แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156


    ครั้งที่ ๑๕๖


    สำหรับการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ใน จตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค วรรณนา เป็นเรื่องการถือเสนาสนะในคราวจำพรรษา

    ที่ยกพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง เพื่อให้ท่านได้สอบทานข้อความทั้ง ๓ ปิฎกว่า เป็นข้อความที่สอดคล้องกัน ไม่ขัดกัน ถ้าไม่ศึกษาตอนนี้อาจเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานผิดคลาดเคลื่อนไปจาก จตุตถสมันตปาสาทิกา นี้ เพราะเหตุว่าใน จตุตถสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย มีข้อความเรื่องการถือเสนาสนะในคราวจำพรรษา ซึ่งแสดงถึงข้อวัตรปฏิบัติในระยะกาลของพรรษา

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดตั้งวัตรข้อประพฤติปฏิบัติขึ้นว่า อย่าเรียนเอง อย่าให้ผู้อื่นเรียน อย่าทำการสาธยาย อย่าให้บรรพชา อย่าให้อุปสมบท อย่าให้นิสัย อย่าทำธัมมสวนะ เพราะพวกเราทั้งหมดยังเป็นผู้ที่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า จักเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนินช้า ทำสมณธรรมเท่านั้น

    หรือ ภิกษุทุกรูปจงสมาทานธุดงค์ ๑๓ อย่าสำเร็จการนอน จงให้คืนและวันล่วงไปด้วยการยืนและจงกรม จงถือมูควัตร มูควัตร คือ การนิ่งไม่พูดกันคล้ายคนใบ้ แม้ต้องไปด้วยสัตตาหกรณียะ อย่าได้ภัณฑะที่สงฆ์ควรแจก

    ทั้งหมดนี้เป็นวัตรข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

    หลายท่านที่เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การไม่ทำอะไรเป็นปกติ คิดว่าไม่ควรเรียน และคนอื่นก็ไม่ควรเรียนด้วย ไม่ควรฟังธรรม เพราะเข้าใจว่า พวกเราทั้งหมดนี้ยังมีธรรมเครื่องเนิ่นช้า จักเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำสมณธรรมเท่านั้น นั่นเป็นวัตรข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเห็นปานนี้

    บางท่านเข้าใจผิดคิดว่า กำลังพูด กำลังฟัง เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แล้วอีกหลายอย่างหลายประการที่ท่านคิดว่าจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ควรจะได้สอบทานกับพระธรรมวินัย เพราะถ้าเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะพบว่า สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปได้โดยไม่เว้นอะไร

    บางท่านเข้าใจว่า ท่านต้องสงบ เมื่อสงบแล้วปัญญาก็รู้ชัดในสภาพของนามและรูป แต่ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ชัด ก็ต้องรู้ชัดในนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ปัญญาที่รู้ได้อย่างนี้จึงจะชื่อว่า เป็นปัญญาที่รู้ชัด

    อีกประการหนึ่ง เรื่องของการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และสอบทานกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่รู้ชัดพร้อมกับสติทางมโนทวารที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนั้น เป็นสิ่งที่เลือกเจาะจงไม่ได้ มีใครเจาะจงได้ไหมว่า จะให้ญาณนั้นรู้นามนั้น รู้รูปนั้น เพราะเวลาที่ความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ว่า จะเป็น ณ สถานที่ใด ในขณะใด นามใดเกิดขึ้นปรากฏ รูปใดเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น

    ตอนที่ท่านเพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐานยังมีความสงสัยว่า นี่นาม หรือนี่รูป ทางตาในขณะที่เพิ่งเริ่มระลึกรู้ ก็จะเกิดความสงสัยว่า สภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นลักษณะของนาม หรือเป็นลักษณะของรูป ในขณะที่กำลังเริ่มเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะยังไม่หมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูป แต่อาศัยสติระลึกตรงลักษณะที่กำลังปรากฏแล้วก็เริ่มรู้ทีละเล็กทีละน้อย ส่วนที่จะสมบูรณ์ถึงขั้นวิปัสสนาญาณเป็น นามรูปปริจเฉทญาณนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะไปกำหนดได้ว่า เมื่อไร ณ สถานที่ใด แล้วก็รู้นามใด รู้รูปใด แต่ญาณก็เกิดอย่างรวดเร็วตามวิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าในขณะนั้นญาณนั้นรู้ลักษณะของนามใดกี่นาม รูปใดกี่รูป ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณในขณะนั้นไม่สงสัยในลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

    กิเลสหมดหรือยัง ยังไม่หมด

    ญาณดับไหม ดับแล้ว แต่การยึดถือนามและรูปว่า เป็นตัวตนยังคงหนาแน่นเหนียวแน่น ซึ่งจะต้องอบรมเจริญสติเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น มากขึ้น เพื่อญาณขั้นต่อไป เพราะฉะนั้น ถึงแม้ในขณะที่เจริญสติอบรมปัญญา นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ปัจจยปริคคหญาณก็เกิดรู้ปัจจัยของนามและรูปในขณะที่เกิดปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าระลึกรู้ตรงลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรจะมาปิดกั้นที่เกิดของนามนั้นของรูปนั้นได้ เมื่อรู้ลักษณะแล้ว ก็ยังรู้ตรงสภาพที่เกิดของนามนั้นของรูปนั้น เป็นปัจจัยของนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดที่ต่างกัน เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามชนิดหนึ่งเกิดที่ใด นามอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะอย่างไร เกิดที่ใด เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย ปัญญาก็สามารถประจักษ์ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดสร้างขึ้น แต่เพราะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งวิปัสสนาญาณก็จะต้องสอดคล้องกับขั้นของความรู้แต่ละขั้นด้วย

    อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกัน และปัจจยปริคคหญาณ ก็รู้ชัดถึงสภาพที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เมื่อยังไม่หมดโลภะ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ความยินดีพอใจยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนก็ยังมี แต่จะค่อยๆ หมดไปได้ เพราะเหตุว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น แล้วก็ละคลายมากขึ้น การเจริญสติปัฏฐานต้องเจริญนาน เป็นปกติ

    ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค วรรณนา บรรพชาวินิจฉัย มีข้อความว่า

    ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ที่จะให้กุลบุตรบวชนั้น จะต้องรู้กิจที่ควรกระทำในการให้กุลบุตรบวช

    ถ้าฟังอย่างนี้ เหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานเลย บางท่านก็แยกพระวินัยไปปิฎกหนึ่งเลย แต่ท่านไม่ทราบเลยว่า ชีวิตของบรรพชิตนั้นเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระวินัย ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้ท่านเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ในการบรรพชาอุปสมบทนั้น ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ที่จะให้กุลบุตรบวช ก็จะต้องรู้กิจที่ควรกระทำในการให้กุลบุตรบวช

    ข้อความใน ตติยสมันตปาสาทิกา มีว่า

    เพราะว่าอุตสาหะของผู้ที่ใคร่จะบวชเป็นของรุนแรงก่อน แต่ภายหลังได้เห็นผ้ากาสายะและมีดโกนผมเข้า จะตกใจและหนีไปเสียจากที่นั่นก็ได้ เพราะเหตุนั้น อุปัชฌาย์เองนั้นแล ควรนำไปยังท่าสำหรับอาบ ถ้ากุลบุตรนั้นไม่เป็นเด็กนัก พึงบอกว่า จงอาบเสีย ส่วนผมของเขาพึงถือเอาดินเหนียวสระให้เองทีเดียว ฝ่ายกุลบุตรที่ยังเป็นเด็กย่อม อุปัชฌาย์พึงลงน้ำ ขัดสีด้วยโคมัย และดินเหนียว อาบให้เอง ถ้าว่าเขาเป็นหิดด้าน หรือฝีอยู่บ้าง มารดาไม่เกลียดบุตรฉันใด อุปัชฌาย์ไม่พึงเกลียดฉันนั้นทีเดียว พึงให้อาบขัดสี ตั้งแต่มือและเท้าจนถึงศีรษะเป็นอันดี

    นี่เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า

    ถามว่า เพราะเหตุไร คือ ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้นด้วย

    ตอบว่า เพราะว่าด้วยอุปการะเพียงเท่านี้ กุลบุตรทั้งหลายจะเป็นผู้มีความรักแรงกล้า มีความเคารพมากในอาจารย์และอุปัชฌาย์ และในพระศาสนา จะเป็นผู้ไม่หวนกลับเป็นธรรมดา จะบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเสีย อยู่ไปจนพระเถระ จะเป็นผู้กตัญญูกตเวที

    พยัญชนะมีว่า จะบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเสีย แม้แต่เป็นบรรพชิต มีศรัทธาที่แรงกล้าที่จะบวช แต่อาจจะเบื่อหน่ายได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในเวลาที่ให้อาบน้ำ หรือในเวลาปลงผมและหนวด ควรพึงสอน ตจปัญจกกัมมัฏฐานให้

    ตจปัญจกกัมมัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

    และเมื่อบอก พึงชี้แจงให้ชัดเจนถึงข้อที่ส่วนทั้ง ๕ นั้น เป็นของไม่สะอาด น่าเกลียด ปฏิกูลด้วยอำนาจสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย และโอกาส หรือข้อที่ส่วนทั้ง ๕ นั้น ไม่ใช่ผู้เป็นอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ก็ถ้าในกาลก่อน เขาเป็นผู้เคยพิจารณาสังขาร เจริญภาวนามา เป็นเหมือนฝีที่แก่เต็มที่ คอยรอการบ่งด้วยหนาม และเหมือนดอกปทุมที่แก่คอยรอพระอาทิตย์ขึ้น ทีนั้นเมื่อการพิจารณากัมมัฏฐาน สักว่าเขาปรารภแล้ว ญาณที่จะบดกิเลสให้แหลกไปเพียงดังภูเขานั้นแล ย่อมเป็นไปราวกะอาวุธของพระอินทร์ แล่งภูเขาให้แหลกละเอียดไปฉะนั้น เขาย่อมบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จทีเดียว จริงอยู่แต่แรกทีเดียว กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้สำเร็จพระอรหัตในขณะปลงผมเสร็จ กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดได้การฟังเห็นปานนี้ อาศัยนัยซึ่งอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรให้ จึงได้สำเร็จ ไม่ได้อาศัยแล้ว หาสำเร็จไม่ เพราะเหตุนั้นอุปัชฌาย์จึงควรกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นแก่เขา

    เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า ไม่ได้สอนให้ทำอย่างอื่นที่คลาดเคลื่อนจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย ไม่ได้จำกัดสถานที่ ไม่ได้จำกัดเวลาว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นต้องที่ไหนและขณะใด ขึ้นอยู่กับเหตุ คือ การเจริญสติ การพิจารณาสังขาร การอบรมภาวนามามากแล้ว ท่านเคยได้ยินคำว่าบารมีบ่อยๆ ท่านผู้นั้นบรรลุเพราะได้เจริญอบรมบารมีมามากแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ถึงฝั่ง สติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละขณะ ก็คือ บารมีที่จะให้ถึงฝั่งนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ท่านท้อถอย ถ้าท่านเข้าใจแล้ว อวิชชาและตัณหาก็จะไม่พาให้ท่านคลาดเคลื่อนไปจากการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏในขณะนี้

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานตามปกตินี้ ต้องเป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยญาณสัมปยุตต์อย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีท่านก็บอกว่า กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยญาณสัมปยุตต์นั้นจะเป็นการเจริญสติได้หรือ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าจะเจริญสติให้มีปัญญาเกิดขึ้นก็ต้องเป็นญาณสัมปยุตต์ ส่วนญาณวิปปยุตต์ไม่น่าจะเป็นการเจริญสติ แยกกันเป็น ๒ นัยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร

    สุ. นี่เป็นเรื่องของปริยัติ เพราะเหตุว่ากุศลแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ชื่อว่า ญาณสัมปยุตต์ ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจิตแต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็เป็นญาณวิปปยุตต์ เพราะกุศลจิตไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้น สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็รู้ในสภาวลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ในตอนที่เริ่มเจริญสติ การเติบโตหรือการเจริญขึ้นของปัญญา จะไม่ทำให้ปรากฏว่า เป็นปัญญาที่รู้แจ้งหรือรู้ชัด แต่ปัญญาต้องอาศัยการพิจารณา แล้วก็แยกรู้สภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

    สิ่งที่เกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันมาก คือ พระธรรม ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่อาศัยการฟังธรรมมีบุคคลเพียง ๒ บุคคลเท่านั้น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้ง ๒ ประเภทนี้ไม่อุบัติในสมัยเดียวกัน ในสมัยที่เป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ผู้ที่ได้สะสมอบรมบารมี อินทรีย์แก่กล้า ถึงกาลสมัยที่ว่างจากพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว การเจริญอินทรีย์ที่ได้อบรมมามากนั้น ก็ทำให้ผู้นั้นสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ โดยที่ไม่ได้อาศัยการฟังธรรมของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การเจริญสติปัฏฐาน เจริญเป็นปกติ แล้วปกติของปุถุชนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลนั้น มีใครยับยั้งโลภะ โทสะ โมหะ ได้ไหม ถ้าเป็นการเจริญสมาธิที่เป็น สมถภาวนา ผู้นั้นก็ระงับไว้ ยับยั้งไว้ด้วยนัยวิธีต่างๆ แต่ความเป็นตัวตนที่ยับยั้งที่ระงับที่สงบนั้น ไม่รู้เลยว่า เป็นสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยของความสงบ ทำให้สงบระงับกิเลสอกุศลต่างๆ ไว้เพียงชั่วคราว แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญอย่างสมถภาวนา สติเป็นสภาพที่ระลึก เมื่ออาศัยการฟังเข้าใจแล้ว สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง ทีละเล็กทีละน้อยตามปกติที่ท่านได้สะสมมาแต่ละบุคคล เมื่อมีปัจจัยของโทสะ โทสะก็เกิด โลภะประเภทใดอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น สติระลึกรู้ได้ขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้น

    ถ้าท่านศึกษาในพระสูตร จะเห็นว่า ผู้ที่บรรลุอริยสัจธรรมในขณะที่ได้ฟัง ธรรม และพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่เรื่องของมหาสติปัฏฐานก็มี เป็นเรื่องภัยของวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านจะไม่สงสัยว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติเจริญอย่างไร ผล คือ รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้นตามความเป็นจริง และการฟังธรรมนั้นจะมีประโยชน์มากสักเพียงใด ท่านก็สามารถที่จะรู้ได้

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ นันทโกวาทสูตร มีข้อความบางประการในตอนท้ายว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระนันทกะแสดงธรรมกถาแก่พวกภิกษุณี ท่านพระนันทกะก็ได้แสดงธรรมเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่เที่ยง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ไม่เที่ยง พร้อมด้วยอุปมาที่ไพเราะซึ่งเป็นอุปมาเรื่องของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ไม่เที่ยง เวทนาที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง

    ท่านพระนันทกะจะแสดงธรรมกถาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ได้ไหม มีธรรมอื่นไหม พ้นไปได้ไหม และใครบ้างที่ชีวิตปกติประจำวันไม่ใช่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่สัมผัสและคิดนึก สุข ทุกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และสาวกที่รู้แจ้งก็แทงตลอดในสภาพธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันนี้ได้ คนที่คิดว่า รู้ไม่ได้นั้น ไม่ใช่พระอริยบุคคลแน่นอน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๑๕๑ – ๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564