้อนว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เรากำลังรู้สึกร้อน แต่ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่รู้ร้อนที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นร้อนจะปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีสภาพรู้ แต่ว่าร้อนนั้นไม่ใช่สภาพรู้ และสภาพรู้นั้นไม่ใช่สภาพร้อน จึงจะเป็นการละการยึดถือสภาพธรรมในขณะที่กำลังร้อนซึ่งไม่มีตัวตนเลย เพราะปัญญาสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ชัดจริงๆ ว่า ธาตุที่กำลังรู้ในสภาพร้อนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง และสภาพร้อนนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่จะละตัวตน

    การที่จะดับสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนได้ ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละขณะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าศึกษาเนืองๆ คือ สังเกตเนืองๆ พร้อมสติ พิจารณาเนืองๆ น้อมไปที่จะรู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้จริงๆ

    ถ้ารู้ในอรรถ คือ รู้ในลักษณะของสภาพรู้แล้ว ไม่ว่าจะกำลังเห็นก็ย่อมรู้ว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เวลาที่ได้ยิน ก็เป็นลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ แต่ว่ารู้เสียง เวลาที่คิดนึก ก็เป็นลักษณะของอาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง เวลาโทรศัพท์ เวลาทำกิจการงาน เวลาดูโทรทัศน์ ดูกีฬา ทุกอย่าง สติสามารถที่จะเกิด และประจักษ์ในลักษณะของสภาพรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงจะชื่อว่า เป็นความรู้จริง

    เมื่อรู้จริงแล้ว ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเกิดปรากฏในลักษณะอาการอย่างไร ในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ในลักษณะที่เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ ค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ เข้าใจไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. จะถือว่าเรามีความรู้เพิ่มขึ้นหรือเปล่า เมื่อเราพิจารณาทางทวารต่างๆ และนำแต่ละทวารมาเปรียบเทียบกัน สมมติว่า เราขับรถไป เกิดเสียง ขณะที่เสียงเกิดขึ้นเราก็พิจารณา ในขณะเดียวกันนั้น เราก็พิจารณาทางตา จะรู้สึกว่า ทางตากับทางหูธรรมแตกต่างกันมาก อย่างนั้นจะเป็นความรู้หรือเปล่า

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเปรียบเทียบ ๓ ทวารพร้อมกัน คือ นอกจากจะทางหูได้ยิน แต่เสียง ก็พิจารณาทางตา รู้สึกว่าภาพต่างๆ เหล่านั้นต่างกับเสียง คล้ายๆ กับเกิดความเงียบไปอย่างนั้นแหละ และบังเอิญมือที่จับพวงมาลัยมีความรู้สึกร้อนหรือเย็น อะไรอย่างนี้ จะถือว่าเรามีปัญญา หรือจะเกิดประโยชน์ในด้านการศึกษาหรือเปล่า

    สุ. กำลังเริ่มอบรม และความรู้จะเพิ่มขึ้นเวลาที่มีสติระลึกศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ ความรู้ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ทีละนิดทีละหน่อย ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ชัด ถ้าเป็นขณะที่รู้ชัด หมายความว่า ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏโดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564