แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153


    ครั้งที่ ๑๕๓


    รูปปรมัตถธรรมมีทั้งหมด ๒๘ รูป จะขอกล่าวถึงโดยนัยของการปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกท่านพิสูจน์ได้ทันที และก็สามารถสอบทานได้กับโดยนัยของปริยัติ

    รูปที่ ๑ รูปารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่านามะ หรือภาษาไทยใช้คำว่า นาม รูปะ ภาษาไทยก็ใช้คำว่า รูป

    นามนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นความรู้สึก เป็นความจำ เป็นความคิด เป็นความสุข ความทุกข์ต่างๆ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะจำก็จำสิ่งที่เห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น จะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เพราะมีสิ่งที่กำลังเห็น กำลังได้ยินปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพรู้เป็นนามธรรม ไม่ใช่เป็นรูปธรรม นามกับรูปไม่ได้อยู่ไกลเลย ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่จะต้องไปค้นคว้าแสวงหา แต่พร้อมให้พิสูจน์ทุกขณะ

    สำหรับรูปธรรมที่มีปรากฏอยู่ คือ

    รูปที่ ๑ ปรากฏทางตา เป็นของจริงแน่นอน ทางบาลีใช้คำว่า วณฺโณ หรือ รูปารมณ์ หมายถึงรูปที่ปรากฏทางตา จะใช้คำว่า แสง จะใช้คำว่า สี จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่โดยปรมัตถธรรม โดยสภาพความเป็นจริงของรูปนั้น ก็คือ รูปนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ไม่ใช่มีแต่จักขุปสาทกับเห็น แต่ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย นี่เป็นรูปหนึ่งใน ๒๘ รูป

    รูปที่ ๒ สัททารมณ์ หรือ สัททะ ได้แก่ เสียง เวลาที่จิตกำลังรู้เสียง เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน

    ผู้ที่ไปนั่งจ้อง สร้างท่าทางขึ้นมาว่าเป็นรูป ระลึกรู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้างหรือเปล่า ระลึกรู้ในขณะที่เสียงปรากฏทางหูบ้างไหมว่า เป็นของจริงอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่สภาพที่รู้เรื่อง สภาพที่รู้เรื่องเป็นนามธรรม แต่เสียงเป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางหู ต้องแยกออกจากกันได้ ถ้าแยกออกจากกันไม่ได้ ก็ปนเสียงกับได้ยิน ปนกับรู้เรื่อง ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพของเสียงที่เกิดปรากฏทางหูแล้วก็ดับไป เป็นรูปๆ หนึ่งในรูป ๒๘ รูปที่ถ้าผู้ใดเจริญสติระลึกในขณะที่เสียงปรากฏ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ผู้นั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าเป็นปกติ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำกิริยาอาการอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษในการที่จะระลึกรู้ว่า เสียงที่กำลังปรากฏนี้เป็นของจริง ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่รูปอื่นๆ

    ต่อไปรูปที่ ๓ คือ คันธารมณ์ คันธะ หมายความถึงกลิ่น ซึ่งเป็นสภาพที่ ปรากฏทางจมูก ในขณะที่จิตกำลังรู้กลิ่นที่ปรากฏ เรียกกลิ่นที่ปรากฏที่เป็นอารมณ์ของจิตว่า คันธารมณ์

    ถ้าไม่ใช้คำว่า คันธะ ไม่ใช้คำว่า กลิ่น ไม่ใช้คำว่า คันธารมณ์ กลิ่นก็ปรากฏได้โดยไม่ต้องใช้ชื่อ กลิ่นเป็นของจริงที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป นี่เป็นรูปซึ่งผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกในขณะที่รูปนั้นกำลังปรากฏ สิ่งใดกำลังปรากฏเป็นปกติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    รูปที่ ๔ คือ รสะ รสที่ปรากฏเมื่อกระทบลิ้นก็เป็นของจริงอีก ถ้าสติ ระลึกรู้ลักษณะของรสในขณะนั้นจะมีท่าทางแทรกอยู่ได้ไหม นี่เป็นการกระจัดกระจายโลกที่เคยประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แท้ที่จริงสิ่งที่หลงยึดถือนั้นก็มีลักษณะเป็นรูปต่างๆ ชนิดที่ปรากฏ เป็นนามลักษณะต่างๆ กันที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป สติจึงควรระลึกเพื่อรู้ชัดในสภาพของรูปทีละรูป สติระลึกลักษณะของรส รสเท่านั้นที่ปรากฏในขณะนั้น ท่าทางตัวตน โลกนี้ทั้งโลกไม่มีเหลือ จึงจะประจักษ์ได้ว่า ไม่ใช่สาระ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล

    รูปที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ คือ รูปที่สามารถจะรู้ได้ทางกาย มี ๓ รูป คือ ปฐวี เตโช วาโย

    ปฐวี ได้แก่ สภาพแข็งอ่อนที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เตโช ได้แก่ ลักษณะที่ร้อนเย็นที่ปรากฏเมื่อกระทบกายเป็นอีกรูปหนึ่ง ส่วน วาโย ก็เป็นธาตุ เป็นสภาพธรรมที่ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ทางกายก็มีรูปที่ปรากฏ ๓ รูป คือ ดิน ไฟ ลม

    ในรูป ๒๘ รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวม ๗ รูป ชื่อว่า โคจรรูป หรือ วิสยรูป หมายความว่า รูปที่เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ แม้ใจก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นเอง เพราะฉะนั้น โคจรรูป หรือวิสยรูป ๗ นี้ จึงเป็นรูปซึ่งเป็นอารมณ์ของอินทรีย์ทั้งหลาย

    คำว่า อินทรีย์ ในที่นี้หมายความถึง จักขุนทรีย์ คือ ตา โสตินทรีย์ คือ หู ฆานินทรีย์ คือ จมูก ชิวหินทรีย์ คือ ลิ้น กายินทรีย์ คือ กาย มนินทรีย์ คือ ใจ ทั้ง ๗ รูป สามารถเป็นอารมณ์ของอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้

    ทางตาที่เห็นสี จิตเกิดขึ้นรู้สีทางตาดับแล้ว จิตเกิดขึ้นทางใจรับรู้สีต่อจากทางตา แล้วก็รู้ความหมายว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร การรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นนั้น เป็นทางใจ

    เวลาที่เสียงกระทบหู มีการได้ยินเกิดขึ้น จิตรู้เสียงทางหูดับไปหมดแล้ว จิตเกิดขึ้นต่อทางใจ รู้เสียงนั้นต่อจากทางหู แล้วรู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมีความหมายว่าอะไร การที่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินมีความหมายว่าอะไรนั้น เป็นการรู้ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ทางใจก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง

    นี่เป็นรูป ๗ รูป ในรูป ๒๘ รูป ที่เป็นอารมณ์ของอินทรีย์ทั้งหลาย มีท่านั่งไหม มีท่านอนไหม ทางตาสิ่งที่ปรากฏ คือ วัณณะ สีสันวรรณะต่างๆ ทางหูก็มีเสียง ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินเลย กลิ่นก็ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน รสก็ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ลักษณะที่อ่อนที่แข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะที่เย็นร้อนเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่ตึงไหวเป็นธาตุลม ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน แต่เป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละรูป แต่เพราะประชุมรวมกันทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่พอกระจัดกระจายเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดแล้ว ไม่มีลักษณะใดเลยที่จะควบคุมเป็นตัวเป็นตน เป็นท่าเป็นทางต่อไปได้

    รูปที่ ๘ คือ อาโปธาตุ ธาตุน้ำที่เป็นมหาภูตรูป เกิดพร้อมกับดิน ไฟ ลม แต่ว่าเป็นธาตุที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยการสัมผัสทางกาย ถ้าระลึกที่กายแล้ว ก็จะปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น ตรงกับพระพุทธพจน์ ที่ว่า ถึงแม้ว่ามหาภูตรูปมี ๔ แต่ที่ปรากฏทางกายได้นั้นเพียง ๓ คือ ดิน ไฟ ลม และที่ปรากฏเป็นปกติที่สติควรจะระลึก ทรงแสดงไว้ด้วยจำนวนว่า คือ โคจรรูป หรือ วิสยรูป ๗

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่รู้โคจรรูปหรือวิสยรูป ๗ ชื่อว่าการปฏิบัตินั้นถูกต้องตามพระพุทธพจน์หรือไม่

    รูปที่ ๙ คือ โอชารูป ได้แก่ อาหารรูปที่มีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ทำให้เกิดรูปอื่น เป็นปัจจัยให้รูปอื่นเจริญขึ้น

    มหาภูตรูปมี ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เวลาที่มหาภูตรูปเกิดขึ้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะ ๔ รูปที่เกิดร่วมกัน ทั้งหมดมีรูปที่เกิดร่วมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป

    รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป

    มหาภูตรูป ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ถ้ารูปทั้ง ๔ นี้ไม่มีแล้ว รูปอื่นมีไม่ได้เลย ส่วนรูปอื่นอีก ๒๔ รูป เป็น อุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเป็นไปหรือเกิดขึ้น สีสันวัณณะต่างๆ ไม่ใช่มหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป

    สัททะ คือ เสียง ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สัททะจึงเป็นอุปาทายรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแล้ว สัททะ ความกังวานของปฐวีธาตุก็มีไม่ได้

    กลิ่น คือ คันธะ ไม่ใช่มหาภูตรูป กลิ่นจึงเป็นอุปาทายรูป อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแล้ว กลิ่นก็ไม่มี เสียงก็ไม่มี สีก็ไม่มี

    รสก็เช่นเดียวกัน

    ท่านที่เข้าใจมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกว่า เวลาที่รูปเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะมหาภูตรูป ๔ ที่เกิดรวมกันในกลุ่มนั้นเท่านั้น ในกลุ่มเดียวกันจะต้องมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูปเกิดร่วมกัน คือ มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา คือ อาหารรูปที่มีอยู่ในมหาภูตรูป เป็นรูปที่เมื่อกลืนกินเข้าไปแล้ว เป็นปัจจัยสร้างให้รูปอื่นเกิดขึ้น เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้น จะต้องมีอุปาทายรูปเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุดอีก ๔ รูป ฉะนั้น ในกลุ่มนั้นจึงต้องมีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป

    เท่าที่กล่าวมาแล้วมีทั้งหมด ๙ รูป คือ สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และโอชา แต่รูปที่เกิดรวมกันทุกครั้ง ไม่เคยแยกจากกันไปได้เลย มีทั้งหมด ๘ รูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และสี กลิ่น รส โอชา เว้นเสียง เพราะเสียงบางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด แต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ๔ รูป รวมทั้งสี กลิ่น รส โอชานั้นต้องเกิดร่วมกันทุกครั้ง และรูปทั้ง ๘ ที่เกิดรวมกันไม่แยกจากกันเลยนั้น ชื่อว่า อวินิพโพครูป ๘ หมายความถึงรูป ๘ รูปที่ไม่แยกจากกัน หรือแยกจากกันไม่ได้

    ถ้าจะกระจัดกระจายตัวของท่านออก กระจัดกระจายได้ไหม ตัดแขนได้ไหม ตัดนิ้วได้ไหม ตัดผมได้ไหม ตัดเล็บได้ไหม ได้ เพราะว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ตามกลุ่มของรูป ซึ่งมีอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป เมื่อย่อยละเอียดออกไปแล้ว ละเอียดที่สุดจะต้องมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูปรวมกัน คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา

    นี่ ๙ รูปแล้ว ที่สามารถจะพอรู้ได้โดยขั้นของปริยัติ และปฏิบัติตามลำดับ

    รูปที่ ๑๐ จักขุปสาทรูป ภาษาไทยใช้คำธรรมดาว่า ตา ประสาทตา หมายความถึง รูปที่สามารถรับกระทบสี

    ถ้าท่านผู้ใดเห็น หมายความว่า จะต้องมีจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่สามารถรับกระทบเฉพาะสีเท่านั้น ที่ผิวหนังที่กายส่วนอื่นรับกระทบสีไม่ได้ จักขุปสาทรูปจึงเป็นรูปที่มีจริงรูปหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสามารถรับกระทบสีได้ และรูปนี้อยู่ที่ตา เป็นจักขุปสาท อยู่ที่กลางตานั่นเอง รูปนี้เป็นอีกรูปหนึ่งที่มีจริง เมื่อสีปรากฏก็หมายความว่า ปรากฏเพราะกระทบกับรูปที่สามารถรับกระทบสีได้ คือ จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปที่ ๑๐

    รูปที่ ๑๑ คือ โสตปสาทรูป สามารถรับกระทบเสียง

    รูปที่ ๑๒ คือ ฆานปสาทรูป สามารถรับกระทบกลิ่น

    รูปที่ ๑๓ คือ ชิวหาปสาทรูป สามารถรับกระทบรส

    รูปที่ ๑๔ คือ กายปสาทรูป สามารถรับกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

    เป็นเรื่องของตัวท่านจริงๆ พิสูจน์ได้ สีก็พิสูจน์ได้ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็พิสูจน์ได้ นอกจากนั้นยังมีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป

    ในอวินิพโภครูป ๘ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มี อาหาร รวม ๘ รูป แต่เวลาที่จิตแต่ละชนิดจะรู้รูปแต่ละรูป ก็ต้องรู้แต่ละทาง ถึงแม้ว่ารูปทั้ง ๘ นั้นอยู่รวมกันในกลุ่มเดียวกันก็ตาม

    ในกลุ่มของสี ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีรส มีกลิ่น แต่เวลาที่กระทบกับจักขุปสาท จักขุปสาทรับกระทบเฉพาะรูปสี รูปเดียวใน ๘ รูปที่รวมกันอยู่

    เช่นเดียวกับหู โสตปสาทสามารถรับกระทบกับรูปเสียง รูปเดียวที่รวมอยู่ในรูป ๘ รูปนั้น เพราะที่จะมีเสียงได้ ต้องหมายความว่ามีรูป ๘ รูปนั้นด้วย เสียงจึงจะปรากฏ มีอีกรูปหนึ่งเพิ่มขึ้นได้

    เวลาที่กลิ่นปรากฏ ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีรส มีโอชา รวมอยู่กับกลิ่นที่ปรากฏที่กระทบจมูก แต่ฆานปสาทรูปนั้นสามารถรับกระทบเฉพาะกลิ่นเท่านั้น เวลาที่ฆานปสาทรูปรับกระทบกลิ่น จิตที่รู้กลิ่นจึงเกิดขึ้นรู้เฉพาะกลิ่น ไม่ใช่รู้อ่อน แข็ง เย็น ร้อน สี รส โอชาที่รวมอยู่ในที่นั้นเลย

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ารูปจะรวมกันอยู่หลายๆ รูป แต่การที่จะปรากฏลักษณะของแต่ละรูปได้นั้น ต้องเป็นแต่ละทางด้วย ซึ่งก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตประจำวันนี่เอง แต่ให้ทราบว่า ในรูป ๒๘ รูปนั้น ท่านสามารถเข้าใจ สามารถรู้ลักษณะของรูปอะไรได้บ้าง

    ทั้งหมดก็ ๑๔ รูป ใน ๒๘ รูป คือ

    รูปที่ ๑ รูปารมณ์ รูปที่ ๒ สัททารมณ์ รูปที่ ๓ คันธารมณ์ รูปที่ ๔ รสารมณ์ รูปที่ ๕, ๖, ๗ คือ ปฐวี เตโช วาโย รูปที่ ๘ อาโปธาตุ รูปที่ ๙ โอชารูป รูปที่ ๑๐ จักขุปสาทรูป รูปที่ ๑๑ โสตปสาทรูป รูปที่ ๑๒ ฆานปสาทรูป รูปที่ ๑๓ ชิวหาปสาทรูป รูปที่ ๑๔ กายปสาทรูป รวม ๑๔ รูป

    รูปอื่นท่านสามารถที่จะศึกษาต่อไป ซึ่งถึงแม้จะไม่กระทบ ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ก็รู้ได้ว่ามีแน่นอน ก็แล้วแต่ความสามารถของผู้เจริญ สติปัฏฐานที่ได้อบรมมา ที่จะรู้รูปใดละเอียดมากน้อยอย่างไร

    สำหรับจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตา นอกจากสามารถรับกระทบสีแล้ว ยังเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณหมายความถึงนามธรรมที่เห็นสี ที่ตัวของทุกท่านมีทั้งรูปและนาม นามไม่ได้เกิดนอกรูป ต้องอาศัยรูปนี่เองเป็นปัจจัยทำให้นามแต่ละชนิดเกิดขึ้น (สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕)

    อย่างการเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป การเห็นมีไม่ได้เลย จักขุปสาทรูปเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นขึ้นที่จักขุปสาทรูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น ทั่วทั้งตัวนี้มีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตแต่ละประเภท เพราะจิตไม่ได้เกิดนอกรูป เวลาจิตจะเกิดก็เกิดที่รูป เช่น จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป จิต เจตสิกที่เห็น ที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ไปเกิดนอกรูป นอกร่างกาย ต้องมีที่เกิด และที่จักขุปสาทก็เกลื่อนกล่นไปด้วยจิตและเจตสิกที่เห็นรูป เวลาที่จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเห็นรูป ก็มีเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย เพราะสีจะปรากฏได้ต้องกระทบกับจักขุปสาท และจะเห็นสีได้ก็ต้องมีจักขุวิญญาณ และเจตสิกเกิดร่วมกันที่จักขุปสาท

    เพราะฉะนั้น ที่จักขุปสาทรูป เล็กๆ นิดเดียว เกลื่อนกล่นไปด้วยจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีตัวตน ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินอะไรรวมอยู่ในขณะที่ระลึกรู้สภาพที่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปารมณ์ที่กระทบเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณ ๒ ดวง เกิดขึ้นที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณที่รู้กลิ่น ๒ ดวง เกิดขึ้นที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เกิดขึ้นที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณ รู้เย็นตรงไหน มีสภาพรู้เกิดแล้วก็ดับไปตรงนั้น

    มีท่า มีทาง มีตัว มีตนอะไรไหม ก็ไม่มีกิริยาท่าทางที่จะไปควบคุมยึดโยงไว้ เพราะเหตุว่าระลึกสภาพที่ปรากฏที่เป็นรูป สภาพที่ปรากฏที่เป็นนาม ในขณะนั้นมีลักษณะของรูปเท่านั้นที่ปรากฏ ในขณะนั้นมีลักษณะของนามเท่านั้นที่ปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง ส่วนอื่นไม่มาเชื่อม ไม่มาโยง มาควบคุมประชุมรวมกันให้เกิดความเห็นผิดได้

    แต่จิตในวันหนึ่งๆ นั้นไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง ท่านที่ศึกษาเรื่องของจิต จะทราบว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท หรือว่า ๘๙ ดวง ส่วนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เห็นสี ได้ยินเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๑๐ ดวง จิตที่เหลือจะเกิดที่ไหน นั่นเป็นรูปอีกรูปหนึ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๑๕๑ – ๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564