แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157


    ครั้งที่ ๑๕๗


    ข้อความในพระสูตรมีว่า

    เมื่อภิกษุณีฟังธรรมจากท่านพระนันทกะแล้ว ก็ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะ แล้วก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเมื่อภิกษุณีเหล่านั้นกลับไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริงดวงจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ทีเดียว ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงความดำริบริบูรณ์เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล

    ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า

    ดูกร นันทกะ ถ้าเช่นนั้นวันพรุ่งนี้ เธอก็พึงกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นเหมือนกัน

    ท่านพระนันทกะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ในวันรุ่งขึ้น ครั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาภัตตาหารแล้ว ท่านพระนันทกะก็ได้ไปยังวิหารราชการาม แล้วแสดงธรรมแก่พวกพระภิกษุณีเหล่านั้น มีข้อความและอุปมาเหมือนกับที่ได้แสดงแล้วในวันก่อนทุกประการ ไม่ผิดไปเลยจากวันก่อน

    ครั้นท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า

    ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว

    ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นยินดี อนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุณีทั้งหลาย พวกเธอจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว

    ต่อนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

    ซึ่งข้อความตอนนี้เหมือนกับวันก่อน คือ วันก่อนได้ฟังธรรมจากท่านพระนันทกะแล้ว ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า พวกเธอจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นก็ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป การกระทำทั้ง ๒ วันเหมือนกัน ธรรมที่ได้ฟังจากท่านพระนันทกะทั้ง ๒ วันก็เหมือนกัน

    ข้อความต่อไปตอนจบของพระสูตรนี้มีว่า

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลงหรือสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริงดวงจันทร์ก็เต็มแล้วทีเดียว ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะทั้งๆ ที่มีความดำริบริบูรณ์แล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

    ข้อความเหมือนกันแต่วันแรกที่ได้ฟัง ภิกษุณียังมีความดำริไม่บริบูรณ์ ในวันรุ่งขึ้นท่านพระนันทกะก็ได้แสดงธรรมกถาซ้ำข้อความเดียวกัน แต่ในวันที่ ๒ นั้น บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นการอบรมอินทรีย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ละคลายความไม่รู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น เหมือนกับการจับด้ามมีด ไม่ใช่ว่าพอจับด้ามมีดทีหนึ่งก็ปรากฏให้รู้ว่าสึกไปมากๆ ทันที ซึ่งการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละครั้งๆ ก็เหมือนกับการจับด้ามมีด เพราะไม่ใช่ปรากฏว่าสึกไปทีเดียวได้มากๆ แต่ว่าต้องค่อยๆ สึกไป

    นี่เป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ซึ่งเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ เวทนาความรู้สึกที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    ทำไมพระภิกษุณีเหล่านั้นชื่นชมยินดี ก็เพราะเป็นเรื่องจริง เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริง ก็ควรที่จะชื่นชมยินดี ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรที่ผิดปกติธรรมดา โดยมากท่านผู้ฟังที่คิดว่าได้อะไร ท่านก็ได้ความผิดปกติทั้งนั้น อัศจรรย์มากกับสิ่งที่ผิดปกติ แต่การรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบปรากฏทางกาย กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ตามธรรมดาทุกอย่าง ท่านไม่เคยคิดว่า จะน่าอัศจรรย์สักเพียงไร หากท่านสามารถแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ จะน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าไหม เพราะปัญญาสามารถแทงตลอดสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติได้จริงๆ

    ท่านคิดว่า เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามปกติหรือเปล่า ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ตัวอย่างของท่านที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมมีปรากฏในพระไตรปิฎก ที่ไม่ได้จำกัดสถานที่เลย แต่ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระอริยบุคคลได้

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ แม้แต่พระภิกษุณีเหล่านั้นที่ได้ฟังธรรมของท่านพระนันทกะ ขณะที่ฟังธรรมเป็นปกติ เวลาที่ท่านพระนันทกะแสดงธรรมกถาจบแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นก็ยินดี อนุโมทนา ลุกจากอาสนะ อภิวาทท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ แล้วก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาท ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เป็นปกติ แต่ใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในวันแรกที่ได้ฟังธรรมกถาของท่านพระนันทกะนั้น จิตของภิกษุณีเหล่านั้นมีความดำริยังไม่บริบูรณ์ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งถึงจิตของภิกษุณีเหล่านั้นว่า ขณะนั้นยังไม่ได้บรรลุอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง คือ เป็นปกติ ที่บุคคลอื่นไม่รู้ว่าผู้ใดกำลังเจริญสติปัฏฐาน บางท่านไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน พอพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ท่านก็บอกว่าเป็นอายตนะ คล้ายๆ กับว่า เจริญสติปัฏฐานคนละบรรพ แต่ความจริงแล้ว การเจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้เหมือนกันนั้น เป็นไปได้ไหม พระอริยบุคคลรูปนี้รู้ขันธ์ รูปนั้นรู้ธาตุ ไม่รู้ขันธ์ เป็นไปได้ไหม

    อย่างเวลาที่พูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ใครบ้างที่เจริญสติแล้วไม่รู้สิ่งเหล่านี้ มีใครที่เจริญสติแล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏมีอะไรบ้างที่เที่ยง ที่ไม่ดับ เกิดแล้วก็ดับไป เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ลักษณะของขันธ์ มีไหม ก็ไม่มี ที่ได้ยินกำลังมี ก็เพราะมีสภาวลักษณะของสิ่งที่ประชุม ต่อ เกิดปรากฏที่โสตปสาท เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้อายตนะ มีไหม ก็ไม่มี

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ อายตนวิภังคนิทเทศ ข้อ ความตอนท้ายมีว่า

    วาระแห่งสัมมสนญาณ พึงทราบว่า ตรัสไว้แล้วในอายตนะทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น คนที่ถึงสัมมสนญาณแล้วไม่รู้อายตนะมีไหม ก็ไม่มี ธาตุไม่รู้ได้ไหม กำลังเห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นจักขุวิญญาณธาตุ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อตามความเป็นจริงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน เป็นสภาพที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปแต่ละลักษณะ และสภาพที่รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ นั่นก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ สุข ทุกข์ จำได้ เป็นสภาพรู้ทั้งหมด ถ้ารู้ลักษณะของนามและรู้ทีละเล็กทีละน้อย ในตอนแรกยังไม่ชัด จะกล่าวว่า ในขณะที่ระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็เป็นนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้เลย ความรู้นิดเดียวเป็นพระโสดาบันบุคคลไม่ได้ ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ความรู้ชัดเจนถ่องแท้ สามารถแทงตลอดสภาวลักษณะได้ เมื่อใดก็แล้วแต่เหตุ การเจริญสติปัฏฐานตามปกติต้องเจริญทั้ง ๔ สติปัฏฐาน

    ขอกล่าวถึงใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กิมิลสูตร

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองกิมิลา พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนมีกองดินใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนหรือรถผ่านมาในทิศบูรพา ก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมจะกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้

    อรรถกถาสารัตถปกาสินี มีข้อความว่า

    ในข้อนี้พึงเห็นอายตนะ ๖ ว่าเหมือนทางใหญ่ ๔ แพร่ง (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้เว้น) กิเลสทั้งหลายมาทางอายตนะทั้ง ๖ เหมือนกองดิน

    เวลานี้กิเลสของใครจะกองใหญ่สักเท่าไรก็มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นไปในอารมณ์ทั้งหลาย ๔ เปรียบเหมือนเกวียนและรถที่มาจากทางทั้ง ๔ แพร่ง การกำจัดอกุศลบาปธรรมทั้งหลายด้วยกายานุปัสสนา เป็นต้น เหมือนเกวียนและรถนั้นเหยียบย่ำ กำจัด ทำลายกองดินนั้น พิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จึงจะทำลายกองดิน คือ กิเลสได้

    ถ. อาจารย์ท่านหนึ่งยืนยันหนักแน่นว่า เจริญสมาธิจนได้ฌานจึงจะสามารถเจริญอานาปานสติได้ มีผู้ถามว่า อาปานนี้จะรู้อะไร ถ้าจะนำมาเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็บอกว่ารู้กระทบ ผู้ถามก็บอกว่า เมื่อรู้กระทบอย่างนี้ จำเป็นหรือที่จะต้องได้ฌานเสียก่อน ก็ชักจะวนเวียน ผมได้ฟังมาอย่างนี้

    สุ. เรื่องของอานาปานบรรพ จะต้องสอบทานพิจารณาด้วยตัวของท่านเองให้ได้เหตุผลที่ถูกต้องว่า ลมหายใจเป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่จริง ปรากฏหรือไม่ปรากฏ บางครั้งก็ปรากฏ บางครั้งก็ไม่ปรากฏ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า จะต้องไปบังคับให้สติจดจ้องระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างสมถภาวนา ถ้าเป็นการบังคับจดจ้องให้ระลึกอยู่ที่เดียว ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งการเจริญสมถภาวนานั้น ไม่ได้ละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ถึงแม้ว่าจะได้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ฌานจิตก็ไม่ได้ละคลายการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การเจริญอานาปานบรรพที่เป็นสติปัฏฐานนั้น เป็นการที่สติระลึกรู้ลมหายใจขณะที่ลมหายใจปรากฏ และไม่มีการบังคับสติว่า จะต้องไประลึกรู้ แล้วแต่สติ อาจจะระลึกรู้รูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรืออาจจะระลึกรู้นามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานอย่าให้เป็นอัตตาภาวนาที่ว่า จะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาสั่งหรือมากั้น ไม่ให้สติเกิดขึ้นในขณะนั้น ในขณะนี้

    ในอานาปานบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายความว่า เมื่อลมหายใจเป็นสิ่งที่มีจริง และขณะใดที่ลมหายใจปรากฏ ขณะใดที่สติระลึกรู้ที่ลมหายใจ ก็รู้ว่า ลักษณะสภาวะที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความจริงแล้วก็เป็นโผฏฐัพพะที่กระทบกายปสาท เป็นลักษณะที่อ่อน เบา ร้อน เย็น ตึง ไหว นั่นเป็นลักษณะของลมหายใจที่เป็นของปกติธรรมดาที่สติระลึก แล้วก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรม สภาวะลักษณะชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้สติไประลึกรู้ที่ลมหายใจจนกว่าจะได้ฌานจิตเสียก่อน แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ

    ขณะที่มีสติ ก็คือ กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏโดยไม่เลือก จะเป็นลมหายใจก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่า จะต้องไปเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิตเสียก่อนแล้วถึงจะระลึกรู้ลมหายใจซึ่งกระทบปรากฏ ปกติธรรมดาในขณะนี้ ถ้าสติของใครจะระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจก็ได้ หรือถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ลมที่กำลังกระทบสัมผัสในขณะนี้ สติก็อาจจะระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้

    ท่านผู้ฟังบางท่านถามว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูป สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และการที่สติระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ระลึกรู้ลักษณะของนามได้ยินในขณะที่ได้ยินเสียง หรือในขณะที่กำลังรู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นปกติธรรมดาจริงๆ อย่างนี้ จะมีอานิสงส์อย่างไร มีผลอย่างไร คือ ท่านผู้ถามท่านมีความรู้สึกว่า เป็นของธรรมดาเสียเหลือเกิน ไม่เห็นเป็นเรื่องที่จะต้องอัศจรรย์ หรือว่าทำให้เกิดอะไรขึ้นเลย ท่านผู้นั้นไม่เข้าใจเลยว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปกติธรรมดาอย่างนี้จะมีประโยชน์อะไร จะมีอานิสงส์อะไร บางท่านก็กล่าวว่า รู้แล้ว กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา ผู้นั้นบอกว่ารู้แล้ว ได้ยินขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นสภาพรู้ทางหู ผู้นั้นก็บอกว่ารู้แล้ว ท่านเพียงแต่รู้ในขณะที่ฟังว่า สภาพที่เป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม และสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม แต่สติไม่ได้ระลึกตามปกติแต่ละนามแต่ละรูปละเอียดขึ้น ชัดขึ้น ชินขึ้น เพื่อละคลายความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น อานิสงส์ของการที่สติเกิดขึ้นรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ คือ เพิ่มความรู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติมากขึ้น รู้ชัดขึ้น ชินขึ้น แล้วก็ละคลายได้

    อีกท่านบอกว่า ถ้าสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรม และรูปธรรม คนนั้นก็ต้องเป็นพระอรหันต์ เป็นความคิดเดาของแต่ละท่านซึ่งไม่ได้เจริญสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติ จึงทำให้คิดว่า ไม่สามารถจะประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันเป็นปกติได้ แล้วยังเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าผู้ใดรู้ได้ ผู้นั้นก็เป็นพระอรหันต์เลย

    แต่ความจริง ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น และความเป็นพระอริยบุคคลนั้น คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม การรู้แจ้งอริยสัจธรรมครั้งที่ ๑ เป็นพระโสดาบันบุคคล ครั้งที่ ๒ เป็นพระสกทาคามีบุคคล อริยสัจธรรมก็ไม่ใช่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เวลาที่ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล อริยสัจธรรมก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น จนกระทั่งถึงเป็นพระอรหันต์ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ปัญญาที่บรรลุคุณธรรมแต่ละขั้นนั้นต่างกันที่ว่า ดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้ใดเจริญสติ ปัญญารู้ชัดในสภาพของนามและรูปแล้ว ก็จะเป็นพระอรหันต์ทันที



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๑๕๑ – ๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564