แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134


    ครั้งที่ ๑๓๔


    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงปรินิพพานแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน

    ธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่เพียงเพื่อให้สัตว์โลกบรรลุคุณธรรมเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล แต่ให้ถึงกับเป็นพระอรหันต์ทีเดียว ซึ่งการบรรลุคุณธรรมที่ทำให้สงบทั้งปวงแล้วก็ปรินิพพานได้นั้น ก็ด้วยหนทางเดียวเท่านั้น คือ การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป แล้วก็ละกิเลสเป็นขั้นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงดับเย็นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ดับเย็น

    นี่ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน

    สำหรับอาสวะที่ได้กล่าวถึง โลภเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นกามาสวะและภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นทิฏฐาสวะ โมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอวิชชาสวะ เพียง ๓ เจตสิกที่ทำให้จิตไหลไปสู่กระแสของความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขันธ์ และในความเห็นผิดต่างๆ แต่ในวันหนึ่งๆ กิเลสมากกว่านี้ ยังมีอีกมากนักที่เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย ทำความเศร้าหมองแก่จิตใจ

    ถ. ขอให้อาจารย์อธิบายคำว่า ภวาสวะ

    สุ. ผู้ที่ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่หมดความยินดีพอใจในขันธ์ที่ไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้ที่จะละภวาสวะได้ คือ พระอรหันต์ซึ่งท่านหมดกิเลสทั้งปวง ไม่มีกิเลสเหลืออีกเลย จะเห็นได้ว่า การละกิเลสต้องเป็นขั้นๆ การเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ใช่ให้ละภวาสวะ หรือกามาสวะ หรืออวิชชาสวะ แต่ให้ละทิฏฐาสวะก่อน

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเจริญสติบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลละ ทิฏฐาสวะแล้ว ก็ยังมีกามาสวะ ยังมีภวาสวะ ยังมีอวิชชาสวะ ซึ่งแสดงให้เห็นความเหนียวแน่น ความหนาแน่นของโลภมูลจิต สราคจิตว่ามีประเภทต่างๆ กัน

    ผู้ที่เป็นปุถุชนเจริญสติ ก็ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นกามาสวะได้ ที่เป็นทิฏฐาสวะได้ เวลาที่ผู้นั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมี กามาสวะ ยังมีภวาสวะ ยังมีอวิชชาสวะ ก็ระลึกรู้ต่อไปอีกจนกว่าจะเป็น พระสกทาคามีบุคคล ก็ระลึกรู้ลักษณะของกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะต่อไปจนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็หมดกามาสวะ แต่ยังมีภวาสวะและอวิชชาสวะ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจริญสติ ท่านจะรู้ลักษณะของจิตเหล่านี้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้น จิตประเภทไหนเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยยังมีอยู่ ต้องเกิด อย่างทิฏฐาสวะยังไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังจะต้องมีทิฏฐาสวะเกิดขึ้นปรากฏเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ให้จิตสำเหนียกระลึกรู้ได้ จนกว่าจะดับหมดเป็นพระโสดาบัน แต่ยังมีปัจจัยของจิตประเภทอื่นให้เกิดขึ้น จิตประเภทนั้นก็เกิดขึ้นได้

    ถ. เมื่อคราวที่แล้ว อาจารย์ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า เห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป เฉพาะข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ หมายความถึงไปยึดมั่นนามขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตน เลยเข้าใจว่าตนนั่นแหละมีรูป หรืออะไรเช่นนี้

    นามขันธ์ ๔ ทั้งหมด ใน ๔ ข้อนี้เอานามทั้งนั้นมาเป็นตน บางท่านอธิบายว่าการที่ต้องพิจารณาเฉพาะนามอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อตาเห็นสี ให้พิจารณาเฉพาะเห็น พิจารณาที่จิตเห็น อย่างนี้จะสงเคราะห์เข้ามาเป็นตนมีรูป เห็นรูปในตน อะไรอย่างนี้ได้ไหมครับ

    สุ. ทรงแสดงสักกายทิฏฐิไว้ไม่ใช่เพียง ๕ คือ ไม่ใช่ยึดถือรูปว่าเป็นตน เวทนาว่าเป็นตน สัญญาว่าเป็นตน สังขารขันธ์ว่าเป็นตน หรือวิญญาณว่าเป็นตนเท่านั้น แต่ยังทรงจำแนกไปถึง ๒๐ ประการ คือ ขันธ์ละ ๔ อย่าง

    ผู้ที่เจริญสติสามารถสำเหนียกรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร บางท่านที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูป ก็เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป แต่สักกายทิฏฐิยังอยู่ที่นามขันธ์ คือ ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่กำลังพิจารณาระลึกรู้นามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใด เป็นต้นว่า จะระลึกรู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ว่าเป็นนามธรรม แต่ไม่ได้พิจารณารูปขันธ์ ก็ยึดถือว่า รูปขันธ์นั้นเป็นตัวตน

    ถ. ที่ท่านให้กำหนดเฉพาะ พิจารณาเฉพาะขันธ์

    สุ. ขอให้อ้างข้อความในพระไตรปิฎกสักแห่งหนึ่งที่ให้เจาะจงพิจารณาแต่เฉพาะว่า ทางตาให้รู้แต่เห็นไม่ให้รู้สี ทางหูให้รู้แต่ได้ยินไม่ให้รู้เสียง ทางจมูกให้รู้แต่กลิ่นไม่ให้รู้สภาพที่รู้กลิ่น ทางลิ้นให้รู้แต่รสไม่ให้รู้สภาพที่รู้รส ทางกายให้รู้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ให้รู้สภาพที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขอพยัญชนะข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งก็ไม่มี

    ประการต่อไป เป็นอกุศลธรรมที่เป็น โอฆะ ๔

    ถ้าตราบใดยังไม่บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็จะไม่พ้นไปจากห้วงน้ำของกิเลส ซึ่งตัวท่านก็จะพิจารณาได้ว่า ท่านมีแม่น้ำ หรือว่าห้วงน้ำที่จะกั้นท่านให้จมอยู่ ให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะมากมายสักเท่าไร หรือว่าลดลงไป ละคลายลงไปได้แล้ว

    สำหรับองค์ธรรม หรือสภาพธรรมที่เป็นโอฆะ ก็เหมือนกับอาสวะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ๑ ภโวฆะ ๑ ทิฏโฐฆะ ๑ อวิชโชฆะ ๑ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่กามาสวะ หรือกาโมฆะเกิดขึ้น ทำให้ท่านไม่พ้นไปจากการเกิดและการตาย

    ภวาสวะ หรือ ภโวฆะเกิดขึ้น ไม่ทำให้ท่านพ้นไปจากการเกิดและการตาย เช่นเดียวกับทิฏโฐฆะ และทิฏฐาสวะ อวิชโชฆะ และอวิชชาสวะ

    ปุคคลปัญญัติปกรณ์ อภิธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงบุคคลจมน้ำ ๗ จำพวก ซึ่งใน ๗ จำพวกนี้ เป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก และเป็นผู้ที่ไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลอีก ๓ จำพวก

    สำหรับผู้ที่เป็นอริยบุคคล ๔ จำพวกนั้น คือ

    พระโสดาบันบุคคลนั้นเปรียบเหมือนกับบุคคลที่จมน้ำ แล้วโผล่ขึ้นเหลียว มองดู

    สำหรับบุคคลที่เป็นพระอริยะขั้นต่อไป คือ พระสกทาคามีบุคคลนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วก็ว่ายต่อไป

    สำหรับพระอริยบุคคลขั้นต่อไป คือ พระอนาคามีบุคคลนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วว่ายไปถึงที่ตื้นพอที่จะหยั่งได้

    ส่วนพระอรหันต์นั้น ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๔ เปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วว่ายข้ามไปถึงฝั่ง ยืนอยู่บนบก จึงเป็นผู้พ้นจากห้วงโอฆะของความเกิด ความตาย

    ผู้ที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล มี ๓ จำพวก คือ

    ๑. ผู้ที่จมแล้วไม่โผล่

    ไม่โผล่เลยยังจมอยู่ใต้น้ำ ได้แก่ คนที่เกิดมาแล้วก็แวดล้อม พัวพัน หมกมุ่นอยู่แต่เฉพาะในอกุศลธรรม ก็เป็นบุคคลที่จมแล้วไม่โผล่

    ๒. ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง คือ บุคคลจำพวกที่ ๒ นั้นโผล่ขึ้น แล้วก็จมลงอีก ได้แก่ ผู้ที่โผล่ขึ้นทำกุศลธรรม แต่ไม่เจริญกุศลอยู่เป็นนิจ

    ๓. ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่งนั้น ก็เป็นผู้ที่โผล่ขึ้นจากน้ำ แล้วก็หยุดอยู่ ไม่จมลงไปอีก

    ได้แก่ บุคคลที่เจริญกุศลแล้วไม่ประมาท เพียรเจริญกุศลสม่ำเสมอตลอดไป จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล

    สำหรับอกุศลธรรมประเภทต่อไป คือ โยคะ ๔ ได้แก่

    กามโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑

    โดยสภาพของเจตสิกก็เหมือนกับอาสวะ เหมือนกับโอฆะ คือ ทุกครั้งที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่สะสมหมักดองอยู่ในจิตใจ เป็นเครื่องกั้น เป็นห้วงน้ำที่ทำให้จมอยู่ในวัฏฏะแล้ว ยังเป็นโยคะ คือ ตรึงประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้ผละ หรือไม่ให้หลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะได้

    ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบจริงๆ ว่า ลักษณะของอกุศลธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างท่านที่เริ่มเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง ของรูปบ้างแล้ว ประเดี๋ยวเป็นอะไร หลงลืมสติไป มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็มีอาสวะ มีโอฆะ มีโยคะที่ทำให้สะสมหมักดอง กั้นให้จมในวัฏฏะ ตรึงไว้ไม่ให้ผละ ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะได้

    สำหรับ ภวโยคะ เป็นความยินดีพอใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพ

    ทิฏฐิโยคะ ความเห็นผิด เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ไม่ให้หลุดไปจากวัฏฏะ เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาให้มาก เพื่อสติจะได้ระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นทิฏฐิโยคะที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ

    สำหรับ อวิชชาโยคะ เป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป ถ้าทางตากำลังเห็น ไม่รู้ลักษณะของนาม ไม่รู้ลักษณะของรูป เมื่อเป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่พ้นจากอวิชชาโยคะ ตรึงไว้ ประกอบไว้ในวัฏฏะ

    ต่อไปเป็นอกุศลธรรมที่ทำกิจเป็น คันถะ เป็นเครื่องผูก อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ประเภทก็จริง แต่ว่ามีกิจการงานหน้าที่ตามประเภทของตนๆ อย่างอกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก ผูกไว้ มัดไว้ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑

    อภิชฌากายคันถะ ได้แก่ ความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    ถ้าทราบเรื่องของโลภะแล้ว จะเห็นได้ว่า ทำกิจทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น อาสวะ สะสมหมักดองไว้ โลภะก็เป็นอย่างนั้น หรือว่าโอฆะ กั้นไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ โลภะก็ทำกิจนั้น เป็นโยคะ เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ โลภะก็ทำอย่างนั้น เป็นคันถะ เป็นเครื่องผูกมัด ไม่ให้พ้นไป โลภะก็ทำอย่างนั้น

    แต่ในหมวดของคันถะ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นกาม หรือภวะ แต่รวมเป็น อภิชฌากายคันถะ หมายความถึงความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง

    ที่สงเคราะห์นัยการศึกษาขั้นปริยัติ กับนัยของการปฏิบัติ ก็เพื่อให้ทราบเรื่องของจิตตานุปัสสนา ทุกท่านมีจิต แต่จิตของท่านในวันหนึ่งๆ เป็นจิตประเภทใดบ้าง ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ก็จะไม่ทราบ จิตตานุปัสสนา หมายความถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตบ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเห็นจิตในจิต ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นสราคจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องระลึกรู้

    สำหรับคันถะที่ ๒ คือ พยาปาทกายคันถะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ เพราะว่ามีผู้ทำความเสื่อมเสียให้กับตัวท่าน หรือว่ามีผู้ที่ทำความเสื่อมเสียให้กับผู้ที่เป็นที่รักของท่าน หรือว่ามีผู้ทำความเจริญให้กับผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน

    ไม่ใช่เพียงแต่บุคคลอื่นจะทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นความเสื่อมเสียให้กับตัวท่านเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมขยายไปถึงทั้งบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักและบุคคลซึ่งเป็นที่รักด้วย เป็นต้นว่าถ้ามีใครทำความเสื่อมเสียให้กับบุคคลผู้เป็นที่รัก หรือว่าหมู่คณะก็ได้ ถ้าท่านคลุกคลีเป็นพวกพ้องกับหมู่คณะใด และท่านก็มีความรู้สึกว่ามีบุคคลอื่นจะทำความเสื่อมเสียให้กับพวกพ้อง หรือว่าบุคคลที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยด้วย จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ไม่แช่มชื่นแล้ว หรือว่าตรงกันข้ามบุคคลผู้นั้นไม่เป็นที่รัก แต่ว่ามีบุคคลอื่นทำความเจริญให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักของท่าน ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นได้ เป็นคันถะผูกไว้ไม่ให้ไปสู่มรรคมีองค์ ๘ หรือทำให้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งปวงที่เกิดกับท่าน ถ้าเกิดความไม่แช่มชื่นขึ้นเพราะมีผู้อื่นทำความเสื่อมเสียให้กับท่าน ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้สภาพของจิตใจในขณะนั้น เป็นจิตตานุปัสสนาได้ ทุกอย่างทุกวันที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะการสะสมของแต่ละบุคคล ทำให้แต่ละบุคคลกระทำกายอย่างนั้น วาจาอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    สำหรับคันถะที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ซึ่งได้แก่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดทางจากมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้นั้น คือ พระโสดาบันบุคคล ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมจึงจะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ ถ้าท่านไม่สำเหนียก สังเกตว่า สิ่งที่ท่านกำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ผิดหรือถูก ท่านก็ละสีลัพพตปรามาสคันถะไม่ได้

    ถ. ผมได้ยินทางวิทยุที่ท่านผู้หนึ่งบรรยายเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ท่านบอกว่าการกำหนดรูปนามที่เป็นปัจจุบันนั้น เฉพาะทางตาให้กำหนดที่นาม เฉพาะทางหูให้กำหนดที่นาม ส่วนที่เหลือนั้นท่านบอกว่าให้กำหนดที่รูปก็มี ที่นามก็มี ท่านว่าอย่างนี้ แล้วท่านก็ยกบาลีขึ้นมาอ้างด้วยว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะไปได้อย่างไร

    สุ. สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ ความเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิดว่าโลกเที่ยง โลกสูญ หรือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทั้งหมดเป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐาสวะ เป็นทิฏโฐฆะ เป็นทิฏฐิโยคะด้วย แต่พอถึงคันถะ เครื่องผูก ทรงจำแนกแล้ว ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นที่จะไม่ทำให้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ก็เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเหตุว่าไม่ตรงกับสภาพตามความเป็นจริง เช่น ทางตามีปรมัตถธรรม ๒ ชนิด คือ นามธรรมที่เห็นกับสีที่ปรากฏทางตา จะให้ระลึกแต่เฉพาะนามที่เห็นแล้วจะมีความรู้ในสีที่ปรากฏได้อย่างไร ไม่ได้แยกทวารทั้ง ๖ อายตนะทั้ง ๖ เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ก็เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เป็นสภาพธรรมของจริงที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางหู

    เพราะฉะนั้น ความรู้ชัดจะทำให้สามารถกระจัดกระจายแยกนามและรูปที่เกาะกุมกันไว้เป็นสัตว์ เป็นบุคคลตัวตนได้ถูกต้อง ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสีที่ปรากฏทางตา และระลึกรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังปรากฏด้วย ไม่มีข้อความใดในพระไตรปิฎกที่จะให้เว้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๑๓๑ – ๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564