แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138


    ครั้งที่ ๑๓๘


    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ขีรรุกขสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในรูปทั้งหลายอันพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะ ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงรูปอันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้

    ถ้าตราบใดยังมีเชื้อ คือ ราคะ โทสะ โมหะอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปเล็กน้อยที่ไม่ประณีตจะผ่านคลองของจักษุ คือ จะไปเห็นรูปที่ไม่น่ายินดีสักเท่าไร ก็เป็นอิฏฐารมณ์ปานกลาง แต่ว่าความยินดีพอใจในรูปที่เห็นก็ยังมี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงรูปที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ หรือว่าเป็นรูปที่น่ายินดีพอใจยิ่งนักที่ราคะหรือโลภะจะไม่เกิดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ โดยนัยเดียวกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมากับต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มียาง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเขื่อง ขนาดรุ่น ขนาดเล็ก ว่า

    บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งหนึ่ง ยางพึงไหลออก เพราะยางมีอยู่

    ถ้าราคะ โทสะ โมหะไม่มี ก็นัยตรงกันข้าม ซึ่งได้ทรงอุปมาว่า

    เหมือนกับต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นไม้มียาง เป็นต้นไม้แห้ง เป็นไม้ผุ ภายนอกฤดูฝน บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ยางไม่พึงไหลออก เพราะไม่มี แม้ฉันใด ผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ในรูป เพราะละแล้ว แม้จะเห็นรูป หรือว่าได้ยินเสียง เป็นต้น ที่ประณีต ก็ไม่ครอบงำ จะป่วยกล่าวไปใยถึงรูปอันเล็กน้อย จะครอบงำจิตของภิกษุและภิกษุณีนั้นเล่า

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่ต้องห่วงกังวล ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีต หรือไม่ประณีต ก็จะไม่ครอบงำจิตใจของผู้นั้นได้ แต่ตรงกันข้าม ถ้าโลภะ โทสะ โมหะยังมีอยู่ตราบใด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เล็กน้อย หรือที่ยิ่งใหญ่ ก็ย่อมสามารถครอบงำจิตใจของบุคคลนั้นได้

    สำหรับสราคจิต ยังคงมีปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า โลภมูลจิตนั้นเป็นอารมณ์ปัจจุบันหรือไม่ เพราะการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นสติที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นของจริง จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สีที่กำลังปรากฏเป็นของจริงในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เสียงเป็นของจริงที่กำลังปรากฏในขณะที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ถ้ากลิ่นปรากฏ กลิ่นที่กำลังปรากฏเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่กำลังคิดนึก สภาพที่คิดนึกก็เป็นของจริงที่กำลังคิด กำลังนึก กำลังสุข กำลังทุกข์ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น สติระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ลักษณะของกลิ่นที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่เป็นของจริงชนิดหนึ่งที่จะปรากฏเฉพาะทางจมูก ผู้ที่เจริญสติระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพของกลิ่นที่กำลังปรากฏ หรือว่าเป็นสภาพของนามธรรมที่กำลังรู้กลิ่นในขณะนั้น สภาพที่รู้กลิ่นจะมีได้ก็เพราะมีกลิ่นเป็นปัจจัย สภาพที่รู้กลิ่นจึงเกิดขึ้นรู้กลิ่นในขณะนั้นได้

    นี่ก็เป็นนามธรรมรูปธรรมแต่ละทาง นามธรรมใดที่กำลังปรากฏ รูปธรรมใดที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน สติจึงสามารถระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรมนั้นๆ รูปธรรมนั้นๆ ในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น จะสงสัยไหมว่าโลภมูลจิตเป็นอารมณ์ปัจจุบันหรือไม่ โลภมูลจิตเกิดดับสืบต่อกันปรากฏให้รู้ได้ สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต หรือว่าการเห็น ลักษณะของการเห็นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเห็นเท่านั้น ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ สติเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณที่เห็นไม่ได้ แต่สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่าเป็นนามธรรม

    อารมณ์ปัจจุบัน หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้

    เพราะฉะนั้น การเห็นก็เป็นปัจจุบันอารมณ์ เป็นปัจจุบันธรรมสำหรับสติที่จะระลึกรู้

    พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีข้อความเรื่องธรรมเป็นปัจจุบัน ข้อความในสังคณีปกรณ์มีว่า

    ธรรมเป็นปัจจุบัน เป็นไฉน

    ธรรมเหล่าใดซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิด เฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นปัจจุบัน

    ต้องเกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ไม่ใช่ยังไม่เกิด

    ข้อ ๖๘๕ มีข้อความว่า

    ธรรมมีอารมณ์เป็นอดีต เป็นไฉน

    ธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอดีตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นอดีต

    เคยคิดถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อวานนี้ก็ได้ เดือนก่อนก็ได้ ปีก่อนก็ได้ คิดถึงสิ่งที่ล่วงเลยมาแล้วก็ชื่อว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่มีอารมณ์เป็นอดีต

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมมีอารมณ์เป็นอนาคต เป็นไฉน

    ธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภอนาคตธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์เป็นอนาคต

    ธรรมมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน เป็นไฉน

    ธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าใด ปรารภปัจจุบันธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์ปัจจุบัน

    ธรรมเป็นภายใน เป็นไฉน

    ธรรมเหล่าใดเป็นภายใน เป็นเฉพาะตน เกิดแก่ตน เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล เป็นอุปาทินนะของสัตว์นั้นๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นภายใน

    ธรรมเป็นภายนอก เป็นไฉน

    ธรรมเหล่าใดเป็นภายนอก เป็นเฉพาะตน เกิดแก่ตน เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล เป็นอุปาทินนะของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นนั้นๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นภายนอก

    ข้อ ๖๘๘ มีว่า

    ธรรมที่เห็นได้ และกระทบได้ เป็นไฉน

    รูปายตนะ (สิ่งที่ปรากฏทางตา) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นได้ และกระทบได้

    กระทบกับจักขุปสาทะ แล้วก็เห็น คือ ปรากฏทางตาได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ เป็นไฉน

    จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้

    จักขายตนะ คือ จักขุปสาท เห็นไม่ได้ แต่กระทบสีได้

    โสตายตนะ คือ โสตปสาท เห็นไม่ได้ แต่กระทบเสียงได้

    ฆานายตนะ คือ ฆานปสาท เห็นไม่ได้ แต่กระทบกลิ่นได้

    ชิวหายตนะ คือ ชิวหาปสาท เห็นไม่ได้ แต่กระทบรสได้

    กายายตนะ คือ กายปสาท ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว มองไม่เห็น ถ้าเห็นก็เห็นสี ไม่ใช่เห็นกายายตนะ เพราะฉะนั้น กายายตนะเป็นรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็งได้

    สัททายตนะ คือ เสียง เป็นรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบกับโสตปสาทได้

    คันธายตนะ คือ กลิ่น เป็นรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบกับฆานปสาทได้

    รสายตนะ คือ รส เป็นรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบกับชิวหาปสาทได้

    โผฏฐัพพายตนะ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ คือ กระทบกับกายปสาทได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมที่เห็นไม่ได้ และกระทบไม่ได้ เป็นไฉน

    เห็นไม่ได้ และกระทบไม่ได้ด้วย

    เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือ นามขันธ์ทั้งหมด เห็นไม่ได้ และกระทบไม่ได้

    รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ ซึ่งนับเนื่องในธัมมายตนะ และอสังขตธาตุ คือ นิพพาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นไม่ได้ และกระทบไม่ได้

    เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ แต่รู้ได้ ซึ่งท่านจะเทียบเคียงกับความจริงได้ พิสูจน์ได้

    ถ. ที่ท่านอาจารย์เคยแนะว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติ โดยไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม เจริญได้ทั้งสิ้น

    ผมอ่านใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ใน กายาคติสูตร ท่านกล่าวว่า สติปัฏฐานนี้มีอยู่อย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งการระลึก และด้วยอำนาจแห่งการรวมลงเป็นอันเดียวกัน แต่แยกเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ นี่ตอนหนึ่ง

    ท่านเปรียบเทียบว่า เปรียบเหมือนกับว่าเมืองนี้มีประตูอยู่ ๔ ประตู มีประตูทิศตะวันออก ประตูทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ พ่อค้านำสินค้ามาจากทิศตะวันออก คงเป็นสินค้าเฉพาะบางประเภทที่มีทางทิศตะวันออก ทางทิศตะวันตกก็สินค้าบางประเภท ทางเหนือ ทางใต้ก็สินค้าแต่ละประเภทๆ คงไม่ใช่สินค้าที่เหมือนกัน

    ท่านเปรียบเทียบนิพพานว่าเหมือนกับเมือง โลกุตตรมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนประตูเมือง อารมณ์ทั้ง ๔ มีกาย เป็นต้น เปรียบเหมือนทิศตะวันออก ที่เวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา อบรมกายานุปัสสนา อันจำแนกออกเป็น ๑๔ อย่าง แล้วก็เข้าสู่นิพพานแห่งเดียวกันกับที่มาจากทิศอื่น

    ประตูทิศใต้ท่านก็เปรียบอย่างนี้เหมือนกัน คือ เปรียบกับการเจริญเวทนา ก็เข้าสู่นิพพานอันเดียวกัน หรือประตูทางทิศตะวันตก การเจริญจิตตานุปัสสนาที่อาจารย์กำลังอธิบายอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เป็นทางที่เข้าสู่นิพพานได้เหมือนกัน หรือการเจริญธัมมานุปัสสนาซึ่งเป็นประตูทางทิศเหนือ ก็เป็นการเจริญเพื่อเข้าสู่นิพพานได้เหมือนกัน ที่ท่านอธิบายอย่างนี้ เสมือนหนึ่งว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เจริญเฉพาะอย่างๆ เฉพาะประตู เช่น ประตูตะวันออกเจริญเฉพาะกายานุปัสสนา ประตูตะวันตกเฉพาะจิตตานุปัสสนา ประตูทางใต้เฉพาะเวทนานุปัสสนา ประตูทิศเหนือเฉพาะธัมมานุปัสสนา

    ฟังดูแล้วรู้สึกว่า จะขัดกับที่ท่านอาจารย์ให้แนวทางไว้ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า จะเป็นการเน้น หรือเป็นการแยกแยะอย่างไร ท่านบอกว่า เป็นการเข้าสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคทั้งนั้น เกิดแต่อำนาจการเจริญกายานุปัสสนา หรือ จิตตานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนา แต่ละทางๆ ไป ไม่ใช่ว่า เจริญทั้งกายาด้วย จิตตาด้วย เวทนาด้วย ธัมมาด้วย ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้คล้ายๆ อย่างนี้ ผมไม่ค่อยแน่ใจ ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    สุ. ข้อความในปปัญจสูทนีตอนนี้ ซึ่งเป็นอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร ดิฉันก็ตั้งใจไว้แล้วว่า จะนำมาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบข้อความโดยตรง เพราะบางทีท่านเองผ่านพยัญชนะข้อความนี้แล้วอาจจะเข้าใจตามพยัญชนะ ตามความคิดเห็นของท่านเองได้

    ปปัญจสูทนีแปล มีข้อความว่า

    สติปัฏฐานมีอย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งการระลึก คือ สติเป็นลักษณะสภาพธรรมที่ระลึก และด้วยอำนาจแห่งการรวมลงเป็นอันเดียวกัน

    ไม่ว่าจะระลึกอย่างไรก็ตาม สติก็มีลักษณะ คือ การระลึกเท่านั้น

    แต่แยกออกเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ดังนี้ เหมือนอย่างว่า ในเมืองมี ๔ ประตู พวกพ่อค้ามาจากทิศตะวันออก ซื้อสินค้าอันมีอยู่ทางทิศตะวันออก แล้ว ก็เข้าสู่ประตูเมืองตะวันออก มาจากทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ได้สินค้าอันมีอยู่ทางทิศนั้นๆ แล้วก็เข้าไปสู่เมืองทางประตูนั้นๆ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น

    คือ นิพพานเปรียบเหมือนเมือง โลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนประตูเมืองใหญ่ อารมณ์ทั้ง ๔ มีกายเป็นต้น เหมือนทิศตะวันออกเป็นต้น คนทั้งหลายมาทางทิศตะวันออก ถือเอาของที่เกิดขึ้นทางทิศตะวันออกแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศตะวันออก ฉันใด เมื่อเวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา อบรมกายานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๑๔ อย่างแล้ว ก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสสนาฉันนั้น

    คนทั้งหลายมาจากทิศใต้ ถือเอาของที่เกิดในทิศใต้แล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศใต้ ฉันใด เวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยเวทนานุปัสสนา เจริญเวทนานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๙ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนาฉันนั้น

    คนทั้งหลายมาจากทิศตะวันตก ถือเอาของที่เกิดในทิศตะวันตกแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศตะวันตก ฉันใด เวไนยสัตว์มาด้วยจิตตานุปัสสนา เจริญ จิตตานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๑๖ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญจิตตานุปัสสนาฉันนั้น

    คนทั้งหลายมาจากทิศเหนือ ถือเอาของที่เกิดในทิศเหนือแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศเหนือ ฉันใด เวไนยสัตว์มาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เจริญ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันแจกออกไปเป็น ๕ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานฉันนั้น

    ควรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการระลึก และด้วยอำนาจแห่งการเข้าไปรวมในที่แห่งเดียวกัน และด้วยอำนาจแห่งการยึดหน่วงสติปัฏฐานอย่างเดียวกันอย่างนี้

    เมือง ได้แก่ พระนิพพานซึ่งมีทางเข้า ๔ ทาง ๔ ประตู จะเข้าประตูทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ ก็เข้าประตูเดียว ฉันใด ไม่ว่าผู้นั้นจะเจริญกายานุปัสสนาในขณะก่อนที่จะถึงนิพพาน ก่อนที่จะเข้าเมือง มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ก็ได้ จะมีเวทนาเป็นอารมณ์ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือจะมีจิตเป็นอารมณ์ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือจะมีธรรมเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ก็ได้

    แล้วแต่ว่าขณะนั้นอินทรีย์แก่กล้าที่มรรคจิตจะเกิด ขณะนั้นกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ กำลังมีกายเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีเวทนาเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีจิตเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีธรรมเป็นอารมณ์ แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะถือตามพยัญชนะที่ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับว่า เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวก็ได้ นั่นก็เป็นการเข้าใจของท่านผู้ฟังเอง เพราะอะไร เพราะกายานุปัสสนาเป็นการระลึกรู้รูปธรรม แต่ญาณขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นการรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะน้น จะเจริญกายานุปัสสนา รู้รูปอย่างเดียวได้ไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๑๓๑ – ๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564