แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177


    ครั้งที่ ๑๗๗


    ส่วนสัปปุรุษ และสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าสัปปุรุษก็โดยนัยตรงกันข้าม นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของคนชั่ว และคนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว คนดี และคนดีที่ยิ่งกว่าคนดี บุคคลผู้มีธรรมอันลามก และบุคคลผู้มีธรรมอันลามกที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมอันลามก บุคคลผู้มีธรรมอันงาม และบุคคลผู้มีธรรมอันงามที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมอันงาม

    เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาไตร่ตรองว่า ผู้ใดชักชวนให้ท่านเจริญสติ หรือผู้ใดชักชวนให้ท่านหลงลืมสติ ก่อนที่จะไปรู้ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นพระอนาคามี ใครเป็นพระสกทาคามี ใครเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่หนทางข้อปฏิบัติ ท่านก็ควรจะพิจารณาไตร่ตรองว่า ผู้นั้นเป็นสัปปุรุษ หรือว่าอสัปปุรุษ

    . ศีล ๕ ก็ปฏิบัติสติปัฏฐานได้ใช่ไหม นอกจากศีล ๕ แล้ว จะต้องมีหลักอะไรประจำในใจว่า ๑. ทำนั่นไม่ได้ ๒. ทำนี่ไม่ได้ จึงจะได้นามรูปปริจเฉทญาณ

    สุ. นามรูปปริจเฉทญาณเป็นผลของการเจริญสติ นอกจากการเจริญสติแล้ว ไม่มี จะใช้วิธีอื่นนั้นไม่ได้ หนทางเดียวคือการเจริญสติ สมบูรณ์เมื่อไรก็ถึงเมื่อนั้น แต่ต้องอาศัยเหตุ คือ การเจริญสติ และการแสวงหาพระอริยเจ้า ก็อย่าข้ามข้อปฏิบัติที่จะให้เป็นพระอริยเจ้า

    . การเจริญสติจะต้องเจริญด้วยตัวของตัวเอง สมมติว่าเรารู้ว่าท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ ก็ไปถามท่านว่าท่านเจริญสติอย่างไรจึงเป็นพระอรหันต์ ท่านก็จะต้องตอบอย่างที่อาจารย์กำลังบรรยาย เพราะพระอรหันต์ท่านก็นำเรื่องนี้มาจากพระพุทธเจ้า และท่านก็เจริญสติของท่านไปจนสามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นตัวของท่านเอง ถ้าจะเอาเรื่องนี้หรือผลนี้ไปยื่นให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้น การเจริญสติก็เห็นชัดๆ อยู่ว่า เกิดอยู่ที่ตนเอง คนอื่นนำมาให้ไม่ได้

    คามิกะ. ผมได้ฟังว่า อยากรู้จักพระอรหันต์บ้าง พระโสดาบันบ้าง รู้ยากครับ พระอรหันต์จริงๆ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติว่า อย่าไปอวด ถ้าไม่ได้เป็น ก็เป็นปาราชิก

    มีอยู่เรื่องหนึ่ง เณรเดินติดตามพระรูปหนึ่ง และบ่นอยากรู้จักพระอรหันต์ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร พระท่านก็บอกว่า คนที่ไม่เจริญอะไร แม้แต่จะเดินใกล้ พระอรหันต์ก็ไม่รู้ แต่ท่านก็ไม่บอกว่าท่านเป็น แท้ที่จริงท่านเป็นพระอรหันต์

    อีกเรื่องหนึ่ง ในธรรมบทประโยค ๓ พระ ๖๐ รูปเรียนกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้า ไปถึงชนบทแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีโยมผู้หนึ่งเกิดความเลื่อมใส มานิมนต์พระให้อยู่ที่นั่น จะถวายภัตตาหารเช้า ถวายเพลเอง เวลาผ่านไประยะหนึ่ง โยมนั้นก็ถามว่า ท่านเรียนอะไร ดิฉันจะเรียนบ้างได้ไหม พระก็บอกว่า ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ห้ามหรอก ก็บอกกัมมัฏฐานให้โยมคนนั้น อยู่มาสักเดือนหนึ่ง พระรูปหนึ่งอยากฉันแกงนั้นแกงนี้ โยมก็เอามาถวาย สัก ๓ เที่ยวพระรูปนั้นชักใจไม่ดี นึกว่า เรานึกเท่านั้น ก็เอามาถวายได้ ถ้าเรานึกสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็น่าอายโยม

    แต่โยมคนนั้นได้บรรลุถึงพระอนาคามี บอกหน่อยเดียวก็สำเร็จ พระยังไม่รู้เรื่อง ยังเป็นปุถุชนทั้งนั้น นี่เป็นเรื่องลำบาก เฉพาะตนจริงๆ คนอื่นรู้ไม่ได้

    สุ. ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านไม่ประกาศตน พอจะนึกได้ไหมว่าเพราะอะไร และเพราะเหตุใดบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าจึงประกาศตน

    ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ละเอียด เมื่อเจริญสติ รู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับตนซึ่งเป็นปุถุชน ฉันใด ปุถุชนอื่นก็ฉันนั้น เมื่อเจริญสติก็สำเหนียก รู้ลักษณะของนามของรูป แม้แต่ปัจจัยที่จะทำให้กายชนิดใดเป็นไป วาจาชนิดใดเป็นไป ผู้นั้นก็ทราบว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเอ่ยว่า เป็นผู้บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะอะไร มีอะไรที่ทำให้ต้องเอ่ยออกมาว่า เป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เพื่ออะไร แต่ถ้าแสดงเหตุผลตามธรรมวินัยให้ผู้อื่นได้ฟังได้เข้าใจ ก็ย่อมไม่เหมือนกับการที่จะพูดถึงผล แต่พูดถึงเหตุที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ได้พิจารณา ได้สอบทาน ได้ประพฤติ ได้ปฏิบัติ ได้ตรวจสอบ และได้พิสูจน์ด้วยตนเอง

    . สัมมาสติ เท่าที่ผมเข้าใจ ไม่มีตัวตน เกิดขึ้นเอง แต่มีปัญหาว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเองได้หรือ ถ้าเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุก็ผิดหลักของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากเหตุ แล้วจะเกิดขึ้นเองได้อย่างไร ผมขอเรียนว่า เหตุมีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เหตุที่จะไปทำ เหตุ คือ ฟัง เพื่อให้รู้จักคำว่า สัมมาสติ สตินี้เกิดขึ้นเอง ฟังบ่อยๆ พอรู้เรื่อง สติจะเกิดขึ้นเอง

    อะไรเป็นเครื่องระลึก ระลึกคำสอนเมื่อวาน เมื่อปีก่อน อยู่ในใจ เป็นเครื่องระลึก แล้วสัมมาสติจะเกิด เราก็รู้ทันว่า นั่นเป็นนาม นั่นเป็นรูป เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงใช้คำว่า ไม่ขัดข้องในที่ทุกสถาน จะเป็นที่ไหนๆ ก็ไม่ขัดข้อง เพราะไม่มีตัวที่จะไปทำ อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่ผมพูดก็ได้ หรืออาจจะเกิดขึ้นที่ไนท์คลับก็ได้

    และคำว่า พิจารณา ที่อาจารย์พูดนั้น ช้าไป พอเห็นรูปรู้ทันทีเลย อาตาปี สัมปชาโน สติมา ปั๊ปเข้าไปเลย ความขยันอย่างไร อาตาปี ขยันเพียงเสี้ยววินาที ขวนขวายรู้ เพราะฉะนั้น คำว่า อาตาปี ไม่นานเลย เดี๋ยวจะเข้าใจว่าพูดนาน ยืนนาน จึงเป็นอาตาปี

    สุ. สำหรับ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ที่มีอยู่ในมหาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องส่องถึงความจริงว่า ชั่วขณะที่สติเกิด มีเพียรอยู่ด้วย ร่วมอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าต้องมีตัวตนไปเพียร นั่นผิด นั่นไม่ใช่อาตาปี แต่ขณะใดที่สติระลึก จะปราศจากวิริยะ คือ อาตาปี หรือความเพียร การปรารภลักษณะของนามของรูปไม่ได้เลย

    ประโยชน์ของการฟังธรรม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีอุปสรรคเลย สติย่อมสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และความรู้ก็ชัดเจนขึ้นตามขั้นของเหตุ คือ การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของกุศล เรื่องของอกุศล เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ก็ระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อละความไม่รู้ ละความที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าปกติสติไม่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะไม่มีความชินต่อลักษณะของนามของรูปซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น หนทางที่จะทำให้รู้ชิน รู้ชัด รู้ทั่วที่จะละคลายได้ ก็เพราะสติระลึกเป็นปกติ

    ถ. เรื่องรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน อิริยาบถ ๔ นี้ มีอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจริง แม้ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นก็มีเรื่องของรูปเหมือนกัน แต่ท่านระบุเป็นขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ไม่ได้ระบุว่า เป็นรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน หรือรูปนอน แต่บางท่านยังยืนยันหนักแน่นว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินมีอยู่แน่ และรู้ได้ทางใจ ทำให้ผมไม่เข้าใจจริงๆ

    สุ. ทางที่จะพิสูจน์ชี้ชัดว่า สภาพธรรมใดมีจริง สภาพธรรมใดไม่มีจริง จะต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยละเอียดทั้ง ๓ ปิฎกนั่นเอง คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก นอกจากนั้นแล้วคงจะไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ท่านที่เข้าใจว่า ท่านประจักษ์สภาพของรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินว่าเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งการที่จะชี้ให้เห็นว่า เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงหรือว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริงได้นั้น ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

    ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬสุญญตสูตร มีข้อความว่า

    ข้อว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

    เวลาพูดถึงมหาสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ สติปัฏฐานเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ว่ามีใครจะแยกไปรู้เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่รู้เวทนา ไม่รู้จิต ไม่รู้ธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่มีแต่รูป ไม่ใช่มีแต่กาย เวทนาก็มี จิตก็มี ธรรมอื่นๆ ก็มี

    แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา ในอรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า ข้อว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

    ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนไหนที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นปฏิกูลมนสิการส่วนต่างๆ หรือขณะที่นั่ง นอน ยืน เดินอยู่นั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิดปรากฏในส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ก็จะมีลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏให้รู้

    การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่นึกรู้ทางใจ การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมี ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สมดังข้อความในอรรถกถาที่ว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

    อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ถ้าไม่มีตา สิ่งต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ สภาพธรรมที่เป็นของจริงก็ไม่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ถ้าไม่มีหู ก็ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นของจริงปรากฏให้รู้ได้ทางหู ถ้าไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ ก็ไม่มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริง

    การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น อาศัยสติระลึกตรงลักษณะ ทางตามีสภาพปรมัตถธรรม คือ สีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏ ทางหูมีสภาพปรมัตถธรรม คือ เสียงปรากฏ ทางจมูกมีสภาพปรมัตถธรรม คือ กลิ่นปรากฏ ทางลิ้นมีสภาพปรมัตถธรรม คือ รสปรากฏ และทางกายก็ต้องมีสภาพปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว นี่เป็นของจริงที่มีปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริง

    สภาพของปรมัตถธรรมทั้งหมดทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ทั้งอรรถกถา ฎีกา หรือแม้ในวิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทส

    ในปัญญานิทเทส ในวิสุทธิมรรค ก็มีข้อความเรื่องของจิต เจตสิก รูป สภาพปรมัตถธรรมทุกอย่าง

    สำหรับเรื่องรูปที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มีลักษณะของรูปแต่ละชนิด แล้วแต่รูปใดจะเป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    แต่ในพระไตรปิฎกทั้งหมด และในอรรถกถา ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ที่เป็นรูปปรมัตถ์

    การเจริญวิปัสสนานั้น ปัญญาจะต้องรู้ชัด แตกย่อยกระจัดกระจายฆนสัญญา ความทรงจำที่เคยรวมกลุ่มก้อนของสภาพธรรม ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่เที่ยง ไม่เป็นสุข ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่แตกย่อยกระจัดกระจาย รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะแล้ว ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม

    ทุกท่านคงจะยอมรับว่า การเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง และจะรู้ชัดได้ ก็เพราะอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของนามแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ ต้องมีลักษณะจริงๆ ของนามแต่ละชนิด ของรูปแต่ละชนิด ถ้ายังคงรวม ไม่แยก ไม่กระจัดกระจาย ก็จะประจักษ์ไม่ได้ว่า นามใดชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปใดชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป

    และที่กาย ถ้าระลึก จะพ้นไปจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ได้ไหม ทีละลักษณะไม่ปนกัน ไม่ใช่ว่ารู้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นท่านั่ง เป็น ท่านอน เป็นท่ายืน เป็นท่าเดิน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564