แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133


    ครั้งที่ ๑๓๓


    สำหรับสักกายทิฏฐิ ๒๐ จำแนกไปตามขันธ์ ๕ คือ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีสักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้

    ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ทรงอุปมาว่า เหมือนกับเปลวไฟและแสงสว่าง

    ทุกท่านมีรูป ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน จะอ่อนจะแข็งก็ยึดถือ เพราะไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง เย็นก็เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือรูปนั้น จะอ่อนก็เป็นตัวเรา จะแข็งก็เป็นตัวเรา จะเย็นก็เป็นตัวเรา จะร้อนก็เป็นตัวเรา จะตึงไหวก็เป็นตัวเรา เห็นรูปว่าเป็นตน

    สำหรับการเห็นผิดในรูป ๔ ประการ

    ประการที่ ๑ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ คือ ถือรูปนั้นเองว่าเป็นตน

    ประการที่ ๒ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ สักกายทิฏฐิเป็นการที่ไม่รู้ชัดในขันธ์ทั้ง ๕ คือ ทั้งในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น ในข้อที่ว่า ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ คือ ผู้ที่ยึดมั่นในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตน

    ย่อมเห็นตนว่ามีรูป คือ เห็นนามขันธ์ว่ามีรูป ทรงอุปมาว่า เหมือนกับต้นไม้ที่มีเงา

    การที่ยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตัวตน ก็เห็นว่าตัวตนนี้มีรูป เหมือนกับต้นไม้มีเงา

    ประการที่ ๓ คือ ย่อมเห็นรูปในตน ๑

    นี่ก็โดยนัยที่ว่ายึดถือนามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตน แล้วก็เห็นรูปในตน ถ้าฟังอุปมาจะเข้าใจชัดเพราะทรงอุปมาว่า เหมือนกับดอกไม้ที่มีกลิ่น

    กลิ่นดอกไม้ก็เป็นกลิ่น ดอกไม้ก็เป็นดอกไม้ แต่ว่ากลิ่นดอกไม้อยู่ที่ไหน กลิ่นดอกไม้ก็อยู่ในดอกไม้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยึดถือในนามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตน ย่อมเห็นรูปในตนเหมือนกับกลิ่นดอกไม้ที่มีอยู่ในดอกไม้

    ประการที่ ๔ คือ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ อุปมาเหมือนกับ ขวดที่มีแก้วมณีอยู่ข้างใน คือ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ในรูป

    สักกายทิฏฐินี้มากมายจริงๆ จะเห็นได้ว่า กว่าจะละจะคลายได้ ปัญญาจะต้องรู้มาก รู้ทั่ว รู้ยิ่งจริงๆ

    สำหรับเรื่องของเวทนาขันธ์ ก็โดยนัยเดียวกันกับรูปขันธ์ เปลี่ยนแต่พยัญชนะ คือ

    ประการที่ ๑ ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑

    ประการที่ ๒ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ยึดถือว่าสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์เป็นตน เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ย่อมเห็นตนมีเวทนา

    ประการที่ ๓ ย่อมเห็นเวทนาในตน ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมเห็นเวทนาในตน

    ประการที่ ๔ ย่อมเห็นตนในเวทนา ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์ว่าเป็นตน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเห็นตนในเวทนา

    เปลี่ยนไปแต่พยัญชนะ แล้วก็เปลี่ยนขันธ์ไปเรื่อยๆ ขันธ์ละ ๔ ลักษณะ ก็เป็น ๒๐ เพราะว่าโดยมากก็พูดกันย่อๆ ว่าสักกายทิฏฐิ ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนั้น บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนี้ทั่วไปหมด เพราะความไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ถ. (ไม่ได้ยิน)

    สุ. อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ท่านผู้ฟังได้ระลึกว่า สักกายทิฏฐินั้นมีมาก หนาแน่นและเหนียวแน่น เพราะเหตุว่าถ้าจะกล่าวเพียงว่า สักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตัวตน แต่เวลาที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ต่างกันไปเป็นขันธ์ละ ๔ อย่าง

    ถ. ที่ท่านกล่าวไว้ในธาตุมนสิการบรรพนั้น ท่านบอกให้รู้ดิน รู้น้ำ รู้ไฟ รู้ลม การรู้อย่างนี้ถ้าเราไม่เอาลักษณะของดิน ของไฟ ของลม ของน้ำแล้วเราจะรู้อะไร คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ลักษณะ จึงจะรู้ว่าอย่างนี้คือดิน หรืออย่างนี้คือไฟ อย่างนี้คือลม มีอาการ หรือลักษณะปรากฏให้เราสามารถรู้ได้ทางกาย ก็สมควรที่จะรู้ลักษณะอย่างนั้น หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องรู้ลักษณะอย่างนั้น

    สุ. การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ที่ใช้คำว่าดิน หรือปฐวีธาตุ ก็หมายความถึงสภาพของจริงที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็งที่จะเป็นธาตุ เป็นของจริง ก็ต้องมีลักษณะจริงๆ ธาตุดินก็ปรากฏทางกาย ธาตุไฟ ธาตุลมก็ปรากฏที่กาย

    ถ. สำหรับธาตุ ๔ ที่ท่านพูดไว้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านก็พูดเพียงแต่ว่า รู้ดิน รู้น้ำ รู้ไฟ รู้ลม ตามตำราที่ท่านสอน คือ ปฐวีธาตุมีลักษณะอย่างไร เตโชมีลักษณะอย่างไร อาโปมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่มีลักษณะอ่อนหรือแข็งให้เรารู้ เราก็ไม่สามารถจะไปรู้ถึงว่านี้คือดินปฐวีได้ เช่นเดียวกับอิริยาบถ ๔ ท่านบอกว่า ให้รู้ชัดในการยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเราไม่รู้มหาภูตรูปที่เรายืน เดิน นั่ง นอนนี้ เราจะรู้อะไร เราก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เราก็ต้องรู้ลักษณะอยู่นั่นเอง เป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่

    สุ. กำลังนั่งอยู่อย่างนี้มีอะไรปรากฏบ้าง มีแข็ง อ่อนปรากฏที่ไหน ที่กายกระทบส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าจะนึกเป็นท่าเป็นทาง ไม่มีลักษณะที่ปรากฏที่กาย หรือว่าที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้นเลย

    โคจรรูป ๗ หรือวิสยรูป คือ รูปที่เป็นอารมณ์ มี ๗ รูป คือ สีเป็นอารมณ์ทางตา เสียงเป็นอารมณ์ทางหู กลิ่นเป็นอารมณ์ทางจมูก รสเป็นอารมณ์ทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวเป็นอารมณ์ทางกาย ๗ รูป ทางใจไม่ใช่รู้รูปอื่น ก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในเมื่อมีรูปซึ่งมีลักษณะปรากฏให้รู้แล้วไม่รู้ ก็ไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของรูปได้

    ถ. เจริญปัญญา

    สุ. การเจริญปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากจะง่ายขึ้นถ้าเริ่มเจริญ แต่ถ้ายังไม่เริ่มเจริญเลย สิ่งที่ยากก็คงยากอยู่ต่อไป

    การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่ควรเริ่มเจริญทันที และไม่ใช่ระลึกแต่กุศลจิต เมื่อมีสราคจิตที่เป็นอกุศลสติก็ระลึกได้ จะประจักษ์ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จริงๆ เพราะเมื่อมีปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด โลภมูลจิตก็เกิด แต่สติก็ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน เริ่มเจริญทันทีเป็นปกติ พระธรรมโอวาททั้งหมดก็เพื่อเตือนให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น

    บางท่านได้ยินคำว่ากิเลส บางท่านได้ยินคำว่าอาสวะ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมบางครั้งใช้คำว่ากิเลส และบางครั้งก็ใช้คำว่าอาสวะ ซึ่งความจริงแล้วสภาพของอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นเจตสิก ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภท แต่มีกิจการงานในวันหนึ่งๆ ตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น อาสวะเป็นอกุศลธรรมซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ คือ อาสวะ ๔ ได้แก่ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

    กามาสวะ สภาพที่ไหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ ด้วยความเพลิดเพลิน

    ภวาสวะ เป็นความยินดีความพอใจ ได้แก่ โลภเจตสิก สภาพที่มีความยินดี มีความต้องการในภพ ในชาติ หรือว่าในขันธ์นั้นเอง

    ความยินดีพอใจนี้ไม่ได้เป็นไปแต่เฉพาะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่ายังยินดีที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นภพเป็นชาติสืบต่อไป นี่เป็นความยินดีในภพซึ่งทุกท่านมี ถ้าไม่เจริญสติจะหมดไปไม่ได้เลย

    สำหรับทิฏฐาสวะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ยินดียึดมั่นในความเห็นผิด

    อวิชชาสวะนั้นก็ได้แก่ การที่ไหลไป หลงไปด้วยความไม่รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะละอาสวะเหล่านี้ได้เลย

    และการที่จะละอาสวะทั้ง ๔ จะยากสักแค่ไหน

    สำหรับกามาสวะ ความยินดี ความหลง ความไหลไปตามอารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย แสดงการอุปมาว่า

    อุปมาเหมือนกับมีดหั่นเนื้อและเขียง คนวางเนื้อบนเขียง แล้วสับด้วยมีดฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ถูกกิเลสกามเบียดเบียนอยู่ เพราะต้องการวัตถุกาม ชื่อว่า ถูกสับโขกด้วยกิเลสกามบนวัตถุกาม เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ละฉันทราคะในกามคุณ ๕

    เมื่อมีกามราคะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ เป็นจิตตานุปัสสนา เป็นปกติธรรมดา

    ถ้ายิ่งศึกษาธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะยิ่งเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงการละกิเลสว่า ควรจะเจริญอย่างไร ไม่ใช่ไปบังคับ ไม่ใช่ไปฝืน เพราะเหตุว่ากามราคะ หรือกามาสวะนั้นจะหมดสิ้นไปได้ก็ต่อเมื่อบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามี ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล หรือพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังมีกามาสวะ แต่ไม่มีทิฏฐาสวะ นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจด้วย

    สำหรับเรื่องของภวาสวะ คือ ความยินดีพอใจในภพในชาติ ไม่ว่าจะเป็นในการเห็น การได้ยิน ก็อยากจะเห็นอยู่เรื่อยๆ อยากจะได้ยินอยู่เรื่อยๆ อยากจะมีขันธ์ ๕ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในข้อนี้มีอุปมาว่า

    นันทิราคะ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนั้นคนส่วนมากต้องการ แม้มนุษย์ทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้น เดรัจฉาน มีกา เป็นต้น ก็มีความต้องการในชิ้นเนื้อเช่นกัน สัตว์เหล่านี้มีอวิชชา ติดในนันทิราคะ ย่อมปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่ที่วางไว้แล้วฉันใด สัตว์ทั้งหลายถูกนันทิราคะผูกพัน ย่อมติดอยู่ในวัฏฏะ ฉะนั้น

    แม้ถึงประสบความทุกข์ ก็ไม่รู้จักเบื่อหน่าย เพราะเหตุนั้นนันทิราคะจึงเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ละนันทิราคะด้วยมรรคที่ ๔

    การละกิเลสนี้ต้องละเป็นขั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในขันธ์ ซึ่งจะละได้ก็ด้วยอรหัตตมรรค

    นี่ก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ อย่าไปละผิด หรือว่าอย่าไปบังคับผิดๆ

    สำหรับในเรื่องของ ทิฏฐาสวะ นั้นที่จะละได้หมด ต้องเป็นพระโสดาบัน บุคคล สำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านระลึกรู้แต่เพียงรูปธรรม ตัวตนยังอยู่ที่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ทราบว่า ปัญญาเพียงเท่านี้ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ท่านก็จะไม่ข้ามการระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึกที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าคิดจะข้ามก็เป็นตัวตนที่คิด ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึกรู้ว่า การละสักกายทิฏฐิได้จริงๆ นั้น ปัญญาต้องสมบูรณ์มาก ละเอียดขึ้น คมกล้าขึ้น รู้แจ้งจริงๆ ในลักษณะของรูปและนามที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่มีเยื่อใยไปยึดโยงไว้ว่าเป็นตัวตน

    สำหรับ อวิชชาสวะ ใน ปปัญจสูทนี ได้ทรงแสดงเปรียบ อวิชชาด้วยลิ่มสลัก ซึ่งก็เป็นลิ่มสลักของประตูเมืองที่ปิดกั้นคนข้างนอกและข้างในไม่ให้ผ่านไปมาได้

    ลิ่มสลัก คือ อวิชชาในญาณมุขของผู้ใดตกไป การเข้าถึงญาณที่จะให้บรรลุพระนิพพานของผู้นั้นถูกปิดลง เข้าประตูพระนิพพานไม่ได้ ไปติดสลักคือ อวิชชาอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การละอวิชชา เริ่มต้นด้วยการเรียน สอบถามกัมมัฏฐาน

    บางท่านฟังปริยัติ แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการเข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ทำอย่างนั้น มีตัวตนเข้าไปแทรก

    เวลาที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็เข้าใจถูกต้อง แต่เวลาสติเกิดจริงๆ ไม่เป็นเหมือนอย่างที่ฟังแล้วเข้าใจ เพราะเหตุว่าอวิชชานั้นหลายขั้นมากมายเหลือเกิน กำลังฟังพิจารณาเหตุผลแล้วเข้าใจถูกเป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อวิชชา อวิชชานั้นไม่ใช่หมดไปด้วยการฟัง อวิชชายังมีกิจที่จะทำงานจริงๆ อีกมากมายหลายขณะ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรมเจริญสติจนกระทั่งสามารถสำเหนียกสังเกตรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตยังมีความต้องการ ยังมีตัวตนที่แฝงอยู่ ทำให้จงใจ หรือว่าประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง

    เพราะฉะนั้น อวิชชานี้ก็กั้นได้หลายขั้น ถ้าไม่ฟังธรรม อวิชชาก็กั้นอยู่ตลอด สำหรับอวิชชาสวะนี้จะละดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยอรหัตตมรรค

    ในวันหนึ่งๆ กามาสวะก็มีทุกขณะที่สติไม่เกิด ภาวสวะก็มี ทิฏฐาสวะก็มี อวิชชาสวะก็มี ไหลไปเป็นกระแสของจิตที่เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ถ้าเห็นกิเลสมากๆ อย่างนี้ ก็จะต้องเห็นด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องมากอย่างไร แล้วก็จะต้องรู้ชัดอย่างไร

    ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้

    ทรงรู้อะไรแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นนามขันธ์ใด รูปขันธ์ใดที่เกิดขึ้นปรากฏ พระผู้มีพระภาคทรงรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เพื่อให้ไม่รู้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงฝึกฝนแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกฝน

    ไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน แต่ทรงบำเพ็ญพระบารมี มาที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้ประพฤติปฏิบัติ ให้ฝึกฝน ให้เจริญ

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของการเจริญ เป็นเรื่องของการอบรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงสงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบทั้งปวง

    ท่านที่ยังเต็มไปด้วยกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะนั้น ไม่ใช่ผู้สงบ เป็นผู้ที่กระสับกระส่ายยิ่งนักด้วยความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ พอใจในขันธ์ ในตา ในหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในการเห็น ในการได้ยิน ในทุกสิ่งทุกอย่างหมดทีเดียว ไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบเลย แต่พระผู้มีพระภาคนั้นทรงสงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบทั้งปวง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงข้ามพ้นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น

    คือ ข้ามพ้นจากภัยต่างๆ ของวัฏฏะ หรือว่าข้ามพ้นจากวัฏฏะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๑๓๑ – ๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564