แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132


    ครั้งที่ ๑๓๒


    ถ้าลักษณะนั้นประกอบด้วยปีติหรือโสมนัส เป็นโลภมูลจิตที่เป็นไปกับโสมนัส บาลีใช้คำว่า โสมนัสสสหคตัง เวลาที่สติจะเกิดขึ้นก็เกิดในขณะที่สิ่งนั้นๆ กำลังเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวัน แล้วสติก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตนั้นว่าเป็นสราคจิต

    ในปริยัติได้ทรงแสดงโลภมูลจิตไว้ถึง ๘ ดวง

    ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ หมายความถึงสภาพจิตที่มีความยินดีต้องการ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เป็นไปกับความเห็นผิด และเป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่มีกำลังด้วย กล่าวคือ ได้เหตุได้ปัจจัยที่แก่กล้า จึงเกิดขึ้นได้ตามลำพังตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการชักชวน การลังเลใดๆ ทั้งสิ้น

    โลภทิฏฐิสัมปยุตต์มี ๔ ดวง เป็นโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง

    โสมนัสเวทนา ๒ ดวง คือ เป็นอสังขาริก มีกำลังแรงกล้าด้วยตนเอง ๑ ดวง เป็นสสังขาริก คือ อาศัยการชักจูง ๑ ดวง

    ส่วนอุเบกขาก็เหมือนกัน เวลาที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดแล้วก็มีกำลังกล้า ๑ ดวง และอาศัยการชักจูงอีก ๑ ดวง

    ทิฏฐิเจตสิก หรือความเห็นผิดในสภาพธรรมมีมากมายต่างๆ กันออกไป ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกนั้นก็มีมาก แต่ก็ยังมีความเห็นผิดสำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ศึกษาปริยัติแล้ว

    โดยการศึกษา ปริยัติมีแต่ปรมัตถธรรม คือ สภาพที่เป็นจิตปรมัตถ์ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นรูปปรมัตถ์ เป็นนิพพานปรมัตถ์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่มีการเกิดขึ้นและดับไป แล้วก็มีนิพพานปรมัตถ์ ๔ ปรมัตถ์เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าผู้ที่ศึกษาเข้าใจในเรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพานแล้ว ไม่มีสักกายทิฏฐิ หรือว่า ไม่มีความเห็นผิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องความเข้าใจในขณะที่เรียน แต่เวลาที่กำลังเห็น เป็นอย่างที่เรียนไหม

    เวลาเรียน จักขุวิญญาณไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพที่เห็นสี จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ รูปารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา นี่โดยการศึกษา เป็นแต่จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่เวลาเห็นจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่ศึกษา เห็นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ

    ถ้าบอกว่าโต๊ะ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะแยกรูปที่ประชุมรวมกันให้กระจัดกระจายออกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรทั้งสิ้นก็ตาม ถ้าปรากฏทางตาแล้ว ก็เป็นแต่เพียงรูปสี สีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น และผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ก็ยังคงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ ควบคุมประชุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การละ การขัดเกลากิเลสจะต้องทราบว่า ท่านเองถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรม แต่ถ้าไม่ได้เจริญสติ ไม่มีโอกาสที่จะละ หรือดับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้เลย แต่ผู้ที่เริ่มเจริญสติ ความรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น คมขึ้น แล้วแต่ขั้นของปัญญา ถ้าปัญญามีความคมกล้า ทันทีที่สติระลึก ก็รู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่สับสน หรือไม่ปะปนกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านก็พิจารณาได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่เป็นโลภมูลจิต จะเป็นโสมนัส หรือจะเป็นอุเบกขา แล้วก็มีทิฏฐิสัมปยุตต์ หรือว่าเป็นทิฏฐิวิปปยุตต์ เป็นอสังขาริกมีความแรงกล้า มีกำลัง หรือว่าเป็นสสังขาริกที่ไม่มีความแรงกล้า ต้องอาศัยการชักจูง

    ถ. คำว่า เปรี้ยว ความจริงทางโสตวิญญาณก็เป็นแต่เพียงเสียงเท่านั้นเอง แต่ในทันใดที่เสียงนี้เกิดขึ้น ก็รู้ความหมายทันทีว่าเปรี้ยวนี้เป็นอย่างไร และในขณะนั้น ในแวบเดียวนั้น ก็รู้ต่อไปอีกว่า ชอบหรือไม่ชอบ อภิชฌาหรือโทมนัสมาทันที ในเมื่อเราไม่สามารถจะรู้ทันเสียงหรือโสตวิญญาณ หรือไม่สามารถจะรู้ทันนามที่รู้เสียงนั้นได้ เราสามารถจะรู้นามที่รู้บัญญัตินั้นอีกต่อหนึ่งก็ยังได้ หรือว่าตรงนี้ยังไม่ทัน เมื่ออภิชฌาหรือโทมนัสอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น เรารู้ทันตรงนี้ก็ยังได้ หรือแม้ว่าทั้งหมดนี้รู้ไม่ทันเลย เราก็ระลึกรู้ต่อไปอีก ระลึกได้ทีหลังว่า เสียงที่ว่าเปรี้ยวนั้น เราก็รู้ตามความเป็นจริงว่าคือเสียง หรือว่าคือบัญญัติ หรือว่าความชอบ ไม่ชอบใจอะไรอย่างนี้ อย่างนี้จะพอได้ไหมครับ

    สุ. เวลาที่รู้เรื่อง นึกคิดไปต่างๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม หรือการที่รู้ความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติก็จะต้องรู้ว่าสภาพนั้นก็เป็นนามธรรม หรือมีความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้น สติก็จะต้องระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นหนาแน่นเหนียวแน่นเหลือเกินทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ สติเกิดรู้ชัดในลักษณะของนามของรูปตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง ทางไหนยังไม่ได้ระลึก ทางไหนยังไม่รู้ ไม่ใช่ว่ารู้เพียงได้ยิน หรือรู้เพียงแค่เสียง แม้แต่ที่กำลังเข้าใจเรื่องที่กำลังฟังอยู่ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะมีปัญญาที่คมกล้า พอสติระลึกรู้นามชนิดใดชนิดหนึ่ง รูปชนิดหนึ่งชนิดใดดับไปแล้ว มีนามอื่นเกิดต่อ สติก็รู้ในสภาพความเป็นนามนั้น มีรูปอื่นเกิดต่อ สติก็ระลึกรู้ในสภาพความเป็นรูปของรูปนั้น

    ถ. เณรอายุ ๗ ขวบ สามารถที่จะบรรลุอรหันต์ได้เพราะอะไร

    สุ. ฟังธรรมหรือเปล่า หรือว่าบรรลุเอง แน่นอนที่สุด เอกายโน มัคโค การเจริญสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าสติไม่ระลึกปัญญาไม่รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูป อะไรจะไปละการเห็นผิดได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุอริยสัจธรรม มีวัยที่ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ แล้วก็มีอินทรีย์ที่ได้สะสมมาที่ว่า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป ปัญญาก็รู้ชัดแทงตลอด ตัดเยื่อใยที่เคยยึดถือสภาพที่เกิดดับสืบต่อกันว่าเป็นตัวตนได้

    โลภมูลจิตที่ต่างเป็น ๘ ประเภทนั้นก็โดยเวทนา เป็นโลภมูลจิตที่เป็น โสมนัสเวทนา ๔ ดวง อุเบกขาเวทนา ๔ ดวง ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง อสังขาริก ๔ ดวง สสังขาริก ๔ ดวง

    ขณะนี้กำลังพูดถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

    ต่อไปก็เป็นโลภมูลดวงที่ ๒

    ดวงที่ ๒ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นโสมนัส ไม่ใช่จิตที่มีกำลังกล้า จึงเป็นสสังขาริก เมื่อเกิดมามีความไม่รู้ในลักษณะของนามของรูป มีฆนสัญญาเกิดขึ้นเวลาที่เห็นสิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มีการยึดถือ แต่ก็ยังมีคำสอนที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของตัวตนหนักแน่นขึ้นอีก ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป ถึงแม้ว่าจะตายแล้วจากโลกนี้แต่อัตตาก็ยังอยู่ นี่เป็นสภาพของความเห็นผิดซึ่งอาศัยการชักจูงของบุคคลอื่น การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และขาดการพิจารณาอย่างถูกต้อง ก็ทำให้ยึดมั่นเชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงได้ ซึ่งก็เป็นโสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

    เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูป ก็จะต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางหูก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางจมูกก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือกลิ่น สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือรส สิ่งที่ปรากฏทางกายก็เป็นรูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง รูปตึง รูปไหว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญ ฟัง เทียบเคียง สอบทาน แม้ในขณะที่สติเกิด ถ้ามีลักษณะปรากฏ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ แต่ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏ ก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นสิ่งที่ท่านมีสัญญายึดโยงรูปนั้นไว้

    โลภมูลจิตดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกกํ ไม่ใช่แต่เฉพาะปุถุชนเท่านั้นที่มีโลภทิฏฐิคตวิปยุตต์ แม้พระอริยบุคคลที่มิใช่พระอรหันต์ก็มีโลภทิฏฐิคตวิปยุตต์ด้วย

    แต่เมื่อพูดถึงอนุสัยกิเลสแล้วต่างกันมาก สภาพลักษณะของจิตที่เกิดเป็นโลภทิฏฐิวิปปยุตต์เหมือนกัน เชื้อของความพอใจมีมากมายพร้อมที่จะไหลไปสู่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างได้ยินเสียงนิดเดียวไม่รู้เลยว่าเสียงอะไร แต่ถ้าเป็นเสียงที่น่าฟัง ความพอใจยินดีก็มีในเสียงนั้น ทางตาก็เหมือนกัน ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน นี่ก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ อาจจะเกิดร่วมกับโสมนัสก็ได้ เป็นอสังขาริกก็ได้ นี่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๓

    ในขณะที่มีความยินดีความพอใจเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด ในขณะนั้นก็เป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    สิ่งที่ทำให้เห็นชัด คือ เทียบเคียงกับพระอริยเจ้า อย่างพระโสดาบันบุคคล มีโลภมูลจิตแต่ไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังเป็นสภาพของความพอใจ ความต้องการ ความชอบ ความยินดีในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู

    พระโสดาบันไม่รู้หรือว่าเป็นเก้าอี้ พระโสดาบันรู้ แต่ท่านไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยนับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ท่านเจริญปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป ท่านรู้ว่าการรู้ความหมายนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มี โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลย การเห็นของท่านก็เหมือนกับการเห็นของบุคคลอื่น ต่างกันที่อนุสัยกิเลส ทิฏฐานุสัยไม่มี วิจิกิจฉานุสัยไม่มี เพราะท่านเจริญสติแล้วท่านรู้ชัด ท่านรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นปกติ แต่ท่านละทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลยตั้งแต่ท่านเป็นพระอริยบุคคล แต่ยังมีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้นได้ ยังพอใจในสีสันวัณณะของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ของวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า นามทางตาเป็นอย่างไร รูปที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร แล้วที่รู้ความหมายนั้นที่ชอบที่ไม่ชอบนั่นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่เกิดกับความเห็นผิด แต่ไม่มีกำลังแรง

    สำหรับโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ก็โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าเกิดพร้อมกับความรู้สึกปานกลางที่เป็นอุเบกขา ไม่ได้เป็นโสมนัสเวทนาเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องของทิฏฐิคตสัมปยุตต์ วิปปยุตต์ อสังขาริก สสังขาริก ก็โดยนัยเดียวกัน

    จิตมีราคะ คือ สราคจิต เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ โดยปรมัตถธรรมก็ได้แก่โลภมูลจิต ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวงนั่นเอง ส่วนการที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกแล้วจะรู้ว่าเป็นประเภทไหน มีความต่างกันมากน้อยอย่างไรกับดวงอื่น ก็ต้องแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล

    สำหรับสักกายทิฏฐิ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นกุลปิตุสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับที่เภสกฬาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท คฤหบดีชื่อนกุลบิดาได้เข้าไปเฝ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นผู้ที่แก่เฒ่า ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดสั่งสอน พร่ำสอนด้วยธรรมที่เป็นประโยชน์

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า กายนี้กระสับกระส่ายเป็นดังว่าฟองไข่ อันผิว หนังหุ้มไว้

    ที่นั่ง นอน ยืน เดินกันอยู่นี่ ดูเหมือนกับมีความมั่นคงมาก แต่ความจริงแล้วทรงอุปมาว่า เป็นดังฟองไข่อันผิวหนังหุ้มไว้ คือ พร้อมที่จะแตกกระจัดกระจายออกเมื่อไรก็ได้ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย

    ซึ่งเมื่อนกุลบิดาคฤหบดีได้ฟังแล้วก็มีจิตชื่นชม แล้วได้ไปหาท่านพระสารีบุตร ซึ่งเมื่อนกุลบิดาได้ไปหาท่านพระสารีบุตร แล้วได้เล่าให้ฟังถึงข้อความที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค และพระดำรัสของพระองค์ที่ประทานโอวาทแล้ว

    ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถามคฤหบดีต่อไปว่า

    ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย แล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่

    มีบุคคลต่างกันเป็น ๒ จำพวก คือ เป็นผู้ที่มีกายกระสับกระส่ายทั้ง ๒ บุคคลเมื่อมีกายแล้วที่จะไม่กระสับกระส่ายไปด้วยความทุกข์ของธาตุที่มีอยู่ที่กาย ดิน น้ำ ไฟ ลมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีกายกระสับกระส่าย แต่ว่าผู้หนึ่งทั้งกายก็กระสับกระส่ายและจิตก็กระสับกระส่าย ส่วนอีกบุคคลหนึ่งนั้นถึงแม้ว่ากายจะกระสับกระส่าย แต่จิตก็หาได้กระสับกระส่ายไม่ เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามคฤหบดีว่า

    ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย แล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่

    ซึ่งนกุลบิดาคฤหบดีก็ไม่ได้ตอบ เพียงแต่ขอให้ท่านพระสารีบุตรแสดง ธรรมให้ท่านฟัง เพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้ง ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมกับ นกุลบิดาคฤหบดี มีข้อความว่า

    ที่กายกระสับกระส่าย และจิตกระสับกระส่ายด้วยนั้น ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังมีอยู่ แต่ที่ถึงแม้ว่ากายกระสับกระส่ายแต่จิตก็ไม่กระสับกระส่าย ก็เพราะหมด สักกายทิฏฐิแล้ว

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะนกุลบิดาคฤหบดีว่า

    ดูกร คฤหบดี ก็อย่างไรเล่า บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายด้วย จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายด้วย

    ดูกร คฤหบดี คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตัวตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา เป็นต้น

    ซึ่งในเรื่องของทิฏฐิ ความเห็นผิดต่างๆ ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะได้ราย ละเอียดจากขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ทิฏฐิกถา แต่ทิฏฐิ ๖๒ นั้นก็มีสักกายทิฏฐิเป็นมูล ถ้าไม่มีสักกายทิฏฐิเป็นมูลแล้วก็หมด ทิฏฐิอื่นก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้รู้แจ้งในสภาพของนามและรูปตามความเป็นจริงแล้ว ที่จะมีความเห็นผิด ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๑๓๑ – ๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564