แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143


    ครั้งที่ ๑๔๓


    ข้อความต่อไป พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเดินเที่ยวไปตามอารามทุกอาราม ตามอุทยานทุกอุทยานอยู่เนืองๆ ในที่นั้นๆ หม่อมฉันได้เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่ตั้งใจแลดูคน หม่อมฉันนั้นได้เกิดความคิดว่า ท่านเหล่านี้คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์เป็นแน่ หรือว่าท่านเหล่านั้นมีบาปกรรมอะไรที่ทำแล้วปกปิดไว้ ท่านเหล่านั้นจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าไม่ตั้งใจแลดูคน หม่อมฉันเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วถามว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เหตุไรหนอท่านทั้งหลายจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าไม่ตั้งใจแลดูคน

    สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้ตอบอย่างนี้ว่า

    ดูกร มหาบพิตร อาตมาภาพทั้งหลายเป็นโรคพันธุกรรม

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ร่าเริงยิ่งนัก มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย มีขนอันตก เลี้ยงชีพด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดังมฤคอยู่

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้มีความคิดว่า ท่านเหล่านี้คงจะรู้คุณ วิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นแน่ ท่านเหล่านั้นจึงร่าเริงยิ่งนัก มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย มีขนอันตก เลี้ยงชีพด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดังมฤคอยู่

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

    นี่เป็นข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุว่าข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นที่แสวงหากันมาตั้งแต่อดีต แต่ถ้าไม่ศึกษาธรรมอันละเอียดลึกซึ้งและสุขุมแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถประพฤติถูกต้องที่จะให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินไปตามอุทยานต่างๆ อารามต่างๆ นั้น ก็ได้เห็นบุคคลที่มีข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆ กัน เช่น บุคคลที่ซูบผอมตามเนื้อตามตัวมีเส้นเอ็นสะพรั่ง แล้วก็หน้าตาซูบซีด ผิวพรรณไม่ผ่องใส ดูเหมือนว่าจะไม่ตั้งใจแลดูคน

    นี่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเห็น ก็แปลกใจว่า ท่านเหล่านี้คงเศร้าโศก มีความในใจ ไม่ยินดีประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์เป็นแน่ หน้าตาจึงได้เป็นทุกข์เศร้าโศกซูบผอมอย่างนี้ และเมื่อได้ถามว่า เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ตอบว่า ท่านเป็นโรคพันธุกรรม

    ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ธรรมเจติยสูตร มีข้อความอธิบายเรื่องโรคพันธุกรรมว่า

    พันฺธุกโรโค คือ กุลโรโค

    อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ผู้ที่เกิดแล้วในตระกูลของพวกเราเป็นอย่างนี้

    หมายความว่า ถ้าปฏิบัติในสายเดียวกัน ก็จะมีลักษณะของโรคนี้เหมือนกัน ซึ่งเป็นโรคประจำลัทธิ ถ้าไปสู่ที่หนึ่งที่ใด หรืออารามหนึ่งอารามใด หรือสถานที่หนึ่งที่ใด แล้วก็ปฏิบัติเหมือนกันไปหมด ผิดปกติหรือว่าเป็นปกติจริงๆ ของท่านทุกวันๆ ซึ่งแต่ละคนจะเหมือนกันอย่างนั้นได้ไหม จะชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่เหมือนกัน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด ก็ไม่มีเหมือนกันเลย เพราะเหตุว่าสะสมเหตุปัจจัยมาต่างๆ กันไป เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญาไม่ใช่ไปแสร้งทำให้เกิดโรคพันธุกรรมขึ้น คือ ไปเหมือนๆ กันหมด ทรมานจนกระทั่งซูบผอม ผอมเหลือง ตามเนื้อตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น และดูเหมือนว่าไม่ตั้งใจจะแลดูคน

    ท่านผู้ฟังต้องการติดโรคพันธุกรรม หรือต้องการมีโรคพันธุกรรมบ้างไหม อยู่ดีๆ ก็เกิดมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่จะไปทำให้โรคพันธุกรรมเกิดขึ้น

    ข้อความต่อไป

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลข้อความที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคอีกหลายประการ แล้วก็ทรงกราบทูลลา ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จหลีกไป

    ครั้งนั้นแล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ ตรัสธรรมเจดีย์ คือพระวาจาเคารพธรรม ทรงลุกจากที่ประทับนั่งแล้วเสด็จหลีกไป

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ จงทรงจำธรรม เจดีย์นี้ไว้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอาทิพรหมจรรย์

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ จงทรงจำธรรมเจดีย์นี้ไว้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอาทิพรหมจรรย์

    คือ มีธรรมเป็นเจดีย์ เป็นที่เคารพ มีข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุในธรรมวินัยที่เทียบเคียงได้กับข้อปฏิบัติของสมณพราหมณ์อื่น เมื่อเห็นข้อประพฤติปฏิบัติ ที่น่าเลื่อมใส เป็นที่ควรเคารพ ก็เป็นธรรม คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ควรเคารพ

    . (ไม่ได้ยิน)

    สุ. สติระลึกลักษณะของธรรมทุกอย่างที่เกิดปรากฏแล้ว แม้แต่โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นอกุศล อกุศลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏที่จะละได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ารู้ชัดในสภาพนั้นตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ใช่ไประงับ ไปฝืน ไปยับยั้งด้วยวิธีไม่รู้

    ถ้าวันหนึ่งๆ มีแต่โลภะบ้าง โทสะบ้าง โดยที่สติไม่เกิดคั่นเลย กระแสของกิเลสก็ไหลมาก เพิ่มพูนขึ้นทุกทีๆ เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกเพียงชั่วครั้ง สองครั้ง ขณะ สองขณะ นามบ้าง รูปบ้าง ทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งของการสะสม น้ำทีละหยดก็ต้องเต็มได้ แต่ต้องอาศัยสติที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนี่เอง ทุกๆ ขณะที่สติเกิดมีประโยชน์มาก มีอานิสงส์มาก

    ถ. บางท่านบรรยายว่า เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ระลึกว่าจะไปโปรดใครดี ก็ระลึกถึงพระปัญจวัคคีย์ เมื่อไปถึงท่านพระ ปัญจวัคคีย์ก็ยอมให้ท่านสอนธรรม แต่มีข้อความบางตอนที่บรรยายว่า ขณะที่ ๒ องค์รับคำสอน อีก ๓ องค์ไปบิณฑบาต ขณะที่ ๓ องค์รับคำสอน อีก ๒ องค์ก็ไปบิณฑบาต ซึ่งท่านก็สรุปว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ต้องเจริญอย่างเดียวจะไปทำอะไรอื่นไม่ได้ ให้ดูตัวอย่างพระปัญจวัคคีย์นี้เป็นต้น

    ผมได้รับฟังมาอย่างนี้ ไปตรวจดูในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ ไปเปิดดูในโพธิราชกุมารสูตร มีข้อความเพียงว่า เมื่อพระองค์ทรงสอนพระปัญจวัคคีย์ ๒ องค์ อีก ๓ องค์ก็ไปบิณฑบาต เมื่อได้สิ่งใดมาก็มาเลี้ยงดูกัน เมื่อท่านสอนพระปัญจวัคคีย์ ๓ องค์ อีก ๒ องค์ก็ไปบิณฑบาต ผลัดกันอย่างนี้ แล้วก็นำมาเลี้ยงดูกัน และท่านก็สรุปว่า ไม่นานเลยพระปัญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จมรรคผลตามสมควร เป็นข้อสรุปที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าไว้อย่างนี้

    ข้อความมีแค่นี้ แต่ที่ได้ฟังมาไม่ใช่แค่นี้ เขาบอกว่า พระพุทธองค์เองท่านก็รู้ว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องเจริญตลอดไป จะเจริญไปบ้างทำอย่างอื่นไปบ้าง อย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้อง ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    สุ. ขอบคุณท่านผู้ฟัง ที่กรุณาหยิบยกปัญหาซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้ท่านผู้อื่นได้เข้าใจข้อความชัดเจนขึ้น

    สำหรับในเรื่องนี้ ขอยกข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โพธิราชกุมารสูตร มีข้อความว่า

    ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตนครสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท โพธิราชกุมารทูลเชิญพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารที่ปราสาทชื่อโกกนุท ที่สร้างแล้วใหม่ๆ สมณพราหมณ์หรือมนุษย์คนใดคนหนึ่งยังไม่ได้อยู่เลย

    นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่คงจะสืบต่อมาจากในครั้งนั้น เวลาที่มีการสร้างบ้านใหม่หรือสถานที่ใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อการระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อการกุศล ก็ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปรับภัตตาหาร และในครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพานนั้น ถ้าพระองค์ประทับอยู่ ณ สถานที่ใด บุคคลนั้นก็มีโอกาสที่จะได้ทูลเชิญให้เสด็จไปรับภัตตาหาร

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลมีข้อความว่าความสุขอันมนุษย์จะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความทุกข์แล

    นี่เป็นความเห็นของโพธิราชกุมาร ซึ่งเป็นต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะได้ตรัสเล่าถึงประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าโพธิราชกุมารนั้นมีความเห็นว่า การที่บุคคลจะพึงถึงความสุขได้นั้น พึงถึงด้วยความสุขไม่มี หมายความว่า จะพึงถึงด้วยความสุขไม่ได้ คล้ายๆ กับว่า การที่จะถึงความสุขจะต้องด้วยความทุกข์ คือ การทรมานตัวให้ลำบาก

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น ได้ตรัสเล่าถึงการทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทรงตรัสรู้

    ทรงระลึกถึงครั้งที่ทรงบรรลุปฐมฌาน เมื่องานวัปปมงคลของพระบิดา ก็ทำให้ทรงพระดำริว่า จะกลัวความสุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ แล้วทรงบริโภคอาหารหยาบ ทรงมีกำลังขึ้น แล้วก็ทรงเจริญความสงบบรรลุปฐมฌานเป็นต้นไป จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงดำริที่จะทรงแสดงธรรม ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า พระปัญจวัคคีย์นั้นควรจะเป็นบุคคลที่จะได้ทรงแสดงธรรม เพื่อทรงอนุเคราะห์

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมฟังธรรมแล้ว ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสในพระสูตรนี้มีว่า

    วันหนึ่งอาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๒ รูป ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาตได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ รูปก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น อาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น

    ครั้งนั้นภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมาภาพกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่เช่นนี้ ไม่นานเลย ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันแล้ว เข้าถึงอยู่

    นี่เป็นข้อความในโพธิราชกุมารสูตร ซึ่งใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่าเมื่อท่านได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ท่านคิดอย่างไร เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็จะต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำตามควรแก่เพศนั้น เป็นบรรพชิตไม่บิณฑบาตได้ไหม เป็นฆราวาสไม่ทำงานได้ไหม เพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการมีชีวิตอยู่ ก็ต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำ แม้บรรพชิตก็ต้องบิณฑบาต ซึ่งถ้าท่านไม่ติดเรื่องของการบิณฑบาต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะให้เห็นว่า การฟังธรรมมีประโยชน์เกื้อกูล ทำให้บุคคลนั้นขณะที่กำลังเจริญสติ ก็สามารถที่จะน้อมจิตไปพิจารณา เพื่อการละคลาย และเพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าบิณฑบาตไม่ได้ เพราะอะไร ทรงโอวาทตลอด พร่ำสอนตลอด จนกว่าจะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างนั้นผลัดกันไปบิณฑบาตกี่ครั้ง ท่านต้องเป็นผู้ที่เจริญสติแม้ขณะที่บิณฑบาต เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ให้เป็นผู้มีปกติเจริญสติ

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค พระปัญจวัคคีย์ทูลของบรรพชาอุปสมบท มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน กราบทูลขออุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา ครั้นต่อมาพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดกับท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ ท่านทั้งสองได้กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้ง ๓ นำมาถวาย ได้ประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถา ภิกษุเที่ยวบิณฑบาต นำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูปก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น

    วันต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแก่ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิ ท่านทั้ง ๒ ได้เห็นธรรมแล้ว กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา

    ทั้ง ๕ รูป บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ซึ่งจากพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้มีข้อความชัดเจนว่า ท่านผู้ใดไปบิณฑบาตกับใครในวันไหน มีข้อความแต่เพียงว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุในวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วพระภิกษุ ๓ รูปไปบิณฑบาต ๒ รูปฟังโอวาท

    อรรถกถาปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรกถา ปาสราสิสูตร และอรรถกถา โพธิราชกุมารสูตร และใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถา พระวินัย มหาวรรค ก็มีข้อความตรงกัน ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความของอรรถกถา มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงใคร่ครวญว่า ผู้ใดสมควรที่จะได้ทรงอนุเคราะห์แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จจากโพธิมณทลไปยังพาราณสี ก็ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแล้วในวันอุโบสถนั้นเอง ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหะ คือ วันอุโบสถ วันเพ็ญ เดือน ๘ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ตก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล

    พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จไปสู่บ้านแม้เพื่อบิณฑบาต จำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ ทั้งนี้เพื่อทรงโอวาทและทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ เมื่อปัญจวัคคีย์รูปใดสงสัยก็ได้ไปเฝ้าทูลถาม และแม้พระผู้มีพระภาคเองก็เสด็จไปทรงอนุเคราะห์ยังที่ภิกษุนั้นนั่งอยู่ ทรงสละแม้เวลาเสวยพระกระยาหาร พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ๒ รูป ๓ รูปไปบิณฑบาต และทรงโอวาท ๓ รูป ๒ รูปไปบิณฑบาต

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาก็ไม่ได้บอกว่า พระปัญจวัคคีย์รูปใดไปกับรูปใด เพราะเหตุว่า เมื่อได้รับฟังโอวาทแล้ว แม้ว่าจะไปบิณฑบาตก็จะต้องเจริญสติด้วย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ท่านพระวัปปะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๑ ค่ำ คือวันรุ่งขึ้นจากที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๔ ค่ำ และในวันแรม ๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุธรรม สิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๑๔๑ – ๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564